OBLIVION อ็อบลิเวียน อุบัติการณ์โลกลืม 11 เมษายนนี้ ครั้งแรกในไทยกับภาพบนจอ IMAX ที่ใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 26% คมชัดยิ่งขึ้นด้วยระบบดิจิตอลความละเอียดสูง 4K ที่มากกว่าภาพ HD ถึง 4 เท่า

เป็นไปได้หรือที่จะคิดถึงที่ที่คุณยังไม่เคยไปเยือน?

คร่ำครวญถึงช่วงเวลาที่คุณไม่รู้จัก?”

ผู้บัญชาการ แจ็ค ฮาร์เปอร์

ทอม ครูซ รับบทนำใน Oblivion ผลงานภาพยนตร์ที่เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ ไม่เหมือนใคร จากฝีมือของผู้กำกับที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการผู้เคยเสกสรรปั้นแต่งภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy และทีมผู้อำนวยการสร้างจากภาพยนตร์ Rise of the Planet of the Apes  ในโลกอนาคตที่ทุกอย่างดูน่าตื่นตาตื่นใจจนเราจำแทบไม่ได้ การเผชิญหน้าต่ออดีตของชายคนหนึ่งทำให้เขาได้ผจญภัยอันนำไปสู่การไถ่บาปและการค้นพบ ขณะที่เขาต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ

ปี 2077 แจ็ค ฮาร์เปอร์ (ครูซ) ปฏิบัติหน้าที่เป็นช่างซ่อมระบบรักษาความปลอดภัยที่ประจำการอยู่บนโลกที่มนุษย์ได้อพยพไปหมดแล้ว ภารกิจของแจ็คที่เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสกัดทรัพยากรสำคัญที่เหลืออยู่บนโลก หลังจากที่ต้องทำสงครามนานหลายทศวรรษกับพวกเอเลี่ยนที่แสนน่ากลัวซึ่งยังคงค้นหาสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในโลกของเรา ใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงแล้ว และอีกสองอาทิตย์เท่านั้น เขาก็จะกลับไปสมทบกับเหล่ามนุษย์โลกที่เหลือรอดชีวิตอยู่ที่อาณาจักรบนดวงจันทร์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากโลกที่พินาศด้วยภัยสงครามที่เขาเคยเรียกว่าบ้าน

แจ็คที่ใช้ชีวิตและลาดตระเวนอยู่บนท้องฟ้าซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินหลายพันฟุต ต้องดำดิ่งลงหลังจากที่เขาได้ช่วยหญิงสาวสวยแปลกหน้าจากยานอวกาศที่ตกลงมายังโลก การมาของเธอทำให้เกิดเหตุการณ์มากมายที่บีบให้แจ็คต้องตั้งคำถามกับทุกเรื่องที่เขาเคยคิดว่ารู้จัก เมื่อความเป็นจริงพังทลายลงขณะที่แจ็คค้นพบความเป็นจริงชวนช็อคที่เชื่อมโยงเขากับโลกในอดีต แจ็คถูกผลักดันให้ต้องกระทำเรื่องกล้าหาญที่เขาไม่เคยรู้เลยว่าเขามีอยู่ในตัว บัดนี้ ชะตากรรมของมนุษยชาติอยู่ในมือของชายผู้เชื่อว่าอีกไม่นานโลกจะสูญสิ้นไปตลอดกาล

ที่ร่วมแสดงกับครูซในภาพยนตร์ผจญภัยแอ็กชั่นระดับเอพิคเรื่องนี้ ก็คือ นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ มอร์แกน ฟรีแมน (The Dark Knight Rises, Wanted) รับบท บีช ผู้นำกลุ่มผู้รอดชีวิตที่สงสัยในแรงจูงใจของแจ็ค, โอลก้า คูรีเลนโก้ (Quantum of Solace, Seven Psychopaths) รับบท จูเลีย รูซาโคว่า นักเดินทางสาวที่เดินทางข้ามเวลาและข้ามอวกาศมาเพื่อค้นหารักแท้, แอนเดรีย ไรส์โบโรห์ (W.E., Happy-Go-Lucky) รับบท วิคตอเรีย ไวก้า โอลเซ่น เนวิเกเตอร์ของแจ็ค ผู้พร้อมจะจากโลกนี้ไปตลอดกาล, นิโคลัจ คอสเตอร์-วัลเดา (Mama, ผลงานทางทีวีเรื่อง Game of Thrones) รับบท ไซก์ส รองผู้บัญชาการกลุ่มปฏิวัติ และเป็นคนแรกที่อยากให้แจ็คถูกกำจัด และเจ้าของรางวัลออสการ์ เมลิสซ่า ลีโอ (The Fighter, Frozen River) รับบท แซลลี่ เจ้าหน้าที่บัญชาการที่ควบคุมการอพยพ และเป็นผู้ที่มีวาระแอบแฝง

ผู้กำกับ/ ผู้อำนวยการสร้าง โจเซฟ โคซินสกี้ ได้รวบรวมทีมงานหลังกล้องระดับหัวกะทิที่เคยร่วมงานกับเขาอยู่เป็นประจำ เพื่อให้มาช่วยกันเปลี่ยนนิยายภาพของเขาให้กลายเป็นภาพยนตร์เอพิคยิ่งใหญ่อลังการ ทีมงานหลังกล้องดังกล่าวนำทีมโดยผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์ คลาวดิโอ มิแรนด้า (Life of Pi, TRON: Legacy), โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ดาร์เรน กิลฟอร์ด (TRON: Legacy, Idiocracy), วิชวล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์เซอร์ เจ้าของรางวัลออสการ์ เอริค บาร์บา (The Curious Case of Benjamin Button, TRON: Legacy), วิชวล เอฟเฟ็กต์ โปรดิวเซอร์ และผู้อำนวยการสร้างร่วม สตีฟ กั๊บ (TRON: Legacy, Terminator Salvation), ผู้อำนวยการสร้างร่วม บรูซ แฟรงกลิน (TRON: Legacy, Terminator Salvation) และผู้ควบคุมวงออร์เคสตร้า โจเซฟ ทราปานีส (TRON: Legacy

ทีมงานคนอื่นๆ ได้แก่ ผู้ลำดับภาพ ริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ (Harry Potter and the Sorcerer’s Stone, The Shawshank Redemption), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย มาร์ลีน สจ๊วร์ต (Tropic Thunder, Date Night) และผู้แต่งดนตรีประกอบ M83

ที่จับมือร่วมทีมกับโคซินสกี้ ในงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Oblivion นี้ ก็คือทีมผู้อำนวยการสร้าง ปีเตอร์ เชอร์นิน (Rise of the Planet of the Apes, ภาพยนตร์ใหม่เรื่อง The Heat), ดิแลน คล๊าร์ก (Rise of the Planet of the Apes, The Heat), แบร์รี่ ลีไวน์ (Detroit Rock City, ผลงานใหม่เรื่อง Hercules) และดันแคน เฮนเดอร์สัน (Master and Commander: The Far Side of the World, Harry Potter and the Sorcerer’s Stone) โดยสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้จากบทภาพยนตร์ที่เป็นฝีมือการเขียนบทของ คาร์ล กัจดูเซ็ก (Trespass, ผลงานใหม่เรื่อง The Last Days of American Crime) และ ไมเคิล เดอบรูน

ทีมผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ เดฟ มอร์ริสัน (44 Inch Chest), เจสซี่ เบอร์เกอร์ (Hercules) และจัสติน สปริงเกอร์ (TRON: Legacy)

Oblivion ถ่ายทำด้วยระบบดิจิตอลความละเอียดสูง 4K ณ โลเกชั่นทั่วสหรัฐอเมริกาและไอซ์แลนด์ อาทิเช่น ภายในอาคารของ บาตัน รู้จ และนิวออร์ลีนส์, หลุยเซียน่า และฉากกลางแจ้งในนิวยอร์กซิตี้ ที่นิวยอร์ก, แมมมอธ ที่แคลิฟอร์เนีย และทั่วทั้งไอซ์แลนด์


เบื้องหลังงานสร้าง

 

Oblivionเริ่มทะยาน:

งานสร้างเริ่มต้น

 

ในปี 2005 ห้าปีก่อนที่ โจเซฟ โคซินสกี้ จะได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา TRON: Legacy เขาได้เขียนเรื่องที่มีความยาว 12 หน้าที่มีชื่อเรื่องว่า “Oblivion” เรื่องราวการผจญภัยแนวไซไฟเรื่องนี้วางเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในปี 2077 หกทศวรรษหลังจากเอเลี่ยนบุกโลกและทำให้โลกเต็มไปด้วยรังสี เราติดตามภารกิจของแจ็ค ช่างซ่อมบำรุงที่อยู่บนโลกที่โดนทำลายไปเกือบหมด และเป็นคนที่ไม่แน่ใจในตัวตนของเขาในจักรวาลนี้

ถึงแม้จะเป็นนักบินที่บ้าระห่ำ โดยเขารับหน้าที่เป็นช่างซ่อมเครื่องบินไร้นักบินคนสุดท้ายที่ประจำการอยู่บนโลก แต่แจ็ครู้สึกสงสัยในผู้บังคับบัญชาและรู้สึกสนใจใคร่รู้ในการปกป้องโลกที่เขาเคยรู้จัก เมื่อสาวสวยแปลกหน้าเกิดยานอวกาศตกลงตรงหน้าเขา และส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยเชื่อถือ แจ็คได้ตื่นขึ้นรับรู้ข้อเท็จจริงที่สั่นสะเทือนความเป็นจริงที่เขาต้องยอมรับหรือปฏิเสธ สุดท้าย เขาได้กลายเป็นผู้นำของผู้คนที่ยังอาศัยอยู่บนโลก เป็นชายที่เดินหน้าไปด้วยเป้าหมายและชะตากรรมใหม่

มันคือความฝันของโคซินสกี้ที่จะเปลี่ยน “Oblivion” ให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ แต่จังหวะเวลาดูจะยังไม่ลงตัว อย่างไรก็ดี ความล่าช้านั้นกลับกลายเป็นผลดีเมื่อโคซินสกี้ได้พบกับ แบร์รี่ ลีไวน์ และเจสซี่ เบอร์เกอร์ ผู้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท เรดิคัล สตูดิโอส์ ในอีกหลายปีต่อมา พวกเขาได้ร่วมมือกันพัฒนาเรื่องนี้จนกลายเป็นนิยายภาพที่รู้จักกันในแวดวงในฐานะ ถังเหล็ก ที่เขียนโดยอาร์วิด เนลสัน, เขียนภาพประกอบโดย อันดรี และกำกับศิลป์โดย โคซินสกี้, ลีไวน์ และ เจเรมี่ เบอร์เกอร์ ผู้กำกับศิลป์ของเรดิคัล สตูดิโอส์ และนิยายภาพนี้ทำให้พวกเขาสามารถแสดงให้เหล่านักลงทุนเห็นว่าพวกเขาอยากจะเดินหน้าสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ออกมาเป็นเช่นไร

โคซินสกี้ได้เผยเรื่องราวของนิยายภาพเรื่องนี้ของเขาว่า มันเป็นเรื่องราวแอ็กชั่นผจญภัยที่เกิดขึ้นในปี 2077 หลังจากเกิดมหาสงครามที่ทำให้โลกกลายเป็นสถานที่ไร้มนุษย์อาศัยและถูกทิ้งให้เหลือแต่ซาก เรื่องราวเกิดขึ้นกับตัวแจ็ค ช่างซ่อมเครื่องบินไร้คนขับที่เป็นส่วนสำคัญของภารกิจใหญ่ โดยที่แจ็คไม่รู้ตัว ความลึกลับกำลังจะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ไขไปสู่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ของมนุษยชาติ สิ่งที่ผู้กำกับโคซินสกี้เน้นย้ำก็คือความตรงไปตรงมาของเรื่องนี้ เขากล่าวว่า มีความแตกต่างระหว่างคนที่ไม่ใส่ใจความจริง และปิดหูปิดตาตัวเอง กับคนที่ตัดสินใจที่จะเดินหน้าไปกับความจริง ไม่ว่าการเผชิญหน้ากับความจริงนั้นจะยากเย็นสักเพียงใด

โคซินสกี้ยอมรับว่าเรื่องราวแนวไซไฟเรื่องนี้คือเรื่องที่เขามีความสนใจจะบอกเล่ามานานแล้ว ขณะที่เติบโตมา เขาเคยหลงใหลในภาพยนตร์อย่าง The Omega Man, Blade Runner และ 2001: A Space Odyssey รวมไปถึงหนังสืออย่าง “Hyperion”  และรายการทางทีวีอย่าง The Twilight Zone เขายอมรับว่าเขารักการผสมผสานระหว่างฉากหลังที่ดูดิบเถื่อน ซึ่งขัดแย้งกับสไตล์ภาพที่เป็นเทคโนโลยีของโลกอนาคตที่เกิดจากจินตนาการ โคซินสกี้กล่าวว่า ผมชอบงานศิลปะแนวไซไฟจากยุค ’70 ของ คริส ฟอสส์, ปีเตอร์ เอลสัน และคริส มัวร์ มาก ผมรู้ดีว่าด้วยเทคโนโลยีด้านวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่ก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน ผมสามารถที่จะผสมผสานงานภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิค และวิวทิวทัศน์ของจริงเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ และสร้างงานที่โดดเด่นขึ้นได้

 

ลีไวน์และเบอร์เกอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากจินตนาการของผู้กำกับหนุ่มผู้นี้ ลีไวน์เล่าถึงปฏิกิริยาแรกที่เขามีต่อเรื่องนี้ว่า ตอนที่ผมได้อ่านเรื่องราวของโจ ผมพบว่ามันดึงดูดความสนใจ ไม่เหมือนใคร และเป็นแรงกระตุ้นของธรรมชาติของมนุษย์และตัวละคร Oblivion คือเรื่องราวผจญภัยแอ็กชั่นเรื่องเยี่ยม แต่โดยหัวใจของมันก็คือตัวละครที่คุณเอาใจช่วยและนั่นก็คือสิ่งที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ดีได้

นิยายภาพเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นวัตถุตั้งต้นให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากแฟนๆ ที่งาน Comic-Con International ในซานดิเอโก้ ปี 2010 ซึ่งตอนนั้นโคซินสกี้ได้นำภาพฟุตเตทของภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy ไปนำเสนอ อันที่จริงแล้ว เรดิคัล สตูดิโอได้แจกหนังสือนิยายภาพเรื่องนี้จำนวน 30,000 เล่มที่งาน ลีไวน์เล่าว่า มีคนพันคนมาต่อแถวที่งานคอมิค-คอน เพื่อรอให้โจเซ็นลายเซ็นลงบนหนังสือ Oblivion ในระหว่างที่สร้างเรื่องไปนั้น เราได้สร้างโลโก้และภาพวาดประกอบที่ได้รับการตอบสนองมาตั้งแต่แรกเริ่ม มันคือชัยชนะที่จะได้ก้าวไปข้างหน้าและทำให้เรื่องนี้กลายเป็นบทภาพยนตร์ มันคือการนำเสนอเรื่องราวไฮคอนเซ็ปต์เข้ากับผลงานสร้างชั้นเลิศ ไม่มีใครเคยเห็นแบบนี้มาก่อนแน่

หลังจากผ่านการทดสอบสั้นๆ ที่งานคอมิค-คอน ทางยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สได้เข้ามาพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับโคซินสกี้, เรดิคัล สตูดิโอส์ และเชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์ และบทภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ก็เริ่มเดินหน้า ปีเตอร์ เชอร์นิน ผู้อำนวยการสร้างที่มีประสบการณ์ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จกับการรีบู้ทภาพยนตร์แฟรนไชส์ด้วยภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ในปี  2011 เรื่อง Rise of the Planet of the Apes ได้นำบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้มาจากภาพยนตร์เรื่องนั้น ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบที่ร่วมสมัยที่สุดในการผสมผสานอารมณ์เข้ากับเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นได้อย่างน่าตื่นเต้น เฉลียวฉลาด และน่าตื่นตา เชอร์นินได้อธิบายถึงแรงดึงดูดของ Oblivion ว่า เรื่องราวของ Oblivion เชื่อมโยงถึงผู้คนได้เพราะถึงมันจะเป็นภาพยนตร์แอ็กชั่น แต่โดยหัวใจแล้วมันคือภาพยนตร์เกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่พยายามจะค้นพบความเป็นมนุษย์ของเขาเอง นั่นคือหัวใจของเรื่อง และนั่นก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมสุดท้ายแล้วมันถึงได้สร้างความพึงพอใจให้มากนัก

สำหรับตัวภาพยนตร์ โคซินสกี้และลีไวน์ได้ร่วมงานกับเพื่อนผู้อำนวยการสร้าง ดิแลน คล๊าร์ก ผู้เคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์เรื่อง Rise of the Planet of the Apes ร่วมกับเชอร์นิน และดันแคน เฮนเดอร์สัน และยังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเรื่องการจัดการงานสร้างหนังฟอร์มยักษ์ที่มีความหลากหลายอย่าง Master and Commander: The Far Side of the World และ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone เมื่อมีบทภาพยนตร์ที่ใช้ในการถ่ายทำซึ่งเป็นฝีมือของ คาร์, กัจดูเซ็ก และไมเคิล เดอบรูน ในที่สุด ทางทีมผู้สร้างก็พร้อมที่จะเริ่มต้นภารกิจยักษ์ที่กลายมาเป็นงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Oblivion  

คล๊าร์กพูดถึงงานออกแบบและงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ Oblivion มีโลกที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการชั้นเลิศที่โจนำเสนอเอาไว้ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก แต่ไม่ได้ดูเลอะเทอะ มืดมน หดหู่ มันดูสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น เต็มไปด้วยสีสัน ให้ความรู้สึกโดดเด่นแตกต่าง นั่นคือสิ่งที่โดนใจเรา งานออกแบบที่เต็มไปด้วยคอนเซ็ปต์ของเรื่องนี้คือสิ่งที่เรายังไม่เคยเห็นกันมาก่อน

ในเมื่อเรื่องราวของเขาเกิดขึ้นในช่วงหลังของศตวรรษนี้ โคซินสกี้รู้ดีว่าเขาต้องการทีมออกแบบระดับชั้นแนวหน้าเพื่อจะมาสร้างโลกที่ดูเป็นโลกอนาคตอย่างที่สุด แต่ก็ต้องดูน่าเชื่อว่าจะเป็นยุคสมัยในอีก 60 ปีจากยุคปัจจุบัน เขาได้ดึงตัวทีมงานหลักที่เคยร่วมงานกับเขามาใน TRON: Legacy  เพื่อให้มาช่วยสร้างภาพโลกในยุคหลังโลกาวินาศขึ้นมา

เฮนเดอร์สันรู้ดีว่าผู้กำกับของเขาสามารถรับมือกับความท้าทายอันใหญ่หลวงนี้ได้ โจเป็นคนเล่าเรื่องเก่ง หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผมอยากจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครของเขา มันทำให้คนดูได้ติดตามไปตลอดเส้นทางที่คุณคิดว่าคุณรู้อะไรบางอย่าง และจากนั้น คุณกลับพบว่ามันไม่ได้สมเหตุผลเอาเสียเลย ความลับยังคงเผยตัว เหมือนคุณกำลังปอกเปลือกหอม คุณพบความจริงเมื่อคุณเดินหน้าไป คุณได้รับรู้ความจริงมากขึ้นและเริ่มมองเห็นภาพใหม่ มันเป็นการเผยความจริงได้อย่างวิเศษสุดมาก

 

ประชากรโลก:

การคัดเลือกตัวนักแสดงในภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์

 

ขณะที่ภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัยมากมายเต็มไปด้วยผู้เล่น แต่หนึ่งในปัจจัยมากมายที่ทำให้ Oblivion มีความโดดเด่นผิดแผกไปก็คือ ทีมนักแสดงที่มีอยู่น้อยนิด ในเมื่อ แจ็ค เป็นช่างซ่อมบำรุงยานไร้คนขับคนสุดท้ายที่เหลืออยู่บนโลกที่ถูกทิ้งร้าง โอกาสที่เขาจะได้เผชิญกับผู้รอดชีวิตจึงแทบจะเป็นศูนย์ เพราะทีมผู้เขียนบทได้วางการเล่าเรื่องเอาไว้อย่างกระชับ โดยอิงอยู่กับตัวละครเพียงไม่กี่ตัว ทางทีมผู้สร้างรู้ดีว่าการเลือกตัวนักแสดงที่สมบูรณ์แบบมีส่วนสำคัญต่อการมอบชีวิตให้กับเรื่อง Oblivion อย่างมาก

เมื่อโคซินสกี้พิจารณาคนที่จะมารับบทเป็น แจ็ค ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทอม ครูซ คือชื่อแรกที่เขาเล็งเอาไว้ อย่างไรก็ดี ผู้กำกับโคซินสกี้รู้สึกแปลกใจเมื่อเขาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนของครูซที่บอกว่าครูซได้เห็นนิยายภาพเรื่องนี้จากเรดิคัล สตูดิโอส์ และอยากจะพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ โคซินสกี้และครูซได้พบกันที่โรงเก็บเครื่องบินแห่งหนึ่งในเบอร์แบงก์ ซึ่งโคซินสกี้ได้นำเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปให้เขาดูรวมไปถึงภาพสตอรี่บอร์ดของโปรเจ็กต์นี้ด้วย สามชั่วโมงต่อมา ครูซบอกโคซินสกี้ว่าเขาอยากจะร่วมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นการพัฒนาบทภาพยนตร์นานร่วมปีโดยมีครูซรับบทนำ

