บทสัมภาษณ์ผู้กำกับ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ยกทีมตะลุยแดนภารตะ ใน “ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปูรูปี”

ที่มาที่ไป-แรงบันดาลใจในการทำโปรเจ็คต์โกอินเตอร์เรื่องนี้

เรื่องนี้ก็เกิดจากความประทับใจในการเดินทางไปอินเดีย ระหว่างเดินทางก็เห็นความเป็นอยู่ของแต่ละเมืองที่มีความแตกต่างกัน ก็มีความคิดว่าถ้าเอาเด็กอีสานไปเจอกับเด็กอินเดียให้ลองใช้ชีวิตด้วยกันซิว่ามันจะเป็นยังไง มันน่าจะมีมีข้อคิดอะไรที่ดีๆ ให้กับเราได้ ก็เลยกลายเป็นโปรเจ็คต์หนังตลก-ดราม่ามีบทชีวิตเข้ามาด้วย ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องตลกมากหรือว่าดราม่ามากๆ มันเป็นเรื่องของเด็กๆ ซึ่งทำยังไงก็ได้ให้ได้กลับบ้าน เป็นแนวสนุกๆ ของเด็กๆ ที่พลัดหลงกันระหว่างเดินทางในอินเดีย ก็ได้ผจญภัยกันไปกับเรื่องราวที่สนุกสนานน่าติดตามระหว่างเด็กไทยและเด็กอินเดีย หนังเรื่องนี้จะสนุกตรงที่เด็กๆ ไม่รู้เรื่องด้านภาษาและวัฒนธรรมแต่ต้องมาอยู่ด้วยกัน ก็จะเป็นเรื่องของความมีน้ำใจ เรื่องจิตใจของเพื่อนที่ไม่เคยทิ้งกัน เรื่องมิตรภาพของเด็กๆ

ยังคงคิดเรื่องเอง-เขียนบทเองเหมือนเรื่องที่ผ่านๆ มา

ใช่ครับ ทั้งหมดผมจะคิดเรื่องเอง เขียนบทเอง กำกับเอง แต่เรื่องราวจะไม่ต่อเนื่องจากภาคที่แล้ว จะเปลี่ยนเป็นเรื่องใหม่เลย แต่ตัวแสดงก็มีทั้งทีมเก่าจากปัญญาเรณูทั้งสองภาคและก็จะมีน้องๆ นักแสดงหน้าใหม่เข้ามาเสริมความสนุก น้องๆ สุดยอดเล่นดีมากๆ ผมคิดว่าคำว่า “ปัญญาเรณู” คงเป็นอะไรที่ประทับใจมาตั้งแต่ภาค 1-2 ก็เลยคิดว่าคงไม่ทิ้งเรื่องปัญญาเรณูไป ก็จะเป็น “ปัญญาเรณู 3 ตอนรูปูรูปี” ที่ไปบุกอินเดียกัน

เรื่องราวก็มาจากตอนที่เราไปประเทศอินเดียแล้วมีพระเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่าคนไทยจะเดินทางไปประเทศอินเดียปีหนึ่งหลายสิบล้านคน ไปไหว้พระไปตามสถานที่ต่างๆ ของพระพุทธเจ้า แล้วเมืองพุทธคยา ที่เราอยู่เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าไปตรัสรู้ที่นั่น เรารู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่สำคัญจริงๆ เขาบอกว่าเวลาคนไทยเอารถทัวร์มาทอดผ้าป่าก็จะมีรถบางคันโดนโจรที่ประเทศอินเดียปล้นแล้วเรื่องจริงมีพระองค์หนึ่งที่โดนแทงแล้วปล้นเอาทรัพย์สินไปได้ประมาณ 2-3 ล้านบาท หลายครั้งมาก

เราก็เลยคิดเรื่องราวของเด็กภาคอีสานกับเด็กที่อินเดียมาเจอกัน มีการหลงทางผจญภัยสนุกๆ เกิดขึ้น มีการทอดผ้าป่าทอดกฐินกัน คือพระจากประเทศอินเดียขอผ้าป่ามาที่พระไทย แล้วพระไทยก็เอาไปทอดที่ประเทศอินเดีย แล้วก็มีวัฒนธรรมจากภาคอีสานไปโชว์ที่อินเดียด้วย เราก็เอาเด็กทั้งหมดเดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อจะไปโชว์โปงลางศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน แล้วทางอินเดียจะมีโชว์ระบำแขกโชว์อะไรของเขา เราก็จัดเซ็ตฉากขึ้นมาแบบอลังการที่ประเทศอินเดีย เรื่องตัวประกอบ extra ไม่ต้องห่วงเขามาทีเป็นพันๆ คนเข้ามาดูกัน คือเราทำงานยากมาก แต่ก็ถือว่าโอเคเป็นงานอะไรที่มันแปลกใหม่ของเด็กๆ ภาคอีสาน  แล้วเมืองพุทธคยาก็ไม่เคยมีใครไปถ่ายหนังที่นั่นเลย เพราะว่ามันสุดสาหัสสากรรจ์มากจริงๆ

เรื่องราวก็จะสะท้อนวัฒนธรรมไทยและอินเดียบวกกับประสบการณ์จริงที่ได้ฟังและพบเห็นมา ก็จะยังเป็นเรื่องราวของเด็กอีสานอยู่ มันจะมีภาษาอีสานแล้วก็ภาษาอังกฤษ ภาษาอินเดียปะปนกันไปด้วยความเหมาะสมของท้องเรื่องน่าจะเป็นอย่างงั้น แต่เนื้อเรื่องผมคิดว่าหลายๆ คนคงจะเดาลำบาก เดายาก จะเกิดเหตุการณ์ซึ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้วมันเกิดกับเด็กกลุ่มหนึ่ง 7-8 คน ดูซิว่าอินเดียที่พวกเขาเพิ่งไปครั้งแรกแล้วเขาไม่รู้อะไรเลย ภาษาก็ไม่รู้ แล้วเขาต้องพลัดพรากจากกลุ่มที่เขาไป แล้วต้องหาทางกลับวัดหาทางกลับประเทศไทยโดยไปเจอกลุ่มเด็กอินเดีย มันมีเรื่องอะไรมากมายหลายอย่าง เรื่องนี้ผมมั่นใจว่าจะออกมาสนุกแล้วมันจะมีดราม่าของเด็กที่แบบ…ผมพูดไม่ถูก ก็ลองไปดูละกันว่ามันจะขนาดไหนครับ 

