คีอานู รีฟส์ นำทีม 47 Ronin (47โรนิน มหาศึกซามูไร) 24 ธันวาคม 2556 ในโรงภาพยนตร์

คีอานู รีฟส์ นำทีมนักแสดงนานาชาติที่ล้วนแต่เป็นดาราที่มีชื่อเสียง ในภาพยนตร์แอ็กชั่น ผจญภัย เรื่อง 47 Ronin หลังจากทรราชย์สังหารเจ้านายของพวกเขา และยังเนรเทศพวกพ้องของพวกเขา ซามูไรไร้นาย 47 คนลั่นปากสาบานว่าจะล้างแค้นและกู้เกียรติยศศักดิ์ศรีคืนให้กับพวกตน เมื่อถูกขับออกจากบ้าน และต้องแยกย้ายกระจายกันไปทั่วแผ่นดิน กลุ่มซามูไรโรนินต้องขอความช่วยเหลือจากไค (รีฟส์) ลูกครึ่งที่พวกเขาเคยปฏิเสธ เมื่อพวกเขาต่อสู้อยู่ในโลกป่าเถื่อนที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายสุดมหัศจรรย์ แม่มดที่แปลงกายได้ และภัยคุกคามที่แสนอัศจรรย์

เมื่อชายนอกคอกที่เคยถูกเนรเทศผู้นี้กลายมาเป็นอาวุธร้ายที่สุดของพวกเขา ไคจะกลายเป็นวีรบุรุษผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มกบฏที่จะเผชิญหน้ากับปีศาจร้ายที่ครอบครองแผ่นดินของพวกเขา และความเป็นอมตะ

สร้างจากเรื่องเอพิคที่กลายมาเป็นหนึ่งในตำนานเล่าขานที่อยู่ยั้งยืนยงมานานที่สุดของญี่ปุ่น เรื่องราวสุดพิเศษที่เล่าขานถึงความหาญกล้าเรื่องนี้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อซามูไรผู้ทรงเกียรติ 47 คน สร้างเกียรติให้กับการสิ้นชีพของเจ้านายของพวกเขาก่อนเวลาอันสมควร ด้วยการล้างแค้นให้เขา

ในการนำตำนานแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีการเล่าขานต่อๆ กันมาเป็นเวลานาน และมีการตีความในสื่อต่างๆ ที่หลากหลายตลอดหลายยุคสมัยที่ผ่านมา มาจินตนาการใหม่ในครั้งนี้ ตำนานความเสียสละของเหล่าโรนิน และเกียรติยศที่ไม่มีวันตาย ได้ถือกำเนิดอีกครั้งเพื่อคนรุ่นใหม่

ที่เข้ามาร่วมแสดงกับ รีฟส์ ในภาพยนตร์แอ็กชั่น ผจญภัย 3D เรื่องนี้ ล้วนแต่เป็นซูเปอร์สตาร์ชาวญี่ปุ่นที่ไม่เพียงแต่เป็นที่รักที่นิยมชมชอบในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของพวกเขาเท่านั้น แต่พวกเขายังได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ทั่วโลกมาแล้ว อาทิเช่น ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Sunshine, The Last Samurai) ผู้รับบท โออิชิ ผู้นำกลุ่มซามูไร, ทาดาโนบุ อาซาโนะ (The Wolverine, Thor: The Dark World) ผู้รับบท ลอร์ดคิระ วายร้ายผู้คิดทรยศ และไม่ยอมหยุดจนกว่าจะทำลายศัตรูจนสิ้นซาก, นักแสดงหญิงผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ รินโกะ คิคุชิ (Babel, Pacific Rim) รับบท แม่มด นางร้ายที่สามารถแปลงกายได้ ผู้ลงมือตามความต้องการทุกอย่างของ คิระ เมื่อเขาต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จมาอยู่ในมือ และโค ชิบาซากิ (The Lady Shogun and Her Men, One Missed Call) ในบท มิกะ บุตรีของเจ้านายของพวกเขา และยังเป็นยอดรักของไค

กับภาพยนตร์ 47 Ronin นี้ ผู้กำกับ คาร์ล รินสช์ (The Gift) ได้มอบชีวิตชีวาให้กับวิวทิวทัศน์ที่สวยงามน่าตื่นตะลึง และสงครามอันยิ่งใหญ่ที่ถูกแสดงเอาไว้ในเรื่องราวที่ไร้กาลเวลาเรื่องนี้ในแบบที่ยังไม่เคยได้เห็นมาก่อน ที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์งานกับเขา ก็คือ ทีมผู้อำนวยการสร้าง พาเมล่า แอ็บดี้ (Identity Thief, Endless Love) และเอริค แม็คลีออด (Mr. & Mrs. Smith, Unstoppable) และทีมงานคนสำคัญตั้งแต่งานเขียนบทโดย คริส มอร์แกน (ภาพยนตร์ชุด Fast & Furious, Wanted) และฮอสซีน อามินี่ (Drive, Wings of the Dove) และสกรีนสตอรี่โดย คริส มอร์แกน และวอลเตอร์ ฮามาดะ (The Conjuring, The Final Destination)

รินสช์ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำทีมงานหลังกล้องที่ล้วนแต่ประสบความสำเร็จ อันประกอบไปด้วย ผู้กำกับภาพที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วถึง 2 ครั้ง จอห์น มาธีสัน (Gladiator, Robin Hood), โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ แจน โรเอลฟ์ส (Fast & Furious 6, World Trade Center), ผู้ลำดับภาพ สต๊วร์ต แบร์ด (Skyfall, Casino Royale), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เพนนี โรส (Evita, ภาพยนตร์ชุด Pirates of the Caribbean), สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ พอล คอร์บูลด์ (Captain America: The First Avenger, Mamma Mia!), วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ คริสเตียน แมนซ์ (Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1, Nanny McPhee Returns) และผู้แต่งดนตรีประกอบ อิลาน เอชเคอรี  (Stardust, Kick-Ass)

47 Ronin อำนวยการสร้างบริหารโดยทีมผู้บริหารของบลูแกรสส์ ฟิล์มส์ ได้แก่ สก็อตต์ สตูเบอร์ (Ted, Identity Thief), คริส เฟนตัน (Whisper, The Vatican Tapes) และวอลเตอร์ ฮามาดะ

 

ลูกครึ่งและสัตว์ในจินตนาการ: ใครเป็นใครใน 47 Ronin:

ไคคือแกะดำในประเทศญี่ปุ่นศตวรรษ 1800s โลกแห่งความโหดเหี้ยมและความงามที่ยากจะปฏิเสธ เป็นยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์และความมหัศจรรย์มาบรรจบกัน เมื่อถูกพรากรักต้องห้ามไปจากอก ไคถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพหัวใจสลายและหลงทาง ไคเดินทางไปทั่ววิวทิวทัศน์ที่งดงามจนชวนตื่นตะลึงที่คลาคล่ำไปด้วยแม่มดที่มีเสน่ห์เย้ายวน ผู้มาพร้อมอำนาจที่เป็นฝันร้าย สัตว์ในจินตนาการ และชุมชนลึกลับของพระผู้ชั่วช้า ไคต้องผนึกกำลังกับกลุ่มคนนอกคอกที่มีภารกิจล้างแค้นร่วมกัน ด้านล่างนี้คือการแนะนำบรรดาผู้มีบทบาทอยู่ในโลกโบราณกาลที่ถูกนำมาจินตนาการใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์นี้:

  • ไค (คีอานู รีฟส์) คือลูกกำพร้าที่เติบโตมาในหมู่บ้านอาโกะ ที่ซึ่งเขาถูกคนในหมู่บ้านปฏิเสธด้วยความที่เป็นพวกลูกครึ่ง ไคที่ถูกพวกสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่เรียกกันว่า เทนกุ ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก หลบหนีไปเมื่อรู้ตัวว่าเขาไม่อยากเป็นเหมือนพวกเทนกุ หลังได้รับความช่วยเหลือออกจากป่าโดยลอร์ดอาซาโนะ ไคกลายเป็นนักสู้ที่ว่องไวที่แอบหลงรัก มิกะ ลูกสาวของอาซาโนะ เมื่อเจ้านายของเขาถูกหลอกจนต้องสิ้นชีพ ไคได้ร่วมมือกับโออิชิและเหล่าโรนิน (ซามูไรไร้นาย) เพื่อทวงความแค้นกับลอร์ดคิระผู้คิดคดทรยศ แต่ที่พวกเขาไม่รู้ก็คือ ผู้นำคนใหม่ของเขาต้องต่อสู้กับอำนาจของปีศาจร้ายและกุมความลับที่จะเปลี่ยนชะตากรรมของพวกเขาไป
  • ลอร์ดอาซาโนะ (มิน ทานากะ) คือเจ้าขุนมูลนายที่ปกครองมณฑลอาโกะด้วยการใช้อำนาจรุนแรงแต่เป็นธรรม เขากับเหล่าซามูไรได้พบ ไค ที่ตอนนั้นมีอายุเพียง 13 ปีอยู่กลางป่า และได้รับไคมาดูแล เพราะแม้ไคจะเป็นเด็กลูกครึ่ง แต่ถึงยังไงเขาก็ยังเป็นเพียงเด็ก อาซาโนะยังได้เห็นความพึงใจที่เกิดขึ้นระหว่างลูกสาวของเขากับไค แต่ประเพณีได้ประกาศไว้ว่าไม่อนุญาตให้มีการผูกสัมพันธ์ได้ในชาตินี้
  • มิกะ (โค ชิบาซากิ) คือลูกสาวของลอร์ดอาซาโนะ เธอตกหลุมรักไคตั้งแต่ที่พวกเขาพบกันตอนเด็ก เธอยินดีทำทุกอย่างเพื่อปกป้องชายแปลกหน้าผู้นี้ที่เกือบทุกคนในหมู่บ้านของเธอรังเกียจ แม้ว่ามันจะหมายถึงการถูกบังคับให้ต้องแต่งงานกับลอร์ดคิระเพื่อช่วยชีวิ้ตของไค
  • โออิชิ (ฮิโรยูกิ ซานาดะ) คือซามูไรระดับสูงของลอร์ดอาซาโนะ เมื่ออาซาโนะถูกบีบให้ต้องกระทำพิธีปลิดชีพตัวเอง หลังถูกกล่าวหาว่าโจมตี ลอร์ดคิระ ผู้เป็นสหาย โออิชิพร้อมด้วยเพื่อนซามูไร ถูกบีบให้ต้องใช้ชีวิตในฐานะโรนิน ขณะร่อนเร่เดินทางไปทั่วแผ่นดินชนบทเป็นเวลานานหลายปี โออิชิได้รวบรวมกลุ่มโรนินเพื่อล้างแค้นให้กับการตายของเจ้านาย เมื่อเขารู้ว่าต้องทำเช่นไร โออิชิเห็นว่าคนสุดท้ายที่เขาต้องการให้เข้าร่วมกลุ่มด้วยก็คือนักรบที่เขาต้องการตัวมากที่สุดอย่าง ไค
  • บรรพบุรุษของลอร์ดคิระ (ทาดาโนบุ อาซาโนะ) ต้องสละชีพเพื่อครอบครัวของโชกุนผู้ครอบครองบัลลังก์ ขณะที่คิระได้ครองตำแหน่งสำคัญเคียงข้างโชกุน เขากลับริษยาที่เจ้านายของเขาเลือกที่จะให้เกียรติกับมณฑลอาโกะของลอร์ดอาซาโนะ ด้วยความช่วยเหลือจากแม่มด คิระจึงวางแผนการโค่นล้มอาซาโนะ แต่งงานกับมิกะ บุตรสาวของอาซาโนะ และเข้ายึดครองอาโกะ ขณะเฝ้าดูอาณาจักรที่ชั่วช้าของเขาเติบโตขึ้นทีละนิดๆ
  • แม่มด (รินโกะ คิคุชิ) คือสิ่งมีชีวิตโบราณที่แปลงร่างได้และแสนชั่วร้าย ผู้กระทำตามคำสั่งของลอร์ดคิระ และใช้ความจริงเป็นของเล่น คิระออกคำสั่งให้นางแม่มดใช้อำนาจแปลงกายให้เป็นคนอื่นและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพื่อช่วยเขาโค่นอำนาจลอร์ดอาซาโนะ และเพื่อให้ถึงเป้าหมายสำคัญในการยึดครองประเทศนี้ ดวงตาสีน้ำเงินเป็นประกายของนังแม่มดยังคงเดิมอยู่ไม่ว่าจะแปลงร่างไปเป็นอะไร
  • ชิการะ (จิน อาคานิชิ) คือลูกชายวัย 16 ปีของโออิชิ เขาเป็นชายหนุ่มที่ฝันอยากเป็นซามูไรผู้ทรงเกียรติดังเช่นพ่อ ไคแอบฝึกฝนชิการะด้วยวิถีของเทนกุ และยังสอนเทคนิคการต่อสู้แปลกแหวกแนวที่สักวันจะช่วยชีวิตเขาได้ ชิการะหนุ่มได้ร่วมมือกับพ่อของเขาเพื่อช่วยให้กลุ่มโรนินล้างแค้นการตายของเจ้านายได้
  • โชกุน โทกุกาว่า สึนาโยชิ (แครี่-ฮิโรยูกิ ทากาวะ) คือเจ้าแห่งมณฑลทั้งปวง และเป็นเจ้าเหนือแผ่นดินญี่ปุ่นทั้งหมด ลอร์ดอาซาโนะให้การต้อนรับโชกุน ที่มาพร้อมเจ้าขุนมูลนายทั้งหลาย สู่อาโกะ และยังได้เป็นเจ้าภาพการชุมนุมเพื่อแสดงความสามัคคีระหว่างตระกูลต่างๆ เพื่อเป็นเกียรติกับการมาเยือนของท่านโชกุน อาซาโนะได้จัดการประลองระหว่างนักสู้ฝีมือดีที่สุดของตระกูลต่างๆ แต่ความอัปยศมาเยือนอาซาโนะโดยเร็ว และต้องมีคนชดใช้
  • ยักษ์หุ้มเกราะ บรูท (นีล ฟินเกิลตัน) ผู้ต่อสู้ให้กับลอร์ดคิระ คือนักรบหุ้มเกราะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาการเพ้อคลั่งที่น่าสยดสยองของ เอช พี เลิฟคราฟต์ นักรบที่ไม่มีใครทำลายได้ผู้นี้มีส่วนสูงเกือบ 8 ฟุต สวมใส่ชุดหุ้มเกราะ ขี้ม้าศึกน่าสะพรึงกลัว และโบกสะบัดดาบด้วยความเร็วดั่งสายฟ้าแล่บ ไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถหยุดเขาได้ ไม่แม้แต่ไคล
  • ภายใต้การบัญชาการของ เทนกุลอร์ด (โทโก อิกาว่า) พวกพระเทนกุคือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่อาศัยอยู่ในป่าเทนกุ ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “มหาสมุทรต้นไม้” พวกเขาเลี้ยงดูไคมาหลังจากที่แม่ทิ้งเขาไปตั้งแต่แบเบาะ และสอนให้เขารู้จักวิธีการต่อสู้ด้วยความเร็วแสง เมื่อกลุ่มโรนินต้องการล้างแค้นให้การตายของเจ้านาย เทนกุคือสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาเดินทางไปหาเพื่อร้องขออาวุธเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถล้มกองทัพที่หยุดไม่ได้ของคิระ
  • อ๊อกร์ที่ทุกข์ทรมาน (นีล ฟินเกิลตัน) มีบ้านอยู่บนเกาะดัทช์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพเรือยุโรปและยังเป็นที่ตั้งของสถานีการค้าที่เป็นเขาวงกตแห่งความชั่วช้าและความอยุติธรรม ปีศาจร้ายตนนี้มีร่างกายใหญ่โตสีแดง และต่อสู้กับเหล่านักโทษในสนามต่อสู้บนเกาะ แล้วใครกันที่เขาหมายจะสู้ด้วยเป็นรายต่อไป? คำตอบคือไค
  • โฟร์แมน (ริค เจเนสต์) คือเจ้าแห่งการแสดงแฟนตาซีประหลาด ผู้ซึ่งร่างกายของเขาเต็มไปด้วยงานศิลปะบนเรือนกายที่ชวนขนลุก คนนอกกฎหมายที่เปิดแหล่งซ่องสุ่มที่จับมนุษย์มาต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเพื่อความบันเทิง เขาได้มากกว่าที่ต่อรองไว้เมื่อไคก้าวลงสู่สังเวียนเพื่อต่อสู้กับอ๊อกร์