โคซินสกี้ได้พูดถึงการร่วมงานกันในครั้งนี้ว่า ทอมเป็นคนที่มีเซนต์ในการสร้างภาพยนตร์ที่ดี การทำงานร่วมกับเขาเป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ไม่ใช่แค่เมื่ออยู่ในกองถ่ายในระหว่างการถ่ายทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาบทภาพยนตร์และตัวละครของเขาตั้งแต่เริ่มแรกด้วย

ครูซพูดถึงความสนใจที่มีต่อการได้ร่วมงานกับ Oblivion ว่า ผมได้อ่านเรื่องนี้และผมก็เห็นงานโฆษณาที่โจได้กำกับเอาไว้ก่อนหน้านี้ ผมก็เลยโทรศัพท์หาเขา เราได้พบกัน เขาเอาบางส่วนของ TRON ให้ผมดู และผมก็รู้สึกทึ่งมาก ผมคิดว่า ว้าว ผู้ชายคนนี้เป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่นะ เขามีความสามารถสูงมากโจเป็นคนที่สร้างโลกอื่นขึ้นมา และจินตนาการที่เขามีให้กับ Oblivion ก็คือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจ ผมไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้มาก่อน วิธีที่เขาอยากกำกับมันออกมา และองค์ประกอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ผมจะไม่ได้เล่นหนังแนวไซไฟเลยนับแต่เรื่อง Minority Report แต่ผมชอบหนังแนวนี้นะ และผมก็รู้ว่าโจทำงานกับหนังแนวนี้ได้ดี

ทีมผู้อำนวยการสร้างรู้สึกตื่นเต้นที่มีนักบินที่มีใบอนุญาตจริงๆ มารับบทเป็น แจ็ค และเป็นผู้มาขับยานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ เชอร์นินกล่าวว่า ทอมเป็นพวกเสพติดการบิน ตัวเขาเองเป็นนักบิน ผมว่าเขามีเรื่องสนุกกับบับเบิลชิปเยอะมาก และคุณจะได้เห็นมันบนจอภาพยนตร์

ผู้ที่ร่วมแสดงกับ ครูซ ในบท จูเลีย และวิคตอเรีย (ฉายา ไวก้า) ก็คือ โอลก้า คูรีเลนโก้ และแอนเดรีย ไรส์เบอโรห์ เชอร์นินเป็นคนเล่าให้ฟังถึงเรื่องการคัดเลือกตัวนักแสดง เป็นเรื่องสำคัญมากที่นักแสดงสองคนนี้จะต้องเติมเต็มในส่วนอารมณ์ของการเล่าเรื่องนี้ เราพยายามค้นหานักแสดงที่เหมาะกับบท โอลก้านำทั้งจิตวิญญาณและความลึกมาสู่บท จูเลีย ขณะที่ แอนเดรีย ก็มีความสดใหม่และเต็มไปด้วยชีวิต พวกเธอเติมเต็มกันและกันได้ดี และพาตัวละครของพวกเธอไปสู่ระดับที่ไกลเกินกว่าที่บทภาพยนตร์เขียนเอาไว้

ทีมผู้สร้างรู้ดีว่าบทของนักเดินทางที่เกิดยานตก ผู้อ้างว่าเธอมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับแจ็ค และเป็นคนกระตุ้นให้เขาตั้งคำถามในหลายๆ เรื่องเป็นบทที่ต้องใช้เวลาถ่ายทำอย่างเหนื่อยยากอยู่หลายวันทีเดียว พวกเขาพบ จูเลีย รูซาโคว่า ของพวกเขาในตัวอดีตสาวบอนด์จากภาพยนตร์เรื่อง Quantum of Solace คล๊าร์กเปิดเผยว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เราเลือกนักแสดงในบท จูเลีย ที่จะต้องมีความทรหดอดทนเช่นเดียวกับทอม ซึ่งก็ทำให้เป็นเรื่องยากในการหามาก แต่ โอลก้า ซึ่งเป็นผู้หญิงยูเครนสุดแกร่ง พิสูจน์แล้วว่าเธอทำได้ เราให้เธอต้องผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมากมายที่เราว่าตัวเธอเองก็คงไม่คิดว่าจะทำได้เช่นกัน

คูรีนเลนโก้ยอมรับว่าเธอรู้สึกเหนื่อยล้ากับงานอยู่หลายครั้ง หลายอย่างไม่ได้เป็นไปอย่างที่ดูเหมือนว่าจะเป็นในภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อจูเลียปรากฏตัวขึ้นในชีวิตของแจ็คและไวก้า เธอได้สร้างปัญหา ชีวิตที่สมบูรณ์แบบเรื่อยๆ เอื่อยๆ ต้องพังพินาศ มันคือความยุ่งเหยิง เป็นบทที่เล่นได้สนุก อีกอย่างบทนี้เป็นบทที่ต้องใช้แรงเยอะในฉากแอ็กชั่นทุกรูปแบบ ซึ่งฉันไม่เคยต้องทำมาก่อน

ก่อนหน้าที่จูเลียยานตกลงตรงหน้าเขา ข้างกายของแจ็คมีผู้หญิงเพียงคนเดียวมานานหลายปี ไวก้า โอลเซ่นที่คอยเชื่อฟัง คือเนวิเกเตอร์ของแจ็คในภารกิจซ่อมยานไร้คนขับ ถึงแม้แจ็คจะถูกกระตุ้นด้วยความไม่แน่ใจ แต่ไวก้าย้ำเตือนเขาว่าอย่าตั้งคำถามต่อทางการ และให้ยอมรับทุกอย่างตามแบบที่มันเป็น ไรส์โบโรห์ นักแสดงหญิงชาวอังกฤษ พูดถึงบทบาทของเธอในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า แจ็คกับไวก้ามาถึงจุดในชีวิตที่พวกเขาเริ่มรู้ตัวว่าพวกเขาต้องการสิ่งที่แตกต่างกัน ไวก้าเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องกลยุทธ์ และเป็นคนมองโลกในแง่ดี การกระทำของเธอที่มีการควบคุมเป็นอย่างดี ให้ความรู้สึกที่แรงกล้า

คล๊าร์กอธิบายว่า ไรส์โบโรห์คือคู่หูที่ลงตัวที่สุดสำหรับครูซ เพื่อจะมารับบทไวก้า เราต้องค้นหาคนที่สามารถที่จะมีการใช้ภาษาและการแสดงพฤติกรรมที่ผ่านการฝึกมาและถูกต้อง แอนเดรียเดินเข้ามาและทำให้พวกเขาอึ้งไปเลย

เมื่อแจ็คเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้รอดชีวิตบนโลก เขารู้ตัวว่าเขากับไวก้าไม่ได้อยู่เพียงลำพัง และผู้ที่ได้รับการดึงตัวมาเพื่อให้รับบท บีช ผู้นำของกลุ่มต่อต้าน ก็คือนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ มอร์แกน ฟรีแมน ฟรีแมนได้พูดถึงเหตุผลที่เขารับบทนี้ว่า หนึ่งในหลายๆ สิ่งที่ทำให้ Oblivion แตกต่างออกไปก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ของมัน เสื้อผ้า ฉาก และเครื่องจักรกลทั้งหลาย มันคือโลกที่มีลักษณะเฉพาะของมันเอง และโจก็เป็นผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้การทำงานกับเขาเป็นความสนุก เพราะเขารู้ว่าเขาต้องการอะไร

Oblivion เป็นครั้งแรกที่สองซูเปอร์สตาร์ ครูซและฟรีแมน ได้มาจับคู่ประชันบทบาทกัน และทีมผู้อำนวยการสร้างรู้ดีว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือโอกาสที่สมบูรณ์ที่สุด ลีไวน์พูดถึงการตัดสินใจเลือกตัวนักแสดงในบทผู้บัญชาการกองกำลังต่อต้าน เป็นคนที่รู้เกี่ยวกับตัวพระเอกของเรามากกว่าที่เจ้าตัวรู้เสียอีก เรารู้ดีว่าเราต้องการคนที่จะต้องมีความน่ายำเกรงเพื่อให้มารับบท บีช ทีมนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้มีอยู่เพียงไม่กี่คน ไม่มีอะไรต้องปิดซ่อนเลย คุณต้องดึงเอาอารมณ์ของคุณออกมา และเราทุกคนต่างรู้สึกเกรงขามในตัว มอร์แกน ฟรีแมน เมื่อเราได้เห็นเขาทำงาน

ครูซพูดถึงการทำงานกับนักแสดงผู้เป็นตำนานอย่างฟรีแมนว่า ผมได้พบมอร์แกนในปี 1990 เมื่อเราทั้งคู่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ผมได้เข้าชิงจากเรื่อง Born on the Fourth of July และเขาได้เข้าชิงจากเรื่อง Driving Miss Daisy ผมชื่นชมเขามาก และผมก็จำได้ว่าคืนนั้นที่งานออสการ์ ผมตั้งตารอที่จะได้พูดทักทายเขา และบอกเขาว่าผมชอบเขาในหนังเรื่องนั้นแค่ไหน เราทั้งคู่ต่างพูดว่าเราน่าจะได้ทำงานด้วยกัน ผมรู้สึกเศร้านะที่ต้องใช้เวลานานมากขนาดนี้กว่าที่เราจะได้ร่วมงานกัน แต่ผมก็มีความสุขที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเขา เขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นนักแสดงที่พิเศษสุดจริงๆ

สำหรับบท ไซก์ส รองผู้บัญชาการของกลุ่มผู้รอดชีวิต คอสเตอร์-วัลเดา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานทางทีวีเรื่อง Game of Thrones และภาพยนตร์ทริลเลอร์บล็อกบัสเตอร์ เรื่อง Mama รับบทเป็นนักสู้ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นมือขวาของบีชในการต่อสู้ ฟรีแมนพูดถึงตัวละครของเขาว่า บีชรู้ดีว่าชีวิตก่อนการโดนทำลายล้างเป็นเช่นไร แต่คนอย่างไซก์สเติบโตมาทั้งชีวิตในสภาพแวดล้อมเช่นนี้

เฮนเดอร์สันกล่าวชมคอสเตอร์-วัลเดา ฐานแฟนของนิโคลัจจาก Game of Thrones ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขามีอารมณ์ดิบ แต่ก็เฉลียวฉลาดจนช่วยไม่ได้ที่จะทำให้คนดูพอใจ

คอสเตอร์-วัลเดาได้พูดถึงแรงจูงใจที่ทำให้เขาอยากร่วมงานกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ผู้รอดชีวิตใช้ชีวิตอย่างย่ำแย่ พวกเขาไม่เคยรู้จักอะไรที่ต่างไปจากที่เห็น สิ่งที่สภาพแวดล้อมนั้นทำกับมนุษย์คือสิ่งที่น่าสนใจของเรื่องนี้ ผมเข้าใจดีกว่าไม่ว่าสิ่งต่างๆ จะโหดร้ายสักเพียงใด แต่ไซก์สจะต่อสู้จนเลือดหยาดสุดท้าย และเขายังคงมีความหวังอยู่

ที่ร่วมแสดงอยู่ใน Oblivion ด้วย ก็คือนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ เมลิสซ่า ลีโอ ในบทแซลลี่ ซูเปอร์ไวเซอร์ของแจ็คและไวก้า และยังเป็นตัวแทนของศูนย์บัญชาการ ถึงแม้เสียงของแซลลี่จะหวานสักเพียงใด แต่ก็ไม่ควรประมาทเธอเด็ดขาด เธอเป็นคนขององค์กร ความสนใจอย่างเดียวของเธอจึงอยู่ที่การทำให้งานเสร็จสิ้น ไม่ว่าจะต้องสูญเสียอะไรไป ลีโอได้พูดถึงความสนใจของเธอในการมารับบทนี้ว่า โจได้ผสมผสานความสามารถที่โดดเด่นของเขาหลายๆ อย่างเพื่อสร้างสิ่งที่มีความโดดเด่นอย่างแท้จริง เมื่อฉันตีบทภาพยนตร์แตกและเข้าใจว่าฉันถูกขอให้ทำอะไร ฉันบอกได้เลยว่านี่คือโปรเจ็กต์ที่พิเศษมากจริงๆ หัวใจของ Oblivion คือเรื่องราวของมนุษย์ และมันคือการผสมผสานระหว่างตัวเรื่องกับเทคโนโลยี มันคืออนาคตของการทำหนัง

โคซินสกี้กล่าวว่า แซลลี่ เป็นตัวที่กุมกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่คำตอบมากมายที่แจ็คต้องการ เขาบอกว่า เมลิสซ่ามีความสามารถที่จะทำให้เหมือนเธอเก็บงำความลับทั้งหมดของจักรวาลเอาไว้ ถึงแม้แซลลี่จะติดต่อกับไวก้าและแจ็คผ่านรีโมท แต่เมลิสซ่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมในการผลักดันความตึงเครียดและความตื่นเต้นให้กับตัวละครหลักของเรา คุณรู้สึกเช่นนั้นได้ในทุกวินาที เธอสามารถที่จะช่วยหรือทำลายพวกเขาได้เลย

 

การตีโจทย์:

การสร้างห้องสมุดนิวยอร์ก

 

Oblivion เริ่มต้นการถ่ายทำในเดือนมีนาคม ปี 2012 ที่โรงถ่ายเซลติค สตูดิโอส์ ขนาดมหึมาในบาตัน รู้จ, หลุยเซียน่า โดยสองในสามของการถ่ายทำทั้งหมดเกิดขึ้นที่โรงถ่ายทางตอนใต้แห่งนี้ ในบางครั้ง การถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องนี้มีขึ้นที่โรงถ่ายห้าในเจ็ดโรงที่มีการสร้างขึ้นบนพื้นที่ 23 เอเคอร์ ในโรงถ่ายที่ 4 โคซินสกี้และทีมงานกว่า 350 คน ได้เริ่มสร้างห้องสมุดนิวยอร์กขึ้นมาใหม่ ฉากที่ว่านี้คือการจำลองสร้างห้องสมุดจริงที่ตั้งอยู่บนถนนสายที่ 42 ย่านฟิฟธ์อะเวนิว เพียงแต่ใส่อารมณ์แบบโลกหลังผ่านการโดนทำลายล้าง และตัวอาคารมีพื้นที่กว่า 30,800 ตารางฟุต

ถึงแม้จะเป็นอาทิตย์แรกของการถ่ายทำ แต่ครูซและทีมสตั๊นต์ที่นำทีมโดยผู้ประสานงานสตั๊นต์ โรเบิร์ต อะลอนโซ่ เดินหน้าทำงานเต็มสปีด จากพื้นที่กว้างที่สูงเท่ากับตึกสองชั้น ครูซที่สวมใส่ชุดสีเทาอ่อนของแจ็ค พร้อมด้วยไรเฟิลในมือ ถูกดีดไปไกล 54 ฟุตเข้าสู่รอยแยกอันมืดมิดที่เป็นเศษซากที่เหลืออยู่ของห้องสมุดประชาชนเมืองนิวยอร์ก เมื่อสายเคเบิ้ลของแจ็คโดนตัด เขาตกลงไปทะลุโต๊ะตัวหนึ่ง สำหรับครูซ นั่นหมายความว่าเขาจะต้องกระแทกตัวใส่โต๊ะหนึ่งในห้าตัวที่ถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษ

ราวกับนั่นยังไม่เพียงพอ บทภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเรียกร้องให้มีฉากระเบิด และแจ็คจะต้องถูกลากไปตามพื้นเมื่อขาของเขาโดนกับดักของเอเลี่ยนเข้า ห้องสมุดที่มีหนังสือและเศษขี้เถ้ากระจัดกระจายไปทั่วพื้น เทกแล้วเทกเล่าที่กล้องของผู้กำกับภาพรางวัลออสการ์ คลาวดิโอ มิแรนด้าเก็บภาพฉากแอ็กชั่นเมื่อครูซและอะลอนโซ่แสดงท่าสตั๊นต์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กล้องบินได้ที่วิ่งไปด้วยความเร็ว 18 ไมล์ต่อชั่วโมงถูกติดตั้งอยู่เหนือฉากบนลวดสลิง เมื่อมันติดตามการแสดงของนักแสดง

อะลอนโซ่อธิบายว่านี่คือเรื่องปกติสำหรับภาพยนตร์ที่มีสโคปงานและความยิ่งใหญ่แบบ Oblivion การถ่ายทำแบบนี้และรูปแบบตารางการถ่ายทำแบบนี้ทำให้เกิดความท้าทายมากมาย งานถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้อัดแน่นจริงๆ มีฉากสตั๊นต์ติดต่อกันหลายฉาก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติอีกเหมือนกันสำหรับภาพยนตร์ของ ทอม ครูซ ทอมเป็นหนึ่งในพวกเรา เขาเป็นสตั๊นต์แมนได้ ไม่ต้องสงสัยเลย และยังเป็นสตั๊นต์แมนที่ดีเสียด้วย

ผู้อำนวยการสร้าง คล๊าร์ก กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกคนจะต้องรู้ว่าทอมแสดงฉากสตั๊นต์ด้วยตัวเองทั้งหมด และในภาพยนตร์อย่างเรื่องนี้  คุณมีงานสตั๊นต์โลเทค อย่างเช่นการวิ่งและการกระโดดและการโดนต่อยหน้า จากนั้นคุณก็มีสตั๊นต์ไฮเทคอย่างเช่นการบินและการขี่มอเตอร์ไซค์ และเช่นเคย ทอมเป็นนักบินที่ผ่านมาฝึกมา และขี่มอเตอร์ไซค์ที่ผ่านการฝึกมา เป็นนักขับที่ผ่านมาฝึกมา เขาสามารถทำได้ทั้งหมด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันมากมาย มันคือภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัย และโดยหัวใจแล้ว ก็คือการจับทอมไปไว้ในหลายต่อหลายฉากที่ทั้งตื่นเต้นและอันตราย

แม้แต่นักแสดงสตั๊นต์ที่มีประสบการณ์ที่สุดก็ยังมีข้อจำกัด สตีฟ กั๊บ วิชวลเอฟเฟ็กต์ โปรดิวเซอร์ อธิบายถึงบทบาทของเขาในการช่วยสร้างฉากที่ทีมงานไม่สามารถสร้างในโลกจริงๆ ได้ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในด้านงานสตั๊นต์ เราก็จะสร้างขึ้นด้วยเทคนิควิชวลเอฟเฟ็กต์ มีอยู่หลายฉากด้วยกันที่แจ็คจะต้องเคลื่อนไหวเหมือนเล่นกายกรรมและเหมือนเหาะเหินได้ เราถ่ายทำฉากเหล่านั้นกันในไอซ์แลนด์ และเราก็ผสมมันเข้าด้วยกันในโลกเสมือนจริงเพื่อนำมันขึ้นจอ

ฉากห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กเป็นฉากขนาดใหญ่และน่าตื่นตามาก โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ดาร์เรน กิลฟอร์ด และทีมศิลปกรรมของเขา ใส่ใจในทุกรายละเอียด ไฟแชนเดอร์เลียร์ขนาดใหญ่ 12 ชิ้นถูกนำไปแขวนเอาไว้บนเพดาน และหลอดไฟไม้ที่ทำด้วยมือจำนวน 150 หลอดถูกนำไปติดเอาไว้ในแชนเดอเลียร์แต่ละชิ้น มันคือที่เกิดเหตุสำหรับฉากแอ็กชั่น และมิแรนด้าพบความท้าทายในการใช้พื้นที่ว่างสำหรับฉากนี้

โคซินสกี้และมิแรนด้าตัดสินใจที่จะแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของการแสดงและฉาก อย่างเช่นฉากห้องสมุด ด้วยการถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล เอฟ 65 ของโซนี่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน กล้องรุ่นนี้ถ่ายทำด้วยความละเอียด 4K ซึ่งให้ความลึกและความชัดเพื่อให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถฉายขึ้นจอไอแม็กซ์ได้ ซึ่งภาพที่ถ่ายด้วยกล้องรุ่นนี้จะมีความละเอียดมากกว่าภาพ HD ถึง 4 เท่า และความยืดหยุ่นของกล้อง เอฟ 65 ทำให้มันเหมาะกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆ มิแรนด้ากล่าวว่า เราทำงานในสภาพแสงน้อย และกล้อง เอฟ 65 ก็ยอดเยี่ยมในแง่ที่ทำให้เราสามารถ่ายทำในสภาพแสงน้อยแบบนี้ได้

 

ชีวิตในชั้นบรรยากาศโทรโพสเปียร์:

สกายทาวเวอร์ในจินตนาการ

 