เรื่องนี้ไม่ได้เน้นความรักฉอเลาะ แต่จะเน้นเกี่ยวกับมิตรภาพมากกว่า

ใช่ฮะ มันไม่ได้เกี่ยวกับความรักของเด็กเลย แต่จะเป็นความรักระหว่างเพื่อนที่ช่วยกัน พยายามทำยังไงก็ได้ให้ได้กลับบ้าน มีคนเขาบอกว่าเวลาไปอยู่ต่างประเทศแล้วนิสัยที่แท้จริงจะออกมาคือความเห็นแก่ตัว ใครเห็นแก่ตัวจะออกมาหมด แต่กลุ่มนี้พอมีอะไรไม่ดีกับกลุ่ม มันก็มาคุยกันแล้วก็ตกลงว่านิสัยอย่างนี้อย่านะ เรามาอยู่ด้วยกันเราต้องช่วยเหลือกันให้รอดจากประเทศนี้เมืองนี้ ต้องกลับบ้านเราให้ได้ มันเป็นความคิดของเด็กๆ แล้วมันก็สามารถชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วยความรักสามัคคีกันเอง

หนังแนวนี้ถือเป็นความถนัดหรือเป็นความชอบส่วนตัวได้เลยมั้ย

ผมว่ามันเป็นแนวความชอบส่วนตัวของผมมากกว่า เพราะว่าความถนัดจริงๆ มันก็คงได้หลายรูปแบบ แต่ความชอบจริงๆ ผมชอบอะไรที่เป็นเด็กๆ ที่เล่นเป็นธรรมชาติ มันมีความบริสุทธิ์ของเด็กอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเสี้ยมสอนอะไรมากมาย ไม่ต้องให้เขารับสิ่งที่เกินเด็กที่จะรับไป ผมชอบแนวอย่างนี้ อยากจะถ่ายทอดให้หลายคนได้ชมกัน

ทำไมต้องเป็นชื่อ “รูปูรูปี”

บางคนถามว่าทำไมต้อง “รูปูรูปี” รูปูก็เป็นเด็กอีสานที่ชอบขุดรูปู ชอบหากบหาเขียดประมาณอย่างนี้ ส่วนรูปีก็เป็นเงินตราของอินเดีย แล้วเด็กในอินเดียพวกเด็กไทยก็ไม่รู้จะเรียกอะไรดีก็เรียกรูปีไปเลยละกัน มันก็เป็นรูปูรูปีสองชาติมาเจอกันแค่นั้นเอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอะไรทั้งนั้นครับ

การถ่ายทำเรื่องนี้ในต่างแดนมีความยากมากน้อยแค่ไหน

ก็ยากนะครับในช่วงที่ไปถ่ายที่นั่น เพราะว่าทีมงานเราเกือบร้อยคนที่ต้องเดินทางไปประเทศอินเดีย แล้วมีเด็กอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง ผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่ง เด็กอยู่ประมาณ 40 กว่าคน ด้วยความยากลำบากคือมันต้องแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แต่กลุ่มของผมจะไปก่อนประมาณ 2 อาทิตย์เพื่อไปดูโลเกชั่น สถานที่พัก ดูอะไรกับกองถ่ายที่จะต้องตามมา แล้วระหว่างที่ไปแล้วก็ได้ข่าวว่ามีคนมีปัญหากับตั๋วเครื่องบิน คนนั้นมาไม่ได้ คนนี้มาไม่ได้ มันก็เลยหยุด เราก็ต้องรออยู่ที่นั่นอีกอาทิตย์หนึ่ง จริงๆ แล้วกะว่าจะอยู่สัก 2-3 อาทิตย์ ก็เลยเพิ่มเป็นประมาณ 4-5 อาทิตย์ที่ต้องถ่ายทำและต้องอยู่ที่นั่นตลอด

แล้วตอนที่เราไปถ่ายทำที่นั่นคือเดือนเมษายน-พฤษภาคม อากาศมัน 45-50 องศา ตั้งแต่สนามบินเด็กท้องเสีย เลือดกำเดาไหล สนามบินวุ่นวายไปหมด อุปกรณ์ทั้งหมดขนมาจากประเทศไทยเพราะว่าเราไม่สามารถใช้จากที่นั่นได้เลย ที่นั่นไม่มีอะไรเลย

เราคิดดูแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจากหนักขอให้มันเป็นเบา เพราะถือว่าเป็นเมืองพุทธเป็นเมืองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราก็ไปกราบไหว้พุทธเมตตาเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่นั่น แล้วขอพรให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จจากที่เรามาถ่ายที่พุทธคยา ขอให้อย่ามีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น ขออยากทำอะไรก็ขอให้ได้ คือเด็กๆ นั่งเครื่องกันมา 4-5 ชั่วโมง แล้วต้องนั่งรถจากสนามบินมาที่พุทธคยาอีก 11 ชั่วโมงมาถึงที่พักประมาณเกือบตี 3 ตี 4 ก็ค่อนข้างวุ่นวาย เด็กก็จะงอแง เด็กบางคนป่วยก็ต้องพักอีก 2 วัน จากนั้นก็เริ่มทำพิธีที่สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทำพิธีกันก็เกิดปิติดีมาก เชื่อไหมว่าตั้งแต่เปิดกล้องอุปสรรคที่เรากลัวว่าจะถ่ายไม่ได้ คนนั้นจะไม่ให้ความร่วมมือ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด แต่ด้วยที่ว่าเราเป็นกองที่ใหญ่คนทำงานก็เยอะ เราต้องจ้างล่ามหลายสิบคนคอยกันคอยนั่นนี่ จ้างตำรวจวันหนึ่งหลายสิบคนเพื่อกันพวกที่จะมาขโมยของในกองถ่าย เพราะเป็นเมืองที่ขอทานเยอะสุด ไม่กลัวเกรงกฎหมาย แต่จะกลัวตำรวจ กองถ่ายไม่มีตำรวจไม่ได้ จากที่คิดว่าถ่ายไม่ได้ก็ถ่ายไปได้ด้วยดี ตอนนั้นก็ช้านิดนึงแต่อุปสรรคมันก็มีบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่มี ที่ประเทศไทยก็มีอุปสรรค แต่ที่นั่นสาหัสสากรรจ์กว่าจริงๆ แต่มันก็ค่อยๆ หายไปจนถ่ายเสร็จด้วยดี

การเลือกโลเกชั่น

 

