สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดงานมหกรรมความรู้ (OKMD Knowledge Festival) ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “ไทยม์แมชชีน: เมื่อเทรนด์โลก ย้อนสู่ภูมิปัญญาไทย” ในวันที่ 17-19 มกราคมนี้ ที่พารากอน ฮอลล์ ซึ่งวันแรกของการจัดงานได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักออกแบบ นักธุรกิจ และผู้บริโภค ทุกคนตกตะลึงกับเซอร์ไพร์สความรอบรู้แบบสัมผัสได้จริง (4D Symposium) ช่วยเปิดมุมมองใหม่ทางการออกแบบสิ่งปลูกสร้างให้คนไทยตระหนักว่า โลกกำลังหมุนตามภูมิปัญญาไทยและทรัพยากรใต้ผืนแผ่นดินแม่ของเรา
ไฮไลท์สำคัญของการจัดงานมหกรรมความรู้ในครั้งนี้ ต้องยกให้นิทรรศการโชว์ภาพรวมของงาน เป็นแรงดึงดูดผู้คนให้หลั่งใหลเข้ามาชมงานอย่างไม่ขาดสาย ทุกๆการจัดแสดงความรู้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม และวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ พร้อมชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกดังกล่าวในเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การจัดงานในวันแรกนี้ ความโดดเด่นอยู่ที่นิทรรศการ “อยู่แบบไทย” ซึ่งจัดแสดงที่อยู่อาศัยตามภูมิปัญญาไทยเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมรางวัลระดับโลก ทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับแรงบันดาลใจผลิตงานของตนเอง และสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปสร้างโอกาส ปรับตัว ต่อยอด เพิ่มพูนทักษะ และเสริมความแข็งแกร่งด้านความคิดสร้างสรรค์ได้
นอกจากนั้น ภายในงานยังจัดให้มี Experience Symposium การรวมตัวกันของสุดยอดนักคิด ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการธุรกิจแถวหน้าที่ใช้ภูมิปัญญาไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการบรรยายบนเวทีครั้งนี้ ทางผู้จัดงานนำเสนอการเรียนรู้รูปแบบใหม่เพื่อให้ผู้ฟังได้รับความรู้ พร้อมกับสร้างความรู้สึก และเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง โดยในวันแรกนี้ พระเอกของงานคือ การบรรยายที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจและเห็นภาพ “ที่อยู่อาศัย” ของไทยเสมือนอยู่ในสถานที่จริง โดยจัดทำโครงสร้างไม้เรือนไทยขนาดจริง (4×4 เมตร) ชวนให้ทุกคนร่วมประสบการณ์เรียนรู้ ถอดประกอบและก่อสร้างไปพร้อมๆกับการบรรยายอย่างเข้มข้น
อยู่เย็นเป็นสุข = อยู่อย่างยั่งยืน
หลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเสร็จสิ้นลง ก็ได้เวลาชักชวนผู้สนใจนั่งไทยม์แมชชีนย้อนเวลาสู่วิถีไทยในอดีต ร่วมมองสิ่งที่เคยเป็นวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ถอดรหัสบ้านไทยให้เห็นว่าอยู่อย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ กับช่วงเวลาสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “4D Symposium: อยู่แบบไทย”
หัวข้อแรกของการสัมมนา ได้แก่ “อยู่อย่างยั่งยืน : ความได้เปรียบของโลกตะวันออก” โดยอาจารย์จุลพร นันทพานิช อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ก่อตั้ง North Forest Studio บริษัทออกแบบที่คำนึงถึงธรรมชาติ และการผสมผสานองค์ความรู้ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ให้เกียรติเป็นวิทยากร
หัวใจหลักของการสัมมนาครั้งนี้ คือการตะโกนบอกให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และเตือนสติคนไทยให้รู้ว่ากระแสการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติกำลังเป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ ยิ่งกว่านั้นอนาคตอาจไม่ใช่การเดินไปข้างหน้า แต่คือการถอยหลังกลับไปสู่อดีตที่เคยเป็น อีกทั้งวิถี “อยู่เย็นเป็นสุข” ทั้งเย็นตา ด้วยพื้นที่สีเขียว เย็นกายเพราะมีต้นไม้ล้อมรอบ และเย็นใจด้วยการพึ่งพาวัสดุธรรมชาติ เหล่านี้คือสิ่งที่มนุษยชาติปรารถนา
