กิจวัตรประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจของหน่วยคุ้มครองเด็ก หน้าที่ของพวกเขาคือ การจับพวกล่วงละเมิดเด็ก การรวบตัวพวกล้วงกระเป๋ารุ่นเยาว์ การสืบสวนที่พ่อแม่ทำร้ายลูกตัวเอง ฟังคำให้การของเด็กที่มีปัญหา รวมทั้งเรื่องปัญหาเซ็กซ์ของวัยรุ่น พวกเขารับรู้ถึงสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นและกลาบเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันไปแล้ว เมื่อ เฟร็ด นายตำรวจมือใหม่ที่อ่อนไหวต้องเจอกับสถานการณ์กดดันและถูกจับตามองจาก เมลิสซา ช่างภาพที่ถูกกระทรวงมหาดไทยส่งตัวมาเพื่อเก็บรายละเอียดและตามติดเรื่องราวต่างๆการทำงานของหน่วยงานคุ้มครองเด็ก นี่คือเรื่องราวที่จะตีแผ่วิธีการทำงานคุ้มครองเด็กที่โด่งดังที่สุด ได้รับการถูกเสนอชื่อเข้าชิง 13 ซีซาร์ อวอร์ด ของฝรั่งเศส ถือว่าเป็นหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากที่สุด และคว้า 2 รางวัล “ตัดต่อยอดเยี่ยม” และ “นักแสดงหญิงที่น่าจับตา” รวมทั้ง คว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จาก JURY PRIZE ที่ เมืองคานส์
นำแสดงโดย
Karin Viard (คาริน วิอาร์ด) รับบทเป็น Nadine (นาดีน)
Joey Starr (โจอี้ สตาร์) รับบทเป็น Fred (เฟร็ด)
Marina Fois (มารินา โฟอิส) รับบทเป็น Iris (ไอริส)
Nicolas Duvauchell (นิโคลา ดูโวเชลล์) รับบทเป็น Mathieu (มาติเยอ)
Maiwenn (มายเวนน์) รับบทเป็น Melissa (เมลิสซ่า)
Karole Rocher (คาโรล โรเชอร์) รับบทเป็น Chrys (ไครส)
เปิดใจผู้กำกับภาพยนตร์… Maiwenn (มายเวนน์)
Q: คุณคิดไอเดียของการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยคุ้มครองเด็กขึ้นมาได้อย่างไร?
A: ฉันบังเอิญได้ดูสารคดีเกี่ยวกับหน่วยคุ้มครองเด็กและประทับใจอย่างมาก วันรุ่งขึ้น ฉันโทรไปหาสถานีโทรทัศน์ทันทีแล้วบอกว่าฉันอยากติดต่อกับผู้กำกับสารคดีคนนั้น ฉันอยากจะรู้ว่าฉันจะไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคุ้มครองเด็ก (ซีพียู) ได้ยังไงน่ะค่ะ
Q: นั่นเป็นขั้นตอนต่อไปใช่มั้ย
A: ก่อนที่ฉันจะมั่นใจว่าฉันอยากจะเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับซีพียูจริงๆ ฉันรู้สึกว่าฉันจะต้องทำความรู้จักกับชีวิตของตำรวจเหล่านี้เสียก่อน ฉันอยากจะใช้เวลากับพวกเขา ฟังพวกเขา และดูพวกเขาใช้ชีวิต มันเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและยากเย็นค่ะ แต่ในที่สุด ฉันก็ได้รับการยอมรับให้ “ฝึกงาน” และฉันก็จากกลุ่มหนึ่งไปหาอีกกลุ่มหนึ่ง ฉันจดบันทึก ทำตัวเป็นเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับข้อมูลทั้งหมดเท่าที่ฉันจะหาได้ แม้กระทั่งระหว่างพักรับประทานอาหารเที่ยงสามชั่วโมง หรือหลังเลิกงานที่พวกเขาไปดื่มกัน ฉันก็จะตามไปด้วยเพื่อที่จะไม่พลาดการพูดคุยของพวกเขาและฉันก็จะรัวคำถามใส่พวกเขาค่ะ
Q: เวลาที่คุณอยู่กับพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับบทภาพยนตร์มากน้อยแค่ไหน
A: สิ่งที่ฉันเขียนได้เค้าโครงมาจากเรื่องราวที่ฉันได้เห็นจริงๆ หรือจากเรื่องราวที่พวกเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกฉัน ฉันได้เปลี่ยนแปลงบางสิ่งในบางคดีไปบ้าง แต่ฉันก็ไม่ได้คิดมันขึ้นมาเอง ฉันได้รู้อย่างละเอียดว่าตำรวจพวกนี้ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน และฉันก็ไม่อยากข้ามหน้าที่หนึ่งใดของพวกเขาไปเลย ฉันอยากจะพูดถึงพวกล่วงละเมิดเด็ก เพศสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในครอบครัวชั้นสูง สภาพการณ์ของพวกวัยรุ่น และ ฯลฯ…ในทางกลับกัน ฉันพบว่าสิ่งสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่าในตอนที่พวกเขารับคดีหนึ่งๆ พวกเขาจะติดตามมันตราบใดที่ผู้ต้องหายังอยู่ในการควบคุมตัว แต่พวกเขาอาจจะไม่ได้รับฟังคำตัดสินที่ออกมา พวกเขาจะต้องรับมือกับคดีแล้วคดีเล่าอย่างรวดเร็วเพื่อจะไม่เกิดความรู้สึกเกี่ยวข้องกับคดีใดคดีหนึ่ง ฉันก็เลยตั้งใจที่จะไม่ให้ผู้ชมได้รู้ว่าผู้ต้องหาต่อไปเป็นยังไงบ้าง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง
Q: แล้วการเขียนบทร่วมกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทเป็นยังไงบ้าง
A: ตอนแรก ฉันเขียนดราฟท์แรกขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทก็ค่อยมาร่วมมือกันฉันทีหลังค่ะในตอนแรก เธอตั้งใจจะร่วมงานกับฉันไม่นานนัก เราเป็นเพื่อนรักกันค่ะและเธอก็กลัวว่าการทำงานร่วมกันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรา แต่ฉันไม่เห็นด้วยกับเธอ ฉันมั่นใจว่าการร่วมงานกันครั้งนี้จะทำให้มิตรภาพของเราแน่นแฟ้นขึ้นและงานของเราก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนั้น เธอก็เลยบอกฉันว่า “ฉันจะร่วมงานกับคุณสิบวันนะ ไม่มากไปกว่านั้น มันคงจะนานพอที่เราจะกำหนดลักษณะตัวละครได้อย่างชัดเจน แล้วคุณก็ดูแลเรื่องไดอะล็อคไป ฉันจะไม่ไปยุ่งด้วยหรอกนะ” สิบวันให้หลัง เธอยังอยู่กับฉัน เรามีออฟฟิศในกองถ่าย และเราก็จะทำงานเกือบทุกวัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้า และเมื่อวันแล้ววันเล่า สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าผ่านไป เราก็เริ่มคุยกันถึงโครงสร้างของการเล่าเรื่อง เราปรับมันใหม่ด้วยกัน แล้วเราก็จัดการกับไดอะล็อค มันหลั่งไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติทีเดียวค่ะ เธอพร่ำปฏิเสธที่จะเขียน แต่เธอกลับเป็น คนที่คิดบทไดอะล็อคออกมา แล้วฉันก็เป็นคนพิมพ์ แล้ววันหนึ่งเธอก็พูดว่า “โอเค ฉันรู้สึกว่าฉากนี้ใช้ได้แล้วล่ะ ฉันจะเขียนไดอะล็อคเอง” แล้วเธอก็นั่งตรงหน้าคอมพิวเตอร์ ฉันประทับใจมากที่ได้เห็นภาพนั้น หลังจากสองสามเดือนที่เธอทำงานกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มันก็กลายเป็นบทภาพยนตร์ “ของเรา” ค่ะ