ผมไปอินเดียครั้งแรกก็คือไม่ได้ไปถ่ายหนังหรืออะไร คือไปไหว้พระที่ประเทศอินเดียตั้งใจตั้งนานแล้วไม่มีโอกาสไปสักที ชีวิตหนึ่งเราก็อยากไปสักครั้ง ปรากฏว่าไปแล้วมีความสุข ได้ไหว้พระ ได้อยู่ตรงนั้น แล้วเราก็รู้สึกว่าเมืองนี้น่าถ่ายหนังมาก มันมีอะไรที่อยากจะค้นหาอยากจะอะไรมากมาย แล้วคนไทยอีกหลายล้านคนที่ไม่เคยมาพุทธคยา เรามีความคิดบรรเจิดขึ้นมาเลยว่าเราต้องมาถ่ายหนังที่อินเดีย แค่คิดปุ๊บก็มีแต่คนบอกว่ายาก ไปถามคนนั้นคนนี้คนไทยที่อินเดียเขาบอกยากไม่มีทางหรอก เราก็ยังไม่หมดความตั้งใจ ก็กลับมาเมืองไทยแล้วก็ไปที่วัดมหาธาตุ เพราะว่าหลวงพ่อที่วัดมหาธาตุจะไปอยู่ที่ประเทศอินเดียที่วัดที่เราไปพักกัน มันเป็นไปได้ไหม ท่านบอกคุณโยมบิณฑ์เชื่ออาตมาถ้าเราตั้งใจทำอะไรแล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วตั้งใจทำต่อไป แล้วสิ่งที่ทุกคนบอกว่ามันจะยาก มันจะง่ายสำหรับเรา เราก็เอาละวะ เป็นไปได้ หลวงพ่อก็ไปที่อินเดียก็ทิ้งเบอร์ไว้เราก็โทรถามหลวงพ่อตอนนี้เป็นไง ทุกอย่างที่อาตมาพูดไว้คุณบิณฑ์ตั้งใจทำอะไรมาได้เลย เราก็ทันทีเริ่มงานต่างๆ กันเลย แต่หลายๆ คนก็บอกว่าอย่ายกไปเลยกองถ่ายที่อินเดีย แต่เราก็ยกไปจนได้ สุดท้ายก็ออกมาโอเคเรียบร้อย

ก่อนถ่ายก็จะไปดูว่าในบทสมควรจะเอาตรงไหนอย่างไร บ้าง ที่เราผ่านๆ พอเห็นว่าสวย ก็จะมาดูว่าเหมาะกับฉากที่เราเขียนมั้ย ทุกที่ของอินเดียมันก็ถ่ายได้เลย ก็คือบางส่วนมีคล้ายประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรมอย่าง สวนข้าวโพด มีต้นตาลเยอะๆ มองกว้างๆ ก็เหมือนประเทศไทยเรา บางที่เหมือนเพชรบุรีบ้านเราก็จะเลี่ยง ไม่อย่างนั้นเราไปถ่ายที่เพชรบุรีถ่ายที่ไหนก็ได้ เราจะถ่ายที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดียจริงๆ อย่างที่บ้านเราไม่มีจริงๆ อย่างโลเกชั่นที่ถ่ายมาจะเห็นเลยว่านี่คือประเทศอินเดีย แต่ก็อาจจะมีบ้างนิดหน่อยที่เห็นว่าเหมือนบ้านเราก็คือเค้าปลูกข้าวโพด ปลูกมะเขือเทศ ที่ไม่เหมือนก็คือคนอินเดียที่แต่งตัวแบบอินเดียจริงๆ อยู่ในฉากนั้นๆ แต่ถ้าไม่มีนั่นก็เหมือนโลเกชั่นบ้านเราเลย

ถ่ายทำกันที่พุทธคยาที่เดียวเลย

ครับ พุทธคยาที่เดียว เฉพาะพุทธคยาที่เดียวเชื่อไหมว่ามันกว้างใหญ่แล้วมีประชาชนอยู่ประมาณ100 ล้านคน เมืองๆ เดียว ประเทศไทยบ้านเราแค่ประมาณ 65-70 ล้านคน อันนั้นเมืองๆ เดียวที่เราอยู่มีประชาชนประมาณ 100 ล้านคน ลองคิดดูความแออัด ความอะไรมันมากมายขนาดไหน เราเข้าไปถ่ายในตลาด ถ่ายในที่ที่เรียกว่าเป็นประวัติของอินเดีย แล้วในหนังมันจะมีอธิบายบอกเลยว่าตรงนี้มันคืออะไร ไปลุมพินีสถาน ที่พระพุทธเจ้าไปเทศนาสั่งสอนพวกประชาชนอะไรที่นั่นครั้งแรก มันมีสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์มากมาย มันมีสถานที่ที่เขาสร้างไว้เมื่อ 2-3 พันปีก่อนมันเป็นหินทั้งแท่งใช้เจาะใช้ขุด ซึ่งเราก็ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันคืออะไร แล้วประเพณีจริงๆ ที่ประเทศอินเดียก็จะไม่มีส้วม ตอนเราถ่ายทำเราก็จะเห็นคนนั่งขี้นั่งอึกันมากมายมันเป็นอะไรที่สบายที่เขาเรียกมาจาก แขกขี้คุย มันก็มาจากนี่แหละ มันนั่งขี้แล้วก็คุยกัน คือทุกคนไม่สนใจ มันปกติของเขา มันมาจากตรงนั้นเลยเขาอธิบายให้ฟัง

แล้วเมืองที่เราไปมันเหมือนโดนสาป มันโดนสาปว่าหนึ่งถ้าเมืองนี้มีภูเขาก็จะไม่มีต้นไม้อยู่เลย มันก็แปลกเรื่องจริงมีภูเขาเยอะแยะมากมายแต่ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ถ้ามีผู้หญิงมีผู้ชายก็จะไม่สวยไม่งาม ผู้ชายก็ขี้เหร่ ผู้หญิงก็ขี้เหร่ ผอมแห้งแรงน้อย คือไม่มีใครสวยว่าอย่างนั้นเหอะ แล้วถ้ามีแม่น้ำก็จะไม่มีน้ำก็จะมีแต่เป็นทราย แม่น้ำเนรัญชรากว้างยาวตั้งกี่ร้อยกิโลไม่มีน้ำแม้แต่หยดเดียวเป็นแต่ทะเลทราย จะมีสัก 5 ปี 6 ปี 7 ปี จะมีน้ำมาสักครั้งหนึ่ง แต่จะมาแค่เดือนเดียวแล้วก็จะแห้งเหมือนเดิม มันเป็นอะไรที่มันแปลกมาก มันถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ซึ่งหนังเรื่องบี้ได้ไปถ่ายที่นั่นเพื่อเอามาให้เราดูว่าปัญญาเรณูภาคนี้มันมีความแปลกใหม่แตกต่างกว่าทุกๆ ภาค

ทีมนักแสดงหลักมีใครบ้าง

คาแร็คเตอร์หลักก็จะเป็นทีมนักแสดงเด็กๆ ทั้งเก่าและใหม่ซึ่งจะรับบทเป็นตัวของเค้าเองทุกคนเลย เริ่มจาก “น้ำขิง” (ด.ญ.สุธิดา หงษา) ก็ยังเป็นเด็กที่ใสๆ ห้าวหาญ ใจกล้า อดทนเหมือนเดิม แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีความรักอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเป็นเกี่ยวกับเพื่อนๆ ทั่วๆ ไป เป็นอะไรที่เห็นความสำคัญของความเป็นเพื่อนที่ยังต้องการความรักความสามัคคีอยู่เหมือนเดิม เป็นห่วงเป็นใยเพื่อนๆ ก็มีบ้างที่งอนเพื่อนๆ บ้างนิดหน่อย  การพัฒนาด้านการแสดง ในสายตาผมก็ยังโอเคอยู่ พอมาแสดงเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ให้เป็นเรณู ก็มีบางอย่างที่อาจดูเบาลงไป