 

เบื้องหลังงานสร้าง

 

การครอบครองความเป็นอมตะ: โรนินถือกำเนิด

เมื่อผู้กำกับ คาร์ล รินสช์ ได้อ่านทรีตเม้นต์แรกของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เขายอมรับว่าเขารู้สึกสนใจกับเรื่องราวความรักที่ไร้ซึ่งกาลเวลา ฉากอันประณีต และสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์ที่วางไว้ในฉากหลังที่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์จริงๆ ผู้กำกับรินสช์เล่าว่า “ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโรนินบ้างนิดหน่อย ในแง่ของประวัติศาสตร์ประเพณีของพวกเขา แต่แน่นอน นี่คือการเล่าเรื่องนี้ออกมาในแบบสร้างสรรค์” หลังจากได้ประชุมกับยูนิเวอร์แซลเพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ รินสช์ก็สามารถขายโปรเจ็กต์ที่เขาอยากสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกได้

สำหรับผู้อำนวยการสร้างพาเมล่า แอ็บดี้ บทภาพยนตร์เรื่องนี้มีเรื่องราวที่โดดเด่นของโลกป่าเถื่อนและชายผู้ยอมสละทุกสิ่งเพื่อกอบกู้โลกนี้เอาไว้ เธอกล่าวว่า “ธีมที่ว่าด้วยเรื่องของเกียรติยศ การล้างแค้น และความรักของเรื่องนี้ ถือว่าเป็นไอเดียที่เป็นสากล เราสามารถมองเห็นตัวเราเองในตัวละครเหล่านี้ และอารมณ์ของพวกเขา ความถวิลหา และความไม่เป็นธรรม จากการเดินทางของวีรบุรุษของเรา เราได้ล่องลอยเข้าไปสู่การผจญภัยแฟนตาซีที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ แต่โดยหัวใจแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังพูดถึงความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ที่จะแก้ไขสิ่งผิดที่กระทำกับตัวคุณ”

ทางทีมผู้สร้างไม่เพียงแต่มองหาวิธีที่จะสร้างภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงกับคนดูได้เท่านั้น แต่พวกเขายังทุ่มเทให้กับการยกย่องให้เกียรติเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่น ตำนานเรื่องนินจาโรนินทั้ง 47 คนเป็นเรื่องราวที่เป็นที่รักในญี่ปุ่น ในแต่ละปีทั้งธนาคารและโรงเรียนจะปิดทำการเพื่อให้เกียรติกับชายเหล่านี้ที่สละชีพเพื่อประเทศชาติ เรื่องราวนี้ได้ถูกบอกเล่าต่อๆกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งไม่เพียงแต่ขนบธรรมเนียมจะเกื้อหนุน แต่ยังสนับสนุนให้เรื่องราวของโรนินกลุ่มนี้ถูกนำเสนอร้อยเรียงผ่านสื่อต่างๆ ผ่านเรื่องราวที่สร้างสรรค์ที่รู้จักกันในชื่อ Chūshingura โดยการบอกเล่าและการตีความแต่ละครั้งก็จะยังคงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มโรนิน และขนบธรรมเนียมที่เชื้อเชิญให้มีการเติมแต่งเชิงศิลปะเข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย

รินสช์ได้กล่าวถึงการพูดคุยเกี่ยวกับรูปแบบของยุคสมัยที่ได้รับการยกย่องนี้ว่า “ขนบแบบ Chūshingura คือการย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโรนินทั้ง 47 ท่าน มันคือเป้าหมายของเราที่จะทำให้เรื่องราวนี้สอดคล้องกับคนดูร่วมสมัย คนดูหนังทั่วโลกในทุกวันนี้ต่างพูดด้วยภาษาแฟนตาซี ไซไฟ และซูเปอร์ฮีโร่ สำหรับตัวผมเอง ความตั้งใจก็คือการนำเอาเรื่อง Chūshingura ของญี่ปุ่นมา และใส่ความเป็นสากลเข้าไปด้วยการนำเสนอเรื่องราวในแบบที่สามารถใช้ประโยชน์จากรูปแบบฮอลลีวู้ดยุคใหม่ได้”

ผู้อำนวยการสร้าง เอริค แม็คลีออด เห็นด้วยกับแอ็บดี้และรินสช์ กับความรู้สึกทึ่งในเรื่องราวนี้ที่มีการเล่าส่งผ่านกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และรู้สึกยกย่องเรื่องราวที่ทุกคนรักษาเอาไว้ของประเทศ เขากล่าวว่า “สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมในการทำงานในเรื่อง 47 Ronin ก็คือ ผมไม่เพียงแต่เพลิดเพลินไปกับแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่ผมยังสนุกไปกับแง่มุมเชิงแฟนตาซี สโค๊ปของเรื่อง และความคิดสร้างสรรค์ของมันด้วย”

ขณะกำลังทำการค้นคว้าข้อมูลให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับรินสช์ได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะของปรมาจารย์อย่าง มิยาซากิ, โฮกุไซ และฮิโรชิเกะ รินสช์ให้ความเห็นไว้ว่า “ตอนที่ผมศึกษาภาพวาดพวกนี้ ผมมองเห็นว่ามีโลกแฟนตาซีอยู่ตรงนั้น และผมคิดว่า ‘ถ้าฉันสามารถแสดงโลกใบนี้ออกมาได้ งั้นเราก็เจองานเด็ดเข้าแล้ว’”

จากตรงนั้น รินสช์และทีมงานของเขาได้เริ่มต้นศึกษาแง่มุมแฟนตาซีของเรื่อง 47 Ronin ซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของตำนานของญี่ปุ่นมานาน พวกเขารู้สึกทึ่งกับห้องสมุดที่เก็บบันทึกเรื่องราวมากมายที่เขาได้พบ รินสช์เล่าว่า “คุณมีโยไค มีโอนิ ซึ่งเป็นยักษ์ของญี่ปุ่น และนักรบเทนกุ ซึ่งเป็นนกรบวิหค ยังมีตัวละครแฟนตาซีมากมายที่ทำให้เราได้ทิศทางที่น่าตื่นเต้นที่เราจะสำรวจได้”

เมื่อทางทีมผู้สร้างได้บทภาพยนตร์ที่จะใช้ในการถ่ายทำ และเริ่มลงมือเตรียมงานสร้างแล้ว พวกเขาพบว่ากุญแจสำคัญก็คือการสร้างสมดุลให้กับสเกลและตัวละคร แอ็บดี้เล่าว่า “เรื่องราวนี้มีอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งรัก เจ็บปวด และเสียใจ เรื่องนี้ยังต้องการความนิ่งสงบในหลายจังหวะ จากนั้นเมื่อจำเป็น เรื่องนี้ก็ต้องทั้งยิ่งใหญ่และกล้าหาญ ในที่สุด เราพยายามสร้างสมดุลระหว่างฉากแอ็กชั่นและความน่าตื่นตา กับตัวละครที่มาผนึกกำลังกัน และมีความผูกพันกันและกัน”

 

การค้นพบ ไค: คีอานู รีฟส์ตัดสินใจร่วมวง

                หนึ่งในความพยายามแรกเริ่มที่เกี่ยวพันกับการคัดเลือกตัวนักแสดงของ 47 Ronin ก็คือการหาตัวนักแสดงที่มีทั้งรูปลักษณ์ รูปกาย และความแข็งแกร่งที่จะแสดงบทที่เรียกร้องอย่าง ไค ฮีโร่ของเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบุคคลของสองโลก คีอานู รีฟส์ ผู้เป็นที่รักของคนดูทั่วโลกจากภาพยนตร์เอพิคบล็อกบัสเตอร์ไตรภาค เรื่อง The Matrix ซึ่งเขาทำให้มนุษย์กลายเป็นแก่นกลางของโลกแฟนตาซีที่มีความซับซ้อนและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมที่สุด และเขาได้กลายมาเป็นผู้ร่วมงานตัวจริงในงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้

“เราเล็งคีอานูไว้ตั้งแต่แรกแล้ว” แอ็บดี้บอก “เขาเข้ามาร่วมงานกับเรานานเกือบสองปีกว่าก่อนที่เราจะเริ่มต้นถ่ายทำกัน และเขายังเป็นผู้ร่วมงานตลอดการทำงานทุกขั้นตอน เขาไม่เพียงแต่เป็นนักแสดงที่เหมาะกับบทนี้เท่านั้น แต่เขายังเป็นผู้คอยสนับสนุนหลายแง่มุมของงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย”

“ผมรู้สึกติดอกติดใจกับโลกที่เรื่องนี้สร้างขึ้นมาก” รีฟส์บอก “ผมรู้สึกอินไปกับมันในฐานะคนตะวันตก มันเป็นภาพยนตร์ที่มีธีมที่ยิ่งใหญ่ เป็นสากล อย่างเรื่องของเกียรติยศ การล้างแค้น และความรัก” อันที่จริง รีฟส์ยังได้เข้าไปทำงานระหว่างมีการพัฒนาบทภาพยนตร์กับทีมเขียนบทอย่าง มอร์แกน และอามินี่ด้วย ก่อนที่เขาจะได้พบกับรินสช์เป็นครั้งแรก เขาเล่าว่า “คริสกับฮอสซีนมีความสามารถที่มหัศจรรย์มากในการสร้างชีวิตให้กับเรื่องราวของโรนินได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งยืนอยู่ระหว่างความจริงกับเรื่องแฟนตาซี”

ขณะนั่งคุยอยู่กับรินสช์ รีฟส์รู้สึกโดนใจกับจินตนาการที่เขามีต่อโปรเจ็กต์นี้ และความคล่องแคล่วในภาษาทางภาพที่จำเป็นต้องมีเพื่อสร้างชีวิตให้กับเรื่องนี้ รีฟส์กล่าวว่า “คาร์ลมีความเกี่ยวพันกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อิงอยู่กับเรื่องของอารมณ์ เขาเป็นคนเปิดรับการแบ่งปันความเห็นและความร่วมมือ เขาเป็นสไตลิสต์ที่เก่งมาก และยังเก่งในเรื่องของการทำให้โลกแห่งการสร้างความเชื่อกลายเป็นโลกจริงๆ ขึ้นมาได้”

รินสช์รู้สึกกระตือรือร้นพอๆ กันที่จะได้ร่วมงานกับดารานำของเขา เขากล่าวว่า “คีอานูเป็นยิ่งกว่านักแสดง เขาเป็นผู้ร่วมงานในทุกระดับ เขาเป็นคนที่ผมสามารถหันไปและถามคำถามได้ ผมจะได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยแง่คิด โดยที่เรื่องที่ถามไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกันกับตัวละครของเขาเลย”

สำหรับการนำเอาเรื่อง 47 Ronin มาจินตนาการใหม่ โดยที่จะต้องยึดมั่นกับความเป็น Chūshingura ตัวละครของไคก็คือส่วนเติมเต็มใหม่ให้กับเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่นี้ ลูกครึ่งที่เป็นเด็กกำพร้า ผู้ไม่ไว้ใจใคร ไคคือสัญลักษณ์ของคนนอก ผู้ดิ้นรนที่จะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกของชาตินี้ รีฟส์กล่าวว่า เรื่องราวของไคอาจเป็นที่คุ้นเคยของผู้คนมากมาย “ในการเดินทางครั้งนี้ ไคพยายามทำให้คนอื่นยอมรับเขา นั่นคือเรื่องราวที่คนมากมายสามารถเข้าใจได้ เรื่องราวของผู้อพยพ การถวิลหาการยอมรับขณะที่ต้องรักษาความเป็นตัวของตัวคุณเอาไว้ด้วย” สำหรับนักแสดงผู้นี้ ถือเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นผู้แนะนำเรื่องราวนี้ให้กับคนดูทั่วโลกได้รู้จัก เขากล่าวว่า “เหมือนเรื่องราวดีๆ ทุกเรื่อง เรื่องนี้มีความสนุกในความรู้สึกที่มีความเป็นสากล”