ฉันต้องบอกว่าในดราฟท์แรก ถึงแม้คุณอาจไม่อยากเชื่อก็เถอะ เจ้าหน้าตำรวจกลายเป็นตำรวจนอกรีต ที่พอรวบผู้ร้ายเสร็จ ก็มุ่งหน้าไปใช้เงินที่ลาสเวกัส! แต่อัลแลง อัททัลเปลี่ยนใจฉัน แล้วงบประมาณฉันก็ไม่มากพอที่จะถ่ายทำที่ลาสเวกัสได้ด้วย ฉันก็เลยต้องบอกว่าการร่วมงานกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์มากๆ ฉันคิดว่าเราเติมเต็มกันและกันค่ะ เธอนำ “ความสมจริง” มาสู่งานของเราและประโยคติดปากของเธอก็คือ “มันฟังดูสมจริง” ในทางกลับกัน ฉันพยายามเพิ่มอารมณ์ขันเข้าไปเพราะนั่นคือสิ่งที่สะดุดใจฉันตอนที่ฉันไปที่ซีพียู ฉันตระหนักว่าอารมณ์ขันเป็นอาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่พวกเขาใช้ต่อสู้กับความทุกข์ทนของมนุษย์ค่ะ
Q: มันมีความเป็นเพื่อนพ้องที่ชัดเจนระหว่างบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ…
A: สิ่งที่ฉันสนใจคือหน่วยงานนี้ดูเหมือนครอบครัวค่ะ พวกเขาอยู่ด้วยกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ พวกเขากินข้าวเช้าและไปดื่มหลังเลิกงานด้วยกันด้วยซ้ำไป! แต่บางครั้ง ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็จะตึงเครียดเพราะมันมีการแข่งขันและเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย…คุณจะต้องนึกถึงว่าเจ้าหน้าที่ซีพียูหลายคนเป็นผู้หญิง และพวกเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งต่างจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายน่ะค่ะ
Q: นอกจากนี้คุณยังได้ถ่ายทอดถึงความขี้ขลาดหลากหลายรูปแบบในตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนเมื่อต้องรับมือกับผู้ต้องสงสัยที่มีอิทธิพลด้วย
A: ใช่ค่ะเรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา และตัวเจ้าหน้าที่เองเป็นคนเล่าให้ฉันฟัง มันเป็นคดีของผู้มีอำนาจคนหนึ่ง เขาข่มขืนลูกสาวตัวเองมาหลายปีแต่เขากลับหลุดพ้นจากความผิดไปได้เพราะสถานะและเครือข่ายของเขา แม้ว่าผู้กำกับเองจะยืนกรานว่าความอยุติธรรมแบบนั้นเป็นอดีตไปแล้วและปัจจุบันนี้ มันไม่ได้มีเรื่องแบบนั้นแล้ว คงจะไม่จริงถ้าจะบอกว่าผู้ต้องสงสัยทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
Q: นี่เป็นภาพยนตร์ที่ให้น้ำหนักตัวละครมากๆ เลย คุณคิดเรื่องของตัวละครขึ้นมาได้ยังไง
A: ตัวละครส่วนมากจะเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่ค่ะ ซึ่งจะแตกต่างจากคดีซึ่งเป็นเรื่องจริง ฉันกับเอ็มมานูเอล เบอร์ค็อทได้เขียน “ไบเบิล” สำหรับตัวเอกแต่ละคน ที่มีข้อมูลอ้างอิงทางชีวประวัติและบุคลิกลักษณะ รวมถึงรายละเอียดเรื่องความสัมพันธ์และความเป็นปรปักษ์ภายในสมาชิกหน่วย แม้ว่าคุณจะไม่พบข้อมูลทั้งหมดนี้ในภาพยนตร์ แต่มันก็ช่วยนักแสดงบางคนที่จะมาศึกษา “ไบเบิล” ระหว่างการถ่ายทำน่ะค่ะ
Q: แล้วคุณยังได้พูดถึงเรื่องที่ซีพียูและแผนกอื่นๆ ในกรมตำรวจมีปัญหาในการทำงานร่วมกันด้วย
A: ค่ะ แผนกอื่นๆมักจะดูแคลนตำรวจในซีพียู! แล้วพวกเขาก็ถูกล้อว่าเป็น “หน่วยเบบี้ด้วย” มันเป็นเรื่องประหลาดที่แผนกยาเสพติดจะมีทรัพยากรมากกว่า แม้ว่ามันจะมีบทบาทสำคัญก็เถอะ มากกว่าแผนกที่มีหน้าที่คุ้มครองเด็กและวัยรุ่นในปารีส! เด็กทารกถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรงเหรอ? พวกเขาเป็นผู้ดูแลคดีนั้น วัยรุ่นฆ่าตัวตาย? พวกเขาก็เป็นผู้ดูแลอีก เด็กหนีออกจากบ้าน? ก็พวกเขาอีก ฉันขอเสริมรายละเอียดเล็กๆ อย่างหนึ่งค่ะ หน่วยคุ้มครองเด็กจะรับมือกับเหยื่อที่อายุไม่บรรลุนิติภาวะเท่านั้น ถ้าเด็กที่อายุไม่บรรลุนิติภาวะกระทำความผิดต่อผู้ใหญ่ เขาหรือเธอก็จะถูกส่งตัวไปยังแผนกที่เชี่ยวชาญในการกระทำผิดแบบนี้ แต่บางครั้ง เด็กก็คิดว่าตัวเองเป็นผู้กระทำผิดทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นแค่เหยื่อ พวกนักล้วงกระเป๋าในรถไฟใต้ดินก็เป็นแบบนั้นค่ะ พวกเขาเป็นผู้เยาว์ที่ถูกเอาเปรียบ เป็นเหยื่อ และหน้าที่ของซีพียูคือจับตัวพวกที่ใช้ประโยชน์จากเด็กๆ พวกนี้ สิ่งที่ทำให้งานของพวกเขายากเป็นพิเศษคือคนที่ใช้ประโยชน์พวกเขาคือ…ครอบครัวของพวกเขาเอง สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ต้องจับไม่พ่อแม่ ก็พี่ชาย ลุง หรือครู…นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้งานของพวกเขาซับซ้อนค่ะ พวกเขาต้องอธิบายให้ผู้พิพากษาฟังว่า เพศสัมพันธ์ในครอบครัว การข่มขืน หรือการทำทารุณเกิดขึ้นภายในครอบครัวและมันก็ไม่ได้ถูกกระทำอย่างรุนแรง ความรุนแรงอาจเงียบงันก็ได้…ฉันคิดว่ามันเป็นความรุนแรงประเภทที่ร้ายแรงที่สุด เป็นความรุนแรงที่ไม่มีเสียงค่ะ
Q: คุณเปลี่ยนจากฉากที่รวดร้าวใจไปสู่ฉากตลก
A: ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เหตุการณ์ที่เลวร้ายเป็นเรื่องตลกได้เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตมันก็จะเกินรับไหวค่ะ และอย่างที่ฉันพูดไปแล้วว่า มันเป็นทางเดียวที่ตำรวจพวกนี้จะมีชีวิตรอดได้ค่ะ
Q: ในสิ่งแวดล้อมนี้ เจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะปล่อยให้งานของพวกเขามาส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับลูกๆ มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้รึเปล่า
