กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 – แคมเปญ ‘Kind Dining กิน.กอด.โลก’ ชวนคนรุ่นใหม่ให้คำมั่นสัญญาไม่กินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ดาราและผู้มีชื่อเสียง เช่น คุณวงศ์รวี นทีธร (สกาย) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) และคุณชุดารี เทพาคำ (เชฟตาม) เพื่อปกป้องและอนุรักษ์สัตวป่า รวมทั้งลดความเสี่ยงของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ป่า เช่น ซาร์ส และอาจรวมถึงโควิด-19
เป้าหมายของการรณรงค์นี้ เพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ร่วมให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายพร้อมติดแฮทแท็ก #SayNotoIllegalWild Meat
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ผมเชื่อว่าการรณรงค์เพื่อหยุดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อหยุดการบริโภคก็จะช่วยให้สัตว์ป่ามีชีวิตและทำหน้าที่ในธรรมชาติของเขา ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกรมอุทยานฯ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า”
ความต้องการเนื้อสัตว์ป่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการล่า ฆ่า และค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย นำมาสู่การลดจำนวนของสัตว์ป่า จนบางชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคจากสัตว์ป่าสู่คน อาทิ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ก็เป็นไปได้ว่า อาจจะมีต้นเหตุมาจากสัตว์ป่า
คุณดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC)กล่าวว่า “ในการปกป้องสัตว์ป่าจากการบริโภคอย่างผิดกฎหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและพฤติกรรมควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายแคมเปญกิน.กอด.โลกจึงเกิดขึ้นเพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าความเสี่ยงต่างๆอันจะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดโรคอุบัติใหม่ล้วนเป็นประเด็นที่พูดถึงในการรณรงค์ในครั้งนี้”
ในเดือนมิถุนายน 2564 TRAFFIC และ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของคนไทยในเขตเมือง พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ร้อยละ 32 มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และในจำนวนเท่า ๆ กันนั้นมีแนวโน้มจะบริโภคอีกในอนาคต
“ผลการวิจัยได้เผยข้อมูลสำคัญหลายอย่างที่ช่วยให้เราเข้าใจทัศนคติและพฤติกรรมของการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าในประเทศไทย ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการออกแบบแคมเปญเพื่อยุติการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย แคมเปญ Kind Dining หรือกิน.กอด.โลกถูกออกแบบให้มีกิจกรรมหลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยุติการกินเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย” ดร. ไอลีน ลาร์นี่ ผู้อำนวยการ ZSL ประจำประเทศไทย กล่าว
กลุ่มคนที่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีช่วงอายุระหว่าง 18 – 30 ปี อาศัยอยู่ในเมือง มีฐานะและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยคนกลุ่มนี้ไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์ป่าเพื่อประทังชีวิต แต่มักบริโภคกันระหว่างการท่องเที่ยวและงานสังสรรค์ งานเลี้ยงรับรอง
“ททท.ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมักได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว แคมเปญ Kind Dining จึงเป็นหนึ่งในแบบอย่างของทิศทางการท่องเที่ยวไทยในอนาคต” นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าว
ม.ร.เรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นได้ว่าเริ่มมีการรณรงค์ให้คนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมและสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่แคมเปญ Kind Dining ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียง รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่างๆ และมั่นใจว่าจะมีผู้ที่ตั้งคำถามกับการกินเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและร่วมให้คำมั่นสัญญากับการรณรงค์ในครั้งนี้มากมาย”
แคมเปญได้นำเสนอคลิปวิดีโอ 4 ชุด ประกอบด้วยคลิปสั้น 3 นาที 1 ชุดและสปอตรณรงค์ 30 วินาทีและ 15 วินาที อย่างละ 3 ชิ้นโดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ YouTube นำเสนอโดย นักแสดง คุณวงศ์รวี นทีธร (สกาย) นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) และคุณชุดารี เทพาคำ (เชฟตาม) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหยุดกินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Kindness Deliveryในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมที่ได้ร่วมมือกับเซฟตามและร้านมีนามีข้าวจังหวัดเชียงใหม่ดัดแปลงเมนูอาหารป่าที่เป็นที่นิยมให้เป็นเมนูปลอดเนื้อสัตว์ป่าเพื่อแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไปได้ลิ้มลองในรูปแบบอาหารกล่องที่มาพร้อมคิวอาร์โค้ดที่นำไปยังwww.kind-dining.comเพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมทีมสัตว์ป่าที่ชื่นชอบจากทั้งหมด 5 ทีมแล้วคลิกให้คำมั่นสัญญาเพื่อรับตราประจำทีมสำหรับการแชร์ผ่านสื่อโซเชียลโดยใช้แฮชแท็ก#SayNotoIllegalWildMeat และ #KindDining ชักชวนให้คนรอบข้างอื่นเข้าร่วมทีม
ร่วมให้คำมั่นสัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ผิดกฎหมาย ได้ที่ www.kind-dining.com
แคมเปญ “Kind Dining กิน.กอด.โลก” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง อส. ททท. TRAFFIC ร่วมกับ ZSL และ UNDP โดยการสนับสนุนของโครงการคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (GWP) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กองทุนเพื่อการคัดค้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักร (IWTCF) และโครงการกิจการระหว่างประเทศเพื่อบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (USFWS)
เกี่ยวกับแคมเปญ
