กรุงเทพ ฯ 25 ตุลาคม 2565 : ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโรงละคร ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร ต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ ‘ปฏิบัติการตามล่าหาความจริง’ ไปกับละครเวทีเรื่อง “ปริศนาภริยาคนที่ ๒” กำกับการแสดงโดย ดังกมล ณ ป้อมเพ็ชร ซึ่งนำบทละครของ Luigi Pirandello (ลุยจิ ปิรันเดลโล) กลับมารีสเตจในรูปแบบที่ ต๊าช กว่าเดิม โดยดังกมลได้ให้เหตุผลในการหยิบบทละครเรื่องนี้มาทำว่า
“ปริศนาภริยาคนที่ ๒ เป็นละครที่มีเรื่องราวน่าติดตาม เป็นคอเมดี เสียดสีกัดเจ็บที่เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบันมาก เพราะเป็นยุคที่ข้อมูล ข่าวสารถูกสร้าง ขยายความ เผยแพร่ และส่งต่อไปอย่างรวดเร็ว และ หลาย ๆ คน ก็สนุกกับการได้เป็นทั้งนักสืบ นักเสพ นักข่าว นักวิจารณ์ ในประเด็นและเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็น เรื่องจริง ความเห็น ความเชื่อ ข่าวลือ หรือจินตนาการ นักแสดงในเรื่องมีทั้งอาจารย์และนิสิตปัจจุบันระดับปริญญาตรีและโทของภาควิชาศิลปการละคร นักแสดงรับเชิญ และนักแสดงอาชีพ ได้แก่ จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ (รับบท นายอำเภอหัวหน้าทีมนักสืบ) กวินธร แสงสาคร (รับบท เสรี เศรษฐีประจำจังหวัด) ณัฐ อมรบวรวงศ์ (รับบท เลิศล้ำ หนุ่มนักปรัชญา) ภัสสร์ศุภางค์ คงบำรุง (รับบท จันทา สตรีผู้มี ความลับ) ปภังกร จึงตระกูล (รับบท พล ชายหนุ่มผู้มีชีวิตปริศนา) ร่วมด้วย เกียรติศักดิ์ แสงอรุณ สุหรรษา จารุรัตนา ชญาณี วรพงศ์พินิจ อลิษา มุสิกสินธร วิชญ์กาญจน์ เกศะรักษ์ กาญติมา ชัยศิริพงศ์ และ ชยาภรณ์ เนื่องชุมพร ที่จะมารับบทเหล่าชาวเมืองที่พร้อมจะสืบและเผยแพร่ความลับของชาวบ้านในทุกมิติ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ชมมีทั้งเสียงหัวเราะ และข้อคิดกลับไป”
“ปริศนาภริยาคนที่ ๒” เป็นหนึ่งในผลงานของ ลุยจิ ปิรันเดลโล นักประพันธ์ชาวอิตาเลียนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมและได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำด้านการละครแนวใหม่ที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก หนึ่งในบทละครชื่อดังของเขาคือเรื่อง “Six Characters in Search of an Author” ซึ่งเคยถูกนำเสนอเป็นละครเวทีและภาพยนตร์มาหลายต่อหลายครั้ง ครั้งหนึ่งบทประพันธ์ชั้นเยี่ยมเรื่องนี้ก็เคยถูกดัดแปลงและจัด แสดงโดยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2515 และ 2517 โดยสดใส พันธุมโกมล ผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละครและ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์)
สำหรับเรื่อง “ปริศนาภริยาคนที่ ๒” เป็นละครเวทีแนวคอเมดี ที่ไม่ใช่สุขนาฏกรรมหรือละครขบขันเบาสมองทั่วไป แต่เป็นละครที่ต้องใช้ความคิดในการติดตามเรื่องราวที่ซับซ้อนและหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งว่าด้วยเรื่อง “ความจริงสองชุด” ที่ขัดแย้งชวนปวดประสาท ของ พล-ผู้ซึ่งเชื่อว่าภริยาคนแรกของเขาตายไปแล้วและตัดสินใจเริ่มต้น ชีวิตใหม่กับภริยาคนที่สอง กับเรื่องของ จันทา-แม่ยายผู้ซึ่งเชื่อว่าลูกสาว ของตนยังมีชีวิตอยู่ พร้อมกับการไขปริศนาตามหาความจริงเพียงหนึ่ง เดียวของเหล่าสมาชิกชมรมช่วยเหลือลูกบ้าน (ซึ่งจริง ๆ แล้วคือชมรม “ชอบเรื่องชาวบ้าน” !) ที่ต่างคนต่างพร้อมสาดสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นว่าเป็น ความจริงใส่กันอยู่ตลอดเวลา แล้วใครกันเล่าที่พูดความจริง ใครกันแน่ ที่เสียสติ ความจริงที่ซุกซ่อนอยู่คืออะไรกันแน่
โดยการแสดงในรอบสื่อมวลชนเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ได้มีแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชนมาร่วมชมละครอย่างคับคั่ง อาทิ ฯพณฯ มิสเตอร์ เปาโล ดิโอนิซิโอ เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย, รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วันชัย ตรียะประเสริฐ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์, รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ, นีรนุช ปัทมสูตร, ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์และเหล่าคนดังมากมาย
ภาควิชาศิลปการละครขอเรียนเชิญผู้ชมมาลิ้มลองรสชาติที่แปลกใหม่แต่ลงตัวไปพร้อมกับเหล่าสมาชิกสุดป่วนของชมรมช่วยเหลือลูกบ้าน (AKA “ชอบเรื่องชาวบ้าน”) ได้ที่ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2565 จองบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.ticketmelon.com/dramaartschula/right-you-are-th
ละครเวที ปริศนาภริยาคนที่ ๒ ทั้ง 12 รอบการแสดง
26 ตุลาคม – 28 ตุลาคม 2565 (พุธ-ศุกร์ 19.30 น.)
29 ตุลาคม 2565 (เสาร์ 14.00 น. และ 19.30 น.)
30 ตุลาคม 2565 (อาทิตย์ 14.00 น.)
2 พฤศจิกายน – 4 พฤศจิกายน 2565 (พุธ-ศุกร์ 19.30 น.)
5 พฤศจิกายน 2565 (เสาร์ 14.00 น. และ 19.30 น.)
6 พฤศจิกายน 2565 (อาทิตย์ 14.00 น.)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง : Facebook: DramaArtsChula
081-726-9909 (น้ำหวาน), 081-936-7559 (แบมแบม), 099-054-1454 (ปอนด์)
เรื่องย่อ
ปริศนาภริยาคนที่ ๒ เป็นบทละครสามองก์ ดัดแปลงจากบทละครชั้นเยี่ยมปี 1917 เรื่อง “Right You Are (If You Think You Are)” หรือ “Così è (se vi pare)” ในภาษาอิตาเลียนของ Luigi Pirandello นักเขียนบทละครรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมมากฝีมือ เจ้าของผลงานบทประพันธ์ระดับโลกอย่าง “Six Characters in Search of an Author” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกดัดแปลงเป็นละครประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และจัดแสดงในชื่อ “เกิดเป็นตัวละคร” ทั้งยังได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “Six Characters มายาพิศวง”
ปริศนาภริยาคนที่สอง บอกเล่าเรื่องราวชวนปวดประสาท เกี่ยวกับปฏิบัติการตามล่าหาความจริง ที่เหนือความคาดหมาย ของเหล่าสมาชิกช่วยเหลือลูกบ้าน ( AKA ชมรมชอบเรื่องชาวบ้าน ) ที่ต่อมกระหายใคร่รู้ถูกสะกิดเข้าอย่างจัง ด้วยท่าทางอันแสนพิลึกพิลั่นของเลขานุการคนใหม่ประจำตัวผู้ว่า ฯ อย่าง “พล” ผู้ซึ่งสูญเสียภริยาอันเป็นที่รักจากอุบัติภัยที่ตะลุมพุกและสร้างชีวิตใหม่กับภริยาคนที่สองของเขา ทว่าเรื่องราวภริยาคนที่สองของพลไม่ได้จบลงโดยง่ายเช่นนั้น เมื่อ “จันทา” แม่ยายผู้เศร้าโศกของพล ประกาศหนักแน่นว่าลูกสาวของตนยังมีชีวิตอยู่ และลูกเขยของตัวเองเสียสติ เมื่อเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ความสับสนวุ่นวายจึงบังเกิด ร้อนจนถึงนายอำเภอ และเหล่าสมาชิกสุดป่วนของชมรม ช่วยเหลือลูกบ้าน (AKA ชอบเรื่องชาวบ้าน) ต้องมาสืบหาความจริง แต่ใครกันเล่าที่พูดความจริง ใครกันแน่ที่เสียสติ ความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่ซุกซ่อนอยู่คืออะไรกันแน่ ร่วมค้นหาความจริง