A: ค่ะ นั่นเป็นสิ่งที่ฉันสังเกตได้ มันเป็นภาพสะท้อนระหว่างชีวิตการทำงานของตำรวจพวกนี้กับชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น ฉันจำได้ว่ามีตำรวจคนหนึ่งบอกฉันว่าตั้งแต่เขาทำงานกับหน่วยนี้ เขาจั๊กจี้ลูกสาวตัวเองไม่ได้เลย ทุกอากัปกิริยาจะถูกเลือกอย่างระมัดระวัง รอบคอบและผ่านการไตร่ตรองอย่างดี ซึ่งในความคิดเห็นของฉัน มันมากเกินไปด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่เราเห็นตอนโจอี้สตาร์อาบน้ำให้ลูกสาวของเขาค่ะ
Q: ช่วยพูดถึงงานกล้องหน่อยได้ไหม
A: ในความคิดเห็นของฉัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกล้องจะต้องเป็นตัวขัดขวางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มันจะต้องโฟกัสไปที่นักแสดง ไม่ใช่ในทางตรงข้าม ฉันอยากให้นักแสดงลืมเรื่องกล้อง แต่ฉันก็ไม่มีวิธีไหนเป็นพิเศษที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ฉันก็แค่ปรับตัวให้เข้ากับนักแสดงแต่ละคน แต่ละสถานการณ์ และฉันก็ต้องคอยจัดการความท้าทายของงานกล้องให้ผ่านไปอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่แล้ว เราจะใช้กล้องดิจิตอลสองตัว หรือบางทีก็สาม เพราะฉากเราค่อนข้างเล็กค่ะ ฉันถามทีมกล้องของฉัน ปิแอร์เอม, แคลร์ มาธอนและโจวัน เลอ เบสโก ให้ “รู้สึก” ถึงอารมณ์และใช้ชีวิตกับนักแสดง พวกเขาจะต้องทำตัวเหมือนอากาศธาตุและนักฟังที่ดีในขณะเดียวกัน แคลร์ มาธอน ผู้ซึ่งฉันเคยร่วมงานด้วยในหนังสามเรื่องมาแล้ว เยี่ยมมาก ฉันแทบไม่ต้องพูดกับเธอด้วยซ้ำ ส่วนโจวาน เขามักจะถ่ายช็อตแบบฉับพลันเสมอ ซึ่งฉันชอบค่ะ ปิแอร์เอมมีหน้าที่ดูแลเรื่องแสง ทั้งสามคนสำคัญเท่าๆ กัน ฉันรู้ว่าในกองถ่ายทั่วๆ ไป ช่างกล้องจะใกล้ชิดกับผู้กำกับมากๆ แต่นั่นไม่ใช่วิธีทำงานของฉันค่ะ คนที่ถือกล้องจะต้องทำตามสัญชาตญาณและฉันก็อยากให้พวกเราสี่คนมีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้น ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับฉันแล้ว แสงจะมาเป็นอันดับแรก สิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้วคือการบันทึกช่วงเวลาของความจริง และในการทำแบบนั้นได้ คุณจะต้องฟังทุกอย่างรอบตัวคุณและพร้อมที่จะถ่ายทำในทันที และนั่นก็คือสิ่งที่เราทำค่ะ
Q: มีภาพยนตร์เรื่องไหนมั้ยที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณน่ะ
A: ค่ะ ก่อนอื่นเลย ฉันคิดว่าฉันได้ดูหนังตำรวจมาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังฝรั่งเศสหรือหนังต่างประเทศ…แม้แต่อัลแลง เดอลอง ตอนที่เขารับบทเป็นตำรวจก็เถอะ แต่แรงบันดาลใจของฉันจิรงๆ มาจากสารคดีเกี่ยวกับตำรวจของเวอร์จิล เวอร์เนียร์ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์จริงๆ ที่มีต่อชีวิต พูดแบบกว้างๆ สารคดีชั้นเลวเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันมากกว่าภาพยนตร์ดีๆ อีกค่ะ ฉันไม่ได้เป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์และฉันก็ไม่ได้พยายามจะเป็นแบบนั้น แต่ฉันต้องบอกว่า ความรู้ของฉันไม่ได้ช่วยฉันในการเขียนซักเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกตื้นตันและทำให้ฉันรู้สึกอยากเขียนคือตอนที่ฉันรู้ว่าเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นจริงๆ สิ่งที่ผลักดันให้ฉันก้าวต่อไปคือเหตุการณ์ในชีวิตจริงค่ะ
Q: ทำไมคุณถึงเลือกโจอี้สตาร์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
A: ก่อนที่ฉันจะรู้ว่าฉันจะถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับหน่วยซีพียู ฉันก็อยากให้เขามาแสดงนำในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของฉันแล้วและฉันก็ตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับความรักระหว่างตัวละครสองตัวที่มีแบ็คกราวน์ตรงกันข้าม นั่นเป็นส่วนผสมพื้นฐานอย่างหนึ่ง แต่ฉันก็ไม่มั่นใจว่าจะใช้มันยังไง แล้วพอฉันได้ดูสารคดีเกี่ยวกับซีพียู ฉันก็รู้เลยว่าฉันจะให้บทอะไรกับเขา ฉันเขียนภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเขา เขาเป็นแรงผลักดันของฉัน เป็นแรงบันดาลใจของฉัน ยิ่งไปกว่านั้น ฉันอยากให้เขาประหลาดใจและทำให้เขาภูมิใจ อีกอย่างหนึ่ง ฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเขาเท่าที่ควรใน THE ACTRESS’ BALL และฉันก็อยากจะลงลึกลงไปอีก เพื่อเข้าถึงความเปราะบางและความถ่อมตัวที่ลึกที่สุดของเขาน่ะค่ะ
Q: แล้วกระบวนการคัดเลือกนักแสดงเป็นยังไงบ้าง คุณรู้สึกอยากร่วมงานกับทีมนักแสดงจากTHE ACTRESS’ BALL อีกครั้งรึเปล่า
A: การทำงานกับนักแสดงบางคนไม่ได้หมายความว่าเราจะเลือกพวกเขาอีกครั้งเสมอไปค่ะ ฉันไม่ใช่คนรักพวกพ้องนักในเรื่องของการคัดเลือกนักแสดง ฉันโฟกัสไปที่ภาพยนตร์และตัวละครเพียงอย่างเดียว มีนักแสดงบางคนที่ใกล้ชิดกับฉันมากๆ ผู้ที่ฉันไม่ได้เลือกอีกครั้ง และฉันก็หวังว่าพวกเขาจะไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องของความชอบ ไม่ชอบอะไร ฉันเพียงแต่เลือกนักแสดงที่จะมาเล่นเป็นตำรวจได้อย่างสมบทบาท ในความเห็นของฉัน พวกเขาทุกคนจะต้องมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน นั่นคือจะต้องดูเหมือนชนชั้นทำงานและพูดด้วยสำเนียงปารีเซียงค่ะ
Q: แล้วนักแสดงเปลี่ยนตัวเองไปเป็นตัวละครของพวกเขาได้ยังไง
