เป็นเวลานานกว่า 3 ทศวรรษที่ผู้กำกับ ริชาร์ด เคอร์ติส ได้สร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวในโลกภาพยนตร์และทีวี เขาได้มอบตัวละครที่ยากจะลืมเลือนหลายต่อหลายตัวให้กับคนดู เป็นตัวละครที่ทำให้พวกเราได้หัวเราะกับข้อบกพร่องแบบมนุษย์เดินดินของพวกเราเอง และยังได้แบ่งปันน้ำตาในการเดินทางแสนพิเศษที่ดำเนินไปพร้อมกับชีวิตประจำวันของพวกเราเอง
เคอร์ติสเริ่มฉายแววเด่นในฐานะมือเขียนบทให้กับผลงานทางทีวีที่กลายเป็นงานคลาสสิก อย่าง Not the Nine O’Clock News, Blackadder, Mr Bean และ The Vicar of Dibley เมื่อเขาผันตัวเองไปทำงานภาพยนตร์จอเงิน เคอร์ติสทำให้คนดูต้องประหลาดใจกับงานเขียนบทของเขาในผลงานภาพยนตร์ตลกคลาสสิกอย่าง Four Weddings and a Funeral, Notting Hill และ Bridget Jones’s Diary ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เขาก้าวไปสู่งานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก นั่นก็คือภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ฮิตไปทั่วโลกอย่าง Love Actually ติดตามมาด้วยผลงานที่เป็นเสมือนจดหมายรักที่เขาส่งถึงงานดนตรีป็อปจากยุค 60 อย่างเรื่อง The Boat That Rocked ซึ่งเขากำกับเองด้วย
บัดนี้ กับผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง About Time เคอร์ติสได้มอบผลงานภาพยนตร์ที่ถือว่าเป็นผลงานส่วนตัวมากที่สุดของเขา
ตอนอายุได้ 21 ปี ทิม เลก (โดห์นัลล์ กลีสัน จาก Anna Karenina, Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 2) พบความจริงว่าเขาสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ …
หนึ่งคืนหลังจากงานฉลองเทศกาลปีใหม่ที่แสนน่าเบื่อผ่านพ้นไปอีกปี พ่อของทิม (บิลล์ ไนฮีย์ จาก The Best Exotic Marigold Hotel, Love Actually) ได้บอกลูกชายของเขาว่าผู้ชายในตระกูลของเขามีความสามารถพิเศษที่จะเดินทางข้ามกาลเวลาได้ ทิมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เขาสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเคยเกิดขึ้นในชีวิตของเขาเองได้ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะทำให้โลกของเขาดีขึ้น…ด้วยการหาแฟน แต่น่าเสียดายที่ทุกอย่างมันไม่ง่ายเหมือนที่คุณคิด
ทิมต้องย้ายจากบ้านเกิดที่คอร์นวอลล์ เมืองริมทะเลไปอยู่ลอนดอน เพื่อเป็นทนายฝึกหัด ในที่สุด เขาได้พบกับ แมรี่ สาวสวยที่ไร้ความมั่นใจ (เรเชล แม็คอดัมส์ จาก Mean Girls, The Notebook, The Vow) พวกเขาตกหลุมรักกัน แต่แล้วอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามกาลเวลา กลับทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเหมือนเขาไม่เคยเจอเธอมาก่อนเลย พวกเขาได้พบกันครั้งแรกซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ในที่สุด หลังจากเดินทางข้ามกาลเวลาอยู่หลายรอบ เขาก็คว้าหัวใจเธอมาครองได้
จากนั้น ทิมได้ใช้พลังของเขาสร้างเหตุการณ์ขอแต่งงานที่โรแมนติคที่สุด และยังช่วยงานแต่งงานของเขาให้รอดพ้นจากคำพูดที่เลวร้ายที่สุดของเพื่อนเจ้าบ่าว และยังช่วยเพื่อนรักของเขาจากหายนะที่บังเกิดกับงาน แต่เมื่อชีวิตที่ไม่เหมือนคนปกติของเขาดำเนินไป ทิมพบว่าพรสวรรค์ของเขาไม่อาจช่วยเขาจากความโศกเศร้าและชีวิตที่มีขึ้นมีลงที่ส่งผลต่อหลายครอบครัวในทุกหนทุกแห่งได้ มีข้อจำกัดหลายอย่างที่แม้แต่การเดินทางข้ามกาลเวลาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ และบางครั้งมันยังกลายเป็นเรื่องอันตรายด้วยซ้ำ
About Time คือภาพยนตร์ตลกเกี่ยวกับความรักและการเดินทางข้ามกาลเวลา ซึ่งในที่สุดแล้วมันก็คือการค้นพบว่า การใช้ชีวิตให้ดีที่สุดนั้นอาจไม่ต้องการการเดินทางข้ามกาลเวลาเลยก็ได้
ผู้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้แก่ ทอม ฮอลแลนเดอร์ (Pirates of the Caribbean: At World’s End, Pride & Prejudice) ผู้รับบท แฮร์รี่ เจ้าของบ้านเช่าของทิม ซึ่งเป็นนักเขียนบทละครที่ชีวิตแสนทุกข์ทรมาน และมาร์ก็อต ร็อบบี้ (เจ้าของผลงานทางทีวีเรื่อง Neighbours, ภาพยนตร์ใหม่เรื่อง The Wolf of Wall Street) รับบท ชาร์ล็อตต์ สาวที่ทิมเคยหลงรักตอนเป็นวัยรุ่น
เคอร์ติสยังรวบรวมทีมงานหลังกล้องมือดี อย่าง ผู้กำกับภาพ จอห์น กูเลสเซอเรี่ยน (Like Crazy, Breathe In), โปรดักชั่นดีไซเนอร์ จอห์น พอล เคลลี่ (The Other Boleyn Girl, The Guard), ผู้ลำดับภาพ มาร์ก เดย์ (ภาพยนตร์ชุด Harry Potter, The Girl in the Café), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แวริตี้ ฮอว์กส์ (Snatch., Inkheart) และผู้แต่งดนตรีประกอบ นิค แลร์ด-โคลเวส์ (Fierce People, The Silent Army)
ที่เข้ามาร่วมงานกับเคอร์ติส ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งมือเขียนบท, ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ก็คือ ทีมผู้อำนวยการสร้าง ทิม บีแวน (Les Misérables, Rush) และเอริค เฟลล์เนอร์ (Les Misérables, Love Actually) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ทุกเรื่องของ เคอร์ติส พร้อมด้วย นิคกี้ เคนทิช บาร์นส์ (Salmon Fishing in the Yemen, About a Boy) พวกเขาได้ผนึกกำลังร่วมงานกับทีมผู้อำนวยการสร้างบริหาร ลิซ่า ชาซิน (Contraband, Les Misérables) และอามีเลีย แกรนเจอร์ (Anna Karenina, Les Misérables)
เบื้องหลังงานสร้าง
ความรัก, ครอบครัว และการเดินทางข้ามกาลเวลา:
จากบทภาพยนตร์สู่จอใหญ่
จุดกำเนิดของ About Time เกิดมาจากการสนทนาระหว่างเคอร์ติสกับเพื่อนคนหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำถ้ามีคนมาบอกพวกเขาว่าพวกเขามีเวลาที่จะมีชีวิตอยู่อีกแค่ 24 ชั่วโมง “เราทั้งคู่ต่างตัดสินใจว่าเราอยากใช้เวลาวันนั้นแบบวันธรรมดาๆ วันหนึ่งที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ทำสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันตามปกติ” เคอร์ติสเล่า “ผมคิดว่ามันเป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก และก้าวต่อไปก็คือ ผมจะใส่แนวคิดนี้เข้าไปในหนังได้อย่างไร มันต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับใครสักคนที่สามารถปรับเปลี่ยนวันสุดท้ายของพวกเขาหรือสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปได้ในแบบที่ทำให้มาถึงบทสรุปนั้น นั่นคือตอนที่ผมคิดถึงเรื่องการเดินทางข้ามเวลาขึ้นมา”
เคอร์ติสบอกว่า About Time ถือเป็นพัฒนาการสำหรับเขา เพราะผลงานระยะแรกของเขาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เขาบอกว่า “Four Weddings เป็นหนังเกี่ยวกับมิตรภาพพอๆ กับที่พูดถึงเรื่องความรัก ส่วนใน Love Actually ก็มีเรื่องมิตรภาพอยู่เยอะเช่นกัน” เป็นไปโดยธรรมชาติที่ความสนใจของเคอร์ติสในตัวมนุษย์จะต้องพัฒนาไปเมื่อเขาอายุมากขึ้น “การที่พ่อกับแม่ของผมจากไปในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และลูกๆ ของผมก็โตกันหมดแล้ว ผมกลายเป็นแฟมิลี่แมน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเรื่องเกี่ยวกับพี่ชายและน้องสาว มีเรื่องเกี่ยวกับพ่อและแม่ เท่ากับเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก และแน่นอน เมื่อคนสองคนตกหลุมรักกัน ในที่สุด พวกเขาก็จะกลายเป็นพ่อแม่คน คุณจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นตลอดหนังเรื่องนี้”
ภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้ทำให้เคอร์ติสได้กลับไปร่วมงานกับทีมผู้อำนวยการสร้างจากบริษัทเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล อย่าง ทิม บีแวน และเอริค เฟลล์เนอร์ เป็นครั้งที่ 11 ในรอบ 25 ปี บีแวนเล่าว่า “เราสร้างภาพยนตร์ด้วยกันเรื่องแรกในปี 1983 เรื่อง The Tall Guy ภาพยนตร์ทุกเรื่องของริชาร์ดจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่ แต่มักจะมีอะไรใหม่ๆ เสมอ ลักษณะแน่ชัดของภาพยนตร์ของริชาร์ดก็คือ มันจะทำให้คุณหัวเราะ ร้องไห้ และคิด About Time เป็นการหวนกลับคืนไปสู่โลก ‘แบบเคอร์ติส’ ในแบบเดียวกับ Love Actually, Notting Hill และ Four Weddings and a Funeral แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะให้ความรู้สึกที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และชวนให้ครุ่นคิดถึงเรื่องดีและร้ายในชีวิตมากขึ้น และทำให้คุณซาบซึ้งต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคุณ”
ถึงแม้เฟลล์เนอร์จะพบว่ายากที่จะเชื่อว่าพวกเขาใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานมาด้วยกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของศตวรรษแล้วก็ตาม แต่เขารู้สึกประทับใจในพัฒนาการของเพื่อนผู้นี้ของเขาในฐานะผู้กำกับ เขากล่าวว่า “ริชาร์ดไม่เคยหยุดตัวเอง เขาผลักดันตัวเองในฐานะศิลปินไปสู่การทำผลงานให้ดีกว่าเรื่องก่อน และคนดูก็นับถือในแรงผลักดันนั้น เรื่องราวของเขาจะมีความเป็นส่วนตัวอย่างมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัวเสียจนแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้สึกถูกมันดึงดูดเข้าหา ผมชื่นชมที่เขาพบอารมณ์ขันในความรู้สึกเวทนาที่มีต่อประสบการณ์ประจำวันของพวกเรา และทำให้มันพิเศษขึ้น”
ขณะที่ความรักและครอบครัวคือส่วนเติมเต็มในการสร้างสรรค์จินตนาการของเคอร์ติส แง่มุมในเรื่องของการเดินทางข้ามกาลเวลาทำให้การเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นความบากบั่นที่ผ่านการคำนวณมาอย่างดี เคอร์ติสระมัดระวังมากที่จะทำให้แน่ใจว่ากฎต่างๆ ได้ถูกวางเอาไว้แล้วสำหรับทิมและพ่อของเขา เมื่อพวกเขาเดินทางผ่านกาลเวลา และยังทำให้คอนเซ็ปต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องแฟนตาซีน้อยลง และน่าชื่นชอบมากขึ้น ดังนั้น กฎเหล่านั้นควรเป็นอย่างไร ข้อแรกก็คือการเดินทางข้ามกาลเวลาอาจไม่เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ชายในตระกูลนี้จะอายุครบ 21 ปี กฎข้อที่สอง ก็คือ เขาจะต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่มืดๆ เล็กๆ อย่างเช่นในตู้เก็บของ ตู้เสื้อผ้า และบีบกำปั้นแน่นๆ และคิดถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ คิดถึงวัน สถานที่ และที่อยู่ของสถานที่ที่เขาอยากไป กฎข้อที่สาม ก็คือ เขาจะเดินทางไปเยือนเหตุการณ์ได้เฉพาะในอดีตของตัวเขาที่เขายังจำได้ เขาไม่สามารถเดินทางไปยังอนาคตหรือย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ได้ กฎข้อที่สี่ล่ะ? ทุกการตัดสินใจที่เขาทำไปจะมีผลต่ออนาคตของเขา
ผู้อำนวยการสร้าง นิคกี้ เคนทิช บาร์นส์ กล่าวเสริมว่าเธอชื่นชมในลักษณะการเล่าเรื่องที่แสนแหวกแนวที่เคอร์ติสได้คิดสร้างขึ้น เธอกล่าวว่า “About Time เป็นเรื่องในแนวอัตชีวประวัติในความรู้สึกที่ว่ามันเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของริชาร์ดที่ถูกนำมารวมเข้าด้วยกันในเรื่องราวที่มีความงดงามและวางเรื่องเอาไว้อย่างดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ให้อารมณ์อย่างมาก เรามีผู้ชายตัวโตที่ร้องไห้ขณะนั่งอ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มันคือเรื่องในแนวที่นำเสนอความจริงโดยใส่แง่มุมของเรื่องการเดินทางข้ามเวลาไปด้วย แต่มันช่วยเพิ่มเนื้อหาที่เน้นอารมณ์ มากกว่าจะเป็นการเพิ่มความรู้สึกที่พาคุณออกนอกเส้นเรื่อง”
เมื่อได้บทภาพยนตร์ที่พร้อมจะถ่ายทำแล้ว เคอร์ติสและทีมผู้อำนวยการสร้างของเขา ตั้งเป้าหมายต่อไปคืองานอันแสนน่าตื่นเต้นในการค้นหาคู่หนุ่มสาวที่สามารถมอบเสียงให้กับถ้อยคำของเขา รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว และเพื่อนๆ ที่จะเติมเต็มให้กับโลกที่แสนโดดเด่นใบนี้
ความรู้สึกรักเพิ่มพูน:
การเลือกตัวนักแสดงของAbout Time
นับแต่เริ่มต้น ทีมผู้อำนวยการสร้างและแคสติ้งไดเร็คเตอร์ ฟีโอน่า เวียร์ รู้เลยว่านักแสดงหนุ่ม โดห์นัลล์ กลีสัน คือนักแสดงในอุดมคติสำหรับบทนักเดินทางข้ามเวลา ทิม เลก อย่างไรก็ดี เพียงแค่แนะนำตัว กลีสันก็ทำให้ทุกคนต้องช็อคไปตามๆ กัน
ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Anna Karenina กลีสันได้มาพบปะกับเคอร์ติส ในสภาพผมยาว หนวดเครารุงรัง เคอร์ติสหัวเราะเมื่อพูดถึงการพบกันครั้งนั้น “ในทีแรก คงยากมากที่จะเลือกโดห์นัลล์ เขาปรากฏตัวขึ้นในสภาพหนวดเคราเป็นสีส้ม เขาดูเหมือนจอมเผด็จการรัสเซียที่อายุสัก 35 ปี สำหรับผมแล้วมันยากที่จะจินตนาการว่าจริงๆ แล้วหน้าตาเขาเป็นยังไง แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ง่ายมาก เขามีคุณสมบัติมากมายหลายอย่างที่ผมชอบมากที่สุดในตัวนักแสดง และเขาก็มีลักษณะแบบนั้นในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชน เขามีความสงสัย มีจิตใจที่ดี และมองโลกในแง่ดี และเขายังเป็นคนตลกมาก”
นอกจากลักษณะภายนอกที่ดูดิบเถื่อนแล้ว ทางทีมผู้อำนวยการสร้างยินดีที่ได้นักแสดงหนุ่มชาวไอริชผู้นี้มาร่วมงานด้วยในฐานะนักแสดงนำของพวกเขา บีแวนกล่าวชมว่า “โดห์นัลล์คือนักแสดงหนุ่มที่เก่งมาก เขามีความสามารถที่แสดงบทดราม่าได้ดีสุดๆ และยังเป็นคนตลกมาก ซึ่งถือเป็นส่วนผสมที่ไม่ธรรมดาเลย” ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่สนใจที่ดารานำของเขา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีมากที่สุดจากบทสำคัญในภาพยนตร์ชุด Harry Potter ถือเป็นทางเลือกที่ไม่เป็นไปตามแบบแผนเอาเสียเลย บีแวนกล่าวต่อไปว่า “มันช่างทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่ามากที่ได้เห็นหน้าใหม่ๆ มารับบทนำในภาพยนตร์ของ ริชาร์ด เคอร์ติส เป็นใบหน้าที่ต่างออกไป ไม่ใช่เด็กหนุ่มหน้าหล่อทันสมัย เขาทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป”
ในนาทีที่ About Time เริ่มต้นเรื่องขึ้น คนดูได้เห็น ทิม ซึ่งเป็นผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง เขามีความสับสน แต่ก็ดูเป็นฮีโร่ที่น่าคบหา ผู้กำลังเดินผ่านชีวิตของเขาในระดับความเชื่อมั่นเดียวกับที่คนธรรมดาส่วนใหญ่สามารถมีได้ “คุณรักตัวละคร ทิม ตั้งแต่เริ่มต้น” เคนทิช บาร์นส์บอก “คุณอยากให้เขาประสบความสำเร็จเมื่อเขาได้พบคนที่เขารัก”
เมื่อกลีสันได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก เขาหัวเราะเสียงดัง ซึ่งเขาถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี กลีสันกล่าวว่า “มันเป็นความโล่งใจที่น่ารักมากที่ได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มันมีเรื่องราวที่บอกเล่าถึงวิถีในการใช้ชีวิตของคุณ ซึ่งผมพบว่ามีค่าและงดงามมาก นั่นคือคำแนะนำของริชาร์ดที่นำสู่หนังเรื่องนี้สำหรับผม และนั่นก็คือสิ่งที่ผมพยายามจะเก็บเอาไว้ในใจเสมอขณะที่เราถ่ายทำกัน”
เมื่อได้กลีสันมารับหน้าที่ดารานำแล้ว ทางทีมผู้สร้างเดินหน้าต่อไปเพื่อหานักแสดงในบท แมรี่ หญิงสาวชาวอเมริกันที่ทิมหลงรัก แต่งงาน และสร้างครอบครัวด้วยกัน เพราะคิวงานรัดตัวของ เรเชล แม็คอดัมส์ ทางทีมผู้สร้างจึงไม่แน่ใจว่าเธอจะสามารถมาร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ดี ที่พวกเขาแทบไม่รู้เลยก็คือเธอชื่นชอบบทภาพยนตร์เรื่องนี้มาก
เคอร์ติสตื่นเต้นมากที่นักแสดงสาวผู้มีความสามารถระดับแม็คอดัมส์ เซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเล่าว่า “เรเชลคือคนที่ทุกครั้งที่ผมเห็นเธอในภาพยนตร์ ผมจะหลอมละลายไปด้วยความรู้สึกที่ทั้งสบายใจและมีความรัก เราโชคดีจริงๆ ที่ได้ตัวเธอมา”
บีแวนเห็นด้วยว่าแม็คอดัมส์คือคนที่เหมาะที่สุดสำหรับบทนี้ “เรเชลมีคุณสมบัติแบบสาวธรรมดาๆ ที่อยู่ข้างบ้านคุณ เธอมีความงาม มีอารมณ์ขัน วาจาคารมคมคาย แต่เธอก็มีความสามารถในฐานะนักแสดงที่จะทำให้ใครก็ตามที่เธอรับบทอยู่ ดูยอดเยี่ยมมากพอกัน”
แม็คอดัมส์เล่าถึงสิ่งที่ดึงดูดเธอมาสู่บทนี้ “ฉันเพลิดเพลินกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ และฉันก็รักเนื้อหาของมัน มันน่าประทับใจกับความเรียบง่าย แต่เป็นความดีงามที่มีความหมายของเรื่องนี้ และฉันก็ชอบตัวละครทุกตัว ฉันรู้ว่าการเซ็นสัญญาแสดงภาพยนตร์ของ ริชาร์ด เคอร์ติส คือสัญญาที่ดีแน่ เขาเป็นคนใจดี มีสปิริต และยังทุ่มเทตัวเองให้กับงานอีกด้วย”
แม็คอดัมส์รู้สึกดีใจที่ตัวละครของเธอมีความซับซ้อนมากพอๆ กับชายคนรักบนจอของเธอ เธอกล่าวว่า “แมรี่มีส่วนผสมที่ทำให้สนุกมากระหว่างความเชื่อมั่นและความความไม่มั่นใจอย่างที่สุด แต่แล้วเมื่อเธอได้พบทิม เธอเหมือนกับเบ่งบาน เขานำเธอไปยังทิศทางที่เธอควรจะเดินไป และจิ๊กซอว์ก็ต่อเข้ากันพอดีในที่สุด”
สำหรับนักแสดงสาวผู้มีประสบการณ์สูงผู้นี้ การทำงานกับกลีสันคือความสนุกจนทำให้ประหลาดใจ เธอกล่าวว่า “มันวิเศษมากที่ได้มาเห็นโดห์นัลล์เปลี่ยนแปลงจากการเป็นทิมตอนเป็นวัยรุ่นมาเป็นทิมที่อายุมากขึ้น เขามีพลังในการแสดงท่าตลกๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจังหวะในการปล่อยมุขของเขาก็ไร้ที่ติจริงๆ เขาดูจะหาอารมณ์ขันได้เสมอ โดห์นัลล์เป็นคนติดดินมาก ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีสำหรับตัวละคร เขาทำให้ทุกอย่างดูสำคัญไปหมด”
กลีสัน ดารานำชายของแม็คอดัมส์ กล่าวตอบแทนในลักษณะเดียวกัน “เรเชลนำความตรงไปตรงมาอันงดงามนี้มาสู่ตัวละครของเธอ เธอตลก เธอแสดงสิ่งที่บริสุทธิ์และไม่ซับซ้อนออกมาในอารมณ์ที่ดีที่สุด มันคือความสุขที่ได้อยู่ในกองถ่ายกับเธอตลอดเวลา”
ในการเลือกตัวนักแสดงในบทพ่อของทิม ทีมผู้สร้างหันไปหานักแสดงเจ้าบทบาทที่เป็นขาประจำในภาพยนตร์ของเคอร์ติสอย่าง บิลล์ ไนฮีย์ ผู้เปิดตัวในภาพยนตร์ของเคอร์ติสเป็นครั้งแรกในบท ร็อคเกอร์รุ่นใหญ่ ในภาพยนตร์เรื่อง Love Actually “พ่อของทิมเป็นส่วนผสมแสนแปลกของคนมากมายที่ผมเคยพบเจอมา” เคอร์ติสอธิบาย “ผมใส่ความรู้สึกเกี่ยวกับพ่อของผมลงไปในตัวละครตัวนี้เยอะมาก เป็นไอเดียที่น่าสนุกที่ให้บิลล์มาแสดงบทนี้ การได้เลือกเพื่อนที่คุณรักมากจริงๆ มารับบทนี้ เป็นความสุขอย่างที่สุดครับ”
About Time เป็นครั้งที่ 4 ที่ไนฮีย์ได้ร่วมงานกับเคอร์ติส โดยทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง The Boat That Rocked และ The Girl in the Café “ผมชอบทำงานกับริชาร์ดนะ” ไนฮีย์ ซึ่งเสนอมุมมองที่มีต่อพ่อของทิม กล่าวว่า “ตัวละครของผมสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ และบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ในชีวิตของเขาก็คือจงทำให้ทุกอย่างเรียบง่ายเข้าไว้ และจงให้คุณค่ากับเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป สิ่งสำคัญก็คือความอ่อนโยน ความรัก และความนับถือระหว่างตัวคุณเองกับมนุษย์คนอื่นๆ สิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คอยค้ำจุนเขาไว้”
ขณะที่เขาคือนักแสดงที่มีประสบการณ์มากที่สุดในทีมนักแสดงกลุ่มนี้ แต่ไนฮีย์ก็ขอยกความดีความชอบให้กับคนที่ควรจะได้รับมัน เขากล่าวว่า “เรเชลและโดห์นัลล์เติมเต็มกันและกันทั้งในส่วนของจิตวิญญาณและการสร้างโทนการแสดงของพวกเขา พวกเขาเป็นทั้งคนและนักแสดงที่น่าประทับใจอย่างมาก”
ที่เข้ามาประกบบทกับตัวละครของไนฮีย์ ก็คือ ลินด์เซย์ ดันแคน ผู้รับบทแม่ของทิม หัวหน้าฝ่ายหญิงของครอบครัว ผู้หญิงที่มีต้นแบบเป็นสมเด็จราชินี ดันแคนบอกว่า “เธอเป็นเสาหลักของครอบครัวนี้ เป็นหัวใจ วิธีการดำเนินชีวิตของเธอช่างมีความแปลกใหม่และน่าชื่นชมอย่างมาก เธอตัดสินใจเลือกเอง และเธอก็ดำเนินชีวิตไปกับมัน”
ดันแคนให้ความเห็นเกี่ยวกับสไตล์ของเคอร์ติสว่า “ริชาร์ดเข้าถึงหัวใจของคุณ คุณร้องไห้เมื่ออ่านบทภาพยนตร์ของเขา คุณร้องไห้เกี่ยวกับการตกหลุมรัก และคุณร้องไห้ให้กับความเจ็บปวดของผู้คน ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่คุณพบได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ การใช้ชีวิตของพวกเขา การได้รักใครสักคน ความต้องการใครสักคน และความทุกข์ทรมานจากการสูญเสียคนที่รักไป”
ลูกชายบนจอของเธอ พูดถึงการทำงานของดันแคน “บิลล์กับลินด์เซย์คือพ่อแม่ในอุดมคติจริงๆ ครับ” กลีสันเล่า “พวกเขาน่ารักและจริงใจ และในฐานะนักแสดง นั่นทำให้มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีมากกับการมีพวกเขาอยู่ด้วยตลอดเวลา ผมเคยเห็นพวกเขาในหนังหลายต่อหลายเรื่อง และรู้ว่าพวกเขาเก่งมาก แต่ผมไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจมาพบว่ามันง่ายขนาดไหนที่ได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา ริชาร์ดเป็นคนฉลาดมากในเรื่องของการรวบรวมนักแสดง ทำให้ครอบครัวนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นครอบครัวจริงๆ และผมก็มีความสุขมากที่ได้อยู่กับพวกเขา และรู้สึกรักพวกเขาจริงๆ”
ที่มาร่วมแสดงในบท แฮร์รี่ เจ้าของบ้านเช่าที่อารมณ์เสียง่ายที่ทิมเช่าห้องอยู่ในลอนดอน ทีมผู้สร้างเลือก ทอม ฮอลแลนเดอร์ ผู้เคยรับบทเป็นมิสเตอร์คอลลิ่นส์ได้อย่างโดดเด่นในภาพยนตร์ปี 2005 เรื่อง Pride & Prejudice “ตอนที่คุณย้ายออกจากบ้านเป็นครั้งแรก คุณมักลงเอยด้วยการไปอยู่กับคนที่อย่างน้อยคุณก็อยากจะอยู่ด้วย” เคอร์ติสบอก “ผมเลยคิดว่าคงจะสนุกดี เมื่อทิมออกจากบ้าน เขาควรจะลงเอยกับการอยู่กับคนที่น่าอยู่ด้วยน้อยที่สุดในโลก เรื่องสนุกเกี่ยวกับตัวทอมก็คือ เขาเก่งมากในการแสดงเป็นคนแย่ๆ ห่วยๆ แต่ภายใต้รูปลักษณ์ที่ดูแย่ เขากลับกำลังเล่นเป็นคนที่ดีมาก”
ฮอลแลนเดอร์กล่าวตอบถ้อยคำชมของเคอร์ติสว่า “ริชาร์ดคือคนที่มีนิสัยน่ารักอ่อนหวาน เป็นคนที่มีพลังไม่จำกัด และมักจะมีเวลาให้ทุกคนเสมอ เขาเป็นผู้ชายพิเศษผู้มีอุดมการณ์ของเขาเองเกี่ยวกับโลกนี้ นั่นคือสิ่งที่สร้างลักษณะที่ดูน่ารัก จิตใจดีในหนังตลกโรแมนติคของเขา อย่างน้อยนั่นก็คือสิ่งที่เขาบอกผมให้พูดนะ”
