กว่าเพลงหนึ่งเพลงจะกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมได้ นอกจากจะมีภาษาที่สวยงาม เนื้อหากินใจ ทำนองที่ประทับใจแล้ว เชื่อได้ว่านักแต่งเพลงหลายๆ คนจะต้องใช้ “ใจ” เพื่อที่จะสร้างสรรค์เพลงเหล่านั้นออกมาแน่ๆ
เช่นเดียวกับ พยัต ภูวิชัย หรือที่คนในวงการเพลงรู้จักกันดีในนามครูพยัต ครูเพลงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเพลงดังหลายเพลง อาทิ เพลง “ยังยิ้มได้”, เพลง “กอดหน่อยได้ไหม” ของพลพล พลกองเส็ง, เพลง “ความคิดถึงกำลังเดินทาง” ของโกไข่กับนายสน, เพลง “มีคนเหงาอยู่เบอร์นี้”, เพลง “อยากเป็นคนรักไม่อยากเป็นชู้ ของตั๊กแตน ชลดา, เพลง “กรุณาฟังให้จบ” ของแช่ม แช่ม รัมย์, เพลง “เป็นเพื่อนไม่ได้หัวใจอยากเป็นแฟน”, เพลง “โยนใจถามทาง”, เพลง “คนแรกที่ทำให้รัก” ของไผ่ พงศธร เพลง “อยู่ก็เจ็บ จบก็เหงา” ของ เอิร์น เดอะสตาร์ ฯลฯ ปัจจุบันพยัต ภูวิชัย เป็นเจ้าของบ้านเพลงพยัต ซึ่งมีศิลปินในค่าย อาทิ แจ็ค บึงกาฬ-ลูกทุ่งร็อค, นายแพร-โฟล์คร็อคเพื่อชีวิต, ผาง สิงห์ไธสง-พิณร็อคแคนร้อน, ดูโอโสตาย-พยัต ภูวิชัย/วสุ ห้าวหาญ, นกแก้ว กาฬสินธุ์-ลูกทุ่งฟิวส์ชั่นร็อค, ธนพร พรพยัต-ลูกทุ่งอเมริกันป๊อบ ซึ่งผลงานเพลงที่แต่งขึ้นให้กับศิลปินในค่ายทุกคนนั้นล้วนออกมาจาก “ใจ” ทั้งสิ้น
เมื่อแต่งเพลงให้กับศิลปินมาก็มากแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่ พยัต ภูวิชัย ให้ความสำคัญคือ กิจกรรมเพื่อสังคม อย่างในโครงการ “จรัล มิวเซียม เฟส2” พยัต ภูวิชัย ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงสมอง มาสอนน้องเยาวชน “ศิลปินน้อย” สร้างแรงบันดาลใจเพื่อแต่งเพลง ตามรอยจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งเทคนิควิธีการสอน พยัต ภูวิชัย บอกว่า จะไม่ได้เป็นทฤษฎีที่ตายตัวแต่จะใช้วิธีการพูดคุยกับ “ศิลปินน้อย” ที่ต้องการเขียนเพลงก่อนเพื่อค้นหาสิ่งที่ “ศิลปินน้อย” ชอบ เพราะการเขียนเพลงให้ออกมาแล้วโดนใจนั้นต้องออกมาจากใจ ด้วยการ “เขียนใจให้เป็นเพลง” ซึ่งการเขียนเพลงให้ออกมาจากใจนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ใจของเรารู้สึกอย่างไรก็ให้สื่อออกมาอย่างนั้น ประกอบกับถ้าเมื่อเพลงแต่งเสร็จถ้าผู้ร้องรู้สึกได้ตามอย่างที่ผู้เขียนเพลงต้องการสื่อแล้วด้วย เชื่อได้ว่าเมื่อคนฟังได้ฟัง “คนฟังจะรู้สึกได้เหมือนอย่างที่ผู้เขียนอยากสื่ออกไป” ได้อย่างแน่นอน
สำหรับ แจ็ค บึงกาฬ-ลูกทุ่งร็อค ศิลปินในค่ายเพลงพยัตผู้ที่ชอบทำงานและกิจกรรมเพื่อสังคม และเป็นบุคคลหนี่งที่ได้ส่งต่อความรู้สึกของบทเพลงที่ พยัต ภูวิชัย ได้ส่งออกมาไปยังผู้ฟัง บอกว่า การสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนหรือแต่งเพลงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเพลงทุกเพลงที่แต่งอาจจะไม่ใช่ทุกเพลงที่ได้รับความนิยม แต่ถ้าเมื่อน้องๆ ได้เรียนรู้กระบวนการและแต่งเพลงที่ออกมาจากใจของตัวเอง เชื่อได้ว่าเพลงนั้นจะสามารถเข้าถึงใจคนฟังได้ ซึ่งหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้องๆ ต้องตั้งใจ ขยัน เรียนรู้ และอ่านเยอะๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มพูลทักษะและประสบการณ์เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการแต่งเพลงได้