A: พวกเขาได้เข้าเวิร์คช็อป แต่ไม่ได้เป็นในซีพียู เพราะผู้กำกับการบอกฉันว่ามันเป็นไปไม่ได้ ฉันก็เลยจ้างตำรวจสองคนที่เคยทำงานในหน่วยนี้มาก่อน เพื่อให้นักแสดงได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลไกการทำงานตลอดหนึ่งสัปดาห์ วันละแปดชั่วโมง ทุกวันเราจะดูสารคดีเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ใครอบครัวและเรื่องตำรวจทั้งหลาย เช่นการค้ายา อาชญากรรมกระจอกและอาชญากรรมของแก๊ง และ ฯลฯ…ความตั้งใจของฉันคือการให้ข้อมูลกับจิตใต้สำนึกของพวกเขา การได้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้ทำให้พวกเขาลอกเลียนแบบอารมณ์ขันและวิถีปฏิบัติของตำรวจได้ การทำให้คนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันมานานไม่ใช่งานง่ายๆ เลย และนี่ก็เป็นเป้าหมายของเวิร์คช็อปด้วยเช่นกันค่ะ
Q: คุณอยู่กับพวกเขาด้วยตอนที่พวกเขาฝึกฝนสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยรึเปล่า
A: ค่ะ เพราะฉันมีสิ่งต้องเรียนรู้มากมาย และตลอดการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมงานสร้างไปจนถึงการลำดับภาพ ฉันก็เรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ฉันพยายามจะทำความเข้าใจลงลึกถึงวิธีการทำงานของซีพียู แล้วฉันก็ได้แต่สงสัยและกังวลว่าฉันจะสร้างหนังที่น่าเชื่อออกมาได้รึเปล่า ฉันรู้สึกสบายๆ กับหัวข้อของภาพยนตร์สองเรื่องแรกของฉัน แต่ฉันรู้สึกว่าฉันเสี่ยงกับPOLISS เพราะฉันรู้สึกว่ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงเกี่ยวกับอาชีพตัวละครของฉัน มันทำให้ฉันต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอยู่ด้วยระหว่างการถ่ายทำ พวกเขาช่วยฉันในการแก้ปัญหาในตอนที่สถานการณ์ดูไม่สมจริงสำหรับพวกเขาค่ะ
Q: เรื่องการลำดับภาพล่ะ…
A: ฉันโชคดีที่ได้ร่วมงานกับมือลำดับภาพที่วิเศษสุด อย่างลอเร การ์เด็ตต์ ที่ทำงานกับฉันตั้งแต่ฉันเริ่มทำงานใหม่ๆ, ยาน เดเด็ต ที่คอยช่วยเราและโลอิค ลัลเลมันด์ เป็นผู้ช่วยลำดับภาพ เราถ่ายทำฟิล์มทั้งหมด 150 ชั่วโมง…จากนั้น เราก็ทำงานในห้องลำดับภาพสามห้องนานามเดือน ฉันต้องปรับตัวให้เข้ากับพวกเขาสามคนเพราะแต่ละคนต่างก็มีวิธีการทำงานของตัวเอง มันเป็นเรื่องยากแม้ว่าการทำงานได้อย่างรวดเร็วจะเป็นเรื่องดีก็ตาม พอฉันมีคัทแรกเสร็จ ฉันก็ทำงานกับลอเรนเดียวเพราะฉันต้องการคำแนะนำจากคนๆ เดียวเท่านั้น คัทแรกยาวประมาณ 3 ชั่วโมง 20 นาที พอฉันได้เห็นหน้าของอัลแลง อัททัลระหว่างการฉาย ฉันก็ปรับเปลี่ยนมันใหม่กับลอเรทันที อัลแลงเป็นคนช่างพูดในตอนที่เขาคิดว่ามันเยี่ยมพอๆ กับตอนที่เขาคิดว่ามันแย่ บางครั้งเขาบอกฉันว่า “มันห่วย ตัดมันทิ้งไปเลย!” แล้วเขาก็จะบอกว่า “เยี่ยมมาก! ถ้าคุณตัดฉากนี้ออก ผมจะฆ่าคุณ!” ความกระตือรือร้นหรือการขาดความกระตือรือร้นของเขาเป็นอะไรที่คอยช่วยฉันค่ะ ฟิลิปเป้ เลเฟบเว ก็เหมือนกัน เขาเป็นคนแนะนำให้ฉันรู้จักกับโปรดักชันส์ ดู เทรเซอร์ และช่วยเหลือฉันอย่างมากแม้กระทั่งระหว่างช่วงเขียนบทก็ตาม
Q: ทำไมคุณถึงอยากร่วมงานกับคอมโพสเซอร์สตีเฟน วอร์เบ็ค
A: เขาเป็นคนแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ของนิโคล การ์เซียเรื่อง A VIEW OF LOVE ซึ่งฉันชอบมากๆ ฉันอยากจะได้โทนที่ให้อารณ์ตะวันออก ‘มีความเป็นเชื้อชาติ’ อย่างในดนตรีของเขา โดยที่ไม่ขับเน้นเรื่องของอารมณ์เกินไปน่ะค่ะ
Q: ทำไมคุณถึงตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า POLISS แทนที่จะเป็น POLICE
A: อย่างแรกเลย ชื่อเรื่องควรจะเป็น POLICE ค่ะ แต่มันมีภาพยนตร์ชื่อนั้นแล้ว และมันก็เยี่ยมทีเดียว! แล้วฉันก็นึกถึงชื่อ YOU’RE FROM THE POLICE? แต่ฉันก็มาคิดได้ว่า ชื่อนั้นก็ถูกใช้ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่แล้ววันหนึ่ง ตอนที่ลูกชายฉันกำลังฝึกเขียน คำว่า POLISS ที่เขียนแบบผิดๆ ด้วยลายมือแบบเด็กๆ ก็กระแทกใจฉันว่าเป็นชื่อที่เหมาะกับเนื้อหาของเรื่องมากเลยน่ะค่ะ
สารผู้เขียนบท…Emmanuelle Bercot (เอ็มมานูเอล เบอร์ค็อท)
Q: คุณเข้ามาเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไง
A: ฉันได้พบกับมายเวนน์หลายครั้งแล้วแต่ฉันก็ไม่ได้รู้จักเธอดีนัก แล้วเราก็ได้เจอกันที่งานเทศกาลภาพยนตร์ เราคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสนิทกันมากขึ้น วันหนึ่ง เธอเล่าให้ฉันฟังว่าเธอตั้งใจจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจ ที่มีตัวเอกหลายคน เธอรู้ว่าฉันเคยเขียนบทที่มีตัวละครหลายตัวและบอกว่าเธอเดินหน้างานตัวเองไม่ได้เพราะเธอไม่ถนัดพอ เธอก็เลยให้บทฉันอ่านประมาณสามสิบหน้า แม้ว่าพัฒนาการของตัวละครจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ตัวละครหลายตัวก็ถูกเขียนไว้พอควรแล้ว เพียงแต่บทก็อัดแน่นไปด้วยรายละเอียด มันก็เลยยุ่งเหยิงนิดๆ ฉันอธิบายให้เธอฟังว่าฉันใช้สไตล์ที่มีโครงสร้างชัดเจนในการวางพัฒนาการตัวละครแบบคู่ขนานอย่างไร สองสามเดือนให้หลัง เธอก็เขียนดราฟท์แรกเสร็จค่ะ
Q: ตัวคุณเองสนใจเรื่องของหน่วยคุ้มครองเด็กรึเปล่า
A: ค่ะ ฉันสนใจเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่ฉันชอบภาพยนตร์ตำรวจมาโดยตลอด แต่ในเรื่องนี้ มีเด็กมาเกี่ยวข้องด้วยและฉันก็ประทับใจกับเรื่องราวของพวกเขาเป็นพิเศษ เพราะถ้าฉันไม่สนใจ ฉันก็คงไม่ตอบรับที่จะทำงานในโปรเจ็กต์นี้หรอกค่ะ ในทางกลับกัน มายเวนน์ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลมากมาย ซึ่งต่างกับฉัน แต่ด้วยความที่เธอมีความเอื้อเฟื้อ เธอก็เลยถ่ายทอดสิ่งที่เธอเห็นให้ฉันฟัง และเธอก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกทั้งหมดของเธอระหว่างการค้นคว้าออกมาได้ ที่สุดแล้ว มันเหมือนกับว่าฉันได้อยู่กับเธอระหว่างการสืบสวนด้วย มันทำให้ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นในการถ่ายทอดออกมาให้สมจริงและตรงกับความเป็นจริงค่ะ
