นักวิชาการชี้ผู้ส่งออกอาหารแปรรูปของไทยต้องปลดล็อคอุปสรรคหลายด้าน เพื่อรุกตลาดอินโดนีเซียอย่างจริงจัง ต้องศึกษากฎระเบียบการขึ้นทะเบียนสินค้าให้แม่นยำ แนะหาพันธมิตรธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งผู้นำเข้าสินค้า และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในอินโดนีเซียที่มีสาขาจำนวนมากจับตลาดพรีเมียม เลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ส่วนภาครัฐควรเร่งสร้างกลไกการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลในไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ขจัดอุปสรรคเรื่องการยอมรับตราฮาลาลจากไทย และร่วมมือภาคเอกชนสร้างการรับรู้ในตราสินค้าของไทยอีกทางหนึ่ง
ดร.บัณฑิต เรืองตระกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าว ในงานสัมมนา เรื่อง “ส่องโอกาสผ่านการสร้างโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ตลาดอินโดนีเซีย” จัดโดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า สินค้าส่งออกอาหารของไทยไปอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหารแปรรูปขั้นต้น แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกอาหารจากไทยไปอินโดนีเซียหดตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี โดยปี 2557 มีมูลค่าส่งออกราว 15,938 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการที่ไทยนำเข้าอาหารจากอินโดนีเซีย พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันเติบโตราวร้อยละ 3.0 ต่อปี และปี 2557 มีมูลค่านำเข้าราว 16,895 ล้านบาท
“สาเหตุประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการอาหารไทยยังไม่สามารถขยายการส่งออกได้มากนัก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลามถึง 88% จึงมีการบริโภคเฉพาะสินค้าฮาลาล นับเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพสูง โดยมีมูลค่าตลาดคิดเป็น 16% ของตลาดอาหารฮาลาลโลก หรือประมาณ 78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากพิจารณาบริบทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ประกอบการไทย ขาดความรู้ข้อมูลด้านการตลาด การค้า โครงสร้างต้นทุน พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงข้อมูลด้านกฏระเบียบข้อบังคับ เพื่อช่วยในการวางแผนงานที่มีความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค”
ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรสูงถึง 253.7 ล้านคน จัดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจาก จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยราว 6% และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มีการประเมินว่าในช่วงปี 2550-2560 อินโดนีเซียมีการขยายตัวของยอดขายผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% ต่อปี ซึ่งมีส่วนผลักดันให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงปี 2558 – 2561 คาดว่าประชากรจะมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อคนเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 8.2% เนื่องจากมีการขยายการลงทุนของภาครัฐ การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ และการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กฎระเบียบด้านอาหารฮาลาลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ส่งออกของไทยต้องทำความเข้าใจ
ผศ.ดร.รวิพิมพ์ ฉวีสุข กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจัดหน่ายและกระจายสินค้าในอินโดนีเซีย จำนวน 2,000 ราย โดยมี 20 รายหลัก และ 5 รายใหญ่ ที่มีเป้าหมายขนาดธุรกิจการกระจายสินค้าครอบคลุม 80% ของประชากรทั้งหมด ได้แก่ เกาะชวา และบาหลี 65% และเกาะสุมาตรา 15% โดยสัดส่วนช่องทางการค้าปลีกของอินโดนีเซียภาพรวมพบว่า ยอดขายผ่านร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 55.8% ที่เหลือเป็นยอดขายผ่านร้านค้าปลีกทันสมัย ได้แก่ คอนเวียนสโตร์ และมินิมาร์เก็ต รวม 22.4% ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตรวม 21.8% โดย 60% ของยอดขายทั้งหมดได้จากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม โดยการวางสินค้าในร้านค้าปลีกทันสมัยจะมีค่าธรรมเนียม 30-35% ทั้งนี้กรณีผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นมุสลิมทั่วไปตราฮาลาลมีความสำคัญอย่างมาก อย่างไรก็ตามหากกลุ่มเป้าหมายเป็นไฮเอนด์มีการศึกษาสูง ตราฮาลาลไม่มีความสำคัญเท่าใดนัก เพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้สามารถแยกแยะสินค้าฮาลาลและฮารอมได้
“ประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นทะเบียนสินค้าในประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ผู้ส่งออกไทยบางรายไม่ต้องการเสียค่าส่งตัวอย่างและค่าตรวจตัวอย่างสินค้า, ผู้นำเข้าในอินโดนีเซียได้รับตัวอย่างไม่เพียงพอกับการส่งตรวจและทดลองตลาด, ผู้ส่งออกส่งเอกสารที่ใช้ในการยื่นขอไม่ครบ, ในการเปลี่ยนฉลากใหม่ จะต้องเสียเวลายื่นขอใหม่, สินค้าที่ส่งออกมีส่วนผสมวัตถุดิบที่เป็น GMOs หรือเป็นวัตถุดิบที่ไม่อนุญาตให้ใช้, รัฐบาลอินโดนีเซียมีการออกกฎระเบียบ เพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้มีความยากลำบากในการนำเข้า, ไม่สามารถใช้เครื่องหมายฮาลาลจากไทยวางขายตามร้านค้าปลีกได้ การขอใช้เครื่องหมายฮาลาลของอินโดนีเซียจะต้องให้ MUI มาตรวจรับรองก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง”
อย่างไรก็ตามพบว่าผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยส่วนใหญ่เลือกนำเข้าสินค้าแปรรูปจากไทย โดยประเมินจาก 1)รสชาติต้องเข้ากับคนอินโดนีเซียในแต่ละพื้นที่ 2)คุณภาพดีและมีปริมาณการผลิตและส่งออกได้ต่อเนื่อง 3)ผู้นำเข้ารายเล็กจะเน้นกลยุทธ์ความแตกต่างเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ และ4)ผู้นำเข้าจะมาเลือกสินค้าตามงานแสดงสินค้า เช่น ThaiFex, FIAsia นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยเน้นแต่การผลิต ขาดการร่วมมือกับผู้นำเข้าในการรับรู้สภาวะตลาด และสร้างกลยุทธ์ระยะยาวร่วมกัน
ผศ.ดร.รวิพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันสนับสนุนการส่งออกอาหาร ฮาลาลมาที่อินโดนีเซีย โดยการลงทุนสร้างการรับรู้ในตราสินค้าของประเทศ เช่น การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยผู้นำเข้าในการทำตลาด เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเกาหลีทำ ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรประสานงานกับ LPPOM MUI ของอินโดนีเซียในการจัดส่งบุคลากรมาอบรมการจัดทำระบบฮาลาล และตรวจรับรองในประเทศไทยเพื่อการยอมรับในมาตรฐานตราฮาลาลจากประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ รัฐบาลจีน, เกาหลีใต้ และไต้หวันทำ ขณะเดียวกันก็ควรสร้างกลไกการรับรองอาหารฮาลาลในประเทศให้สอดคล้องกับสากล ทั้งเร่งสร้างพันธมิตรเครือข่ายผู้รับรองระบบฮาลาลในภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมและผลักดันให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการของไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับผู้ประกอบการไทยนอกจากจะต้องเฟ้นหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าของอินโดนีเซียที่มีศักยภาพแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรร่วมกันวางแผนการตลาดกับผู้นำเข้า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และสภาวะการแข่งขัน ควรมุ่งเน้นตลาดระดับกลางถึงบนโดยเฉพาะวิถีชีวิตคนเมืองที่มีแนวโน้มเติบโต มุ่งเน้นสินค้าแปรรูปที่ขาดการผลิต ขาดเทคโนโลยี ขาดวัตถุดิบภายในประเทศ และเป็นสินค้าที่มีความใหม่ แพคเกจจิ้งสวยแปลกตาทันสมัย ไม่ควรเน้นตลาดราคาสินค้าต่ำ เพราะไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ นอกจากนี้อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ต้องยาว เนื่องจากมีระยะเวลานานในการนำเข้าและกระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีกโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 23 วัน สำหรับสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ นมผง, ช็อคโกแลต, ไอศกรีม, เนยถั่ว,คุกกี้,ซอสปรุงรส, ซีเรียล และอาหารเพื่อสุขภาพหรือออร์แกนิค เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ของไทยควรสร้างพันธมิตรกับค้าปลีกที่มีสาขาทั่วประเทศ เช่น Alfamart (9,187 สาขา) และ Indomaret (10,400 สาขา) ในการผลิตแบบ OEM หรือ OBM หรือร่วมทุนในการผลิตและกระจายสินค้า ผู้ผลิตสินค้าพรีเมียม ไม่จำเป็นต้องใช้ตราฮาลาล แต่ใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับ ผู้นำเข้าสินค้าระดับพรีเมียมซึ่งมีเป้าหมายวางจำหน่ายที่ High end Supermarket ในจาการ์ตา สุราบายา บาหลี บันดุง และเมดาน”