 

ทีมนักแสดงนานาชาติ: นักแสดงสมทบ

                สำหรับรินสช์ ทีมผู้อำนวยการสร้าง และรีฟส์ การหาทีมนักแสดงหมายถึงการเลือกคนที่เก่งที่สุด และฉลาดมีไหวพริบที่สุดในวงการภาพยนตร์เอเชีย ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญงานหนังแอ็กชั่น และผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จนถึงดาราดาวรุ่งที่กำลังมาแรงในโลกป็อปมิวสิค ซึ่งทีมผู้สร้างได้บรรจงเลือกนักแสดงได้อย่างน่าตื่นเต้น

นักแสดงที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นมานาน และเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งจะมีผลงานเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ระดับโลกอย่าง The Wolverine ฮิโรยูกิ ซานาดะ เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ของญี่ปุ่นมาแล้วถึง 6 รางวัล และเคยคว้ามาได้ถึง 2 รางวัล สำหรับทั้งทีมนักแสดงและทีมงาน การเลือก ซานาดะ มารับบท โออิชิ ผู้นำกลุ่มซามูไร หมายถึงการที่ชาวตะวันตกนำเรื่องราวของ 47 Ronin มาสร้างนั้น ได้รับการอนุมัติจากญี่ปุ่นแล้ว ซานาดะเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อตอกย้ำว่าการนำเอาเรื่องราวอันเป็นที่รักของชาวญี่ปุ่นเรื่องนี้มานำเสนอใหม่ จะต้องยึดมั่นกับเนื้อเรื่องเดิม แม้ว่าจะเป็นการนำเสนอด้วยองค์ประกอบที่มีความแปลกใหม่และเต็มไปด้วยจินตนาการ

ซานาดะที่เติบโตมากับตำนานเรื่องนี้ รู้สึกดีใจที่มีโอกาสในการเล่าเรื่องนี้อีกครั้ง เขาเล่าว่า “ครั้งแรกที่ผมได้ดูเรื่องนี้ทางทีวีตอนผมอายุ 7 ขวบ ผมกับพี่ชายจะแสดงเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่อง เมื่อผมกลายมาเป็นนักแสดงเด็ก ผมเคยสงสัยเสมอมาว่าเมื่อไหร่ผมจะได้เล่นเป็นโออิชิ ผมเฝ้ารอเวลานั้นมานาน และได้รับข้อเสนอให้แสดงบทนี้ในภาพยนตร์อเมริกัน นั่นเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ที่น่ายินดีอย่างมาก!”

“สำหรับผมออกจะมีความกดดันเยอะ เพราะโออิชิเป็นบทที่มีนักแสดงชายมากมายที่ผมชื่นชมเคยแสดงเอาไว้” ซานาดะเล่าต่อ “แต่ในเวอร์ชั่นนี้มีความแตกต่างไปจากเรื่องในแบบเดิม อารมณ์และความตั้งใจเหมือนกัน แต่โออิชิจะมีความเป็นมนุษย์ปุถุชนมากขึ้น มีจุดบกพร่อง ความสงสัย และความพ่ายแพ้ มีสมดุลระหว่างความสมจริงกับแฟนตาซี นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้แนะนำเรื่องนี้ให้กับคนดูญี่ปุ่นรุ่นใหม่ รวมไปถึงได้แนะนำวัฒนธรรมของญี่ปุ่นให้โลกได้รู้จัก มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในนั้นสำหรับคนในทุกประเทศ มันไม่ใช่แค่เรื่องราวของญี่ปุ่น แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเคารพนับถือ มิตรภาพ และความรัก”

การได้ทำงานกับภาพยนตร์ตะวันตกมาหลายเรื่อง และยังได้ร่วมงานกับผู้กำกับชาวอเมริกันมาแล้วหลายคน ซานาดะได้พูดถึงการถ่ายทำหนังร่วมกับรินสช์ว่า “ในวันแรกของการทำงานกับคาร์ล ผมรู้เลยว่าเขาไม่เพียงแต่นั่งดูและฟังเท่านั้น แต่เขายังมีพรสวรรค์ที่จะปลดปล่อยอารมณ์ของฉากนั้นๆ ออกมาด้วย”

รินสช์ได้อธิบายให้เข้าใจว่าทำไมซานาดะถึงได้รับเลือกให้มารับบทเป็นนักรบที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับไค “บุคลิกของโออิชิก็คือลูกแกะในเวลากลางวัน คุณไม่รู้เลยว่าเขาแข็งแกร่งแค่ไหนจนกระทั่งถึงเวลามืด ผมคิดว่า ฮิโระ ซานาดะ คือนักแสดงที่ทรงพลังอย่างมาก เขาพร้อมจะระเบิดพลังเมื่อทุกอย่างลำบาก เขาสามารถต่อสู้ได้ในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนแน่ๆ”

สำหรับบทของเขา ซานาดะรู้สึกกระตือรือร้นเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานกับดารานำของภาพยนตร์เรื่องนี้มาก “นับแต่ตอนซ้อมบทกันแล้ว เราได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะมาก ประมาณหกเดือนได้” ซานาดะเล่า “เราเตรียมตัวในเรื่องไดอะล็อกพูด การฝึกซ้อมฉากต่อสู้มากมาย ดังนั้นเราจึงเหมือนได้ร่วมแบ่งปันทั้งในเรื่องร่างกายและจิตใจด้วยกัน คีอานูเป็นคนใจเย็นมาก และน่านับถือ ผมนับถือเขาทั้งในฐานะนักแสดงและในฐานะบุคคล”

รีฟส์ตอบแทนคำพูดมีน้ำใจนั้นด้วยการกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ผมไม่เคยมีพี่ชายมาก่อน แต่ตอนนี้ผมมีแล้วคนหนึ่ง”

ผู้อำนวยการสร้างแอ็บดี้อนุมานให้ด้วยว่า ซานาดะเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้กับทุกคนในกองถ่ายด้วย “ฮิโรยูกิรับบทเป็น โออิชิ ได้อย่างเป็นตัวเป็นตน เขาเป็นนักแสดงที่มีน้ำใจงดงามมาก และยังช่วยเหลือเราในการสร้างโลกนี้และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม เขาจัดการทุกอย่างได้อย่างงดงาม มีสไตล์ และเขาก็ใส่ลักษณะเช่นนั้นลงไปในการแสดงของเขาด้วย”

เพื่อมาแสดงเป็น มิกะ สาวที่เป็นรักต้องห้ามของไค ทางทีมผู้สร้างต้องการนักแสดงหญิงที่สามารถแสดงลักษณะของเจ้าหญิงผู้สง่างาม ผู้ยินดีท้าทายต่อขนบธรรมเนียมได้ พวกเขาหันไปหาหนึ่งในนักร้องที่เป็นปรากฏการณ์ทางดนตรีของญี่ปุ่น โค ชิบาซากิ รินสช์เล่าว่า “โคเป็นคนที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนที่เราจะเริ่มต้นทำงานกัน เธอมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่แล้วในฐานะนักร้อง และมีความสามารถในการแสดงด้วย เธอสร้างผลงานได้อย่างน่าทึ่ง และผมคาดหวังว่าเธอจะสร้างผลงานระดับที่เป็นตำนานได้อย่างนี้ในทุกแขนงงานที่เธอฝันว่าจะได้ทำ”

รีฟส์สรุปความสัมพันธ์ระหว่างไคกับมิกะไว้ว่า “แกะดำกับเจ้าหญิง มันคือความรักที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันทั้งเสี่ยงและไม่อาจสมหวัง การที่ไคมีความถวิลหามิกะมันคือแรงขับดันเรื่องราวนี้” การได้ทำงานร่วมกับชิบาซากิยังถือเป็นไฮไลท์ในการถ่ายทำสำหรับรีฟส์ เขาเล่าว่า “โคคือร็อคสตาร์ เธอทำได้ทุกอย่าง เธอมีความอ่อนไหว มีความสง่างาม และมีความสวยอยู่ในการแสดงของเธอ”

ในการมารับบทนี้ ชิบาซากิมองเห็นโอกาสที่จะเล่าเรื่องราวของญี่ปุ่นให้ฮอลลีวู้ดได้รับรู้จากมุมมองใหม่ๆ เธอกล่าวว่า “คนญี่ปุ่นค่อนข้างขี้อาย และไม่ค่อยแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยมากนัก คาร์ลคอยกระตุ้นให้ฉันแสดงความรู้สึกออกมามากขึ้น และดึงเอาความรู้สึกโดยธรรมชาติของฉันออกมา เขาเป็นคนใจกว้าง นั่นคือเหตุผลที่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เรายอมกระโดดลงไปเสี่ยง”

มิกะไม่เพียงแต่เป็นที่ปรารถนาของไคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลอร์ดคิระผู้ชั่วร้าย ที่หวังจะอ้างสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดที่เป็นของลอร์ดอาซาโนะ เพื่อหาคนมาแสดงเป็นผู้ร้ายของหนัง ทีมผู้สร้างเลือก ทาดาโนบุ อาซาโนะ ผู้สร้างชื่อไปทั่วโลกจากบทแจ้งเกิดที่มีเอกลักษณ์ในภาพยนตร์เรื่อง Ichi the Killer และทะยานจนโด่งดังไปทั่วโลกจากบท โฮกัน แอสการ์เดี้ยนที่เป็นเพื่อนของธอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Thor และ Thor: The Dark World

อาซาโนะอธิบายถึงแรงจูงใจของตัวละครของเขาว่า “มิกะถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากคนหนึ่งในอาโกะ ถ้าควบคุมเจ้าหญิงได้ เขาก็ย่อมสามารถครอบครองอาโกะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการเสมอมา ในระดับส่วนตัว เขามองเห็นความรักในตัวมิกะอย่างที่ตัวเขาเองไม่มี เขาอยากควบคุมพลังที่จะรักในแบบที่เธอเป็นสัญลักษณ์อยู่”

อาซาโนะมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของ 47 Ronin มานานมากแล้ว อันที่จริง เขามีชื่อเดียวกับขุนนางที่เป็นหัวใจของเรื่องนี้ เขากล่าวว่า “ตอนที่ผมเติบโตมา เรื่องนี้มักได้ออกอากาศทางทีวีหรือถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่บ่อยๆ และคุณยายของผมท่านก็จะบอกว่า ‘หลานคืออาซาโนะเหมือนกัน’ ตลกดีที่ผมลงเอยด้วยการได้มาแสดงในบทที่ตรงกันข้ามกัน!”

ในบทลอร์ดคิระผู้ชั่วร้าย อาซาโนะอ้างว่าเขาพบวิธีง่ายๆ ที่จะอินไปกับด้านมืดในตัวเขา เขาอธิบายว่า “เขาอาจดูเป็นคนบ้าอำนาจ และหยิ่งยโส แต่ถ้าคุณลองเปลี่ยนมุมมองไปเล็กน้อย เขาอาจกลายเป็นชายผู้มีเสน่ห์มากก็ได้ แน่นอน มีบางอย่างผิดปกติไปในตัวเขา แต่นั่นทำให้เขากลายเป็นตัวละครที่มีความน่าสนใจในการแสดงอย่างมาก”

อาซาโนะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีชีวิตที่แตกต่างไปจากการตีความแบบญี่ปุ่นในแบบที่เคยมีมา เขาอธิบายว่า “เพราะนี่คือเรื่องราวยอดนิยมในวัฒนธรรมญี่ปุ่น มันถูกแสดงออกมาในหลากหลายสื่อที่แตกต่างกันมากมาย และในหลายเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันด้วย แต่เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นการเดินตามกฎที่อาจไม่มีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ คาร์ลมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ดังนั้นเขาจึงนำมุมมองใหม่มาสู่เรื่องนี้ และเขายังสามารถที่จะกลั่นเรื่องนี้ให้เหลือธีมที่เป็นสากลได้ เขาสร้างผลงานที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งยังคงยึดมั่นต่อธีมหลักของเรื่องนี้ และยังให้ลมหายใจใหม่กับเรื่องนี้ด้วย”

ขณะที่อาซาโนะและรีฟส์ไม่ได้เข้าฉากแสดง รีฟส์รู้สึกเพลิดเพลินไปกับการนั่งดูอาซาโนะทำงานอย่างมาก รีฟส์หัวเราะเมื่อเล่าว่า “เขาเป็นคนร้ายที่ดีมาก เขาใช้ชีวิตเหมือนทุกอย่างเป็นของเขา ผมได้เห็นเขานั่งดูการแสดงของนักเต้น มันเหมือนเขากำลังบอกว่า ‘แน่นอน เจ้าร่ายรำให้ข้าดู ทุกอย่างนี้มีขึ้นเพื่อข้า ดวงจันทร์ก็เกิดมาเพื่อข้า ดวงตะวันก็เป็นของข้า’”