Q: คุณได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์ของคุณเอง คุณพบว่าการเข้าถึงโลกของผู้กำกับอีกคนเป็นเรื่องยากรึเปล่า
A: ฉันเริ่มเขียนให้กับคล็อด มิลเลอร์เมื่อสิบปีก่อน ตอนที่เขาสร้าง LITTLE LILI แต่ด้วยความที่ฉันยุ่งกับอย่างอื่น ฉันก็เลยหยุดครึ่งๆ กลางๆ ดังนั้น ฉันก็เลยไม่เคยทำอะไรแบบนี้มก่อน ฉันต้องยอมรับว่ามันเป็นงานที่ยากและฉันก็กลัวตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเลยด้วย ส่วนในเรื่องภาพยนตร์ของฉันเอง ฉันพบว่าเรื่องของโครงสร้างและการเล่าเรื่องเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดทีเดียว ดังนั้น พอเธอขอให้ฉันมาร่วมเขียนบทด้วย ฉันก็ลังเล ฉันบอกเธอว่าฉันยินดีช่วยแต่ฉันจะไม่เข้าไปยุ่งกับส่วนของการเล่าเรื่อง เธอก็เลยขอให้ฉันช่วยพัฒนาฉากเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของพวกตำรวจ ตอนแรก ฉันตกลงช่วยเพราะเห็นแก่มิตรภาพของเรา มันจะเป็นการทำงานแค่สัปดาห์เดียว แล้วก็จะไม่มีสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง จริงๆ แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ได้คุยกันถึงเรื่องโครงสร้าง แล้วก็ตัวละคร และเนื้อเรื่อง และท้ายที่สุด ฉันก็ได้เขียนบทกับเธอ หลังจากดราฟท์แรก ฉันได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับมันมากกว่าที่ฉันคาดคิดอีกค่ะ
Q: แล้วไดอะล็อคล่ะ
A: ด้วยความที่ฉันรู้จักวิธีของมายเวนน์จากภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ของเธอ ฉันก็คิดว่ามันคงไม่มีประโยชน์ที่จะทำงานหนักกับไดอะล็อคเพราะมันจะพรั่งพรูออกมาเองระหว่างการถ่ายทำ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ฉันเชื่อในไดอะล็อคค่ะ ในการค้นหาคำที่เหมาะสม ฉันเชื่อในการให้โทนและบทพูดที่เหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัว มายเวนน์เป็นนักเขียนไดอะล็อคที่มีพรสวรรค์มากๆ ฉันจำได้ว่าเคยบอกเธอว่าเธอไม่ต้องหาใครมาเขียนไดอะล็อคหรอก และสไตล์ของเธอก็มีเอกลักษณ์จนไม่มีใครสามารถแทนที่เธอได้ แต่แม้ว่าไดอะล็อคบางส่วนจากดราฟท์แรกจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีเควนซ์สอบสวน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง ฉันก็มีส่วนช่วยด้วย เราจะเขียนมันขึ้นมาและอ่านออกเสียงบทพูดเหล่านั้น ฉันต้องบอกว่าเราไม่ได้เขียนไดอะล็อคทั้งหมดเพราะระหว่างการถ่ายทำ มายเวนน์จะเปิดโอกาสให้นักแสดงอิมโพรไวส์อย่างเต็มที่ ดังนั้น พวกเขาก็เป็นคนเขียนไดอะล็อคบางส่วนค่ะ
Q: การร่วมงานกับมายเวนน์เกิดความร่วมมือกันมากน้อยแค่ไหน
A: ดราฟท์แรกยาวมากค่ะ เธอจดความคิดทุกอย่างของเธอลงไป มันทั้งหนาและอัดแน่น จนคุณจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่มันเป็นเรื่องราวที่ทรงพลังและมีตัวละครที่เหมือนจริงหลายคน เหนือสิ่งอื่นใด มันมีประเด็นที่เธออยากจะพูดถึง ดังนั้น ก่อนที่จะลงลึกถึงรายละเอียดเกี่ยวกับฉาก เราก็ต้องเลือกบางอย่าง ตัดบางอย่าง ดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนบางอย่าง เขียนพัฒนาตัวละครให้เสร็จ กำจัดตัวละครบางตัว และคิดตัวละครบางตัวขึ้นใหม่ ฯลฯ วิธีการของเรารวมถึงการใช้เวลาด้วยกัน ในออฟฟิศตั้งแต่เช้ายันเย็น ส่วนใหญ่แล้ว มายเวนน์เป็นคนพิมพ์สิ่งที่เราคิดออกมาได้ เราเขียนฉากแยกกันน้อยมากๆ ในแง่นี้ คุณบอกได้ว่ามันเป็นกระบวนการร่วมมือกัน ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายในการทำงานร่วมกับเธอ และพูดแบบกว้างๆ แล้ว ฉันพบว่าการเขียนแบบฉับพลันเป็นเรื่องยุ่งยาก ฉันกับเธอจะพูดถึงฉากใดฉากหนึ่งขึ้นมา คุยถึงสิ่งที่เธอต้องการจะพูดและเขียนขณะที่เราคุยกันไปด้วย มายเวนน์ได้แสดงฉากพวกนั้นออกมาด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ เพราะเราสามารถเห็นได้ทันทีว่าอะไรไม่เวิร์ค สิ่งที่เราเขียนไม่ใช่บทสรุปค่ะ มายเวนน์ไม่ได้มองงานเขียนของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและวิธีการของเธอก็มีชีวิตชีวามากๆ สิ่งที่น่าตื่นเต้นจริงๆ คือยิ่งฉันต้องปรับเปลี่ยนความคิดของฉันเพื่อถ่ายทอดมันให้กับมายเวนน์มากแค่ไหน ฉันก็สามารถวิเคราะห์กลไกการเขียนบทได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น ฉันได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการร่วมงานกันครั้งนี้ค่ะ
Q: คุณช่วยเล่าหน่อยได้มั้ยว่าคุณช่วยเธอยังไงบ้าง
A: มายเวน์มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่มองเห็นได้ในแต่ละขั้นตอนของงานสร้าง นั่นคืออิสรภาพและการไม่แยแสต่อกฎและขนบธรรมเนียมต่างๆ ของเธอค่ะ เธอไม่ได้มีการศึกษาสูง และเธอก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องระเบียบวิธีการหรือเป็นระเบียบนัก แต่ฉันเป็นคนที่เคร่งระเบียบ เป็นประเภทนักเรียนดีเด่น…แม้ว่าฉันจะไม่ภูมิใจซักเท่าไหร่ ดังนั้น ฉันก็เลยพยายามช่วยเธอให้มีระเบียบและยึดกฎเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นถ้าคุณต้องการเขียนเรื่องราวดีๆ เธอมักจะเรียกฉันว่า “คุณครู” ด้วยนะคะ!