“เปเล่” (ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว) ก็คือคนเก่าที่เล่นเป็น จอบ จากปัญญาเรณู1 และ 2 ก็ยังคาแร็คเตอร์เหมือนเดิม ก็ยังเป็นอะไรที่แบบว่าเชยๆ เปิ่นๆ ขี้อายประมาณนี้อยู่ในกลุ่มเหมือนกัน แต่ในภาคนี้คาแร็คเตอร์เขาจะเพิ่มมาอีก คือจะเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย ไม่ค่อยจะสนใจเพื่อนในกลุ่มนี้สักเท่าไหร่เหมือนกับว่าเขาโตขึ้นแล้ว ไอ้เด็กพวกนี้มันเด็กๆ เหมือนกับเขาเริ่มเป็นหนุ่ม ตัวสูงใหญ่มาก เค้าก็เลยดูออกจะฉีกจากเด็กๆ ออกไป แต่สุดท้ายในเมื่อเขาทำไม่ได้แต่เด็กพวกรุ่นน้องทำได้ เขาก็ต้องยอมรับในความคิดในสิ่งที่พวกกลุ่มหลังๆ เขาทำได้ เปเล่ก็จะดูเป็นพี่ใหญ่ของขบวนการเลย การพัฒนาด้านการแสดง ก็ดีขึ้นกว่าเดิม และการที่เค้าโตขึ้นมากก็อาจทำให้มีการอาย และอะไรอีกหลายอย่างเข้ามา แต่เราก็ต้องบอกเค้า เค้าก็ทำออกมาได้ดี ก็โอเค จะสบายๆ ของเขาไป

“ชิต” (ด.ช.วิชิต สมดี) เป็นเพื่อนอยู่วัดเดียวกับเปเล่ เป็นคู่ซี้กันเลย คาแร็คเตอร์ก็ยังพูดไม่ชัดเหมือนเดิม ขี้อาย เงียบๆ ขรึมๆ ไม่ค่อยพูดอะไรมากมาย เพราะรู้ว่าตัวเองปากแหว่ง พูดแล้วคนฟังเค้าฟังไม่รู้เรื่อง แต่ภาคนี้เขาก็เสียสละ เหมือนกับว่าใครไปทำในทางที่ผิดเขาก็บอกแบบนี้มันไม่ดีหรอกนะ ทำอะไรไปเหมือนกับบาปติดตัวแล้วนะ บาปมันเป็นบาปจริงๆ นะอะไรประมาณนี้คอยบอกเพื่อน สมมติว่าเพื่อนรังแกคนนั้นคนนี้ก็บอกว่าอย่าเลยเดี๋ยวจะเข้าตัวเรา ชิดก็เป็นคนแบบนี้ เป็นคนดี แต่พอถึงเวลาจริงๆ แล้วขี้กลัวหน่อยนึง คาแร็คเตอร์เขาจะเป็นคนขี้กลัวนิดๆ เมื่ออยู่ตรงนั้นแล้ว อยู่ตรงที่ที่ไม่เคยอยู่ มันก็สับสนวุ่นวายว่าอะไรเป็นอะไร

ต่อไปก็จะเป็นแก๊งเด็กใหม่ที่มาสร้างสีสันและความสนุกให้กับหนังมากขึ้น ก็เริ่มจาก “น้องเซฟ” (ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ) ถือเป็นนางเอกอีกคนหนึ่งที่เข้ามาในเรื่องนี้ เซฟจะเป็นคนที่มีความคิดเห็นที่ดี มองโลกในแง่ดีเสมอ สงสารเพื่อน ชอบช่วยเหลือเพื่อน และเป็นคนที่พูดภาษอังกฤษได้พอประมาณ จะเป็นคนที่ค่อยเป็นไกด์ให้เพื่อนๆ น้องเซฟจะเป็นน้องใหม่ที่เข้ามา ผมไปแคสมาเองที่บ้านลุงนพดล ดวงพร ซึ่งน้องเซฟเป็นเด็กหัวเร็ว เป็นอะไรที่เก่ง น้องเซฟเรียนนานาชาติที่อุบลแล้วสามารถพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แล้วก็เป็นคนที่รำได้สวย ใจกล้า เข้ามาในกลุ่มของเรา เขาเล่นเหมือนผ่านงานมาแล้วประมาณ 5-6 เรื่อง แล้วทำให้เพื่อนๆ และคนในกองถ่ายรักแล้วก็ชื่นชอบเขา เป็นเด็กที่มีอนาคตอีกคนหนึ่งเลย

“น้องโบ๊ท” (ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี) ก็เป็นคนที่มีความสามารถมากในกลุ่มโปงลางของโรงเรียน เขาเป็นคนที่ตีโปงลางได้เก่งที่สุด ตัวเขาเล็กนิดเดียวแต่สามารถตีได้เหมือนผู้ใหญ่ ก็ประทับใจเขามากๆ แล้วก็เล่นหนังได้ดีมากๆ ด้วย คาแร็คเตอร์เขาก็จะซื่อๆ ใสๆ เหมือนกัน เป็นเด็กที่เล็กที่สุดอายุเท่าน้ำขิง แต่ตัวเล็กกว่ามาก เป็คนคอยออกความคิด มองโลกในแง่ดี อย่างตอนที่พวกเขาลงไปฉี่กัน แล้วรถที่พวกเขาไปทอดผ้าป่าก็ออกไปโดยที่ไม่รู้ออกไปไหนกัน แต่โบ๊ตก็มีความคิดว่าเขาไปเติมน้ำมันเดี๋ยวเขาก็มารับพวกเรา หรือไม่ก็แกล้งพวกเราก็ได้แต่เดี๋ยวเขาก็มา เพื่อนๆ กำลังร้องไห้กันอยู่ มืดค่ำรถก็ไม่มา เขาเป็นคนเดียวที่บอกว่าไม่เป็นไร สู้ เดี๋ยวกูจะพาไปลุยเมืองภารตะฮัดช่าเอง โบ๊ทเขาจะเป็นคนลักษณะให้กำลังใจเพื่อนๆ ในกลุ่มว่าไม่เป็นไร เอาใหม่อะไรอย่างนี้