รินโกะ คิคุชิ นักแสดงหญิงที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว เริ่มเป็นที่สนใจของคนดูทั่วโลกจากบทบาทการแสดงอันน่าตื่นตะลึงของเธอในภาพยนตร์เรื่อง Babel และเมื่อเร็วๆ นี้เธอยังร่วมแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Pacific Rim เธอได้พูดถึงการรับรู้ที่เธอมีต่อเรื่องราวที่เป็นตำนานนี้ว่า “ฉันรู้จักเรื่องนี้มาตั้งแต่ได้เรียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่โรงเรียน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าแตกต่างไปจากเรื่องในเวอร์ชั่นที่คนดูชาวญี่ปุ่นเคยดูมาก่อน ทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ฉาก และตัวละครก็ถือว่าใหม่หมด” ได้เข้ามาร่วมงานในบทแม่มด คิคุชิรู้ดีว่ามีความท้าทายรออยู่เบื้องหน้า “ตัวละครของฉันไม่ได้มีตัวตนอยู่ในเรื่องต้นฉบับ แต่เธอได้เพิ่มองค์ประกอบที่เป็นแฟนตาซีเข้าไปในเรื่องนี้ และฉันก็สนุกกับบทนี้มาก”

คิคุชิยังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เล่นบทที่มีความแข็งแกร่งขนาดนี้ เธอสรุปว่า “สนุกนะที่ได้เล่นเป็นหญิงร้ายแบบนี้ คาร์ลบอกฉันว่าบทของฉันจะต้องปลุกปั่น เซ็กซี่ และโลดโผน แม่มดสามารถแปลงกายได้ และคอยหลอกคนอื่นๆ แต่เธอไม่ใช่แม่มดในแบบที่เราเคยเห็นกัน เธอมีหัวใจของผู้หญิง แต่เธอแค่ทำตามสัญชาตญาณ”

เป้าหมายของรินสช์ก็คือการแสดงให้คนดูได้เห็นด้านหนึ่งของญี่ปุ่นในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น ขณะเดียวกันก็ยกย่องต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนี้ “คนญี่ปุ่นคงอยากเห็นอะไรใหม่ๆ เช่นกัน” คิคุชิกล่าวเสริม “แทนที่จะได้เห็นเรื่องแบบเดิม ที่เคยถูกสร้างโดยคนญี่ปุ่นมาแล้ว เราอยากเห็นเรื่องเดิมๆ นี้จากแง่มุมใหม่บ้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างสมดุลที่ลงตัวระหว่างสิ่งที่เป็นสากล และสิ่งที่เป็นความคิดสร้างสรรค์และมีความแปลกใหม่จริงๆ”

จิน อาคานิชิ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นปรากฏการณ์ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของเขา โดยเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องเพลงป็อปยอดนิยม รับบทเป็น ชิการะ ลูกชายของโออิชิ แอ็บดี้ได้พูดถึงตัวละครตัวนี้ว่า “ชิการะถูกบีบให้ต้องเติบโตเป็นชายชาตรีตั้งแต่อายุยังน้อย โออิชิก็เหมือนกับพ่อคนอื่นๆ ที่อยากปกป้องลูกชาย” เธอยังได้พูดถึงการแสดงของอาคานิชิว่า “จินแสดงบทนี้ได้ดีมาก เขาได้เรียนรู้เยอะมากกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และฉันก็ตื่นเต้นที่เราเลือกเขามาแสดง”

อาคานิชิพอใจกับโอกาสที่ได้เข้ามาร่วมงานกับงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เขากล่าวถึงเรื่องราวของตัวละครของเขา ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาการต่อสู้แบบเทนกุจากไค “ชิการะเริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กชายที่อยากเป็นซามูไร ตลอดเรื่องนี้ เขาเติบโตขึ้น เขาเป็นเพียงคนเดียวที่เข้าใจไค และปฏิบัติกับเขาแบบเพื่อน”

แอ็บดี้เล่าถึงตอนที่เธอถามอาคานิชิว่าเขากับเพื่อนๆ ของเขาคุ้นกับเรื่อง 47 Ronin หรือไม่ “เขาตอบว่า ‘ไม่คุ้นหรอก มันเป็นเรื่องที่คุณปุ่และพ่อของพวกเราเคยพูดถึงครับ’ แต่เมื่อเราพาเขาเดินผ่านโลกในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาพูดว่า ‘มันเจ๋งมากเลย เพื่อนผมต้องชอบเรื่องนี้แน่’ เรามีโอกาสได้ให้การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้กับคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น เพราะเราได้มอบโลกที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้”

สำหรับสมาชิกของทีมนักแสดงที่เป็นคนรุ่นใหม่ ยังมีเรื่องที่พวกเขาต้องเรียนรู้อีกเยอะจากนักแสดงอาวุโส “ซานาดะซังเป็นคนขยันมาก” อาคานิชิกล่าว “เขาห่วงใยทุกคนและเรื่องเล็กน้อยทุกอย่าง เขาใส่ใจว่าเราจะใส่ชุดของเรายังไง และเราเคลื่อนไหวยังไง เพราะเขารู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเยอะมาก เขาคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้อย่างมากทีเดียว”

ขณะที่อาคานิชิรับบทเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของกลุ่มซามูไรพเนจร บรรดานักรบซามูไรยังประกอบไปด้วยนักแสดงชาวญี่ปุ่นอย่าง มาซาโยชิ ฮาเนดะ ในบท ยาสุโนะ, ฮิโรชิ โซกาเบะ ในบท ฮาซามะ, ทาคาโตะ โยเนโมโต้ ในบท บาโช, ฮิโรชิ ยามาดะ ในบท ฮาระ และชู นาคาจิม่า ในบท โฮริเบะ ขณะที่ มาซายูกิ ดิเออิ เข้ามารับบท อิโซไก, โยริค แวน วาเกนนินเกน รับบทเป็น แค็ปปิตัน จากเกาะดัทช์ และเจ๊ดดี้ วาตานาเบะ รับบทเป็นผู้นำกลุ่มนักแสดงที่ทำให้คนของโออิชิสามารถปฏิบัติแผนการโจมตีทหารของคิระได้ ริกุ ซึ่งเป็นภรรยาของโออิชิ และเป็นแม่ของชิคาระ รับบทแสดงโดย นัทสุกิ คูนิโมโตะ

สุดท้าย นอกจาก มิน ทานากะ ผู้รับบทเป็นลอร์ดอาซาโนะแล้ว นักแสดงและนักต่อสู้ศิลปะป้องกันตัวอย่าง แครี่-ฮิโรยูกิ ทากาวะ ยังเข้ามาร่วมงานในบท โชกุน สึนาโยชิ เจ้าของคำกล่าวประกาศิตที่กลายเป็นกฎหมายที่ไม่มีใครคัดค้านได้


บูดาเปสท์ ถึงลอนดอน: ฉาก, โลเกชั่น และงานออกแบบ

การถ่ายทำ 47 Ronin แบ่งแยกระหว่างการทำงานในสตูดิโอในบูดาเปสท์ และการถ่ายทำที่โรงถ่ายขนาดใหญ่ที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ใกล้ๆ กับลอนดอน อันที่จริงแล้ว เป้าหมายของทีมถ่ายทำนี้ ก็คือการสร้างภาพประเทศญี่ปุ่นที่งดงามจากเริ่มต้น ผู้อำนวยการสร้างแม็คลีออดสรุปว่า “คนเยอะแยะมากมายที่ไม่เคยไปญี่ปุ่น คงจะมีภาพที่ใจนึกไว้ว่าญี่ปุ่นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำภาพเช่นนั้นยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มันเขียวขจีกว่า สดใสกว่า”

แอ็บดี้ได้พูดถึงความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอตั้งแต่วันแรก “คุณจับคู่บทภาพยนตร์ของคริสและฮอสซีนเข้ากับการถ่ายทำในลอนดอนและบูดาเปสท์ และพยายามสร้างญี่ปุ่นในยุคเจ้าขุนมูลนายขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มันเป็นกระบวนการหลากหลายระดับที่ทำให้คนที่มีความสามารถจำนวนมากต้องบากบั่นทำงานจนสำเร็จ”

ทางทีมผู้สร้างรู้ดีว่า เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาให้เป็นธรรมที่สุด พวกเขาจำต้องทำงานในระดับยิ่งใหญ่ ในเวลาเดียวกัน พวกเขาจำต้องเข้าถึงคุณสมบัติจำเพาะของชีวิตในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 ขณะที่ให้เกียรติกับความปรารถนาของพวกเขาที่จะนำเสนอเรื่องราวของประเทศแห่งนี้ขึ้นจอใหญ่ในแบบที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน

รินสช์ได้พูดคุยถึงสิ่งที่จำเป็นว่า “เราทำการค้นคว้า เพื่อให้แน่ใจว่าเรารู้จักวัฒนธรรมนี้ จากนั้น เราก็แสดงความเคารพด้วยการสร้างมันออกมาตามรูปแบบของเรา และเปลี่ยนแปลงมันไปในแบบที่ต้องสมเหตุผลต่อทุกวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นใส่ความมีเหตุผลลงไปในทุกงาน คนตะวันตกจึงต้องระมัดระวังที่จะไม่ล่วงละเมิด เรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดกิโมโน่ทุกชุดถูกสวมใส่โดยซ้ายทับขวา กลายเป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวง เพราะหลังจากคุณเสียชีวิตแล้วเท่านั้นที่คุณจะใส่แบบขวาทับซ้าย ถ้าคุณไม่ระวังให้ดี คุณจะลงเอยด้วยการมีทีมนักแสดงที่กลายเป็นศพเดินได้”

“ฉากของเราใหญ่มาก” แอ็บดี้เปิดเผย “และประณีตมากด้วย และยังมีส่วนขยายที่เป็นงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ จากนั้นก็มีรายละเอียดของการตกแต่งฉาก ซึ่งเหมือนจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นชา ห้องต่างๆ เสื่อตาตามิ มีอยู่ฉากหนึ่งที่มิกะกำลังแต่งหน้าเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับพิธีแต่งงานของเธอกับลอร์ดคิระ รายละเอียดในทุกอย่าง เรื่อยไปจนถึงแปรงแต่งหน้า และวิธีการแต่งหน้า สีสัน และโครงสร้างของลิปสติค มีองค์ประกอบแบบนั้นอยู่เป็นล้านๆ ที่จะต้องทำให้ถูกต้องในทุกแผนก”

แจน โรเอลฟ์ส โปรดักชั่นดีไซเนอร์ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วถึงสองครั้ง และเมื่อเร็วๆ นี้เป็นคนออกแบบโปรดักชั่นให้กับภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 6 ได้วางแผนการสร้างโลเกชั่นต่างๆ ของ 47 Ronin ในบูดาเปสท์ ทีมของเขาได้สร้างฉากขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นลานสนามของอาโกะ, เกาะเดจิมะ และป่าเทนกุ ส่วนที่เชพเพอร์ตัน พวกเขาได้สร้างฉากกลางแจ้งของอาโกะ และป้อมปราการของคิระให้กับฉากสุดท้ายสุดอลังการของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย

แม็คลีออดให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานของทีมว่า “รายละเอียดนั้นพิเศษสุดจริงๆ กับฉากอาโกะ ต้นไม้เต็มไปด้วยดอกซากุระ นั่นเป็นภาพที่มีความเป็นญี่ปุ่นแบบเฉพาะตัว มีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างป้อมปราการของอาโกะ กับดอกซากุระที่งดงาม และความมืดมิดของป้อมปราการของคิระ ที่บ่งบอกถึงการเดินทางของเรื่องราวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง”

โดยรวมแล้ว มีดอกซากุระปลอมกว่า 15,000 ดอกที่ถูกนำมาติดบนต้นไม้แต่ละต้นด้วยมือ และตัวต้นไม้เองก็มีขนาดใหญ่ซึ่งพวกเขาต้องแยกมันออกเป็นชิ้นๆ และนำใส่เรือขนไปยังสหราชอาณาจักร ฉากถูกตกแต่งให้ดีขึ้นด้วยต้นไผ่ จำนวนกว่า  300 ต้น แต่ละต้นมีความสูง 50 ฟุต ซึ่งถูกขนไปจากอิตาลี รวมถึงต้นไม้บอนไซสูง 3 ฟุต ซึ่งบางต้นนั้นมีอายุมากกว่า 100 ปี

ตัวอย่างผลงานของทีมงานของโรเอลฟ์ส รีฟส์ได้เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวองก์สุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นการบุกยึดป้อมปราการของคิระ ซึ่งถ่ายทำกันที่โรงถ่ายที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ “กลุ่มนินจาโรนิน 47 ได้รับความร่วมมือจากคณะการแสดง ที่จะต้องมาแสดงให้กับลอร์ดคิระดูในคืนนั้น เราสามารถเข้าไปถึงตัวปราสาท และเริ่มแฝงตัวอยู่ในนั้นตามแผนการ และในช่วงนั้นเองที่เราพยายามเข้าไปปลิดชีพลอร์ดคิระและปลดปล่อยเจ้าหญิง”

อาซาโนะกล่าวว่าฉากดังกล่าวนั้นเป็นฉากในฝันเลยทีเดียว “มันสมบูรณ์แบบ ทั้งน่าเกลียด เยือกเย็น และว่างเปล่า หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกอย่างเหมาะกับบุคลิกของคิระมาก”

รีฟส์ยอมรับว่าเขารู้สึกประทับใจกับความละเอียดลออในการสร้างฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะผลงานในป้อมปราการของคิระ “เรามีฉากที่สุดยอดมาก” เขากล่าวอย่างภูมิใจ “และมันถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยกล้อง มีส่วนเพิ่มเติมมาทีหลัง งานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ และสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ต่างๆ แต่เรามีฉากใหญ่เหล่านี้ มันคืองานสร้างหนังสไตล์ดั้งเดิม มีฉากใหญ่ ตัวประกอบเพียบ เสื้อผ้า แสง กล้อง แอ็กชั่น คุณจะได้เห็นความสนุกเมื่อโรนินที่มีอยู่จำนวนน้อยนิด จัดการกับคู่ต่อสู้มากมาย มีการยิงธนู และการต่อสู้ การฟาดฟันกันด้วยดาบ มันเกิดขึ้นตามลานป้อมปราการที่มีลักษณะแตกต่างกันไป”

ในเรื่องราวเวอร์ชั่นของเรา ไคเติบโตมาในป่าเทนกุ ซึ่งเป็นฉากที่โรเอลฟ์สและทีมงานของเขาสร้างขึ้นมาในบูดาเปสท์ แอ็บดี้รู้สึกประทับใจกับฉากนี้มาก เธอกล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า “ป่าเทนกุช่างน่าตื่นตามากทีเดียว มันอาจเป็นส่วนประกอบที่มหัศจรรย์ที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว มีองค์ประกอบมากมายในฉากนี้ มันคือวิธีที่จะพาคนดูดำดิ่งเข้าไปในสถานที่ลึกลับที่ไคเติบโตมา”

อาคานิชิเล่าว่าฉากต่อสู้ฉากแรกของตัวละครของเขานั้นน่าหวั่นเกรงมาก “ถ้ำแห่งนี้มีลักษณะที่ทั้งแปลกและดูน่ากลัวมาก ผมประทับใจกับรายละเอียดที่ทีมงานใส่ลงไปในฉากนี้ มันมีความซับซ้อน เป็นฉากแรกสำหรับผม และการได้เห็นมันเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกทึ่งมากทีเดียวครับ”

ในบูดาเปสท์ ทีมงานได้สร้างฉากสภาพแวดล้อมของเกาะเดจิมะ ซึ่งเป็นสถานีทำการค้าที่ดัทช์เป็นเจ้าของ ที่นี่เองที่ไคและโออิชิได้ปะทะกัน เมื่อฝ่ายหลังพยายามปล่อยไคจากที่คุมขัง

แม็คลีออดเชื่อว่าไม่มีใครเหมาะเท่าโรเอลฟ์สอีกแล้วที่จะเป็นผู้จินตนาการโลกของ Ronin เขาให้ความเห็นว่า “กระบวนความคิดของแจน ไม่เพียงแต่เหมาะกับการออกแบบภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่มันยังเข้ากันได้ดีกับความซับซ้อนของงานสตั๊นต์และงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา”

 

นกล่าเหยื่อ: งานสตั๊นต์และศิลปะการต่อสู้

 

แกรี่ พาวเวลล์ ผู้ประสานงานสตั๊นต์ซึ่งเคยแสดงฝีมือให้เห็นมาแล้วในภาพยนตร์อย่าง Skyfall และ Quantum of Solace จนถึงเรื่อง Unstoppable และ The Bourne Ultimatum เข้ามารับผิดชอบดูแลทีมต่อสู้ รินสช์กล่าวว่า “แกรี่สร้างผลงานที่สุดมหัศจรรย์มาก เราอยากจับภาพการต่อสู้ด้วยกล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเขาก็นำทีมสตั๊นต์ไปสู่ผลลัพธ์ที่สุดยอดจริงๆ”

รีฟส์คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับสไตล์การต่อสู้แบบเอเชีย โดยเขาเคยเรียนศิลปะป้องกันตัวแบบต่อสู้ตัวต่อตัวตอนที่ต้องแสดงภาพยนตร์ไตรภาคเรื่อง Matrix และจากผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขา เรื่อง Man of Tai Chi อย่างไรก็ดี การฝึกเพื่อนำแสดงใน 47 Ronin หมายถึงการต้องเรียนสไตล์การต่อสู้แบบญี่ปุ่นที่เกี่ยวพันกับอาวุธต่างๆ เขาเล่าว่า “ผมเริ่มจากดาบคาตานะก่อนจะเริ่มถ่ายทำ และต้องฝึกอยู่นานหกอาทิตย์ เพื่องานพื้นฐานต่างๆ”

สไตล์การต่อสู้ของไคเป็นการผสมผสานองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆ เข้ากับสไตล์การต่อสู้ที่โดดเด่นของปรมาจารย์เทนกุ มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาถูกขังอยู่ที่เกาะเดจิมะ ซึ่งตามที่รีฟส์บอก เขากลายเป็นเหมือน “หมานักสู้” “ไคนำองค์ประกอบที่เขาได้เฝ้าสังเกตซามูไร และเรียนรู้เทคนิคเพลงดาบแบบเทนกุมา จากนั้นก็ยังมีเทคนิคการต่อสู้ในลานต่อสู้อีกด้วย”

รีฟส์เล่าถึงฉากสำคัญที่เกาะเดจิมะที่เขาได้ต่อสู้กับโออิชิ “ระหว่างการต่อสู้นั้น เราได้ทำความรู้จักกันผ่านสไตล์ต่างๆ และผ่านแผนการ ไคเหมือนเสียสติไปแล้วเพราะเขาต้องอยู่ในห้องสังหารมานานกว่าหนึ่งปี และกลายเป็นสัตว์นักฆ่า แต่โออิชิเป็นคนที่นำสติของเขากลับคืนมา”

ซานาดะที่ใช้ดาบได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว จำได้ถึงการซักซ้อมฉากนี้อยู่นานหลายอาทิตย์ เขาอธิบายว่า “โออิชิเป็นเจ้าแห่งดาบ แต่ในเวลานั้น ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในภาวะสงบ ดังนั้นซามูไรมากมายจึงไม่เคยได้ใช้ดาบของพวกเขาเลย ไคถูกเลี้ยงดูมาในเทนกุ และสไตล์การต่อสู้ของเขาก็ป่าเถื่อนมาก ในระหว่างการเดินทางนี้ ไคและโออิชิได้เรียนรู้สไตล์การต่อสู้ของกันและกัน

รีฟส์กล่าวว่าซานาดะช่วยได้มากเมื่อถึงเวลาเรียนรุ้ศิลปะการใช้ดาบแบบซามูไร “ซานาดะซังเก่งมากทีเดียว” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น “เขาเคยฝึกใช้ดาบแบบคลาสสิก สำหรับเขา ทุกอย่างล้วนแต่มีความหมาย เขาไม่ใช่แค่แสดงฉากแอ็กชั่นเพื่อให้มีฉากแอ็กชั่นเท่านั้น การจู่โจมแต่ละครั้งเหมือนไหลไปสู่การฟาดฟันครั้งต่อไป และเขาก็รับรู้และสำนึกในเรื่องนี้เป็นอย่างดี”

บนเกาะเดจิมะของดัทช์ ไคต้องเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์อีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โอนิ (อ๊อกร์) ซึ่งรับบทโดย นีล ฟินเกิลตัน (X-Men: First Class) ผู้รับบทเป็น บรูท ทหารร่างยักษ์ของคิระในตอนต้นเรื่องด้วยอีกบทหนึ่ง ด้วยส่วนสูง 7 ฟุต 7 นิ้ว ฟินเกิลตันคือชายที่สูงที่สุดในอังกฤษ

รีฟส์เชื่อว่านั่นคือหนึ่งในการต่อสู้ที่ยากที่สุดเท่าที่เขาเคยแสดงมา “นั่นคือความท้าทาย คุณจะต่อสู้กับคนที่สูงขนาดนั้นยังไง ในแง่ของการโจมตี สำหรับผมมันเป็นเรื่องของการบุกสูงต่ำ คุณต้องบุกเท้า คุณต้องพยายามเข้าวงใน นีลเป็นนักกีฬาอาชีพ และมีทักษะทางร่างกายสูง ถึงแม้เขาจะเริ่มต้นด้วยการไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้สตั๊นต์เลยก็ตาม”

ฟินเกิลตันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเป็นชายตัวใหญ่ที่สุดในกองถ่ายนี้ว่า “ผมภูมิใจในความสูงของผมเสมอ คีอานูเป็นคนดีมาก การได้รู้จักเขาเป็นเรื่องสนุก กับการต่อสู้นั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจว่าเราแต่ละคนเคลื่อนไหวอย่างไร  และผมเดาว่าสำหรับเขามันยากกว่าเพราะเขาต้องต่อสู้โดยเงยหน้ามองตลอดเวลา” ฟินเกิลตันกล่าว “ผมต้องมองต่ำ แต่ว่าผมก็คุ้นเคยกับการทำแบบนั้นอยู่แล้ว!”

ซามูไรพเนจรเหล่านี้ไม่ใช่ชายเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องออกลุย อาคานิชิยอมรับว่าเขาตื่นเต้นมากที่ได้เรียนรู้การต่อสู้ในบทนี้ “ผมต้องฝึกการต่อสู้ด้วยดาบ และต้องขี่ม้า ผมยังไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อน” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น “มันสนุก และเป็นเรื่องดีที่ได้เรียนรู้”

 

ภาพฝันถึงญี่ปุ่นยุคโบราณ: งานวิชวลเอฟเฟ็กต์ของ 47 Ronin

 

คริสเตียน แมนซ์ วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว และบริษัทเอฟเฟ็กต์ระดับคว้ารางวัลอย่าง เฟรมสโตร์ เข้ามารับหน้าที่ในการสร้างสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ต่างๆ ที่ปรากฏตัวให้เห็นใน 47 Ronin  รวมไปถึงการขยายภาพแบ็คกราวน์ให้กับฉากขนาดใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

แมนซ์บอกว่าวิธีการทำงานของรินสช์มีความเป็นศิลปะสูง เขากล่าวว่า “ในการพูดคุยแรกเริ่มกับคาร์ล เราได้พูดคุยเกี่ยวกับการสร้างสรรค์มากกว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิค ผมรู้สึกสนใจเมื่อได้เห็นภาพอันงดงามที่เขาเอามาให้ผมดู เขาเปิดรับฟังไอเดียคนอื่นๆ และต้องการทุกอย่างที่ดูน่าทึ่ง”

ด้วยความเป็นผู้กำกับที่มาจากโลกของงานโฆษณา อิทธิพลของรินสช์จึงมาจากหลายแหล่งด้วยกัน อย่างไรก็ดี ชายสองคนยังคงเอ่ยถึงชื่อหนึ่ง “เราพูดคุยกันว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ควรจะมีหน้าตาคล้ายกับภาพยนตร์มิยาซากิในเวอร์ชั่นที่ใช้คนแสดง” แมนซ์เล่า “ความท้าทายก็คือ การทำให้มันมีความรู้สึกว่าทุกอย่างมาจากโลกนั้น เราอยากให้งานออกแบบให้ความรู้สึกติดดิน แต่ก็มีอารมณ์แบบแฟนตาซีไหลแทรกซึมอยู่ มันคือญี่ปุ่นที่ทุกคนคิดว่ามีอยู่จริง แต่เป็นการมีอยู่ในภาพพิมพ์แบบโฮกุไซ”

แมนซ์ทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรเอลฟ์สและทีมงานของเขาเพื่อปรับแต่งภาพผลงานที่โรเอลฟ์สทำเอาไว้ให้ดีขึ้นอีก ตั้งแต่การขยายลานกว้างของอาโกะ จนถึงการสร้างฉากที่ดูลึกลับดำมืดของป้อมปราการของคิระ ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ และอยู่ท่ามกลางหุบเขาลึก ทีมงานแผนกนี้ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา

งานที่ถือว่าเป็นผลงานที่ชัดเจนจากแผนกของแมนซ์ ก็คือ สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นมังกรของแม่มด, โอนิจากเกาะดัทช์ และสิ่งมีชีวิตที่น่าหวาดกลัวที่เรียกกันว่าคิริน หนึ่งในฉากที่น่าตื่นตาที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการตามล่าในป่าเพื่อพิชิตคิริน นั่นคือฉากเปิดภาพยนตร์เรื่องนี้ แอ็บดี้เล่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า “มันเป็นฉากไล่ล่าด้วยรถฉากใหญ่ของเรา เห็นได้ชัดว่าเราไม่มีรถในหนังเรื่องนี้ ฉะนั้นจะมีอะไรดีเท่าการสร้างความเร็วขนาดนั้นด้วยสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ยักษ์ท่ามกลางป่าอีกล่ะ คิรินมีพลัง อำนาจ และการเคลื่อนไหวที่ทรงอำนาจ”

สำหรับแมนซ์ ฉากนั้นถือเป็นฉากแอ็กชั่นที่มีความซับซ้อนที่สุด เขาเล่าว่า “ไอเดียก็คือมันเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ถูกพิษและบ้าคลั่งไปแล้ว มันเป็นหนึ่งในความท้าทายสูงสุด นั่นก็คือการออกแบบสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ และต้องทำงานกับทีมสตั๊นต์ และทีมโปรดักชั่นดีไซน์เพื่อใส่มันลงไปในฉากนี้”

การจะทำให้ฉากนี้ออกมาดูดีได้หมายถึงการวางจังหวะแอ็กชั่นต่างๆ อย่างลงตัวที่สุด แมนซ์อธิบายว่า “มันเป็นเรื่องของการออกแบบเส้นทางที่คิรินจะต้องมุ่งไป ทำให้แน่ใจว่านักแสดงกำลังมองไปที่มัน และทำให้แน่ใจว่ามีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนกับสิ่งมีชีวิตตัวนั้น เราต้องทำเช่นนั้นในภายหลังเมื่อมันถูกจับใส่ลงไปในฉากนั้น และผู้คนก็แสดงปฏิกิริยากับมัน มันเป็นเรื่องขององค์ประกอบที่จะต้องดูน่าเชื่อ”

ซานาดะกล่าวว่าฉากนี้เป็นฉากสำคัญในการผจญภัยครั้งนี้ “มันถูกนำเสนอไว้ว่านี่คือภาพยนตร์ซามูไร แต่ก็มีองค์ประกอบแบบแฟนตาซีอยู่ด้วย” เขาอธิบาย “กับสัตว์ประหลาดอย่างคิริน คุณอธิบายได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีรสชาติเป็นเช่นไร คุณยังได้เรียนรู้ลักษณะของไคด้วย เพราะเขามีพลังจิตวิญญาณและมีทักษะในการต่อสู้ สำหรับนักแสดงทุกคนแล้ว มันแสดงยากมาก เพราะเราไม่เคยเห็นคิรินอยู่ตรงนั้น การต้องแสดงและจินตนาการไปพร้อมกันกลายเป็นอาวุธอย่างเดียวที่มี เราต้องแน่ใจว่าคนดูจะเชื่อในสิ่งที่เราแสดงไป”