ข้อมูลผู้เขียนบทละคร
Luigi Pirandello (ลุยจิ ปิรันเดลโล)
เป็นนักเขียนบทละครเวที นวนิยาย และเรื่องสั้นชาวอิตาเลียน ที่ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 1934 และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิด “โรงละครภายในโรงละคร” ในละครเรื่อง Sei personaggi in cerca d’autore หรือที่รู้จักกันในชื่อ Six Characters (1921) ทำให้เขาได้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของละครสมัยใหม่ นอกจากนี้เขายังมีผลงานอื่น ๆ เช่น Henry IV, The Rules of the Game รวมถึง Right You Are (If You Think You Are) ซึ่งจัดแสดงในชื่อปริศนาภริยาคนที่ ๒ ในครั้งนี้
ข้อมูลผู้กำกับการแสดง
ดังกมล ณ ป้อมเพ็ชร
- อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- อักษรศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม สาขาศิลปการละคร และจบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก Master of Fine Arts (MFA) in Theater Directing, City University of New York City at Brooklyn College ประเทศสหรัฐอเมริกา
- มีผลงานกำกับการแสดงละครเวทีมากมาย อาทิ เวนิสวาณิช ศึกอสรพิษ งดการสมรส ประชาธิปไตยโดยละม่อม เป็นต้น รวมถึงผลงานการแสดง อาทิ แฮมเลต ใน “To Be Or Not To Be”, อีดิปุส ในละครเวทีเรื่อง “อีดิปุสจอมราชัน”, แมคเบธ ในละครเวทีเรื่อง “แมคเบธ” เป็นต้น
เลิศล้ำ นักประพันธ์ไส้แห้ง น้องชายของอมรา
อมรา ภริยาของนายอำเภอศิวะ พี่สาวของเลิศล้ำ
ธิดา ลูกสาวของอมราและศิวะ
เด็กรับใช้ เด็กรับใช้ที่บ้านนายอำเภอศิวะ
เสรี เศรษฐีประจำอำเภอ
สาลี่ ภริยาของเสรี ประธานชมรมชมรมช่วยเหลือลูกบ้าน (AKA ชอบเรื่องชาวบ้าน)
ลิ้นจี่ สมาชิก ชมรมช่วยเหลือลูกบ้าน (AKA ชอบเรื่องชาวบ้าน)
ศิวะ นายอำเภอเมือง ณ จังหวัดแห่งหนึ่งใกล้กรุงเทพฯ
จันทา อดีตผู้ประสบภัยตะลุมพุก
พล ลูกเขยของจันทา
น้อยหน่า สมาชิก ชมรมช่วยเหลือลูกบ้าน (AKA ชอบเรื่องชาวบ้าน)
ราเชนทร์ สารวัตรประจำ สภอ. เมือง
ผู้ว่าฯ ผู้ว่าราชการจังหวัด ณ จังหวัดแห่งหนึ่งใกล้กรุงเทพฯ
จันทนา/จันทรา ภริยาของพล
รอบการแสดงของละครเวทีปริศนาภริยาคนที่ ๒
- 26 ตุลาคม – 28 ตุลาคม 2565 (พุธ-ศุกร์ 19.30 น.)
- 29 ตุลาคม 2565 (เสาร์ 14.00 น. และ 19.30 น.)
- 30 ตุลาคม 2565 (อาทิตย์ 14.00 น.)
- 2 พฤศจิกายน – 4 พฤศจิกายน 2565 (พุธ-ศุกร์ 19.30 น.)
- 5 พฤศจิกายน 2565 (เสาร์ 19.30 น.)
- 6 พฤศจิกายน 2565 (อาทิตย์ 14.00 น.)
มาตรการสำหรับผู้ชมในวันจัดการแสดง
- ผู้ชมทุกท่านต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 สำหรับผู้เข้ามาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เข้าถึงได้ที่ https://www.arts.chula.ac.th/assess/) โดยต้องจัดทำล่วงหน้าไม่เกิน 3 วันก่อนเข้าชมการแสดง พร้อมนำหลักฐานทำแบบประเมินมายื่นต่อทีมงานในวันจัดแสดง
- ผู้ชมต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการรับชมละครเวที