คำว่าพลเมืองชั้นสองในสังคมคือสิ่งที่ผู้พิการได้รับ สาเหตุจากพวกเขามีข้อจำกัดทางด้านร่างกายหรือความบกพร่องทางสมอง คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่าผู้พิการเป็นบุคคลที่ไม่สามารถพึงพาตนเองได้ ต้องได้รับการดูแลจากผู้อื่น ทำให้ผู้พิการขาดโอกาสในการทำงาน ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง นับเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งในสังคม
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่าผู้พิการในประเทศไทยที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) มีจำนวน 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้พิการวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 769,327 คน เป็นผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานได้ 99,448 คน คิดเป็นร้อยละ 13 คนพิการที่มีงานทำ 317,020 คน คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานรับจ้างทั่วไปในภาคการเกษตรที่มีรายได้ไม่สูงและไม่มั่นคง และเป็นกลุ่มผู้พิการไม่มีงานทำ 352,859 คน คิดเป็นร้อยละ 46 โดยตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 กำหนดกฎหมายจ้างงานมาตรา 33 – 35 เพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสใช้ความสามารถ มีรายได้และพึ่งพาตนเอง โดยมาตรา 33 ระบุว่าเจ้าของสถานประกอบการต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 (พนักงาน 100 คน ต้องว่าจ้างผู้พิการ 1 คน) แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดและความไม่เอื้ออำนวยของสถานประกอบการ กระทรวงแรงงานจึงพัฒนารูปแบบการจ้างงานผู้พิการในมิติใหม่ ที่ผู้ประกอบการสามารถจ้างผู้พิการทำงานสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนตนเองได้ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับผู้พิการเข้าทำงานตามมาตรา33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรา 33 และสำหรับมาตรา 35 นั้นผู้ประกอบการให้การสัมปทาน สนับสนุนโครงการ / สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน แก่ผู้พิการหรือผู้ดูแลผู้พิการแทนก็ได้
กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการ ในฐานะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริมผู้พิการให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่การจ้างงานผู้พิการเพื่อทำงานในสถานประกอบการนั้น บางครั้งมีข้อจำกัด อาทิ ความไม่พร้อมของสถานที่ สถานประกอบการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ การเดินทางมาทำงาน รวมทั้งความรู้ความสามารถผู้พิการที่ไม่ตรงกับงาน กลุ่มบริษัทฯ จึงเน้นสนับสนุนการจ้างงานผู้พิการ ตามข้อกฎหมายจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 ผ่านโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะต่างๆ ในชุมชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ เห็นว่าการจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในชุมชนของตนเองนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผู้ประกอบการจะส่งเสริมผู้พิการให้มีงานทำอย่างเหมาะสม สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของผู้พิการ สร้างคุณค่าและส่งเสริมให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเชิญชวนคู่ค้าและพันธมิตรของกลุ่มบริษัทฯ ร่วมงานสัมมนา “ทางเลือกของการจ้างงานผู้พิการ” เพื่อร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการร่วมกัน
อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า “มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมดำเนินโครงการนำร่องในการจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในพื้นที่ชุมชนมาร่วม 3 ปีได้ ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 แห่ง หลังจากที่ผู้พิการได้เข้าร่วมโครงการฯ พบว่าผู้พิการเหล่านี้นั้นมีความสุข มีความภาคภูมิใจตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า ในขณะที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเองก็รู้สึกพึงพอใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้พิการและยังช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมๆ กัน การจ้างงานคนพิการในชุมชนถือเป็นทางเลือกใหม่ที่จะพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสให้ผู้พิการได้เข้าสู่การจ้างงานโดยสถานประกอบการ เพื่อทำงานในพื้นที่ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และหลังจากที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ได้นำร่องจ้างงานคนพิการในรูปแบบนี้แล้วนั้น