“น้องพลอย” (ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก) กับ “น้องภีม” (ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก) เป็นพี่น้องกัน ทำไมผมเลือกสองคนนี้ ผมเลือกน้องพลอยก่อน เป็นเด็กผู้หญิงที่กล้ามาก ตอนไปแคสผมก็บอกว่าไหนคนไหนกล้าออกมาแสดง เขากล้าออกมาเลยเขาเปิดโทรศัพท์ของเขาแล้วก็เต้นแบบธรรมชาติเด็กอ้วนๆ ไป คุยอะไรจะเป็นธรรมชาติพอไปเล่นหนังก็ธรรมชาติ ถ้าไปดูหนังจะรู้เลยการพูดจาเขาคือธรรมชาติ นั่นคือตัวเขาเลย เราชอบเค้าอย่างนี้ ส่วนภีมน้องชายก็น่ารัก เล่นเป็นธรรมชาติทั้งพี่ทั้งน้อง สองคนนี้เล่นดีมาก ให้ภีมมันแก้ผ้าฉี่มันก็ยืนแก้ผ้าฉี่ ทำไมอ่ะก็ผู้กำกับสั่ง ก็ต้องทำได้ เราต้องการคนประเภทอย่างนี้ที่กล้าแสดงออก

เด็กใหม่ที่มาเล่นเรื่องนี้สามารถเอาไปเล่นต่อได้ทุกคนเลย ถือว่าฝีมือดีกันทุกคน เด็กเก่ายังต้องกลัวเลย

 นอกจากเด็กไทยแล้วยังมีเด็กอินเดียเป็นตัวละครหลักด้วย

 

ใช่ฮะ ไปถ่ายอินเดียก็ต้องปั้นเด็กอินเดียให้มาแสดงเรื่องนี้ด้วย ก็ได้ตัวหลักอย่าง “กุ๊ดดู กุมาร” ครั้งแรกที่มาให้ผมดู ก็หน้าตาดูซื่อๆ เฉยๆ แต่เวลายิ้มจะมีเสน่ห์ ฟันขาว ตาโตๆ ตอนนั้นคิดว่าเด็กคนนี้จะเล่นได้หรือเปล่า ผมก็เลยบอกให้ลองเล่นฉากหนึ่งเขาก็ยังมีแข็งๆ บ้าง แต่ไม่เป็นไร เขามาเข้ากลุ่มกับเด็กของเราก็จะกลมกลืน พยายามปรับตัวเขาเองได้ กุ๊ดดูจะเป็นคนที่นำทาง พาเด็กไทยไปตามที่ต่างๆ อย่างน้อยกุ๊ดดูก็เป็นคนที่ขออาหารขอข้าวขอน้ำได้ ถ้าดูหนังเขาจะเป็นคนที่สนุกสนาน จะพูดอะไรก็พูด เขาเป็นคนที่มีเสน่ห์ ตาโตๆ แล้วจะยิ้มหวาน คือคนในกองถ่ายจะรักเขามาก เรื่องการแสดงก็จะมีปัญหานิดหน่อยเรื่องภาษา คนอินเดียเวลาพูดภาษาอังกฤษก็จะเร็ว ไม่ค่อยจะรู้เรื่องมากเท่าไหร่ พอพูดภาษาอินเดียเด็กของเราก็ไม่รู้เรื่อง แล้วทางกองถ่ายก็ไม่รู้เรื่องต้องใช้ล่าม ต้องให้เขาฝึกพูดภาษาอังกฤษ เพราะคุยน้องเซฟได้คนหนึ่งก็จะสามารถสื่อสารได้สั้นๆ ง่ายๆ ให้คนเข้าใจว่ามันคืออะไร ครั้งแรกก็ลำบากหน่อย แต่พอตอนหลังก็จะปรับตัวได้ เขาก็จะเอาบทกลับไปทำการบ้านมา เราจะเขียนภาษาอังกฤษไปให้เขาว่าต้องพูดอะไรบ้าง พอมาถึงกองถ่ายเขาก็โอเคเลย

กำกับเด็กใหม่ๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ก็ดีครับ ก็เหมือนกับ “ปัญญาเรณู ภาคแรก”  ผมทำหนังมาตั้งแต่เรื่องแรกๆ อย่าง “ช้างเพื่อนแก้ว” ก็มีแต่เด็กๆ เข้าเกี่ยวข้อง ทำเรื่อง “ตำนานกระสือ” ก็เอาแต่เด็กๆ มา เพราะเรารู้ว่าถ้าเอาหนังเรื่องไหนที่มีเด็กๆ เข้ามาก็ทำให้รู้สึกว่าหนังมันใส หนังมันมีอะไรที่ให้ติดตามให้น่าสนใจ ทำให้รู้สึกว่าถ้ามากำกับเด็กแล้วมันสบายใจ อาจจะกำกับยากบ้าง แต่ด้วยความที่เรามั่นใจในทีมงาน มั่นใจในตัวเรา การกำกับเด็กจึงไม่ใช่อุปสรรคอะไรอย่างที่เค้าพูดว่า สัตว์ เด็ก เอฟเฟ็คต์ สลิง เอามาเล่นแล้วจะมีปัญญาหา แต่ผมไม่เลย โชคดีที่ว่าได้เด็กกลุ่มนี้เข้ามา เพราะเป็นเด็กที่พูดจากันรู้เรื่องมาก และแสดงได้ดีมากๆ เช่นกัน

นอกจากเด็กๆ แล้วยังมีทีมนักแสดงผู้ใหญ่ด้วย

 

นักแสดงผู้ใหญ่ก็จะมีคนใหม่เข้ามาเกือบทั้งหมด จริงๆ เราไม่ได้ทำปัญญาเรณู แต่เราตั้งใจว่าจะทำ “รูปูรูปี” ก็เลยต้องเปลี่ยนไปหมด แต่พอย้อนไปมันก็มีนักแสดงของปัญญาเรณูอยู่ก็เลยต้องเป็น “ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปูรูปี” บทนักแสดงผู้ใหญ่ทั้งใหม่เก่าก็มีคุณภาพทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณนพดล ดวงพร, จั๊กกะบุ๋ม, เหลือเฟือ, แล้วก็มีคุณโดโด้ ยุทธพิชัย, หน่อย อุษณียาภรณ์ ที่เคยเล่นละครช่อง 7 และทำงานในมูลนิธิร่วมกตัญญูมาก่อนด้วย ส่วนคุณโดโด้ก็ถือว่าเป็นคนที่ช่ำชองอยู่ในอินเดีย เขาเป็นไกด์อยู่อินเดียก็ดึงเขามาเพื่อจะพาไปสถานที่ต่างๆ ได้ แล้วเค้าก็อยากเล่นหนังกับเราด้วย แล้วก็จะมีคุณยาว ลูกหยี, พี่ซ่าส์ หมาว้อ ถือว่าเราทำงานกันมาตั้งแต่ภาค 2 เขาเป็นคนรักงานจริงๆ แล้วตั้งใจเล่นจริงๆ ก็เอาเขามาเล่นเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะมีนักแสดงทั้งใหม่ทั้งเก่าปะปนกันไปด้วยความเหมาะสมกับเรื่อง ก็ต้องเอาคนที่พูดอีสานได้ พระที่พูดอีสานได้ เด็กๆไม่ต้องห่วงพูดได้ทุกคน เพราะฉะนั้นจะเป็นการลำบากนิดนึงกับเด็กในกรุงเทพฯ ที่ต้องฟังภาษาอีสาน แต่ถ้าใครดูปัญญาเรณูภาค1 ภาค2 ก็คงจะชินแล้วพอจับใจความได้ เขาจะมีซับอะไรให้อ่านอยู่แล้ว

