เมื่อวันที่ 6-8 กันยายนที่ผ่านมา โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการประกวดคลิปออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” เพื่อรณรงค์สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในเยาวชน ผ่านกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน เพื่อคัดเลือก 10 ทีม เข้ารอบเพื่อผลิตผลงานจริง
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากการเปิดรับสมัครเยาวชนนักเรียน นิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่จำกัดสาขาและคณะที่ศึกษาอยู่ ร่วมส่งผลงานคลิปออนไลน์รณรงค์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ที่ผ่านมามีเยาวชนสนใจส่งผลงานเข้ามาถึง 152 ทีม แต่มีเพียง 20 ทีมเท่านั้นที่มีไอเดียจากสตอรี่บอร์ดน่าสนใจแล้วได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน กับครีเอทีฟชั้นนำของเมืองไทย อาทิ นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, นายอนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง, นายวัฒอัท พิมลศรี, นายชายแดน เทียมไสย์, นายจินตวัฒน์ สัมพันธุ์วัฒนากุลนายเดนโก้ ธัชชัยชวลิต และนายอลงกต เอื้อไพบูลย์ และพี่เลี้ยงประเด็นอย่าง อาจารย์สง่า ดามาพงษ์, นายวิทวัส ชัยปาณี และอีกมากมาย ที่ บ้านสวนริมน้ำ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก่อนจะคัดเหลือเหลือ 10 ทีม เพื่อผลิตผลงานจริง
โดยนายอลงกต เอื้อไพบูลย์ ผู้กำกับโฆษณา ภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ และหนึ่งในพี่เลี้ยงของโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการประกวดคลิปออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ถือว่าเป็นโครงการที่เกาะติดกระแสสังคมปัจจุบันที่ดีมากโครงการหนึ่งเพราะปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญและสนใจในสื่ออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย (Social media) ที่เป็นอินเตอร์เน็ต (internet), การค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ล (Google), ยูทูป (YouTube), การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนในเฟสบุค (Facebook), อินสตาแกรม (Instragram), ไลน์ (line) และ ว็อทสแอ้ป (Whats app) เชื่อว่าถ้าสื่อออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาเมื่อถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ เชื่อว่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการสื่อสารเพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมเข้าใจวิกฤติของโรคอ้วนในเด็กที่แฝงตัวอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนเราได้
“วันแรกของการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการ ความคิดเริ่มแรกของการทำโฆษณารณรงค์ผ่านคลิปออนไลน์ของเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการยังคิดงานกันมาเป็นก้อน พอได้เรียนรู้ประเด็นและวิธีคิดทั้งจากนักวิชาการ และพี่เลี้ยงอย่างเข้มข้น สังเกตุได้ว่าทั้งวิธีคิด และการนำเสนอมีความชัดเจนขึ้น กระชับขึ้น ซึ่งเทคนิคอย่างหนึ่งในการคิดงานให้ได้ใจคนดู คือ ต้องเข้าใจว่าคอนเซ็ปต์ในแต่ละงานจะพูดถึงเรื่องอะไร และต้องเรียนรู้ด้วยว่าหนังโฆษณาที่ดีต้องทำให้กระชับได้ทำอย่างไร และจากการนำเสนอผลงานจากสตอรี่บอร์ดของทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้าร่วมอบรม คณะกรรมการจะต้องคัดเลือก 10 ทีมเข้ารอบต่อไป แต่ด้วยผลงานที่เยาวชนทั้งหมดนำเสนอผลปรากฏว่ามีทีมที่ได้รับการคัดเลือกให้ผลิตผลงานจริงถึง 12 ทีม ได้แก่ 1.