อาจารย์จุลพร กล่าวว่า หากลอกแก่นสารสาระของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เราจะพบการผสมผสานระหว่างป่ากับการอาศัยของคนโดยไม่มีการแบ่งแยกเป็นส่วนๆ มีความสอดคล้องกลมกลืน อยู่ใกล้กันแต่ไม่รบกวนซึ่งกันและกัน นี้เองคือภูมิปัญญาในการอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ซึ่งบรรพบุรุษของเรามีความชาญฉลาดในการดึงคุณประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
ไม่ว่าจะเป็นการปลูกบ้านตามทิศทางลม ช่วยให้อากาศถ่ายเทและเย็นสบาย ซึ่งวิทยากรยกให้ศาสตร์นี้เป็นอันดับหนึ่งแห่งภูมิปัญญา รวมทั้งยังรู้จักดึงแสงธรรมชาติมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันแสงไฟสลัว นับเป็นสถาปัตยกรรมทางเอเชียที่ต่างชาติให้คำนิยามว่าเป็นสุนทรียะและความศักดิ์สิทธิ์เลยทีเดียว
“จากการศึกษาวัฒนธรรมที่อยู่อาศัยรอบๆบ้านเราในอาเซียน ทั้งลาว เวียดนาม และจีนยูนนาน สะท้อนให้เห็นถึงการใช้คำที่เหมาะสม ว่า “ปลูกบ้าน” ไม่ใช่ “สร้างบ้าน” เพราะการมีบ้าน ต้องใช้จิตวิญญาณ กุศลจิต มีการเติบโตตามเวลาที่ผ่านไป และยังทำให้เห็นแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการเคารพและไม่พยายามเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของความยั่งยืน”
อาจารย์จุลพร กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกันก็ควรมุ่งใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นนั้นๆอย่างเกิดประโยชน์และคุณค่าสูงสุด เพราะมันสามารถบ่งบอกตัวตนและเอกลักษณ์ของชนพื้นถิ่นนั้นได้เป็นอย่างดี เช่นอุปกรณ์ก่อสร้างอย่างขวาน ในแต่ละท้องถิ่นสามารถกำหนดโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างให้มีลักษณะเฉพาะได้ ซึ่งการสืบสานภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ให้เป็นเทรนด์โลกได้ จำเป็นต้องวิวัตน์ พัฒนาต่อยอดไป มากกว่าแค่อนุรักษ์ไว้เฉยๆ
Thinking with the Hands แปลงร่างวัสดุร่วมสมัย
แล้ววิธีการต่อยอดภูมิปัญญาไทยอย่างเป็นรูปธรรมควรทำอย่างไร ยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย แต่แล้วก็มีคำตอบที่ทำให้ยิ้มออกได้ นั่นคือ การปรับแนวคิด เปลี่ยนมาเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นปัจจัยหลักในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันเทรนด์โลกกำลังพุ่งเป้าความสนใจไปที่ “Sustainable Living” ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะโลกไม่ได้ต้องการวัสดุโฉบเฉี่ยว ฟอร์มแปลกตา และเทคโนโลยีซับซ้อนอีกต่อไปแล้ว แต่พวกเขาวัดความล้ำหน้าด้วยฟังก์ชั่นที่เกิดจากการใช้วัสดุและการออกแบบอย่างเข้าใจในบริบทของพื้นที่ พฤติกรรมมนุษย์และสภาพแวดล้อมมากกว่า
อนุปามา คุณดู สถาปนิกชาวอินเดีย ผู้ออกแบบบ้านนวัตกรรม Wall House ที่ผนวกองค์ความรู้พื้นบ้านเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัย จนได้รับรางวัล Architecture Practice Award อธิบายคำจำกัดความวัสดุในโลกอนาคต ผ่านผลงานของตนเองว่า โปรเจ็กบ้านนวัตกรรม “วอลล์เฮ้าส์” ที่ประเทศอินเดีย คือการผนวกองค์ความรู้พื้นบ้านเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัย โดยเธอได้เข้าไปทำงานกับช่างฝีมือเครื่องปั้นดินเผาแก่เก่าในชุมชน จนได้วัสดุก่อสร้างที่แข็งแรง กันน้ำ ทนร้อนทนหนาวได้ดี และมีน้ำหนักเบา ไม่เสี่ยงหากเกิดแผ่นดินไหว
“หากเราพิจารณาวิธีการเก่าๆจากช่างดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปบ้างแล้วนั้น จะพบว่าสามารถพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านั้นมาใช้ได้อีกในตอนนี้ เพียงแต่เราต้องใช้ให้ถูกวิธี เพราะถ้าใช้ผิดวิธีการ บ้านที่สร้างขึ้นมาก็จะไม่สมบูรณ์ แล้ววิธีการที่ถูกคืออะไร ทฤษฎีอาจตอบคุณไม่ได้ แต่ถ้าเรายึดหลักใช้วัสดุดั้งเดิมมาสร้างที่อยู่อาศัย พร้อมกับ “เรียนรู้จากการลงมือทำ” (Thinking with the Hands) นำฐานความรู้จากชุมชน จากชาวบ้าน แล้วมาศึกษาและฝึกฝนด้วยตนเอง เราจะเกิดความรู้ขึ้นจากภายในตัวเรา”
