ม.มหิดล ศาลายา พัฒนา ‘อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ’

IMG_4300

จากสวนสมุนไพรสู่พื้นที่อนุรักษ์และอุทยานการเรียนรู้ระดับประเทศ สะท้อนภูมิปัญญาไทยให้ก้าวไกลสู่สากล

- หวังดึงคนไทยเข้ามีส่วนร่วมเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านสมุนไพร และพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของประเทศ -

 

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองอธิการบดี รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ถูกพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2525 จาก “สวนสมุนไพร” ริเริ่มโดยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดี และศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ในสมัยนั้น เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเพื่อการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยพัฒนา รวมทั้งเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม สวนสมุนไพรนี้ว่า “สิรีรุกขชาติ”  และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ธรรมชาติและเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ทางด้าน พฤกษศาสตร์ และได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

“อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ดำเนินการโดยนักวิชาการและอาจารย์จากหลากหลายคณะและสถาบันของม.มหิดล โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน  เงินบริจาคผ่าน “กองทุนอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ในมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล  และรายได้จากค่าเข้าชมและการจำหน่ายของที่ระลึกอีกส่วนหนึ่ง กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์หลากหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้น ในอุทยานแห่งนี้จะจุดประกายความรักธรรมชาติ การใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบเศรษฐกิจพอเพียง และการดูแลสุขภาพบนพื้นฐาน ของภูมิปัญญาไทย ที่จะพัฒนาต่อยอดด้วยวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล นอกเหนือจากงานด้านการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการแล้ว วัตถุประสงค์สำคัญที่สุดคือ “การส่งเสริมการเข้าร่วมของชุมชน” เพื่อคงความรู้ และความเข้าใจ ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในศาสตร์พื้นบ้านของไทยที่ ณ วันนี้ กลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนไทย และในโอกาสเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ม.มหิดลจึงได้จัดกิจกรรมแรกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมผ่าน การประกวดตั้งชื่ออาคารและลานภายใน “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ประกอบด้วย 7 อาคาร 7 ลาน โดยการประกวดในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ร่วมตัดสิน อาทิ คุณประภัสสร เสวิกุล  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554, คุณอาภาภรณ์ โกศลกุล คอลัมนิสต์ข่าวสังคม นามปากกาโสมชบา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, คุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว ช่อง 3 เป็นต้น โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรและบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์ และ   5 ผลงานที่เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ      จะได้รับรางวัลชมเชย” . พญ. สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ประกอบด้วย 7 อาคาร 7 ลาน และกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้และบริการวิชาการต่างๆ สำหรับประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและนักวิจัย ดังนี้ 1. อาคารใบไม้สามใบ  อาคารต้อนรับผู้เข้าเยี่ยมชมเข้าสู่ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พร้อมจัดแสดงนิทรรศการถาวร “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” 2. ลานนานาสมุนไพร  ลานจัดแสดงสมุนไพรไม้พุ่ม และไม้ล้มลุก ในกระถางขนาดใหญ่รูปดอกไม้บนลานหินกว้าง 3. บ้านหมอยา อาคารให้บริการ ส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย และให้คำปรึกษาการใช้ยาสมุนไพร พร้อมการนวดรักษาแบบราชสำนัก 4. สวนสมุนไพร  พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ จัดปลูกในรูปแบบสวนสาธารณะ มีไม้ยืนต้นเป็นหลัก พร้อมทั้งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ และแซมด้วยพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ทำให้มีความร่มรื่นสามารถใช้ศึกษาพืชสมุนไพรและพักผ่อนไปพร้อมๆ กัน 5-6. หอดูนก  พื้นที่ชุ่มน้ำของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เป็นแหล่งพักพิงของนกนานาชนิด หอดูนกทั้ง 2 หอจึงเป็นอาคารที่ใช้เพื่อ เฝ้าดูนกและสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของนก  กิจกรรมการศึกษาจำแนกชนิดนกสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบตัว 7. ลานไม้เลื้อย ลานรวบรวมไม้เลื้อยสมุนไพรขนาดกลางและเล็กปลูกไว้ด้วยกันเพื่อความสะดวกในการศึกษาเปรียบเทียบ 8. ลานสมุนไพรวงศ์ขิง ลานปลูกกลุ่มพืชหัววงศ์ขิงที่มีคุณค่าเป็นยา และเป็นพืชในเขตร้อนที่มีความสำคัญทั้งในการใช้ระดับชุมชน และการวิจัยพัฒนายาใหม่ 9. อาคารใบไม้ใบเดียว  อาคารสาธิต การขยายพันธุ์และห้องปฎิบัติการสำหรับการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่ผู้พิการ เพื่อการปรับใช้ด้วยตนเอง 10. ลานสมุนไพรเพื่อคนพิการ ลานสมุนไพรที่อำนวย ความสะดวกในการศึกษาสมุนไพรเป็นพิเศษสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ ขึ้นเป็นพิเศษ ผู้พิการทางสายตาจะสามารถสัมผัส ดม และชิมให้เกิดความรู้เชิงประจักษ์ 11. ศาลาหมอชีวกโกมารภัจน์  ประดิษฐานรูปหล่อหมอชีวกโกมารภัจน์แพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นบรมครูแห่งการแพทย์ แผนโบราณ ซึ่งหมอแผนไทยผู้ที่กำลังศึกษาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้ความเคารพ ศรัทธา และกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล 12. ลานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ รวบรวมสมุนไพรจำนวน 69 ชนิด ที่ผ่านการวิจัย ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีความปลอดภัย สามารถนำไปใช้ป้องกันและรักษาอาการป่วยพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้ มีลานสาธิต และทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมลานพักผ่อนสันทนาการและเผยแพร่ความรู้ 13. อาคารสัมมนา ห้องอบรมเชิงปฏิบัติการเฉพาะทางเรื่องการใช้ประโยชน์ สมุนไพรไทย สำหรับประชาชนทั่วไป พร้อมส่วนบริการห้องอาหาร 180 ที่นั่ง ซึ่งจะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ 14. อาคารวิจัยและพิพิธภัณฑ์พืช ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 ด้าน ได้แก่ ชั้นที่ 1 ห้องปฎิบัติการวิจัยการขยายพันธุ์สมุนไพรพืช ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ชั้นที่ 2 พิพิธภัณฑ์สมุนไพร (Herbarium) ที่รวบรวมตัวอย่างพรรณไม้สมุนไพรแห้ง เพื่อเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบให้บริการตรวจสอบชนิดและสร้างเครือข่ายติดต่อกับ พิพิธภัณฑ์พืชในต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ อนุรักษ์พันธุ์พืชในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

 

“ในระดับนานาชาติ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการยกย่องเป็น Medicinal Plant Garden แห่งเดียวของประเทศไทย ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมร่วมอาเซียนกำหนดขึ้น และจะเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญของภูมิภาค ที่สำคัญยังถือเป็น แหล่งเรียนรู้เพื่อปลุกกระแสให้คนไทยหันมาร่วมกันสร้างป่าสมุนไพรในเมือง เพื่อสุขภาพที่ดีและความมั่นคงด้านยารักษาโรค ทั้งวันนี้และอนาคตตลอดไป” ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ กล่าวสรุป

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าชมข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมของ “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” ได้ที่ www.sireepark.mahidol.ac.th