แม้จะมีผลงานภาพยนตร์มาเพียงสองเรื่องเท่านั้น แต่โคซินสกี้ได้สร้างชื่อให้กับตัวเองในฐานะหนึ่งในผู้มีจินตนาการอันงดงามระดับแถวหน้า เป็นผู้สร้างโลกที่เต็มไปด้วยงานออกแบบที่ยอดเยี่ยมและความงดงามที่หลอมรวมฉากแอ็กชั่น ไอเดียที่เต็มไปด้วยความคิด และธีมที่ทรงพลัง เข้าไปในงานออกแบบที่มีแรงดึงดูดของเขา และสิ่งเหล่านี้เห็นได้อย่างชัดเจนในสกายทาวเวอร์

ในช่วงปลายศตวรรษที่  21โลกเหนือก้อนเมฆมีลักษณะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับโลกเบื้องล่างที่อยู่ในสภาพผุพัง แจ็คและไวก้าที่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจในช่วงสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะไปสมทบกับผู้รอดชีวิตที่เหลืออยู่ในอาณาจักรแห่งใหม่ พวกเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายและเพลิดเพลินไปกับวิวอันงดงามจับตา 

กิลฟอร์ดอธิบายถึงแรงบันดาลใจสำหรับจักรวาลนี้ ความขัดแย้งระหว่างสองโลก คือโลกเหนือก้อนเมฆและบนพื้นโลก มีความสำคัญในแง่ของการออกแบบ เราต้องสร้างโลกเบื้องบนที่มีความไฮเทค สะอาด และมีสภาพแวดล้อมที่เป็นของเทียม เบื้องล่างก็คือซากปรักหักพังของโลก และความน่ารำคาญของพวกเอเลี่ยนเก็บกวาดซาก ความแตกต่างกันของสองโลกและการที่สองโลกมาปะทะกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก

สกายทาวเวอร์ที่เป็นบ้านของแจ็คและไวก้า คือหนึ่งในสถานที่แรกๆ ที่คนดูได้รู้จัก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโคซินสกี้ที่โครงสร้างที่แสนเปราะบางนี้จะต้องเกาะเหนือผิวโลก 3,000 ฟุตในชั้นบรรยากาศโทรโพสเปียร์ กิลฟอร์ดเล่าว่า เราอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเขตที่งานวิศวกรรมสามารถยึดหรือประคองไว้ได้ เราอยากให้สกายทาวเวอร์ให้ความรู้สึกราวกับว่ามันคือการปฏิวัติด้านสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต ว่าวิศวกรรมของมนุษย์ได้พัฒนาไปสู่ความจริงที่ว่านี่อาจเป็นโครงสร้างที่มั่นคงได้

ที่พักอันแสนทันสมัยนี้ ที่มาในโทนสีฟ้า เทา และขาว ให้ภาพของโลกในอีก 60 ปีนับจากปัจจุบัน สมบูรณ์พร้อมด้วยงานออกแบบและการใช้งานในชีวิตท่ามกลางชั้นบรรยากาศที่ต่ำลงไป ห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ พื้นที่ออกกำลังกาย และสระว่ายน้ำ ทั้งหมดนี้ผสมผสานจินตนาการและการใช้งานเข้าด้วยกัน กิลฟอร์ดอธิบายว่า แจ็คและไวก้าใช้ชีวิตอยู่ในโอเอซิสแห่งนี้ที่อยู่เหนือชั้นเมฆ ดังนั้นมันจึงขัดแย้งกันอย่างมากระหว่างโลกที่งดงาม สงบเงียบที่อยู่เหนือก้อนเมฆ กับพื้นที่อันตรายและสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรเมื่อคุณตกลงมาด้านล่าง

ห้าเดือนก่อนการถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น การก่อสร้างฉากสกายทาวเวอร์เริ่มต้นขึ้นที่โรงถ่าย 5 ที่เซลติค สตูดิโอส์ จากช่างทำเครื่องเรือนจนถึงผู้ออกแบบแสง ทีมช่างต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อสร้างพื้นที่ที่เป็นความฝันของนักออกแบบบ้าน ผู้อำนวยการสร้างเฮนเดอร์สันเสนอเป้าหมาย นั่นก็คือการทำให้ฉากนี้เป็นเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จะมีความรู้สึกแบบเซนเมื่อเราถ่ายทำกันในสกายทาวเวอร์ ไม่มีใครใส่รองเท้าเดินในนั้นเพื่อทำให้มันสะอาดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกคนต้องใส่ถุงเท้าเดินกันเลยทีเดียว

เพื่อให้ได้การแสดงที่สมจริงที่สุด รวมไปถึงได้ภาพสะท้อนที่สมบูรณ์แบบ โคซินสกี้เลือกที่จะให้ฉากสกายทาวเวอร์ที่ทำจากกระจกเกือบทั้งหมดนั้นให้ความรู้สึกและมีภาพลักษณ์เหมือนมันตั้งอยู่ในก้อนเมฆจริงๆในระหว่างการถ่ายทำ แทนที่จะตั้งมันเอาไว้ท่ามกลางจอบลูสกรีน ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่นำทีมโดย วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์รางวัลออสการ์ เอริค บาร์บา และวิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ จากพิกโซมอนโด บียอร์น ไมเยอร์ ต้องคิดหาทางทำให้ไอเดียดังกล่าวกลายเป็นจริงขึ้นมาให้ได้

โคซินสกี้และบาร์บารู้ดีว่ายังมีเรื่องให้ต้องเรียนรู้จากการใช้เทคนิคยุคเก่าๆ อีกมาก เป็นเทคนิคที่ผู้กำกับอย่าง สแตนลี่ย์ คูบริค เคยใช้กับภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey พวกเขาใช้วิธีการนี้เพื่อสร้างความสูงให้กับฉากสกายทาวเวอร์ และบาร์บาได้ร่วมมือกับบริษัทโปรดักชั่น รีสอร์ซ กรุ๊ป (พีอาร์จี) เพื่อผลิตท้องฟ้าที่ดูเหมือนจริงให้กับฉากที่ว่านี้

พีอาร์จีมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการสร้างภาพให้กับการจัดงานโอลิมปิค งานแจกรางวัลออสการ์ และซูเปอร์โบวล์ และบริษัทแห่งนี้คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการทำงานกับโปรเจ็กต์ยักษ์ๆ แต่สำหรับ Oblivion ทีมงานต้องพบกับความท้าทายในการสร้างภาพที่มีความชัดเจนและเต็มไปด้วยรายละเอียดภายในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก แถมยังเป็นพื้นที่ที่มีฉากอยู่ภายในอยู่แล้วด้วย พวกเขาใช้เวลาสามอาทิตย์ในการสร้างงานและทดสอบงานกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้องเหมือนที่โคซินสกี้, บาร์บา และมิแรนด้าพอใจ

แผ่นเพลทที่เป็นตัวสร้างภาพท้องฟ้าที่ตั้งอยู่รอบๆ สกายทาวเวอร์ ถูกถ่ายทำจากท้องฟ้าของจริงโดยฝีมือของทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ ณ โลเกชั่นในฮาวาย ในเดือนมกราคม ปี 2012 ก่อนหน้าที่การถ่ายทำหลักจะเริ่มต้นขึ้น เป็นเวลานานสี่วันที่ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้เดินทางไกลถึง 10,000 ฟุต ขึ้นไปยังปากปล่องภูเขาไฟ Haleakalā ที่มีชื่อเสียงของเมาอิ ที่นั่น พวกเขาใช้กล้องสามตัวเพื่อถ่ายทำท้องฟ้าในเวอร์ชั่นต่างๆ ที่แตกต่างกันไป ภาพแบบพาโนราม่า  120 องศา ถูกถ่ายทำเพื่อให้เป็นคลิปภาพที่มีขนาด สูง 1,920-พิกเซล และกว้าง 1,080 พิกเซล สุดท้ายแล้ว ภาพที่โดดเด่นจำนวน 10 ภาพได้ถูกเลือกเพื่อนำมาใช้ในระหว่างการถ่ายทำ 

ภาพท้องฟ้าที่เก็บภาพไว้โดยกล้องสามตัวนี้ ถูกนำมาร้อยติดกันอย่างไร้รอยต่อ และภาพภูเขาทั้งหมดที่รายล้อมปากปล่องภูเขาเอาไว้ได้ถูกลบออกไป จากนั้นได้มีการเพิ่มรายละเอียดอย่างที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการ อาทิเช่นกลุ่มดาว และดวงจันทร์ที่ถูกทำลายไปแล้ว ใส่เพิ่มเข้าไปในชอตช่วงกลางคืน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ คลิปภาพชัดแจ๋วนาน 35 นาทีซึ่งถูกฉายขึ้นแผ่นเพลทอย่างไร้ที่ติ สรุปแล้ว ภาพท้องฟ้าที่งดงามนี้ถูกนำมาใช้กับโปรเจ็กเตอร์ความละเอียดสูงจำนวน 20 เครื่อง และเครื่องฉายวิดีโอ 34 ตัว โดยใช้โซนภาพที่มีระดับความละเอียดต่างกัน 19 โซนที่ถูกเชื่อมเข้ากับจอภาพที่มีความสูง 42 ฟุต และยาว 500 ฟุต นอกจากนี้ ช่างเทคนิคสองคนไม่เพียงแต่จะต้องเป็นคนควบคุมดูแลการฉายภาพนี้ พวกเขายังต้องสร้างวิธีการที่จะป้องกันเสียงและลดความร้อนที่เกิดขึ้นด้วย

แซ็ค อเล็กซานเดอร์ หนึ่งในนักฉายภาพมืออาชีพ เล่าว่า เรามีท้องฟ้าในยามค่ำคืน มีพายุ มีช่วงเวลากลางคืนที่มีก้อนเมฆที่ดูสดใสน้อยกว่าเมฆก้อนอื่นๆ มีอาทิตย์ตกดินที่แตกต่างกันสองภาพ มีภาพอาทิตย์ขึ้นอีกสองแบบ รวมถึงท้องฟ้าสีฟ้าสดใส จากนั้น เรายังมีทางเลือกอีกกว่าครึ่งสำหรับอีกห้องหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบก้อนเมฆแตกต่างออกไปเล็กน้อยโดยอิงจากความรู้สึกในเชิงศิลป์ของโจว่าท้องฟ้าจะต้องดูเป็นอย่างไรในชอตๆ หนึ่งโดยเฉพาะ

ทีมงานและทีมนักแสดงต่างรู้สึกประทับใจกับผลงานการสร้างสรรค์ในครั้งนี้มาก ไรส์โบโรห์กล่าวว่า การใช้ชีวิตและทำงานภายในสกายทาวเวอร์นานหลายอาทิตย์ มันเหมือนการใช้ชีวิตหนึ่งวันในชีวิตปกติของคุณ ยกเว้นการได้เห็นภาพวิวพาโนราม่าสุดแสนงดงามนี้ สำหรับฉันกับทอม การที่เราไม่ต้องทำงานกับจอบลูสกรีนที่ตั้งอยู่นอกหน้าต่างของเรา และสามารถที่จะสัมผัสภาพสะท้อนทั้งหมดของฉากนั้นได้ มันเหลือเชื่อจริงๆ

ดารานำของภาพยนตร์เรื่องนี้เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ ครูซบอกว่า การที่ไม่ต้องแสดงหน้าจอกรีนสกรีนช่วยเราได้มากในฐานะนักแสดง มันทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้กันได้ ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันคือฉากที่สวยที่สุดและสงบที่สุดที่ผมเคยเข้าฉากถ่ายทำมา การจัดแสงที่เป็นธรรมชาตินี้กลายมาเป็นแสงสว่างของเรา การที่มีก้อนเมฆที่ถูกฉายภาพอยู่รอบตัวเรา มันทำให้ฉากนั้นให้ความรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้ แต่เป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติอย่างมาก

ส่วนอื่นๆ ของฉากสกายทวาเวอร์ อย่างเช่นห้องทำงานของแจ็ค ซึ่งเขาใช้เป็นที่ซ่อมยาน และห้องควบคุมของไวก้า ซึ่งเธอรับข้อมูลจาก แซลลี่ ผ่านคอม ถูกสร้างขึ้นในโรงถ่ายอื่นๆ ที่เซลติค สตูดิโอส์

 

การเดินทางแห่งโลกอนาคต:

ยานบับเบิ้ลชิพ

 

ที่อยู่ติดกันกับฉากสกายทาวเวอร์ก็คือแท่นจอดของยานบับเบิ้ลชิพ รูปแบบการเดินทางของแจ็คเมื่อเขาเดินทางไปกลับจากพื้นโลก โคซินสกี้ตื่นเต้นมากที่ได้เห็นยานที่เขาเคยจินตนาการเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน มันเป็นยานไฮบริดลูกผสมระหว่างเครื่องบินเจ็ทขับไล่กับเฮลิคอปเตอร์รุ่นเบลล์  47   กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ ยานบับเบิลชิพคือสิ่งแรกที่เราออกแบบสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ โคซินสกี้กล่าว สำหรับทุกคนที่เติบโตมากับหนัง Top Gun เหมือนผมในยุค ’80 มันช่างเป็นภาพที่น่าตื่นตาที่ได้เห็นทอมกลับไปนั่งอยู่ในห้องนักบินและขับยานแบบนี้

Oblivion ให้ภาพที่น่าตื่นเต้นเมื่อแจ็คขับเคลื่อนยานบับเบิ้ลชิพในสภาพที่เป็นอิสระแบบ 360 องศาในท่าผาดโผนและการบินสไตล์เครื่องบินขับไล่ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างน่าตื่นเต้นสุดขีด

ครูซพูดถึงประสบการณ์ที่ได้ขึ้นไปอยู่บนยานบับเบิ้ลชิพว่า โจเอาภาพวาดและงานคอนเซ็ปต์ให้ผมดู ผมคิดว่า นี่มันสุดยอดเลย ผมเป็นนักบิน และผมก็ชอบรูปแบบที่เขาออกแบบยาน มันสวยเหมือนที่อยู่บนจอ ทุกชิ้นส่วนของมันดูเรียบลื่นและงดงาม พวกเขาออกแบบให้มันเข้ากับรูปร่างของผมเพื่อฉากแอ็กชั่นด้วย ครูซหัวเราะ ผมอยากให้มีคนสร้างมันขึ้นมาจริงๆ เราจะได้ใช้มันบินได้จริงๆ

 

การออกแบบยาน

เป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปีก่อนเริ่มต้นงานถ่ายทำ ทีมงานที่ไวลด์แฟ็คทอรี่ในคามาริลโล่, แคลิฟอร์เนีย ซึ่งนำทีมโดยนักออกแบบ แดเนียล ไซม่อน ได้สร้างยานแห่งโลกอนาคตนี้  เมื่องานออกแบบได้รับการอนุมัติแล้ว ยานบับเบิ้ลชิพใช้เวลาในการสร้างนานสี่เดือนที่โกดังในลอสแอนเจลิส จากนั้น ทีมงานได้แยกชิ้นส่วนยาน และขนส่งเพื่อนำไปประกอบเข้าด้วยกันเหมือนเดิมอีกครั้งในหลุยเซียน่า, ไอซ์แลนด์ และที่แมมมอธ, แคลิฟอร์เนีย เพื่อใช้ในการถ่ายทำ โคซินสกี้สรุปผลงานการสร้างยานครั้งนี้ว่า มันเป็นยานไฮบริดที่ผสมผสานเฮลิคอปเตอร์รุ่นเบลล์  Bell 47 ที่จอดอยู่ในโมมา ที่นิวยอร์กซิตี้ กับเครื่องบินเจ็ทขับไล่

สำหรับงานออกแบบครั้งนี้ ไซม่อนได้รับแรงบันดาลใจจากเทคโนโลยีของนาซ่า อย่างไรก็ดี เขารู้ดีว่าเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหนที่คนดูจะต้องรู้สึกว่ายานบับเบิ้ลชิพบินได้อย่างไร ตั้งแต่ปุ่มต่างๆ จนถึงคันโยก จนถึงที่นั่งที่มีตัวหุ้มพยุงลำตัว ทำให้ห้องนักบินดูคล้ายกับภายในเฮลิคอปเตอร์ ขณะที่ต้องมีภาพลักษณ์แบบโลกอนาคต ตัวยานสร้างจากอลูมิเนียมและไฟเบอร์กลาส และมีน้ำหนัก 4,500 ปอนด์ ยานบับเบิ้ลชิพเดินทางไปในตู้คอนเทนเนอร์ถึง 7 ตู้ โดยมีช่างเทคนิคจำนวน 4 คนควบคุมพาหนะไปด้วย ยานต้องถูกแยกชิ้นส่วนเพื่อขนส่งทางอากาศ และต้องใช้รถยกยกขึ้นมา และใช้เวลาในการประกอบยานคืนกลับเหมือนเดิมนานถึง 5 ชั่วโมง โดยใช้ทีมงานสี่คนทำงานแบบไม่ได้หยุดมือกับทุกชิ้นส่วน

ส่วนประกอบของยานบับเบิ้ลชิพประกอบไปด้วยลำตัวเครื่อง ห้องนักบิน  หาง เครื่องยนต์สองเครื่อง ปีก และอุปกรณ์ลงจอด ชิ้นส่วนเหล่านี้ทั้งหมดมีชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆ ที่ต้องประกอบเข้าด้วยกันด้วยมือ โดยชุดอุปกรณ์ลงจอดนั้นทำหน้าที่เป็นเสมือนฐานของเครื่องบินและช่วยประคองให้ส่วนอื่นๆ ของยานตั้งอยู่ได้ ขณะที่ประตูมอเตอร์สองบานที่เปิดสู่ห้องนักบินสามารถเปิดได้พร้อมๆ กัน

ไซม่อนได้พูดถึงโครงสร้างของตัวยานว่า คอนเซ็ปต์ของกระบวนการออกแบบทั้งหมดนั้น ระบุไว้ว่ายานบับเบิ้ลชิพจะต้องดูคล้ายกับแมลงและมีน้ำหนักเบา นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราคิดอุปกรณ์ลงจอดแบบนี้ขึ้นมา ที่จริงแล้วมันมีสามขานะ ในตอนที่เริ่มต้นออกแบบ เราออกแบบมันไว้อีกแบบหนึ่ง เราให้มันมีสองขาด้านหลัง โดยอิงอยู่กับโครงสร้างที่ดูเป็นโลกอนาคต และมันสามารถบินไปได้ทั้งในอวกาศและในชั้นบรรยากาศ เป็นยานอวกาศที่เป็นการผสมผสานหลายอย่าง บวกเข้ากับเครื่องบินต่อสู้ ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างลงตัวตั้งแต่ตอนยังเป็นภาพร่างอยู่

โปรดักชั่นดีไซเนอร์ กิลฟอร์ด อธิบายว่าทีมของเขาต้องสร้างหลายส่วนของยานบับเบิ้ลชิพขึ้นมา เขาเล่าว่า เรามียานบับเบิ้ลชิพที่สมบูรณ์ทั้งลำ ซึ่งตั้งอยู่บนแท่นบับเบิ้ลที่ฉากสกายทาวเวอร์ จากนั้นเราก็มีแค่ส่วนห้องนักบินที่ตั้งอยู่บนแท่นทรงกลมที่เคลื่อนไหวได้ เราได้รับภาพฟุตเตทการบินทั้งหมด จากนั้นในส่วนการทำงานวิชวล เอฟเฟ็กต์ ส่วนอื่นของยานจะถูกใส่ลงไปในด้านหลังของห้องนักบิน จากนั้นเราได้สร้างชิ้นส่วนอื่นๆ ขึ้นมาอีกสองชิ้น ตัวอย่างเช่น เราสร้างยานบับเบิ้ลชิพที่ตกกระแทก มันสนุกกว่าที่คุณคิดเอาไว้เยอะเลย

วิชวลเอฟเฟ็กต์ โปรดิวเซอร์ กั๊บ รู้สึกภูมิใจที่สุดที่ความทุ่มเทของทีมงานให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า การออกแบบยานบับเบิ้ลชิพปราศจากข้อบกพร่องจริงๆ มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่เท่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น ในงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ เราสามารถสร้างน้ำหนักให้สิ่งนั้นได้ การเคลื่อนไหวที่ทำให้รู้สึกเหมือนมันสามารถบินและเคลื่อนที่ไปรอบๆ ได้ เราคุ้นเคยดีกับเฮลิคอปเตอร์และเราก็คุ้นเคยดีกับเครื่องบิน และนี่คือยานลูกผสม ดังนั้นการใส่ใจต่อรายละเอียด จึงถูกใส่เข้ามาเพื่อทำให้คนดูเชื่อว่าสิ่งนี้สามารถถูกสร้างขึ้นมาและสามารถบินได้จริง

 

แท่นบับเบิ้ลชิพหมุนได้รอบทิศ

ในโรงถ่ายที่หก ได้มีการก่อสร้างแท่นรองรับยานบับเบิ้ลชิพ การตั้งแบบจำลองเสมือนของจริงของห้องนักบินยานบับเบิ้ลชิพ ถึงแม้จะเป็นแบบจำลองที่ไร้กระจก เครื่องที่ว่านี้สามารถจำลองภาพการเดินทางทางอากาศโดยได้รับความช่วยเหลือจากแบ็คกราวน์จากจอกรีนสกรีน ต่อมา ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้เพิ่มรายละเอียดของสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายของแสงเข้าไป คล้ายๆ กับการนั่งเครื่องเล่นรถไฟเหาะในส่วนสนุก ห้องนักบิน (ที่มีสองที่นั่ง) ถูกติดเข้ากับฐานที่เคลื่อนไหวได้ และที่แกนของฐาน ตัวโครงสร้างสามารถหมุนได้รอบทิศทาง 360 องศา ทำให้เอฟเฟ็กต์ของแรงเหวี่ยงและแรงดึงดูดที่มีต่อตัวครูซและคูรีเลนโก้เห็นได้ชัดในสายตาของคนดู

