บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับ
สำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เผยรายชื่อนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นจนได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2558 ซึ่งในปีนี้มีนักวิจัยสตรีไทยผู้ได้รับทุนวิจัยทั้งหมด 6 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ปีนี้ยังเป็นปีที่ 13 ของการดำเนินโครงการในประเทศไทย โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนสนับสนุนแล้วทั้งสิ้น 55 ท่าน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย
สำหรับปีนี้ นับได้ว่าเป็นปีที่พิเศษเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนมากถึง 6 ท่านจาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2 ท่าน คือ ผศ. ดร. วัชรินทร์ ลอยลม จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การค้นหาต้วบ่งชี้ชีวภาพในเลือดและปัสสาวะเพื่อใช้ในการคัดกรองและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี” และ รศ. ดร. เบญจมาส เชียรศิลป์ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การคัดแยกและคัดเลือกเชื้อราไขมันสูงเพื่อประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนวัสดุเศษเหลือลิกโนเซลลูโลสโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มให้เป็นน้ำมันสำหรับผลิตไบโอดีเซล”
สาขาวัสดุศาสตร์ 2 ท่าน คือ รศ. ดร. ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “กระบวนการพัฒนาและปรับปรุงสมบัติของผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานในอุตสาหกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และ รศ. ดร. ศิวพร มีจู สมิธ จากหน่วยวิจัยพลังงานยั่งยืนและวัสดุสีเขียว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม” และ
และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี 2 ท่าน คือ ผศ. ดร. ดรุณี สู้รักรัมย์ จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การสังเคราะห์สารประเภทเซโคลิกแนนที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ” และ ผศ. ดร. ภัทรพร คิม จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การผลิตก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์จากไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเซลล์อิเล็กโตรไลซิสแบบออกไซด์ของแข็ง”
ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ได้รับทุนทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย
ผศ. ดร. วัชรินทร์ ลอยลม อีกหนึ่ง ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ความสำเร็จจากงานวิจัยนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งในประเทศไทยมีประชากรที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ทั่วประเทศปีละกว่า 20,000 คน โดยเฉพาะประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในวัยแรงงานและเป็นหัวหน้าครอบครัว ทั้งนี้มะเร็งท่อน้ำดีมีการดำเนินโรคช้า ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคเมื่ออยู่ในระยะสุดท้ายหรือเมื่อมะเร็งได้แพร่ลุกลามแล้ว ส่งผลให้การรักษาไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่การพัฒนางานวิจัยนี้จะช่วยให้สามารถตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจหาผู้เป็นมะเร็งท่อน้ำดีได้ตั้งแต่ระยะแรก เพราะหากผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีได้รับการคัดกรอง เฝ้าระวังและวินิจฉัยตั้งแต่แรกเริ่มก็จะได้รับการรักษาแบบหายขาดด้วยการผ่าตัด ทำให้มีโอกาสหายได้ ซึ่งเป็นการลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างมาก”
รศ. ดร. เบญจมาส เชียรศิลป์ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “งานวิจัยนี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนจากวัสดุเศษเหลือโดยกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งการเลี้ยงเชื้อราไขมันสูงบนวัสดุเศษเหลือลิกโนเซลลูโลสนั้นนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมันต้นทุนต่ำแล้ว เชื้อราที่สกัดน้ำมันแล้วยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยหมักหรือขายเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการลดต้นทุนพลังงานของโรงงาน ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมประเทศไทย”
รศ. ดร. ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ อีกท่านหนึ่ง จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยว่า “งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาและปรับปรุงสมบัติเชิงกล เชิงความร้อน และเชิงพลวัตของยางธรรมชาติให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อการนำไปใช้งานในภาคอุตสาหกรรมได้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่นำกระดองปลาหมึกมาใช้เป็นสารเสริมแรงชนิดใหม่สำหรับยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติหรือจากภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล เป็นกระบวนการกำจัดขยะทางทะเลที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมง ทั้งยังสามารถเพิ่มข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันทางราคา คุณภาพของผลิตภัณฑ์ยางพารา และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยางของประเทศไทยในตลาดโลก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตวัสดุสีเขียวที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ของยางธรรมชาติที่หมดอายุการใช้งานแล้ว ถือเป็นนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มของขยะ ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน”
รศ. ดร. ศิวพร มีจู สมิธ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ จากหน่วยวิจัยพลังงานยั่งยืนและวัสดุสีเขียว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลงานวิจัยของตนว่า “งานวิจัยนี้นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการออกแบบกระบวนการสังเคราะห์เพื่อควบคุมโครงสร้างเฉพาะของวัสดุที่มีส่วนสำคัญต่อการประยุกต์ใช้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งด้านการเฝ้าระวังป้องกันมลพิษ-สารอันตรายและด้านระบบบำบัดมลพิษทางน้ำและทางอากาศ เพื่อลดการนำเข้าและการซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมความตระหนักถึงการป้องกันและเฝ้าระวัง กำจัดสารอันตรายต้นทุนต่ำเพื่อให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือพื้นที่ห่างไกลในชนบท เพื่อยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยจากมลพิษ และสุขอนามัยของประชาชน”
ผศ. ดร. ดรุณี สู้รักรัมย์ อีกหนึ่งผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ข้อมูลโครงสร้างสามมิติของสารอินทรีย์บริสุทธิ์ที่สกัดได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น รา พืช และสมุนไพร นั้น มีความสำคัญมากต่องานวิจัยด้านเคมีเภสัชที่จะนำสารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ด้านเคมีทางยา หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ งานวิจัยนี้มีเป้าหมายในการสังเคราะห์ เพื่อทำให้ทราบข้อมูลโครงสร้างสามมิติของสารประเภทเซโคลิกแนนเหล่านั้น เพื่อที่จะนำข้อมูลโครงสร้างทางเคมีและโครงสร้างสามมิติของสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเหล่านั้น มาพัฒนาเป็นตัวยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญทางด้านเคมีเภสัชและเคมีอินทรีย์เป็นอย่างมาก”
ผศ. ดร. ภัทรพร คิม ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “วิจัยนี้มุ่งเน้นในการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไปพร้อมกับการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนก๊าซ CO2 และน้ำให้ไปเป็นก๊าซสังเคราะห์ ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานและยังสามารถนำไปเป็นต้นทางการผลิตสารเคมีสำคัญได้หลากหลาย ความสำเร็จของงานวิจัยนี้ จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยก๊าซ CO2 และได้ไฮโดรเจนและก๊าซสังเคราะห์เป็นผลผลิต ซึ่งนอกจากจะสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังสามารถนำไปเป็นต้นทางการผลิตสารเคมีสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศได้หลากหลายด้าน อีกทั้งแนวทางการวิจัยเชิงลึกและองค์ความรู้ดังกล่าวยัง สามารถนำไปเผยแพร่ในรูปผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และช่วยสร้างเครือข่ายวิจัยสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยต่อไปได้เช่นกัน”
นางสาวสิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล
(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การค้นคว้าวิจัย คือ หัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลา 107 ปี ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้นับเป็นเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้น เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ตลอด 13 ปีที่เราดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจและสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทย ในการสร้างผลงานอันทรงคุณค่าต่อประเทศไทยและมวลมนุษยชาติ และในปีนี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่เราภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่นักวิจัยสตรีทั้ง 6 จากทั้ง 3 สาขา จะสามารถพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศของเราให้ยั่งยืนในอนาคต”
ทั้งนี้โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย ลอรีอัล กรุ๊ป โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีมากกว่า 2,170 ท่าน จาก 110 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้ สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2545 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี เป็นประจำทุกปี