ด้านนางสาวดรุณี จันทราภิรมย์ หรือน้องใหม่ อายุ 22 ปี นักร้องโครงการจรัล มิวเซียม เฟส2 บอกเกี่ยวกับการเรียนรู้การแต่งเพลงให้ออกมาจากความรู้สึกว่า ทำได้ไม่ยากเพียงแต่ใจเรารู้สึกอะไร ต้องเอาคำที่รู้สึกนั้นมาร้อยเรียงให้เกิดสัมผัสและความไพเราะ แม้คำบางคำจะเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันแต่ถ้าใช้คำอีกคำมาแทนในประโยคแล้วความหมายยังคงเดิมก็สามารถนำมาใช้ได้ …นี่เป็นเทคนิคหนึ่งที่ได้เรียนรู้ ถ้าหากไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ไม่แน่ตนและเพื่อนๆ ก็ยังคนแต่งเพลงกันแบบสุ่มสี่สุ่มห้า มั่วๆ ไปเรื่อยๆ …โชคดีที่ทีมงานและครูพยัตได้แนะนำเทคนิคง่ายๆ ให้ ทำให้ตอนนี้ตนและเพื่อนๆ เชื่อมั่นแล้วว่า การแต่งเพลงให้ฟังแล้วรู้สึกคล้อยตามเนื้อหาเพลงนั้นได้เราต้องเขียนเพลงนั้นให้ออกมาจากใจของเราจริงๆ ถ้าไม่เช่นนั้นเพลงที่แต่งอาจจะไม่ไพเราะ คนฟังฟังแล้วอาจจะไม่รู้สึกตามเพลงที่เราต้องการสื่อไปก็ได้
“วันนี้หนูรักการแต่งเพลง รักในเสียงเพลง เพราะหนูมีครู ครูเพลงที่เสียสละเวลามาให้ความรู้และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสในการก้าวมาสู่การเป็นผู้ส่งต่อความรู้สึกในแง่มุมต่างๆ ผ่านเสียงเพลงที่แต่งขึ้นมาด้วยตัวเอง ถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ไม่ได้รู้จักครูเพลงที่เก่งๆ แบบนี้ ไม่แน่วันนี้เด็กๆ อย่างหนูอาจจะฟังเพลงเพียงแค่ให้ผ่านหูไปวันๆ แต่วันนี้หนูรู้แล้วว่าเพลงที่ดีต้องเขียนออกมาจากใจ ถึงจะกินใจและรู้สึกคล้อยตาม “อิน” ตามได้” นางสาวดรุณี จันทราภิรมย์ หรือน้องใหม่ บอก
แม้วันนี้ครูจรัล มโนเพชร จะจากไปแล้วแต่ทั้งลมหายใจ และชีวิตความเป็นจรัล มโนเพชร ก็ยังคงอยู่ไม่เคยสูญหายไปจากใจของทุกคนที่รักในความเป็นศิลปินที่กลายเป็น “จรัลในดวงใจ” ของทุกๆ คน… และหากใครได้มีโอกาสได้ผ่านไปที่ จรัล มิวเซียม ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านหม้อคำตวง รามอินทรา109 มีนบุรี กรุงเทพฯ ที่นั่นนอกจากจะมีน้องๆ ศิลปินน้อยผลผลิตจากโครงการจรัล มิวเซียม เฟส2 แวะเวียนกันมาแล้วยังมีเตี่ย มานิด อัชวงศ์ ประจำอยู่ที่นั่นด้วย ผู้ที่สนใจวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จรัล มิวเซียม จะเปิดบ้านให้เข้าชมแต่ต้องโทรศัพท์แจ้งล่วงหน้า เพราะจะรับเพียงแค่วันละ 2 คณะเท่านั้น
ส่วนผลงานศิลปินน้อยที่เป็นเพลงนั้น ซึ่งเร็วๆ นี้สามารถติดตามบทเพลงในแบบฉบับเด็กๆ ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านทั้งบทเพลงจากครูจรัล มโนเพ็ชร และเพลงที่ได้สร้างสรรค์กันเองในโครงการจรัล มิวเซียม เฟส2 ได้ที่ www.artculture4health.com