เรื่องย่อ
Only God Forgives เป็นเรื่องราวของ “จูเลี่ยน” (ไรอัน กอสลิ่ง) ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ เขาและน้องชาย “บิลลี่” (ทอม เบิร์ค) เปิดค่ายมวยไทยในเยาวราชเพื่อใช้เป็นฉากบังหน้ากิจการค้ายาเสพติดข้ามชาติ แต่เมื่อบิลลี่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ทำให้“เจนน่า” (คริสติน สก็อตต์ โทมัส) แม่ของจูเลี่ยนและบิลลี่ ผู้ดูแลธุรกิจทั้งหมดต้องเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อรับศพลูกชาย พร้อมกับต้องการให้ “จูเลี่ยน” ตามล่าหาตัวฆาตกรที่ฆ่าบิลลี่ให้ได้
เบาะแสที่ จูเลี่ยน ค้นพบทั้งหมดก็นำให้เขาไปเผชิญหน้ากับ “ช้าง” (วิทยา ปานศรีงาม) อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นที่รู้จักจากทุกคนในวงการว่าเป็นทั้งผู้รักษากฏหมายและผู้ประหาร การล้างแค้นให้กับน้องชายนำ จูเลี่ยนเข้าไปสู่เส้นทางของความรุนแรง การหักหลัง ความอาฆาตแค้น รวมถึงการต้องเผชิญหน้ากับอดีตของตัวเองที่อาจเป็นหนทางที่นำไปสู่การไถ่บาป
บทสัมภาษณ์….นิโคลัส ไวน์ดิ้ง เรฟเฟน ผู้กำกับ
Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
A: คอนเซ็ปต์แรกเริ่มสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชายผู้อยากจะสู้กับพระเจ้า ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่มากๆ แต่ตอนที่ผมเขียนบทหนังเรื่องนี้ ผมกำลังผ่านช่วงเวลาที่ผมคิดคำนึงถึงการดำรงอยู่ของตัวเองมากๆ เรากำลังมีลูกคนที่สอง และการตั้งครรภ์ครั้งนี้ก็มีปัญหา ไอเดียของการสร้างตัวละครที่อยากจะสู้กับพระเจ้าโดยไม่รู้ว่าทำไมเป็นอะไรที่ทำให้ผมสนใจมากๆ เมื่อได้คอนเซ็ปต์แบบนั้นมาแล้ว ผมก็ขยายความต่อด้วยการเพิ่มตัวละครที่เชื่อว่าตัวเองเป็นพระเจ้า (ช้าง) ซึ่งชัดเจนว่าเป็นตัวร้าย กับตัวเอกที่เป็นแก๊งสเตอร์ที่มองหาศาสนาที่เขาจะเชื่อได้ (จูเลี่ยน) แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์มากๆ เพราะศรัทธามีที่มาจากความต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่า แต่ส่วนมากแล้ว เราไม่รู้หรอกว่าคำถามคืออะไร แต่เมื่อคำตอบมาถึง เราจะต้องย้อนรำลึกชีวิตของเราเพื่อหาคำถาม ในแง่นี้แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกคิดมาเพื่อเป็นคำตอบ โดยมีคำถามถูกเผยออกมาในตอนจบ
Q: ทำไมตัวละครที่เป็นพระเจ้าถึงถูกนำเสนอเป็นตัวร้ายแทนที่จะเป็นตัวเอก
A: การเป็นพระเจ้าไม่น่าสนใจพอน่ะสิครับ ความต้องการจะสู้กับเขาเป็นอะไรที่น่าดึงดูดใจมากกว่าเพราะมันมีความรู้สึกของความสูญเสียและความอ่อนแอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมเข้าถึงได้ เราทุกคนต่างก็ชื่นชมความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช้างแสดงให้เห็น แต่เรากลับไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงด้านอารมณ์ ในทางกลับกัน เรื่องของการค้นหากลับเป็นอะไรที่เป็นมนุษย์มกๆ เพราะมันมีความอ่อนแอในเรื่องของความไม่รู้ หรือในการไม่สามารถเติมเต็มทุกสิ่งในชีวิตเราได้ มันย้อนกลับไปถึงเรื่องของศรัทธา ที่ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีคำถาม แต่เกิดจากการที่เราได้รับคำตอบ และพยายามหาคำตอบว่าคำถามนั้นจริงๆ แล้วคืออะไร
Q: ช่วยพูดถึงความสำคัญของตัวละครของคริสติน สก็อต โธมัสหน่อยสิ