ฉากไฮไลต์สำคัญของเรื่อง

 

ในเรื่องจริงๆ ก็สำคัญทุกฉากและยากทุกฉากนะ  ถ้าฉากเด่นๆ ก็จะเป็น “ฉากไฟไหม้” เป็นฉากที่มีพวกโจรมาปล้นมาเผาบ้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่การเผาไม่ได้ทำร้ายผู้คนนะ เพียงแต่ทำลายบ้านเรือนเท่านั้นเองเพื่อให้ย้ายไป ฉากนี้ต้องใช้ม้าใช้คนก็เป็นฉากที่ค่อนข้างทำงานลำบากนิดนึง เพราะเราสั่งไป 20 ตัว ได้มา 7 ตัว เราก็ต้องถ่าย และเราก็เซ็ตบ้านเรือนที่จะเผาขึ้นมาเองทั้งหมด 12 หลัง ก็มีปัญหากับชาวบ้านเพราะเค้าไม่เข้าใจว่าเราทำบ้านขึ้นมาแล้วจะเผาทำไม เค้าไม่เข้าใจ เค้าคงว่าพวกเราโง่มั้งทำบ้านเสร็จแล้วจะเผา  เราก็บอกว่าไม่เป็นไรบ้านหลังไหนถ้าเราไม่เผาก็ยกให้เค้าเลย ใครจะมาอยู่ก็ได้ เพราะเราทำบ้านแบบอยู่ได้จริงๆ แต่ชาวบ้านเค้าถือว่าการเผาบ้านมันเหมือนกับเป็นสิ่งไม่ดีกับเค้า เค้าก็เลยไม่ให้เราเผา เค้าบอกว่าเรามาสร้างอยู่ในบริเวณที่ของเค้า เราเผาไม่ได้ และเค้าก็กลัวว่าไฟจากบ้านเราจะไปติดหลังคาบ้านเค้า เราก็บอกว่าเรารับผิดชอบให้หมดถ้าไปติดบ้านไหน เค้าก็ไม่เอาไม่ยอม จนกระทั้งเอาผู้ใหญ่มาเคลียร์กัน ก็ยังไม่ให้เผา แต่เราก็เผา พอเผาตรงไหนเค้าก็เอาน้ำมาดับ เผาก็เอาน้ำมาดับ ก็เกิดความหงุดหงิดกับทีมงานมาก แต่ก็โอเคถ่ายได้จนจบ แล้วก็มีปัญหาตรงที่ว่าในหมู่บ้านนั้นโจรขโมยมันเยอะมาก ก็น้องตากล้องก็โดนลักขโมยกล้องวีดีโอไป พาสปอร์ตไป  ก็ต้องเสียตังค์ให้เค้าไปแล้วเราก็ตามคืนมาจนได้

“ฉากอาบน้ำ 4 วรรณะ” ก็เป็นอีกฉากที่ถือว่าถ่ายทำค่อนข้างลำบาก ต้องเซฟพวกเด็กๆ เพราะว่าต้องลงไปเล่นน้ำจริงๆ ที่ผ่านการอาบมาแล้ว 3 ชั้น ชั้นที่ 1 อาบ 2 อาบ ลงมาชั้นที่ 4  น้ำเก่าๆ ที่เค้าใช้แล้ว ก็ให้เด็กๆ ลงไปเล่นกันตรงนั้นตามบท เราก็ต้องเซฟนักแสดงเดี๋ยวเกิดเป็นอะไรขึ้นมา แต่เด็กก็ไม่เป็นอะไรกัน มันเป็นความเชื่อเป็นเรื่องของวรรณะกัน ทุกวันนี้เค้าก็ยังมีอาบน้ำกันอยู่ พวกคนจนขอทานทั้งหลายเค้าก็ยังอาบน้ำวรรณะที่ 4 อยู่ เราก็อยากจะให้ดูว่ายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนโลกใบนี้นะ

“ฉากในตลาด” เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะคนมามุงดูกันเป็นหมื่น เราต้องใช้กล้องแอบถ่ายไม่ให้ใครเห็นกล้อง เค้าก็มามุง ก็โอเคก็ได้ภาพที่ดี นี่คือฉากที่ใช้คนเยอะมากในตลาดเมืองพุทธคยา ใช้คนเยอะมากแต่ไม่ได้จ้างเพราะเราแค่บอกว่าจะมาถ่ายหนัง เค้าก็มากันแล้ว (หัวเราะ) เราเอากล้องแอบไว้บนหลังคาตึก ก็ได้ภาพแบบธรรมชาติ ถ้าเค้ารู้ว่ากล้องอยู่ไหนเค้าก็อยากออกกล้อง อยากถ่ายหนัง อยากโน่นอยากนี้

“ฉากเทศกาลโฮลี่” เหมือนกับสงกรานต์บ้านเรา แต่เป็นสงกรานต์สีบ้านเค้า เป็นฉากท้ายๆ ของเรื่อง เป็นฉากที่สร้างสีสันสวยงาม จริงๆ แล้วเค้าก็เล่นกันทุกที่ทุกตรอกซอกซอยของอินเดีย เหมือนบ้านเราที่เล่นสาดน้ำกันทุกที่ในบ้านเมือง ที่นี่ก็เหมือนกันวันโฮลี่ของอินเดียจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะ เราก็ต้องเซ็ตฉากนี้ขึ้นมาเพราะเราไปถ่ายหลังจากที่มีโฮลี่จริงๆ ไปแล้วสัก 2-3 เดือน เลยต้องจ้างคนเข้าฉากนี้ก็ประมาณ 500-600 คน มาเล่นปาสีกัน เพราะมันจะได้เหมือนจริง ฉากนี้ก็ถือว่าลงทุนมากฉากหนึ่ง และการหาสถานที่ในการถ่ายทำก็ยาก สถานที่ที่เค้าเล่นกันส่วนใหญ่จะเป็นตามถนนใหญ่ๆ ก็หาอยู่นานมากกว่าจะได้ที่ชอบ

