รู้ไหม๊ลูกคุณเล่นอยู่กับอะไร?…
… เบาหวาน
… ไขมันอุดตัน
… ความดัน
… อัมพาต
นี่คือสารพัดโรคที่คลิปโฆษณาเรื่อง “โรคซ่อนแอบ” ของทีม “One Man Show” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม นำเสนอออกมา ในโครงการประกวดคลิปโฆษณาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” และได้รับรางวัลชนะเลิศพร้อมทั้งรางวัล Professional Vote ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้ครีเอทีฟในวงการโฆษณามาโหวตให้ ไปครอง
โดยคลิปโฆษณาออนไลน์เรื่องนี้นายกริช โตวิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกของทีม “One Man Show” บอกว่า จากที่ได้ร่วมกระบวนการและศึกษาข้อมูลจากวิทยากรในโครงการหลายๆ ท่าน อาทิ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ที่บอกว่า เด็กในวันนี้จะโตเป็นผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า ถ้าปล่อยให้เด็กวัยก่อนวัยเรียนอ้วนเกินโดยไม่ควบคุมน้ำหนัก จะทำให้เด็กที่เป็นอนาคตของชาติโตขึ้นไปเป็นคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 และเมื่อเด็กเหล่านี้โตเข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังอ้วนอยู่ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนสูงถึงร้อยละ 80 และเมื่ออ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อเรื้อรังต่างๆ มากมาย อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ส่งผลให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากได้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาควบคุมไม่ให้เด็กอ้วน เพราะถ้าไม่ควบคุมวันนี้วิกฤติและหายนะจะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคตแน่ๆ คลิปโฆษณาชิ้นนี้จึงได้เล่าถึงประเด็น “โรคร้ายที่แอบซ่อนอยู่ในความน่ารักของเด็กที่อ้วน” ไอเดีย “เด็กเล่นซ่อนแอบกับโรคร้ายต่างๆ”
“เนื้อเรื่องจะเดินเรื่องด้วยเด็กอ้วนหน้าตาน่ารักกำลังหาอะไรบางอย่างอยู่ภายในบ้าน… แต่แล้วสิ่งที่เด็กคนนี้กำลังตามหาหรือเล่นอยู่ด้วยนั้นไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง แต่เป็น “เบาหวาน” “ไขมันอุดตัน” “ความดัน” “อัมพาต” …เมื่อเด็กคนดังกล่าวโดน “อัมพาต” จับได้ ก็คือ จบเกม!! ซึ่งนั่นหมายความว่าความอ้วนได้คร่าชีวิตเด็กไปแล้วเพราะ “โรคซ่อนแอบ” ที่กำลังเล่นอยู่กับสุขภาพของเด็กที่ผู้เป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง พยายามยัดเยืยดให้ด้วยความเชื่อผิดๆ ที่ว่า เด็กอ้วน คือ เด็กสมบูรณ์ เด็กน่ารัก นั่นเอง” สมาชิกของทีม “One Man Show” เล่า
ซึ่งอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัยและอุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ได้บอกถึงคลิปโฆษณาออนไลน์เรื่อง “โรคซ่อนแอบ” ว่า คลิปโฆษณาชิ้นนี้ถือว่าเป็นคลิปที่สื่อสารออกมาได้อย่างน่าสนใจ มีการนำเสนอแบบง่ายๆ คิดว่าถ้านำมาสื่อสารกับสังคมจะทำให้ผู้ที่ได้ชมกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่าพฤติกรรมที่มองว่าเด็กจ้ำม่ำคือเด็กสมบูรณ์นั้นแท้ที่จริงแล้วภายใต้ความน่ารักนั้นมีโรคร้ายกำลังคุกคามเด็กเหล่านั้นอยู่จริง ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรใส่ใจกับสุขภาพของเด็กให้เหมาะสม โดยเริ่มจากการรักลูกให้ถูกวิธี และไม่ควรปล่อยให้ลูกเข้าข่ายเด็กอ้วน ควรปรับเปลี่ยน ปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ให้กับเด็ก ให้เด็กกินอาหารที่ถูกหลักเน้นกินผัก ผลไม้ ไม่กินหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแน่นอนจะช่วยลดการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้
ด้านนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สุขภาพของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาใส่ใจให้มากขึ้นกว่าคนในวัยอื่นๆ เพราะในยุคบริโภคนิยมที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ คนส่วนใหญ่มักนิยมเลี้ยงลูกด้วยอาหารฟาสต์ฟู้ด จั๊งค์ฟู้ด อะไรหาง่ายๆ ก็ซื้อหามาให้ลูกหลานรับประทานโดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะตามมา ซึ่งการดึงเด็กและเยาวชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากค่านิยมของผู้ปกครองมาร่วมการสร้างสื่อเพื่อมาสื่อสารกับสังคมจึงเป็นประเด็นในการรณงค์ที่แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้สนับสนุนและเห็นความสำคัญ เพราะด้วยความจริงที่ว่า “เด็กในวัยเดียวกันจะสามารถเป็นผู้ที่ส่งสารเพื่อสื่อกับคนวัยเดียวกันได้ตรงประเด็นและเข้าใจง่ายกว่า” ซึ่งนอกจากผลงานเรื่อง “โรคซ่อนแอบ” แล้วยังมีผลในโครงการประกวดคลิปโฆษณาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” อีก 11 ผลงาน ที่น่าสนใจ โดยทั้ง 12 ผลงานนี้จะมีการนำไปใช้รณรงค์และเผยแพร่สู่สังคมผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media), อินเตอร์เน็ต (internet), การค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ล (Google), ยูทูป (YouTube), การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนในเฟสบุค (Facebook), อินสตาแกรม (Instragram), ไลน์ (line) และ ว็อทสแอ้ป (Whats app) เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองในยุคดิจิตอลได้ชมและกระตุกความคิดที่มีอยู่เดิมที่พยายามมองว่าลูกตัวเองยิ่งอ้วนยิ่งสมบูรณ์ หรือยิ่งให้ลูกทานอาหารเยอะจะดีต่อสุขภาพ มองกลับในอีกมุมหนึ่งว่า “ลูกยิ่งอ้วนยิ่งเป็นโรค” นั่นเอง โดยผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานทั้ง 12 ผลงานนี้ทางออนไลน์ได้ที่ www.youtube.com/artculture4health” นายดนัย หวังบุญชัย บอก
…เด็กอ้วนอาจจะไม่ใช่เด็กสมบูรณ์
…เด็กอ้วนอาจจะไม่ใช่เด็กน่ารัก
…เด็กอ้วนอาจจะไม่ใช่เด็กแข็งแรง แล้ววันนี้ เพราะ เด็กอ้วนในวันนี้ อาจจะเป็นเด็กที่เสี่ยงเป็นโรคในอนาคตข้างหน้าก็ได้ ใครจะรู้?… อย่ารอหาคำตอบเลยว่า ลูกของคุณเสี่ยงเป็นโรคหรือเปล่า? ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูกวันนี้ ก่อนพรุ่งนี้ลูกคุณจะ “เล่นซ่อนแอบอยู่กับโรคร้ายโดยไม่รู้ตัว” …