สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเวทีใหญ่…พัฒนาครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก

Halal01 Halal02

วานนี้(17 ธ.ค. 57)ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ//// สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระดมสมองเปิดเวทีสัมมนาใหญ่ “ครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก” พร้อมจัดแสดงอาหารฮาลาลมาตรฐานส่งออก 30 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เปิดคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลในระดับสากลเพื่อการส่งออกแบบครบวงจร หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลกราว 2 พันล้านคน และเพิ่มโอกาสให้อาหารฮาลาลไทยบุกตลาดโลกอย่างจริงจัง       ชี้ตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทั้งแนวโน้มขยายตัวดีเฉลี่ยร้อยละ 6.9 ต่อปี แนะตลาดอินโดนีเซียเป้าหมายหลักที่ไทยควรเน้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมปรุง พร้อมรับประทานทั้งแบบ     แช่แข็ง แปรรูป และบรรจุกระป๋อง

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐกิจโลกกับโอกาสสินค้าฮาลาลไทย” ว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2558 ที่ IMF คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นจากปี 2557  ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก  นอกจากนี้ IMF ยังได้ประเมิน 10 อันดับประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจร้อนแรงที่สุด เรียงตามลำดับดังนี้ จีน  การ์ตา ไนจีเรีย อิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินเดีย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย และเปรู ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีถึง 6 ประเทศ ที่เป็นประเทศซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรรวมราว  7.15 พันล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 28.26 เป็นประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือประมาณ 2 พันล้านคน พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเอเชีย  รองลงมาคือแอฟริกา ในยุโรปมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามอยู่เพียง 56.18 ล้านคน อเมริกาเหนือ 8 ล้านคน และอื่นๆ 3.84 ล้านคน โดยประเทศที่มีสัดส่วนประชากรมุสลิมมากกว่าร้อยละ  90  ในแอฟริกา เช่น  อัลจีเรีย  โมร็อกโก  ตูนีเซีย และอียิปต์  ในเอเชีย เช่น ซาอุดิอาระเบีย  บาห์เรน อิหร่าน  อิรัก  โอมาน  ตุรกี            ทาจิกิสถาน และอาร์เซอร์ไบจัน เป็นต้น  ส่วนหากพิจารณาที่จำนวนประชากรมุสลิม ในแต่ละประเทศ 10 อันดับแรกที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุด ได้แก่  อินเดีย 255.3 ล้านคน อินโดนีเซีย  218.7 ล้านคน ปากีสถาน  183.64 ล้านคน

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.84 ขณะที่ประชากรโลกมีอัตราเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 1.14  ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนประชากรในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน  ซึ่งมีความต้องการบริโภคสูง และกล้าทดลองสิ่งแปลกใหม่ เป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเติบโต ขณะเดียวกันมีความต้องการอาหารที่ปลอดภัยและคุณภาพสูง ดีต่อสุขภาพมากขึ้น อาหารเพื่อสุขภาพ ฟังก์ชันนัลฟูดส์ อาหารอินทรีย์ มีแนวโน้มขยายตัวดีโดยเฉพาะในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง นอกจากนี้การขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce  ช่วยขยายช่องทางเข้าถึงสินค้าให้สะดวกและรวดเร็ว ไร้พรมแดน อีกทั้งพัฒนาการของหน่วยงานรับรอง ที่มีมาตรฐานและเป็นระบบมากขึ้น  ทำให้การตรวจรับรองฮาลาลขยายตัวเพิ่มขึ้น โอกาสของตลาดอาหารฮาลาลจึงยังเปิดกว้างอีกมาก

 

“สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ว่าจ้าง บริษัทวิจัยทอมสัน รอยเตอร์ ศึกษาโอกาสตลาดอาหารฮาลาลโลก และได้ประเมินว่ามูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกในปี 2556         ที่ผ่านมา มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16.6 ของมูลค่าตลาดอาหารและ

เครื่องดื่มโลก และในช่วง 5 ปีต่อจากนี้มูลค่าการค้าจะมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.9 ต่อปี ทำให้ในปี 2561 มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะสูงถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านการค้าอาหารระหว่างประเทศ ของสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organize of Islamic Cooperation : OIC) ที่ปัจจุบันมี 57 ประเทศ จะพบว่ามีมูลค่าการนำเข้าอาหารในปี 2556 อยู่ที่ ประมาณ 156,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 8 ประเทศหลักมีมูลค่านำเข้าเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 56.7 ของมูลค่าทั้งหมด โดยประเทศสมาชิก OIC ผู้นำเข้าอาหารที่สำคัญ อันดับแรกคือ ซาอุดิอาระเบีย รองลงมาคือ มาเลเซีย อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน และ UAE ตามลำดับ เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยส่งออกไปประเทศเหล่านี้ พบว่ายังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย จึงนับว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก หากเราศึกษาความต้องการของตลาด และเริ่มบุกตลาดอย่างจริงจัง” นายปราโมทย์ กล่าว

นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย โดยได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกับสถาบันอาหาร และหน่วยงานในสังกัดเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยได้รับการยอมรับในด้านเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารของไทย สะท้อนให้เห็นได้จากปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 10 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.44 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.26

“อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ตลาดหลักมีกำลังซื้อลดลง ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตก็พัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกอาหารของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง  ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องค้นหาโอกาสและศักยภาพใหม่ ๆ การเติบโตของตลาดผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ตลาดอาหารฮาลาลโลกเป็นตลาดใหญ่  มีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และตลาดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยอาหารฮาลาลส่งออกที่มีศักยภาพ เช่น อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานทั้งแบบแช่แข็ง แปรรูป และบรรจุกระป๋อง อาทิ อาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ผลไม้สดและ   แปรรูป รวมทั้งอาหารพร้อมรับประทานแบบตะวันตก เช่น ขนมปัง พาสต้า และสปาเกตตี เครื่องดื่มต่างๆ”

นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดให้มี “โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตอาหารตามหลักฮาลาล  เพิ่มโอกาสในตลาดโลก เตรียมความพร้อมในการแข่งขันด้านอาหารฮาลาล  และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนผู้ผลิตอาหารฮาลาล  สำหรับการจัดงานในครั้งนี้            มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานที่ผ่านมาของโครงการ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 350 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการอาหารที่สนใจผลิตอาหารฮาลาล และผู้ส่งออก นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้แทนจากสมาคมธุรกิจ หน่วยงานราชการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมาตรฐานส่งออกที่ได้รับสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลปี 2557 มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ พร้อมเปิดคลินิกให้คำปรึกษาการส่งออกและมาตรฐานสินค้าฮาลาลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความ

 

 

พร้อมในการวางแผนเพื่อการส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการไทยแบบครบวงจร รวมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ผลิตโดยตรง จำนวนรวมทั้งสิ้น 12 บูธ

            นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก” จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจในการผลิตอาหารฮาลาล และครัวฮาลาล เพื่อรับทราบถึงขั้นตอน กฎระเบียบ การตรวจรับรองตามมาตรฐานอาหารฮาลาล ตลอดจนมุมมองที่น่าสนใจจากวิทยากรที่มีชื่อเสียงเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการยกระดับสินค้าอาหารฮาลาลไทยสู่มาตรฐานการส่งออกในระดับสากล ขณะเดียวกันก็จะได้รับความรู้เรื่องตลาดอาหารแปรรูปฮาลาลในประเทศอินโดนีเซียแบบเจาะลึก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค นอกเหนือจากการส่งออกสินค้าอาหารวัตถุดิบ เช่น ข้าว น้ำตาล และสัตว์น้ำ โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของไทย อยู่ในกลุ่มประเทศ AEC ทั้งมีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี