ครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พร้อมด้วย โอม – ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล (Cocktail) และ แม็ก – ธิติวัฒน์ รองทอง นักร้องนำและมือเบสวง เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์ (The Darkest Romance) ได้รับรางวัล “เพชรในเพลง” ประจำปี 2567 เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ จัดโดย สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและงดงาม ตลอดจนสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพทั้งการประพันธ์คำร้องและการขับร้อง
โดยกำหนดพิธีมอบรางวัลเพชรในเพลง ในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2567 วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ ครูสลา คุณวุฒิ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง จากเพลง อยากซื้อบ้านนอกให้แม่ พร้อมด้วย โอม วง ค็อกเทล และ แม็ก วง เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล จากเพลง ลั่นทม
ครูสลา คุณวุฒิ เปิดเผยว่า
“ขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เพราะภาษาไทยของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงไทย ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ ความสวยงาม ความไพเราะของท่วงทำนอง ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงและนักร้องเป็นส่วนสำคัญที่นำเสนอความสวยงามของภาษาไทย ขอให้ทุกคนเห็นคุณค่า ของภาษาไทย คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องครับ”
โอม วง ค็อกเทล เปิดเผยว่า
“ในฐานะคนทำงานเพลงการได้รับรางวัลใดๆ ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของศิลปินเสมอมา รางวัลเพชรในเพลงก็เป็นอีกหนึ่งรางวัลที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 2547 และที่สำคัญคือเป็นรางวัลที่สืบเนื่องมาจากวันภาษาไทยแห่งชาติอีกด้วย
ผมเองในฐานะที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายท่านเกี่ยวข้องกับงาน วรรณกรรมและการจัดทำแบบเรียนภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) อดีตรักษาการอธิบดีกรมศึกษาธิการ ผู้ริเริ่มจัดทำแบบตำรา “แบบหัดอ่านหนังสือไทยเบื้องต้น” รางวัลเพชรในเพลงอันเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ประพันธ์เพลงที่มีผลงานดีเด่นในด้านการใช้ภาษาไทยจึงทวีความหมายแก่ผมและผู้ร่วมงานทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
ในบทเพลง “ลั่นทม” อันเป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์ “หอมกลิ่นความรัก” นั้น ผมและผู้ร่วมประพันธ์ได้ใช้ภาษาไทยทั้งในรูปแบบเก่าและใหม่ไปพร้อมๆ กันโดยคำนึงว่าภาษานั้นสำคัญยิ่งในการสื่อสารห้วงอารมณ์ และความรู้สึกเพื่อที่ผู้รับฟังจะสามารถเข้าใจและเข้าถึงบริบทของ เรื่องราวได้โดยง่ายโดยเฉพาะเมื่อตัวละครในเรื่องเป็นผู้ที่เดินทางข้ามเวลาจากยุคปัจจุบันไปยังอดีต แรงบันดาลใจในการใช้ภาษาไทยในรูปแบบดังกล่าวจึงเกิดจาก เรื่องราวและบริบทของละครและบทประพันธ์ดั้งเดิมรวมไปถึงจินตนาการของคณะผู้สร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ดังกล่าวด้วย หากเพลง “ลั่นทม” จะมีส่วนดีใดในการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์เอาไว้ซึ่ง การใช้ภาษาไทยก็ขอมอบรางวัลนี้ให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกท่านโดยทั่วกันครับ”