Q: คุณช่วยพูดเฉพาะเจาะจงลงไปหน่อยได้มั้ย
A: มันยากนะคะที่จะสรุปการทำงานเขียนบทเพราะกระบวนการมันซับซ้อนและคุณก็ต้องระมัดระวังกับทุกรายละเอียด ฉันจะบอกว่าการตัดสินใจแบบนั้นแบบนี้จะมีความหมายอย่างไรต่อการเล่าเรื่องที่เหลือ หรือจะคอยดูแลไม่ให้มีฉากไหนขาดความสมจริง ความน่าเชื่อหรือความจริงค่ะ ยกตัวอย่างเช่น มายเวน์อยากให้ฉากแอ็กชันมีความอึด ดราฟท์แรกมีคดีหนึ่งที่มาจากชีวิตจริง ของเศรษฐีคนหนึ่งที่รอดตัวจากการมีสัมพันธ์กับลูกสาวตัวเอง ในเรื่องราวนี้ ตัวละครตำรวจ ที่รับบทโดยโจอี้สตาร์ ไม่เต็มใจที่จะปล่อยคดีนี้หลุดไปเฉยๆ และสาบานว่าจะแก้แค้นชายคนนั้น ด้วยความที่ผู้ชายคนนั้นเป็นเจ้าของร้านเพชร เขาก็เลยจัดให้มีการรวบตัวผู้ร้ายในร้าน และ ฯลฯ…สถานการณ์นี้ดูไม่สมจริงและฟังดูเสแสร้ง ฉันก็เลยบอกว่าเธอว่าจะต้องตัดฉากนั้นไป แต่มายเวนน์ก็มักจะอ้างถึงฉากแอ็กชันฉากนี้และความตั้งใจที่จะใส่ความดุดันให้กับมัน หน้าที่ของฉันคือฟังเธอและตอบสนองกับเธอ วันหนึ่ง เธอบอกฉันว่าตอนที่เธออยู่ที่หน่วย ตำรวจคนหนึ่งกำลังหาอาสาสมัครสำหรับปฏิบัติการที่ดูแลโดยหน่วยยับยั้งแก๊งอาชญากร เธออธิบายว่า ตอนที่มีการขาดแคลนคน พวกเขาก็มักจะหาทีมสำรองจากแผนกอื่น ส่วนใหญ่แล้ว ตำรวจหน่วยคุ้มครองเด็กพร้อมที่จะช่วยอยู่แล้วเพราะพวกเขาชอบแอ็กชันและมีโอกาสที่จะได้ลงมือน้อยเหลือเกิน ฉันก็เลยเสนอให้มีการสร้างฉากแอ็กชันจากจุดตรงนี้ มันทำให้เราได้เห็นพวกเขาในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็หมายถึงการยึดติดกับประเด็นของเรื่องด้วยเช่นกัน และนั่นก็คือที่มาของฉากการจับกุมแก๊งยูโกสลาฟค่ะ
Q: คุณต้องรีไรท์บางฉากบ้างรึเปล่า
A: ความยากของภาพยนตร์ที่มีตัวละครมากมายอยู่ที่การจัดการและการทับซ้อนกันของพัฒนาการตัวละคร มันเหมือนงานของสถาปนิกเลยค่ะ มันเป็นเรื่องยากที่จะเขียนเรื่องราวคู่ขนานของชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจพวกนี้และเรื่องราวของชายสองคนที่ตกหลุมรักเมลิสซา ที่รับบทโดยมายเวนน์ เธอมักจะบอกว่าเธอไม่สามารถคิดตัวละครขึ้นมาได้ แต่เธอได้แต่เขียนเกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลของเธอ เกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเธอเอง หรือสิ่งที่เธอสังเกตเห็นในชีวิตของคนอื่นๆ หน้าที่ของฉันคือการช่วยเธอทำความฝันที่จะเขียนนิยายให้เป็นจริง ความหมกมุ่นของมายเวนน์คือการเขียนฉากที่สมจริงขึ้นมา และเธอก็เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อนักแสดงอิมโพรไวส์ ฉันพยายามจะเกลี้ยกล่อมเธอว่า บทภาพยนตร์ที่เขียนได้ดีไม่ใช่อุปสรรค ไม่ใช่เลย ภาพยนตร์เรื่องโปรดของเธอคือ FISH TANK ฉันมักจะใช้ตัวอย่างนี้ในการเกลี้ยกล่อมเธอว่าสิ่งที่ฟังดูสมจริงและเป็นธรรมชาติอย่างเหลือเชื่อในภาพยนตร์เรื่องนั้นถูกเขียนขึ้นมาอย่างรอบคอบ แต่ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็มีความสมจริงอย่างสูงค่ะ
Q: ท้ายที่สุดแล้ว นี่เป็นบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นอย่างรัดกุมรึเปล่า
A: แน่นอนค่ะ มายเวนน์ไม่เคยชินกับการเขียนบทที่มีโครงสร้างรอบด้านและไดอะล็อคแบบนี้ แม้มันจะถูกใช้เป็นฐานก็ตามทีเถอะ เราได้พิมพ์บททั้งหมดเว้นแต่ตอนที่มันมีตัวละครเยอะแยะ ระหว่างการถ่ายทำ ถ้านักแสดงไม่แสดงตามบทแล้วอิมโพรไวส์เอาเอง คำพูดก็จะเปลี่ยนไปโดยมีเหลือแค่บางส่วนที่เหมือนเดิม แต่อย่างน้อย มายเวนน์ก็สามารถพึ่งบทที่ถูกเขียนขึ้นมาได้ เธอไม่เคยเขียนบทเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อนเลยในภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ของเธอ ซึ่งก็ทำให้ทีมงานของเธอรู้สึกแปลกใจเมื่อได้เห็นเธอถือบท แต่แม้แต่ที่นี่ เธอก็จะกระซิบบทพูดที่เธอคิดขึ้นมาระหว่างเทคให้กับนักแสดงด้วยค่ะ
Q: คุณพัฒนาเรื่องราวความรักระหว่างตัวละครของโจอี้สตาร์และมายเวนน์ขึ้นมาอย่างไร
A: เธอยืนกรานที่จะผสมเรื่องราวของหน่วยตำรวจเข้ากับเรื่องราวความรัก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่ง มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอในการสร้างตัวละครหญิง ที่ลำบากใจระหว่างสามีชนชั้นสูงกับตำรวจที่มาจากแบ็คกราวน์ชนชั้นแรงงานเหมือนเธอ เราใช้เวลานานในการคิดฉากที่โจอี้สตาร์ ผู้รับบทตำรวจ สามารถดึงให้เธอกลับสู่รากเหง้าของตัวเองได้ เธอเป็นหญิงสาวยากจน ผู้เติบโตขึ้นมาในย่านเบลล์วิลล์ ซึ่งเป็นย่านชนชั้นแรงงานของปารีส จู่ๆ เธอก็พบตัวเองอยู่ในโลกที่ไม่ใช่เธอ และตำรวจคนนั้นทำให้เธอตระหนักถึงตัวตนของตัวเอง ความท้าทายคือเราไม่สามารถจะลืมชีวิตในหน่วยตำรวจได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราจะต้องถ่ายทอดเรื่องราวความรัก ที่มีพัฒนาการและบทสรุปของตัวเองด้วย หลังจากนั้น เราก็มองเรื่องความรักนี้เหมือนกับมันเป็นเรื่องราวของตัวเอง และเป้าหมายของเราคือการทำให้มันน่าเชื่อในฉากค่ะ แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดายเลย
Q: แล้วคุณใส่ตัวเองเข้าไปในภาพยนตร์เรื่องนี้มากเหมือนเกินรึเปล่า
A: ฉันรักมายเวนน์และฉันก็รักในสิ่งที่เธอทำในฐานะศิลปินด้วยค่ะ การร่วมงานกับเธอเป็นเรื่องเยี่ยม ฉันคิดว่าผู้กำกับที่เขียนบทด้วยตัวเองจะเคยชินกับการเป็นจุดสนใจ POLISS เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของฉันที่ได้ทำงานกับคนอื่นและฉันก็พยายามจะทำหน้าที่ของตัวเอง มันสอนให้ฉันทำตัวไม่โดดเด่น ฉันไม่ได้พยายามจะยัดเยียดความคิดของตัวเอง บางครั้ง ฉันไม่เห็นด้วยกับมายเวนน์ แต่สิ่งเดียวที่สำคัญคือคือการทุ่มเทให้กับเธอ ให้กับภาพยนตร์ของเธอและเรื่องราวของเธอ การทำงานร่วมกันหมายความว่าเราจะต้องคอยมองหาความกลมกลืนและความเข้าใจร่วมกันค่ะ ในวิธีนี้ ฉันอาจจะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปบ้าง แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม ฉันก็รักภาพยนตร์เรื่องนี้มากค่ะ
Q: มีภาพยนตร์เรื่องไหนมั้ยที่มีอิทธิพลต่องานเขียนของคุณ
A: เราดูกันแต่สารคดีเพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติงานของหน่วยคุ้มครองเด็กและวิธีการพูดของตำรวจแม้ว่าพวกเราจะมีข้อมูลอ้างอิงของเราเองจาก PLOICE ของเพียแลท, L.627 ของทาเวอร์เนียร์หรือ THE YOUNG LIEUTENANT ของซาเวียร์ โบวัวส์ ฉันคิดว่าพวกเราต่างก็ชอบภาพยนตร์พวกนี้ แต่เราไม่เคยพูดถึงมันเลย แต่เราพูดถึงเรื่องอื่น เช่น สำหรับตัวละครสามีของเธอ มายเวนน์ได้นึกถึงการแสดงของอีฟส์ มอนแทนด์ใน CÉSAR AND ROSALIE แล้วฉันก็จำได้ถึงการอ้างอิง HEAT ของไมเคิล แมนน์ เพื่อสร้างบางฉากขึ้นมา แต่แน่นอนค่ะว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ POLISS เลย!