เมื่อแท่นหมุนรอบทิศทางของบับเบิ้ลชิพที่ตั้งโปรแกรมและควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์สั่งให้มีการเคลื่อนไหว แรงดันไฟฟ้าถูกส่งไปเพื่อสั่งการให้แท่นเคลื่อนไปทางซ้ายหรือขวา  หรือบนและล่าง ฐานเคลื่อนที่ของแท่นจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องจำลองการบินที่มีอิสระและมีท่อ 6 ท่อที่ก่อตัวเป็นขาทั้งหก

ลวดสลิงของแท่นเคลื่อนไหวนี้จะถูกยึดไว้กับพื้น และมีความสามารถที่จะยกกระดกยานให้ทำมุม 45 องศา และยกขึ้น  22 องศา และยกลง  22 องศา สำหรับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ตัวนักแสดงไม่จำเป็นต้องสวมใส่เครื่องควบคุมป้องกันอย่างเต็มที่ มีแค่เข็มขัดรัดกับที่นั่งเท่านั้น ด้วยความเชี่ยวชาญของผู้ประสานงานสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ไมเคิล ไมนาร์ดัส และผู้ประสานงานสตั๊นต์ อะลอนโซ่ แท่นเคลื่อนไหวได้รอบทิศทางนี้ได้สร้างภาพให้เหมือนกับว่านักแสดงกำลังบินอยู่ในยานลำจริง

ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้ใส่กระจกห้องนักบินและส่วนอื่นๆของยานบับเบิ้ลชิพ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและวิวทิวทัศน์ที่ยานบินผ่านหรือบินข้ามไปในระหว่างงานโพสต์โปรดักชั่น อันที่จริง แผ่นภาพแบ็คกราวน์ได้ถูกถ่ายทำเอาไว้แล้วในไอซ์แลนด์และเป็นภูมิประเทศจริงที่มีจำเพาะในประเทศแห่งนี้ แผ่นภาพเหล่านี้จะถูกฉายภาพให้เข้ากับชอตการเคลื่อนที่ของบับเบิ้ลชิพที่อยู่ในโรงถ่าย และหลายภาพถูกนำมาปรับแต่งอีกรอบด้วยงานวิชวลเอฟเฟ็กต์หลังจากการถ่ายทำหลักๆ ทั้งหมดปิดกล้องลงแล้ว

 

นักฆ่าไร้วิญญาณและรังนอน:

ของประกอบฉาก

 

แดเนียล ไซม่อน นักออกแบบหลักจากไวลด์แฟ็คทอรี่ ได้ร่วมมือกับปรมาจารย์ด้านของประกอบฉาก ดั๊ก ฮาร์ล็อคเกอร์  เพื่อออกแบบดรอน (เครื่องบินไร้นักบิน) ซึ่งยุ่งยากซับซ้อนพอๆ กับยานบับเบิ้ลชิพ ดรอน ซึ่งเป็นนักกำจัดไร้วิญญาณที่จะกำจัดทุกอย่างที่อยู่ในเส้นทาง จะลาดตระเวนไปทั่วพื้นโลกที่อาจยังมียานเก็บซากจากเอเลี่ยนหลงเหลืออยู่ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับแจ็คเช่นกัน เพราะช่างซ่อมยานนายนี้ต้องคอยระวังไม่ให้พวกดรอนฆ่าเขาด้วย ฮาร์ล็อคเกอร์กล่าวว่า เราตัดสินใจกันตั้งแต่ต้นว่าเมื่อดรอนถูกปลดทุกอย่างออก มันน่าจะดูเหมือนรถเวลาที่ถูกลอกทุกอย่างออกหมด เมื่อแผงอุปกรณ์ทุกอย่างถูกถอดออก มันจะดูเหมือนเครื่องจักรดิบๆ มันมีภาพลักษณ์แบบหุ่นเทอร์มิเนเตอร์ ที่ดูน่ากลัวและชั่วร้ายอยู่

กิลฟอร์ดเปิดเผยว่า ดรอนถูกสร้างขึ้นด้วยต้นแบบอันก้าวล้ำนำหน้าที่ผลิตโดยฮาร์ล็อคเกอร์ ซึ่งทำงานจากงานออกแบบที่ไซม่อนเริ่มต้นเอาไว้ เขาเล่าว่า หลายอย่างที่เราออกแบบในแผนกกำกับศิลป์ของเรา อันที่จริงเริ่มต้นในคอมพิวเตอร์ และรูปทรงเรขาและไฟล์งานต่างๆ ที่เราใช้จะถูกส่งตรงไปยังเครื่องจักร ที่ซึ่งพวกเขาตัดชิ้นส่วนสามมิติเหล่านั้นด้วยการสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมา สิ่งนี้ทำให้เราสร้างของประกอบฉากที่ดูเหมือนเครื่องจักรกลที่ดูซับซ้อน สวยงามได้

ฉากห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กคือเหตุการณ์แรกที่คนดูได้เห็นดรอน สรุปแล้ว มีดรอนสามตัวที่ถูกสร้างขึ้นมาจากภาพสเก็ตช์ โดยสองตัวเป็นสีขาวที่มีเปลือกด้านนอก และอีกหนึ่งตัวที่ถูกลอกคราบด้านนอกออกจนไม่เหลือผิวหุ้มด้านนอก ซึ่งเป็นตัวที่แจ็คทำงานอยู่ในสกายทาวเวอร์ ดรอนทั้งหมดนี้ติดตั้งด้วยระบบแอนิเมทรอนิคส์ ดังนั้นมันจึงหมุนตัวได้ เคลื่อนที่ได้ และเปิดแสงสว่างได้ด้วยการควบคุมรีโมทคอนโทรล

ตลอดการถ่ายทำ ฮาร์ล็อคเกอร์ต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับนักวาดภาพประกอบที่จะเป็นคนคิดวาดภาพคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันของข้าวของต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในบทภาพยนตร์ หลังจากโคซินสกี้อนุมัติให้รูปวาดนั้นได้ไฟเขียวแล้ว แผนกอุปกรณ์ประกอบฉากจะทำโมเดลสองมิติขึ้นมาจากกระดาษแข็ง จากจุดนั้น โมเดลสามมิติจะถูกทำขึ้นมา ปกติแล้วขั้นตอนการสร้างของประกอบฉาก ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องตลอดการถ่ายทำต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อออกแบบภาพลักษณ์จำเพาะสำหรับการถ่ายทำ

ฮาร์ล็อคเกอร์ไม่เพียงแต่ดูแลงานสร้างของประกอบฉากชิ้นใหญ่ๆ อย่างเช่นยานบับเบิ้ลชิพ (ดูรายละเอียดได้ในส่วนสกายทาวเวอร์), โมโตไบก์ (ดูรายละเอียดได้จากส่วนของไอซ์แลนด์) และดรอน เขายังรับผิดชอบงานสร้างรังนอน ที่มาพร้อมระบบไฮโดรลิคและชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวได้ ในส่วนรังนอนอย่างเดียว ทีมงานต้องใช้ชิ้นส่วนโฟมมากกว่า 30 เพื่อสร้างเปลือกด้านใน แผนกอุปกรณ์ประกอบฉากของ  Oblivion ยังออกแบบอาวุธของแจ็คและเอเลี่ยน และสร้างอุปกรณ์สุดเจ๋งอย่างคบไฟพลาสม่าของแจ็ค พลุและระเบิดควัน รวมไปถึงชุดอุปกรณ์การแพทย์ของไวก้าและสเปรย์รักษา

การค้นคว้าที่แผนกของประกอบฉากมีขึ้นเพื่อทำให้ทุกอย่างออกมาดูเหมือนมันสามารถมีอยู่จริงในอนาคตอันใกล้ เป็นงานที่ถือว่าสร้างความเหน็ดเหนื่อยให้ไม่น้อย แม้แต่การสร้างหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของขวดน้ำและอาหารก็ถือเป็นงานท้าทาย การออกแบบอุปกรณ์ในรังนอน รวมถึงภาพกราฟฟิคต่างๆ สี และระบบไฟฟ้า มีเรื่อยไปจนถึงรายละเอียดของไฟแอลอีดี แม้แต่ดอกไม้ที่แจ็คมอบให้กับไวก้าก็ยังได้รับคำขอพิเศษจากโคซินสกี้ เพราะผู้กำกับเลือกที่จะใช้พืชพรรณที่เขาเคยเห็นอยู่บนพื้นที่ในไอซ์แลนด์ในระหว่างที่เขาไปตระเวณหาโลเกชั่นในช่วงแรกๆ

ฮาร์ล็อคเกอร์ยังมีห้องยางที่ตั้งอยู่ที่เซลติค สตูดิโอส์ ที่ซึ่งเขาและทีมงานได้ทำแม่พิมพ์อาวุธทุกชิ้นขึ้นมา พวกเขาใช้ยางน้ำหนักเบาเพื่อจำลองอุปกรณ์ประกอบฉากหลายเวอร์ชั่นที่ทีมสตั๊นต์สามารถใช้งานได้ ของเหล่านี้กลายเป็นสิ่งของมีประโยชน์ เช่นปืนไรเฟิลที่มีน้ำหนัก 35 ปอนด์ ฮาร์ล็อคเกอร์อธิบายว่า ปืนจริงๆ ที่เราต้องทำให้มีน้ำหนักเบาและดูเหมือนจริง แต่ปืนทุกกระบอกมีไฟฉายขนาด 800 ลูแมน เป็นไฟฉายที่มีกำลังไฟแรงที่สุดและมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่คุณจะพบบนหน้าลำกล้องปืนที่ใช้ส่องไฟในฉากได้ทั้งฉาก ฉากทั้งหมดนั้นสว่างได้ด้วยลำแสงที่ส่องทะลุผ่านมาตามช่องและจากปืนของแจ็ค มันกลายเป็นเทศกาลแห่งไฟฉายและต้องมีการเปลี่ยนแบ็ตเตอรี่ทุกๆ สิบนาที เพราะพวกมันมีไฟฉายกำลังแรง แต่กินถ่านเอามากๆ

จากผ้าและหนังไปสู่ยาง พลาสติค และโลหะ แผนกของประกอบฉากใช้วัสดุที่หลากหลาย และยังต้องทำงานประสานอย่างใกล้ชิดกับแผนกศิลปกรรมและเสื้อผ้า เพื่อทำให้อุปกรณ์ประกอบฉากทุกชิ้นดูเป็นหนึ่งเดียวกับภาพลักษณ์และอารมณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้

ไลท์เวฟได้ออกแบบเลเซอร์สแกนที่พวกดรอนยิงออกมา เครื่องยิงเลเซอร์สีถูกนำมาใช้ นอกเหนือจากสีแดง เขียว และน้ำเงินมาตรฐานแล้ว เครื่องยิงเลเซอร์ยังต้องยิงสีเหลืองออกมาด้วย เทคโนโลยีนี้ถือว่าเป็นงานใหม่ และ Oblivion ก็คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่วางเหตุการณ์เอาไว้ในโลกที่จะต้องใช้มัน ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญเมื่อต้องทำงานกับเลเซอร์เหล่านี้ เพราะแม้ว่าจะอยู่ห่างออกไปถึง 50 ฟุต แต่มันก็สามารถจุดไฟได้ถ้าเลเซอร์ถูกยิงไปที่จุดเดียวเป็นเวลานานเกินไป ลำแสงรุนแรงนี้ถูกเชื่อมโดยไว้กับไฮโดรสโคป (หมายถึงกล้อง) เพื่อให้พวกมันควบคุมและเคลื่อนที่ได้ง่าย ช่างเทคนิคด้านโปรแกรมสองคนของไลท์เวฟต้องมาอยู่ที่กองถ่ายด้วยตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าความปลอดภัยต้องมาก่อน และสี ขนาด และความแรงของเลเซอร์เป็นไปอย่างที่ทางทีมผู้สร้างต้องการ 

เอฟเฟ็กต์เลเซอร์ต่างๆ อาจถูกสร้างขึ้นในงานโพสต์โปรดักชั่นด้วยภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิคก็ได้ แต่โคซินสกี้ชอบไอเดียที่ดรอนเกิดมีชีวิตขึ้นมาและสร้างความวุ่นวายในกองถ่าย Oblivion การถูกนำมาใช้ประโยชน์ในงานสร้างภาพยนตร์ถือเป็นรากฐานใหม่ให้กับเทคโนโลยีนี้ และ 90 เปอร์เซนต์ของธุรกิจที่ไลท์เวฟทำในงานแขนงนี้ก็เพื่อจัดแสดงในงานคอนเสิร์ตและการแสดงในสเตเดี้ยม เพราะรูปแบบและสีสันสามารถทำสำเร็จได้ด้วยเลเซอร์และสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้โดยง่าย โคซินสกี้จึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้มาก

 

เที่ยวบิน โอดิสซี่:

การสร้างกระสวยอวกาศ

 

ณ โรงถ่ายที่ 7 ที่เซลติค สตูดิโอส์ แผนกศิลปกรรม ภายใต้การชี้นำของซูเปอร์ไวซิ่ง อาร์ท ไดเร็กเตอร์ เควิน อิชิโอกะ ได้สร้างฉากภายในของกระสวยอวกาศ โอดิสซี่ เป้าหมายสำหรับทีมนี้ก็คือห้องนักบินจะต้องดูละม้ายคล้ายกับยานอวกาศจริงๆ และสำหรับโคซินสกี้และผู้กำกับภาพ มิแรนด้า เพื่อให้ได้ภาพที่เป็นธรรมชาติของสภาวะไร้น้ำหนักเมื่อถ่ายทำกับครูซและไรส์โบโรห์ภายในกระสวยอวกาศนั้น

คำถามที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็คือ จะทำงานนี้ให้สำเร็จภายในฉากได้อย่างไร การจะทำได้นั้น จะมีการเปิดช่องเอาไว้ด้านบนของฉาก ซึ่งสายเคเบิ้ลแนวดิ่ง 40 ฟุตสามารถแขวนได้อย่างเป็นอิสระจากโครงยึดแนวนอนขนาด 70 ฟุตซึ่งเชื่อมติดกับเพดานของโรงถ่ายซึ่งเริ่มต้นที่ 30 ฟุตด้านใต้ เดวิด ฮักกิ้นส์ ผู้ประสานงานด้านสลิงสตั๊นต์ ผู้มีส่วนร่วมในทีมสตั๊นต์ด้วยนั้น ได้ตั้งฉายาให้กับระบบต้านแรงดึงดูดนี้ว่า สลิงบิน เอ็กซ์วายแซท สลิงคล้ายๆ กันนี้เคยถูกนำมาใช้ในฉากห้องคลื่นแม่เหล็กในฉากสำคัญของตัวละครของ เจเรมี่ เรนเนอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Mission: Impossible—Ghost Protocol

นักแสดงสตั๊นต์สี่คน ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสายเคเบิ้ลด้วยนั้น รับหน้าที่จัดการกับสลิงบินเอ็กซ์วายแซท และสายเคเบิ้ลขนาด  1,500 ฟุต ที่ผูกไว้กับมอเตอร์ไฟฟ้าด้วยระบบไฮโดรลิค ผู้ควบคุมจะเป็นคนควบคุมการขึ้นลง การเคลื่อนที่ซ้ายขวา และหน้าหลัง ผู้ควบคุมอีกคนจะคอยเป็นคนสั่งการ โดยให้คำสั่งจำเพาะและคอยตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย สำหรับเรื่องความปลอดภัยและการแสดง สลิงบินเอ็กซ์วายแซท ต้องทำงานแบบถูกต้องทุกอย่าง ทีมนักแสดงจะทำการซักซ้อมการแสดงในเครื่องควบคุมป้องกันความปลอดภัยนานล่วงหน้าหลายอาทิตย์ 

ในวันถ่ายทำ โคซินสกี้ให้คำแนะนำกับครูซและไรส์โบโรห์เพื่อให้พวกเขายึดเกาะกับกำแพงเอาไว้เมื่อพวกเขาห้อยโหนตัวในสภาพไร้น้ำหนักอยู่ในห้องนักบิน และเพื่อเพิ่มแรงหมุนพิเศษ ฉากทรงกระบอก โอดิสซี่ ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้มันสามารถที่จะหมุนทวนเข็มนาฬิกาเพื่อให้ได้ภาพของการเคลื่อนไหวมากขึ้น

โคซินสกี้อยากให้ทุกอย่างออกมาถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เมื่อถึงเวลาต้องสร้างฉากสำคัญในกระสวยอวกาศ เขาได้โทรหานักบินอวกาศ ริค เซียร์ฟอสส์ เพื่อให้มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิค เซียร์ฟอสส์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกระสวยอวกาศ ได้ให้คำแนะนำในเรื่องการเคลื่อนไหวฉากสตั๊นต์ต้านแรงดึงดูด ภาพลักษณ์ของห้องนักบินของโอดิสซี่ และบทพูด

ผู้บัญชาการเซียร์ฟอสส์ เป็นผู้นำแผนกศิลปกรรมหลังจากที่พวกเขาได้วางโครงสร้างแผงควบคุมภายในฉากโอดิสซี่ รวมไปถึงสวิทต์เปลี่ยนภาพกราฟฟิคต่างๆ และภาพวิดีโอ เขาแสดงให้ทั้งทีมผู้สร้างและนักแสดงได้ดูว่าระบบควบคุมอันไหนที่จะถูกใช้ในการนำเครื่องขึ้น ช่วงก่อนขึ้นบิน และช่วงนำเครื่องลง เซียร์ฟอสส์เล่าว่า การจำลองสภาพไร้น้ำหนักคือความท้าทายที่น่าสนใจ ทั้งในโลกของการฝึกนักบินอวกาศจริงๆ และเมื่อคุณพยายามเล่าเรื่องในภาพยนตร์ แต่ด้วยมุมกล้องฉลาดๆ และความสามารถที่คล่องตัวของนักแสดง จึงเป็นไปได้ที่จะทำให้มันออกมาดูสมจริง เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเพิ่มการพูดคุยในห้องนักบินที่สมจริงเข้าไป ทุกอย่างก็เข้าที่เข้าทางแล้ว

ฉากอื่นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นที่โรงถ่ายที่เซลติค สตูดิโอส์ ก็คือฉากร้านกิ๊ฟช้อปภายในอาคารเอ็มไพร์ สเตท และห้องในโรงแรมที่นิวยอร์กซิตี้ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทำที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของ 911 และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์ควบคุมภารกิจที่แซลลี่คอยบัญชาการไวก้า

 

 

การกลับบ้าน:

เรเว่นร็อค และโซนกัมมันตภาพรังสี

 

ตั้งแต่เริ่มการถ่ายทำ Oblivion มุ่งหน้าสู่นิวออร์ลีนส์เป็นเวลาสองอาทิตย์เพื่อถ่ายทำหลายต่อหลายฉาก ซึ่งรวมถึงฉากพวกมนุษย์ที่รอดชีวิต ซึ่งนำโดยบีชและไซก์ส หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ที่รู้จักในชื่อเรเว่นร็อค โคซินสกี้บอกว่า เรเว่นร็อคและโลกด้านล่าง มีลักษณะตรงกันข้ามจากสิ่งที่เราเห็นในสกายทาวเวอร์

ทีมผู้สร้างได้ถ่ายทำที่โรงผลิตไฟฟ้ามาร์เก็ตสตรีทในพื้นที่ 6 เอเคอร์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ โดยมีความโดดเด่นอยู่ที่การเป็นโรงไฟฟ้าที่เก่าแก่ที่สุดในนิวออร์ลีนส์ โรงงานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1885 และปิดตัวลงเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ภาพลักษณ์ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ทั้งพื้นที่ รอยสนิม และรายละเอียดต่างๆ ทุกอย่างมีความโดดเด่นและกลายเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับมนุษย์ผู้รอดชีวิตอยู่บนโลกที่ถูกโจมตี ฟรีแมนกล่าวว่า เรเว่นร็อคเป็นสถานที่ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งผู้รอดชีวิตใช้มานานหลายปี โดยได้ถูกสร้างขึ้นให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้เพื่อใช้เป็นป้อมป้องกันตัว

เมื่อมีโลหะที่ผุพังและหลังคาที่เปิดโล่งทั้งหมด อาคารแห่งนี้ได้รับการตรวจสอบในเรื่องความปลอดภัยก่อนที่ทุกคนจะได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปและทำงานที่นั่น ทีมนักแสดงและทีมงานทุกคนต้องสวมใส่หมวกหนาแข็งเมื่อเดินเข้าไปในอาคารหลังนี้ ทางเข้าเดียวที่มีคือทางเข้าจากถนน ซึ่งเป็นความท้าทายในการนำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม ในเย็นวันหนึ่ง ฝนตกตลอดทั้งคืนจนน้ำท่วมฉากดังกล่าวสูงถึง 7 นิ้ว ทีมงานต้องรอให้พายุหยุดและสูบน้ำออกจากฉากก่อนจะเริ่มต้นการถ่ายทำอีกครั้ง นี่เป็นแค่ความล่าช้าเล็กๆ น้อยๆ เพราะพายุก็ยังไม่อาจหยุดการระเบิดได้

