ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ก่อนครบรอบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ๒ ปี สมศ. ได้พัฒนาตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ซึ่งกำหนดกรอบแนวคิดหลักของการพัฒนา เพื่อเตรียมคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ โดยเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดนิยามและเป้าหมายคุณลักษณะของศิษย์ในอนาคต ประกอบด้วยคุณภาพ คุณธรรม คุณลักษณ์ คือต้องเป็นคนเก่ง ดี งาม
“ที่ผ่านมา สมศ. มีคำถามมากมายเกี่ยวกับตัวบ่งชี้การประเมินฯ เช่น ยากไป ง่ายไป ได้มาตรฐานจริงหรือไม่ ทำไมต้องประเมิน ในการจัดทำตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกนั้น จัดทำขึ้นภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ การปฎิรูปการศึกษาทศวรรษที่ ๒ กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๓ ดังนั้นในการจัดทำตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) สมศ. พยายามเชิญทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขร่างฉบับนี้ก่อนที่จะนำมาใช้จริงในรอบสี่ กรอบที่ใช้กำหนดตัวบ่งชี้ฯ รอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ประกอบด้วยหลักการ ๕ ประเด็น คือ (๑) ตัวบ่งชี้อิงจากการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ประกอบด้วยตัวบ่งชี้ ๓ มิติ คือ ตัวบ่งชี้พื้นฐาน ตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ และตัวบ่งชี้มาตรการส่งเสริม (๒) ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการ ศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓ (๓) ให้น้ำหนักกับการประเมินผลผลิตและผลกระทบตามพันธกิจของสถานศึกษา (๔) ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าเอกสาร (๕) ให้มีความเหมือนและเชื่อมโยงระหว่างการจัดการศึกษา ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ตัว บ่งชี้ฯ รอบสี่นี้ ยังคงแบ่งคะแนนเป็น ๕ ระดับ ที่มีความเชื่อมโยงกัน ทั้งสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา จะมีตัวบ่งชี้เท่ากัน คือ ๒๐ ตัวบ่งชี้ ให้ครอบคลุม ๗ ด้าน ประกอบด้วย คุณภาพศิษย์ ๔ ตัวบ่งชี้, คุณภาพครู-อาจารย์ ๔ ตัวบ่งชี้, การบริหารและธรรมาภิบาลสถานศึกษา ๔ ตัวบ่งชี้, ความสัมพันธ์กับสังคม/ชุมชน ๒ ตัวบ่งชี้, การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ๒ ตัวบ่งชี้, อัตลักษณ์/เอกลักษณ์ ๒ ตัวบ่งชี้ และ มาตรการส่งเสริม ๒ ตัวบ่งชี้
“หากศึกษาในรายละเอียดจะเห็นว่าสาระสำคัญส่วนใหญ่ ยังอิงมาจากตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพ ภายนอกรอบสาม แต่สิ่งที่จะช่วยให้ลดเวลา ลดความซ้ำซ้อนต่อตัวผู้ประเมิน และสถานศึกษา ในรอบสี่ สมศ. จะให้ความสำคัญกับการประเมินที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ มากกว่าหลักฐานที่เป็นเอกสารข้อมูลย้อนหลังไป ๓ ปี อันจะช่วยให้ครู อาจารย์ สถานศึกษาเอง ลดความเครียด ความกังวลในการจัดเก็บข้อมูลหลักฐานที่เป็นเอกสาร เนื่องจาก สมศ. จะเข้าไปประเมินอย่างน้อย ๑ ครั้งในทุก ๕ ปี ทำให้การจัดเก็บอาจมีการตกหล่นได้ ดังนั้นหลักฐานเชิงประจักษ์ก็จะช่วยลดภาระด้านการเขียนรายงานได้ และลดปัญหาที่ว่า การไปประเมินของ สมศ. นั้นไปแย่งเวลาครู อาจารย์ ไปจากห้องเรียน”
ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่าการประกาศตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ล่วงหน้า ๒ ปีนั้น จะทำให้ ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา มีเวลาที่จะศึกษารายละเอียดร่างตัวบ่งชี้รอบสี่อย่างถี่ถ้วน เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับตัวบ่งชี้กลับมายัง สมศ. ถึงข้อดี ข้อด้อย สิ่งใดที่ควรคงไว้ สิ่งใดที่ควรเพิ่มเติมเข้าไป อันช่วยให้เกิดความเข้าใจตรงกันทุกฝ่าย
“สมศ. พร้อมที่จะรับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ครู อาจารย์ และสถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รับการประเมิน หากมีข้อใดที่คิดว่าควรตัดออก หรือสิ่งใดควรเพิ่มเติม เพื่อให้ตัวบ่งชี้ รอบสี่เป็นตัวบ่งชี้ที่ทุกฝ่ายยอมรับ มีความเข้าใจตรงกัน อันจะช่วยให้เกิดมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วยกันทุกฝ่าย เพราะการประเมินคุณภาพการศึกษานั้น เป็นการสะท้อนภาพความจริงให้กับสถานศึกษาได้ทราบถึงระดับคุณภาพของตนเอง อันเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาคุณภาพศิษย์ ไม่เพียงเท่านั้น สมศ. ได้มีการสื่อสารในหลากหลายช่องทางถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ใช้ประโยชน์จากผลการประเมินของ สมศ. ในการตัดสินใจเลือกสถานศึกษาเข้าศึกษาต่อ ซึ่งหากกลุ่มเป้าหมายนี้ได้นำผลการประเมินไปพิจารณาเข้าเรียนอย่างกว้างขวาง จะช่วยกระตุ้นให้สถานศึกษาที่ไม่พร้อมรับการประเมินเร่งพัฒนาคุณภาพตนเองขึ้นได้ทางหนึ่งด้วย”
ศ.ดร.ชาญณรงค์ ทิ้งท้ายว่า สมศ. จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังประชาพิจารณ์ ร่างตัวบ่งชี้การประเมินคุณภาพ ภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๓) ในอีก ๓ พื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แก่ วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่จังหวัดหนองคาย วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่จังหวัดตรัง และ วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗ ที่จังหวัดพะเยา และกำหนดสิ้นสุดรับข้อเสนอแนะภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