สำหรับฟินเกิลตัน การรับบทเป็น โอนิ ในฉากต่อสู้ฉากสำคัญกับไคที่เดจิมะ หมายถึงการยอมรับความเป็นจริงของการแสดงเพื่องานวิชวลเอฟเฟ็กต์ “โดยพื้นฐานแล้วผมอยู่ในชุดแครอทนานกว่าหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสักเท่าไหร่” เขาเล่า “โอนิเป็นสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ มันเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าคีอานูจะตัดหัวผมในตอนท้ายได้ก็เถอะ ซึ่งมันไม่เจ๋งเลยสำหรับผม”

แมนซ์อธิบายถึงงานถ่ายทำที่ต้องมีขึ้นเพื่อให้เกิดเป็นฉากสำคัญระหว่างไคและโอนิ “แกรี่ พาวเวลล์สร้างฉากต่อสู้ระหว่างคีอานูกับนีล คาร์ลกำกับฉากต่อสู้กับนักแสดงจริงๆ ก่อนที่เราจะแทนที่ตัวนีลด้วยสัตว์ประหลาดของเราในภายหลัง”

ด้วยความช่วยเหลือจากทีมเอฟเฟ็กต์ของแมนซ์ ในงานโพสต์โปรดักชั่น โอนิกลายมาเป็นยักษ์อ๊อกร์ตัวใหญ่สีแดง รินสช์อธิบายให้เราฟังถึงขั้นตอนในการสร้างว่า “นีลจะใส่ชุดสูทสีแดงที่ใส่ติดตัวแทร็คกิ้งเอาไว้ กับชุดสแปนเด็กซ์ และเราก็ใช้เขาเป็นฐานข้อมูลของเรา จากนั้นเราก็จะสร้างตัวละครซีจีขึ้นมาวางทับแทนภาพของเขา ดังนั้นเขาจึงกำลังต่อสู้กับคีอานู ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการได้ต่อสู้กับคนจริงๆ เราเองก็ได้ประโยชน์ตรงที่ทำให้เราได้เห็นแสงและการเคลื่อนไหวของร่างกายจริงๆ ดังนั้นตัวละครซีจีที่สร้างขึ้นจึงออกมาดูจริงอย่างมาก”

 

 

 

 

การแต่งตัวในโลกแฟนตาซี: งานออกแบบเสื้อผ้า

 

การสร้างชุดให้กับภาพยนตร์เอพิค แอ็กชั่น ผจญภัยเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การใช้ชุดและสไตล์แบบญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการต้องสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวประกอบมากถึง 900 คน นอกเหนือไปจากนักแสดงกลุ่มหลักแล้ว ชุดเหล่านี้ต้องตัดเย็บด้วยมือ และแผนกเสื้อผ้ายังต้องจัดหาและทำข้าวของต่างๆ ตั้งแต่ชุดกิโมโนสีสันสวยงาม จนถึงชุดเกราะที่มีความซับซ้อนให้กับทหารมากมายได้ใส่กัน

ความท้าทายสูงสุดก็คือเรื่องของยุคสมัยในประวัติศาสตร์ และลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขาที่คนดูชาวตะวันตกไม่คุ้นเคยนัก สำหรับผู้ออกแบบเสื้อผ้า เพนนี โรส ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานออกแบบชุดให้กับภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และแฟนตาซีอย่าง ภาพยนตร์ชุด Pirates of the Caribbean รวมไปถึงภาพยนตร์อย่าง Prince of Persia: The Sands of Time, King Arthur และ Shadowlands ก้าวแรกของการทำงานก็คือการค้นคว้า เธอเล่าว่า “เรารู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 น้อยมาก ดังนั้น ทีมงานสองคนจากแผนกเสื้อผ้าจึงต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งที่โตเกียว และเริ่มต้นการค้นคว้ามหาศาล เราไม่อยากจำลองของจริงมาทั้งหมด เพราะเรากำลังสร้างโลกแฟนตาซี อย่างไรก็ดี เราอยากจะเริ่มต้นด้วยรูปทรงพื้นฐาน จากนั้นค่อยสร้างงานของเราขึ้นจากตรงนั้น”

รินสช์อธิบายถึงความร่วมมือของพวกเขาว่า “เพนนีเป็นเพื่อนผม เป็นคนที่ผมรู้จักมาก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้น ในตอนแรกๆ เราพูดคุยกันถึงการนำเอางานออกแบบดั้งเดิมมา และใส่ลมหายใจใหม่เข้าไป ใส่สไตล์เข้าไปในแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน เธอได้สร้างเค้าโครงให้กับงานออกแบบตัวละครแต่ละตัว รวมไปถึงการเน้นย้ำในเรื่องของโทนสีและเนื้อผ้าอีกด้วย”

โรสบอกว่าการร่วมงานกับรินสช์ถือเป็นความสำเร็จ “เขาเป็นคนที่มีจินตนาการ และฉลาดมาก เขามักมองเห็นภาพรวมขนาดใหญ่ เขาชอบที่จะทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่เขาไม่เคยคิดถึงมาก่อน แต่เขายังเป็นคนที่มีไอเดียดีๆ มากมายผุดออกมา เขาเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีมาก เพราะเขาตื่นเต้นกับงานภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้”

หนึ่งในไอเดียที่น่าจดจำที่สุดของรินสช์ก็คือการสร้างภาพของญี่ปุ่นขึ้นมาในรูปแบบของเสื้อผ้า “สำหรับสาวใช้ของมิกะ เราทำเสื้อคลุมที่มีลายปักต้นซากุระอยู่ด้านหลัง” โรสบอกรายละเอียด “เมื่อพวกเธอยืนอยู่ด้วยกัน คุณจะมองเห็นต้นไม้ทั้งต้น มันออกมาสวยงามอย่างมาก”

ซานาดะ ได้กล่าวถึงการทุ่มเททำงานของโรสและทีมงานของเธอว่า “มันยากมากสำหรับเพนนีเพราะความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก แต่เธอกลับทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม เธอคือคนที่เก่งที่สุดที่ทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้”

การทุ่มเททำงานเริ่มต้นด้วยการสร้างชุดด้านในของกิโมโน่ที่เป็นสีขาวเรียบๆ กว่า 1,000ชุด เพื่อเป็นฐานให้กับชุดแต่ละชุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ “เราต้องยึดมั่นต่อขนบในรูปแบบพื้นฐานของชุด จากนั้นเราถึงได้ใส่ส่วนของเนื้อผ้าลงไป” โรสเล่า

และที่ทีมงานทุกแผนกต้องกระทำ ทีมผู้ทำเสื้อผ้าจำต้องร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มของโปรดักชั่น ดีไซเนอร์ โรเอลฟ์ส โรสเล่าว่า “ถือเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานร่วมกับแจน เพราะฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ เราร่วมมือกันสร้างรูปทรงและสีสันที่มีอยู่ในงานออกแบบของเขา และทำให้แน่ใจว่าทุกรูปแบบนั้นไม่ขัดกัน”

งานออกแบบต่างๆ แทรกซึมอยู่ในโลกของ 47 Ronin ไม่ว่าจะเป็นชุดเกราะของทหารม้า หรือชุดที่เรียบง่ายของพวกชาวบ้าน คนดูจะรับรู้ได้อย่างรวดเร็วถึงความภักดีของตัวละครแต่ละตัว “อาโกะ สถานที่ที่มีความสุข จะเป็นสีแดง” โรสอธิบาย “โลกของผู้ร้ายอย่างคิระ จะเป็นสีม่วง จากนั้นยังมีโลกของโชกุนที่เป็นสีทองผสมกับเทอร์คอยส์”

ในการทำงานเวิร์กช้อปที่บูดาเปสท์ ชุดเกราะประมาณ 400 เซ็ตถูกผลิตขึ้นด้วยมือจากพลาสติค ทำให้มีน้ำหนักเบาเวลาสวมใส่ระหว่างการถ่ายทำฉากต่อสู้ นี่เป็นการป้องกันนักแสดงจากความอ่อนล้าจากความร้อน ชุดต้นแบบนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยหนัง ซึ่งเป็นวัสดุดั้งเดิมที่ใช้กันเมื่อมีการสร้างชุดเกราะจริงๆ จากนั้นก็คือชั้นตอนการจำลองสร้างชุดจากพลาสติค ที่ดูไม่ต่างไปจากชุดต้นแบบเลย โรสเล่าว่า “มันเป็นการจำลองชุดที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมาเลย”

โรสตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นความต่างกันในการเลือกชุดของไคและโออิชิ เธอพูดถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบของเธอว่า “ไคเป็นเหมือนเด็กที่หลงทาง เขามักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ปุปะ และเขาเป็นพวกที่แต่งตัวโดยเน้นความสบาย ขณะที่โออิชิจะมีเสื้อผ้าที่ดูสะดุดตา ชุดของเขาแต่ละชุดมีความซับซ้อน โดยจะมีองค์ประกอบสี่หรือห้าชิ้น เขามีชุดประมาณ 10ชุด เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับฮิโรยูกิ เขาใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก”

สำหรับตัวละคร มิกะ ของชิบาซากิ โรสใส่ใจในเรื่องแฟชั่นอย่างมาก “เราพิจารณาทุกแบรนด์ที่เคยทำคอลเล็คชั่นสไตล์เอเชีย อย่างดิออร์ในยุค 90, จีวองชี่ ในยุค 60 และแน่นอน อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน เรานำเอาองค์ประกอบของงานออกแบบเหล่านั้นมา และผสมผสานพวกมันเข้ากับชุดตามขนบธรรมเนียม มิกะจะมีโทนสีของเธอเองด้วย เป็นสีพีช สีส้มแดง และสีพาสเทลอ่อนหวาน ทุกอย่างทำจากผ้าไหม และมีคอปกสูง”

โรสอธิบายถึงลอร์ดคิระ ตัวละครของอาซาโนะ ว่า “เขาสวมใส่คริสตัลและเพชร และมีการตกแต่งมากมาย แต่จะมาพร้อมกับชุดที่เสริมไหล่กว้างเหมือนเดิม” เธออธิบาย “เขาเป็นคนที่แต่งตัวในแบบที่เน้นความเร็ว”

คิคุชิพูดถึงชุดที่โรสออกแบบให้กับตัวละครของเธอว่า ชุดที่เพนนีเตรียมไว้ให้ฉัน ทำให้ฉันรู้ว่าแม่มดเป็นยังไง มันช่วยให้ฉันเข้าถึงบทได้มาก ฉันพูดได้เลยว่าบทนี้มีชีวิตขึ้นมาได้เมื่อฉันใส่ชุด เพนนีช่วยฉันได้มากเลยค่ะ”

ภาพลักษณ์แม่มดของเธอสมบูรณ์ได้ด้วยคอนแท็คเลนส์หลากสี “คอนแท็คเลนส์ทำให้ฉันดูบ้าและน่าขนลุกมาก” คิคุชิหัวเราะ “แค่ใส่มันก็ทำให้ตัวละครตัวนี้ดูลึกลับมากพอที่จะมีพลังเวทย์แล้ว” โรสต้องคำนึงถึงงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ด้วยเมื่อออกแบบเสื้อผ้าให้กับแม่มด คิคุชิเล่าเสริมว่า “แม่มดสามารถแปลงร่างได้ และสามารถแปลงเป็นได้ทุกอย่างตั้งแต่หมาจิ้งจอกจนถึงผ้า”

แอ็บดี้ตื่นเต้นกับผลงานที่ทีมของโรสสร้างขึ้นมา เธอกล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า “ฉันหลงใหลผลงานที่พวกเขาทำกับชุดเสื้อผ้าของผู้หญิงมาก เพนนียกระดับงานไปอีกระดับหนึ่ง เสื้อผ้าของพวกเขาเป็นเหมือนงานของนักออกแบบ คุณมองเห็นผู้หญิงเหล่านี้เดินไปบนรันเวย์ในงานปารีส แฟชั่นวีค! เธอใส่ความจริงของโลก และใส่ดุลยพินิจของเธอเข้าไป มันจึงออกมาดูทันสมัย เธอช่างสุดยอดจริงๆ”

แมนซ์บอกว่าชุดของแม่มดแทบจะเป็นสิ่งมีชีวิตอีกตัวหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เลยทีเดียว “ชุดของเธอสามารถเปลี่ยนรูปกายได้ เธอเองก็สามารถแปลงร่างได้เช่นกัน” แมนซ์กล่าว “เราทำมันออกมาในแบบที่น่าสนใจ แทนที่จะเป็นการแปลงร่างแบบเดิมๆ และเป็นสิ่งที่เราเคยเห็นกันมาแล้วตั้งแต่ยุค 80 ชุดของเธอคือสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนแน่ๆ”

****

ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับ รีเลทิวิตี้ มีเดีย โดยมี คีอานู รีฟส์ นำแสดงในเรื่อง 47 Ronin ซึ่งร่วมแสดงนำโดย ฮิโรยูกิ ซานาดะ, ทาดาโนบุ อาซาโนะ, รินโกะ คิคูชิ, โค ชิบาซากิ ดนตรีประกอบเป็นฝีมือของ อิลาน เอชเคอรี และงานออกแบบเครื่องแต่งกายเป็นฝีมือของเพนนี โรส 47 Ronin ลำดับภาพโดย สต๊วร์ต แบร์ด, เอซีดี ขณะที่โปรดักชั่น ดีไซเนอร์คือแจน โรเอลฟ์ส ผู้กำกับภาพคือ จอห์น เมธีสัน, บีเอสซี และทีมผู้อำนวยการสร้างบริหารได้แก่ สก็อตต์ สตูเบอร์, คริส เฟนตัน และวอลเตอร์ ฮามาดะ 47 Ronin อำนวยการสร้างโดย พาเมล่า แอ็บดี้ และเอริค แม็คลีออด บทภาพยนตร์เป็นผลงานของ คริส มอร์แกน และฮอสซีน อามินี่ ขณะที่เส้นเรื่องเป็นผลงานของ คริส มอร์แกน และวอลเตอร์ ฮามาดะ  47 Ronin กำกับโดย คาร์ล รินสช์ © 2013 Universal Studios.  www.47roninmovie.com