ทั้งนี้ วิทยากรสาวยังได้ยกตัวอย่างวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสร้างยุคใหม่ไว้เป็นไอเดียสำหรับนักออกแบบ อาทิ การเลือกใช้อิฐพื้นบ้าน ซึ่งเป็นงานแฮนด์เมด ทำด้วยมือ แม้ขนาดจะไม่เท่ากันทุกก้อนอย่างโรงงานอุตสาหกรรม แต่ความแตกต่างของขนาดกลับส่งผลดีต่อการระบายอุณหภูมิห้อง รวมทั้งพยายามลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ลง เพื่อลดปริมาณการใช้เหล็กที่จะนำมาผูกกับโครงสร้างไปด้วยกัน นั่นย่อมส่งผลในทางอ้อม สามารถประหยัดงบประมาณได้
อีกทั้งยังแลกเปลี่ยนไอเดียก่อนจะเป็นบ้านหลังหนึ่ง ผู้สร้างบ้านหลังนั้นได้ก่อเตาเผาอิฐไว้เพื่อผลิตวัสดุหลักให้กับบ้าน แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ใช้เตาเผาอิฐนั้นเป็นที่อยู่อาศัยเสียด้วยเลย
อยากอินเทรนด์ ต้อง “ไม่ไผ่”
นอกจากวัสดุธรรมชาติจากผืนดินโดยตรงแล้ว โลกอาจต้องเหลียวมองวัสดุทางเลือกในอนาคตที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นในขณะเดียวกัน ทั้งยังสามารถประยุกต์ปรับใช้ได้หลากหลายรูปแบบไว้ด้วย นั่นคือ “ไม้ไผ่” ต้นไม้ที่ได้รับฉายาว่าเป็น Green Gold เหมาะแก่การนำไปใช้และเพิ่มมูลค่ามากกว่าที่เป็นอยู่
ธนา อุทัยภัตรากูร ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้อาคารไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรมจากวัสดุธรรมชาติเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เผยถึงข้อดีของวัสดุที่น่าจับตา อย่างไม้ไผ่ต่ออีกว่า สามารถปลูกทดแทนได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ ไม้ไผ่จึงถูกนิยามให้เป็น ทองคำสีเขียวที่มีมูลค่าสูงในตลาดโลก
“ไม้ไผ่เริ่มเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้ไทยมีโอกาสในตลาดโลกด้วย เพราะด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออก หรือในแถบอาเซียนเรา ก่อให้เกิดผลผลิตไม้ไผ่จำนวนมาก ซึ่งไทยมีจุดแข็งที่ไม้ไผ่ท้องถิ่นของเรามากกว่า 30 ชนิด แถมยังมีองค์ความรู้ด้านไม่ไผ่จากการสร้างที่อยู่อาศัยแบบ “เรือนเครื่องผูก” ในอดีต จึงทำให้เรามีความเข้าใจในธรรมชาติของไม้ไผ่และมีความชำนาญในการนำมาใช้และบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เราจึงมีโอกาสมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตวัตถุดิบ เพราะเราสามารถออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่ได้”
ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรมจากวัสดุธรรมชาติเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า เขาหลงใหลในวัสดุนี้มากเสียจนต้องเดินทางไปศึกษาถึงถิ่นที่ราบสูงด้วยตนเอง จนกระทั่งได้พบกับชาวบ้านที่สามารถสอนวิธีการใช้และทำให้เขาเข้าใจไม้ไผ่อย่างลึกซึ้ง ซึ่งขณะที่เขาเรียนรู้ด้วยหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตอยู่นั้น ธนาก็สนุกกับการสอบถามกูรูท้องถิ่น พร้อมกับทดลองนำไม้ไผ่มาใช้ในการปลูกสร้างให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ
“จากการศึกษาและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ผมคิดว่ามี 5 สิ่งที่สถาปนิกควรรู้หากต้องการเลือกไม้ไผ่เป็นวัสดุก่อสร้าง คุณต้องรู้ศักยภาพของไม้ไผ่ รู้จักพันธุ์ของมันว่าพันธุ์ใดเหมาะกับการนำไปใช้ส่วนหรือโครงสร้างใด เพราะความยืดหยุ่นและแข็งแรงไม่เท่ากัน จากนั้นก็ต้องรู้วิธีการดูแลรักษา กำจัดปัญหามอดกินแป้งไม้ไผ่และการทนไฟ มาถึงการออกแบบ ก็ต้องรู้ว่าไผ่แพ้ความชื้น ตลอดจนจุดอ่อนของไม้ไผ่คือ รอยต่อทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้มา จึงควรคำนวนหาจุดรับน้ำหนักหลายๆจุด อีกทั้ง คำนึงถึงความยืดหยุ่นของกระบวนการก่อสร้าง เริ่มต้นกันตั้งแต่นั่งร้านเลยยิ่งดี และสุดท้ายคุณต้องประเมินความแข็งแรงทางวิศวกรรมได้ด้วย ซึ่งหากทำได้ทุกข้อแล้ว ไม่ไผ่น่าจะเป็นวัสดุที่ใครๆก็อยากจะเลือกเป็นอันดับแรก”
ตลอด 3 ชั่วโมงกว่าที่ผ่านมา หลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ครบสูตรกระบวนการเรียนรู้ด้านสิ่งปลูกสร้างจริงๆ เพราะนอกจากจะกระตุ้นไฟความคิดสร้างสรรค์ให้โชกโชนแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปปรับใช้ได้ทันที และยิ่งตอกย้ำและปักหมุดได้ว่าภูมิปัญญาที่อยู่อาศัยแบบไทย คืออนาคตของโลกอย่างแน่นอน