ผลการวิจัยในเดือนมิถุนายน 2564 พบว่า กลุ่มประชากรในเขตเมืองที่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าส่วนใหญ่ในประเทศไทย มีช่วงอายุระหว่าง 18-30 ปี มีฐานะและชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยว โดยเหตุผลหลักในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า คือ รสชาติ ความอยากรู้อยากลอง และความรู้สึกของความสำเร็จ ความตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่ใช่เพื่อการประทังชีวิต
แคมเปญ Kind Dining มาจากการรวมคำระหว่าง Kindness (ความใจดี มีเมตตา) และ Fine Dining (การกินอาหารที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากร้านทั่วไป) ก่อเกิดเป็นแนวคิดว่า มื้อที่ดีและพิเศษที่สุด คือ มื้อที่ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า มีเป้าหมาย คือ การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคเนื้อเหล่านี้ในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายในอนาคต
เกี่ยวกับหน่วยงาน
แคมเปญนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง TRAFFIC ZSL อส. ททท. และ UNDP โดยการสนับสนุนของ GEF, GWP, IWTCF และ USFWS
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (อส.) หน่วยงานราชการไทยที่มีภารกิจ เพื่อ 1) อนุรักษ์ คุ้มครองและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า 2) วิจัย พัฒนาและให้บริการด้านวิชาการ 3) บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยใช้เทคโนโลยีท่ีเหมาะสม และ 4) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีการที่สมดุลและยั่งยืน http://portal.dnp.go.th
กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อให้การสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่กำลังปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินโครงการที่เป็นการปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมโลก โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งได้มีการให้ทุนมากกว่า 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังช่วยระดมทุนอีกกว่า 114,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อโครงการมากกว่า 5,000 โครงการ ที่ทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมใน 170 ประเทศทั่วโลก https://www.thegef.org
โครงการคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (Global Wildlife Program:GWP) ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก GEF และบริหารจัดการโดยธนาคารโลก โครงการนี้ประกอบไปด้วยโครงการย่อย 37 โครงการใน 32 ประเทศ ครอบคลุมทวีปแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและส่งเสริมเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพด้านสัตว์ป่า https://www.worldbank.org/en/programs/global-wildlife-program
กองทุนเพื่อการคัดค้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักร (Illegal Wildlife Trade Challenge Fund: IWTCF) เป็นโครงการทุนสนับสนุนการแข่งขันของรัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้กรมสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท มุ่งเป้าไปที่การยุติการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดย IWTCF ได้สนับสนุนงบประมาณ 37 ล้านปอนด์ให้กับ 113 โครงการในกว่า 50 ประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 https://www.gov.uk/guidance/illegal-wildlife-trade-challenge-fund-iwtcf
โครงการกิจการระหว่างประเทศของปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Fish and Wildlife Service: USFWS) ประสานความพยายามทั้งในและต่างประเทศในการปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมสัตว์ป่าที่หลากหลายของโลกและถิ่นที่อยู่ของพวกมัน โดยมุ่งเน้นที่ชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับสากล โครงการ Wildlife Without Borders และโครงการ International Wildlife Trade ส่งเสริมการอนุรักษ์ทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2559 USFWS ได้เปิดตัวโครงการเงินช่วยเหลือการค้าสัตว์ป่าเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า เพื่อเป็นทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่า https://www.fws.gov/international/about-us/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างยั่งยืนhttps://www.tat.or.th
สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (Zoological Society of London: ZSL)
เป็นองค์กรการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2369 เป็นที่รู้จักในความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์และการอนุรักษ์ประยุกต์ พันธกิจขององคก์รคือ รณรงค์ส่งเสริมและอนุรักษ์เพื่อให้สัตว์อยู่รอดในธรรมชาติของพวกเขา องค์ความรู้ของ ZSL ก่อให้เกิดงานด้านการอนุรักษ์และงานวิจัยในประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก สวนสัตว์ 2 แห่ง ของ ZSL คือ สวนสัตว์ ZSL ในกรุงลอนดอน และสวนสัตว์ ZSL วิปสเนด ซึ่งช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าให้แก่ประชาชนนับล้านคน https://www.zsl.com
เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC)
เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรชั้นนำที่ทำงานทั่วโลกเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าในบริบทของการอนุรักษณ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน https://www.traffic.org
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)
เป็นองค์กรชั้นนำขององค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อลดช่องว่างความยากจน ความไม่เสมอภาค และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรใน 170 ประเทศ ในการคิดค้นการแก้ปัญหาแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืนต่อมนุษย์และโลก www.th.undp.org,https://www.facebook.com/UNDPThailand
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ:
คุณจิรฐา เธียรผาติ เจ้าหน้าที่ด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เครือข่ายเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า
มือถือ: 09 6006 0400, อีเมล: jirata.tienphati@traffic.org เว็บไซต์ www.traffic.org