A: เราเคยชินกับการเห็นอาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นจากตัวละครชาย แต่ไอเดียของการที่ผู้หญิงเป็นตัวร้ายซ้ำร้ายกว่านั้น เธอยังเป็นแม่คนด้วย เป็นอะไรที่เขียนสนุกทีเดียว มันช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับปัญหาหนักใจที่จูเลี่ยนกำลังเผชิญอยู่เพราะแม่เขาเป็นชิ้นส่วนของ ปริศนาที่ว่าทำไมเขาถึงอยากจะต่อสู้กับพระจ้า มันเป็นเรื่องน่าสนใจครับ การที่เอาดราม่าระหว่างแม่กับลูกชายมาวางอยู่ในความจริงที่ถูกทำให้เข้มข้นขึ้นของภาพยนตร์ต่อสู้แล้วการบวกโลกของเอเชีย หรือพูดให้ถูกก็คือ กรุงเทพฯ เข้าไป ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลิ่นไอของความมหัศจรรย์ เมืองนี้มีความเป็นอนาคตมากๆ ในแง่ของเทคโนโลยี และมันก็มีประชากรมากถึง 12 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีเรื่องทางด้านจิตวิญญาณที่แรงกล้ามากๆ ด้วย การยอมรับว่าคนเราสามารถมีชีวิตอยู่ในคนละภพ และยังสามารถติดต่อหากันได้ทำให้ทุกอย่างดูราวกับจะเป็นการทดลอง ทั้งสองโลกนั้นเดินไปควบคู่กัน ไม่เคยมีใครตั้งคำถามเรื่องนั้นเลย
Q: ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงอยู่ภายในกรอบการทำงานของคุณในฐานะผู้กำกับ
A: ผมพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามที่เกี่ยวกับการทำงานของผมเพราะผมไม่เคยวางแผนอะไรเลยและในไม่กี่ครั้งที่ผมลองวางแผนดู แผนของผมกลับเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ผมคิดว่าผมบังคับตัวเองให้อยู่ในสถานการณ์ที่ผมวิ่งหนีไม่ได้ ซึ่งทำให้ชีวิตผมยุ่งยากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพราะมันทำให้ผมหลีกเลี่ยงเรื่องของสามัญสำนึกเพราะมันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียกว่า “สิ่งที่ควรทำ” หรือ “วิธีปลอดภัย”
ในทางตรงข้าม ผมต้องทำตามสัญชาตญาณของผมว่าอะไรที่ผมรู้สึกว่าใช่หรือไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของการปิดตาสร้างหนังและส่วนที่ตื่นเต้นก็คือการไม่รู้หรือการไม่สามารถทายผลที่ออกมาได้ ถ้าผมให้คุณดูบทที่ผมเขียนขึ้นเมื่อสองปีก่อนรวมทั้งทุกเวอร์ชั่นของหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงเตรียมงานสร้างไปจนถึงฉบับตัดต่อสุดท้าย คุณจะได้เห็นหนังที่แตกต่างกันเป็นร้อยๆเรื่อง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมความคิดสร้างสรรค์ถึงมีแรงขับด้านเพศภายแบบนั้น
Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของชีวิตคุณรึเปล่า และในแง่ไหน
A: ผมคิดว่าทุกสิ่งที่คุณทำก็เป็นภาพสะท้อนส่วนหนึ่งของคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งทั้งนั้น จนถึงตอนนี้ผมโชคดีมากๆที่ได้สร้างหนังที่ผมอยากจะสร้าง และมันก็เป็นสิ่งที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจาก Bronson ซึ่งเป็นเหมือนกับชีวประวัติของชีวิตผม ผมก็ไม่สามารถบอกองค์ประกอบที่ชัดเจนออกมาได้ ผมปล่อยเรื่องนั้นให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญก็แล้วกัน
Q: ดูเหมือนจะมีความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจนระหว่างตัวละครวันอาย, ไดรเวอร์และช้าง มากกว่าตัวละครตัวอื่นๆ ของคุณ ทำไมล่ะ