นักแสดงหญิง ลิเดีย วิลสัน ได้รับการติดต่อให้มารับบทเป็น คิทแค็ท น้องสาวสุดที่รักของทิม ซึ่งมีบทบาทที่ซับซ้อนในชีวิตของเขา เธอกลายเป็นเพียงคนเดียว นอกจากพ่อของเขา ที่ทิมเปิดเผยความลับเรื่องที่เขาสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาได้ วิลสัน ซึ่งก่อนนี้เคยร่วมแสดงอยู่ในภาพยนตร์ของ มาร์ก โรมาเน็ก เรื่อง Never Let Me Go และยังร่วมแสดงในซีรีส์ทางทีวี เรื่อง South Riding คือคนที่เข้ามาเพิ่มความวุ่นวายให้กับความพยายามของทิมที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นระบบระเบียบ การที่เขาพยายามช่วยเหลือเธอให้พ้นจากการตัดสินใจแย่ๆ ของเธอเอง ส่งผลต่อชีวิตของเขา รวมถึงแมรี่และลูกของพวกเขาด้วย
ที่มาร่วมแสดงอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ก็คือ มาร์ก็อต ร็อบบี้ ผู้รับบทเป็น ชาร์ล็อตต์ ผู้หญิงที่เป็นรักแรกของทิม และเธอเป็นหญิงสาวที่ก้าวเข้ามาในชีวิตของทิมเมื่อเขาพบว่าเขาสามารถเดินทางข้ามกาลเวลาได้ เคอร์ติสอธิบายว่า “เมื่อชาร์ล็อตต์มาพักอยู่กับพวกเลกในช่วงฤดูร้อนปีนั้น ทิมได้ใช้ประโยชน์จากความสามารถในการเดินทางข้ามกาลเวลาของเขาเพื่อแก้ไขทุกสถานการณ์ และทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบระหว่างเขากับชาร์ล็อตต์ แต่มันไม่เคยลงเอยเช่นนั้น ถึงแม้เขาจะพยายามสักแค่ไหน”
ริชาร์ด คอร์เดอรี่ ได้รับเลือกให้มารับบทลุงของทิมที่เป็นคนคิดอะไรง่ายๆ แต่ตั้งใจดี ขณะที่ โจชัวร์ แม็คไกวร์ และวิลล์ เมอร์ริค รับบทเป็นเพื่อนสนิทของทิม วาเนสซ่า เคอร์บี้ เข้ามารับบทเป็นเพื่อนสนิทของแมรี่ และทอม ฮิวจ์ส มารับบทเป็นแฟนหนุ่มนิสัยไม่ดีของ คิทแค็ท
นักแสดงคนเก่ง ริชาร์ด อี แกรนท์ และริชาร์ด กริฟฟิธส์ ผู้ล่วงลับ มาร่วมแสดงในบทรับเชิญ โดยรับบทเป็นดารานำในละครของแฮร์รี่ ฉากนี้ถือเป็นหนึ่งในฉากที่ท้าทายและสนุกที่สุดสำหรับเคอร์ติส เขาเล่าว่า “งานนี้ต้องใช้กลเม็ดน่าดูกับการมีริชาร์ดถึงสามคนมาอยู่ในกองถ่าย เพราะเวลามีคนเอ่ยขึ้นว่า ‘ริชาร์ด’ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาหมายถึงริชาร์ดคนไหน”
เคนทิช บาร์นส์กล่าวชมทีมนักแสดงของเขาว่า “ไม่มีข้อบกพร่องเลยในทีมนักแสดงของเรา พวกเขาทุกคนต่างเป็นคนเก่ง พวกเขาเป็นคนดีด้วย ดังนั้นเราจึงประสบความสำเร็จมากเกินกว่า 100 เปอร์เซนต์”
การทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น:
โลเกชั่นและงานออกแบบ
About Time เริ่มต้นการถ่ายทำนานเก้าอาทิตย์ในเดือนมิถุนายน 2012 โดยพวกเขาถ่ายทำสามอาทิตย์ในคอร์นวอลล์ ห้าอาทิตย์ในโลเกชั่นในลอนดอน และหนึ่งอาทิตย์ที่อีลิ่ง สตูดิโอส์
แต่เริ่มเดิมที เมื่อเคอร์ติสจรดปลายปากกาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เขานึกถึงภาพสก็อตแลนด์เอาไว้ในหัว เพื่อให้เป็นโลเกชั่นสำหรับบ้านของครอบครัวเลก อย่างไรก็ดี ทางทีมผู้สร้างไม่มีโชคมากพอที่จะหาบ้านที่เหมาะสมในสก็อตแลนด์ได้ พวกเขาจึงย้ายมายังคอร์นวอลล์ เคอร์ติสและทีมผู้อำนวยการสร้างเริ่มต้นรวบรวมทีมงานหลังกล้อง ที่จะเป็นคนทำให้จินตนาการของเขามีชีวิตขึ้นมาได้
โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ จอห์น พอล “เจพี” เคลลี่ไม่เคยทำงานกับเคอร์ติสมาก่อน และรู้สึกพอใจมากที่พบความคล้ายคลึงกันระหว่างเคอร์ติสและผลงานภาพยนตร์ของเขา เคลลี่กล่าวว่า “ริชาร์ดเชื่อว่าโลกควรจะเป็นที่ที่น่าอยู่มากขึ้น และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็นำเสนอความคิดเช่นนั้น มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เขายึดถือ ถ้าคุณลองมองดูวันๆ หนึ่ง คุณสามารถทำให้มันเป็นวันที่ดี หรือวันที่ลำบากยังไงก็ได้แล้วแต่คุณต้องการ เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก เขาเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวและงานของเขา ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลย”
เคลลี่เองก็มีจินตนาการเฉพาะเมื่อเขาค้นหาโลเกชั่นสำหรับการถ่ายทำ เขาต้องการบ้านที่จะต้องดูสมจริง สามารถเติมเต็มเสน่ห์และความมหัศจรรย์ของเรื่องนี้ได้ เคอร์ติสเองก็มีความคาดหวังหลายอย่าง เขาอธิบายว่า “ผมอยากมองเห็นทะเลจากหน้าต่าง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมระลึกถึงเรื่องนั้นเอาไว้ในใจ เมื่อพ่อคุยกับลูกชายของเขา คุณสามารถมองเห็นทะเลผ่านทางหน้าต่างห้องนั้น”
About Time เริ่มต้นเรื่องในบ้านในคอร์นวอลล์ ที่ซึ่งทิมและครอบครัวของเขาใช้ชีวิตอยู่ เคอร์ติสกล่าวว่า “เรื่องจะกลับไปที่นั่นเสมอ เหมือนที่ชีวิตจริงเป็นเมื่อคุณหมั้นหมาย เมื่อคุณมีลูก เมื่อมีคนไม่สบาย บ้านเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโต การสูญเสียคนบางคน และการได้คนมาเพิ่ม”
บ้านตระกูลเลกที่ทีมงานค้นพบ คือบ้านยุค 1850 ในพอร์ธพีน ที่มีสวนที่หันหน้าออกทะเล และมีเส้นทางที่สามารถเดินลงไปยังชายหาดได้ อันที่จริง คงไม่สามารถหาสถานที่ใดอีกแล้วที่จะตรงกับจินตนาการของเคลลี่และเคอร์ติสมากเท่านี้ ฉากส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวนี้ ถ่ายทำกันที่บ้านหลังนี้
โลเกชั่นอื่นๆ ที่ถูกใช้สำหรับการถ่ายทำในคอร์นวอลล์ ได้แก่ หมู่บ้านประมงพอร์ทโล ซึ่งใช้ถ่ายทำฉากงานแต่งงานกลางแจ้ง โบสถ์เซนต์ไมเคิล เพนเควิล ถูกใช้ถ่ายทำในฉากงานแต่งงาน และชายหาดวาล์ทบีช ในกอร์แรน เฮเว่น ถูกใช้ถ่ายทำฉากที่ครอบครัวนี้นั่งดื่มชายามบ่ายกันบนชายหาด
“คอร์นวอลล์คือสถานที่ที่ดูให้การต้อนรับมากที่สุด” เคอร์ติสกล่าว “ข้อดีก็คือ คอร์นวอลล์กลับกลายเป็นที่ที่มีคุณสมบัติเหล่านั้นทั้งหมด ทั้งในทางสังคมและในเรื่องของภาพ ในแบบที่ผมต้องการจากบ้านหลังนี้ รวมถึงพื้นที่รอบด้าน มันมีบุคลิกที่โดดเด่นในแบบของมันเอง และยังเป็นพื้นที่ที่งดงามของประเทศอีกด้วย”
ก่อนเริ่มต้นการถ่ายทำ เคอร์ติสได้พบกลีสันและแม็คอดัมส์ และเดินทางไปยังร้านอาหาร แดนส์ เลอ นัวร์ ในลอนดอน ที่ซึ่งตัวละครของพวกเขาจะได้เจอกันเป็นครั้งแรก ร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านที่อยู่ในความมืด และลูกค้าจะถูกนำตัวเข้าไปในร้านและเซิร์ฟอาหารด้วยพนักงานตาบอด แม้จะถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ใช่ว่าทุกคนจะตื่นเต้นกับมัน “ฉันพบว่ามันน่ากลัวมาก” แม็คอดัมส์เล่า “คุณไม่รู้เลยว่าทางออกอยู่ตรงไหน คุณไม่รู้ว่าคนรอบๆ ตัวคุณทำอะไรอยู่ และคุณก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบนจานอาหารคุณ ฉันนำประสบการณ์นั้นใส่ลงไปในฉากนี้สำหรับตัวละครของฉัน แมรี่รู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก และไม่แน่ใจกับเรื่องทั้งหมด เมื่อเธอได้พบทิม เขาดูเป็นสัญญาณสำหรับเธอ เธอรู้สึกดีใจที่ได้พบใครสักคน และสามารถที่จะพึ่งพาคนๆ นั้นในความมืดได้”
เสื้อผ้าในแต่ละสมัย:
เครื่องแต่งกายในภาพยนตร์ตลก
สำหรับ About Time ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แวริตี้ ฮอว์กส์ ได้รับภารกิจที่ไม่ธรรมดาในการออกแบบเสื้อผ้าให้กับเหล่านักเดินทางข้ามเวลา ฮอว์กส์เล่าว่า “สำหรับทิม เราต้องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เป็นวัยรุ่นที่ไม่ค่อยเชื่อมั่น ไปเป็นชายหนุ่มที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้น คุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกเสื้อผ้าของเขา เราไม่อยากเสียบุคลิกเด่นของเขาไปเมื่อเขาอายุมากขึ้น เขาต้องยังคงรักษาเสน่ห์ในแบบที่เขามีเอาไว้เสมอ”