ที่ตั้งอยู่ภายในฉากเรเว่นร็อคก็คือ ห้องเก็บเอกสารที่ซึ่งมนุษย์ผู้รอดชีวิตใช้เก็บงานศิลปะและหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติของมนุษย์ และยังเป็นสถานที่ที่เด็กๆ ใช้เป็นโรงเรียน เพื่อให้ได้ภาพว่าหนังสือที่อยู่ในห้องจดหมายเหตุเหล่านี้เป็นหนังสือที่มีความเก่าแก่มาก หนังสือจะถูกทำให้ดูเป็นหนังสือเก่า โดยถูกนำไปใส่เอาไว้ในเครื่องผสมซีเมนต์เพื่อให้ดูเหมือนมันเป็นเศษซากที่เหลือจากสงครามที่เกิดขึ้นบนโลก นอกจากนี้ ยังมีงานศิลปะอย่างเช่น “Liberty Bell” รวมไปถึงผลงานของ โคลด โมเน่ต์ และแอนดรูว์ ไวเอท ซึ่งก่อนหน้า Oblivion  ไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดเคยได้สิทธิ์ในการนำภาพเขียน “Christina’s World” ของไวเอทมาใช้ในภาพยนตร์มาก่อน

หนึ่งในสมบัติล้ำค่าที่แจ็คพบในห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก ก็คือหนังสือที่มีชื่อว่า กวีนิพนธ์แห่งโรมโบราณ ฮาร์ล็อคเกอร์เล่าว่า กลับกลายเป็นว่านี่คือหนังสือปกหนังขนาดห้าคูณหกนิ้วที่สวยงามที่มีการพิมพ์หลายครั้งด้วยกัน เราได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันหกเล่มจากอังกฤษ เราพบเล่มหนึ่งที่เราชอบ และเราก็ทำหนึ่งในหนังสือเหล่านั้นขึ้นมา โจตัดสินใจว่ามันควรจะโดนไฟไหม้หลังจากดรอนโจมตี ดังนั้นเราจึงต้องผลิตมันออกมาและทำหนังสือสำรองออกมาอีกห้าเล่มเพื่อจะนำมาจุดไฟเผา

เป็นเวลานานหลายทศวรรษที่มนุษย์ผู้รอดชีวิตและเหล่าเอเลี่ยนที่ตระเวนเก็บซากสิ่งต่างๆ ต้องอยู่ห่างจากพื้นที่กัมมันตภาพรังสี เป็นพื้นที่ที่เชื่อว่ามีอันตรายจนไม่มีใครเข้าใกล้ได้โดยไม่ล้มตายไปเสียก่อน แจ็คได้เรียนรู้ว่าความเชื่อนี้ก็เหมือนกับหลายๆ อย่างที่เขาได้เจอ เป็นเวลานานกว่าสี่วันที่การถ่ายทำฉากพื้นที่กัมมันตภาพรังสีนี้เกิดขึ้นในเซนต์ฟรานซิสวิลล์ ที่อยู่นอกบาตันรูจหนึ่งชั่วโมง และห่างจากเรือนจำแองโกล่าไกล 15 ไมล์

บรรดาผู้ช่วยฝ่ายโปรดักชั่นในฉากนี้ขอร้องให้ทีมงานเดินไปบนพื้นผิวทรายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขณะที่พวกเขาเดินไป แผนกอุปกรณ์ประกอบฉาก ณ กองถ่าย จะต้องเอาไม้กวาดมากวาดเพื่อลบรอยเท้าของพวกเขา เต้นท์หลายหลังถูกตั้งขึ้นเพื่อคลุมฉากนี้ และสำหรับนักแสดงที่ต้องใส่ชุดหนัง ทันทีที่เสียง คัท ดังขึ้น พวกเขาจะต้องวิ่งไปที่เต้นท์ความเย็นเพื่อให้ทีมงานโรยละอองน้ำแข็งใส่และทำให้ตัวเปียกด้วย

เนินทรายที่มนุษย์ทำขึ้นเปิดรับแสงอาทิตย์ร้อนๆ เต็มที่ และไม่มีที่ไหนให้หลบแสงแดดได้เลยขณะที่ครูซถ่ายทำฉากต่อสู้ฉากใหญ่ที่สุดฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทีมงานที่ใส่ทั้งหมวกและเครื่องปิดบังใบหน้าจนจำไม่ได้ว่าใครเป็นใครมาคอยปกป้องพวกเขาจากรังสีที่ร้อนแรงของดวงอาทิตย์ ครูซเล่าให้ฟังถึงวันถ่ายทำที่ร้อนที่สุดวันหนึ่ง ผมไม่เคยรู้สึกถึงความร้อนจัดในร่างกายแบบนี้มาก่อน ร่างกายของเราร้อนขึ้น จากนั้น คุณต้องทำให้ร่างกายคุณลดอุณหภูมิลง แน่นอน ตลอดเวลาผมคิดว่า สิบชั่วโมงต้องรับแสงแดดร้อนแบบนี้ แล้วสักกี่นาทีที่จะได้ลดความร้อนในร่างกายลง’”

เมื่อมีการถ่ายทำกลางแจ้งทั้งที่เหมืองหินและบ่อทราย พื้นที่ในหลุยเซียน่าต้องเข้ากันกับสิ่งที่ถูกพบในไอซ์แลนด์ ซึ่งหมายถึงการสร้างบ่อ ลาวา รวมไปถึงน้ำที่จะต้องผุดขึ้นมาบนพื้นผิว เพิ่มควันและกองหินเข้าไป

สองสามฉากในเขตบาตัน รู้จที่ถูกใช้ในฉากแอ็กชั่น เป็นเหมืองหินขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยทรายและหิน พวกเขาต้องเพิ่มควันและซากปรักหักพังของฉากโอดิสซี่เข้าไป ฝนและลมช่วยให้ฉากเหล่านี้มีรูปลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ เมื่อมีการเปิดฉากให้รับกับปัจจัยต่างๆ ในระหว่างการสร้างและการถ่ายทำ ฉากเหล่านี้ถูกขยายออกไปด้วยภาพแบ็คกราวน์ที่ถ่ายเอาไว้ในไอซ์แลนด์

แผนกสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ต้องยุ่งกับการถ่ายทำทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้าไม่ต้องถ่ายทำบนแท่นบับเบิ้ลชิพ หรือดรอน ก็ยังมีฉากระเบิดและฉากยิงกันมากมายให้ต้องวุ่นวาย ปืนครกและก๊าซโพรเพน รวมไปถึงไทเทเนียมที่ถูกใช้สำหรับจุดประกายไฟ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างระเบิด ถังก๊าซโพรเพนหลายขนาด ขึ้นอยู่กับว่าต้องการเอฟเฟ็กต์ขนาดไหน ถูกนำมาใช้ขณะที่ปืนครกนั้นอัดแน่นไปด้วยไม้ และเศษดิน ฉากระเบิดหลายฉาก อย่างเช่นการระเบิดในฉากที่ยานโอดิสซี่ตก ต้องใช้การจุดระเบิดถึง 15 วงจรเพื่อระเบิดฉากนั้นๆ มีการกำหนดความเร็ว จังหวะเวลา และการซักซ้อมเอฟเฟ็กต์ดังกล่าวเพื่อให้ทุกอย่างออกมาปลอดภัยที่สุด

 

การเคลื่อนพลในนิวยอร์กซิตี้:

อาคารเอ็มไพร์สเตท

 

ทีมนักแสดงและทีมงานเดินทางไปนิวยอร์กซฺตี้เพื่อถ่ายทำที่นั่นนานสามวัน โดยสองวันถ่ายทำกันที่ชั้นดาดฟ้าของอาคารเอ็มไพร์สเตท (ESB) และอีกหนึ่งวันถ่ายทำกันด้านนอกประตูทางเข้าอาคารเอ็มไพร์สเตทตรงบริเวณ ฟิฟธ์อะเวนิว

Oblivion ถ่ายทำกันที่ด้านบนสุดของดาดฟ้า ในมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชั้นที่ 86 ทีมงานได้ตั้งมุมทำงานขนาด 33 ฟุตในแต่ละทิศทางจากมุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ และทำให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่ของพวกเขา ถึงแม้ว่าในช่วงเวลานั้นพื้นที่ดาดฟ้าจะยังคงเปิดให้บริการตามปกติโดยจะมีผู้เดินทางมาเที่ยวมากกว่าวันละ 1 หมื่นคน นักท่องเที่ยวมากมายรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้มาเยือนหนึ่งในจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาและได้เห็นภาพครูซกำลังถ่ายหนังโดยไม่คาดฝันมาก่อน

มันคือความท้าทายที่จะนำอุปกรณ์ไปยังชั้นที่ 86 แต่ทีมเจ้าหน้าที่ของตึกเอ็มไพร์สเตทคอยให้ความสะดวก และใช้ให้ทีมงานใช้ลิฟต์ขนของเพื่อขนอุปกรณ์อีกด้วย เมื่อถ่ายทำตามท้องถนนในเมืองใกล้ย่านฟิฟธ์อะเวนิว ข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าครูซมาถ่ายหนังอยู่ ทำให้แฟนๆ จากทั่วโลกมารวมตัวกันที่นั่นเพื่อถ่ายรูป โบกมือและกล่าวทักทายครูซในกองถ่าย ระหว่างรอทีมงานจัดฉากอยู่นั้น ครูซยังได้แจกลายเซ็นและถ่ายรูปกับแฟนๆ ของเขาด้วย

ผู้กำกับโคซินสกี้ยังได้จำลองภาพแมนฮัตตันขึ้นมาอีกด้วย เราได้สร้างดาดฟ้าของตึกเอ็มไพร์สเตทขึ้นมาบริเวณเชิงเขาแห่งหนึ่งในไอซ์แลนด์ และถ่ายทำฉากด้านหลังของตึกเอ็มไพร์สเตทในนิวยอร์กซิตี้เมื่ออาทิตย์ก่อน ดังนั้นเราจึงมีช่วงเวลาหลายครั้งด้วยกันที่อาทิตย์หนึ่งเรายืนอยู่ใจกลางนครแมนฮัตตันที่รายล้อมด้วยผู้คนกว่า 14 ล้านคน ถ่ายทำฉากที่มองเห็นนครที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ และอีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมา เราได้มายืนอยู่ในฉากเดียวกันในไอซ์แลนด์ โดยไม่มีใครสักคนโผล่หน้ามาให้เห็นไกลเป็นร้อยๆ ไมล์เลย

 

 

การถ่ายทำในไอซ์แลนด์:

การถ่ายทำกลางแจ้งและทีมถ่ายทำทางอากาศ

 

โคซินสกี้ฝันมานานแล้วว่าจะถ่ายทำฉากกลางแจ้งของ Oblivion ณ โลเกชั่นในไอซ์แลนด์ เพราะที่นั่นดูเป็นสถานที่ที่ลงตัวที่สุด ในช่วงฤดูร้อน ในช่วงเวลากลางวันจะกินเวลายาวนานถึง 22 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลดีต่อการถ่ายทำ ผู้กำกับโคซินสกี้กล่าวว่า สงครามทำให้พื้นที่นี้ย้อนกลับไปเหมือนยุคหิน อยู่ในสภาพที่ซ่อมแซมไม่ได้ ทรายสีดำและสีสันต่างๆ ที่ติดอยู่กับก้อนหิน แม้ภาพที่เห็นจะดูรกร้างแต่ก็ดูงดงาม  ศูนย์บัญชาการที่บริหารโดยแซลลี่ จะหยุดการเชื่อมต่อในเวลากลางคืน และมีท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ถูกค้นพบในระหว่างการถ่ายทำ ผู้กำกับโคซินสกี้เล่าว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่แล้วถ่ายทำกันในเวลากลางวัน ดังนั้นเราจึงถ่ายทำกันท่ามกลางแสงธรรมชาติที่ดูโดดเด่นของไอซ์แลนด์

Oblivion ใช้เวลาถ่ายทำในไอซ์แลนด์ 10 วัน โดยครึ่งหนึ่งของทีมงานจำนวน 300 คนเป็นชาวไอซ์แลนด์ แปดอาทิตย์หมดไปกับการเตรียมงานรวมถึงการขนอุปกรณ์การถ่ายทำทั้งหมดและยานบับเบิ้ลชิพมาที่นี่

ช่วงเวลากลางเดือนมิถุนายน จนถึงต้นกรกฎาคมคือช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของหน้าร้อนในไอซ์แลนด์ ถือเป็นช่วงเวลาที่อากาศดีที่สุดตลอดทั้งปี ทีมงานเลือกช่วงเวลานี้เพื่อใช้เป็นช่วงเวลาในการถ่ายทำ อย่างไรก็ดี ฝนที่ตกลงมาและสภาพอากาศที่หนาวจัดทำให้การสร้างฉากและการถ่ายทำเป็นงานท้าทายอย่างมาก  คล๊าร์กเล่าว่า โลกคือตัวละครหลักตัวหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ มันคือสิ่งที่แจ็คต่อสู้ปกป้อง และไอซ์แลนด์ก็แสดงให้เห็นโลกที่กำลังกลับฟื้นคืนชีวิต มีมอสอยู่ใต้เม็ดทรายสีดำ มีน้ำอยู่ใต้ธารน้ำแข็ง และสีสันและความงดงามของประเทศนี้ทำให้เราได้ตัวละครตัวนี้มา

เมื่อขับรถประมาณสองชั่วโมง จาก Akueyri ห่างจากทะเลสาบ Mývatn ไป 30 ไมล์ ทีมงานพบว่าพวกเขายืนอยู่ที่ Hrossaborg ซึ่งเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่มีอายุ 10,000 ปีที่มีรูปทรงคล้ายกับโรงละครอัฒจันทร์ ปากปล่องภูเขาไฟนี้ถูกตกแต่งจนกลายเป็นสเตเดี้ยมในตะวันออกเฉียงเหนือหลังโลกถูกทำลาย มันมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล โดยทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้เข้ามาจัดการเพิ่มส่วนที่นั่งของสเตเดี้ยมและประตูทางเข้าสู่สนาม 

ในไฮแลนด์สของไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเรื่องทรายดำ ฉากหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นดาดฟ้าของตึกเอ็มไพร์สเตทยุคหลังสงคราม การขับรถไปยังฉากแห่งนี้ต้องใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมงโดยต้องขับไปบนทรายสีดำและถนนลูกรัง ก่อนจะไปถึงแค้มป์ที่เต็มไปด้วยรถบรรทุกและรถเทรเลอร์ที่จอดอยู่กลางทะเลทราย ที่นี่ ทีมงานของโคซินสกี้ถ่ายฉากสำคัญที่แจ็คขี่โมโตไบก์ของเขาข้ามวิวทิวทัศน์ที่แปลกประหลาดในแถบไฮแลนด์สของไอซ์แลนด์ หน่วยงานภาคอากาศที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์เก็บภาพเหล่านี้เอาไว้ รวมไปถึงการถ่ายทำอีกหลายฉากในไอซ์แลนด์

เอริค บาร์บา วิชวลเอฟเฟ็กต์ซูเปอร์ไวเซอร์ของ Oblivion และบียอร์น ไมเยอร์ วิชวลเอฟเฟ็กต์ซูเปอร์ไวเซอร์ของพิกโซมอนโด ได้สร้างแผนการบินสำหรับทีมงานภาคอากาศที่จะต้องเป็นผู้เก็บภาพแบ็คกราวน์ที่จะนำไปฉายบนแผ่นฉายภาพแบ็คกราวน์ หน่วยงานภาคอากาศยังไปถ่ายทำที่ภูเขาไฟที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกอย่าง Eyjafjallajökull ซึ่งเคยพ่นเถ้าออกมาจนทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินในยุโรปต้องหยุดชะงักไปหมดในปี 2010 ลาวาที่ยังปะทุจากภูเขาไฟนี้ได้สร้างหุบเขาที่มีทั้งลาวาร้อนๆ และกำแพงธารน้ำแข็ง 

วันหนึ่งของการถ่ายทำในไอซ์แลนด์เป็นการติดตามเฮลิคอปเตอร์ข้ามยอดเขาแห่งนี้ ทีมงานทุกคนและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องถูกขนส่งไปยังยอดเขาโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังโลเกชั่นที่อยู่ใกล้กับกำแพงน้ำที่มีชื่อเสียงโด่งดังของไอซ์แลนด์ที่ชื่อ Gullfoss

การขนอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าออกจากไอซ์แลนด์ และเพื่อขนส่งไปยังโลเกชั่นที่ห่างไกล ไม่ใช่เรื่องง่าย งานนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประสานงานด้านการขนส่ง แอรอน สกัลกา ที่ต้องดูแลให้รถบรรทุก รถยนต์ เรือ และเครื่องบิน นี่ยังไม่รวมถึงอุปกรณ์การถ่ายทำ ถูกขนย้ายไปให้ตรงตามกำหนดเวลา และไปถึงโลเกชั่นที่ใช้ในการถ่ายทำในสภาพที่สมบูรณ์ การขนส่งข้าวของ ยังรวมถึงการเช่าเครื่องบินขนสินค้าที่สามารถขนสินค้าที่มีน้ำหนักมากถึง 70,000 ปอนด์ นอกจากการขนส่งทางอากาศแล้ว ยังมีการขนของด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตจำนวน 15 ตู้ข้ามมหาสมุทรไปยังไอซ์แลนด์อีกด้วย สิ่งของที่ขนส่งไปนั้นยังรวมถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง ฉากที่สร้างเสร็จแล้ว เครื่องมือก่อสร้าง อุปกรณ์สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ของใช้ส่วนตัว และท่อนซุง

 

พาหนะขาซิ่ง:

โมโตไบก์

 

โมโตไบก์ได้รับการออกแบบและสร้างโดย กลอรี่ มอเตอร์ เวิร์กส์ แห่งเมืองเกลนเดล, แคลิฟอร์เนีย จัสติน เคลล์ เจ้าของบริษัทแห่งนี้ ได้คำสั่งตรงจากโคซินสกี้ว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้จะต้องมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น และจะต้องทำงานได้เหมือนกับมอเตอร์ไบก์สมบูรณ์ที่สุดคันหนึ่ง ครูซได้ให้ข้อมูลว่าเขาอยากจะขับขี่อย่างไร และต้องการระดับความสะดวกสบายขนาดไหนเวลาขับขี่

ตลอดเวลา 6 อาทิตย์ เคลล์และทีมงานของเขาได้ผลิตรถมอเตอร์ไบก์ที่มีหน้าตาเหมือนกันออกมาสามคัน โดยสองคันจะมีที่นั่งสำหรับแจ็ค กับอีกหนึ่งคันจะมีที่นั่งสำหรับสองคน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในฉากที่แจ็คและจูเลียนั่งรถไปด้วยกัน เคลล์เลือกรถฮอนด้ารุ่น CRF450X เพื่อนำมาเป็นรถโมโตไบก์ของแจ็ค เพราะรถรุ่นนี้สามารถขับขี่และทนทานในเกือบทุกสภาพแวดล้อม รวมถึงทรายดำในไอซ์แลนด์ด้วย และยังสามารถสตาร์ทเครื่องได้นานหลายชั่วโมงในแต่ละครั้ง

ล้อคาร์บอนไฟเบอร์ของโมโตไบก์สีขาวถูกผลิตขึ้นในแอฟริกาใต้ที่แบล็คสโตน เท็ก และได้มีการปรับแต่งรถโดยใส่ปั้มพิเศษซึ่งเป็นสิ่งที่ครูซต้องใช้ในการแสดง เคลล์ได้เตรียมงานสำหรับการทำงานนี้ และโมโตไบก์ที่มีรูปลักษณ์แบบโลกอนาคตได้ถูกออกแบบมาให้สามารถกระโดดได้ไกลถึง 50 ฟุต และเร่งความเร็วได้ถึง 120 ไมล์ต่อชั่วโมง เคลล์บอกว่า เราสร้างรถคันนี้ขึ้นมาเพื่อให้สามารถวิ่งได้แบบรถโมโตครอส ทอมเป็นนักขับขี่ที่เก่งอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงสามารถที่จะเล่นอะไรได้มากมาย

ครูซที่เป็นนักขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่มีประสบการณ์ พูดถึงการซิ่งของเขาว่า มันเป็นงานออกแบบที่มีลูกเล่นเยอะ เพราะเมื่อผมต้องขี่โมโต้ไบก์ มีอยู่หลายฉากด้วยกันที่ผมต้องซ้อนโอลก้าไปด้วย ทีมที่ออกแบบรถคันนี้สร้างงานได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่ด้วยรูปลักษณ์ แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงสมดุลของรถ เพราะผมต้องทั้งกระโดดและวิ่งไปทั่วไอซ์แลนด์ รถจึงต้องปลอดภัยมากพอที่ผมจะขับไปด้วยความเร็วโดยไม่ต้องใส่หมวกกันน็อค ผมรู้ดีว่าพวกเขาต้องใช้กลเม็ดเยอะเพื่อหาทางสร้างการทรงตัวที่สมดุลให้กับตัวรถ และผมก็ขี่มันซิ่งส์กระจายไปเลย