A: นั่นเป็นคำถามที่ดีนะครับ ตัวละครทุกตัวต่างมีรากเหง้าจากตำนานเทพนิยายและพบความลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ผมสามารถมองเห็นได้ว่าในทางเทคนิคแล้ว มันมีความคล้ายคลึงกันในพฤติกรรมที่แข็งทื่อ เงียบงันและความวิปริตบางอย่าง แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างกันและแสดงโดยนักแสดงคนละคนก็ตาม ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมแต่มันมีความเชื่อมโยงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ระหว่างพวกเขาและนี่ก็เป็นตัวละครที่ผมจะนำกลับมาอีกในหนังที่ผมวางแผนจะสร้างขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
Q: ทำไมถึงไม่มีการพูดถึงชื่อของช้างในภาพยนตร์เรื่องนี้
A: ในช่วงเริ่มต้น มีหลายฉากที่พูดถึงช้างในสองแบบที่แตกต่างกัน นั่นคือด้วยชื่อปกติสามัญของเขา (ช้าง) และชื่อสมญานามของเขา (เทพบุตรแห่งการล้างแค้น) แต่สำหรับผมแล้ว ทุกครั้งที่เขาได้รับชื่อ เขาจะสูญเสียความลึกลับบางอย่าง และพฤติกรรมที่น่าฉงนของเขาก็เริ่มชัดเจนขึ้น ผลก็คือผมตัดสินใจตัดส่วนใดๆ ก็ตามที่อ้างถึงชื่อจริงหรือสมญานามของเขา และเขาก็กลายเป็นแค่ “มัน”
ทีนี้ กลับไปคำถามของคุณเกี่ยวกับคล้ายคลึงระหว่างวันอาย, ไดรเวอร์และตัวละคร “มัน” ตัวนี้ ผมบอกได้ว่าใน Valhalla Rising วันอายเป็นคนลึกลับ เราไม่รู้อดีตของเขา แต่เขาถูกจำกัดความด้วยชื่อของเขา ส่วน Drive ไดรเวอร์ถูกจำกัดความด้วยหน้าที่ของเขา และใน Only God Forgives “มัน” ก็ไม่ได้ถูกจำกัดความด้วยชื่อ มีเพียงภาพลักษณ์เท่านั้น
Q: ในอดีต คุณค่อนข้างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับความตั้งใจของคุณที่จะสำรวจภาพยนตร์แนวต่างๆ The Pusher Trilogy เป็นภาพยนตร์อาชญากรรม Bronson เป็นชีวประวัติ Valhalla Rising เป็นภาพยนตร์ไซไฟ และ Drive ก็เป็นเทพนิยาย แล้ว Only God Forgives เป็นอะไรล่ะ
A: ในแง่หนึ่ง Only God Forgives เป็นเหมือนกับการรวมหนังทุกเรื่องที่ผมเคยทำมา ผมคิดว่าผมกำลังมุ่งหน้าด้วยความเร็วเต็มที่ไปสู่การปะทะกันเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงทุกอย่างรอบตัวและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ผมพูดเสมอว่าผมตั้งใจจะสร้างหนังเกี่ยวกับผู้หญิงแต่ผมกลับลงเอยด้วยการสร้างหนังเกี่ยวกับผู้ชายรุนแรง ตอนนี้ที่ทุกอย่างประสานกันแล้ว มันอาจจะพลิกสิ่งต่างๆ แบบหน้ามือเป็นหลังมือสำหรับผมเลยก็ได้ การประสานกันนี้น่าตื่นเต้นเพราะทุกสิ่งรอบตัวผมกลายเป็นเรื่องไม่แน่นอนและเราก็จะต้องไม่ลืมว่าศัตรูตัวที่สองของความสร้างสรรค์ นอกจากการมี “รสนิยมดี” แล้วคือการทำตัวปลอดภัยน่ะครับ
Q: การตัดสินใจเลือกนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ของคุณค่อนข้างจะต่างออกไปตรงที่ว่าคุณให้นักแสดงโนเนมมาแสดงประกบนักแสดงที่มีชื่อเสียง และให้นักแสดงที่มีชื่อเสียงพลิกบทบาทตัวเอง กระบวนการคัดเลือกนักแสดงของคุณเป็นยังไงบ้าง
