นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เตรียมวางแผนขยายผลรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ที่จัดต่อเนื่องมาถึง 2 ทศวรรษ ครั้งต่อไปจะผลักดันสร้างคุณค่าความสำคัญยกระดับเป็นรางวัลออสการ์ท่องเที่ยวของประเทศไทย เปิดช่องทางแนะนำชุมชนและสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดโลก โดยจะวางแผนเชื่อมต่อเข้ากิจกรรมภายในประเทศของแผน ททท.5 ภูมิภาคและแผนประจำปีของแต่ละจังหวัด ควบคู่กับจัดสรรงบประมาณให้โอกาสชุมชนนำสินค้าไปเสนอในตลาดต่างประเทศตามงานนานาชาติของ ททท.
โดยเฉพาะผลงานที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี 2558 ซึ่งเพิ่งมอบรางวัลเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา จะหารือกับฝ่ายบริหาร ททท.คัดเลือกผลงานดาวรุ่งไปร่วมงานอินเตอร์เนชั่นแนล แทรเวล เบอร์ลิน (ITB) สาธารณรัฐเยอรมัน ในอีก 6 เดือนข้างหน้าช่วงเดือนมีนาคม 2559 และระหว่างนี้ก็จะเร่งเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์รางวัลสัญลักษณ์กินรีผ่านเครือข่ายสื่อท่องเที่ยวดิจิตอลและโซเชียลมีเดียที่ทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพชุมชนและผลงานท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ในอนาคตภาครัฐ พร้อมจะส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวให้ชุมชนต่างๆ ที่ได้รับรางวัลมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เท่า รวมทั้งประเทศไทยถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการและชุมชนจะต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อการก้าวต่อไปอย่างไม่ หยุดยั้ง โดยรักษาเสน่ห์วิถีไทยอันงดงามแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคไว้ให้ได้ ซึ่งประเทศอื่นเลียนแบบไม่ได้
สำหรับการมอบรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2558 มีชุมชนดาวรุ่งจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดปีแรกผ่านเกณฑ์มาตรฐานเข้ารับรางวัลดีเด่นและยอดเยี่ยมอย่างคับคั่ง ซึ่งประสบความสำเร็จจากการนำหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ ชุมชมคนรักษ์สุขภาพไร่กองขิง และ Thai Elephant Home จ.เชียงใหม่ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนห้วยตองก๊อ จ.แม่ฮ่องสอน คุ้มเจ้าหลวง จ.แพร่ สวนสัตว์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยรามัญ และ พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี สวนสะละลุงถัน จ.พัทลุง ถ้ำเล สเตโกดอน จ.สตูล Flying Hanuman จ.ภูเก็ต
นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีสตูล เปิดเผยว่า ในฐานะผู้ดูแล ถ้ำเล สเตโกดอน เจ้าของรางวัลดีเด่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2558 ปีแรก ประเภทแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและเชิงนิเวศน์ ในขณะนี้จังหวัดสตูลได้เสนอองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ 3 อำเภอ ทุ่งหว้า ละงู มะนัง กับ 1 อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็น “เครือข่ายอุทยานธรณีโลก” (Global Geographic Park Network) ครอบคลุม 72 แห่ง จะประกาศผลการขึ้นทะเบียนมรดกโลช่วงต้นปี 2559 โดยมีถ้ำเล สเตโกดอนรวมอยู่ด้วย ภายในถ้ำความยาวประมาณ 4 กม.จะมีซากดึกดำบรรพ์ช้างสเตโกดอนอายุกว่า 1.8 ล้านปี ที่พบเมื่อปี 2551 และความสวยงามทางธรณีวิทยาอย่างหลากหลายให้เรียนรู้
“รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ได้รับครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมชุมชนมีโอกาสนำนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและนานาชาติเข้าไปเรียนรู้สร้างรายได้ทำให้ชุมชนมีอาชีพเพิ่มทั้งจากกลุ่มผลิตสินค้าท้องถิ่นวางขาย ของระลึก เครื่องจักรสาน ไม้กวาดหวาย อาหารทะเลแปรรูป เช่น กระปิ กุ้งแห้ง เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านวิถีชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน” นายณรงค์ฤทธิ์กล่าว
นายอาคม มณีกุล ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา กล่าวว่า ได้รับรางวัลดีเด่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปีแรก ประเภทแหล่งนันทนการ ซึ่งใช้เวลาถึง 25 ปี พัฒนาพื้นที่ 500 ไร่ ให้เป็นห้องเรียนที่มีชีวิตของสัตว์ป่ากว่า 20 สายพันธุ์ และจัดทำพื้นที่จัดแสดงสัตว์ สวนน้ำ เพื่อให้เด็กเยาวชน ครอบครัว คนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสเข้ามาท่องเที่ยวปีละ 5 ล้านคน และสวนสัตว์แห่งนี้ยังมีผลงานชิ้นสำคัญในการวิจัยเพาะพันธุ์ลูกนกกะเรียนไทยที่สูญพันธุ์ไปนับร้อยปีสำเร็จแล้วสามารถนำไปปล่อยคืนสู่ป่าจังหวัดบุรีรัมย์แล้วกว่า 60 ตัว จึงได้จัดทำพิพิธภัณฑ์นกกระเรียนแบบครบวงจรให้เป็นศูนย์เรียนรู้ แต่ละปีจะเปิดให้นักเรียนเข้าชมกว่า 1.5 แสนคน และจัดกิจกรรมให้คนพิการจาก 17 หน่วยงาน เข้าชมฟรี
อีกทั้งทางสวนสัตว์ยังเปิดโอกาสให้ชุมชนรอบพื้นที่มีอาชีพเลี้ยงตัวเองกว่า 20 กลุ่ม เช่น เป็นพนักงาน ให้ชาวบ้านมาเป็นวิทยากร บริการรถรับส่งนักท่องเที่ยว ประกอบอุปกรณ์เครื่องเล่น ทำรีสอร์ตที่พัก ร้านอาหาร ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ขณะนี้กำลังเสนอขอการสนับสนุนจากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณขยายพื้นที่สวนสัตว์เพิ่มอีก 540 ไร่ เพื่อจัดทำเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ใช้ชีวิตอิสระสไตล์แอฟริกา มีแคมป์ซาฟารีทะเลเทียมให้นักท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ปลูกอาหารสัตว์ของตนเอง เพื่อเป็นกำลังหลักทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งต่อไปในระยะยาว
นายอาเล็น ระสุโส๊ะ ผู้จัดการ บริษัท สตูล วีไอพี แทรเวล จำกัด กล่าวว่า ได้รับรางวัลดีเด่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี 2558 ประเภทรายการนำเที่ยว “มหัศจรรย์สันหลังมังกร” สันหลังมังกร อำเภอเมืองตันหยงโป ความพิเศษคือสันของเปลือกหอยอายุนับล้านปีที่โผล่พ้นน้ำทะเลพาดผ่านจากเกาะสู่เกาะอยู่ในหมู่บ้านตังหยงโป มีสถานที่ท่องเที่ยวหมู่เกาะตะรุเตา อาดังราวี หลีเป๊ะ ซึ่งเหมาะกับการไปท่องเที่ยววันธรรมดาที่มีความแตกต่างที่จะได้สัมผัสกับสถานที่อย่างใกล้ชิด ตลอดทั้งปีจะมีกิจกรรมประเพณีวิถีสตูลเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปอุดหนุนชุมชนไทยแลนด์ ดินแดนแห่งสันติสุขแห่งนี้
นายสมศักดิ์ อินทะชัย ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยว โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ปี 2554 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในด้านการส่งเสริมสุขภาพ มีการ
ปลูกพืชสมุนไพรและทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยจุดแข็งของการท่องเที่ยวชุมชนแห่งนี้ คือการนำเสนอเรื่องของสุขภาพทั้งกายและใจให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสได้เรียนรู้วิถีแห่งสุขภาพท่ามกลางวัฒนธรรมท้องถิ่นอันเข้มแข็ง ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ รวมทั้งชาวไทยไปท่องเที่ยวและศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีที่พักโฮมสเตย์ 9 หลัง มีผลิตภัณฑ์แบรนด์ “สุข-สยาม” จำหน่าย และมีกิจกรรมเชิงสุขภาพ อาทิ การย่ำข่าง เป็นภูมิปัญญาด้านแพทย์ทางเลือกพื้นบ้านในการรักษาอาการโรคปวดเมื่อย โรคอัมพฤกษ์อัมพาต
ส่วนรางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งชุมชนที่น่าสนอีกแห่งคือ “กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านห้วยตองก๊อ” โดย นายทินกร เล่อกา ประธานห้วยกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนห้วยตองก๊อ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ห้วยตองก๊อใช้เวลาถึง 16 ปีพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ความเป็นชุมชนกะเหรี่ยงชาวปกาเกอะญอ นับถือศาสนาพุทธ มีอาชีพหลักคือ การทำนาขั้นบันได การตีมีด เลี้ยงสัตว์ ทำผ้าทอมือจากวัตถุดิบธรรมชาติ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ราว 80% คนไทย 20% โดยพักแบบชั่วคราว 3-4 วันหรือลองเสตย์ 1-3 เดือน โดยมีโฮมสเตย์รองรับ 18 หลัง แต่ละปีจำกัดการรับไว้ที่ 200 คน เพื่อรักษาวิถีดั้งเดิมของชุมชนไว้
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมแปลกใหม่อันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ได้รับรางวัลปีแรกเช่นกัน นายวิชัย ดำเรือง บุตรชายของลุงถันผู้ดูแลกิจการในปัจจุบัน กล่าวว่า “สวนสะละลุงถัน” ไม่ได้มองแค่ความเป็นสวนเกษตรทั่วไป แต่มองถึงความเป็นแบรนด์สินค้า เขาจึงเลือกใช้คำว่า “สะละ” โดยมีระบบบริหารการจัดการสวนแนวใหม่ ได้ใบรับรองคุณภาพโครงการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน (GAP) ทุกแปลง พร้อมกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม ชิม และเรียนรู้วิถีเกษตรผ่านกิจกรรมต่างๆอย่างสนุกสนาน มีนักท่องเที่ยวไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เข้าชมอย่างต่อเนื่อง ในละแวกใกล้เคียงมีโฮมสเตย์บริการ 7 หลัง มีรถบริการชมสวนสละ และอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน รวมทั้งวิถีเงาะป่าซาไก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสวนสะละลุงถันวันละ 100-200 คน และเริ่มมีชาวยุโรป รวมทั้งรัสเซียเริ่มให้ความสนใจเข้ามาบ้างแล้ว
ขณะที่ชุมชนอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยรามัญ เป็นอีกแห่งที่ได้รับรางวัล นางสาวอรัญญา เจริญหงส์ษา เลขานุการวัฒนธรรมตำบลหนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า วิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมอญแห่งนี้ คือเสน่ห์ที่ไม่เคยลบเลือนหาย เนื่องจากยังคงปฏิบัติหน้าที่พุทธศาสนิกชนตามความเชื่ออย่างเหนียวแน่นเป็นกิจวัตรประจำวัน และยังมีกิจกรรมประเพณีในทุกๆเดือน นับเป็นอีกกิจกรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกคนจะได้มาสัมผัสวิถีของชาวมอญดั้งเดิมแบบไม่ผิดเพี้ยน มีคนรุ่นหลังคอยสืบสานวิถีไทยที่ทรงคุณค่าและสร้างความมั่นคงทางชีวิตความเป็นอยู่และการแบ่งปันรายได้ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคี