นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการจัดทำ “Mask for Blood Hero” ในโครงการ Plus One เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต มอบเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้บริจาคโลหิต ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2563 ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับหน้ากาก Blood Heroจะต้องลงทะเบียนผ่าน QR Code ณ จุดบริจาคโลหิต เท่านั้น จำกัดจำนวน 400,000 ชิ้น/ 1 คน 1 สิทธิ์ เพื่อรณรงค์เชิญชวนผู้บริจาคโลหิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วย ด้วยการเพิ่มจำนวนครั้งของการบริจาคโลหิต โดยเฉพาะผู้บริจาคโลหิต ปีละ 1 ครั้ง ให้บริจาคเพิ่มอีก 1 ครั้ง ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานอนุกรรมการรณรงค์เพิ่ม ผู้บริจาคโลหิต นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และผู้แทนองค์กรและหน่วยงานต่างๆ โดยมี นางวรวรรณ ติณสูลานนท์ รองผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีสีช่อง 3 เข้าร่วมงานแถลงข่าวด้วย ณ ห้องจุมภฏ ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า “งานบริการโลหิตเป็นหนึ่งใน 4 ภารกิจหลักของสภากาชาดไทย ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ทำหน้าที่จัดหาโลหิตจากผู้บริจาคโลหิตที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพและปลอดภัยเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้โลหิตทั่วประเทศ โดยมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินภารกิจการจัดหาโลหิตของประเทศ ในการจัดหาโลหิตในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีหน่วยงานสนับสนุนจัดหาโลหิต ได้แก่ โรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต จำนวน 6 แห่ง การจัดหาโลหิตในส่วนภูมิภาค มีภาคบริการโลหิตแห่งชาติ ในจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ 12 แห่ง ดำเนินงานบริการโลหิตครบวงจรเป็นมาตรฐานเดียวกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และมีโรงพยาบาลของรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีฐานะเป็นสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ และเหล่ากาชาดจังหวัด ช่วยสนับสนุนจัดหาโลหิตในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ”
ในปี 2563 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการ “Plus One เพิ่มจำนวนครั้ง เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต” ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 เป็นโครงการหลักประจำปี เพื่อรณรงค์เพิ่มจำนวนครั้งของการบริจาคโลหิต โดยเฉพาะผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง ให้บริจาคเพิ่มอีก 1 ครั้ง และเป็นผู้บริจาคประจำอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การบริจาคโลหิตปัจจุบัน ยังพบว่าการบริจาคโลหิตยังไม่สม่ำเสมอ มีการขาดแคลนโลหิต บางช่วงเวลา ส่งผลกระทบทำให้ปริมาณโลหิตสำรองคงคลังไม่เพียงพอ ทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤติที่ต้องใช้โลหิต ในการรักษาอย่างเร่งด่วนจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าในช่วงของการระบาดของโรค COVID-19 ที่ผ่านมา มีการบริจาคโลหิต ที่ลดน้อยลงมาก เนื่องจากผู้บริจาคโลหิตมีความวิตกกังวลในการเดินทางมาบริจาคโลหิต จนเกิดภาวะวิกฤติโลหิตขาดแคลนทั่วประเทศ ส่งผลกระทบกับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับโลหิตในการผ่าตัด อุบัติเหตุฯลฯ ที่มีการสูญเสียโลหิตอย่างเฉียบพลัน ซึ่งการรักษาผู้ป่วยต้องมีโลหิตสำรองระหว่างการผ่าตัด จำนวน 2 – 3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ต้องใช้โลหิตจำนวน 5 – 10 ยูนิต ถ้าโลหิตมีไม่เพียงพอแพทย์ต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด จำเป็นที่ต้องใช้โลหิตในการรักษาเป็นประจำ ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย โลหิตจาง และเกล็ดเลือดต่ำ ต้องได้รับโลหิตในการรักษาอย่างน้อยเดือนละ 1 – 2 ยูนิต และในรายที่เป็นรุนแรง จำเป็นต้องได้รับโลหิตในการรักษาอย่างทันท่วงที สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการขาดแคลนโลหิตดังกล่าว เนื่องจากยังมีการบริจาคโลหิตยังไม่สม่ำเสมอทุก 3 เดือน จากสถิติการบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ปี 2562 มีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีจำนวนมากถึง 1,055,230 คน ร้อยละ 67.6 ดังนั้น การรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิตใหม่ และคงไว้ซึ่งผู้บริจาคประจำ ส่งเสริมและกระตุ้นให้บริจาคเพิ่มจากปีละ 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง จาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง และจาก 3 ครั้ง เป็น 4 ครั้ง จะช่วยทำให้มีปริมาณโลหิตที่สม่ำเสมอ และเพียงพอแก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ
ดร.ลักขณา ลีละยุทธโยธิน ประธานอนุกรรมการรณรงค์เพิ่มผู้บริจาคโลหิต กล่าวว่า คณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย มีหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้บริจาคโลหิตมีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน โดยสร้างกลุ่มผู้บริจาคใหม่ และคงไว้ซึ่งผู้บริจาคโลหิตประจำอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้มีปริมาณโลหิตที่เพียงพอแก่ผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอทั้งในภาวะปกติและในภาวะฉุกเฉิน ที่ผู้ป่วยต้องได้รับโลหิตในการรักษาอย่างเร่งด่วน จึงมีแนวคิดที่จะจัดแคมเปญรณรงค์ให้เกิดความถี่ในการบริจาคโลหิตเพิ่มขึ้น ซึ่งในทุกปีคณะอนุกรรมการฯ ประสบผลสำเร็จในการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการบริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิตและคงไว้ซึ่งผู้บริจาคโลหิตประจำอย่างยั่งยืน โดยได้ทำแบบสำรวจถึงความต้องการของกลุ่มผู้บริจาคโลหิต ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในสรุปภาพรวมผู้บริจาคโลหิตส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะได้รับหน้ากาก เป็นที่ระลึก
โดยได้ประสานความร่วมมือ จากนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการผลิต หน้ากาก Blood Hero จำนวน 400,000 ชิ้น เพื่อมอบให้แก่ผู้บริจาคโลหิต โดยหน้ากากที่ผลิตขึ้น มีความพิเศษและมีคุณค่า เป็น Limited Edition ไม่มีจำหน่ายทั่วไป เนื้อผ้าผลิตจากเส้นใย Nylon ขนาดเล็กระดับ Microfiber มีความละเอียดสูงทำให้ผ้ามีความอ่อนนุ่ม กระชับเข้ากับรูปหน้า มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการกระจายของเชื้อโรค สามารถซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ผู้บริจาคโลหิตที่มีสิทธิ์ได้รับหน้ากาก Blood Hero จะต้องลงทะเบียนผ่าน QR Code ณ จุดบริจาคโลหิต เท่านั้น ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2563 หรือจนกว่าของจะหมด และได้รับเกียรติจาก บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้บริจาคโลหิตและส่วนประกอบโลหิต จำนวน 104 ครั้ง พร้อมด้วย เฟิร์ส – คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล และฟลุ๊ค – ภูสิษฐ์ ดิษฐพิสิษฐ์ จากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็น Presenter โครงการฯ
ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิต ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความสมัครใจไม่หวัง สิ่งตอบแทน ด้วยการเพิ่มจำนวนครั้งของการบริจาคโลหิต โดยเฉพาะผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง ให้บริจาคเพิ่มอีก 1 ครั้ง และเป็นผู้บริจาคประจำทุก 3 เดือน ส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ทำให้ได้รับโลหิต ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอจ่ายสนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ ลดภาวะการขาดแคลนโลหิต