ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร อรุณอมรินทร์ 36/// สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ออกแบบงานทดลอง “การหุงข้าวด้วยน้ำประปา” โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อตรวจวิเคราะห์สารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปา ในน้ำซาวข้าว ในน้ำหุงข้าว ในข้าวสาร และในข้าวหุงสุก เผยทำการทดลองซ้ำ 2 ครั้ง วิเคราะห์จากข้าว 4 ชนิด 8 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ พบสารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปา 70 – 73 ไมโครกรัมต่อลิตร ในน้ำซาวข้าวอยู่ในช่วง 32 – 42 ไมโครกรัมต่อลิตร ในน้ำหุงข้าวอยู่ในช่วง 49 – 59 ไมโครกรัมต่อลิตร ในข้าวสารพบว่าอยู่ในช่วง 0.60 – 1.20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวหุงสุกอยู่ในช่วง 1.00 – 1.70 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ย้ำผู้บริโภคสบายใจได้ ผลการทดสอบทุกตัวอย่างมีปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนในระดับต่ำ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจากสารไตรฮาโลมีเทนอย่างแน่นอน
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยบทบาทและภารกิจของสถาบันอาหารนั้น นอกจากจะมุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำหรือภาคการผลิตจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภคแล้ว ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สถาบันอาหารได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก็คือการส่งเสริมด้านความปลอดภัยอาหาร โดยการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ มีการเตือนภัยจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภครับทราบผ่านสื่อต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการค้นคว้าวิจัย และการทดสอบวิเคราะห์ทางกระบวนการวิทยาศาสตร์
สำหรับ “ผลการทดสอบความปลอดภัยจากการใช้น้ำประปาหุงข้าว ไม่มีสารก่อมะเร็งจริงหรือ?” เกิดขึ้นจากการเป็นประเด็นข้อกังวลของผู้บริโภคอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งมักจะพบการแชร์ข้อมูลทางโซเชียล มีเดีย ว่าการนำน้ำประปามาหุงข้าวนั้นจะมีความปลอดภัยจากสารไตรฮาโลมีเทนซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่งที่ก่อมะเร็งหรือไม่ ด้วยภารกิจของสถาบันอาหารดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ประชาชนหรือผู้บริโภคควรได้รับทราบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ภายใต้ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเชื่อถือได้
สถาบันอาหาร จึงได้ประสานงานกับการประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ในการออกแบบงานทดลอง “การหุงข้าวด้วยน้ำประปา” โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อ “ตรวจวิเคราะห์สารไตรฮาโลมีเทนในน้ำประปา ในน้ำซาวข้าว ในน้ำหุงข้าว ในข้าวสาร และในข้าวหุงสุก” โดยสถาบันอาหารเป็นผู้ดำเนินการทดลอง และดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการศึกษาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนดังกล่าว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการด้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง
นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า จากการทดลองระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายน 2559 โดยเก็บตัวอย่างน้ำประปา ที่ปลายท่อก๊อกน้ำ ณ สถาบันอาหาร เขตบางพลัด และนำตัวอย่างน้ำประปามาหุงข้าว 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเสาไห้ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ชนิดละ 2 ตัวอย่าง จำนวนรวม 8 ตัวอย่าง จาก 8 ยี่ห้อ เพื่อศึกษาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนรวม โดยมุ่งเน้นในตัวอย่างน้ำประปา และข้าวหุงสุก รวมทั้งติดตามปริมาณไตรฮาโลมีเทนในน้ำซาวข้าว ในน้ำหุงข้าว และในข้าวสาร เพื่อเป็นข้อมูลที่ใช้พิจารณาปัจจัยควบคุมทำการทดลองซ้ำ 2 ครั้ง แต่ละครั้งทำการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์หาปริมาณสาร ไตรฮาโลมีเทนประกอบด้วย 1) น้ำประปา 1 ตัวอย่าง 2) ข้าวสาร น้ำซาวข้าว น้ำหุงข้าว และข้าวหุงสุก อย่างละ 4 ตัวอย่าง ผลการทดลองทั้ง 2 ครั้ง พบว่าปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนรวมในตัวอย่างน้ำประปา มีค่า 70 และ 73 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้น้ำดื่มมีปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนรวมได้ไม่เกิน 80 ไมโครกรัมต่อลิตร และประเทศญี่ปุ่น กำหนดให้มีได้ ไม่เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลิตร
สำหรับน้ำประปาเมื่อนำมาใช้ซาวข้าว และใช้เป็นน้ำหุงข้าว พบว่า มีปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนที่ต่ำกว่าน้ำประปาเริ่มต้น โดยน้ำซาวข้าวมีปริมาณอยู่ในช่วง 32 – 42 ไมโครกรัมต่อลิตร และน้ำหุงข้าวมีปริมาณอยู่ในช่วง 49 – 59 ไมโครกรัมต่อลิตร ทั้งนี้เนื่องจากคลอรีนมีจุดเดือดต่ำจึงระเหยในช่วงที่ซาวข้าวและ หุงข้าว ทำให้มีปริมาณคลอรีนอิสระลดลง ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในข้าวได้ลดลง จึงมีผลต่อการเกิดสารไตรโลมีเทนที่ลดลง ส่วนการวิเคราะห์หาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนในข้าวสาร พบว่ามีค่า 0.60 – 1.20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
“สำหรับผลการวิเคราะห์หาปริมาณสารไตรฮาโลมีเทนในข้าวหุงสุกที่ใช้น้ำประปาในการหุง ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของการทดลองครั้งนี้ พบว่าข้าวหุงสุกมีสารไตรฮาโลมีเทนในปริมาณที่ต่ำกว่าน้ำประปา กล่าวคือ มีค่า 1.00 – 1.70 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากการทดลองนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงทางวิชาการ ซึ่งกล่าวได้ว่าการใช้น้ำประปาหุงข้าวไม่ทำให้มีปริมาณของสารไตรฮาโลมีเทนรวมเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคสบายใจได้ว่าสามารถนำน้ำประปามาหุงข้าวได้ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ไม่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากสารไตรฮาโลมีเทนอย่างแน่นอน” นายยงวุฒิ กล่าว
อนึ่ง การประปานครหลวง (กปน.) มีการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบบูรณาการ ตั้งแต่แหล่งต้นน้ำจนผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปา และสูบจ่ายไปยังผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC
17025 : 2005 โดยมีนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกปน.ดำเนินการตามแผนงาน และเป้าหมายการตรวจสอบคุณภาพน้ำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด โดยเก็บตัวอย่างน้ำจากก๊อกน้ำประปาปีละ 3,000 ตัวอย่าง ในพื้นที่บริการของสำนักงานประปาสาขาทั้ง 18 สาขา เพื่อตรวจวิเคราะห์ด้านกายภาพ เคมี จุลชีวะ ตลอดจนสารก่อมะเร็ง หรือสารไตรฮาโลมีเทน ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีค่าได้ตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกทุกประการ
นอกจากนี้ กปน. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่เป็นที่ยอมรับในสังคม ได้แก่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมตรวจสอบคุณภาพน้ำ และนำผลที่ได้มาเทียบเคียงกับผลจากห้องปฏิบัติการของ กปน. ซึ่งผลทดสอบผ่านเกณฑ์ฯ ทุกรายการตลอดมา
ด้านการประปาส่วนภูมิภาค( กปภ.) ขอยืนยันว่า น้ำประปาปลอดภัยใช้หุงข้าวได้ แม้ว่าการเกิดสารไตรฮาโลมีเทนจะเกิดขึ้นจากคลอรีนทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำแล้วยังขึ้นกับอีกหลายปัจจัย เช่น ปริมาณคลอรีนอิสระ ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิ และชนิดสารอินทรีย์โดยเฉพาะกลุ่มกรดฮิวมิก กรดฟุลวิกในน้ำเป็นหลัก ที่สำคัญกระบวนการผลิตน้ำประปาแม้ว่าในน้ำดิบที่นำมาผลิตจะมีสารอินทรีย์ปะปนอยู่บ้าง เมื่อเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปาที่มีขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ การตกตะกอน และการกรองแล้ว ปริมาณสารอินทรีย์จะถูกกำจัดออกไปได้มาก จึงเหลือมาทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำน้อยมาก
โดย กปภ.ได้ควบคุมปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือสำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ณ สถานีผลิตน้ำ ให้มีค่าอยู่ในช่วง1.0 – 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และเมื่อน้ำประปาเข้าสู่เส้นท่อในระบบจ่ายน้ำ คลอรีนอิสระคงเหลือจะยังช่วยกำจัดเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยลดลงจนถึงผู้ใช้น้ำในปริมาณที่มีการควบคุมให้มีค่าประมาณ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับข้าวสารหรือแป้งชนิดต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลขนาดใหญ่จึงทำปฏิกิริยากับคลอรีนอิสระได้ช้ามากเมื่อเทียบกับสารอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้นคลอรีนอิสระคงเหลือและไตรฮาโลมีเทนในน้ำจะระเหยออกได้ง่ายมากเมื่อสัมผัสอากาศหรือความร้อนจากการหุงต้ม คลอรีนจึงแทบไม่เหลืออยู่ในน้ำเลย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดสารไตรฮาโลมีเทนเนื่องจากการนำน้ำประปาที่มีคลอรีนมาใช้ประกอบอาหารจึงน้อยมากๆ อีกทั้ง กปภ.มีการทดสอบหาปริมาณไตรฮาโลมีเทนควบคู่กับคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาอยู่เป็นประจำพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนด จึงวางใจได้ว่าน้ำประปาปลอดภัยต่อการอุปโภคและบริโภค