ภาพยนตร์เรื่อง “300: Rise of an Empire” ถ่ายทอดความตื่นเต้นต่อจากภาพยนตร์เรื่องดัง “300” ซึ่งนี่เป็นภาพยนตร์ตอนใหม่ของตำนานอันยิ่งใหญ่ และมีการต่อสู้เกิดขึ้นในสมรภูมิรบสนามใหม่อย่างในท้องทะเล
ความหวังเดียวที่จะเอาชนะกองเรือรบของชาวเปอร์เซียได้ คือต้องรวมกำลังชาวกรีกของธีมิสโทคลีสร่วมกัน จนเปลี่ยนแนวทางการสู้รบได้ในที่สุด
วอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส และ เลเจนดารี่ พิกเจอร์ นำเสนอภาพยนตร์โดย a Cruel and Unusual Films/Mark Canton/Gianni Nunnari Production เรื่อง “300: Rise of an Empire” ภาพยนตร์แอ็คชั่นผจญภัย นำแสดงโดย ซัลลิแวน สเตเพิลตัน (“Gangster Squad”) รับบทเป็น ธีมิสโทคลีส และ เอวา กรีน (“Dark Shadows,” “Casino Royale”) รับบท อาร์ทีมีเซีย ลีน่า ฮีเดย์ กลับมารับบทเดิมของเธอ กอร์โก ราชินีสปาร์ต้าในเรื่อง “300”; เดวิด เวนแฮม รับบท ดิเลียส; แอนดรูว์ เทียร์แนน รับบท อีเฟียเทส; แอนดรูว์ เพลียวิน รับบท ดาซอส และ โรดริโก ซานโตโร กลับมารับบท เซอร์เซส เทพกษัตริย์ชาวเปอร์เซีย นักแสดงนำคนอื่น ได้แก่ ฮานส์ มาธีสัน รับบท เอเอสคีลอส เพื่อนสนิทและที่ปรึกษาของธีมิสโทคลีส; คอลแลน มัลเวย์ และ แจ็ค โอ’คอนเนล รับบท ไซลีอัส และคาลิสโต พ่อและลูกชายชาวทหาร และอีกัล นาออร์ รับบท ดารีอุส กษัตริย์เปอร์เซีย
ภาพยนตร์กำกับฯ โดย โนม เมอร์โร จากบทภาพยนตร์ของแซ็ค สไนเดอร์ และ เคิร์ท จอห์นสแตด ภาพยนตร์สร้างขึ้นจากนิยายภาพเรื่อง Xerxes ของแฟรงค์ มิลเลอร์ อำนวยการสร้างโดย จิแอนนี่ นันนาริ, มาร์ค แคนตัน, แซ็ค สไนเดอร์, เดโบราห์ สไนเดอร์ และ เบอร์นี่ โกลด์แมน อำนวยการสร้างบริหารโดย โธมัส ทัล, แฟรงค์ มิลเลอร์, สตีเฟ่น โจนส์ และ จอน แจชนี่
ภาพยนตร์จะมีการฉายในระบบ 3 มิติ ระบบธรรมดา และในระบบ IMAX จัดจำหน่ายทั่วโลกโดยบริษัทวอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส หนึ่งในกลุ่มบริษัทวอร์เนอร์ บราเดอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนท์
รายละเอียดการถ่ายทำ
“เพื่อเกียรติยศ เพื่อการล้างแค้น
สงคราม!”