Q: การแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะตัวละครตัวหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน
A: เราไม่ได้พิจารณาถึงทางเลือกนี้ในตอนแรกด้วยซ้ำไปค่ะ! จนกระทั่งสามวันก่อนหน้าดราฟท์สุดท้าย ตัวละครของฉันยังน่าจะเป็นผู้ชายด้วย แล้วเช้าวันหนึ่ง มายเวนน์ก็บอกฉันว่าตัวละครตัวนั้นจะต้องเป็นผู้หญิงที่ชื่อ ปาสคัล และเธอก็จะตั้งชื่อผู้กำกับการตำรวจว่าบัลลู ซึ่งเป็นชื่อเก่าของเธอ เราก็เลยปรับเปลี่ยนตัวละคร “ปาสคัล” และฉันก็ไม่นึกเลยว่าฉันจะต้องมารับบทนี้ นั่นเป็นเรื่องดีค่ะเพราะไม่งั้น ฉันอาจทำอะไรเวอร์เกินไปก็ได้! หลังจากนั้นพักใหญ่ๆ พอบทเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว มายเวนน์ถึงเสนอบทนี้ให้กับฉันค่ะ
สารผู้อำนวยการสร้าง… Alain Attal (อัลแลง อัททัล)
Q: คุณเข้ามาทำงานโปรเจ็กต์นี้ได้อย่างไร
A: ฟิลิปเป้ เลเฟบเร หุ้นส่วนของผมที่เลส์ โปรดักชันส์ ดู เทรเซอร์ ได้พบกับมายเวนน์ที่รอบฉายภาพยนตร์เมื่อสองปีก่อนและเราก็บอกเธอว่าเราชื่นชมผลงานของเธอมาก หลังจากนั้น เธอก็ติดต่อผมเกี่ยวกับโปรเจ็กต์นี้ ตอนที่เธอมาหาผม ผมจำได้ว่าเธอได้นำบอร์ดกระดาษเหมือนอย่างในห้องประชุมมาด้วย ทุกหน้าจะถูกแบ่งออกเป็นสองคอลัมน์ คอลัมน์ด้านซ้ายจะเป็นชีวิตส่วนตัวของตำรวจ ที่เขียนด้วยอักษรสีแดงและส่วนด้านขวาจะเป็นชีวิตการทำงานของพวกเขา และคดีที่พวกเขาดูแลรับผิดชอบ ซึ่งจะถูกเขียนด้วยตัวอักษรสีดำ มายเวนน์ ที่ได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์อยู่กับหน่วยคุ้มครองเด็ก คิดภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาจนทะลุปรุโปร่งและเธอก็เล่ามันออกมาตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วในตอนที่มีบทไม่กี่หน้า ผมก็ตอบตกลงไปแล้ว! สิ่งที่เธอบอกผมมันมีโครงสร้างเรียบร้อยแล้วอยู่ในหัวเธอ และมันก็น่าตื่นเต้นมากที่เธอนำเสนอได้โดนใจผม อย่างไรก็ดี ผมรู้ว่าเรื่องราวนั้นจะต้องถูกเขียนออกมาอย่างประณีตกว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ แม้ว่าเธอจะบอกผมว่าบทของเธอเป็นเพียงแค่ตัวชี้นำและบทจริงๆ จะถูกเขียนขึ้นระหว่างการถ่ายทำและลำดับภาพก็ตาม เธอเป็นผู้กำกับที่มีแรงผลักดันจากสัญชาตญาณ ที่ไล่ล่าหาความจริงอยู่เสมอครับ
Q: อะไรที่ทำให้คุณสนใจโปรเจ็กต์นี้
A: อย่างแรกเลย ประเด็นของเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่และไม่เคยปรากฏในภาพยนตร์มาก่อน แต่ที่สำคัญที่สุด ผมรู้สึกว่าเธอค่อนข้างจะหมกมุ่นกับประเด็นนี้ ดังนั้น เธอก็เลยสามารถสร้างมันให้เป็นภาพยนตร์ได้ ในตอนที่ผู้กักบพรสวรรค์กระตือรือร้นในการพัฒนาความคิดหนึ่งๆ ขึ้นมา ผมก็ตกลงที่จะช่วยเหลือเขาหรือเธอ นั่นเป็นสิ่งที่ผมพบว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับงานของผม นั่นคือการช่วยผู้กำกับในการพัฒนาประเด็นที่เขาหรือเธอรักน่ะครับ
Q: คุณลังเลในการอำนวยการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจอีกเรื่องรึเปล่า
A: ผมก็คิดแบบนั้นเหมือนกันแต่มายเวนน์พูดถึงโปรเจ็กต์ของเธอในลักษณะที่แตกต่างจากทริลเลอร์คลาสสิกเรื่องอื่นๆ จนผมตัดสินใจได้ค่อนข้างเร็ว ตำรวจหน่วยคุ้มครองเด็กแทบจะไม่เคยชักปืนเลยและพวกเขาก็เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย นี่เป็นสิ่งใหม่ในทริลเลอร์ฝรั่งเศสครับ
Q: แล้วการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ยากรึเปล่า
A: ยากมากครับ ตั้งแตต่เริ่มต้น ผมมั่นใจว่ามายเวนน์จะต้องใช้เวลานานพอควรในการถ่ายทำและลำดับภาพเพราะเธอให้ความสนใจกับเท็กซ์เจอร์และถ่ายทำเดลีส์เอาไว้มากมาย มันทำให้ตอนแรกทุนสร้างวนเวียนอยู่ใกล้ๆ หกล้านยูโร แต่ผมหาเงินมาให้ไม่ได้เพราะเครือข่ายทั่วๆ ไปไม่สามารถหาเงินทุนมาสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ได้แม้ว่าพวกเขาจะยอมรับว่านี่เป็นบทภาพยนตร์ที่ทรงพลังก็ตาม ผมโชคดีที่เกลี้ยกล่อมมาร์ส, แคนัลพลัสและอาร์เต้ได้และพวกเขาก็ยอมให้ผมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ สุดท้ายแล้ว มันก็ใช้ทุนสร้างน้อยกว่าห้าล้านยูโร และบริษัทของผมก็เสี่ยงมากเลยครับ ผมไม่ค่อยถนัดการทำเงินซักเท่าไหร่ในตอนที่ผมลงมือจับแต่ละโปรเจ็กต์น่ะ!
