ใครๆก็อยากให้ลูกคิดเก่ง คิดเป็น แต่การคิดเก่ง คิดเป็นนั้นไม่ใด้เกิดขึ้นมาลอยๆ เพราะกระบวนการคิดประกอบด้วย Abstract thinking and Conceptualize, Concentration, Curiosity, Sequence and Prediction, Analyze, Synthases, Transference, แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีจุดเริ่มมาจากการมีอิสระในการแสดงความคิด ซึ่งจะทำให้เด็กกล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงความคิด แม้ความคิดนั้นอาจดูไม่เข้าท่าก็ตาม การบอกว่าความคิดของเด็กผิดจะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะใช้ความคิดต่อ แต่ถ้าความคิดนั้นมันเป็นผลเสียจริงๆ ผู้ปกครองสามารถใช้คำถามมหัศจรรย์ได้ (Miracle Question) เช่น “ก็ดีนะ นอกจากคิดแบบนี้แล้วลองคิดเป็นอย่างอื่นบ้างซิ” ลองนึกถึงตัวเองดูว่า หากเรากำลังเล่าความคิดอันบรรเจิดให้ใครซักคนฟัง แล้วถูกขัดคอ ขัดจังหวะบ่อยๆ เราก็คงไม่อยากเสนอความคิด จนบางครั้งก็พาลเอาไม่อยากคิดเหมือนกัน เด็กก็เป็นแบบนั้น
นายกิตติศักดิ์ รักษาชาติ นักจิตวิทยาประจำ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า Abstract Thinking and Conceptualize มีลักษณะของการมองเป็นภาพรวมสามารถบอกความต่าง ความเหมือนได้อย่างชัดเจน สามารถเข้าใจถึงคุณค่าหรือนโยบาย ลองถามเด็กๆของท่านดูว่า “ลิ้น กับ ดวงตา เหมือนกันอย่างไร”หากเขาตอบว่า เป็นเนื้อเหมือนกัน แสดงว่าเขามองเป็นรูปธรรม แต่ถ้าตอบว่าเป็นอวัยวะรับสัมผัสเหมือนกัน แสดงว่าเขามองเป็นนามธรรมและสามารถคิดรวบยอดได้ ในการฝึกเพียงหมั่นถามบ่อยๆว่า ของ 2 อย่างนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน นอกจากนี้พ่อแม่ยังสามารถเล่าเรื่องให้ลูกฟัง แล้วให้เด็กๆลองตั้งชื่อเรื่องที่เล่าก็ได้
Concentration คือความสามารถในการทำหรือคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่วอกแวก สามารถทนต่อสิ่งเร้าจากภายนอกได้โดยหลุดจากสิ่งที่ทำ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของเด็กนั้นมีความสามารถในการจดจ่อน้อยกว่าผู้ใหญ่ และแตกต่างกันไปในแต่ละคนซึ่งสัมพันธ์กับอาหาร พันธุกรรม และการเลี้ยงดู ปกติเด็กจะมี concentration ได้ในเวลาเท่ากับอายุหาร 2 + -เล็กน้อย การฝึก Concentration นั้นไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเสมอไป แต่อาจให้เด็กทำกิจกรรมหรือคิดอะไรซักอย่างภายในเวลาที่กำหนด การทำงานศิลปะ ฟังเพลงบรรเลง ก็สามารถช่วยให้เด็กมี concentration ได้ยาวนานขึ้นเช่นกัน ศาสตร์ต่างๆ ความรู้ต่างๆที่เรามีอยู่อย่างมากมายในปัจจุบันนี้ล้วนสำเร็จได้โดย ความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ลองคิดดูว่า หากว่า Newton ซึ่งมองเห็นแอปเปิ้ลที่หล่นจากต้น แล้วจบแค่นั้นเพราะเห็นอยู่เป็นประจำ วันนี้เราก็คงไม่มีความรู้เรื่องกฎแรงดึงดูด
ซึ่งความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกตนี้จะเป็นแหล่งความฉลาดให้กับเด็กๆ ทำให้เด็กๆสามารถเพิ่มพูนปัญญาได้ด้วยตนเอง ซึ่งการฝีกทักษะนี้ทำได้โดย ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตสิ่งแวดล้อม ชี้ให้เด็กเห็น แล้วถามว่า “เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น” เด็กอาจตอบไม่ได้ ซึ่งผู้ปกครองอาจต้องช่วยเหลือโดยถามว่า “หนูเห็นอะไรบ้าง” “มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรบ้าง” เป็นต้น แน่นอนว่า นี่เป็นการถ่ายทอดทักษะจากผู้ปกครองไปสู่เด็ก ผู้ปกครองช่างสังเกตแค่ไหน ก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่เด็กได้เท่านั้น แต่ก็อย่าลืมว่า ไม่ว่าเด็กจะตอบอย่างไรก็ไม่มีผิด
Sequence and Prediction ทักษะการลำดับเหตุการณ์และการพยากรณ์ เป็นทักษะที่เด็กเริ่มทำได้เมื่ออายุ 6-7 ขวบ เด็กจะเริ่มทดสอบสิ่งต่างๆรอบตัวว่าจะเป็นไปตามที่ตนเองคิด หรือเข้าใจไหม และเป็นทักษะที่ต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนผนวกกับประสบการณ์เดิมที่ผ่านมาของเด็กเอง การสนับสนุนทักษะนี้ให้มีประสิทธิภาพทำได้โดย “การพิสูจน์สมมติฐาน” โดยให้ตัวเด็กเป็นผู้พิสูจน์ด้วยตนเอง ผู้ปกครองอาจใช้คำถามง่ายๆแต่จริงจังว่า “หนูรู้ได้อย่างไร”, “ต่อไปจะเป็นอย่างไร” เป็นต้นแต่ไม่ว่าเด็กจะตอบอย่างไรก็ตาม อย่าลืมข้อตกลงพื้นฐานที่ว่า “การยอมรับอย่างจริงใจเป็นประตูใหญ่ของการดึงศักยภาพทุกประการ