เมื่อเดือนมีนาคม 2007 ภาพยนตร์เรื่อง “300” ฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก สร้างความประทับใจให้คอหนังด้วยฉากแอ็คชั่นที่จัดเต็มระหว่าง ลีโอไนดาส กษัตริย์แห่งสปาร์ต้าและเหล่าพี่น้องที่จับอาวุธ 300 ชีวิตของเขา แม้ว่าจะมีกำลังพลมากกว่าแต่ความกล้าหาญของเขาทำให้ยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังชาวเปอร์เซีย ที่เข้ามาบุกรุกจากการบงการของเทพกษัตริย์เซอร์เซส ผู้สร้างภาพยนตร์ที่นำทีมโดยผู้เขียนฯ/ผู้กำกับฯ เรื่อง “300” แซ็ค สไนเดอร์ได้ปลุกชีพตำนานโบราณขึ้นมาโดยการใช้เทคนิคการสร้างภาพยนตร์ที่ล้ำสมัย โดยมีฉากต่างๆ และภาพบรรยากาศเสมือนอยู่ในโลกที่สมจริงทั้งหมด
ภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจจากนิยายภาพของผู้ประพันธ์ฯ แฟรงค์ มิลเลอร์ ภาพยนตร์เรื่อง “300” กลายเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก มีภาพที่สร้างความประทับใจจนกลายเป็นมาตรฐานระดับใหม่ของภาพยนตร์แนวนี้ รวมถึงฉากการต่อสู้อันดุเดือดที่ยากจะลืมเลือนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในพจนานุกรมแห่งกระแสความนิยม ความสำเร็จของภาพยนตร์ทำให้มีการพูดกันถึงหนังภาคต่อ แต่สไนเดอร์ได้ชี้แจงถึงอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนว่า “คุณจะเห็นในตอนจบของหนัง ตัวละครหลักของเรื่องตายเกือบหมดทุกคน ผมเลยรู้สึกว่ามันปิดฉากจบไปแล้ว”
ความรู้สึกตอนนั้นมันไม่มีทางสร้างภาคต่อได้เลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเรื่องราวอะไรให้กล่าวถึงอีกแล้ว สไนเดอร์ผู้อำนวยการสร้างฯ และผู้ร่วมเขียนบทฯ เรื่อง “300: Rise of an Empire” เล่าให้ฟังว่า “แฟรงค์ มิลเลอร์ติดต่อผมมาและบอกว่าเขากำลังแต่งเรื่องให้แม่ทัพชาวเอเธนส์ที่ชื่อธีมิสโทคลีส นำกองทัพชาวกรีกไปสู้กับกองทัพเรือชาวเปอร์เซียที่ควบคุมโดยสตรีที่น่าอัศจรรย์อย่างอาร์ทีมีเซีย ตอนที่เขาบอกผมว่าพวกเขาต้องใช้เวลา 3 วันอยู่ที่เธอร์โมพิเล โดยลีโอไนดาสต้องเผชิญหน้ากับชาวเปอร์เซียที่ Hot Gates และผลลัพธ์ที่ออกมามันทำให้ผมคิดว่า ‘ว้าว น่าสนใจไม่ใช่เล่นเลยนะ’ ต่อมาที่ผมรู้คือเขาส่งโครงเรื่องและภาพวาดบางส่วนมาให้ผม ผมเลยบอกเขาว่า ‘โอเค เรามาสร้างเรื่องนี้กัน’”
ผู้อำนวยการสร้างฯ เดโบราห์ สไนเดอร์ กล่าวว่า “แฟรงค์ทำให้เราหวนกลับไปหาช่วงเวลาเดิมและสถานที่เดิม แต่ขณะเดียวกันก็มีการแนะนำตัวละครใหม่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ สร้างความสนุกสนาน และมีรายละเอียดสำคัญอยู่ในตัวพวกเขา เราอยากเน้นย้ำความสำคัญของหนังภาคแรกออกมาให้ตื่นเต้นมากขึ้น มีความเร้าใจอีกแบบและที่พลาดไม่ได้คือมีฉากแอ็คชั่นที่ยิ่งใหญ่อลังการ”
“มีไอเดียว่าจะสร้างภาค 2 ขึ้นมาโดยใช้สถาปัตยกรรมจากภาคแรก” โนม เมอร์โร ผู้กำกับฯ กล่าว “จริงๆ แล้วมันมีสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเข้ากับเรื่อง ‘300’ เพียงแต่สื่อออกมาในมุมที่แตกต่างไป โดยมีแต่การสู้รบเท่านั้น”
สไนเดอร์ได้กลับมาร่วมงานกับเคิร์ต จอห์นสแตด ผู้ร่วมเขียนบทฯ เรื่อง “300” เพื่อสร้างบทสำหรับหนังภาคใหม่ จอห์นสแตดกล่าวเน้นว่า “หนังต้องมีเรื่องราวของตัวเอง ฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องดูหนังภาคแรกมาก่อนเพื่อติดตามภาค 2 มันมีการเดินเรื่องราวของตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นสืบเนื่องมาแล้วค่อยนำเรื่องราวมาปะติดปะต่อกัน ไม่ได้เน้นย้ำที่สปาร์ต้าลำพังเพียงอย่างเดียว เราขยายเนื้อหาและสร้างให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องหัวเมืองกรีกอื่น โดยเฉพาะกรุงเอเธนส์ที่เป็นจุดเปลี่ยนแห่งประชาธิปไตย”
