เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?!? จุดที่ฮาร์ดดิสก์ในเครื่องคอมพิวเตอร์มีความจุไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานเก็บข้อมูลซะแล้ว หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน มีฮาร์ดดิสก์ความจุขนาด 1 กิกะไบต์ใส่ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์นี่ นึกไม่ออกกันเลยทีเดียวว่าจะทำยังไงให้ฮาร์ดดิสก์เต็มได้ แต่หมุนนาฬิกากลับมาอีก 20 ปี ปัจจุบันนี้ ฮาร์ดดิสก์ขนาด 4 เทระไบต์นี่ ใช้เพลินๆ เผลอแป๊บเดียวฮาร์ดดิสก์ก็เต็มแล้ว
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นผลมาจากเทคโนโลยีด้านมัลติมีเดียและความบันเทิงที่ล้ำหน้าและพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ใครๆ ก็สามารถหาคอนเท้นต์ต่างๆ มาดูมาชมได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการในเรื่องคุณภาพ ความคมชัด และสมจริง ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้วิดีโอความละเอียดแบบ Full HD 1080p แทบจะกลายเป็นมาตรฐานพื้นฐานไปแล้ว สำหรับคนที่ชอบดูภาพยนตร์ความละเอียดสูงจริงๆ ก็ไประดับ Blu-ray หรือ 4K กันหมด ขนาดไฟล์ของภาพยนตร์แต่ละเรื่องเริ่มกันตั้งแต่ระดับ 1-2 กิกะไบต์ ไปจนถึง 20 กว่ากิกะไบต์ ต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง และเพลงที่นักฟังเพลงตัวจริงต้องการคุณภาพระดับ Lossless ที่ขนาดไฟล์แต่ละเพลงก็ร่วม 40 เมกะไบต์แล้ว บางคนเก็บไว้เป้นพันเป็นพันเป็นหมื่นเพลง ก็คูณกันเข้าไป และนั่นเป็นคำตอบว่าทำไมฮาร์ดดิสก์ขนาด 4TB ถึงเต็มเร็วได้ไม่ยาก
ปัจจุบัน ข้อมูลมัลติมีเดียเหล่านี้ มักจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์จำพวกสื่อบันทึกข้อมูลที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย หรือที่เรียกกันว่า NAS (Network-Attached Storage) เนื่องจากรองรับฮาร์ดดิสก์พร้อมๆ กันหลายลูก รองรับการทำ RAID (Redundant Array of Independent Disks) ที่ช่วยรวมเนื้อที่ในฮาร์ดดิสก์หลายๆ ลูกเข้าด้วยกันได้และมีระบบสำรองข้อมูล ป้องกันข้อมูลสูญหายอันเกิดจากปัญหาด้านฮาร์ดแวร์ นอกจากนี้ NAS ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการแบ่งปันข้อมูลไปยังอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการ Streaming ไฟล์มัลติมีเดียด้วย และการสร้างคลาวด์ส่วนตัว (Personal Cloud) ทำให้เราสามารถใช้งานฮาร์ดดิสก์ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราจะเอาฮาร์ดดิสก์อะไรมาใส่ NAS ก็ได้ ขอให้เป็นขนาด 3.5 นิ้วหรือ 2.5 นิ้วก็พอ (ส่วนใหญ่ NAS จะรองรับฮาร์ดดิสก์สองไซส์นี้) หลายคนอาจเลือกที่จะใช้ฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไปที่ใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่ในความเป็นจริง การเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ไม่เหมาะสมกับอุปกรณ์ อาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงและคาดไม่ถึงเลยทีเดียว อย่างเช่นการใช้ฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไปกับอุปกรณ์ NAS อาจส่งผลเสียดังนี้
- ฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไปไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้งานต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืน ฉะนั้นอายุการใช้งานย่อมสั้นกว่า ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเก็บรักษาข้อมูล ซึ่งควรจะเป็นหัวใจสำคัญของ NAS แต่ฮาร์ดดิสก์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับ NAS อย่าง WD Red นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานในสภาพแวดล้อมของ NAS โดยเฉพาะ ฉะนั้นจึงมีความน่าเชื่อถือในการเก็บรักษาข้อมูลได้มากกว่า
- ฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการทดสอบความเข้ากันได้ทางฮาร์ดแวร์กับอุปกรณ์ NAS และตัวเฟิร์มแวร์ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับ NAS ด้วย ส่งผลให้อุปกรณ์ไม่สามารถใช้งานฮาร์ดดิสก์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ ฮาร์ดดิสก์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานกับ NAS อย่าง WD Red นั้น เฟิร์มแวร์ (ที่ทาง WD เรียกว่า NASware ซึ่งปัจจุบันเป็นเวอร์ชัน 0) ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานกับ NAS จึงให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่เต็มที่กว่า และ WD Red ก็ได้รับการทดสอบความเข้ากันได้กับฮาร์ดแวร์ของ NAS แบรนด์ดังๆ ยอดนิยมอย่างครอบคลุม
- ในการใช้งานกับ NAS มักจะมีการใช้งานในแบบ RAID ด้วย ซึ่งฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไปนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานแบบ RAID แต่ฮาร์ดดิสก์สำหรับ NAS อย่าง WD Red นั้นถูกออกแบบให้ทำงานกับ RAID error recovery control ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยในการบริหารจัดการข้อผิดพลาดในระหว่างการกู้ข้อมูลบนระบบ RAID ให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงย่อมดีกว่าฮาร์ดดิสก์ทั่วๆ ไป
- ฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ถูกออกแบบมาทำงานแบบเดี่ยวๆ หรืออย่างมาก ในเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเครื่องนึงก็อาจจะมีฮาร์ดดิสก์ 2 ลูก ฉะนั้น จึงมักไม่มีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนหรือการสั่นสะเทือนของตัวฮาร์ดดิสก์ในระหว่างใช้งาน (ซึ่งหากสั่นสะเทือนมากๆ ก็จะส่งผลต่อการเขียนและอ่านข้อมูล และเสี่ยงต่อการที่หัวอ่านจะไปทำให้จานบันทึกข้อมูลเสียหาย) ดังนั้นฮาร์ดดิสก์พวกนี้จึงมักไม่ได้ถูกออกแบบมาแบบให้มีการสั่นสะเทือนน้อย ผิดกับฮาร์ดดิสก์สำหรับ NAS อย่าง WD Red ที่ออกแบบมาสำหรับระบบ NAS แบบหลายๆ Bay (หมายถึง ใส่ฮาร์ดดิสก์พร้อมๆ กันได้หลายลูก) ซึ่งออกแบบมาเพื่อลดเสียงดังในระหว่างที่ฮาร์ดดิสก์ทำงานและทนต่อการสั่นสะเทือนได้มากกว่า
และล่าสุด Western Digital ได้เปิดตัวฮาร์ดดิสก์ WD Red ความจุ 8 เทระไบต์ ตัวใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นความจุที่สูงที่สุดในขณะนี้ โดยใช้เทคโนโลยี HeliSeal หรือการใช้ก๊าซฮีเลียม (Helium) ใส่ฮาร์ดดิสก์แทนอากาศ ทำให้สามารถใส่จานฮาร์ดดิสก์ได้มากกว่าเดิม (คือมากถึง 7 แผ่นต่อฮาร์ดดิสก์แต่ละลูก) ส่งผลให้สามารถผลิตฮาร์ดดิสก์ที่ความจุสูงๆ ได้ นอกจากนี้ ก๊าซฮีเลียมยังช่วยให้จานฮาร์ดดิสก์มีแรงเสียดทานน้อยลง ซึ่งช่วยลดอาการสั่นและการเกิดความร้อน อีกทั้งยังใช้พลังงานน้อยลงอีกด้วย ด้วยความจุระดับ 8 เทระไบต์นี้ ก็หมดห่วงเรื่องเนื้อที่เก็บข้อมูลไปได้อีกเยอะเลย แม้จะใช้ NAS แบบ 2-bay ที่ใส่ฮาร์ดดิสก์ได้แค่ 2 ลูก ก็ตาม
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ WD Red และสินค้ากลุ่มความจุ 8TB ได้ที่เว็บไซต์บริษัท (www.wdc.com)