การเป็นทวิภาษาอย่างแท้จริง (Truly Bilingual) นั่นหมายความว่า เด็กหรือผู้เรียนสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาแม่และภาษาที่สองได้อย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการแปล ฉะนั้นการศึกษาในระบบสองภาษา (Bilingual Education) ตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีมาตรฐานสำหรับการจะพัฒนาศักยภาพและทักษะ ความรู้ความสามารถทางด้านภาษาของเด็กได้เป็นอย่างดี เนื่องจากระบบการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวนั้น ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาทักษะในแง่การติดต่อสื่อสาร เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งทำให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาที่สองได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมชาติอีกด้วย หากแต่คุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่ยังมีความกังวลในพัฒนาการทางด้านภาษาของลูก ตลอดจนกังวลในแง่ศักยภาพการแข่งขันของลูก เมื่อก้าวไปสู่สังคมอาเซียนและสากลจะสามารถสู้คนอื่นได้หรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถดูผลความสำเร็จที่ประจักษ์ได้จากการวัดผลประเมินผลของลูก อาทิ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่จะมีการทดสอบวัดระดับความสามารถในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ไม่เพียงวัดแค่ทักษะทางภาษาเท่านั้น แต่สามารถวัดระดับทุกวิชาว่าเด็กมีความสามารถอยู่ในระดับไหน ยกตัวอย่างเช่น เด็กสองภาษาที่แท้จริงของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในการใช้หลักสูตรสองภาษาอย่างแท้จริง พบว่าปี 2557 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถสอบได้คะแนนเต็มร้อยในรายวิชาภาษาอังกฤษ ในขณะที่วิชาภาษาไทย และวิชาอื่นๆ ได้คะแนนสูงกว่าเกณฑ์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าการที่เด็กเรียนเก่งหรือสอบได้คะแนนเต็มเนื่องมาจากขยันเรียน หรือมีการติวข้อสอบ ก็สามารถทำได้ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่มากกว่านั้นคือ นักเรียนเหล่านั้นไม่เพียงแค่สอบได้คะแนนเต็ม แต่สามารถสื่อสาร และใช้ภาษาอังกฤษได้จริงทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติจริง และสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษาของระบบการศึกษาไทยที่ต้องการเห็นเด็กไทยมีศักยภาพทางด้านภาษาที่ดีขึ้นในอนาคตนั่นเอง
การเริ่มต้นเป็นเด็ก “ไบลิงกัว” นั้น ขึ้นอยู่กับการวางแผนการศึกษาของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกมีความพร้อมในด้านการสื่อสารทางภาษาด้วยเช่นกัน การเตรียมความพร้อมของทักษะด้านภาษาถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างโอกาสที่ดีต่อตัวผู้เรียนที่จะเติบโตในสังคมนานาชาติได้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นไบลิงกัว ไม่เพียงแค่มีความชำนาญในภาษาที่สองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการคงไว้ซึ่งภาษาแม่และคงไว้ซึ่งความเป็นวัฒนธรรมไทยควบคู่กันไปอีกด้วย