“ฉากที่สถานีรถไฟ” ก็เป็นฉากใหญ่อีกฉากหนึ่ง เพราะเราเซ็ตฉากนี้ก็เกือบทั้งคืน และต้องไปแอบถ่ายคนที่อยู่ตามสถานีรถไฟที่เค้านอนกันจริงๆ นอนกันเป็นพันๆ คน ดูอนาถา และเราก็ให้นักแสดงไปนอนปะปนอยู่กับพวกเค้า แล้วเอากล้องแอบถ่ายโดยที่พวกเค้าไม่รู้ เป็นฉากที่ตำรวจตามหาเด็กที่หายไป ก็ทำให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนอินเดียจริงๆ ที่อยู่ที่สถานีรถไฟ

“ฉากเต้นระบำอินเดียกับโปงลาง” เราไปขอเช่าสถานที่กลางแจ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้นำใหญ่ๆ จะมาปราศรัยมาพูด มาเล่นการแสดง คนจะดูเป็นหมื่นๆ พอวันนั้นอากาศมันร้อนมาก ก่อนจะมีการถ่ายฉากนี้ เราก็จะมีการประกาศขึ้นรถแห่ว่าเดี๋ยวเราจะมีการเอาโปงลางของประเทศไทย แล้วก็จะมีการละเล่นของอินเดียมาโชว์ ตอนเช้าๆ คนมาเป็นพันๆ แต่เรายังถ่ายไม่ได้ เพราะรอเซ็ตโน่นเซ็ตนี่กว่าจะเสร็จได้ถ่ายตอน 4 โมงกว่าแดดเปรี้ยงคนหายเกลี้ยง เพราะมันร้อนมากเพราะตอนเช้าๆ แดดไม่ค่อยมีก็มารอดูเรา แต่พอถ่ายจริงคนเหลืออยู่ประมาณสัก 3-4 ร้อยคน เราต้องหยุดถ่าย แล้วออกไปประกาศใหม่ขอความร่วมมือ เขาก็ออกมากันอีกที แล้วเราก็ต้องรีบถ่ายจนได้ฉากใหญ่นี้

อุปสรรคในการถ่ายทำ

อุปสรรคในการถ่ายทำอย่างมากก็คือคนมุงหรือแขกมุง เรารู้กันเลยว่าอินเดียเนี่ยเป็นอะไรที่มุงกันตลอด มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็มุงกันตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องการทำงานของเราก็ยากมาก นี่คืออุปสรรคจริงๆ ไม่ว่าเราตั้งกล้องตรงไหน พี่น้องชาวอินเดียก็จะมามุงดูการถ่ายทำหนังโบกไม้โบกมือจนบางทีเราต้องทน และพยายามเอาพวกล่ามมาพูดให้ชาวบ้านได้เข้าใจ บางทีเราก็ต้องเอากล้องไปตั้งหลอกเหมือนกับว่าเราจะไปถ่ายตรงด้านนั้น แล้วเราก็รีบถ่ายกันด้านนี้ ต้องทำงานกันแบบนี้เลย ต้องตั้งเป็นสองกอง กองนั้นหลอก กองนี้ถ่ายจริงอะไรแบบนี้

เรื่องอาหารการกิน หรืออาหารอินเดียที่ชอบคืออะไร

 

โรตีแกงกะหรี่ เป็นอะไรที่อร่อยมากๆ แม้แต่อยู่ข้างทางก็อร่อย เพราะว่าเราไป 10 ช.ม. เราต้องพักข้างทางกินข้าวกันแต่ด้วยความที่เรากลัว อินเดียเป็นอะไรที่สกปรกมาก ไม่สะอาดสะอ้าน แต่ดูพอเวลาเค้าทำมันเดือดมันร้อนแล้วก็สะอาด พอทำออกมาแล้วเราก็คิดว่าไม่อร่อย แต่พอเอาโรตีที่เค้าทำสดๆ ใหม่ๆ ออกมาแล้วเอาโรตีจิ้มไปในแกงกะหรี่มันสุดยอดเลย รสชาติดีมาก กลับมาเมืองไทยยังคิดว่าจะไปหากินที่ไหนดี

ส่วนเรื่องอาหารการกินของกองถ่าย เราโชคดีตรงที่ว่าเราพักอยู่ที่วัดไทย เพราะฉะนั้นวัดไทยก็จะมีไข่ๆ ทั้งไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่พะโล้ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าก็ไม่ได้ห่างเมืองไทยมากมาย พวกแกงไก่ แกงปลาก็มี แต่หมูไม่มี เรื่องอาหารการกินก็ไม่เท่าไหร่ เราก็อาศัยคนไทยจ้างแม่ชีทำให้เราก็หนักไปทางอาหารไทย อาหารอินเดียก็มีบ้างอย่างมักกะโรนี แต่เราก็รู้สึกว่ากินนิดเดียวก็ไม่อยากกินแล้วมันไม่คุ้นปาก ส้มตำนี่ก็ทำกินกันเป็นประจำ

ความประทับใจในการทำเรื่องนี้

ผมประทับใจทีมงานผมทุกคนซึ่งมีความอดทนมากๆ มีความอดกลั้น อดทนทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้หนังเรื่องนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ บางคนถ้าเกิดท้อใจหรืออะไรเขาก็คงขอกลับบ้าน แต่นี่เขาอยู่เพื่อหนังเรื่องนี้นี่ประทับใจมาก เราทุกคนพร้อมที่จะสู้ทุกๆ วัน แม้บางวันจะถ่ายมาดึกดื่น เช้ามีถ่ายต่อเค้าก็พร้อมที่จะถ่ายต่อ พร้อมที่จะทำงานกับเรา เป็นความประทับใจกับเรา ซึ่งครั้งต่อไปทุกครั้งเราก็อยากจะทำงานกับคนกลุ่มนี้ อยากจะได้คนกลุ่มนี้มาทำงานกับเรา เพราะว่าการทำงานของเรารู้สึกว่ามันลงตัวกัน แล้วก็ประทับใจหลายๆ คนที่เป็นคนไทยในอินเดียซึ่งช่วยเหลือเรามาตลอดโดยที่เขาไม่ได้หวังอะไรมากมาย มาช่วยเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน แล้วช่วยเพราะหนึ่งเห็นผมก็คือบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ แล้วผมเคยช่วยเหลือสังคมในไทยมันเป็นอะไรที่เขาชื่นชมผมเป็นการส่วนตัว เขาก็พยายามเข้ามาช่วยตรงนี้อีกแรงหนึ่ง แล้วก็สถานที่ที่เราพักผ่อนกันคือที่วัด ถ้าหลวงพ่อไม่ให้ที่เราพักผ่อนเราก็ต้องไปเช่าโรงแรมคิดดูวันหนึ่งกี่แสน หลวงพ่อให้กับเราทุกอย่าง แม้กระทั่งแม่ชีให้เราทุกอย่าง มันเกิดขึ้นในอินเดียหลายๆ อย่าง แล้วความประทับใจนักแสดงที่ทำให้ผมประทับใจในหลายๆ คน เรื่องต่อไปทุกคนก็ต้องอยู่ในใจผมอยู่แล้ว