การแต่งตัวให้แม็คอดัมส์ ในบท แมรี่ เป็นประสบการณ์ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งสำหรับฮอว์กส์และแม็คอดัมส์เอง ฮอว์กส์กล่าวว่า “ฉันไม่อยากให้เสื้อผ้าของแมรี่ดูเป็นงานแฟชั่นจ๋า แมรี่จะดูเป็นคนจริงๆ มากกว่า ดังนั้นเราจึงทำงานร่วมกันในการหาสมดุลที่จะแสดงให้เห็นถึงด้านประหลาดๆ ที่ไม่เหมือนใครของเธอ เรเชลสนใจว่าแมรี่ควรจะใส่อะไร และเมื่อไหร่ที่เธอควรสวมใส่มัน และทำไม เธอกระโดดเข้ามาทำงานเต็มตัวและคอยช่วยเหลืออย่างดี”
การสร้างภาพลักษณ์ให้กับ คิทแค็ท ตัวละครของวิลสัน แวริตี้ใช้แนวทางตามที่บทภาพยนตร์เขียนไว้ว่า น้องสาวของทิมควรจะสวมใส่ชุดและใช้ข้าวของที่เป็นสีม่วง “มันคือกระบวนการที่แสนสนุกสนานที่จะตามหาข้าวของสีม่วงให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้” ดีไซเนอร์ฮอว์กส์หัวเราะ “คิทแค็ทเป็นคนประเภทที่เอาทุกอย่างมาผสมรวมกัน ดังนั้นแต่ละชุดของเธอจึงเป็นการรวบรวมที่สนุกมาก เธอสวมใส่เสื้อผ้าที่เป็นการผสมผสานกันของสิ่งต่างๆ”
ตัวละครตัวหนึ่งที่ฮอว์กส์ไม่เคยนึกฝันเลยว่าเธอจะต้องมาแต่งตัวให้ตลอดเรื่องราวของ About Time ก็คือองค์สมเด็จราชินี อย่างไรก็ดี นั่นคือสิ่งที่จำเป็นเมื่อถึงเวลาหาชุดให้แม่ของทิม เมื่อเธอยกให้สมเด็จพระราชินีเป็นเจ้าแม่แฟชั่นที่สมบูรณ์แบบ นั่นกลายมาเป็นวิธีการแต่งตัวของเธอ ฮอว์กส์กล่าวปิดท้ายว่า “ลินด์เซย์เป็นคนสวยมาก แต่เธอไม่ได้ดูเหมือนราชินี…ดังนั้น เราจึงสามารถเลือกชุดให้เธออย่างประนีประนอมได้”
****
ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับรีเลทิวิตี้ มีเดีย ผลงานการสร้างของเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล โดยมี โดห์นัลล์ กลีสัน, เรเชล แม็คอดัมส์ และบิลล์ ไนฮีย์ แสดงนำใน About Time ร่วมแสดงโดย ทอม ฮอลแลนเดอร์, มาร์ก็อต ร็อบบี้ ผู้ทำหน้าที่เลือกตัวนักแสดง ก็คือ ฟีโอน่า เวียร์ ดนตรีประกอบเป็นฝีมือของ นิค แลร์ด-โคลเวส ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์ตลกเรื่องนี้ ก็คือ แวริตี้ ฮอว์กส์ และผู้ลำดับภาพ คือ มาร์ก เดย์, ผู้ทำหน้าที่โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ให้กับ About Time คือ จอห์น พอล เคลลี่ และผู้กำกับภาพ ได้แก่ จอห์น กูเลสเซอเรี่ยน แอสโซซิเอท โปรดิวเซอร์ ได้แก่ เอ็มม่า ฟรอยด์ และทีมผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ ริชาร์ด เคอร์ติส, ลิซ่า ชาซิน, อามีเลีย แกรนเจอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย ทิม บีแวน, เอริค เฟลล์เนอร์, นิคกี้ เคนทิช บาร์นส์ About Time เขียนบทและกำกับโดย ริชาร์ด เคอร์ติส ©2013 Universal Pictures. www.abouttimemovie.com
ประวัตินักแสดง
โดห์นัลล์ กลีสัน (DOMHNALL GLEESON) รับบท ทิม
โดห์นัลล์ กลีสัน เคยได้รับเลือกจากนิตยสาร Variety ให้เป็นหนึ่งในสิบนักแสดงชายที่น่าดูที่สุดในปี 2012 และยังได้รับตำแหน่งนักแสดงแจ้งเกิดแห่งปี ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแฮมป์ตันส์ เมื่อเร็วๆ นี้ กลีสันเสร็จสิ้นจากงานถ่ายทำภาพยนตร์ของ เลนนี่ อับราแฮมสัน เรื่อง Frank ซึ่งเขารับบทนำเป็น จอน และร่วมแสดงกับ ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ ต่อไป เขาจะรับบทเป็น คาเล็บในภาพยนตร์ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ เรื่อง Ex Machina
ผลงานเมื่อเร็วๆ นี้ของกลีสัน ยังรวมถึงผลงานมินิซีรีส์ทางทีวีของ ชาร์ลี บรูกเกอร์ เรื่อง Black Mirror และภาพยนตร์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Anna Karenina ที่เขาร่วมแสดงกับ คีร่า ไนท์ลี่ย์, จู้ด ลอว์ และอลิเซีย ไวแคนเดอร์
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของกลีสัน ได้แก่ ภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมของ ทอม ฮอลล์ เรื่อง Sensation; ภาพยนตร์ของ พีท เทรวิส เรื่อง Dredd; ภาพยนตร์ของ เจมส์ มาร์ช เรื่อง Shadow Dancer; ภาพยนตร์ของพี่น้องโคเอน เรื่อง True Grit ซึ่งเขาประกบบทกับ เจฟฟ์ บริดเจส และจอช โบรลิน; ภาพยนตร์ของ มาร์ก โรมาเน็ก เรื่อง Never Let Me Go ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ แครี่ย์ มุลลิแกน และแอนดรูว์ การ์ฟิลด์; ภาพยนตร์ของ เอียน ฟิทซ์กิบบอน เรื่อง Perrier’s Bounty และภาพยนตร์ของ เดวิด เยทส์ เรื่อง Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1 and Part 2 ผลงานอื่นๆ ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ของ HBO Films เรื่อง A Dog Year ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ เจฟฟ์ บริดเจส; Studs; Boy Eats Girl และภาพยนตร์สั้นรางวัลออสการ์ Six Shooter
เรเชล แม็คอดัมส์ (RACHEL MCADAMS) รับบท แมรี่
บทบาทการแสดงที่เหมือนกิ้งก่าเปลี่ยนสีของ เรเชล แม็คอดัมส์ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับ เรเชล แม็คอดัมส์ กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ได้รับการยอมรับนับถือและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด
ปี 2013 เป็นปีที่แม็คอดัมส์มีงานยุ่งมาก เริ่มแรกเลยคือผลงานการแสดงในภาพยนตร์ของ เทอร์เรนซ์ มาลิค เรื่อง To the Wonder ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ เบน แอฟเฟล็ค, โอลก้า คูรีเลนโก้ และฮาเวียร์ บาร์เด็ม ซึ่งเปิดตัวฉายในเดือนเมษายน แม็คอดัมส์ยังร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ ไบรอัน เดอ พัลม่า เรื่อง Passion ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ นูมี่ ราเพซ นอกจากนี้ แม็คอดัมส์ยังเพิ่งปิดกล้องภาพยนตร์ของ แอนทอน คอร์บิน เรื่อง A Most Wanted Man ซึ่งเธอแสดงร่วมกับฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน
อีกไม่นานนี้ แม็คอดัมส์จะเข้าฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ คาเมรอน โครว์ ซึ่งเธอจะได้ร่วมแสดงกับ แบร็ดลี่ย์ คูเปอร์ และเอ็มม่า สโตน โดยมีกำหนดเริ่มต้นถ่ายทำในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ เธอยังจะให้เสียงพากย์กับตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง The Little Prince โดยร่วมงานกับ เจมส์ ฟรังโก้ และเจฟฟ์ บริดเจส
เมื่อเร็วๆ นี้ แม็คอดัมส์แสดงนำในภาพยนตร์ฮิตโกยเงินสามเรื่องสามแนว ได้แก่ Sherlock Homes: A Game of Shadows ซึ่งเธอกลับมารับบท ไอรีน แอ็ดเลอร์ โดยร่วมแสดงกับ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์; ภาพยนตร์ดราม่าโรแมนติค เรื่อง The Vow ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ แชนนิ่ง ทาทั่ม และภาพยนตร์ของ วูดี้ อัลเลน เรื่อง Midnight in Paris ซึ่งทำให้แม็คอดัมส์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากสมาคมนักแสดง ร่วมกับโอเว่น วิลสัน, เคธี่ เบ็ตส์, เอเดรี้ยน โบรดี้, มาริยง โกติลาร์ด, คาร์ล่า บรูนี่ และไมเคิล ชีน
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของแม็คอดัมส์ ได้แก่ Morning Glory ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ไดแอน คีตัน และแฮร์ริสัน ฟอร์ด; ภาพยนตร์ของ กาย ริทชี่ เรื่อง Sherlock Holmes; The Time Traveler’s Wife; ภาพยนตร์ของ นีล เบอร์เกอร์ เรื่อง The Lucky Ones; Married Life; The Family Stone ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ คีตัน และซาร่าห์ เจสซิก้า พาร์คเกอร์; ภาพยนตร์ของ เวส คราเว่น เรื่อง Red Eye ซึ่งเธอประกบบทกับ ซิลเลี่ยน เมอร์ฟี่; Wedding Crashers ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ โอเว่น วิลสัน, วินซ์ วอห์น และคริสโตเฟอร์ วอล์กเกน; ภาพยนตร์ของ นิค แคสซาเว็ตส์ เรื่อง The Notebook ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ไรอัน กอสลิ่ง และเรื่อง Mean Girls