 

 

ประวัตินักแสดง

 

คีอานู รีฟส์ (KEANU REEVES) รับบท ไค

คีอานู รีฟส์คือหนึ่งในดารานำชายผู้เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดของฮอลลีวู้ด เมื่อเร็วๆ นี้ รีฟส์ได้ประเดิมงานกำกับชิ้นแรกด้วยภาพยนตร์เรื่อง Man of Tai Chi ซึ่งถ่ายทำทั้งเรื่องในประเทศจีน รีฟส์ไม่เพียงแต่กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เขายังแสดงนำเองด้วย Man of Tai Chi เปิดตัวฉายรอบปฐมทัศน์ในประเทศจีนในเดือนมิถุนายน และจะเปิดตัวฉายทั่วโลกในฤดูใบไม้ร่วงนี้

ในปี 2012 ภาพยนตร์สารคดีที่รีฟส์อำนวยการสร้างเรื่อง Side By Side ได้เปิดตัวทั้งในโรงภาพยนตร์และวีโอดีโดยได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชม ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการสร้างภาพยนตร์และผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิตอลรูปแบบใหม่ ได้เปิดตัวฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กำกับโดย คริส เคนนีลลี่ รีฟส์ทำหน้าที่สัมภาษณ์ทีมคนทำงานคนสำคัญของฮอลลีวู้ด ซึ่งรวมถึง เจมส์ คาเมรอน, เดวิด ฟินเชอร์, เดวิด ลินช์, จอร์จ ลูคัส, แดนนี่ บอยล์, มาร์ติน สกอร์เซซี่, คริสโตเฟอร์ โนแลน, สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก, ลาร์ส วอน เทรียร์ และพี่น้องวาซอว์สกี้

ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆ นี้ของรีฟส์ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ มาร์ก แมนน์ เรื่อง Generation Um…; Henry’s Crime ซึ่งเขาแสดงนำและอำนวยการสร้าง, ภาพยนตร์ของ รีเบ็คก้า มิลเลอร์ เรื่อง  The Private Lives of Pippa Lee ซึ่งเขาประกบบทกับ โรบิน ไรท์; ภาพยนตร์เอพิคของทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ เรื่อง The Day the Earth Stood Still ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่; ภาพยนตร์ทริลเลอร์เกี่ยวกับตำรวจเรื่อง Street Kings ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ฟอเรสต์ วิเทเกอร์; ภาพยนตร์โรแมนติค ดราม่า เรื่อง The Lake House ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ แซนดร้า บูลล็อค; และ A Scanner Darkly ภาพยนตร์ที่ผสมผสานงานถ่ายทำโดยใช้คนแสดงกับงานอะนิเมชั่น รีฟส์ยังแสดงนำในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง Constantine โดยประกบบทกับ เรเชล ไวสซ์; ภาพยนตร์อินดี้ เรื่อง Thumbsucker; ภาพยนตร์ตลกโรแมนติค เรื่อง Something’s Gotta Give ซึ่งเขาประกบบทกับ แจ็ค นิโคลสัน และไดแอน คีตัน และภาพยนตร์ซีรีส์ยอดนิยมเรื่อง The Matrix

รายชื่อผลงานอันยาวเหยียดของรีฟส์ ยังรวมถึง Hardball, The Gift ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ เคท แบลนเช็ตต์, Sweet November, The Replacements, A Walk in the Clouds, ภาพยนตร์ทริลเลอร์สุดฮิตเรื่อง Devil’s Advocate ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ อัล ปาชิโน่ และชาร์ลิซ เธียรอน, Little Buddha และ Much Ado About Nothing ซึ่งเขาประกบบทกับ เดนเซล วอชิงตัน, เอ็มม่า ธอมป์สัน และไมเคิล คีตัน รีฟส์ยังแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Bram Stoker’s Dracula, My Own Private Idaho, Point Break, ภาพยนตร์สุดฮิตเรื่อง Bill & Ted’s Excellent Adventure และภาคต่อ Bill & Ted’s Bogus Journey

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ไซไฟทริลเลอร์ของไทร์สตาร์ เรื่อง Johnny Mnemonic, ภาพยนตร์แอ็กชั่นของ แอนดรูว์ เดวิส เรื่อง Chain Reaction และภาพยนตร์ตลกเสียดสีของ สตีฟ ไบเจลแมน เรื่อง Feeling Minnesota

 

ฮิโรยูกิ ซานาดะ (HIROYUKI SANADA) รับบท โออิชิ

ฮิโรยูกิ ซานาดะ หนึ่งในนักแสดงที่ได้รับการยอมรับสูงสุด และมีความสามารถมากที่สุดของญี่ปุ่น ได้รับความสนใจจากคนดูทั้งในอเมริกาและต่างชาติ ด้วยผลงานภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง และยังเคยได้รับรางวัลออสการ์ญี่ปุ่นมาแล้วหนึ่งรางวัล

ซานาดะจะร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man โดยเขาร่วมแสดงกับ โคลิน เฟิร์ธ และนิโคล คิดแมน ภาพยนตร์เอพิคที่สร้างจากเรื่องจริง โดยอิงเรื่องราวชีวประวัติของ เอริค โลแม็กซ์ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวผู้ชายสองคนที่ถูกตามหลอกหลอนโดยประสบการณ์ของพวกเขาบนทางรถไฟสายมรณะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกชักนำให้มาเจอกันในการเผชิญหน้าครั้งสุดท้าย ซานาดะรับบทเป็น นากาเสะ ล่ามในค่ายกักกันนักโทษญี่ปุ่นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ เอริค โลแม็กซ์ (เฟิร์ธ) ถูกคุมขังอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต้ในปีนี้ และได้ไวน์สตีน คัมปานีมาทำหน้าที่จัดจำหน่ายในอเมริกา โดยจะเปิดตัวฉายในอเมริกาในปี      2014 ไลออนเกท อินเตอร์เนชั่นแนล กำหนดเวลาในยการเปิดตัวฉายภาพยนตร์ในต่างประเทศโดยเริ่มต้นในเดือนธันวาคมปี 2013 ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สเปน และสหราชอาณาจักร

ปัจจุบัน ซานาดะอยู่ระหว่างการถ่ายทำซีรีส์ของ ไซไฟ แชนแนล เรื่อง Helix ซึ่งเขารับบทเป็นหนึ่งในทีมนักค้นคว้าซีดีซีที่สืบสวนการแพร่ระบาดของเชื้อลึกลับในอาร์คติค เซอร์เคิล ซีรีส์เรื่องนี้จะเปิดตัวฉายในเดือนมกราคม ปี 2014

ล่าสุด ซานาดะร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ เจมส์ แมนโกลด์ เรื่อง The Wolverine โดยเขาร่วมแสดงกับ ฮิวจ์ แจ็คแมน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซานาดะรับบทเป็น ชินเกน เจ้าพ่อและศัตรูคนสำคัญของวูล์ฟเวอรีน (แจ็คแมน) ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวฉายในวันที่ 26 มิถุนายน 2013

ซานาดะเริ่มต้นอาชีพในวงการภาพยนตร์ตอนเขาอายุ 5 ขวบ และต่อมา เขายังได้รับรางวัลออสการ์ของญี่ปุ่นจากบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง The Twilight Samurai ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซานาดะสร้างชื่อในหมู่คนดูชาวอเมริกันเมื่อเขาแสดงนำร่วมกับ ทอม ครูซ ในภาพยนตร์ของ เอ๊ด ซวิค เรื่อง The Last Samurai

นับแต่นั้น ซานาดะร่วมแสดงในภาพยนตร์ดังๆ อย่างเช่น ภาพยนตร์ของ เจมส์ ไอวอรี่ เรื่อง The City of Your Final Destination โดยร่วมแสดงกับ แอนโธนี่ ฮอปกิ้นส์; The White Countess ที่เขาร่วมแสดงกับ เรล์ฟ ไฟนน์ส; ภาพยนตร์ไซไฟทริลเลอร์ของ แดนนี่ บอยล์ เรื่อง Sunshine ที่เขาร่วมแสดงกับ คริส อีแวนส์ และโรส เบิร์น; ภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ เรื่อง Speed Racer ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ซูซาน ซาแรนดอน และเอมิล เฮิร์สช์; ภาพยนตร์ของ เบร็ตต์ แร็ทเนอร์ เรื่อง Rush Hour 3; ภาพยนตร์ของ เฉินข่ายเก๋อ เรื่อง The Promise ซึ่งเป็นภาพยนตร์รักแฟนตาซีเอพิคจีน และภาพยนตร์สยองชุด Ringu


ทาดะโนบุ อาซาโนะ (TADANOBU ASANO) รับบทลอร์ดคิระ

ทาดะโนบุ อาซาโนะเกิดใน โยโกฮาม่า-ชิ, คานากาวะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1973

ผลงานภาพยนตร์ของอาซาโนะ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ทากาชิ มิอิเกะ เรื่อง Ichi the Killer (2001), ภาพยนตร์ของ ทาเกชิ คิตาโน่ เรื่อง The Blind Swordsman: Zatochi (2003), ภาพยนตร์ของ เป็นเอก รัตนเรือง เรื่อง Last Life in the Universe (2004), ภาพยนตร์ของ เซอร์ไก บ็อดรอฟ เรื่อง Mongol: The Rise of Genghis Khan (2007) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมที่งานแจกรางวัลออสการ์ครั้งที่ 80 อาซาโนะประเดิมงานแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องแรก ในภาพยนตร์ของ เคนเนธ บรานาห์ เรื่อง Thor (2011) ตามมาด้วย ภาพยนตร์ของ ปีเตอร์ เบิร์ก เรื่อง Battleship (2012) และภาพยนตร์ของ อลัน เทย์เลอร์ เรื่อง Thor: The Dark World (2013)

อาซาโนะยังได้รับรางวัล Upstream Prize สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ที่งานเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ครั้งที่ 60ในปี 2003 จากภาพยนตร์เรื่อง Last Life in the Universe

 

รินโกะ คิคุชิ (RINKO KIKUCHI) รับบท แม่มด

รินโกะ คิคุชิ นักแสดงหญิงที่เกิดในญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลายในทุกบทที่เธอแสดง เมื่อเร็วๆ นี้ เราเคยได้เห็นคิคุชิในภาพยนตร์ไซไฟทริลเลอร์เรื่อง Pacific Rim

คิคุชิเริ่มงานแสดงอาชีพชิ้นแรกในภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Ikitai ในปี 1999 นับแต่นั้น เธอได้แสดงฝีมือให้เห็นในภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ได้รับคำชม เรื่อง Hole in the Sky (2001) และ The Taste of Tea (2004)

คิคุชิเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากบทบาทที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม ในภาพยนตร์ของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ เรื่อง Babel (2006)

หลังจากความสำเร็จในครั้งนั้น คิคุชิยังได้แสดงภาพยนตร์ระดับโลกที่ได้รับคำชมอีกหลายเรื่อง อาทิเช่น ภาพยนตร์ของไรอัน จอห์นสัน เรื่อง The Brothers Bloom (2008) ซึ่งเธอนำแสดงร่วมกับ เอเดรี้ยน โบรดี้ และเรเชล ไวสซ์; ภาพยนตร์ของ อิซาเบล คอยเซ็ต เรื่อง Map of the Sounds of Tokyo (2009); ภาพยนตร์ของ มิเกล ฮาฟสตรอม เรื่อง Shanghai (2010) ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ จอห์น คูแซ็ค และเคน วาตานาเบ้ และภาพยนตร์เรื่อง Norwegian Wood (2010)

 

โค ชิบาซากิ (KO SHIBASAKI) รับบท มิกะ

โค ชิบาซากิ เกิดที่โตเกียวในปี 1981 เธอเริ่มต้นงานแสดงด้วยภาพยนตร์เรื่อง Battle Royale ในปี 2000 และ Go ในปี 2001 ซึ่งเรื่องหลังทำให้เธอได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย หลังจากนั้นไม่นาน เธอกลายมาเป็นนักแสดงนำหญิงที่ทำรายได้ให้กับภาพยนตร์มากมาย โดยมีผลงานเป็นภาพยนตร์โกยเงินอย่าง Yomigaeri, Crying Out Love in the Center of the World, Japan Sinks, Shaolin Girl, Suspect X, Rinco’s Restaurant และ The Lady Shogun and Her Man ภาพยนตร์เรื่อง 47 Ronin คือภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องแรกของ ชิบาซากิ

 

 

ประวัติทีมผู้สร้าง

 

คาร์ล รินสช์ (CARL RINSCH) – ผู้กำกับ

คาร์ล รินสช์เริ่มต้นงานการกำกับตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยวัยเพียง 14 ปี เขาได้นำผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกไปฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์กและเทลลูไรด์ เขาเคยทำงานเป็นช่างภาพให้กับนิตยสาร Rolling Stone

นับแต่ได้รับรางวัล D&AD/Campaign Screen Award สาขาผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม รินสช์เป็นที่รู้จักจากผลงานของเขา ภาพยนตร์เอพิคหุ่นยนต์จารกรรมเรื่อง The Gift ได้รับรางวัล Grand Prix for Direction ที่งานเทศกาล Cannes Lions International Festival of Creativity และได้รับรางวัล Grand Prix ที่งานเทศกาล Ciclope Advertising Craft Festival

 

 

คริส มอร์แกน (CHRIS MORGAN) – ผู้เขียนบท/ คิดสร้างเรื่อง

47 Ronin ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 7 แล้วที่ คริส มอร์แกน ร่วมงานกับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส โดยความร่วมมือเริ่มต้นขึ้นด้วยภาพยนตร์ของ จัสติน หลิน เรื่อง The Fast and the Furious: Tokyo Drift จากนั้นมอร์แกนได้ทำหน้าที่ดัดแปลงบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Wanted ซึ่งนำแสดงโดย แองเจลิน่า โจลี่ ติดตามมาด้วยการกลับไปร่วมงานกับ วิน ดีเซล และพอล วอล์กเกอร์ในภาพยนตร์เรื่อง  Fast & Furious, Fast Five และ Fast & Furious 6

ปัจจุบัน มอร์แกนกำลังทำงานให้กับภาพยนตร์ใหม่ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง The Legend of Conan ซึ่งนำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ และภาพยนตร์ Fast & Furious ภาค 7

 

ฮอสซีน อามินี่ (HOSSEIN AMINI) – ผู้เขียนบท

ฮอสซีน อามินี่ มือเขียนบทชาวอิลาน เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบัฟต้า และรางวัลออสการ์ในปี 1998 จากงานดัดแปลงบทภาพยนตร์จากนิยายคลาสสิกของ เฮนรี่ เจมส์ เรื่อง Wings of a Dove

อามินี่ยังเขียนบทให้กับภาพยนตร์ปี 1996 เรื่อง Jude ซึ่งนำแสดงโดย เคท วินสเลต และคริสโตเฟอร์ เอ็คเคิลสโตน ผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ปี 2002 เรื่อง The Four Feathers ซึ่งนำแสดงโดย ฮีธ เล็ดเจอร์ และเรื่อง Killshot (2008)

ในปี 2011 อามินี่เขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Drive ซึ่งนำแสดงโดย ไรอัน กอสลิ่ง และแครี่ย์ มัลลิแกน

เมื่อเร็วๆ นี้ อามินี่ร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์ของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Snow White and the Huntsman และเขาจะประเดิมงานกำกับเรื่องแรกด้วยภาพยนตร์ทริลเลอร์เรื่อง The Two Faces of January ซึ่งนำแสดงโดย วิกโก้ มอร์เตนเซ่น, เคิร์สเตน ดันสต์ และออสการ์ ไอแซ็ค

 

วอลเตอร์ ฮามาดะ (WALTER HAMADA) – ผู้คิดโครงเรื่อง/ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

วอลเตอร์ ฮามาดะคือรองประธานอาวุโสฝ่ายโปรดักชั่นของนิวไลน์ซีนีม่า ในบรรดาภาพยนตร์ที่ฮามาดะทำหน้าที่อำนวยการสร้างให้ ได้แก่ Final Destination 5, A Nightmare on Elm Street และ Friday the 13th ผลงานล่าสุดของเขา ได้แก่ภาพยนตร์โกยเงินเรื่อง The Conjuring ซึ่งนำแสดงโดย แพทริค วิลสัน และวีร่า ฟาร์ไมก้า ส่วนผลงานเรื่องต่อไปของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ทริลเลอร์เกี่ยวกับทอร์นาโด เรื่อง Into the Storm ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวฉายในช่วงซัมเมอร์ปี 2014

ฮามาดะเคยใช้เวลาสี่ปีทำงานในฐานะหุ้นส่วนอยู่ที่ H2F Entertainment ที่นั่น เขาได้สร้างงานให้กับมือเขียนบทอย่าง คริส มอร์แกน (Wanted, Fast & Furious 6), แบร็ด แกนน์ (Invincible) และแม็ตต์ อัลเลน กับคาเล็บ วิลสัน (Four Christmases)

 

 

พาเมล่า แอ็บดี้ (PAMELA ABDY, p.g.a.) – ผู้อำนวยการสร้าง

ในฐานะประธานบริษัทบลูแกรสส์ ฟิล์มส์ พาเมล่า แอ็บดี้ คือผู้อำนวยการสร้างที่ดูแลงานสร้างภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น เธอทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ตลกเรื่องฮิตอย่าง Identity Thief เมื่อเร็วๆ นี้เธอดูแลงานปิดกล้องภาพยนตร์รีเมก เรื่อง Endless Love และทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์เรื่อง Kill the Messenger ซึ่งกำกับโดย ไมเคิล คูเอสต้า

ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกับบลูแกรสส์ฟิล์มส์ แอ็บดี้เคยทำหน้าที่เป็นรองประธานบริหารให้กับพาราเม้าต์ พิคเจอร์ส โดยเธอได้ดูแลงานสร้างของภาพยนตร์มากมาย อาทิเช่น ภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง Shutter Island; ภาพยนตร์เรื่อง The Love Guru; Stop-Loss; Drillbit Taylor; World Trade Center ซึ่งกำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน และนำแสดงโดยนิโคลัส เคจ; Aeon Flux ซึ่งนำแสดงโดย ชาร์ลิซ เธียรอน; Freedom Writers ซึ่งนำแสดงโดย ฮิลารี่ สแวง และภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลลูกโลกทองคำ เรื่อง Babel

 

เอริค แม็คลีออด (ERIC MCLEOD) – ผู้อำนวยการสร้าง

เอริค แม็คลีออดคือผู้อำนวยการสร้างที่มีประสบการณ์ ที่มีผลงานภาพยนตร์มามากกว่า 30 เรื่อง เขาเริ่มต้นเข้าวงการในปี 1988 ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโปรดักชั่นให้กับภาพยนตร์เรื่อง A Nightmare on Elm Street 4: The Dream Master

ผลงานภาพยนตร์ของแม็คลีออด ได้แก่ ภาพยนตร์ของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง The Lone Ranger,  ภาพยนตร์ของ ไมก์ นีเวลล์ เรื่อง Prince of Persia: The Sands of Time, ภาพยนตร์ของ เบน สติลเลอร์ เรื่อง Tropic Thunder, ภาพยนตร์ของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง Pirates of the Caribbean: At World’s End และ Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest, ภาพยนตร์ของ ดั๊ก ลีแมน เรื่อง Mr. & Mrs. Smith, ภาพยนตร์ของ โบ เวลช์ เรื่อง Dr. Seuss’ The Cat in the Hat, ภาพยนตร์ซีรีส์ของ เจย์ โร้ช เรื่อง Austin Powers, ภาพยนตร์ของ ทาร์เซม ซิงห์ เรื่อง The Cell, ภาพยนตร์ของ โทนี่ สก็อตต์ เรื่อง Enemy of the State และภาพยนตร์ของ จอห์น จี อไวลด์เซ่น เรื่อง 8 Seconds

 

สก็อตต์ สตูเบอร์ (SCOTT STUBER) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

สก็อตต์ สตูเบอร์คือผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบลูแกรสส์ ฟิล์มส์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สมาตั้งแต่ปี 2006

ผลงานเมื่อเร็วๆ นี้ของ บลูแกรสส์ ฟิล์มส์ ได้แก่ Identity Thief ซึ่งนำแสดงโดย เมลิสซ่า แม็คคาร์ธี่ และเจสัน เบทแมน; Ted ซึ่งเขียนบทและกำกับโดยเซ็ธ แม็คฟาร์เลน และนำแสดงโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก, มิล่า คูนิส และแม็คฟาร์เลน และ Safe House ซึ่งนำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน และไรอัน เรย์โนลด์ส

เมื่อเร็วๆ นี้ สตูเบอร์เพิ่งจะปิดกล้องงานถ่ายทำภาพยนตร์ของ ไมเคิล คูเอสต้า เรื่อง Kill the Messenger ซึ่งนำแสดงโดย เจเรมี่ เรนเนอร์ เขายังอยู่ระหว่างทำงานโพสต์โปรดักชั่นของภาพยนตร์โรแมนติค ดราม่า เรื่อง Endless Love ซึ่งนำแสดงโดย อเล็กซ์ เพ็ตติเฟอร์ และแกเบรียลล่า ไวลด์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดเปิดตัวฉายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปี 2014 และภาพยนตร์ตลกของ เซ็ธ แม็คฟาร์เลน เรื่อง A Million Ways to Die in the West ซึ่งนำแสดงโดย ชาร์ลิซ เธียรอน, เลียม นีสัน, อาแมนด้า ไซเฟร็ด และแม็คฟาร์เลน โดยมีกำหนดฉายในวันที่ 30 พฤษภาคม  2014

 

คริส เฟนตัน (CHRIS FENTON) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

คริส เฟนตันคือประธานของบริษัท DMG Entertainment Motion Picture Group และเป็นผู้จัดการทั่วไปของ DMG North America เขาเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ เรื่อง Numbers Station และยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารของบริษัท DMG/Endgame ซึ่งร่วมออกทุนสร้างให้กับภาพยนตร์เรื่อง Looper ที่นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส และโจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์

 

 จอห์น มาธีสัน (JOHN MATHIESON, BSC) – ผู้กำกับภาพ

จอห์น มาธีสันคือหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับภาพที่แจ้งเกิดจากแวดวงมิวสิค วิดีโอ ในช่วงปลายยุค 80 และ 90 เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในปี 1998 จากผลงานมิวสิควิดีโอ เพลง “Peek-A-Boo”

ในช่วงกลางทศวรรษ 90 มาธีสันถ่ายภาพให้กับภาพยนตร์สองเรื่องของผู้กำกับ คาริม ดริดี้ ทำให้เขาได้รับความสนใจจาก โทนี่ สก็อตต์ และหลังจากได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพวิชวลเอฟเฟ็กต์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Enemy of the State ให้กับโทนี่ สก็อตต์ มาธีสันได้ถ่ายภาพให้กับภาพยนตร์เรื่อง Plunkett & Macleane (1999) ซึ่งนำไปสู่การได้ร่วมงานกับ ริดลี่ย์ สก็อตต์ในภาพยนตร์เรื่อง Gladiator, Hannibal, Kingdom of Heaven และ Robin Hood ในปี 2001 เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง Gladiator และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 2 จากภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง The Phantom of the Opera ซึ่งกำกับโดย โจล ชูมัคเกอร์

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของมาธีสัน ได้แก่ ภาพยนตร์ของ มาร์ค อีแวนส์ เรื่อง Trauma, ภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น วูลลี่ย์ เรื่อง Stoned, K-Pax, Brighton Rock, Bourke and Hare, X-Men: First Class และภาพยนตร์ของ ไมก์ นีเวลล์ เรื่อง Great Expectations

 

แจน โรเอลฟ์ส (JAN ROELFS) – โปรดักชั่นดีไซเนอร์

แจน โรเอลฟ์ส เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง จากภาพยนตร์ของ แอนดรูว์ นิคดคล เรื่อง Gattaca และภาพยนตร์ของ แซลลี่ พ็อตเตอร์ เรื่อง Orlando เมื่อเร็วๆ นี้ โรเอลฟ์สเป็นผู้ออกแบบโปรดักชั่นให้กับภาพยนตร์ฮิตถล่มทลายของ ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เรื่อง Fast & Furious 6

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของโรเอลฟ์ส ได้แก่ S1m0ne ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ที่เขาร่วมงานกับนิคโคล, ภาพยนตร์ตลกที่ จั๊ดด์ อพาโทว์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง เรื่อง Get Him to the Greek; ภาพยนตร์ของ โจล ชูมัคเกอร์ เรื่อง Bad Company; My Own Love Song ซึ่งนำแสดงโดย เรอเน่ เซลล์เวเกอร์ และฟอเรสต์ วิเทเกอร์; ภาพยนตร์เรื่อง Little Women และเรื่อง Lions For Lambs ซึ่งกำกับโดย โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด

 

สต๊วร์ต แบร์ด (STUART BAIRD, ACE) – ผู้ลำดับภาพ

สต๊วร์ต แบร์ดเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง จากภาพยนตร์ของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ เรื่อง Superman และภาพยนตร์ของ ไมเคิล เอ็ปเต็ด เรื่อง Gorillas in the Mist: The Story of Dian Fossey

ก่อนหน้านี้ เขาทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ตอน Skyfall และ Casino Royale ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ The Omen, Lethal Weapon and Lethal Weapon 2, Altered States, Outland, Die Hard II, Demolition Man, Maverick, Legends of Zorro และ Salt

นอกจากนี้ แบร์ดยังกำกับภาพยนตร์เรื่อง Executive Decision, U.S. Marshals และ Star Trek: Nemesis

 

เพนนี โรส (PENNY ROSE) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

เพนนี โรสทำงานในแวดวงภาพยนตร์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s เธอเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบัฟต้ามาแล้ว 3 ครั้ง จากภาพยนตร์เรื่อง Evita, Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl และ Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของโรส ได้แก่ ภาพยนตร์ของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง The Lone Ranger, Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides, Pirates of the Caribbean: At World’s End และ The Weatherman, ภาพยนตร์ของ ไมก์ นีเวลล์ เรื่อง Prince of Persia: The Sands of Time, ภาพยนตร์ของ ริชาร์ด แอ็ทเทนโบโรห์ เรื่อง Shadowlands, ภาพยนตร์ของ โทนี่ สก็อตต์ เรื่อง Unstoppable, ภาพยนตร์ของ พอล ไวแลนด์ เรื่อง Made of Honor, ภาพยนตร์ของ อังตวน ฟูควา เรื่อง King Arthur, ภาพยนตร์ของ ไบรอัน เดอ พัลม่า เรื่อง Mission: Impossible, ภาพยนตร์ของ จอน เอมิล เรื่อง Entrapment, ภาพยนตร์ของ อลัน พาร์คเกอร์ เรื่อง The Commitments และภาพยนตร์ของ บิลล์ บอร์ซิธ เรื่อง Local Hero

 

อิลาน เอชเคอรี (ILAN ESHKERI) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ

อิลาน เอชเคอรี่ ผู้แต่งดนตรีประกอบชาวอังกฤษ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการทำงานดนตรีให้กับภาพยนตร์เรื่อง Stardust, The Young Victoria และ Kick-Ass

เอชเคอรีมีชื่อเสียงในเรื่องความหลากหลายของผลงาน เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ทำดนตรีประกอบให้กับผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เรล์ฟ ไฟนน์ส เรื่อง Coriolanus และภาพยนตร์ตลกของ โรวาน แอ็ทกินสัน เรื่อง Johnny English Reborn