วันครอบครัวของ “ต่าย อรทัย” และ “ยายทองคำ”

ต่าย ทำบุญกับยายเฒ่าในบรรดาสาวลูกทุ่งอีสาน ชื่อ “ ต่าย อรทัย” มักจะถูกจัดอยู่ในโหมด สาวเรียบร้อย ร้องเพลงเพราะ รักวัฒนธรรมพื้นถิ่น และมีความกตัญญู  จนทำให้ทุกชาร์ตของการสำรวจ หรือผลโพลต่างๆ ในหมวดศิลปินลูกทุ่งหญิง “ต่าย อรทัย” มักจะติดอยู่ในอันดับ 1 และ 2 เสมอ ถ้าจะวิเคราะห์จากเหตุผลต่างๆ ก็คงจะแยกได้ออกเป็น 2 ประเด็นคือ การแสดงออกทางด้านผลงานเพลงและการแสดงภายใต้การควบคุมของ กริช ทอมมัส และ สลา คุณวุฒิ ที่วาง Positioning ให้ต่าย อรทัย อยู่ในบทบาทของสาว ตจว. มาทำงานในเมืองหลวง เพื่อส่งเงินกลับไปบ้าน ซึ่งในชีวิตประจำวันจริงๆ ก็มีคนประเภทนี้จำนวนมากในสังคม คือสู้ดิ้นรนส่งเงินให้คนทางบ้าน ดังนั้น อีกประการหนึ่งก็คือ ชีวิตจริงของต่าย  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การวางตัว การกินการอยู่ก็ธรรมดา  เราจะเห็นต่ายในอารมณ์อยู่บ้าน ตำส้มตำ  เล่นกีฬา ผ่านโซเชี่ยลของเธอ ซึ่งเป็นภาพจริงที่ไม่ได้ผ่านการตระเตรียม ด้วย 2 เหตุผลนี้จึงทำให้ต่าย ยังอยู่ในใจของประชาชนเสมอ

กว่า 10 ปี แล้วที่สาวดอกหญ้าคนนี้บานเบ่งด้วยเสียงเพลงท่ามกลางเมืองหลวงที่เปลี่ยนไปทุกวัน สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้จากเธอก็คือ ความกตัญญู ในทุกวันเกิดของครูบาอาจารย์ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ สิ่งที่เราจะเห็นจนชินคือการ กราบขอพร รดน้ำดำหัว  มอบของขวัญ ให้กับผู้มีพระคุณเสมอๆ นอกจากพ่อกับแม่ ครูบาอาจารย์แล้ว ยังมีบุคคลหนึ่งซึ่ง “ต่าย อรทัย” รักจนสุดหัวใจ ได้แก่ “ยายเฒ่า” ที่ต่าย อรทัย เรียกจนติดปากนั่นเอง

ในทุกครั้งที่มีโอกาสไปเล่นคอนเสิร์ตแถวๆ  จังหวัดอุบลราชธานี หรือจะมีเวลาว่างแม้แต่วันเดียว ต่าย เลือกที่จะกลับบ้านที่บ้านคุ้มแสนชะนี  อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี เสมอ เพราะมีคนคอยอยู่ทุกวัน “ยายเฒ่า หรือ ยายทองคำ” เป็นยายที่เลี้ยงดูต่ายและน้องๆ อีก 3 คนมาตั้งแต่เด็กๆ ในวันนี้ ยายเฒ่าของต่าย อายุ 103 ปี แต่ยังดูแข็งแรง หน้าตาสดใส พูดจารู้เรื่อง ความจำดี กินข้าวอร่อย แม้จะเดินเหินไม่ค่อยสะดวก แต่ก็ร้องเพลงของหลานสาวได้เกือบทุกเพลง

กิจกรรมของต่ายเมื่อกลับไปหายายก็คือ ทำกับข้าวให้ยายกิน ตื่นเช้าพายายใส่บาตร อาบน้ำให้ยาย ตัดผมให้ยายเสมอๆซึ่งเป็นสิ่งที่ต่ายบอกว่า “มีความสุขเหลือเกิน ลืมความเหนื่อยล้าของการทำงานหนักในเมืองหลวงอย่างปลิดทิ้ง เพราะนอกจากการเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คำสอนของยายทุกคำในอดีตก็ติดตัว ต่าย อรทัย มาจนถึงทุกวันนี้ ยายสอนให้ต่ายเป็นคนเกรงใจคน  เห็นใจผู้อื่น ซื่อสัตย์ ประหยัด มัธยัสถ์ และขยันหมั่นเพียร

14 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นวันครอบครัว ด้วยหน้าที่การงานของ ต่าย อรทัย  ก็มักจะไม่ได้มาอยู่กับยายในวันครอบครัว แต่ยามว่างวันใด เธอจะมาหายายเสมอ อย่างในปีนี้ 2560 ต่ายก็ได้แวะมาหายาย มาอาบน้ำ รดน้ำดำหัวให้ยาย ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ต่ายเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งที่มาหายาย ยายมักจะถามเสมอว่า “เหนื่อยมากไหม” ต่าย ก็จะตอบ “ทุกครั้ง ไม่เหนื่อยเลย  ต่ายเล่าต่อว่า พอเริ่มมีชื่อเสียง พอมีเงินก็มาซ่อมแซมบ้านหลังเก่าที่ต่ายเคยอยู่ ยายก็บอกว่า บ่ต้องมาทำหรอกเสียดายเงิน ยายอยู่ได้ ต่ายก็ค่อยๆ เพิ่มเติมที่ละนิดละหน่อย ทำรั้วบ้าง เพิ่มตรงครัว  เพิ่มตรงห้องน้ำให้ยายเข้าห้องน้ำได้ง่ายขึ้น บ้านเพิ่งจะลงตัวไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ก็ภูมิใจค่ะ

ถ้าครอบครัวต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างถึงจะสมบูรณ์ สำหรับ “สาวดอกหญ้า ต่าย อรทัย” การที่เธอมี “ยายเฒ่า” รอเธออยู่ที่บ้านคุ้มแสนชะนี จ.อุบลราชธานี แล้วเธอได้กลับไปหาบ่อยๆ เพียงแค่นี้คือสิ่งที่ ต่าย อรทัย เรียกว่า “ครอบครัว” ได้อย่างเต็มปาก