ครูซได้ฉลองวันเกิดครบรอบปีที่ 50 ของเขาในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ในไอซ์แลนด์ และทีมผู้สร้างได้มอบหนึ่งในรถโมโต้ไบก์ให้เป็นของขวัญของเขา กิลฟอร์ดกล่าวว่า ผมพอใจกับรูปลักษณ์ที่ออกมาของโมโตไบก์มาก ดูเหมือนมันหลุดออกมาจากยานบับเบิ้ลชิพ และแจ็คก็ขับมันออกมาจากด้านข้างของยานบับเบิ้ลชิพ ในตอนแรกเราจะยังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร จากนั้นเมื่อเขาโชว์มันเต็มคัน เราถึงได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันก็คือมอเตอร์ไซค์นั่นเอง

 

เอเลี่ยนบนโลก:

งานสตั๊นต์และอาวุธ

 

หลังจากสงครามสิ้นสุด ผู้รอดชีวิตกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่บนโลก (หรือตามที่แจ็คเชื่อมาตลอด) ก็คือกลุ่มเอเลี่ยนที่คอยตามเก็บกวาดซาก เอเลี่ยนพวกนี้รับบทโดยนักแสดงสตั๊นต์ และเป็นเรื่องสำคัญที่ชุดเอเลี่ยนทั้งหลายนั้นจะต้องทั้งปลอดภัยและใช้งานได้ดี หน้ากากเริ่มต้นด้วยการใช้หน้ากากการบินแบบง่ายๆ จากนั้นมีอุปกรณ์หลายอย่างถูกติดเข้าไปเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ ส่วนของหูให้แสงสว่างได้ ขณะที่ชิ้นส่วนของกล้องเก่าๆ ถูกติดเข้ากับตาของทุกชุด ชุดของเอเลี่ยนแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน

สำหรับฉากแอ็กชั่นหลายต่อหลายฉากที่พวกเอเลี่ยนเก็บซากจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดั๊ก แม็คควอร์รี่ ที่ปรึกษาด้านการทหารและเป็นหน่วยเนวีซิลที่เกษียณแล้ว จะต้องทำงานกับนักแสดงสตั๊นต์ที่แต่งชุดเอเลี่ยน 10 คน และยังต้องร่วมงานกับแผนกสตั๊นต์ทั้งหมด แม็คควอร์รี่ได้ตั้งแค้มป์ฝึกเอเลี่ยนขึ้นมาเพื่อฝึกสตั๊นต์แมนเหล่านี้ รวมถึงสตั๊นต์หญิงอีกหนึ่งคน (โซอี้ เบลล์ ซึ่งต้องแสดงเป็นคาร่า) แม็คควอร์รี่ที่ต้องทำงานกับอาวุธ เป็นคนแนะนำกลุ่มนักแสดงในบทเอเลี่ยนเก็บซากว่าพวกเขาจะต้องคลาน เดิน หรือวิ่งยังไงในฉากการเผชิญหน้า แม็คควอร์รี่ไม่ลังเลเลยที่จะตะโกนเสียงดังใส่เอเลี่ยนฝึกงานของเขา ด้วยคำสั่งอย่างเช่น ดู! ยิง! ฆ่า!” เพื่อกระตุ้นพลังจากนักแสดงสตั๊นต์เหล่านี้ 

โคซินสกี้และแม็คควอร์รี่รู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่กลุ่มเอเลี่ยนเหล่านี้จะต้องเคลื่อนไหวเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ในแบบทหาร แม็คควอร์รี่เล่าว่า เอเลี่ยนเก็บซากพวกนี้จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยท่าทีที่ดูสบายๆ ผมได้ทำงานกับกลุ่มนักแสดงสตั๊นต์ที่มีความคล่องแคล่วและมีความสามารถกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขามีทักษะพื้นฐานแบบทหารและมีรากฐาน จากนั้นเราก็ได้สร้างสไตล์จำเพาะขึ้นมาด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ แม็คควอร์รี่เคยร่วมงานกับครูซโดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านทหารให้กับภาพยนตร์เรื่อง Jack Reacher มาแล้ว ทำให้พวกเขาคุ้นเคยกันดี หลังจากแม็คควอร์รี่และครูซได้พูดคุยกันหลายครั้งเกี่ยวกับว่าแจ็คจะยิงปืนยังไง จะเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ยังไง พวกเขายังได้ทำงานด้วยกันในส่วนของอาวุธที่สร้างขึ้นมาสำหรับ Oblivion โดยเฉพาะ แม็คควอร์รี่กล่าวว่า นี่คืออาวุธในโลกอนาคต ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวและปรับมันเพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น

ที่ปรากฏให้เห็นที่เรเว่นร็อคด้วยก็คือรถลากของเอเลี่ยน ซึ่งพวกเอเลี่ยนใช้สำหรับขนร่างแจ็คที่หมดสติอยู่ กิลฟอร์ดอธิบายว่าสิ่งแรกที่พวกนั้นต้องหาให้ได้ก็คือแผ่นเหล็ก เป็นยานพาหนะที่พวกเขาสามารถนำมาเชื่อมติดกันได้ เขากล่าวว่า เราพิจารณารถตีนตะขาบวิ่งบนหิมะและรถลากชนิดอื่นๆ เราพบรถตีนตะขาบวิ่งบนหิมะที่มีคันบังคับ เราจึงซื้อมันมาคันหนึ่งจากเวอร์มอนต์ มันเป็นรถสโนว์แค็ทคันเก่า เรานำมันกลับมาที่นี่และเริ่มชำแหละชิ้นส่วนมัน เราใช้ส่วนราง และระบบกลไกตีนตะขาบและเริ่มสร้างแท่นขึ้นบนตัวรถ ไมก์ ไมนาร์ดัส ซึ่งเป็นกูรูทางด้านสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ ได้ชำแหละรถสโนว์แค็ทนั้นออกเป็นชิ้นๆ ให้กับเรา และสร้างดาดฟ้ารถด้วยแผ่นเหล็ก

ไมนาร์ดัสและทีมงานของเขายังได้สร้างรถที่มีลักษณะเหมือนรถถัง ที่ติดตั้งปืนกลเอ็มเคไว้สองกระบอก กับตัวบรรจุกระสุน 50 นัดที่สามารถยิงได้ครั้งเดียวถึง 100 นัด รถตีนตะขาบนี้จะมีตัวยิงระเบิดเอ็มเค 19 พร้อมด้วยระเบิดขนาด 40 ม.ม. ป้อมปืนบนรถ และระบบไฮโดรลิคทำให้เป็นไปได้ที่จะขึ้นและลงและวิ่งไปในทุกทิศทาง นี่คือเครื่องจักรสังหารโดยแท้

 

ความแม่นยำเหนือมนุษย์:

การควบคุมกล้องบิน

 

Oblivion ได้รับเกียรติด้วยการเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปิดตัวฉายในโรงภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยกล้องซีนอัลต้า เอฟ 65 ของโซนี่ ซึ่งเป็นกล้องเอ้าต์พุท 4 เค ที่ให้รายละเอียดภาพคมชัดมากเป็นพิเศษผ่านระบบปฏิบัติการของชิพ 8K โคซินสกี้ที่รู้ว่าเขาจะไปถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ในไอซ์แลนด์ เลือกใช้กล้องชนิดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อเก็บภาพจากโลเกชั่นที่น่าตื่นตานี้เท่านั้น แต่ตัวกล้องยังให้ผลลัพธ์เป็นภาพที่มีสีสันที่เหมือนจริง โคซินสกี้หัวเราะ มันถูกเปิดตัวออกมาจากสายการผลิตเพียงแค่ไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่เราจะเริ่มต้นงานถ่ายทำกัน

ด้วยความละเอียดสูงของกล้องรุ่นนี้ทำให้ผู้กำกับโคซินสกี้ได้ทุกสิ่งที่เขาต้องการ โคซินสกี้เล่าว่า หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่ผมเลือกกล้องที่เราใช้กันอยู่นี้ ก็คือ มันมีเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดสูงมาก มันให้ภาพฟุตเตทระดับ 4K ซึ่งมีความละเอียดมากกว่ากล้องดิจิตอลที่มีใช้กันอยู่มากถึง 4 เท่า และยังมีระดับความคมและรายละเอียดที่คุณไม่เพียงแต่สามารถมองเห็นประกายแสงในดวงตาของนักแสดงเท่านั้น แต่ยังมองเห็นรายละเอียดของภาพที่สะท้อนกลับมาด้วย ผมรู้ดีว่ารายละเอียดของภาพวิวทิวทัศน์ในไอซ์แลนด์จะถูกบันทึกภาพเอาไว้ในแบบที่น่าตื่นตาที่สุดด้วยกล้องตัวนี้ และจะต้องดูดีที่สุดเมื่อขึ้นจอใหญ่

ในฉากแจ้งกลางของเรเว่นร็อค และฉากจุดตกของยานโอดิสซี่ ตั้งอยู่ที่ถนนฮูเปอร์ในบาตันรู้จ ที่นั่นมีการใช้กล้องบินได้ที่มีลักษณะพิเศษ กล้องบินที่มีน้ำหนักประมาณ 125 ปอนด์ เป็นการผสมผสานระหว่างหัวเข็มทิศ กล้องความละเอียดสูง และเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ควบคุมโดยทีมงานห้าคนผ่านระบบรีโมทไร้สายที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

กล้องบินได้ทำให้ได้มุมมองที่เป็นอิสระและการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถทำได้ด้วยกล้องที่เชื่อมต่อด้วยสลิง กับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion กล้องชนิดนี้ทำให้ได้ชอตภาพที่เป็นมุมมองจากดรอนที่กำลังขึ้นบิน และยังได้ความเร็วและชอตภาพที่มีความมั่นคงขึ้นด้วย เอ็มมานูเอล พรีวินแนร์ จากทีมควบคุมระบบกล้องบิน อธิบายว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องของการควบคุมหุ่นยนต์ ดังนั้นคุณจึงมีคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมเครื่องจักรที่เป็นโมเดล คอมพิวเตอร์นี้สามารถทำงานอย่างที่คุณต้องการด้วยความถูกต้องแม่นยำในแบบที่มนุษย์ไม่มีทางทำได้

ถึงแม้จะเคยมีการใช้กล้องบินกับภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible, Harry Potter และภาพยนตร์ชุด James Bond แต่ได้มีการสร้างเทคโนโลยีขึ้นใหม่ในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Oblivion วินาทีแรกที่กล้องตัวนี้ถูกใช้ก็คือตอนที่ดรอนตัวหลักๆ หยุดทำงานและตกลงมาจากท้องฟ้า พวกมันกลิ้งลงไปตามเขาและหยุดตรงหน้าประตูบานใหญ่ของเรเว่นร็อค เทคโนโลยีนี้ทำให้โคซินสกี้สามารถจำลองชอตภาพของเหตุการณ์นี้แบบชอตต่อชอต ภายในระยะสองนิ้วของแต่ละเทก ความถูกต้องแม่นยำขนาดนี้คือสิ่งที่ทีมที่สำนักงานใหญ่ของฟลายอิ้ง-แคมในยุโรปค้นคว้าและสร้างมาสักระยะแล้ว เทคโนโลยีนี้ ซึ่งผสมรวมระบบจีพีเอสและการเชื่อมโยงด้วยดาวเทียมเข้าด้วยกันกับระบบกล้องดิจิตอล เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏมาก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน

ไฮก์ กาซาเรียน แห่งทีมฟลายอิ้ง-แคม กล่าวว่า สมาชิกในทีมทุกคน และทีมวิศวกรที่เรามีในยุโรปคือนักบินและผู้ควบคุมกล้อง และทุกคนต่างฝันถึงช่วงเวลานี้กันทั้งนั้น เราได้เห็นมันเกิดขึ้นในจอมอนิเตอร์ ดังนั้นมันจึงเป็นคอนเซ็ปต์ที่โดดเด่นของเทคโนโลยีและงานถ่ายภาพที่เกิดขึ้นในฉากใหญ่ยักษ์สำหรับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion” 

 

เกินจะสร้างได้จริง:

งานวิชวลเอฟเฟ็กต์

 

ก่อนหน้านี้ บาร์บา ซึ่งเป็นวิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ เคยร่วมงานกับโคซินสกี้มาแล้วตอนสร้างภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy เขามองเป้าหมายของเขากับภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ว่าเป็นการทำให้จินตนาการของโคซินสกี้เป็นจริงขึ้นมาได้ และเพื่อให้คนดูเชื่อว่ายานบับเบิ้ลชิพสามารถบินได้จริง, สกายทาวเวอร์ตั้งอยู่บนแท่นกลางอากาศที่ความสูง 3,000 ฟุต และพวกดรอนที่สามารถบินได้ด้วยความเร็วระดับวาร์ปเพื่อไล่ล่าพวกเอเลี่ยนเก็บซาก เฮนเดอร์สันบอกว่า มีองค์ประกอบด้านวิชวลเอฟเฟ็กต์อยู่เยอะมากในการสร้างภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ อย่างไรก็ดี โจอยากได้ภาพที่ใช้งานได้จริงในกองถ่ายระหว่างการถ่ายทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เรามีสมดุลที่ดีระหว่างงานสองด้าน และพวกมันก็ช่วยเดินเรื่อง ฉะนั้นงานวิชวลเอฟเฟ็กต์จึงไม่ใช่มีแค่เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยเดินเรื่องอีกด้วย

ผู้กำกับโคซินสกี้พูดถึงโลกที่ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ของเขาได้ช่วยสร้างขึ้นมาว่า จากแง่มุมของงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราก็คือการทำให้แน่ใจว่าองค์ประกอบด้านดิจิตอลในภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการถ่ายภาพนักแสดงจริงๆ อย่างไร้รอยต่อ เพราะภาพส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในงานกล้อง เราไม่เคยอยากจะใช้งานดิจิตอลทั้งหมด ดังนั้นเมื่อดรอนบินตระเวนไปรอบๆ มันต้องให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการถ่ายทำด้วยกล้องในกองถ่ายจริงๆ

สตีฟ กั๊ก ซึ่งเป็นวิชวลเอฟเฟ็กต์ โปรดิวเซอร์ และผู้อำนวยการสร้างร่วม ได้เข้ามาร่วมงานเพื่อสร้างภาพชอตต่างๆขึ้นมาล่วงหน้า โดยร่วมมือกับโคซินสกี้ กั๊บเล่าว่า เรามีทีมพรีวิชวลไลเซชั่นที่ทำงานแอนิเมชั่นกันตั้งแต่แรกเริ่ม ยิ่งเราสามารถล็อคงานได้มากเท่าไหร่ เราก็สามารถที่จะสร้างเทมเพลทต้นแบบของงานที่เราอยากได้เมื่อต้องลงมือถ่ายทำจริงๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิคสร้างขึ้นมา และสิ่งที่เราต้องการแบบครึ่งต่อครึ่ง

ทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์จะบันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกองถ่ายเอาไว้ เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้มีเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปใช้งานได้ในระหว่างการทำงานโพสต์โปรดักชั่น (เมื่อพวกเขาสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์) ด้วยการใช้ภาพนิ่งเพื่อการอ้างอิง พวกเขาจะเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดในเรื่องของพื้นที่และการจัดแสง รวมไปถึงรายละเอียดของฉากที่มีความซับซ้อน ที่ถูกใช้ในการถ่ายทำแต่ละวัน

ศิลปินคอมพิวเตอร์ประมาณ 400 คนที่ดิจิตอล โดเมน และพิกโซมอนโด ได้อาศัยทีมวิชวลเอฟเฟ็กต์ที่อยู่ในกองถ่ายของ Oblivion เพื่อให้เก็บข้อมูลทางด้านรายละเอียดพื้นผิวและแสง เพื่อให้โมเดลสามมิติของทุกอย่างตั้งแต่ฉากจนถึงยานบับเบิ้ลชิพ จนถึงทีมนักแสดง สามารถถูกสร้างขึ้นมาเป็นชอตวิชวลเอฟเฟ็กต์ได้ แสงเงาถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อฉากแอ็กชั่นส่วนใหญ่เกิดขึ้นกลางแจ้งภายใต้แสงอาทิตย์เจิดจ้า ขณะที่ภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์จำต้องเข้ากันได้เนียนกับโลกจริงๆ อย่างไร้รอยต่อ

 

เชดสีเทา:

เสื้อผ้าของ Oblivion

 

เมื่อเธอเข้าร่วมทีม Oblivion มาร์ลีน สจ๊วร์ต ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายที่เป็นตำนาน ผู้เคยทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง JFK และ Terminator 2: Judgment Day จนถึง The Doors และ Tropic Thunder รู้ตัวดีเลยว่าเธอกำลังเซ็นสัญญาเพื่อสร้างโลกอนาคตที่มีการออกแบบเอาไว้แล้ว เธอชื่นชมที่โคซินสกี้ต้องการความงดงามสมัยใหม่ สจ๊วร์ตกล่าวว่า โจอยากให้ทุกอย่างดูเรียบง่าย ทันสมัยและต้องให้ความรู้สึกที่เน้นเทคโนโลยี หนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ก็คือโทนสีที่มีการควบคุมไว้แล้ว ต้องเป็นเชดสีเทา เราได้เรียนรู้ว่ามีเชดสีเทาอยู่ไม่จำกัด และได้สร้างชาร์ตสีเทาขึ้นมา มีครบทุกสีตั้งแต่สีเทาออกเขียว เทาออกน้ำตาล เทาอมเหลือง แต่มันก็ยังต้องอาศัยกลเม็ด เพราะคุณมีสีให้ทำงานอยู่แค่สองสามสีเท่านั้น

ชุดประจำตัวที่แจ็คต้องใส่เกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ตามที่สจ๊วร์ตบอก เป็นชุดที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้ออกมาเหมือนกับชุดของซูเปอร์ฮีโร่ เราต้องการให้ชุดออกมาให้ความรู้สึกคุ้นเคยในบางลักษณะ เป็นชุดที่เหมาะจะใส่ออกไปสู่โลกภายนอก สจ๊วร์ตและทีมของเธอใช้เนื้อผ้ากว่า 250 ชนิดและลวดลายเพื่อตัดเย็บชุดสำหรับใส่ออกลุยสภาพแวดล้อมภายนอก พวกเขาสร้างแม่พิมพ์ขึ้นมา รวมถึงแผ่นโลหะที่หน้าอก และได้ทำชิ้นส่วนที่มีความแข็งสำหรับส่วนหัวเข่าและข้อศอก ที่ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องป้องกันสำหรับแจ็ค พวกเขาใช้หมึกที่มีความหนาแน่นสูงและพิมพ์โลโก้บริษัทลงไปที่ชุดนั้น

เพราะครูซแสดงฉากสตั๊นต์ด้วยตัวเองในชุดนี้ สจ๊วร์ตจึงต้องทำให้แน่ใจว่าชุดนี้จะให้อิสระในการเคลื่อนไหวกับเขา ชุดหนัง ผ้าโพลยูรีเทน และเนื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่น ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างชุดนี้เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์และความรู้สึกแบบชุดยูนิฟอร์มของนักขับขี่โมโตครอส ที่ใช้ควบคู่กับเชดสีเทาในการทำเสื้อผ้า ชุดนี้ยังต้องถูกนำมาทำให้ดูเก่า รองเท้าบู้ทและถุงมือก็ถูกทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อจัดการกับรอยเก่าและรอยขาดที่ครูซทำให้เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำ ทำให้ต้องมีการผลิตชุดแบบเดียวกันนี้มากถึง 26 ชุดเพื่อใช้ตลอดการถ่ายทำ

สจ๊วร์ตไม่เพียงแต่จะได้พบกับความท้าทายในการออกแบบชุดให้กับแจ็ค, ไวก้า และจูเลียเท่านั้น แต่ทีมของเธอยังต้องสร้างชุดสำหรับชาวเรเว่นร็อค เอเลี่ยนเก็บซาก และผู้รอดชีวิตทั้งหลาย สจ๊วร์ตทำงานประสานอย่างใกล้ชิดกับไอร่อนเฮด สตูดิโอส์เพื่อออกแบบชุดให้กับการปฏิวัติและทำให้เหลือคนเพียงหยิบมือหลังสงครามโลก

โคซินสกี้มีภาพที่เขาคิดเอาไว้มานานแล้วว่าเสื้อผ้าของกลุ่มเอเลี่ยนเก็บซากควรจะออกมาเป็นอย่างไร เขาได้บอกแนวคิดนั้นให้กับสจ๊วร์ตและไอร่อนเฮดเพื่อสร้างชุดให้กับเอเลี่ยนเก็บซากสิบตัว และยังมีชุดสำหรับบีชและไซก์สอีกด้วย ชุดแต่ละชุดประกอบไปด้วยชิ้นส่วน 25 ชิ้น มีสามถึงสี่ชั้น และมีระบบความเย็นหมุนเวียนอยู่ภายใน เสื้อผ้าด้านในสุดทำจากผ้าคอตต้อน เพื่อให้ทีมนักแสดงไม่รู้สึกว่าร้อนจนเกินไป และต้องใช้เวลานานกว่า 30 นาทีในการแต่งตัวให้กับเอเลี่ยนเก็บซากแต่ละตัว อันที่จริง ชิ้นส่วนเหล่านี้แต่ละชิ้นถูกย้อมและทำให้เก่าเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในฉาก จนถึงรองเท้าบู้ททรงทหารสีดำ