บิลล์ ไนฮีย์ (BILL NIGHY) รับบท พ่อ
บิลล์ ไนฮีย์คือนักแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ระดับคว้ารางวัล เขาเคยได้รับรางวัลบัฟต้า, รางวัล London Critics’ Circle Film Award และรางวัล Evening Standard British Film Award จากการรับบทเป็นร็อคสตาร์รุ่นใหญ่ จากภาพยนตร์ตลกโรแมนติครวมดาราสุดฮิตประจำปี 2003 ของริชาร์ด เคอร์ติส เรื่อง Love Actually ไนฮีย์ยังได้รับรางวัล Los Angeles Film Critics Association Award จากภาพยนตร์เรื่อง Love Actually, AKA, I Capture the Castle และ Lawless Heart
เมื่อเร็วๆ นี้ ไนฮีย์ร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ โจนาธาน ลีเบสแมน เรื่อง Wrath of the Titans, ภาพยนตร์ของ ไบรอัน ซิงเกอร์ เรื่อง Jack the Giant Slayer และภาพยนตร์รีเมกของ เลน ไวส์แมน เรื่อง Total Recall สำหรับผลงานใหม่ ไนฮีย์จะร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง I, Frankenstein ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ แอรอน เอ็คฮาร์ท
ผลงานภาพยนตร์ที่มีอยู่อย่างมากมายของ ไนฮีย์ ได้แก่ Wild Target ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ รูเพิร์ต กรินต์ และเอมิลี่ บรันท์; ภาพยนตร์ของ เคอร์ติส เรื่อง The Boat That Rocked ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน; ภาพยนตร์ของ ซิงเกอร์ เรื่อง Valkyrie ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ทอม ครูซ; ภาพยนตร์ของ ริชาร์ด อายร์ เรื่อง Notes on a Scandal; Underworld, Underworld: Evolution และ Underworld: Rise of the Lycans; ภาพยนตร์ของ เฟอร์นันโด ไมเรลส์ เรื่อง The Constant Gardener ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล British Independent Film Award (BIFA) สาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยม; Lawless Heart และ Still Crazy ไนฮีย์ยังเป็นที่จดจำจากการรับบทเป็น กัปตันโจรสลัด เดวี่ โจนส์ ในภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest และ Pirates of the Caribbean: At World’s End เขายังให้เสียงพากย์กับภาพยนตร์การ์ตูนหลายเรื่อง อาทิเช่น Flushed Away
ทอม ฮอลแลนเดอร์ (TOM HOLLANDER) รับบท แฮร์รี่
ทอม ฮอลแลนเดอร์ร่วมสร้าง และแสดงนำในซีรีส์แนวตลกของ BBC 2 เรื่อง Rev โดยเป็นการร่วมงานกับ เจมส์ วู้ด
ฮอลแลนเดอร์เริ่มต้นเข้าวงการแสดงด้วยการแสดงละครเวทีมากมาย นอกจากนี้ เขายังมีผลงานภาพยนตร์ทั้งจอแก้วและจอเงิน เขาเคยได้รับรางวัลดาราสมทบชายยอดเยี่ยมแห่งปีจาก London Critics’ Circle British และได้รับรางวัล Evening Standard Peter Sellers Award for Comedy จากภาพยนตร์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Pride & Prejudice เขายังร่วมงานกับไรท์ในภาพยนตร์เรื่อง Hanna และ The Soloist ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest; Pirates of the Caribbean: At World’s End; ภาพยนตร์ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน เรื่อง Gosford Park; The Libertine; The Lawless Heart; A Good Year; ภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น โพเลียคอฟฟ์ เรื่อง The Lost Prince และ Cambridge Spies
มาร์ก็อต ร็อบบี้ (MARGOT ROBBIE) รับบท ชาร์ล็อตต์
มาร์ก็อต ร็อบบี้ สามารถแจ้งเกิดในวงการทีวีและภาพยนตร์ในอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเร็วๆ นี้ เธอเพิ่งปิดกล้องภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง The Wolf of Wall Street ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ โดยร็อบบี้รับบทเป็นภรรยาของเขา ซึ่งทำให้ร็อบบี้มีโอกาสได้ร่วมงานกับ แมทธิว แม็คคอนนาเฮย์, โจนาห์ ฮิลล์, ร็อบ ไรเนอร์, ฌอน ดูจาร์แดง, จอน แฟฟโรว์ และไคล แชนด์เลอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดเปิดตัวฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2013
เมื่อเร็วๆ นี้ ร็อบบี้เข้าฉากถ่ายทำภาพยนตร์ดราม่าเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อง Suite française ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ มิเชลล์ วิลเลี่ยมส์, แมทเธียส ชูเนิร์ตส์, รูธ วิลสัน และคริสติน สก็อตต์ โธมัส ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดเปิดตัวฉายในปี 2014
เมื่อเร็วๆ นี้ ร็อบบี้ได้รับเลือกให้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ เกลนน์ ฟีคาร์ร่า และจอห์น รีควา เรื่อง Focus ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ วิลล์ สมิธ ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเริ่มต้นถ่ายทำในฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ในนิวยอร์ก, นิวออร์ลีนส์ และอาร์เจนติน่า
ประวัติทีมงานหลังกล้อง
ริชาร์ด เคอร์ติส (RICHARD CURTIS) – ผู้เขียนบท/ ผู้กำกับ/ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร
ริชาร์ด เคอร์ติส เกิดในนิวซีแลนด์ในปี 1956 และเติบโตในฟิลิปปินส์, สวีเดน และสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตอยู่ในและนอกลอนดอนมานานกว่า 35 ปี เคอร์ติสเริ่มเขียนบทแนวตลกหลังจากออกจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในปี 1978 เขาเคยทำงานกับ โรวาน แอ็ทกินสัน งานแรกที่เขาได้ทำให้กับวงการทีวี ได้แก่ การเขียนบทให้รายการ Not the Nine O’Clock News ของ BBC จากนั้น เขาได้เขียนบทให้กับซีรีส์เรื่อง The Black Adder ซึ่งเป็นตลกสถานการณ์
เคอร์ติสเริ่มเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่องแรก ได้แก่ The Tall Guy ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย เมล สมิธ และนำแสดงโดย เจฟฟ์ โกลด์บลัม และเอ็มม่า ธอมป์สัน ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล บริษัทสร้างภาพยนตร์ที่เคอร์ติสร่วมงานด้วยมาตลอดนับแต่นั้น
ย้อนกลับมาที่งานด้านทีวี เคอร์ติสและแอ็ทกินสันได้เริ่มต้นทำงานกับ Mr. Bean ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในรายการตลกที่โด่งดังที่สุดของโลก ในปี 1993 เคอร์ติสเขียนบทให้กับเรื่อง Bernard and the Genie ซึ่งเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีที่นำแสดงโดย เลนนี่ เฮนรี่ และอลัน คัมมิ่ง
ผลงานภาพยนตร์เรื่องที่สองของเคอร์ติส ได้แก่ Four Weddings and a Funeral ซึ่งกำกับโดย ไมก์ นีเวลล์ และนำแสดงโดย ฮิวจ์ แกรนท์ และแอนดี้ แม็คโดเวลล์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวฉายในเดือนมีนาคม ปี 1994 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมาของ เคอร์ติส ได้แก่ Notting Hill ซึ่งนำแสดงโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์ และฮิวจ์ แกรนต์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวฉายในเดือนพฤษภาคม ปี 1999 ซึ่งในเวลานั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพยนตร์อังกฤษที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุด
เคอร์ติสยังร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Bean ซึ่งนำแสดงโดย แอ็ทกินสัน และเขายังเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones’s Diary ซึ่งนำแสดงโดย เรอเน่ เซลล์เวเกอร์, โคลิน เฟิร์ธ และฮิวจ์ แกรนต์
ในปี 2003 เคอร์ติสเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง Love Actually ภาพยนตร์รวมเรื่องรักที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์มาส ภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครเด่นถึง 22 ตัว อาทิเช่น เฟิร์ธ, แกรนต์, ธอมป์สัน, บิลล์ ไนฮีย์, เลียม นีสัน, มาร์ติน ฟรีแมน และบิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตัน เขายังร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Bridget Jones: The Edge of Reason
ในปี 2005 เคอร์ติสเขียนบทให้กับภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง The Girl in the Café ให้กับทาง HBO และ BBC ซึ่งนำแสดงโดย ไนฮีย์ และเคลลี่ แม็คโดนัลด์
ในปี 2008 เคอร์ติสร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง The No. 1 Ladies’ Detective Agency โดยเขาได้ร่วมงานกับ แอนโธนี่ มิงเกลล่า ในปีเดียวกันนั้น เคอร์ติสเขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Boat That Rocked ภาพยนตร์ตลกเกี่ยวกับสถานีวิทยุในปี 1966 และในปี 2011 เขาร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่อง War Horse
ทิม บีแวน และเอริค เฟลล์เนอร์ (TIM BEVAN and ERIC FELLNER) – ผู้อำนวยการสร้าง
ทิม บีแวน และเอริค เฟลล์เนอร์ ดำรงตำแหน่งประธานร่วมของบริษัท เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ฟิล์มส์ มาตั้งแต่ปี 1992 เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 มีผลงานภาพยนตร์มาแล้วมากกว่า 100 เรื่อง ซึ่งทำรายได้รวมกันมากกว่า $5 พันล้าน ผลงานภาพยนตร์ของบริษัทสามารถคว้ารางวัลออสการ์มาได้ถึง 10 รางวัล (จากภาพยนตร์ของ ทอม ฮูเปอร์ เรื่อง Les Misérables, ภาพยนตร์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Anna Karenina และ Atonement, ภาพยนตร์ของ ทิม ร็อบบิ้นส์ เรื่อง Dead Man Walking; ภาพยนตร์ของ โจล และอีธาน โคเอน เรื่อง Fargo และภาพยนตร์ของ เชการ์ กาปูร์ เรื่อง Elizabeth และ Elizabeth: The Golden Age
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ได้แก่ภาพยนตร์ของไมก์ นีเวลล์ เรื่อง Four Weddings and a Funeral; ภาพยนตร์ของ ริชาร์ด เคอร์ติส เรื่อง Love Actually; ภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น ดัลดรี้ เรื่อง Billy Elliot; ภาพยนตร์ของ โรเจอร์ มิเชลล์ เรื่อง Notting Hill; Mr. Bean และ Mr. Bean’s Holiday; ภาพยนตร์ของ เอ๊ดการ์ ไรท์ เรื่อง Shaun of the Dead และ Hot Fuzz; ภาพยนตร์ของ พอล และคริส ไวทซ์ เรื่อง About a Boy; ภาพยนตร์ของ เกร็ก ม็อตโตล่า เรื่อง Paul; ภาพยนตร์ของ อดัม บรู้กส์ เรื่อง Definitely, Maybe; ภาพยนตร์ของ ซิดนี่ย์ พอลแล็ค เรื่อง The Interpreter; Bridget Jones’s Diary และ Bridget Jones: The Edge of Reason (ซึ่งกำกับโดย ชารอน แม็คไกวร์ และบีแบน คิดรอน ตามลำดับ); ภาพยนตร์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Pride & Prejudice และ Atonement; ภาพยนตร์ของ บัลทาซาร์ คอร์มาเคอร์ เรื่อง Contraband ซึ่งนำแสดงโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก และเคท เบ็คกินเซล; Nanny McPhee และ Nanny McPhee and the Big Bang; Johnny English และ Johnny English Reborn; ภาพยนตร์ของ อาซีฟ คาพาเดีย เรื่อง Senna; ภาพยนตร์ของ พอล กรีนกราส เรื่อง United 93; ภาพยนตร์ของ รอน ฮาวเวิร์ด เรื่อง Frost/Nixon และภาพยนตร์เรื่องใหม่ Rush ที่นำแสดงโดย คริส เฮมส์เวิร์ธ และแดเนียล บรูห์ล
ผลงานใหม่ของเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ยังรวมถึงภาพยนตร์ของ เอ๊ดการ์ ไรท์ เรื่อง The World’s End ซึ่งนำแสดงโดย ไซม่อน เพ็กก์ และนิค ฟรอสต์; ภาพยนตร์ของ จอห์น โครว์ลี่ย์ เรื่อง Closed Circuit ซึ่งนำแสดงโดย เอริค บาน่า และรีเบ็คก้า ฮอลล์ และภาพยนตร์ของฮอสซีน อามินี่ เรื่อง The Two Faces of January ซึ่งนำแสดงโดย วิกโก้ มอร์เทนเซ่น, เคิร์สเต่น ดันสต์ และออสการ์ ไอแซ็ค
นิคกี้ เคนทิช บาร์นส์ (NICKY KENTISH BARNES) – ผู้อำนวยการสร้าง
นิคกี้ เคนทิช บาร์นส์ คือผู้ร่วมอำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ วูดี้ อัลเลน ถึงสี่เรื่อง โดยเธอได้ร่วมงานกับเขาในปี 2005 ในภาพยนตร์เรื่อง Match Point ซึ่งนำแสดงโดย สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน และโจนาธาน รีส เมเยอร์ส; Scoop ซึ่งนำแสดงโดย โจแฮนส์สัน, ฮิวจ์ แจ็คแมน และอัลเลน; Cassandra’s Dream ซึ่งนำแสดงโดย โคลิน ฟาร์เรลล์ และยวน แม็คเกรเกอร์ และในปี 2009 ในภาพยนตร์เรื่อง You Will Meet a Tall Dark Stranger ซึ่งนำแสดงโดย แอนโตนิโอ แบนเดอรัส, จอช โบรลิน, แอนโธนี่ ฮอปกิ้นส์ และนาโอมี่ วัตต์ส
เมื่อเร็วๆ นี้ เคนทิช บาร์นส์ได้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างร่วมให้กับภาพยนตร์ของ แลสส์ ฮอลสตรอม เรื่อง Salmon Fishing in the Yemen ซึ่งนำแสดงโดย ยวน แม็คเกรเกอร์ และเอมิลี่ บลันท์
ผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องอื่นๆ ของ เคนทิช บาร์นส์ ได้แก่ ภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ มาร์ก อีแวนส์ เรื่อง Trauma ซึ่งนำแสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ; ภาพยนตร์ของ พอลและคริส ไวทซ์ เรื่อง About a Boy ซึ่งนำแสดงโดย ฮิวจ์ แกรนต์,โทนี่ คอลเล็ตต์ และเรเชล ไวสซ์; ภาพยนตร์ของ เมล สมิธ เรื่อง High Heels and Low Lifes ซึ่งนำแสดงโดย มินนี่ ไดรเวอร์ และแมรี่ แม็คคอร์แม็ค และภาพยนตร์ของ จอห์น เฮนเดอร์สัน เรื่อง Loch Ness ซึ่งนำแสดงโดย เท็ด แดนสัน และโจลี่ ริชาร์ดสัน
ลิซ่า ชาซิน (LIZA CHASIN) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร
ลิซ่า ชาซินคือประธานโปรดักชั่นในอเมริกาของ เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ฟิล์มส์ มาตั้งแต่ปี 1996 ปัจจุบัน เธออยู่ระหว่างทำงานเตรียมงานสร้างให้กับภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น ดัลดรี้ เรื่อง Trash ซึ่งเขียนบทโดย ริชาร์ด เคอร์ติส และสร้างจากนิยายของ แอนดี้ มุลลิแกน และภาพยนตร์ของ เจมส์ มาร์ช เรื่อง Theory of Everything ซึ่งเขียนบทโดย แอนโธนี่ แม็คคาร์เทน
ส่วนผลงานที่ออกฉายในปีนี้ของเธอ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ เอ๊ดการ์ ไรท์ และไซม่อน เพ็กก์ เรื่อง The World’s End และภาพยนตร์ของ จอห์น โครว์ลี่ย์ เรื่อง Closed Circuit ซึ่งทั้งสองเรื่องเธอทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร
เมื่อเร็วๆ นี้ ชาซินทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ของ ทอม ฮูเปอร์ เรื่อง Les Misérables ซึ่งนำแสดงโดย ฮิวจ์ แจ็คแมน, แอนน์ แฮ็ทธาเวย์ และรัสเซลล์ โครว์ และภาพยนตร์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Anna Karenina ซึ่งนำแสดงโดย คีร่า ไนท์ลี่ย์ และจู้ด ลอว์ ชาซินยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ บัลทาซาร์ คอร์มาเคอร์ เรื่อง Contraband; ภาพยนตร์ของ โทมัส อัลเฟร็ดสัน เรื่อง Tinker Tailor Soldier Spy; ภาพยนตร์ของ โอลิเวอร์ พาร์คเกอร์ เรื่อง Johnny English Reborn; ภาพยนตร์ของ เกร็ก ม็อตโตล่า เรื่อง Paul; ภาพยนตร์ของ พอล กรีนกราสส์ เรื่อง Green Zone; ภาพยนตร์ของ เควิน แม็คโดนัลด์ เรื่อง State of Play; ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของ โจ ไรท์ เรื่อง Atonement และภาพยนตร์ของ อดัม บรูกส์ เรื่อง Definitely, Maybe
ชาซินยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสร้างของภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมมากมาย อาทิเช่น ภาพยนตร์ของ ทิม ร็อบบิ้นส์ เรื่อง Dead Man Walking; ภาพยนตร์ของพี่น้อง โจลและอีธาน โคน เรื่อง O Brother, Where Art Thou? and Fargo และภาพยนตร์สุดฮิตของ โรเจอร์ มิเชลล์ เรื่อง Notting Hill เธอยังร่วมอำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ พอล และคริส ไวทซ์ เรื่อง About a Boy, ภาพยนตร์ของ ชารอน แม็คไกวร์ เรื่อง Bridget Jones’s Diary, ภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น เฟรียร์ส เรื่อง High Fidelity, ภาพยนตร์ของ เชการ์ กาปูร์ เรื่อง Elizabeth และภาพยนตร์ของ ริชาร์ด เคอร์ติส เรื่อง Love Actually
อามีเลีย แกรนเจอร์ (AMELIA GRANGER) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร
อามีเลีย แกรนเจอร์คือรองประธานบริหารฝ่ายภาพยนตร์ของ เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ฟิล์มส์ เมื่อเร็วๆ นี้เธอทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Closed Circuit ซึ่งนำแสดงโดย เอริค บาน่า และรีเบ็คก้า ฮอลล์ นอกจากนี้ เธอยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับงานสร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่องของ เวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล อาทิเช่น Les Misérables, Anna Karenina, I Give It a Year, Tinker Tailor Soldier Spy และภาพยนตร์ใหม่เรื่อง The Two Faces of January
นิค แลร์ด-โคลเวส (NICK LAIRD-CLOWES) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ
นิค แลร์ด-โคลเวส นักดนตรีและนักแต่งดนตรี เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานแต่งดนตรีประกอบให้กับทั้งภาพยนตร์และสารคดีมาแล้วมากมาย อาทิเช่น ภาพยนตร์ของ อดัม บรู้กส์ เรื่อง The Invisible Circus ซึ่งนำแสดงโดย คาเมรอน ดิแอซ และภาพยนตร์ของ กริฟฟิน ดันน์ เรื่อง Fierce People ซึ่งนำแสดงโดย ไดแอน เลน และโดนัลด์ ซุทเธอร์แลนด์ เขายังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีให้กับภาพยนตร์ของ เบอร์นาร์โด เบอร์โตลุคชี่ เรื่อง The Dreamers
แวริตี้ ฮอว์กส์ (VERITY HAWKES) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย
แวริตี้ ฮอว์กส์เริ่มต้นทำงานในวงการด้วยการเป็นผู้ช่วยให้กับผู้กำกับมากมายหลายคน อาทิเช่น แดนนี่ แคนน่อน และพอล แอนเดอร์สัน
ในปี 1999 ฮอว์กส์เป็นคนออกแบบเสื้อผ้าให้กับภาพยนตร์ของ กาย ริทชี่ เรื่อง Snatch เธอได้ทำงานกับริทชี่อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Revolver ในปี 2005 ผลงานเมื่อเร็วๆ นี้ของเธอ ได้แก่ Trap for Cinderella ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองที่เธอร่วมงานกับ เอียน ซอฟต์ลี่ย์ โดยก่อนหน้านี้เธอเคยออกแบบเสื้อผ้าให้กับภาพยนตร์ของเขาเรื่อง Inkheart ในปี 2008
มาร์ก เดย์ (MARK DAY) – ผู้ลำดับภาพ
About Time คือความร่วมมือครั้งที่สองระหว่าง มาร์ก เดย์ และริชาร์ด เคอร์ติส หลังจากที่เคยร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง The Girl in the Café ซึ่งนำแสดงโดย บิลล์ ไนฮีย์ และเคลลี่ แม็คโดนัลด์
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเดย์ ได้แก่ การทำงานร่วมกับ เดวิด เยทส์ ในภาพยนตร์ Harry Potter สี่ตอนสุดท้าย ได้แก่ Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1 และ Part 2, Harry Potter and the Half-Blood Prince และ Harry Potter and the Order of the Phoenix; ภาพยนตร์ของ เดวิด แบลร์ เรื่อง Mystics; ภาพยนตร์ของ พอล กรีนกราสส์ เรื่อง The Theory of Flight และภาพยนตร์ของ จอห์น ชเลสซิงเกอร์ เรื่อง The Tale of Sweeney Todd
เมื่อเร็วๆ นี้ เดย์ร่วมงานกับผู้กำกับ โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด ในภาพยนตร์เรื่อง The Company You Keep ซึ่งนำแสดงโดย ไชอา ลาบัฟ และเร็ดฟอร์ด
ปัจจุบัน เดย์อยู่ระหว่างทำงานให้กับภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Ex Machina ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ โดยมีกำหนดเปิดตัวฉายในปี 2014
จอห์น พอล เคลลี่ (JOHN PAUL KELLY) – โปรดักชั่น ดีไซเนอร์
ทุกวันนี้ จอห์น พอล เคลลี่ อยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ของ เจมส์ มาร์ช เรื่อง Theory of Everything ซึ่งเป็นผลงานการสร้างของเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ สตีเฟ่น ฮอว์คิง
ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของเคลลี่ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ เฟอร์นันโด ไมเรลส์ เรื่อง 360 ซึ่งนำแสดงโดย แอนโธนี่ ฮอปกิ้นส์ และถ่ายทำกันในลอนดอน, เวียนนา และปารีส; ภาพยนตร์ของ จอห์น ไมเคิล แม็คโดนัลด์ เรื่อง The Guard ซึ่งนำแสดงโดย เบรนแดน กลีสัน และดอน เชียเดิล และภาพยนตร์ของ จัสติน แช็ดวิค เรื่อง The Other Boleyn Girl ซึ่งนำแสดงโดย นาตาลี พอร์ตแมน, สการ์เล็ตต์ โจตแฮนส์สัน และเอริค บาน่า ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเคลลี่ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ โรเจอร์ มิเชลล์ เรื่อง Venus ซึ่งนำแสดงโดย ปีเตอร์ โอทูล และ Enduring Love; ภาพยนตร์ของ ชาร์ลส์ สเตอร์ริดจ์ เรื่อง Lassie; ผลงานภาพยนตร์ของ ไมเคิล วินเทอร์บ็อตท่อม เรื่อง Tristram Shandy: A Cock and Bull Story; ภาพยนตร์ของ ทิม ฟายเวลล์ เรื่อง I Capture the Castle; ภาพยนตร์ของ พอล กรีนกราสส์ เรื่อง Bloody Sunday; ภาพยนตร์ของ จูเลี่ยน ฟาริโน่ เรื่อง The Last Yellow และภาพยนตร์ของ เชน มีโดว์ส เรื่อง Twenty Four Seven
จอห์น กูเลสเซอเรี่ยน (JOHN GULESERIAN) – ผู้กำกับภาพ
จอห์น กูเลสเซอเรี่ยนเคยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพให้กับภาพยนตร์ของ เดรก โดรีมัส เรื่อง Like Crazy ซึ่งคว้ารางวัล Grand Jury Prize ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ กูเลสเซอเรี่ยนได้ร่วมงานกับโดรีมัส อีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Breathe In ซึ่งนำแสดงดดย กาย เพียร์ซ และเฟลิซิตี้ โจนส์ ผลงานใหม่ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ไบรอัน โฮริวจิ เรื่อง Parts Per Billion ซึ่งนำแสดงโดย โรซาริโอ ดอว์สัน, จอช ฮาร์ตเน็ตต์ และจีน่า โรว์แลนด์ส รวมถึงภาพยนตร์ของ เคท บาร์เกอร์-ฟรอยแลนด์ เรื่อง Song One ซึ่งนำแสดงโดย แอนน์ แฮ็ทธาเวย์