เป็นที่ทราบดีว่าโรงเรียนสองภาษาที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยแห่งหนึ่ง คือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต โรงเรียนที่ยึดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาษาแบบองค์รวม (Unified Bilingual Curriculum) โดยประมวลเอาจุดดีและจุดเด่นของหลักสูตรนานาชาติระดับสากล (IGCSE และ IB) มาผสมผสานกับหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการของไทยเข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ พลังความคิด และจินตนาการ
ภายใต้คอนเซ็ปต์ของคณะผู้บริหารที่มีความเชื่อว่า “สาธิต” หมายถึงการวิจัยและพัฒนาอย่างไม่รู้จบ จนกว่าจะได้คำตอบที่เหมาะสมที่สุด ได้ค้นพบวิธีหรือเทคโนโลยีอันเป็นที่ยอมรับมากที่สุด โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมากกว่าแบบอย่าง แต่เป็นผลผลิตทางศึกษาศาสตร์ ที่มีการทำวิจัยและพัฒนาทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ“ทวิภาษา” ที่ไม่ใช่เพียงสองภาษาเท่านั้น เพราะการรับมือกับโลกใหม่ เราต้องสอนหลายภาษาตามความต้องการของสังคมและวิชาชีพต่างๆ ขณะนี้ที่สาธิตรังสิตได้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนกลาง ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสด้วย ซึ่งเราจะไม่เรียกโรงเรียนของเราว่าเป็นโรงเรียนสามภาษา หรือพหุภาษา แต่เรายังคงเป็นโรงเรียนทวิภาษา ซึ่งเน้นคอนเซ็ปต์หลัก ที่ว่านักเรียนของเราจะต้องมีความคล่องแคล่วทั้งสองภาษา นักเรียนสามารถพูด และสื่อสารสองภาษาได้อย่างฉับไว โดยมิใช่การแปล มิใช่การคิดเป็นไทยแล้วแปลเป็นอังกฤษ หรือเขียนไทยแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่นักเรียนต้องมีความเป็นธรรมชาติในการใช้ภาษาทั้งสองภาษาได้ดีพอๆ กัน
จากงานวิจัยล่าสุด เรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรทวิภาษาในประเทศไทย” คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (Ourairat, 2555) ได้ทำการวิจัยกว่า 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ 2547-ปัจจุบัน เราพบว่าหลักสูตรทวิภาษา หรือสองภาษา ที่มีการบูรณาหลักสูตรนานาชาติ (IGCSE และ IB) เข้ากับหลักสูตรการศึกษาของไทยโดยใช้แนวทางมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดภายใต้กรอบของหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Program) นั้น โรงเรียนต้องมีระเบียบวิธีใช้เพื่อสอนภาษาที่สองชัดเจน ต้องมีแผนการสอนที่แสดงให้เห็นวิธีการอันมีประสิทธิภาพที่นำมาใช้สอนผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ได้ยึดแนวทาง การสอนสองภาษาที่สำคัญ กล่าวคือ การจัดการเรียนการสอนต้องสอนมีความสมดุลทั้งการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งการจัดครูเป็นสองกลุ่ม ครูไทยและครูต่างชาติ ในการเรียนการสอน ขณะที่ครูต่างชาติทำหน้าที่สอน ครูไทยจะเป็นผู้สนันสนุนคอยสังเกตนักเรียนให้ร่วมกิจกรรมตามครูผู้สอน ส่วนตัวครูผู้สอนทุกคนทั้งชาวไทยและต่างชาติต้องนำกระบวนการเรียนการสอนที่ออกแบบมา กล่าวคือ กระบวนการที่ 1 การที่ครูคอยสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง กะบวนการที่ 2 การเรียนการสอนที่ให้โอกาสนักเรียนสามารถซักถาม ตอบปัญหา วิเคราะห์หาเหตุผลโดยไม่เน้นให้นักเรียนท่องจำ กระบวนการที่ 3 วิธีการประเมินผลความรู้ความสามารถของนักเรียน ที่ไม่ใช่แค่การทดสอบความจำ แต่เป็นการประเมินความรู้ในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อวัดความสามารถของนักเรียนจริง และกระบวนการสุดท้าย คือการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนานักเรียนให้สามารถค้นหาข้อมูลได้
จากวิธีการสอนควบคู่กับกระบวนการที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต นำมาใช้นั้น ตามผลงานวิจัยเพื่อทดสอบความสามารถของนักเรียนที่ใช้หลักสูตรสองภาษาดังกล่าวนั้น พบว่าการพัฒนาหลักสูตรสองภาษากว่า 8 ปีนั้น นักเรียนในหลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวม หรือสองภาษานั้น มีพัฒนาการในการใช้ภาษาอังกฤษที่พัฒนาการเป็นไปตามลำดับขั้น การใช้ภาษาตามหลักการและแนวทางการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ผลปรากฏว่านักเรียนที่เรียนในโรงเรียนตามเวลาปกติ 6-9 ปี นั้นพบว่านักเรียนมีความสามารถในการฟัง โต้ตอบ และพูดได้ ระดับดีมาก ส่วนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนตามเวลาปกติมากว่า 3 ปี พบว่ามีความสามารถในการฟังได้ในระดับดีมา และการพูดอยู่ในระดับปานกลาง และสำหรับนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนตามเวลาปกติเป็นเวลา 1-2 ปี พบว่านักเรียนมีความสามารถในการฟังในระดับที่สื่อสารได้ ส่วนการพูดอาจมีข้อจำกัดบ้าง (Ourairat, 2555)
สรุปประเด็นง่ายๆ ว่านักเรียนที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลต่อเนื่อง 6-9 ปี สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษในรูปแบบการฟัง พูด และสื่อสารภาษาอังกฤษได้ระดับดีมาก ส่วนนักเรียนที่เข้ามาเรียนระหว่างปีการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสามารถมากกว่า 3 ปีขึ้นไปสามารถใช้ภาษาอังกฤษแต่ทักษะได้ระดับดี และนักเรียนที่เข้ามาเรียนระหว่างปีการศึกษาชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาน้อยกว่า 2 ปีนั้น สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในแต่ละทักษะได้ โดยอาจมีข้อจำกัดบางอย่างสำหรับนักเรียนบางคน
จากผลงานวิจัยการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรทวิภาษาในประเทศไทย โดยใช้กรณีศึกษา โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเตรียมให้นักเรียนในหลักสูตรสองภาษาพร้อมกับการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 นั้น นโยบายผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ใช้ระบบทวิภาษา พร้อมด้วยคณะทีมงานวิจัยด้านศึกษาศาสตร์ ยังคงพัฒนาและทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสรรหากระบวนการ รูปแบบ วิธีการ ให้ทันสมัยสอดคล้องกับความเป็นไปในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาของไทยให้สมบูรณ์ และยั่งยืน ทั้งนี้นักเรียนที่ผลิตจากโรงเรียนทวิภาษาทุกคน ต้องมีเอกลักษณ์ในการเป็นผู้นำทางความคิด สามารถใช้ภาษาแม่และภาษาต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่ว