นอกจากเสื้อผ้าสำหรับคนในฉากเรเว่นร็อคแล้ว สจ๊วร์ตยังพบความท้าทายด้วยการต้องเตรียมเสื้อผ้าลุคใหม่ให้กับผู้รอดชีวิตมากกว่า 100 คน สจ๊วร์ตออกแบบชุดโดยครุ่นคิดถึงวัสดุที่อาจพอหาได้ในยุคสิ้นโลก วัตถุต่างๆ ที่ถูกทิ้งอยู่รอบๆ คือสิ่งที่ถูกนำมาประกอบเข้ากันเป็นเสื้อผ้า

 

ซาวน์แทร็คประกอบฉากหลังสิ้นโลก:

งานดนตรีของ M83

 

เมื่อโคซินสกี้เขียนเรื่อง Oblivion ขึ้นมาในปี 2005 เขาได้ทำรายชื่อซาวน์แทร็คจากคนที่ถือว่าเป็นมันสมองของ M83 เขาผู้นั้นก็คือแอนโธนี่ กอนซาเลซ เขารู้สึกว่า M83 คือศิลปินที่มีงานดนตรีที่เหมาะกับเรื่องที่เขาพยายามเล่า และรู้ดีว่าเมื่อเขาจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไหร่ งานดนตรีของเขาควรจะเป็นเช่นไร 

ศิลปินชาวฝรั่งเศส ผู้ออกเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกพร้อมกับวงดนตรีต่างๆ ตั้งแต่ Depeche Mode และ The Killers จนถึง Kings of Leon ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2001 และเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งจะมีอัลบั้มดับเบิ้ลดิสก์แรกที่ชื่อ  “Hurry Up, We’re Dreaming” ออกมาเป็นผลงานลำดับที่ 6 ผู้กำกับโคซินสกี้กล่าวว่า ดนตรีของเขาไม่เพียงแต่ก้าวล้ำนำหน้า แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความรู้สึก ซึ่งเหมาะกับภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมาก

ด้วยการร่วมมือกับโจเฟซฟ ทราพานีส ผู้ควบคุมงานดนตรีออร์เคสตร้าให้กับโคซินสกี้ในภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy พวกเขาได้แต่งงานดนตรีซาวน์สเคปส์ที่ทำให้ Oblivion มีความแปลกและแตกต่างออกไป และเข้ากับภาพและฉากแอ็กชั่นทั้งหลาย โคซินสกี้กล่าวว่า มันเป็นงานดนตรีแนวไฮบริด มีงานอีเลคทรอนิคและเสียงกลองที่คุณอาจไม่เคยได้ยินจากงานดนตรีของ M83 แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีวงออสเครตร้าและวงประสานเสียงแบบเต็มวง การนำเอาองค์ประกอบที่แตกต่างกันมาไว้ด้วยกันจนกลายเป็นงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนดึงดูดเข้าหากันสำหรับภาพยนตร์ของเรา คือส่วนที่สนุกของขั้นตอนการทำงาน และมันผสมผสานเข้ากันอย่างงดงาม ให้เสียงดนตรีที่ฟังดูโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งคือสิ่งที่ผมต้องการสำหรับภาพยนตร์ที่ไม่เหมือนใครเรื่องนี้

M83 ได้พูดถึงความสนใจที่เขามีต่อการร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ว่า ผมอยากจะทำซาวน์แทร็คมานานแล้ว ดังนั้นการเริ่มต้นทำงานกับภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยานเช่นนี้ ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก โจกับผมเริ่มต้นทำงานในโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน และเราเริ่มพูดคุยกันถึงไอเดียต่างๆ สำหรับงานดนตรีประกอบ ดังนั้นผมเลยเริ่มหลงใหลในภาพยนตร์แนวไซไฟและงานซาวน์แทร็ค  ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีภาพยนตร์หลายเรื่องทาบทามให้ M83 ทำดนตรีประกอบให้มาแล้ว แต่เขายังไม่ตกลงปลงใจกับเจ้าไหน ผมไม่เคยได้มีโอกาสตกหลุมรักบทภาพยนตร์เรื่องไหนอย่างที่ผมรู้สึกกับ Oblivion มาก่อน ผมรู้สึกผูกพันกับเรื่องนี้ และรู้สึกได้ถึงอิทธิพลของโจในฐานะของคนทำหนัง ผมพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นงานด้านนี้

ทีมผู้อำนวยการสร้างก็รู้สึกพอใจกับการตัดสินใจเลือกของเขา คล๊าร์กกล่าวว่า แอนโธนี่ กอนซาเลซคือคนที่โจติดตามผลงานมาสักระยะแล้ว ทุกอัลบั้มเพลงที่ M83 ทำออกมาก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการเตรียมตัวมาเพื่อ  Oblivion ตัวโจเองก็เป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์อยู่แล้ว นี่คือการจับคู่ที่เหมือนกับสวรรค์ส่งมาเลยทีเดียว

****

การถ่ายทำปิดกล้องลงในช่วงฤดูร้อนของปี 2012 ที่จูนเลก ในแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งถ้ำเครเตอร์เลกของแจ็ค ที่เขาใช้เป็นที่หลบลี้จากสกายทาวเวอร์ ถูกสร้างขึ้น ที่นั่น แจ็คได้เก็บสะสมสิ่งของซึ่งเป็นของที่ระลึกถึงอดีตเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ของสะสมที่เขาพบในร้านขายของที่ระลึกที่ตึกเอ็มไพร์สเตท จนถึงหนังสือต่างๆ ที่เขาเก็บมาจากห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก แจ็คได้สร้างบ้านขึ้นมา กลางหุบเขาแห่งนี้ ทีมนักแสดงและทีมงานใช้เวลาห้าวัน ณ โลเกชั่นที่ตั้งอยู่ที่บึงน้ำอันห่างไกลที่รายล้อมด้วยเนินหญ้า และที่นี่เองเป็นที่ตั้งของกระท่อมพักผ่อนหลายหลังที่ย้อนกลับไปในสมัยต้นศตวรรษที่ 20 รวมถึงกระท่อมหลังที่เคยเป็นของผู้กำกับ แฟรง คาปรา ผู้ล่วงลับไปแล้วแห่งทศวรรษ 1930 ทุกวันนี้ ลูกหลานของเขาก็ยังคงมาพักผ่อนที่นี่อยู่เป็นประจำ

****

          ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับรีเลทิวิตี้ มีเดีย ผลงานการสร้างของ เชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์/ โมโนลิธ พิคเจอร์ส/ เรดิคัล สตูดิโอส์ ผลงานภาพยนตร์ของ โจเซฟ โคซินสกี้ โดยมี ทอม ครูซ แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Oblivion ซึ่งร่วมนำแสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน, โอลก้า คูรีเลนโก้, แอนเดรีย ไรส์โบโรห์, นิโคลัจ คอสเตอร์-วัลเดา และเมลิสซ่า ลีโอ งานดนตรีประกอบของภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัยเรื่องนี้เป็นฝีมือของ M83 และดนตรีประกอบแต่งโดย แอนโธนี่ กอนซาเลซ และโจเซฟ ทราพานีส ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ มาร์ลีน สจ๊วร์ต และผู้ลำดับภาพ ได้แก่ ริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ, เอซีอี โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ ดาร์เรน กิลฟอร์ด และผู้กำกับภาพ ได้แก่ คลาวดิโอ มิแรนด้า, เอเอสซี ทีมผู้อำนวยการสร้างบริหารของ Oblivion ได้แก่ เดฟ มอร์ริสัน, เจสซี่ เบอร์เกอร์, จัสติน สปริงเกอร์ ภาพยนตร์เอพิคเรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย โจเซฟ โคซินสกี้, ปีเตอร์ เชอร์นิน, ดิแลน คล๊าร์ก, แบร์รี่ ลีไวน์ และดันแคน เฮนเดอร์สัน โดยอิงเรื่องจากนิยายภาพที่คิดสร้างเรื่องโดย โจเซฟ โคซินสกี้ จากการเขียนบทภาพยนตร์โดย คาร์ล กัจดูเซ็ก และไมเคิล เดอบรูน Oblivion กำกับโดย โจเซฟ โคซินสกี้  © 2013 Universal Studios.  www.oblivionmovie.com

 

ประวัตินักแสดง

 

ทอม ครูซ (TOM CRUISE) รับบท แจ็ค

ทอม ครูซ ถือว่าเป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จเกินหน้าใครๆ และยังเป็นผู้อำนวยการสร้างที่ทำงานมาตลอดสามทศวรรษ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 ครั้ง และได้รับรางวัลลูกโลกทองคำมาแล้วถึง 3 รางวัล ผลงานภาพยนตร์ของเขาทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า 8 พันล้าน ภาพยนตร์ของครูซมากถึง 17 เรื่องทำรายได้ในอเมริกาเกินกว่า $100 ล้าน และมีมากกว่า 19 เรื่องที่ทำรายได้จากทั่วโลกมากเกินกว่า $200 ล้าน

นับแต่เขาได้ขึ้นจอครั้งแรกในภาพยนตร์อย่าง Endless Love และ Taps ในปี 1981 ความสามารถที่หลากหลายของครูซมีให้เห็นประจักษ์แก่สายตาในภาพยนตร์และบทบาทที่หลากหลายที่เขาเลือกแสดง เขาแสดงนำในภาพยนตร์ 37 เรื่อง ซึ่ง17 เรื่องเขาเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย เขายังได้ทำงานกับผู้กำกับแถวหน้ามากมาย อาทิเช่น แฮโรลด์ เบ็คเกอร์, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า,พอล บริคแมน, ริดลี่ย์ สก็อตต์, โทนี่ สก็อตต์, มาร์ติน สกอร์เซซี่, แบร์รี่ เลอวินสัน, โอลิเวอร์ สโตน, รอน ฮาวเวิร์ด, ร็อบ ไรเนอร์, ซิดนี่ย์ พอลแล็ค, นีล จอร์แดน, ไบรอัน เดอ พัลม่า, คาเมรอน โครว์, สแตนลีย์ คูบริค, พอล โธมัส แอนเดอร์สัน, จอห์น วู,สตีเว่น สปีลเบิร์ก, ไมเคิล มานน์, เจเจ อับรามส์, โรเบิร์ด เร็ดฟอร์ด, เบน สติลเลอร์, ไบรอัน ซิงเกอร์, เจมส์ แมนโกลด์, แบร็ด เบิร์ด, อดัม แชงแมน, คริสโตเฟอร์ แม็คควอร์รี่, โจเซฟ โคซินสกี้ และดั๊ก ไลแมน

Mission: Impossible—Ghost Protocol เปิดตัวฉายในเดือนธันวาคม ปี 2011 โดยได้รับคำวิจารณ์ชื่นมและทำรายได้จากทั่วโลกไปเกือบ $700 ล้าน กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติการทำงานของครูซ

เมื่อเร็วๆ นี้ ครูซแสดงนำในภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ คริสโตเฟอร์ แม็คควอร์รี่ เรื่อง Jack Reacher ซึ่งสร้างจากหนังสือของ ลี ไชลด์ เรื่อง “One Shot” ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $200 ล้าน และปัจจุบัน เขาอยู่ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์ไซไฟแอ็กชั่น เรื่อง All You Need Is Kill ซึ่งกำกับโดย ดั๊ก ไลแมน โดยมีกำหนดเปิดตัวฉายในเดือนมีนาคม 2014

ในช่วงซัมเมอร์ ปี 2012 ครูซได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเมื่อเขารับบทเป็นร็อคสตาร์ สเตซี่ แจ็กซ์ ในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Rock of Ages ในปี 2010 ครูซแสดงนำร่วมกับ คาเมรอน ดิแอซ ในภาพยนตร์ตลกโรแมนติค แอ็กชั่น เรื่อง Knight and Day ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องต่อมาของเขาหลังจากภาพยนตร์ปี  2008 เรื่อง Valkyrie ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $200 ล้าน และในปี 2008 ครูซยังร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ เบน สติลเลอร์ เรื่อง Tropic Thunder  ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำให้เขาได้รับคำชมและยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำเป็นครั้งที่ 7 ด้วย

ครูซได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Born on the Fourth of July และ Jerry Maguire และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Magnolia เขายังได้รับสองรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Born on the Fourth of July และ Jerry Maguire และได้รับรางวัลในสาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Magnolia และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง Risky Business, A Few Good Men, The Last Samurai  และ Tropic Thunder

ผลงานบทบาทการแสดงอันน่าประทับใจของยังรวมถึงภาพยนตร์ที่หลากหลายอย่าง Collateral, Minority Report, Interview With the Vampire, The Firm, Rain Man, The Color of Money และ Top Gun

 

มอร์แกน ฟรีแมน (MORGAN FREEMAN) รับบทบีช

มอร์แกน ฟรีแมน นักแสดงชายเจ้าของรางวัลออสการ์ คือหนึ่งในบุคคลที่เป็นที่รู้จักและจดจำมากที่สุดในวงการภาพยนตร์อเมริกัน ผลงานของเขาทั้งได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมและประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ฟรีแมนคือนักแสดงในลำดับที่10 ในการจัดอันดับนักแสดงที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของโลก ผลงานของเขาทั้งหมดสามารถทำยอดขายตั๋วได้มากกว่า $3 พันล้าน

ฟรีแมนได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2005 ในสาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Million Dollar Baby และในปี 1990 เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำจากภาพยนตร์เรื่อง Driving Miss Daisy ฟรีแมนยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1988 ในสาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Street Smart และในปี 1995 สาขาดารานำชายยอดเยี่ยมจาก The Shawshank Redemption

ในปี 2009 ฟรีแมนได้รับรางวัลจาก National Board of Review Award สาขาดารานำชายยอดเยี่ยม จากบท เนลสัน แมนเดล่า จากภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมเรื่อง Invictus ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานการสร้างของบริษัท เรฟเวอเรชั่น เอนเตอร์เทนเม้นต์ บริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งในปี 1996 โดยผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของบริษัทนี้ยังได้แก่ Levity, Under Suspicion, Mutiny, Bopha!, Along Came a Spider, Feast of Love, 10 Items or Less และ The Maiden Heist

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟรีแมนแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight Rises ภาคที่ 3 ของภาพยนตร์ Batman ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน และยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ ร็อบ ไรเนอร์ เรื่อง The Magic of Belle Isle

ผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ของฟรีแมน ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ซัมมิท เอนเตอร์เทนเม้นต์ เรื่อง Now You See Me, ภาพยนตร์ตลกของซีบีเอส ฟิล์มส์ เรื่อง Last Vegas, ภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ของ มิลเลนเนียม ฟิล์มส์ เรื่อง Olympus Has Fallen และภาพยนตร์ผจญภัยแอ็กชั่นของ คาซูอากิ คิริยะ เรื่อง The Last Knights เขายังจะให้เสียงพากย์แก่ตัวละครในภาพยนตร์แอนิเมชั่นผสมคนแสดงของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง LEGO: The Piece of Resistance

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของฟรีแมน ได้แก่ Dolphin Tale, Born to be Wild 3D, The Dark KnightThe Bucket List, Glory, Clean and Sober, Lean on Me, Robin Hood: Prince of Thieves, Unforgiven, Se7en, Kiss the Girls, Amistad, Deep Impact, Nurse Betty, The Sum of All Fears, Bruce Almighty, Coriolanus, Attica, Brubaker, Eyewitness, Death of a Prophet และ Along Came a Spider เขายังเป็นผู้ให้เสียงบรรยายแก่ภาพยนตร์สารคดีที่คว้ารางวัลออสการ์ถึง 2 เรื่อง ได้แก่ The Long Way Home และ March of the Penguins

 

 

โอลก้า คูรีเลนโก้ (OLGA KURYLENKO) รับบท จูเลีย

โอลก้า คูรีเลนโก้ คือนักแสดงหญิงที่ทั้งสวยและดูน่าตื่นเต้น เมื่อเร็วๆ นี้ คูรีเลนโก้เพิ่งจะปิดกล้องซีรีส์ทางทีวีที่ได้รับคำชมเรื่อง Magic City ซึ่งสร้างฉายมาเป็นซีซั่นที่ 2 แล้ว

ในปี  2013 คูรีเลนโก้ยังมีผลงานภาพยนตร์อีกเรื่อง ได้แก่ To the Wonder ซึ่งกำกับโดย เทอร์เรนซ์ มาลิค โดยเธอร่วมแสดงกับ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม, เบน แอฟเฟล็ค และเรเชล แม็คอดัมส์

คูรีเลนโก้ยังจะได้ร่วมแสดงกับ แอรอน เฮ็คฮาร์ต ในภาพยนตร์เรื่อง Erased

ในช่วงปลายปี 2012 คูรีเลนโก้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Seven Psychopaths โดยประกบบทกับ โคลิน ฟาร์เรลล์, แซม ร็อคเวลล์, วูดี้ ฮาร์เรลสัน, คริสโตเฟอร์ วอลเก้น, ทอม เว็ทส์ และแอ๊บบี้ คอร์นิช 

ในปี 2011 คูรีเลนโก้รับบทนำหญิงในภาพยนตร์ของ โรแลนด์ จอฟฟี่ เรื่อง There Be Dragons และภาพยนตร์ของ ไมเคิล โบกานิม เรื่อง Land of Oblivion ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหายนะนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล

คูรีเลนโก้เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปี 2008 เมื่อเธอแสดงนำร่วมกับ แดเนียล เคร็ก ในภาพยนตร์ เจมส์  บอนด์ ตอน Quantum of Solace ซึ่งกำกับโดย มาร์ค ฟอร์สเตอร์

คูรีเลนโก้รับบทแสดงในภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกในภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดย ลุค เบสซง ที่สร้างจากนิยายภาพเรื่อง “Hitman”  และในปี 2008 เธอแสดงนำร่วมกับ มาร์ก วอห์ลเบิร์ก ในภาพยนตร์เรื่อง Max Payne ในปี 2010 เธอร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ นีล มาร์แชลล์ เรื่อง Centurion ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ โดมินิค เวสต์ และไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์

 

แอนเดรีย ไรส์โบโรห์ (ANDREA RISEBOROUGH) รับบท วิคตอเรีย

แอนเดรีย ไรส์โบโรห์เริ่มต้นงานแสดงด้วยการละครเวทีเรื่อง Riding England Sidesaddle และผ่านงานแสดงละครเวทีมาอย่างโชกโชน ก่อนที่จะเริ่มก้าวเข้าสู่งานแสดงภาพยนตร์ด้วยการร่วมแสดงในภาพยนตร์ของยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Magicians

          เพราะได้เห็นการแสดงของไรส์โบโรห์ที่โรงละครเนชั่นแนลเธียเตอร์ ผู้กำกับ ไมก์ ลีห์ จึงมอบบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Happy-Go-Lucky ให้กับเธอ

ไรส์โบโรห์ยังรับบทเป็น มาร์กาเร็ท แธ็ทเชอร์ ในผลงานภาพยนตร์ของบีบีซี เรื่อง Margaret Thatcher: The Long Walk to Finchley ซึ่งออกอากาศทางทีวีในปี 2008 จนเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Television BAFTRA

ในปี 2010 จนถึงต้นปี 2011 ไรส์โบโรห์มีผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ Made in Dagenham เรื่องจริงที่กำกับโดย ไนเจล โคล (Calendar Girls) ซึ่งเธอรับบทเป็นผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานของฟอร์ด และเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ค่าแรงที่เท่าเทียมกัน

เธอยังรับบท พนักงานเสิร์ฟ ในภาพยนตร์รีเมกของ โรวาน จอฟฟี่ เรื่อง Brighton Rock ซึ่งการแสดงของเธอได้รับคำชมอย่างท่วมท้นที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต้ในปี 2010

ในปี 2011 ไรส์โบโรห์แสดงนำในภาพยนตร์ของมาดอนน่าเรื่อง W.E. เธอยังประกบบทกับ ไมเคิล ชีน ในภาพยนตร์เรื่อง Resistance

          ในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ ไรส์โบโรห์จะมีบทบาทการแสดงนำร่วมกับ ไคลฟ์ โอเว่น ในภาพยนตร์เรื่อง Shadow Dancer เธอยังมีผลงานภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เปิดตัวฉายในปีนี้ อาทิเช่น Welcome to the Punch ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เจมส์ แม็คอาวอย ซึ่งเปิดตัวฉายไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม และ Disconnect ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เจสัน เบทแมน และอเล็กซานเดอร์ สการ์สการ์ด เธอยังจะร่วมแสดงกับสการ์สการ์ดในภาพยนตร์ของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง Hidden

 

นิโคลัจ คอสเตอร์-วัลเดา (NIKOLAJ COSTER-WALDAU) รับบท ไซก์ส

เมื่อเร็วๆ นี้ นิโคลัส คอสเตอร์-วัลเดาแสดงนำร่วมกับ เจสซิก้า แชสเทน ในภาพยนตร์ทริลเลอร์เหนือธรรมชาติของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Mama ซึ่งอำนวยการสร้างบริหารโดย กีลเลอร์โม่ เดล โทโร่

เขายังเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์อินดี้ เรื่อง A Thousand Times Good Night ซึ่งเขาแสดงนำร่วมกับ จูเลียต บีนอช

หลังจากสร้างชื่อในแวดวงภาพยนตร์ยุโรปมาแล้ว คอสเตอร์-วัลเดาเริ่มหันมาสร้างชื่อในแวดวงภาพยนตร์อเมริกันบ้าง ในปี 2001 เขาเริ่มต้นด้วยการสาดงภาพยนตร์ที่ได้รับทั้งคำชมและได้รับรางวัลออสการ์ของผู้กำกับ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่อง Black Hawk Down จากนั้น เขารับบทนำในภาพนตร์ของ ไมเคิล เอ็ปเต็ด เรื่อง Enigma โดยร่วมแสดงกับ เคท วินสเลท, ดักเรย์ สก็อตต์ และแซฟฟรอน เบอร์โรว์ส

ริดลี่ย์ สก็อตต์ ยังเลือกเขาให้กลับมาร่วมงานด้วยกันอีกครั้งในภาพยนตร์เอพิค ปี 2005 เรื่อง Kingdom of Heaven ซึ่งนำแสดงโดย ออร์แลนโด้ บลูม, เลียม นีสัน และอีวา กรีน นอกจากนี้ ริชาร์ด ลอนเครน ที่เคยเลือกให้คอสเตอร์-วัลเดา ร่วมแสดงในภาพยนตร์ปี 2004 ของเขาเรื่อง Wimbledon ยังเรียกใช้บริการของเขาอีกครั้งในภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง Firewall ซึ่งเขาได้ร่วมแสดงกับ แฮร์ริสัน ฟอร์ด

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของคอสเตอร์-วัลเดา ได้แก่ Headhunters ซึ่งสร้างจากนิยาของ โจ เนสโบ, Blackthorn ผลงานการกำกับเรื่องแรกของนักเขียน มาทีโอ กิล และเขายังรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Nightwatch, Vildspor, Misery Harbour, På Fremmed Mark, 24 Hours in the Life of a Woman, Rembrandt และ The Bouncer

 

เมลิสซ่า ลีโอ (MELISSA LEO) รับบท แซลลี่

เมลิสซ่า ลีโอ เคยได้รับรางวัลออสการ์, รางวัลลูกโลกทองคำ และรางวัลจากสมาคมนักแสดง จากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Fighter เธอยังเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากการรับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Frozen River

ลีโอยังเคยได้รับรางวัลจาก Phoenix Film Critics Society ร่วมกับทีมนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง 21 Grams ซึ่งนำแสดงโดย เบนิซิโอ เดล โทโร่ และฌอน เพนน์

ผลงานเมื่อเร็วๆ นี้ของลีโอ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง Flight ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เดนเซล วอชิงตัน, ภาพยนตร์ใหม่เรื่อง The Butler ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ โอปราห์ วินฟรีย์ และเรื่อง Olympus Has Fallen ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ มอร์แกน  ฟรีแมน และเจอราร์ด บัตเลอร์ เธอยังจะร่วมแสดงกับ ฮิวจ์ แจ็คแมน, เจก จิลเลนฮาลและพอล ดาโน่ในภาพยนตร์เรื่อง Prisoners 

ผลงานที่โดดเด่นเรื่องอื่นๆ ของลีโอ ได้แก่ Conviction ซึ่งเธอประกบบทกับ ฮิลารี่ สแวงก์, The Three Burials of Melquiades Estrada ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ดไวท์ ยัวคัม และทอมมี่ ลี โจนส์ และเรื่อง Hide and Seek ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ โรเบิร์ต เดอ นีโร

 

 

ประวัติทีมผู้สร้าง

 

โจเซฟ โคซินสกี้ (JOSEPH KOSINSKI) – ผู้กำกับ/ ผู้คิดสร้างเรื่อง/ ผู้อำนวยการสร้าง

โจเซฟ โคซินสกี้ คือผู้กำกับที่มีสไตล์ภาพและวิธีการนำเสนอที่ทรงพลัง เขาสามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา TRON: Legacy ที่เขาสร้างให้กับวอลท์ดิสนีย์ สตูดิโอส์ ทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $400 ล้าน และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลออสการ์และรางวัลแกรมมี่

 

คาร์ล กัจดูเซ็ก (KARL GAJDUSEK) – ผู้เขียนบท

เมื่อปีที่แล้ว คาร์ล กัจดูเซ็ก ได้ร่วมสร้างและทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับผลงานของเอบีซี เรื่อง Last Resort เขายังได้ทำงานกับภาพยนตร์รีเมก เรื่อง The Mechanic และภาพยนตร์ ปี 2011 ของ เลียม นีสัน เรื่อง Unknown ผลงานในปัจจุบันของเขา ได้แก่ การดัดแปลงนิยายภาพเรื่อง “The Last Days of American Crime,” การรีไรท์บทภาพยนตร์เรื่อง Viking ให้กับผู้กำกับ บัลทาซาร์ คอร์มาเกอร์ และภาพยนตร์ของทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เรื่อง The Last Witness 

 

ปีเตอร์ เชอร์นิน (PETER CHERNIN) – ผู้อำนวยการสร้าง

ปีเตอร์ เชอร์นินคือประธานและซีอีโอของ เชอร์นิน กรุ๊ป (TCG) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์ ผู้ผลิตผลงานทางทีวีและภาพยนตร์จอเงินมากมาย ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของบริษัทนี้ ได้แก่ Rise of the Planet of the Apes ซึ่งเปิดตัวฉายในเดือนสิงหาคม ปี 2011 และทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $480 ล้าน เมื่อเร็วๆ นี้ เชอร์นินยังอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Parental Guidance ซึ่งนำแสดงโดย บิลลี่ คริสตัล และเบ็ตต์ มิดเลอร์

 

ดิแลน คล๊าร์ก (DYLAN CLARK) – ผู้อำนวยการสร้าง

ดิแลน คล๊าร์ก ก่อตั้งบริษัท ดิแลน คล๊าร์ก คัมปานี ในปี 2013 หลังจากร่วมมือกับ ปีเตอร์ เชอร์นิน เปิดแผนกภาพยนตร์ให้กับบริษัทเชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์ ในปี 2009 ผลงานภาพยนตร์สองเรื่องแรกของเขา  Rise of the Planet of the Apes และ Parental Guidance ทำรายได้ได้มหาศาล ผลงานใหม่ของพวกเขา The Heat นำแสดงโดย แซนดร้า บูลล็อค และเมลิสซ่า แม็คคาร์ธี่ จะเปิดตัวฉายเนดือนมิถุนายน ปี 2013 และภาพยนตร์เรื่อง  Dawn of the Planet of the Apes จะเริ่มต้นงานถ่ายทำในเดือนเมษายน ปี 2013

ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกับเชอร์นิน เอนเตอร์เทนเม้นต์ คล๊าร์กเคยทำงานอยู่กับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส อยู่นานแปดปี โดยเขาได้มีส่วนดูแลงานสร้างให้กับภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมมากมาย อาทิเช่น Friday Night Lights, Dawn of the Dead, Children of Men, Cinderella Man, The Good Shepherd, The Kingdom, Charlie Wilson’s War, Definitely, Maybe, Duplicity, Green Zone, Couples Retreat และ Robin Hood

         

แบร์รี่ ลีไวน์ (BARRY LEVINE) – ผู้อำนวยการสร้าง

แบร์รี่ ลีไวน์คือผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เรดิคัล สตูดิโอส์ และทำหน้าที่เป็นประธานบริษัทมาตั้งแต่ปี 2007

ก่อนหน้านี้ ลีไวน์เคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์เรื่อง Detroit Rock City ผลงานของนิวไลน์ซีนีม่า ในปี 1987 ลีไวน์ได้เริ่มต้นงานโปรดิวว์ให้กับซาวน์แทร็คของภาพยนตร์อย่างเรื่อง Driving Miss Daisy, Guilty by Suspicion, Street Fighter, Judge Dredd และ Die Hard: With a Vengeance

 

ดันแคน เฮนเดอร์สัน (DUNCAN HENDERSON) – ผู้อำนวยการสร้าง

ดันแคน เฮนเดอร์สัน เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมายจากการทำงานกับภาพยนตร์ของ ปีเตอร์ เวียร์ เรื่อง Master and Commander: The Far Side of the World

เขาเริ่มต้นเข้าวงการด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้กับภาพยนตร์มากมาย อย่างเช่น ภาพยนตร์ของ ไมเคิล ชิมิโน่ เรื่อง Heaven’s Gate; ภาพยนตร์ของ ริชาร์ด เบนจามิน เรื่อง My Favorite Year และ Racing With the Moon; ภาพยนตร์ของ ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เรื่อง Rocky IV, Rhinestone, Staying Alive และ Cobra; ภาพยนตร์ของ ปีเตอร์ ไฮม์ส เรื่อง The Star Chamber; ภาพยนตร์ของ พอล ชเรเดอร์ เรื่อง American Gigolo; ภาพยนตร์ของ จอห์น แคสซาเว็ตส์ เรื่อง Big Trouble และภาพยนตร์ของ อูลู กรอสบาร์ด เรื่อง True Confessions

เขายังเคยเป็นผู้จัดการกองถ่ายย่อยให้กับภาพยนตร์ของ ฟรานซิส เวเบอร์ เรื่อง Three Fugitives และภาพยนตร์ของ โจล ชูมัคเกอร์ เรื่อง Dying Young เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์เรื่อง G-Force; ภาพยนตร์ของ คริส โคลัมบัส เรื่อง Home Alone 2: Lost in New York และ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone; The Program และภาพยนตร์ของ เรนนี่ ฮาร์ลิน เรื่อง Deep Blue Sea เมื่อเร็วๆ นี้ เฮนเดอร์สันทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Battleship

เฮนเดอร์สันเริ่มต้นร่วมงานกับผู้กำกับชาวเยอรมัน วูล์ฟแกง ปีเตอร์เซ่น ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ทริลเลอร์ปี 1995 เรื่อง Outbreak ติดตามมาด้วยการร่วมงานด้วยกันอีกในภาพยนตร์เรื่อง The Perfect Storm และภาพยนตร์รีเมก ปี 2006 เรื่อง Poseidon ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง เขายังสนุกกับการร่วมงานกับผู้กำกับ ปีเตอร์ เวียร์ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นด้วยการร่วมงานกันในภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1989 เรื่อง Dead Poets Society ตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่อง Green Card, Master and Commander: The Far Side of the World  ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอสการ์ 10 รางวัล

เฮนเดอร์สันยังเคยทำหน้าที่เป็นรองประธานฝ่ายบริหารให้กับทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ ตั้งแต่ปี 1995 ถึง 1997 โดยเขาได้ดูแลงานสร้างให้กับภาพยนตร์มากมาย อาทิเช่น ผลงานของโรแลนด์ เอ็มเมอริช เรื่อง Independence Day, ภาพยนตร์ของ บาซ เลอห์รแมน เรื่อง William Shakespeare’s Romeo + Juliet,  ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ ทอม แฮงก์ส เรื่อง That Thing You Do!, ภาพยนตร์ของ นิโคลัส ฮิทเนอร์ เรื่อง The Crucible, ภาพยนตร์ของ ฌอน-ปิแอร์ จูเน่ต์ เรื่อง Alien: Resurrection และภาพยนตร์รางวัลออสการ์ ของ เจมส์ คาเมรอน เรื่อง  Titanic ในปี 1997

 

เดฟ มอร์ริสัน (DAVE MORRISON) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

ในปี 1994 เดฟ มอร์ริสันทำงานในตำแหน่งประธานร่วมแผนกโฆษณาของบริษัทโพรพากันด้า/ แซ็ทเทอไลท์ ฟิล์มส์ ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับ/ และเจ้าของบริษัท เดวิด ฟินเชอร์ เขายังมีส่วนร่วมในการแจ้งเกิดในแวดวงโฆษณาของผู้กำกับดังๆ อย่าง กอร์ เวอร์บินสกี้, ดังเต้ อาริโอล่า, ไมเคิล เบย์ และอเล็กซ์ โพรยาส

           มอร์ริสันยังได้ก่อตั้งบริษัท แอนโนนีมัส คอนเทนต์ ร่วมกับฟินเชอร์ และสตีฟ โกลิน ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับจากบริษัทโพรพากันด้าอีกหลายคน นอกจากนี้ เขายังฟินเชอร์ยังเป็นหัวหอกและพัฒนาภาพยนตร์โฆษณาของ BMW ซึ่งนำแสดงโดย ไคลฟ์ โอเว่น และที่นี่ ทำให้เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับแถวหน้าของวงการ อย่างเช่น อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู, กาย ริทชี่, หว่องกาไว, อังลี, เบร็ตต์ มอร์เก้น, การ์ธ เดวิส และโจเซฟ โคซินสกี้

 

เจสซี่ เบอร์เกอร์ (JESSE BERGER) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

เจสซี่ เบอร์เกอร์คือผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นรองประธานบริหารของบริษัท เรดิคัล สตูดิโอส์ ปัจจุบัน เบอร์เกอร์คือผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องภายใต้ชื่อเรดิคัล เขายังเป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ใหม่ของ เอ็มจีเอ็ม/ พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง Hercules: The Tracian Wars ซึ่งนำแสดงโดย ดเวย์น เดอะ ร็อค จอห์นสัน

 

จัสติน สปริงเกอร์  (JUSTIN SPRINGER) – ผู้อำนวยการสร้าง

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2011 จัสติน สปริงเกอร์ ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์และหนังทีวีชื่อ ซีเคร็ท แมชชีน ซึ่งตั้งอยู่ที่บริษัทวอลท์ดิสนีย์ คัมปานี เมื่อเร็วๆ นี้ เขาทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของดิสนีย์ เรื่อง Prom  และทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมให้กับภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy ซึ่งนำแสดงโดย เจฟฟ์ บริดเจส,จาร์เร็ตต์ เฮ็ดลันด์ และโอลิเวีย ไวลด์  เขายังอยู่ระหว่างพัฒนางานสร้างภาพยนตร์หลายเรื่องที่ดิสนีย์ ซึ่งรวมถึงภาคต่อของ TRON: Legacy และภาพยนตร์เรื่อง The Black Hole ผลงานรีเมกจากภาพยนตร์ปี 1979 ซึ่งโคซินสกี้จะเป็นผู้กำกับ

 

คลาวดิโอ มิแรนด้า (CLAUDIO MIRANDA, ASC) – ผู้กำกับภาพ

คลาวดิโอ มิแรนด้า คือผู้กำกับภาพและกูรูด้านงานจัดแสง เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้รับรางวัลออสการ์จากภาพยนตร์ของ อัง ลี เรื่อง Life of Pi

มิแรนด้าเคยทำงานกับโคซินสกี้ ในภาพยนตร์ปี 2010 เรื่อง TRON: Legacy และในปี 2008 เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งกำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์

 

ดาร์เรน กิลฟอร์ด (DARREN GILFORD) – โปรดักชั่นดีไซเนอร์

ก่อนหน้านี้ ดาร์เรน กิลฟอร์ดเคยร่วมงานกับโคซินสกี้มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง TRON: Legacy ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กิลฟอร์ดทำงานในตำแหน่งโปรดักชั่นดีไซเนอร์

หลังจากเรียนจบ กิลฟอร์ดเริ่มต้นทำงานในแผนกศิลปกรรม โดยทำงานเป็นศิลปินวาดสตอรี่บอร์ด ผลงานในระยะแรกๆ ของกิลฟอร์ด ได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Fire in the Sky, The Crow, Judge Dredd และ Inspector Gadget

เมื่อตอนที่เริ่มก่อตั้งบริษัทดิจิตอล โดเมนขึ้นครั้งแรกในทศวรรษ ’90 กิลฟอร์ดได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้กำกับศิลป์อาวุโส ขณะทำงานที่นั่น เขาได้ทำงานกับภาพยนตร์และโฆษณามากมาย และที่นี่เองที่กิลฟอร์ดได้ออกแบบโปรดักชั่นให้กับโฆษณาชิ้นแรกที่เขาได้ร่วมงานกับ เดวิด ฟินเชอร์ และเขายังได้ทำงานกับ เจมส์ คาเมรอน ในภาพยนตร์เรื่อง Titanic และได้ทำงานในช่วงแรกๆ กับ Avatar ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่เขาทำเอาไว้ขณะทำงานกับดิจิตอล โดเมน ก็คือ Interview With the Vampire และ The Fifth Element

กิลฟอร์ดยังทำงานในตำแหน่งศิลปินวาดภาพคอนเซ็ปต์ให้กับภาพยนตร์อย่าง Pearl Harbor, Transformers, Aeon Flux, Ocean’s Thirteen, Watchmen และ G.I. Joe: The Rise of Cobra

 

ริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ (RICHARD FRANCIS-BRUCE, ACE) – ผู้ลำดับภาพ

ริชาร์ด ฟรานซิส-บรูซ ฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพเช่นเดียวกับพ่อของเขา แจ็ค บรูซ แต่แล้วเขากลับได้ทำงานด้านการลำดับภาพที่ออสเตรเลี่ยน บรอสแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่นในซิดนี่ย์ ที่ซึ่งเขาได้ทำงานกับผู้กำกับ จอร์จ มิลเลอร์ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ได้แก่ The Dismissal, Mad Max Beyond Thunderdome, The Witches of Eastwick และ Lorenzo’s Oil

ต่อมา ฟรานซิส-บรูซ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หลายครั้ง จากภาพยนตร์ของ แฟรงก์ ดาราบองต์ เรื่อง The Shawshank Redemption, ภาพยนตร์ของ เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง Se7en และภาพยนตร์ของ วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซ่น เรื่อง Air Force One

ฟรานซิส-บรูซยังเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ACE Eddie Awards จากภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption, The Rock, Air Force One และ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ Dead Calm, Cadillac Man, Sliver, Speechless, The Green Mile, Instinct, The Perfect Storm, The Italian Job, The Forgotten, Ghost Rider, Killers และ Repo Men และ For Greater Glory: The True Story of Cristiada

 

มาร์ลีน สจ๊วร์ต (MARLENE STEWART) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

 

มาร์ลีน สจ๊วร์ตเคยร่วมงานกับผู้กำกับแถวหน้าของฮอลลีวู้ดมาแล้วมากมาย ผลงานภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเธอ ได้แก่ Hansel & Gretel: Witch Hunters ซึ่งกำกับโดย ทอมมี่ เวอร์โคล่า; Real Steel; Date Night และ Night at the Museum  ซึ่งกำกับดดย ชอว์น เลวี่; Tropic Thunder กำกับโดย เบน สติลเลอร์; Stop-Loss กำกับโดย คิมเบอร์ลี่ เพียร์ซ, The Holiday กำกับโดย แนนซี่ เมเยอร์ส, Hitch กำกับโดย แอนดี้ เทนแนนท์, 21 Grams กำกับโดย อเลฮานโดร กอนซาเลส อินาร์ริตู, Ali กำกับโดย ไมเคิล มานน์, Coyote Ugly กำกับโดย เดวิด แม็คนัลลี่, Gone in Sixty Seconds กำกับโดย โดมินิค เซน่า,  Enemy of the State กำกับโดย โทนี่ สก็อตต์, The Phantom กำกับโดย ไซม่อน วินเซอร์, True Lies กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน, JFK กำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน และ Siesta กำกับโดย แมรี่ แลมเบิร์ต

 

M83 – ดนตรีประกอบ

M83 ซึ่งก่อตั้งโดย แอนโธนี่ กอนซาเลซ (ผู้แต่งดนตรีประกอบ) ในปี 2001 ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กอนซาเลซได้เปิดตัวผลงาน 6 อัลบั้มภายใต้ชื่อ M83 ซึ่งรวมถึงอัลบั้ม “Hurry Up, We’re Dreaming” (2011) ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่

แม้จะทำงานอยู่ในฝรั่งเศสมาตลอด แต่ในปี 2009 กอนซาเลซได้ย้ายมาอยู่ลอสแอนเจลิส เพื่อรับงานภาพยนตร์และทีวี และไม่ถึงหนึ่งปีต่อมา กอนซาเลซก็ได้รับการติดต่อจาก โจเซฟ โคซินสกี้ ให้มาทำงานในผลงานภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Oblivion

 

โจเซฟ ทราพานีส (JOSEPH TRAPANESE) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ

โจเซฟ ทราพานีสชื่นชอบงานดนตรีคลาสสิกและซาวน์อิเลคทรอนิคมาตั้งแต่เด็ก จนเขาได้ฝึกฝนฝีมือในนิวยอร์ก ได้เปิดการแสดงที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ และในคอนเสิร์ฟใหญ่ๆ ของนิวยอร์ก นอกจากนี้ เขายังแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์และละครเวทีมากมาย เขาได้ร่วมงานกับศิลปินดังๆ ของวงการเพื่อทำดนตรีซาวน์แทร็คให้กับภาพยนตร์อย่าง TRON: Legacy, The Raid: Redemption และ The Bourne Legacy  

 

oblivion