นอกจากครอบครัวสไนเดอร์และจอห์นสแตดแล้ว ภาพยนตร์ยังได้ผู้อำนวยการสร้างฯ จิแอนนี นันนารี และ มาร์ค แคนตัน ที่เคยพัฒนาภาพยนตร์และสร้างความแปลกใหม่ให้ภาพยนตร์เรื่อง “300” ของสตูดิโอกลับมาร่วมงานด้วย รวมถึงผู้อำนวยการสร้างฯ เบอร์นี่ โกลด์แมนน์ที่ช่วยนำทางภาพยนตร์ภาคแรกสู่จอยักษ์ พวกเขาเห็นด้วยว่าเรื่องราวช่วยให้พวกเขามีโอกาสมองความขัดแย้งได้ชัดเจนขึ้นในยุคกรีกที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็น มีทั้งฉากต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ความโหดร้ายทารุณและการนองเลือด ฉากแอ็คชั่นที่เปลี่ยนจากบนพื้นดินเป็นท้องทะเลที่ชาวกรีกต้องเผชิญหน้ากับกองทัพศัตรูอีกครั้ง
นันนารีเล่าว่า “ภาพยนตร์มีการอิงประวัติศาสตร์จากเรื่อง ‘300’ แต่เธอร์โมพิเลเป็นการต่อสู้ในสมรภูมิรบหนเดียวที่ใช้เวลาหลายปี จึงมีข้อเท็จจริงและเรื่องราวตามตำนานในยุคนั้นอีกมากมายให้ค้นหา”
“นั่นคือเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุด” โกลด์แมนน์กล่าว “แซ็คกับเคิร์ตเขียนบทภาพยนตร์ที่สร้างความสมบูรณ์แบบให้หนังภาคแรกขึ้นมา แต่เป็นสมรภูมิรบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และครั้งนี้ไม่ใช่ชาวสปาร์ตัน พวกเขาไม่ใช่นักรบมืออาชีพที่ใช้ชีวิตเพื่อทำศึก พวกเขาเป็นประชาชนธรรมดาที่เลือกต่อสู้และพร้อมยอมตายเพื่อสิ่งที่พวกเขายึดมั่นศรัทธา”
แคนตันให้ความเห็นว่า “คอนเซ็ปต์โดยรวมของชาวสปาร์ตันเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความตายที่งดงาม’ ถูกปลุกเร้าขึ้นมา แต่นั่นไม่ใช่หลักการที่สอดคล้องกัน หลักการที่สอดคล้องกันคือประชาชนทั่วไปตั้งแต่คนขายขนมปัง ช่างปั้นหม้อ นักประพันธ์ คนที่ไม่จำเป็นต้องมองโลกในทิศทางเดียวกันกลับมารวมตัวกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ผมคิดว่านี่เป็นใจความสำคัญที่ทำให้เรื่องราวมีพลัง”
โนม เมอร์โร ผู้กำกับโฆษณาที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วถูกเลือกให้มาควบคุมผลงานภาคต่อจากเรื่อง “300” หลังจากที่เสนอคอนเซ็ปต์ภาพยนตร์ของเขาให้กับทีมผู้สร้างฯ แซ็ค สไนเดอร์จำได้ว่า “เขาได้รับพิจารณาเนื้อหาและนำกลับมาเสนอเราในรูปแบบที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ ผมสนใจและรู้สึกว่าเขาน่าจะสร้างความแปลกใหม่ให้โลกใบนั้น และเขาก็ทำได้จริงๆ”
แคนตันกล่าวเสริมว่า “โนมไม่ได้รับความนับถือในฐานะตากล้องที่เก่งกาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เขายังเข้าใจเนื้อเรื่อง บทเพลง เสียงดนตรี และมีความถนัดด้านการใช้เทคนิคจึงมีการส่งต่ออย่างเป็นธรรมชาติ”
“เขารู้ดีว่าอุปสรรคคือการสร้าหงนังที่เคยได้รับความนับถือจากภาคแรกแต่ต้องมีเรื่องราวที่เป็นของตัวเอง และโนมก็เห็นอุปสรรคนั้นรออยู่เบื้องหน้าแล้ว” โกลด์แมนน์เล่าว่า “เขาเป็นผู้ร่วมงานที่เก่งมากแถมยังรายล้อมไปด้วยทีมงานที่เก่งๆ เขาเปิดใจรับข้อมูลจากทีมงาน และมอบโอกาสให้พวกเขาสร้างผลงานได้เต็มที่เพื่อทำให้จินตนาการของเขาออกมาดียิ่งขึ้น”
