สาธิต ม.รังสิตเปิด “นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่อาชีพผู้นำแห่งอนาคต” พร้อมงัดไม้เด็ด หลักสูตร 2 ภาษา “สายศิลปะการประกอบอาหาร (เชฟ)” ครั้งแรกในไทย ประกาศเตรียมพร้อมพาเด็กก้าวสู่โลกไร้พรมแดน

 

IMG_4228รงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต โรงเรียนที่ใช้หลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวม  (Unified Bilingual Curriculum) โดยนำหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ มาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรนานาชาติ เตรียมความพร้อมการศึกษาสู่อนาคต จัดงาน “นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่อาชีพผู้นำแห่งอนาคต” พร้อมเปิดตัว หลักสูตรการศึกษาใหม่ “สายศิลปะการประกอบอาหาร (เชฟ)” ในระดับชั้นมัธยมปลาย ครั้งแรกในประเทศไทยกับหลักสูตร 2 ภาษา เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักเรียนที่สนใจก้าวสู่การจะเป็นเชฟมืออาชีพในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยรังสิต

ดร. อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ปัจจุบันทางโรงเรียนได้เปิดหลักสูตรในการสร้างผู้นำแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมฯ นั้นมีด้วยกันทั้งหมด 4 สาขา ซึ่งได้แก่  สายวิทย์-คณิต, หลักสูตรสายศิลป์-คำนวณ, หลักสูตรศิลป์-ภาษา (ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น และหลักสูตรสายศิลป์-ดนตรี ซึ่งเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมตอนปลาย ซึ่งแต่ละหลักสูตรเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่อาชีพในอนาคต เช่น นักเรียนที่เลือกเรียนสายวิทย์เป็นฐานของการเรียนการแพทย์ พยาบาล วิศวะฯ และสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ สำหรับนักเรียนที่เลือกเรียนสายศิลป์ ก็สามารถเลือกเรียนคณะในสายสังคม ศิลปศาสตร์ หรือดนตรีได้ เป็นต้น โดยเรามีจุดมุ่งหมายในการจัดหลักสูตรการเรียน มุ่งเน้นที่การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับโลกไร้พรมแดนในปัจจุบันที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความคล่องแคล่วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  การมองโลกในแง่ดี ความมีวินัย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของผู้นำในอนาคตที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งด้วยความพร้อมทางด้านคุณภาพการศึกษาที่ผ่านการรับรองจาก สมศ. ในระดับดีมากทุกมาตรฐานในรอบการประเมินครั้งนี้ ทางโรงเรียนจึงมีความแน่วแน่ที่จะบ่มเพาะคุณสมบัติดังกล่าวในตัวของนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตทั้งในสาขาปทุมธานี และสาขาเชียงใหม่

และด้วยสภาวการณ์ปัจจุบัน  โรงเรียนจึงหันมาทำความเข้าใจความเป็นไปของสังคมไทยก่อน ว่าในยุคปัจจุบันนี้เราต้องการให้นักเรียนเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร ไม่ใช้เพียงแค่เรียนเก่ง ทฤษฎีแน่น แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง จึงเริ่มคิดวิเคราะห์นวัตกรรมการศึกษาโดยพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสังคมไทย โดยพัฒนาตั้งแต่ต้นทางคือระดับปฐมวัยสู่ปลายทาง คือระดับอุดมศึกษา โดยหวังให้นักเรียนของเราเติบโตขึ้นมามีความรู้ความสามารถใช้ชีวิตในการประกอบอาชีพได้”

ด้วยความก้าวหน้าทางวิชาการประกอบกับความล้ำหน้าวิทยาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบไม่มีขีดจำกัด และการดำเนินงานด้านการวิจัยตลอดระยะเวลา 10 ปี เราจึงมีความพร้อมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของหลักสูตรใหม่เพื่อรองรับการก้าวสู่โลกไร้พรมแดน และเป็นทางเลือกให้แก่เด็กที่สนใจ  ถือเป็นการเตรียมความพร้อมปูพื้นฐานให้เด็กสู่อาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงได้เปิดหลักสูตร “สายศิลปะการประกอบอาหาร (เชฟ)” ขึ้น  ด้วยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต และวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการมหาวิทยาลัยรังสิต  ตามแนวคิด “อาชีวศึกษาอัจฉริยะ” จากท่านประธานกรรมการ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ในการทำให้ระบบการศึกษาไทยสามารถผลิตแรงงานที่ตรงกับความต้องการของชาติ  และหลักสูตร “สายศิลปะการประกอบอาหาร (เชฟ)” เป็นหลักสูตรเพื่อการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน  โดยผู้เรียนสามารถประกอบอาชีพในขั้นพื้นฐานได้ หลักสูตรนี้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตแบบ Credit from Exam (CE) ได้หากนักเรียนไปเรียนต่อหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งนี้สิ่งอำนวยความสะดวก การจัดการเรียนการสอน การประเมิน และครูอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรนี้จึงได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์คุณภาพจากมหาวิทยาลัยรังสิต

ดร. อภิรมณ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้นับว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา เพราะนอกจากจะเปิดโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความถนัด และมีความสามารถพิเศษเฉพาะทางในด้านศิลปะการประกอบอาหาร ซึ่งต้องมีการสอบเข้าเรียนเพื่อดูความพร้อมทางด้านวิชาการ ภาษา และด้านร่างกายก่อนเข้าเรียน เป็นการดึงเอกลักษณ์ และบุคลิกที่โดดเด่นของนักเรียนออกมาพัฒนาให้ถูกทาง และส่งเสริมต่อยอดให้สามารถก้าวสู่การเรียนที่ตรงสายอาชีพในอนาคตแล้ว  ด้านวิชาการเรียนการสอนของนักเรียนจะไม่ได้น้อยไปกว่าการเรียนการสอนในสายวิชาอื่นๆ เลย เนื่องจากนักเรียนยังคงเรียนวิชาความรู้หลักๆ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาพละศึกษา วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาต่างประเทศ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนในสายศิลปะการประกอบอาหารจะได้เรียนเป็นระบบสองภาษา ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนอีกด้วย นอกจากนี้ นักเรียนทุกคนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จะได้รับประกาศนียบัตรและผลการเรียนที่ถูกต้องตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้อีกด้วย

ดร. อภิรมณ กล่าวถึงความพร้อมของหลักสูตรนี้ว่า ด้วยความร่วมมือจากวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต  เรามีห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้สอนที่มีคุณภาพ อาทิ อ.ธีรกัญญา ตั้งสุวรรณรังสี ผู้อำนวยการหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบการอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ Mr. Edward Robinson ผู้ประสานงานฝ่ายประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตเข้ามาช่วยดูแลควบคู่กัน และจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร ซึ่งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ลงทุนในการสร้างห้องเรียนศิลปะการประกอบอาหาร และห้องปฏิบัติการ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

เป้าหมายของหลักสูตรสายศิลปะการประกอบอาหาร (เชฟ) นี้ นับว่าเป็นนวัตกรรมของการศึกษาที่สร้างขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียน ให้มีทางเลือกในการศึกษาตามสิ่งที่อยากเรียนรู้และสนใจ โดยพัฒนาจากแกนเดิมของหลักสูตรให้ทันสมัยขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการกำลังพลในสายการประกอบอาชีพมากขึ้น นอกจากนี้หลักสูตรนี้จะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการศึกษา เพื่อช่วยส่งเสริมการศึกษาไทยให้เดินไปในทิศทางและแนวทางที่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันของสังคมไทยมากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนก็ยังมีนโยบายในการขยายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบนี้ไปสู่ภูมิภาคอีกด้วย