A: ตอนแรก มีนักแสดงอีกคนที่จะมารับบทจูเลี่ยน แต่เขาก็ถอนตัวออกไปในช่วงที่ใกล้จะเปิดกล้องอยู่แล้ว ตอนนี้ ผมมองว่ามันเป็นโชคดีเพราะมันเปิดโอกาสให้ผมและไรอันได้ร่วมงานกันอีกครั้ง น่าแปลกที่ผมเขียนบทหนังเรื่องนี้ก่อนจะกำกับ Drive เสียอีก และจูเลี่ยนก็ถูกคิดขึ้นมาให้เป็นตัวละครที่เงียบมากๆ ตอนที่ผมกับไรอันเริ่มดูบทด้วยกันหลังจาก Drive ภาษาของความเงียบงันก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมันก็ช่วยได้มากตรงที่ว่าจูเลี่ยนเป็นคนที่มีความขัดแย้งภายในใจตามที่กล้องถ่ายทอด คือการเดินทางของตัวละครของเขาเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวภายในไม่ใช่ภายนอกครับ เมื่อมองตอนนี้ ผมนึกไม่ออกเลยว่าจะมีใครที่จะเล่นบทนี้ได้นอกจากไรอัน แต่ก็นั่นแหละ เขากับผมก็เป็นเหมือนคนๆ เดียวกัน
ในกรณีของคริสติน สก็อต โธมัส เธอถูกเลือกมาตั้งแต่ตอนแรกๆ และผมก็จำได้ว่าตอนที่ผมพบกับเธอครั้งแรก เธอถามผมว่าทำไมผมนึกพิจารณาเธอสำหรับบทคริสตัล ซึ่งคำตอบแรกของผมก็คือ “เพราะแม่ผมชอบคุณมาก” ผมได้ดูเธอในหนังหลายเรื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาและผมก็พบว่าเธอเป็นคนฉลาดมากๆ และเธอก็มีรัศมีของสิ่งที่ผมเรียกว่า “ตำนานหนังฮอลลีวูดคลาสสิก”
เมื่อถึงเวลาเลือกนักแสดงไทย มันเป็นเรื่องยากอยู่ซักหน่อย ผมนึกเสมอว่ามันจะมีโรงเรียนละครหรือการแสดงในประเทศไทยเพราะพวกเขามีชุมชนภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะกว้างขวาง แต่ผมคิดผิด และมันก็เหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทรในการหานักแสดงสองคนมารับบทช้างและใหม่ ที่พูดภาษาอังกฤษได้ทั้งคู่ มันง่ายขึ้นเมื่อผมตัดบทพูดภาษาอังกฤษออกไปจากช้าง ผมได้พบวิทยา ปานศรีงาม ที่รับบทช้าง ปีครึ่งก่อนที่เราจะเริ่มถ่ายทำ และผมก็รู้ว่าเขาคือคนที่ใช่ ผมบอกคุณไม่ได้หรอกว่าทำไมเพราะมันไม่ใช่ว่าการออดิชั่นของเขาจะโดดเด่นอะไร แต่มันมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเขา ทั้งความเมตตาและความสงบของเขา แต่ผมก็รู้สึกเหมือนว่าผมไม่สามารถคาดเดาอะไรเขาได้และมันก็ทำให้ผมสนใจเสมอ
รฐา โพธิ์งาม ที่รับบท “ใหม่” เหมาะกับบทนี้มาก ผมให้น้ำหนักการเลือกนักแสดงสำหรับบทนี้ในเรื่องความเงียบของเธอเพราะเธอจะกลายเป็นเหมือนสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นมาในโลกของจูเลี่ยน ผมก็พบเธอตั้งแต่แรกๆ เหมือนกัน แต่เพราะผมกำกับ Drive หนังเรื่องนี้ก็เลยถูกเลื่อนออกไปเป็นปี โชคดีที่ทั้งคู่ยังว่างและตกลงที่จะแสดงหนังเรื่องนี้ตอนที่ผมอยากจะสร้างมันเสียทีน่ะครับ
สำหรับบิลลี่ พี่ชายของจูเลี่ยน ผมเลือกนักแสดงอังกฤษ ทอม เบิร์ค ผู้ที่ผมอยากจะร่วมงานด้วยมาซักพักแล้วเพราะตอนแรก เขาออดิชันสำหรับบทจูเลี่ยนตั้งแต่แรกๆ เลย ทอม เบิร์คและกอร์ดอน บราวน์ (ผู้รับบทสมาชิกแก๊งของจูเลี่ยน ผู้ที่ผมชื่นชอบมากและใช้งานบ่อยเกือบจะพอๆ กับแมดส์ มิคเคลสัน) เป็นนักแสดงสองคนที่ผมอยากจะพามาไทยด้วย
ประวัตินักแสดง
Ryan Gosling (ไรอัน กอสลิ่ง) รับบท Julian (จูเลี่ยน)
ไรอัน กอสลิ่ง ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี่ อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Half Nelson ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ด, คริติกส์ ชอยส์, สมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชิคาโก, สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ออนไลน์, สมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์โตรอนโตและแซทเทิลไลท์ อวอร์ด, รางวัลการแสดงแจ้งเกิดจากสมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติ, รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซีแอตเติลและสต็อคโฮล์มและรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดจากการแสดงแจ้งเกิดของเขาในภาพยนตร์เรื่อง The Believer ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ลอนดอน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลแกรนด์ จูรี ไพรซ์จากงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2001 ด้วย
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ เรื่อง The Slaughter Rule , ภาพยนตร์เรื่อง Murder By Numbers , ภาพยนตร์เรื่อง The United States of Leland , ภาพยนตร์เรื่อง Fracture และภาพยนตร์ฮิตเรื่อง The Notebook ที่กำกับโดยนิค คาสซาเวทส์ประกบราเชล แม็คอดัมส์ ในปี 2004 เขาได้รับการยกย่องให้เป็นดาราชายแห่งอนาคตจากสมาพันธ์เจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งชาติที่งานโชเวสต์
เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและแซ็ก อวอร์ดและได้รับรางวัลแซทเทิลไลท์ อวอร์ดจากภาพยนตร์โดยเคร็ก กิลเลสพายเรื่อง Lars and the Real Girl และเขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำอีกครั้งจาก Blue Valentine ซึ่งเขาแสดงประกบมิเชลล์ วิลเลียมส์และเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างเขากับผู้กำกับดีเร็ค เคนแฟรนซ์
ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยเกลน ฟิคาร์ราและจอห์น เรคัวเรื่อง Crazy, Stupid, Love ประกบสตีฟ คาเรลและเอ็มมา สโตน ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่สาม, ภาพยนตร์โดยนิโคลัส ไวน์ดิ้ง เรฟเฟนเรื่อง Drive ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสปิริต อวอร์ดครั้งที่สาม, ภาพยนตร์โดยจอร์จ คลูนีย์เรื่อง The Ides of March และภาพยนตร์โดยรูเบน เฟลสเชอร์เรื่อง Gangster Squad ที่ประกบสโตนอีกครั้งหนึ่ง
Vithaya Pansringarm (วิทยา ปานศรีงาม) รับบท Chang (ช้าง)
วิทยา ปานศรีงาม (ปู) โตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง และได้ซึมซับกับดนตรีและภาพยนตร์ตะวันตก หนึ่งในงานของพ่อเขาคือการแปลและพากย์เสียงภาพยนตร์เวสเทิร์นอเมริกันที่ฉายกลางแปลงตามงานเทศกาลต่างๆ
แม้ว่าเขาจะเริ่มเรียนบัญชีที่มหาวิทยาลัยของไทย แต่เขากลับรักในศิลปะ เขาได้เดินทางไปนิวยอร์ก ซิตี้ และเปลี่ยนไปเรียนเอกกราฟิค ดีไซน์ ก่อนจะสำเร็จเกียรตินิยมจากสถาบันเทคโนโลยีนิวยอร์กในปี 1985 หลังจากทำงานเป็นกราฟิค ดีไซเนอร์มาหลายปี เขาก็แต่งงานกับเฟย์ นักเต้นบัลเลต์ชาวอเมริกันและย้ายกลับกรุงเทพฯในปี 1987 ที่ซึ่งพวกเขาได้ก่อตั้งและอำนวยการไรซิ่ง สตาร์ แดนซ์ สตูดิโอ หนึ่งในสถาบันด้านการเต้นแห่งแรกๆ ของกรุงเทพฯ ที่ไรซิ่ง สตาร์ เขาได้มีส่วนร่วมกับการกำกับและอำนวยการผลิตการแสดง อีเวนต์ กิจการอุตสาหกรรมและงานประกวด นอกจากนี้ เขายังรับงานฟรีแลนซ์เป็นนักแปลและพิธีกรอีกด้วย
อาชีพนักแสดงของเขาเริ่มต้นด้วยความบังเอิญโดยแท้เมื่อเขาถูกค้นพบโดยเว้ด มัลเลอร์ ผู้กำกับ/ผู้กำกับภาพชาวออสเตรเลีย ผู้ทาบทามให้เขามารับบทสารวัตรสมชายในภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง Second Chance
