เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ ร่วมกับ กระดาษเช็ดหน้าคลีเน็กซ์ สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาชุด “#อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ” หยิบประเด็นสังคมเรื่องการถูกรังแกในวัยเด็ก (Bully) ผ่านเรื่องจริงจาก “ริกะ อิชิเกะ” นักกีฬา Martial Arts หญิงมืออาชีพของไทย ผ่านฝีมือการกำกับของผู้กำกับพันล้าน “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ”
80% ของเด็กไทยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง
45% ของเด็กไทยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งติดอันดับ Top 5 ของโลก
เลขจำนวนนี้ชี้ให้เห็นว่า การกลั่นแกล้ง (Bully) อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แล้วปัญหานี้ควรจะถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของช่วงวัยนี้หรือเปล่า?
ประสบการณ์ในวัยเด็กเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเด็กคนนั้นว่าจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบใด โลกของเด็กที่มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งหรือถูก Bully ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการรังแกทางร่างกาย เช่น การดึงผม โดนผลัก หรือการข่มขู่ด้วยอุปกรณ์ ทางคำพูด เช่น การดูถูกเหยียดหยาม การล้อเลียนลักษณะภายนอก หรือการรังแกผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงทางอารมณ์ อย่างการถูกกีดกันออกจากกลุ่มเพื่อน ทำเหมือนไม่มีตัวตน การกลั่นแกล้งลักษณะนี้ นอกจากอาจทำให้เกิดบาดแผลทางกายแล้ว สิ่งที่รุนแรงกว่านั้นคือบาดแผลในจิตใจที่ส่งผลให้เด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ มีอารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล จนทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แยกตัวออกจากสังคม ไม่อยากไปโรงเรียนซึ่งอาจทำให้ผลการเรียนตกต่ำลง หรือต้องออกจากโรงเรียน มีพฤติกรรมการกิน การนอนผิดปกติ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมที่ชอบ ขั้นร้ายแรงคือการบรรเทาสภาพจิตใจตัวเองในวิธีที่ผิดอย่างการใช้สารเสพติด และทำร้ายตัวเองหรือไปจนถึงฆ่าตัวตายได้ โดยบาดแผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจยังคงฝังลึกเป็นแผลเป็นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นเสียเองได้ในอนาคต
…นี่คือปัญหาใหญ่ของทั้งสังคมไทยและสังคมโลกที่ “ผู้ใหญ่” มักมองข้าม เพราะคิดว่า การกลั่นแกล้ง เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ
การยุติปัญหานี้ นอกจากผู้ใหญ่และคนรอบตัวของเด็กที่ถูกรังแกจะร่วมช่วยกันป้องกันแล้ว ตัวเด็กเองก็ต้องมีพลังมากพอที่จะลุกขึ้นปกป้องตัวเองด้วยเช่นกัน โดย เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ ร่วมกับ กระดาษเช็ดหน้าคลีเน็กซ์ สกินแคร์ สร้างสรรค์ภาพยนตร์โฆษณาชุด “#อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ (#GentleNotWeak)” ที่ต้องการปลุกความอ่อนโยนให้เป็นพลัง เล่าผ่านเรื่องจริงจาก “ริกะ อิชิเกะ” ที่ก้าวผ่านประสบการณ์ถูกรังแกในวัยเด็ก สู่การเป็นนักมวยหญิงมืออาชีพของไทย ด้วยฝีมือการกำกับของผู้กำกับพันล้าน “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ”
คุณพีท - ทสร บุณยเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) บริษัท เจ. วอลเตอร์
ธอมสัน ประเทศไทย หัวเรือฝ่ายสร้างสรรค์ เล่าว่า “ประเด็นเรื่องการ Bully กำลังเป็นประเด็นที่สังคมควรให้ความสนใจ เพราะมันเกิดกับเด็กแทบทุกคนในวัยเรียน ไม่มากก็น้อย สำหรับภาพยนตร์โฆษณา #อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ มีต้นกำเนิดมาจากไอเดียที่ว่า ‘Every mistakes shape the best of you’ ทุกความการแต่งหน้า ทุกความผิดพลาด ทำให้เราเจอเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเอง พัฒนากันไปเรื่อยๆ จนได้คำว่า “For those who pursue for the best” สำหรับคนที่ต้องการไปให้สุด เช่นเดียวกับ กระดาษเช็ดหน้าคลีเน็กซ์ สกินแคร์ ทิชชู่ที่เหมาะกับการดูแลผิวหน้าผู้หญิงที่สุด โปรดักนี้จึงตอบโจทย์และตอบใจคอนซูเมอร์ กับประโยคที่สรุปไอเดียง่ายๆว่า “อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ” ซึ่งมันสามารถมีความหมายได้สองนัยยะ นัยยะแรกคือคุณสมบัติและจุดเด่นของกระดาษเช็ดหน้าตัวนี้ อีกนัยยะนึง มันคือชีวิตจริงของผู้หญิงที่เจอความหยาบกระด้างของชีวิตแต่ก็ผ่านมันมาได้ เราจึงทำการบ้านหาเรื่องราวของตัวละครกัน จนทีมคุณบาสมาเจอ ริกะ อิชิเกะ ซึ่งเข้ากับโจทย์มากๆ
ริกะ อิชิเกะ ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น นักกีฬาศิลปะการป้องกันตัว (Martial arts) ระดับมืออาชีพ จาก ONE Championship เจ้าของฉายา Tinydoll ผู้เป็นแรงบันดาลให้กับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์โฆษณา #อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เล่าประสบการณ์การถูกรังแกในวัยเด็กให้ฟังว่า “ด้วยความที่เป็นเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นในโรงเรียนไทยเลยเป็นเป้าสายตา ตอนเด็กๆ มักจะถูกแกล้ง ถูกล้อ ถูกทำร้ายสารพัด หลังจากนั้นเราจึงคิดได้ว่าเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกรังแกอีก จึงเริ่มฝึกฝนศิลปะป้องกันตัว แต่แล้วก็ยังถูกครูฝึกและคนอื่นๆสบประมาทอยู่อีก แต่เราก็ตั้งใจใช้แรงผลักดันจากภายในตัวเองฮึดสู้ การตัดสินใจเริ่มฝึกฝนในวันนั้นนอกจากจะทำให้ริกะก้าวข้ามอุปสรรคจากการถูกรังแกแล้ว ยังส่งผลให้ก้าวเข้ามาเป็นนักกีฬาศิลปะป้องกันตัวหญิงมืออาชีพ ในสังกัด ONE Championship ได้อย่างในปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆคนลุกขึ้นมาเรียนศิลปะการป้องกันตัว และที่สำคัญยังทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย”
ด้าน คุณบาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา #อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ กล่าวว่า “การตอบสนองความรุนแรงด้วยความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป แต่การตอบสนองความรุนแรงด้วยความอ่อนโยนกลับได้ผลดี ทั้งต่อกับตนเอง และยังมีส่วนในการตัดวงจรความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย เรื่องราวของน้องริกะจึงเป็นหนึ่งในเคสตัวอย่างที่ดีที่ไม่สลัดทิ้งความอ่อนโยนของตัวเอง แต่ยังคงความอ่อนโยนไว้เป็นเปลือกนอก แล้วใช้เป็นแรงผลักดันในการปลุกความแข็งแกร่งของตัวเองจากภายในออกมาเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในชีวิตที่เจอ ซึ่งเป็นเป้าหมายของภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กที่เผชิญการถูกรังแกทุกคนที่เป็นเหมือนน้องริกะ ดังนั้นเราอย่าปล่อยให้เด็กๆ ต่อสู้กับเรื่องนี้ด้วยตัวเองตามลำพัง”
ชมภาพยนตร์ชุด #อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ได้ที่…
https://www.facebook.com/KleenexTH/videos/879859212192634/