รู้สึกว่าการไปถ่ายทำครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้เหมือนปาฏิหาริย์ บางสิ่งที่ไม่น่าทำได้ก็ทำได้ เพราะหลายคนบอกว่าการไปถ่ายอินเดียไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันยากมากและไปเมืองที่ยากจนเป็นเมืองที่กันดารที่สุด เป็นเมืองที่คนมากที่สุด เมืองแค่นั้นมีคนตั้ง 100 ล้านคนมากกว่าประเทศไทยอีก แต่เราก็สามารถทำงานได้ ผมก็รู้สึกขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น และอีกหลายอย่างประทับใจมาก พอได้เห็นภาพหนังออกมาก็หายเหนื่อย

คาดหวังกับหนังเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าถ้าคนดูภาค 1 กับ 2 แล้วชื่นชอบ ภาคนี้ก็ไม่ควรพลาด จะดูสักรอบสองรอบสามรอบก็แล้วแต่ จากภาคแรกมันจะเป็นความลึกซึ้งของคนสองคนอย่างปัญญาเรณู ภาคสองจะเป็นความสนุกสนานความตลกเฮฮาที่ได้คุณหม่ำกับคุณตุ๊กกี้มาสร้างสีสัน พอมาภาคนี้สิ่งที่ตลกสนุกสนานเฮฮามันไม่ใช่ แต่มันเป็นความตลกของพวกเด็กที่ไม่สามารถสื่อภาษากันได้รู้เรื่องแต่ก็ขำกันเอง มันเป็นอะไรที่น่าสงสาร สมมติถ้าเราอยู่ต่างประเทศแล้วเราหลงทาง เราไม่มีใครสื่อภาษาอะไรได้เลย มันจะเป็นยังไง

เพราะฉะนั้นการตอบรับมันก็น่าจะมีอะไรที่แปลกใหม่ การที่มีคนชอบปัญญาเรณู 1, 2 ที่ผ่านมา ก็คิดว่าการตอบรับก็อยู่ในระดับหนึ่งนะ ก็ไม่ได้หวังอะไรมากมาย หวังแต่ว่าไม่ให้ขาดทุนเท่านั้นเอง จะได้กำไรมากน้อยช่างมัน แต่อย่าให้ขาดทุน  ซึ่งมันก็คิดไม่ได้หรอกว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน คนเราทำหนังขึ้นมากหนึ่งเรื่องก็อยากประสบความสำเร็จ ก็อยากจะมีอะไรที่รู้สึกว่าภาคภูมิใจ แต่ลึกๆ แล้วเมื่อถึงวันนั้นขึ้นมาจริงๆ เราก็ไม่อยากหวังอะไรมากมายอย่างที่บอก คิดว่าทำผลงานออกมาแล้วแค่ให้คนดูพอใจ ยิ่งหนังสมัยนี้ก็อิงเรื่องการเมืองอะไรมากมายเกินไป แต่มีคนกลุ่มหนึ่งน่าจะดูหนังเรา ก็น่าจะประสบความสำเร็จสักประมาณ 50% นะ ถ้าคิดมากแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อย่างภาคแรกเราก็คิดว่าน่าจะดี ภาคที่สองก็เหมือนกัน แต่เราก็โอเคนะบางคนอาจคิดท้อแท้และก็คิดไม่อยากทำ เราก็ขอแค่นี้พอไม่เป็นไรหรอก ถ้าเกิดมันได้มากว่าที่เราตั้งใจก็เป็นอะไรที่เหนือการคาดหมายของเราไป ถ้าไปหวังมากๆ แล้วไม่ได้ก็จะรู้สึกไม่ดี ก็แค่นี้พอ

เสน่ห์และความน่าสนใจโดยรวมของเรื่องนี้

 

ผมไม่อยากพูดว่าเสน่ห์ของรูปีรูปีเป็นยังไง เอาเป็นว่าตัวอย่างออกมาตามโรงแล้วดูละกันว่าอยากดูแค่ไหน ผมว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่กว่าหนังทุกเรื่องที่ผมทำมา แล้วจะแปลกใหม่กว่าหนังทุกๆ เรื่องของประเทศไทย ที่หนังไทยไปถ่ายทำกันที่ต่างประเทศต่างๆ ด้วยวิวสวยงาม แต่อันนี้ไม่ใช่วิวสวยงาม แต่เป็นวิวที่น่าชม มันมหัศจรรย์ ผมเรียกว่ามหัศจรรย์ ผมไม่เคยไปเมืองไหนแล้วเกิดขึ้นมาอย่างนี้

ความน่าสนใจมันอยู่ที่ความแปลกใหม่ของหนัง ซึ่งถ้าเราดูปัญญาเรณูแล้วจะเป็นแบบพื้นบ้านอีสานธรรมดา แต่มาดูหนังเรื่องนี้แล้วจะได้วิถีชนบทของอินเดีย ได้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เราไม่เคยเห็นใหม่ๆ อีกมากมาย เพราะหนังไทยที่ไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ก็ค่อนข้างจะน้อย ไม่ค่อยได้เห็นกันเท่าไหร่แล้ว แต่หนังเรื่องนี้เดินทางไปถ่ายทำไกลถึงพุทธคยา ประเทศอินเดียกันเลย ซึ่งเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานของโลก จุดหมายที่ชาวพุทธทั่วโลกต้องไปเยือนสักครั้ง ภาพที่หนังถ่ายทอดออกมาสื่อสารเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จะได้เห็นวิถีชนบท ได้เห็นถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น และสถานที่สวยแปลกตาอีกมากมาย วัดวาอาราม สถาปัตยกรรมเก่าๆ นับพันปีซึ่งยังคงอยู่ให้เราได้นำเสนอ โดยไม่ต้องคิดซับซ้อนมากมาย  และยังคงสไตล์ปัญญาเรณูแบบโกอินเตอร์ ก็จะมีทั้งเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ความสนุกสนานเฮฮาที่จะให้ข้อคิดกับเด็กๆ และอีกหลายๆ คนที่อาจไปตกระกำลำบากอยู่ต่างประเทศ เรื่องนี้ก็จะให้ข้อคิดดีๆ ที่จะให้คนได้จดจำได้เลยครับ ผมเชื่อว่าเด็กๆ ในเรื่องนี้จะทำให้ท่านยิ้ม หัวเราะ และประทับใจได้ไม่ยากเลยครับ