ฤดูหนาว…พืชตระกูลลมัน
ฤดูร้อน…..ผักหวานป่า ผักอีนูน ผักพฤกษ์
ฤดูฝน…….ผักเปราะ ผักสามสิบ อึ่งอ่าง แย้
นี่คืออาหารประจำถิ่นไทยเบิ้งที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันตามฤดูกาลที่มาเยือน ชุมชนชาวไทยเบิ้ง กลุ่มคนไทยที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต ที่นี่…พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี จัดกิจกรรมส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยเบิ้งด้วยตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 1 ตอน “อาหารการกินถิ่นไทยเบิ้ง กินตามฤดูกาล” เมื่อวันเสาร์ ที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยนายประทีป อ่อนสลุง กลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง ครูภูมิปัญญาเป็นแกนนำในการจัดงาน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
“สาเหตุที่เลือกการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นเรื่องของอาหารการกินถิ่นไทยเบิ้ง เพราะว่าได้มีการบรรจุเรื่องของอาหารเป็นหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กๆ ในชุมชนได้เรียน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้นำสิ่งที่พวกเขาเรียนมาได้มีที่แสดงออก จึงทำให้ดึงเรื่องของอาหารการกินมาเป็นจุดเด่นสำหรับการจัดกิจกรรมในคราวนี้ และที่สำคัญอาหารของไทยเบิ้งนั้นมีรูปแบบเฉพาะ คือ ไม่ใส่กะทิ ไม่ว่าจะเป็นแกงบอน แกงไข่น้ำหรือบางพื้นที่เรียกว่าแกงผำ และแกงสามสิบ หรือแกงอื่นๆ ล้วนทำในรูปแบบของแกงป่าทั้งสิ้นและผักที่นำมาประกอบอาหารนั้นก็หาได้ในท้องถิ่น นอกจากนั้นลานกิจกรรมยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกมากมายทั้งการทำของเล่น การรำโทนของคนเฒ่าคนแก่ที่นี่ที่วันนี้แต่งตัวเต็มยศมาในชุดพื้นเมืองของไทยเบิ้งกันเลยทีเดียว ความน่าสนใจยังมีต่อเนื่องที่กิจกรรมบนเวทีที่ขนของดีของไทยเบิ้งมาแสดงแบบจัดเต็ม อาทิ รำโทน รำกลองยาว เป็นต้น รับรองว่าจะทำให้ผู้ที่มาร่วมงานสนุกไปด้วยกันอย่างแน่นอนครับ” นายประทีปกล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้
กิจกรรมที่น่าสนใจเริ่มขึ้นเวลาบ่ายโมง โดยเริ่มจาก “ห้องเรียนภูมิปัญญา” ซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่นอาหารพื้นบ้าน อาหารที่ขนมาสาธิตกันในวันนี้มีด้วยกัน 3 อย่าง คือ แกงบอน แกงไข่น้ำ(แกงผำ) และแกงสามสิบ ที่ให้เด็กและเยาวชนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้นอกห้องเรียนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งหลังการสาธิตมีการถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้เรียนรู้ นอกจากนั้นยังมีการสอนทำของเล่นท้องถิ่น ได้แก่ การทำรถไขลาน การพับกระดาษ การสานปลาตะเพียน การทำลูกโลก และการทำดอกไม้ ได้รับความสนใจจากเด็กๆ ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก ส่วนในลานกิจกรรมข้างๆ กันสามารถของเห็นการแสดงรำโทนของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาออกจังหวะกันอย่างสนุกสนานโดยลืมอายุกันเลยทีเดียว แต่หลังการแสดงจบก็แอบเห็นหลายคนคว้ายาดมกันมาดมคนละไม้ละมือด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มไม่มีวี่แววอ่อนแรงให้เห็นแต่อย่างใด
ถัดจากห้องเรียนภูมิปัญญาของชาวไทยเบิ้ง ก็เดินหาของกินของใช้กันที่ ตลาดขายผักขายหมี่ ซึ่งเป็นตลาดขายของพื้นบ้านของไทยเบิ้งทั้งของกินและงานฝีมือ ของกินที่ว่านอกจากจะเป็นผักที่หาได้ในท้องถิ่นไทยเบิ้งแล้ว ยังรวมถึงขนมที่นิยมทานในหมู่ไทยเบิ้งด้วย ได้แก่ ขนมตาล ขนมเบื้อง (ขนมท้องถิ่นทำจากกะทิผสมแป้ง น้ำตาล และเกลือ นำไปทอดในกระทะใส่น้ำมันน้อย ทอดพอเหลือง ลักษณะคล้ายโรตี) ขนมกรวย เป็นต้น ที่ยกหม้อ กระทะ ก่อเตาถ่านปรุงให้ดูกันสดๆ เลยทีเดียว ส่วนงานฝีมือที่นำมาขายก็เป็นงานฝีมือเย็บกระเป๋าของคนในชุมชนนำมาแสดงและวางขายภายในงาน งานนี้ของสมัยใหม่นำเทรนด์หมดสิทธิสำหรับตลาดแห่งนี้
แดดร่มลมตกก็ได้เวลาทำพิธีเปิดกิจกรรมบนเวที โดยกิจกรรมแรกเริ่มขึ้นเวลา 16.00 น. เริ่มที่การเสวนาภาษาไทยเบิ้ง ในหัวข้อ อาหารการกินถิ่นไทยเบิ้ง (กินตามฤดูกาล) ต่อด้วยการกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานโดยอาจารย์มานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิจาก แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สสส. และ ยายละมูล พูนหลำ ศิลปินพื้นบ้าน มาร่วมกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ด้วย ความสนุกของกิจกรรมบนเวทีได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่ออาจารย์มงคล บุญเจริญ มาร่วมกิจกรรมบนเวทีโดยการเล่านิทานที่เกี่ยวกับอาหารการกินของถิ่นไทยเบิ้ง ซึ่งเรียกเสียงปรบมือและรอยยิ้มของผู้ร่วมฟังได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ต่อด้วยการแสดงรำโทนพื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุงจากนักเรียนโรงเรียนวัดหนองตามิ่ง การแสดงกลองยาวประยุกต์จากนักเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฟ้องล่องแม่ปิงซึ่งเป็นการแสดงของชาวไทยยวนจากบ้านสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมในวันนี้ด้วยการฉายหนังกลางแปลงเรื่อง ‘เมืองเรืองแสง ตอน รางบันดาลใจ…ในเบิ้งบุรี’ โดยกลุ่มเมล็ดข้าวเปลือก เป็นเรื่องราวของไทยเบิ้งที่เคยออกอากาศทางไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ซึ่งเป็นการปิดกิจกรรมที่ดังไปด้วยเสียงปรบมือของผู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้
งานนี้เรียกได้ว่าสัมผัสวัฒนธรรมไทยเบิ้งกันแบบเต็มที่ทั้งตาดู หูฟัง ปากชิมและมีส่วนร่วมกับความสนุกในทุกกิจกรรม อิ่มท้องพร้อมอิ่มใจกันถ้วนหน้ากับงานตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชน ครั้งที่ 1 ตอน “อาหารการกินถิ่นไทยเบิ้ง กินตามฤดูกาล” ในครั้งนี้ ก็อย่าลืมติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวกิจกรรมดีๆ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในครั้งต่อไปได้ทาง www.artculture4health.com รับรองว่า แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีกิจกรรมดีๆ มานำเสนออีกแน่นอน