ทีมลูกเป็ด จากมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม, 2.ทีมลูกแกะสีขาว จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขต จักรพงษภูวนารถ, 3.ทีมMOB จากมหาวิทยาลัยศิลปากร/มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, 4.ทีมต๋อยรักติ๋ม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, 5.ทีมDelusive จากมหาวิทยาลัยรังสิต, 6.ทีมคนสร้างภาพ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 7.ทีมCAD (control alt delete) จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, 8.ทีมOne Man Show จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, 9.ทีมหมูน้อย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, 10.ทีมตากลม จากมหาวิทยาลัยนเรศวร, 11.ทีมTriple M จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 12.ทีมฟองนมพลัส ทีม เอ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ทั้งนี้นางสาวจีรานุช เอื้อศิลป์, นางสาวจีราพร เพ็ชรรัตน์ และนางสาวปิยพร บุญเคน ทีมลูกเป็ด ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่า ดีใจที่ได้เช้ารอบเพื่อผลิตผลงานจริงในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษาและสอนเทคนิคเกี่ยวกับการทำงานให้อย่างละเอียด ทำให้รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของงานที่ทำ โดยสิ่งที่ต้องนำกลับไปพัฒนาเพิ่มเติมในผลงานชิ้นนี้ คือ การเล่าเรื่อง เพราะเรื่องที่เล่ายังไม่ค่อยสนุกยังไม่ค่อยตื่นเต้น แต่ก็ยังดีที่งานชิ้นนี้มีเรื่องราวการนำเสนอและมีมุมมองที่แตกต่างออกไป คือ หลายๆ คนมองว่า การที่แม่ให้ลูกกินลูกจะอ้วน แต่เมื่อไรที่ให้ลูกกินแล้วลูกไม่กิน แม่เลยกินเอง ผลสุดท้ายแม่ก็อ้วนและป่วยเป็นโรคซึ่งนี่เป็นการนำเสนอมมุมกลับที่เป็นผลกระทบจากการกินเกินปริมาณที่จำเป็น แต่สุดท้ายผลสรุปของผลงานจะออกมาอย่างไร อยากให้ทุกคนติดตามเร็วๆ ได้เห็นกันแน่นอน
ส่วนนายเจตษฎา กาญจนโภคิน และนายวชิรา เจริญรัตน์ จากทีม MOB กล่าวว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากพี่เลี้ยงทุกคนทุ่มเท เป็นกันเอง ไม่ถือตัว สอนทุกอย่างให้อย่างละเอียด ซึ่งหาไม่ได้จากการเรียนการสอนในห้องเรียนที่จะเน้นแต่ทฤษฎีเป็นหลัก สำหรับงานที่นำเสนอนั้นยังต้องพัฒนาวิธีคิด และวิธีการเล่าเรื่องให้เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญจะต้องปรับคอนเซ็ปต์ให้น่าสนใจกว่านี้ ส่วนรูปแบบจะเน้นในเรื่องของการถ่ายทำให้น่าสนใจ ซึ่งตั้งใจว่าจะถ่ายทำกันในรูปแบบการเล่าเรื่องที่เป็นการถ่ายภาพจากกล้องวิดีโอเสมือนไว้สำหรับดูกันกันเองภายในครอบครัว (โฮมวิดีโอ) โดยการถ่ายแบบนี้จะยากตรงที่การถ่ายทอดเรื่องราวให้ดูสมจริง แต่เราจะทำให้ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 12 ทีมนี้ จะต้องนำเสนองานในขั้นตอนเตรียมการผลิตกับพี่เลี้ยงเพิ่มเติมในวันที่ 16 กันยายน นี้ ที่บริษัท ครีเอทีฟจูชจีวัน จำกัด เพื่อรับฟังข้อแก้ไขและปรับปรุงสุดท้ายจากพี่เลี้ยงก่อนไปลงมือผลิตงานจริง และส่งผลงานที่ผลิตเสร็จสมบูรณ์เข้ามาภายในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ก่อนจะมีการประกาศผลหาสุดยอดผลงานเพื่อรับประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท ในงาน Adman awards 2013 ใน เดือนตุลาคม 2556 ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการอย่างต่อเนื่องได้ที่ www.PINGs.in.th หรือ www.artculture4health.com