หลังจากนั้น เว้ดก็แนะนำวิทยาให้กับผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดงของทีมงานฮอลลีวู้ดที่ถ่ายทำเรื่อง Prince and Me 4: The Elephant Adventure ในประเทศไทย เขาได้รับบทสำคัญเป็นกษัตริย์ศรายุ ซึ่งนี่ก็กลายเป็นการเปิดตัวในภาพยนตร์ระดับโลกของเขาในปี 2009 ผลงานเรื่องนี้ทำให้ผู้กำกับทอม วอล์คเลอร์ทาบทามให้วิทยามารับบทหลวงพ่ออนันดาในภาพยนตร์อื้อฉาวของไทยเรื่อง Mindfulness and Murder ช่วงปลายปี 2009 บทนี้ทำให้วิทยาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติธริล สปายในวอชิงตัน ดีซีในปี 2010 เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับอนุญาตให้เข้าฉายในไทยในปี 2011 เขาก็เป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์ของไทยและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและมือเขียนบทยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติปี 2012
หลังจากได้แสดงในภาพยนยตร์ต่างชาติหลายเรื่องที่ถ่ายทำในไทย ซึ่งรวมถึงบทผู้พันคมสันใน Largo Winch 2 (2011), บทรัฐมนตรีใน The Hangover Part 2 และนัธใน Trade of Innocents ที่กำกับโดยคริสโตเฟอร์ เบสเซ็ทท์ (2012) เขาก็ได้รับบทนำร้อยตำรวจโท “ช้าง” หรือ “เทพเจ้าแห่งการล้างแค้น” ใน Only God Forgives ที่กำกับโดยนิโคลัส ไวน์ดิ้ง เรฟเฟน ที่ร่วมแสดงโดยไรอัน กอสลิ่งและคริสติน สก็อต โธมัส
ปัจจุบัน เขามีผลงานแสดงภาพยนตร์ต่างชาติหลายเรื่อง และกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการรับบทนำใน The Last Executioner (กำกับโดยทอม วอลเลอร์) ในบทนักดนตรีร็อคแอนด์โรล ผู้กลายเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายของไทยที่ประหารนักโทษด้วยปืนกล
วิทยาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมและเป็นกรรมการบริหารของมูลนิธิช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (ดับบลิวเออาร์เอฟ) เขาเป็นนักกีฬาเคนโด้สายดำระดับห้า (กีฬาฟันดาบของญี่ปุ่น) เขาเป็นประธานชมรมไทยแลนด์เคนโด้คลับและอดีตตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันกีฬาเคนโด้ เขาเป็นศิลปินสีน้ำ ที่ชื่นชอบดนตรีไทยและเชฟฝีมือเยี่ยม เขาและเฟย์มีลูกชายหนึ่งคนชื่อน้องอรัณย์
Kristin Scott Thomas (คริสติน สก็อต โธมัส) รับบท Crystal (คริสตัล)
คริสติน สก็อต โธมัสเป็นนักแสดงชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในยุค 90s จากการแสดงใน Bitter Moon, Four Weddings and A Funeral ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลบาฟตา อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมและ The English Patient ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลอคาเดมี่ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
ผลงานภาพยนตร์หลังจากนี้ของเธอได้แก่ Gosford Park โดยผู้กำกับฝรั่งเศส กิโยม คาเนต์ นอกเหนือจากนั้น เธอยังได้รับรางวัลมากมายจากการแสดงของเธอในภาพยนตร์เรื่อง Il y a longtemps que je t’aime (I’ve Loved You So Long) ซึ่งรวมถึงการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตาและลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมอีกด้วย ช่วงต้นปี 2007 สก็อต โธมัสรับบทอาร์คาดินาในละครเวสต์เอนด์ของลอนดอนที่สร้างจากละครโดยแอนตัน ไชคอฟเรื่อง The Seagull ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และในปี 2009 เธอได้แสดงใน Partir (Leaving) ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีซีซาร์ อวอร์ดและได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีอีฟนิ่ง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ด นอกจากนั้น เธอยังมีผลงานภาพยนตร์เรื่อง Sarah’s Key และในปี 2011 ภาพยนตร์เรื่อง Salmon Fishing in the Yemen ก่อนที่เธอจะหวนคืนสู่เวทีเวสต์เอนด์ของลอนดนเพื่อรับบทเอ็มมาในละครเรื่อง Harold Pinter’s Betrayal ที่กำกับโดยเอียน ริคสัน
ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของสก็อต โธมัสได้แก่ Bel Ami , The Woman in the Fifth และภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเธอคือ The Invisible Woman และ Old Times
Rhatha Phongam (รฐา โพธิ์งาม) รับบท Mai (ใหม่)
รฐา โพธิ์งาม หรือญา ญ่า ญิ๋ง เธอเริ่มต้นเข้าวงการตอนอายุได้ 16 ปี โดยเธอได้เปิดตัวอัลบัมแรกของเธอ ญา ญ่า ญิ๋ง กับ GMM Grammy (หนึ่งในค่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดของไทย) ในปี 1999 หลังจากนั้น เธอก็ออกอัลบั้มอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งปี 2007 และเธอก็ได้เป็นนักร้องรับเชิญในอัลบั้มอื่นๆ และได้ทัวร์คอนเสิร์ตของตัวเองรวมทั้งได้เป็นนักร้องรับเชิญในคอนเสิร์ตอื่นๆ อีกหลายครั้ง
รฐาได้แสดงมิวสิคัลเรื่องแรกในชื่อ ฟ้าจรดทราย ในปี 2007 โดยเธอรับบทแคชฟียา หนึ่งในตัวละครเอกของเรื่อง ละครเรื่องนี้เป็นละครเวทีสุดอลังการเรื่องแรกที่มีการสร้างขึ้นในประเทศไทย ละครเวทีเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยได้จัดแสดงทั้งหมด 40 รอบ และมีการเพิ่มรอบอีก 13 รอบ ผลงานละครเวทีเรื่องล่าสุดของเธอคือมิวสิคัลเรื่อง แม่เบี้ย ซึ่งเธอรับบทนำ เมขลา (ไกด์นำเที่ยว) เช่นเดียวกับผลงานมิวสิคัลที่ผ่านมา รฐาและมิวสิคัลเรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนเป็นอย่างดี
หลังจากที่ได้แสดงในละครโทรทัศน์ยอดนิยมเรื่อง ฝากดินกลิ่นดาว เธอก็เป็นขาประจำจอแก้วด้วยการแสดงรับเชิญในละครและรายการอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเร็วๆ นี้ เธอก็เพิ่งเล่นละครเรื่อง Sixth Sense ไป
การก้าวเข้าสู่จอเงินของเธอเริ่มต้นขึ้นด้วยบท “ใหม่” ในภาพยนตร์โดยนิโคลัส ไวน์ดิ้ง เรฟเฟนเรื่อง Only God Forgives ที่เธอแสดงประกบไรอัน กอสลิง, คริสติน สก็อต โธมัสและวิทยา ปานศรีงาม หลังจาก Only God Forgives เธอก็ได้รับบทนำบทหนึ่งในภาพยนตร์ไทยเรื่อง จันดารา โดยเธอรับบท คุณบุญเลื่อง ภายใต้การกำกับของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
นอกจากนี้ เธอยังได้เป็นแขกรับเชิญในภาพยนตร์แอ็กชันของไทยเรื่อง ต้มยำกุ้ง 2 ในบทมือสังหารด้วย รฐาเคยได้รับรางวัลเอเชี่ยน โมเดล อวอร์ดในเกาหลี
Tom Burke (ทอม เบิร์ค) รับบท Billy (บิลลี่)
ทอม เบิร์คเป็นหนึ่งในนักแสดงหนุ่มที่มีความสามารถหลากหลายและเป็นที่ยกย่องสูงสุดของอังกฤษ ด้วยผลงานแสดงที่ครอบคลุมทั้งละครเวที จอแก้วและจอเงิน ผลงานภาพยนตร์ของเขาได้แก่ Chariที่กำกับโดยสตีเฟน เฟรียส์, Telstar และ The Kid ที่กำกับโดยนิค โมแรน, I Want Candy สำหรับเอลลิง สตูดิโอส์, Third Star ประกบเบเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์สำหรับเวสเทิร์น เอดจ์ พิคเจอร์สและ Look, Stranger ที่กำกับโดยแอเรียล จาวิทช์ หลังจากนี้ เขาจะได้แสดงในภาพยนตร์โดยราล์ฟ ไฟน์เรื่อง The Invisible Woman สำหรับบีบีซี ฟิล์มส์และ Only God Forgives ที่กำกับโดยนิโคลัส ไวน์ดิ้ง เรฟเฟน
ผลงานจอแก้วของเขาได้แก่ In Love With Barbara ประกบแอนดรูว์ ไรส์โบโรห์, Great Expectations ที่กำกับโดยไบรอัน เคิร์ค, Napoleon ที่กำกับโดยเพียร์ วิลกี้, Bella And The Boys และภาพยนตร์ที่ได้รางวัลโดยเดวิด เยทส์เรื่อง State Of Play และ The Young Visitors ซึ่งทุกเรื่องสำหรับบีบีซี ปัจจุบัน เขารับบทนำในซีซันที่สองของซีรีส์ฮิตโดยอาบี้ มอร์แกนเรื่อง The Hour และในซีรีส์คอเมดีโดยซู เพอร์กินส์เรื่อง Heading Out ในปี 2008 เขาได้รับรางวัลเอียน ชาร์ลสัน อวอร์ดจากการแสดงของเขาในละครเรื่อง Creditors ที่ดอนมาร์ แวร์เฮาส์ ที่กำกับโดยอลัน ริคแมน ผลงานละครเวทีเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ Reasons To Be Pretty ที่อัลเมดา, Design For Living ที่โอลด์ วิคและ The Doctors Dilemma ที่รอยัล เนชันแนล เธียเตอร์
เกร็ดจากภาพยนตร์
- Only God Forgives ถือเป็นการร่วมงานกันเป็นครั้งที่สองนับจาก Drive ของ ไรอัน กอสลิ่ง นักแสดงที่มาแรงที่สุดในปัจจุบัน ที่มีผลงานอย่าง The Notebook, Blue Valentine, Crazy, Stupid, Love และล่าสุด Gangster Squad กับผู้กำกับ นิโคลัส วินดิ้ง เรฟเฟน ที่สร้างชื่อจากไตรภาค Pusher และล่าสุดกับหนังฮอลลิวู้ดเรื่องแรก Drive ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2011
- นิโคลัส วินดิ้ง เรฟเฟน ตั้งใจเขียนบทภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องในกรุงเทพทั้งหมดตั้งแต่แรก โดยเขาก็ได้พูดถึงความรู้สึกที่มีกับฉากหลังของเรื่องราวว่า…“ผมหลงรักที่นี่ตั้งแต่เดินทางมาครั้งแรก กรุงเทพในตอนกลางคืนให้ความรู้สึกเหมือนว่าเราอยู่ในโลกอนาคตของ Blade Runner ผมใช้เวลาหลายคืนในการท่องราตรีที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไชน่าทาวน์ ที่เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเกิดขึ้นที่นี่ ผมคิดว่าแสงสีจากนีออนและบรรยากาศโดยรวม จะสะท้อนให้เห็นถึงสภาพจิตใจของตัวละครนำของเรา ที่ต้องการหลบหนีจากโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี”
- Only God Forgives เป็นหนังฮอลลิวู้ดที่ถ่ายทำในประเทศไทยตลอดทั้งเรื่อง โดย ไรอัน กอสลิ่ง ก็ใช้เวลาในกรุงเทพถึง 5 เดือนเต็ม เพื่อเตรียมพร้อมทั้งทางร่างกายและการแสดง โดยเขาก็ได้พูดถึงประสบการณ์ว่า…“ผมชอบเมืองไทยมาก โดยเฉพาะหัวหินที่เปรียบเสมือนเมืองตากอากาศชั้นดี สำหรับการแสดงเป็น จูเลี่ยน ผมก็ต้องฝึกมวยไทยก่อนการถ่ายทำเป็นเวลาหนึ่งเดือน ผมรู้สึกเลยว่านี่คือศิลปะการต่อสู้ที่อันตรายที่สุด และก็ยังเจ็บปวดที่สุดเมื่อต้องฝึกให้เชี่ยวชาญอีกด้วย แต่ผมก็คิดว่ามันคุ้ม”
- Only God Forgives ยังมีนักแสดงสมทบชื่อดังชาวไทยอย่าง รฐา โพธิ์งาม (ญาญ่า ญิ๋ง) จาก จันดารา ทั้งสองภาค รวมถึง วิทยา ปานศรีงาม นักแสดงมากฝีมือที่ได้รับรางวัล International Thriller and Spy Film Festival สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “ศพไม่เงียบ”