Q: คุณได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเขียนรึเปล่า
A: ถึงแม้ว่าตอนแรกมายเวนน์จะลังเล ผมก็ขอให้เธอเขียนบทที่มีโครงสร้างชัดเจนกว่าปกติ และให้พัฒนาส่วนของพัฒนาการตัวละครและการเล่าเรื่อง ดราฟท์แล้วดราฟท์เล่า เพื่อที่เนื้อเรื่องจะได้ใกล้เคียงกับเรื่องราวที่เธออยากจะบอกเล่าให้มากที่สุดจะเป็นไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ในดราฟท์แรก เฟร็ด ที่รับบทโดย โจอี้สตาร์ ดื้อรั้นมากจนเขากลายเป็นคนนอกกฎหมาย ผมคิดว่ามันเป็นไปตามแบบฉบับมากเกินไปและแนะนำให้เธอรีไรท์มันใหม่ ผมต้องบอกว่าเธอยินดีรับฟังและพบว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นพวกนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก และเมื่อเธอเสนอให้จ้างมือเขียนบทร่วมมา ผมก็สนับสนุนให้เธอทำแบบนั้น เป้าหมายของผมคือการช่วยให้เธอกลายเป็นผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยไม่สูญเสียแง่มุมสมัยใหม่ของผลงานสองเรื่องแรกของเธอ แต่มันจะออกมาเป็นภาพยนตร์ที่มีโครงสร้างชัดเจนและเกี่ยวข้องกับแนวนี้มากยิ่งขึ้นครับ
Q: แล้วกระบวนการถ่ายทำเป็นเรื่องท้าทายขนาดไหน
A:สิ่งที่ยากที่สุดคือการขออนุญาตจากดีดีเอเอสเอส (หน่วยสังคมสงเคราะห์ประจำภูมิภาค) เพื่อถ่ายทำเด็กในสภาพแวดล้อมแบบนั้น จริงๆ แล้ว หน้าที่ของสถาบันแห่งนี้ตามกฎหมายคือคุ้มครองเด็กด้วยการช่วยทำให้พวกเขามีระยะห่างจากบทบาทที่พวกเขาเล่น และใน POLISS เด็กๆ ได้รับบทตัวละครที่ถูกล่วงละเมิดและทำทารุณ ดีดีเอเอสเอสกังวลว่าเด็กที่ไม่บรรลุนิติภาวะพวกนี้อาจจะไม่โตพอที่จะแยกแยะความจริงกับเรื่องแต่งได้ และอาจทำให้พวกเขาเกิดบาดแผลในจิตใจได้ เราก็เลยต้องยื่นบทให้พวกเขาพิจารณาและมายเวนน์ก็ได้ให้ความร่วมมือและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเพื่อตอบรับกับความต้องการของพวกเขา เธอไม่เคยย่อท้อในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในบทและดูเหมือนจะไม่เคยโกรธเลยครับ
Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกาศจุดยืนทางด้านการเมืองที่ชัดเจน
A: ครับ ซึ่งมันอาจจะมาจากมุมมองของผมมากกว่าของมายเวนน์ ผู้ที่เป็นผู้กำกับที่มองเรื่องเฉพาะหน้าและคอยมองหาความจริงอยู่เสมอก็ได้ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ผมมีหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับคนที่มีภารกิจเพื่อรับใช้ประชาชน ในฐานะตำรวจ พวกเขาต้องทำให้แน่ใจว่าเด็กๆ พวกนี้จะไม่ถูกทำทารุณ แม้ว่าพวกเขาจะต้องรุกรานชีวิตส่วนตัวของคนอื่น และต้องบุกเข้าไปในบ้านของพวกเขาก็ตาม พวกเขาเป็นวีรบุรุษเงียบ ผู้ปิดทองหลังพระ เพื่อพวกเราทุกคนครับ
Q: คุณกลัวบ้างมั้ยกับการเลือกให้โจอี้สตาร์มาเป็นตำรวจ
A: เรายืนกรานที่จะเลือกนักแสดงให้สมบทบาท มีความเป็นมนุษย์และอ่อนไหวมากๆ ใครจะดีกว่าโจอี้สตาร์ในการรับบทนี้อีกล่ะครับ ใน THE ACTRESS’ BALL มายเวนน์เลือกเขาให้รับบทตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์ที่อ่อนไหวเป็นพิเศษและนำเสนอแง่มุมที่คาดไม่ถึงของเขา ใน POLISS เฟร็ด (ตัวละครของโจอี้สตาร์) อยากจะไขทุกคดีการทารุณเด็กในฝรั่งเศส เขาอยากจะแบกรับความเจ็บปวดทั้งหมดนั้นด้วยตัวเองและพบว่ามันเป็นเรื่องยากเกินจะทนไหวครับ
Q: คุณมีปฏิกิริยาอย่างไรตอนที่คุณรู้ว่ามีฟิล์มเดลีส์กว่า 150 ชั่วโมง
A: มายเวนน์เตือนผมแล้วว่าการลำดับภาพจะใช้เวลานาน แต่ผมก็ไม่กังวลนักเพราะผมเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “มีตัวตน” อยู่แล้วในเดลีส์พวกนี้ แต่มันจะต้อง “ถูกค้นพบ” ให้ได้ และระหว่างที่ผมดูเดลีส์ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ผมก็รู้สึกว่ามันมอะไรบางอย่างอยู่ตรงนั้น มีการบันทึกเวทมนตร์เบื้องหลังบางอย่าง และผมก็รู้สึกมั่นใจครับ
Q: สตีเฟน วอร์เบ็ค ผู้แต่งดนตรีประกอบให้กับ POLISS เคยแต่งดนตรีประกอบ A VIEW OF LOVE ซึ่งคุณอำนวยการสร้างมาแล้ว
A: หลังจากนิโคล การ์เซีย มายเวนน์ก็เป็นผู้หญิงคนที่สอง ที่เป็นเจ้าของภาพยนตร์ที่ผมอำนวยการสร้าง และแม้ว่าพวกเธอจะสร้างภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน แต่พวกเธอก็มีความเคลือบแคลงที่คล้ายกันและวิธีการกำกับนักแสดงของพวกเธอก็คล้ายๆ กัน ดังนั้น ผมก็เลยแนะนำให้มายเวนน์มาดู A VIEW OF LOVE และเมื่อเธอได้ค้นพบดนตรีของสตีเฟน วอร์เบ็ค เธอก็อยากพบกับเขา ตอนแรก เธอพูดอย่างชัดเจนว่าเธอไม่ต้องการดนตรี แต่เธอก็มาตระหนักได้ว่าอย่างน้อยที่สุด เธอก็ต้องการดนตรีแบบมินิมัล เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครครับ
Q: การที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เป็นสิ่งสำคัญแค่ไหน
A: อย่างแรกเลย ผมดีใจมากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในสายประกวด ผมคิดว่าเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะทำให้ภาพยนตร์ของเราได้รับความสนใจ ซึ่งจะทำให้มันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และผมก็ไม่รู้จักภาพยนตร์ฝรั่งเศสหรือภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องไหน ที่พูดถึงประเด็นนี้จากมุมมองของตำรวจมาก่อน หลายปีมาแล้วที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นและคนก็ได้เผชิญกับประเด็นของการทำทารุณเด็กและการล่วงละเมิดเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ผมหวังว่า POLISS จะช่วยกระตุ้นให้คนรับรู้ถึงเรื่องนี้มากขึ้นและช่วยผลักดันให้เรื่องของการคุ้มครองเด็กเป็นประเด็นสำคัญที่เราคำนึงถึงในทุกเมื่อเชื่อวันครับ