พบว่าผู้พิการเหล่านั้นมีความสุขกับงานที่ทำ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้ทางกลุ่มบริษัทฯ ยังเผยแพร่แนวคิดนี้สู่คู่ค้าและพันธมิตรของกลุ่มบริษัทฯ ผ่านการสัมมนา“ทางเลือกของการจ้างงานผู้พิการ” และด้วยศักยภาพของพันธมิตรกลุ่มบริษัทฯ ได้เห็นความสำคัญและให้ความสนใจในการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้พิการให้มีตัวตนในสังคม จึงมีการต่อยอดติดต่อจ้างงานผู้พิการผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) สนใจจ้างงานผู้พิการเพิ่ม 13 อัตรา , บริษัท โลหะกิจรุ่งเรืองทรัพย์ จำกัด สนใจจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในพื้นจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 20 อัตรา , บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด สนใจจ้างงานผู้พิการ จำนวน 11 อัตรา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีหลายองค์กรที่ตระหนักใส่ใจในการหยิบยื่นโอกาสและต้องการร่วมกันสร้างอาชีพให้กับผู้พิการ เพราะเขาเหล่านั้นก็ถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสังคม เพื่อให้พวกเขามีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าในตนเอง”
ด้าน ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผู้ที่รับผิดชอบและดูแล นางสาวเกษณีย์ อินขำ หรือ น้องเกษ หนึ่งในผู้พิการทางสมอง ที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ว่าจ้างเป็นพนักงานผ่านโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน ตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน เล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่น้องเกษจะได้มาทำงาน เขาเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าสบตาและพบปะผู้คน เมื่อเขาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพโดยการทำงาน เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของเขาได้อย่างชัดเจน สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าใจและพัฒนาในเรื่องการสื่อสารได้มากขึ้น น้องเกษจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากบอก ทั้งเก็บกวาดเช็ดถู ล้างแก้ว เสริ์ฟน้ำต้อนรับแขกและงานเอกสารในสำนักงาน นอกจากนี้เขายังมีความสามารถทำตุ๊กตาการบูรที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชนตำบลดอนแก้วเพื่อไปจำหน่ายในงานต่างๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น้องเกษหารายได้เข้าครอบครัว
น้องเกษเป็นผู้พิการทางสมองที่มีความสามารถสูงมากกว่าที่เราคิด แม้ภาพภายนอกที่ดูพิการ แต่จิตใจของเขาไม่ได้พิการตาม เขามีจิตสาธารณะ คิดและพยายามช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องราวของเขาอาจเป็นเรื่องที่ผู้อื่นในสังคมมองข้าม แต่โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน ถือเป็นโครงการที่เป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริง ทำให้เขาสามารถหารายได้และเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวได้ การที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ หยิบยื่นโอกาสให้เขาได้ลงมือทำ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามีคุณค่า มีความสุข มีตัวตนในสังคม และเราเองในฐานะผู้ที่ดูแลเขาก็ยิ่งมีความสุข มีความอิ่มเอมใจที่เห็นเขามีพัฒนาการที่ดี และสามารถดูแลตัวเองได้โดยที่ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวและสังคม”
โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจ้างงานผู้พิการสำหรับองค์กรต่างๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมช่วยลดความเหลื่อมล้ำผู้พิการได้ ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์การจ้างงานตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่การจ้างงานผู้พิการในรูปแบบนี้ยังถือว่าองค์กร เป็นผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมผู้พิการได้แสดงศักยภาพในการทำงานที่มีประโยชน์ให้กับชุมชน สังคม ในนามตัวแทนขององค์กร ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรอีกด้วย และโครงการนี้ยังเป็นการจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการอื่นๆ ที่กำลังท้อแท้ให้ลุกขึ้นมาแสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ และในด้านขององค์กร ก็จะเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่น ให้เห็นถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการจ้างงานเท่านั้น แต่เป็นการหยิบยื่นโอกาสที่ดี และมีคุณค่าให้กับผู้พิการ ให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาสามารถมีบทบาทในการดูแลคนรอบข้าง ดูแลสังคม พร้อมช่วยพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนต่อไป