ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุถึง 80 ปีเคยเป็นโรคงูสวัดมาแล้ว และความชุกของโรคงูสวัดจะพบมากขึ้นอย่างชัดเจนในประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ซึ่งผู้สูงวัยกลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้มากกว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ถึง 2 เท่า
“ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยยิ่งมีอายุมากจะยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังแม้ผื่นได้รับการรักษาจนหายแล้ว หรือ Post Herpetic Neuralgia (PHN) ซึ่งมักมีอาการปวดลึกๆ เรื้อรังเป็นเวลานานซึ่งอาจยาวนานเป็นปีได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วย โดยพบได้บ่อยถึงร้อยละ 60 ของผู้ป่วยเป็นงูสวัดที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้สูงวัยอาจเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนทำให้ตาบอด หรือหากงูสวัดขึ้นบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู อาจทำให้ใบหน้าซีกนั้นๆ เกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หรือไม่สามารถหลับตาข้างนั้นให้สนิทได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากติดเชื้องูสวัดชนิดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”
“ความรุนแรงและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสงูสวัดภายในร่างกายนั้นยิ่งทวีคูณตามอายุ ดังนั้น แนวทางการป้องกันโรคงูสวัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เริ่มจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งจากการศึกษาการใช้วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด พบว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ร้อยละ 70 ในผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และร้อยละ 50 ในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อีกทั้งช่วยลดอุบัติการณ์ของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้สูงวัยในประเทศไทยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพียงไม่ถึงร้อยละ 10 ซึ่งยังเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรผู้สูงอายุทั้งประเทศ นอกจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเป็นการฉีดเพียงครั้งเดียวเพื่อเสรอมสร้างเกราะป้องกันให้แก่โรคนี้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เช่น การล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งแนะนำให้ผู้สูงวัยหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนแออัด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ” อาจารย์ พญ. อรพิชญา กล่าวเสริม
ด้าน คุณกุลนิติ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้มีประสบการณ์จากโรคงูสวัด เผยว่า “ก่อนจะทราบว่าตัวเองเป็นโรคงูสวัดก็มีเพียงอาการวิงเวียนและปวดเมื่อยตามตัว แต่ความเจ็บปวดมันเจ็บแปลบไปจนถึงหัวใจและสังเกตเห็นผื่นแดงขึ่นตามลำคอ แขนข้างซ้ายและที่หลัง จึงรีบไปพบแพทย์ ช่วงที่เป็นงูสวัดรู้สึกเจ็บปวดมากจนไม่อยากขยับร่างกาย เพราะต้องทนกับอาการปวดแสบปวดร้อนคล้ายถูกไฟไหม้อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน จึงนอนไม่ค่อยหลับเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ช่วงที่พักรักษาตัวรู้สึกเบื่ออาหาร ท้อแท้ อารมณ์แปรปรวนง่าย และไม่ค่อยอยากออกไปข้างนอกหรือพบเจอใคร เพราะกังวลไม่รู้ว่าอาการปวดแปลบๆ เสียวๆ จะกลับมาอีกเมื่อไหร่ นอกจากนี้ ในบางช่วงยังมีอาการปวดศีรษะ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวบ่อยๆ ซึ่งความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากที่สุดในชีวิตก็ว่าได้ ผู้ที่ไม่เคยประสบกับตัวเองอาจจะไม่เข้าใจว่างูสวัดสามารถส่งผลกระทบแสนสาหัสทางร่างกายและจิตใจได้ขนาดไหน จึงขอแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกท่านเข้ารับการฉัดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอันแสนทรมาน”
คุณกุลนิติ ยังเล่าว่า “ดิฉันโชคดีที่มีกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้างตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัวค่ะ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ลูกๆ หลานๆ และทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดที่คอยดูแลให้กำลังใจตลอดเวลา ทำให้ดิฉันสามารถก้าวผ่านประสบการณ์แสนทุกข์ทรมานของโรคูสวัดได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก เมื่อหายจากโรคงูสวัด ดิฉันก็พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหลัก 5 หมู่ตลอดมา และหาเวลาออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอทุกวัน ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ มีการปรับเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้น นอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว ก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพทางใจด้วย เพราะถ้าจิตใจเราแจ่มใสร่างกายและภูมิคุ้มกันเราก็จะดีตามไปด้วย การมองโลกไม่แง่ดี หมั่นหากิจกรรมสนุกๆทำเพื่อไม่ให้เบื่อ เป็นการช่วยเพิ่มดรรชนีความสุขให้แก่ตนเอง และยิ่งได้ทำกิจกรรมกับครอบครัวก็ยิ่งช่วยเติมเต็มความสุขได้อีกคะ”