ชาวกรีกถูกเรียกรวมพลให้มาต่อสู้ภายใต้การชี้นำของธีมิสโทคลีสเพียงคนเดียว เขาเป็นทั้งทหารและผู้แสวงหาอำนาจที่ใช้ความสามารถทั้งสองด้านเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซัลลิแวน สเตเพิลตัน ผู้รับบทแม่ทัพชาวเอเธนส์เล่าว่า “เนื่องจากลีโอไนดาสปกครองสปาร์ต้าโดยระบอบเผด็จการแบบทหารอย่างเคร่งครัด ธีมิสโทคลีสต้องเป็นผู้มีวาทะศิลป์ในการระดมชาวกรีกมาต่อสู้อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เขารู้ดีว่ามันอาจไม่เหมาะสำหรับชาวเปอร์เซีย แต่เขารักดินแดนของตัวเองและเชื่อมั่นในแนวคิดใหม่เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย บทภาพยนตร์ทำให้ผมเข้าใจถึงการเดิมพันที่มีในตอนนั้นเลย”
ศัตรูคนสำคัญของธีมิสโทคลีสคืออาร์ทีมีเซีย ผู้ที่เมอร์โรยืนยันว่า “คือหนึ่งในผู้ขับเคลื่อน แต่ไม่ใช่เพราะยึดมั่นอุดมการณ์เรื่องระบอบประชาธิปไตยอะไร แต่เป็นเพราะความโหดเหี้ยมที่มาจากการล้างแค้น พวกเขาต่างเชื่อมั่นในเหตุผลลึกๆ ของพวกเขา แม้จะมีความแตกต่างกันแต่ก็สร้างความตื่นเต้นได้อย่างน่าสนใจ”
เอวา กรีน ผู้มารับบทนักรบสาวสวยสุดอำมหิตเล่าว่า “ฉันศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเธอมาบ้างเพราะเธอมีตัวตนจริง แม้ว่าเธอจะค่อนข้างแตกต่างจากหนังของเราไปบ้างก็ตาม แต่ผู้นำที่เป็นสตรีถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาสำหรับเมื่อหลายปีก่อน ฉะนั้นเธอต้องมีพลังความแกร่งเป็นพิเศษ”
“ถือเป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่ได้สร้างเหตุการณ์ต่างๆ ให้พวกเขาเผชิญร่วมกันในโลกของตำนานที่แต่งขึ้นมาเรื่องนี้”
จอห์นสแตดเล่าว่า “มีสิ่งหนึ่งที่แซ็คกับผมให้ความสนใจมาโดยตลอด และผมคิดว่าแฟรงค์ก็กำหนดมาตรฐานเรื่องนี้เอาไว้สูงมากคือ นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีที่แล้ว แต่มันไม่ควรฟังแล้วเหมือนเรื่องเมื่อหลายพันปีก่อน บทภาพยนตร์ต้องมีความทันสมัยและฮึกเหิม ไม่ใช่แค่ตัวละครผู้ชายเท่านั้น แต่รวมถึงตัวละครหญิงที่ต้องมีทัศนคติและถ่ายทอดความรู้สึกจากนิยายภาพออกมาด้วย ฉะนั้นจึงมีความอลังการอยู่ในผลงานที่แฟรงค์สร้างขึ้นมา เพราะเขาเขียนบทที่มีความเท่ ทันสมัย โหดร้ายในแบบที่เราสามารถถอยหลังหรือเดินหน้าบนกาลเวลาแห่งประวัติศาสตร์ และยังก้องกังวานอยู่เพราะมันให้ความรู้สึกที่สมจริง”
ในภาพยนตร์เรื่อง “300: Rise of an Empire” จะบอกว่าเซอร์เซสกลายเป็นเทพกษัตริย์ได้อย่างไร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ธีมิสโทคลีสและอาร์ทีมีเซียต่างมีบทบาทสำคัญ โรดริโก ซานโตโร ที่กลับมารับบทผู้ปกครองชาวเปอร์เซียเล่าว่า “ในภาคแรกรไม่รู้ว่าเขามาจากที่ไหน ฉะนั้นการได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาจะทำให้หเนความสำคัญของตัวละครนี้มากขึ้น และเราจะเข้าใจถึงพลังอำนาจที่อยู่เบื้องหลังบัลลังก์ของเขา”
ลีน่า ฮีเดย์ กลับมารับบท กอร์โก ริชานีสปาร์ตันที่ตอนนี้ต้องมารับหน้าที่ทั้งเป็นผู้สังเกตการณ์และผู้นำ เดโบราห์ สไนเดอร์ อธิบายว่า “กอร์โกเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของเรา น้ำเสียงของเธอจะนำทางเราไปตลอดทั้งเรื่อง เธอเป็นตัวละครหญิงที่มีความแข็งแกร่งและสอดแทรกรายละเอียดอื่นๆ ลงไปในเนื้อเรื่อง เพราะเธอจะเป็นตัวเชื่อมเราเข้ากับเรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน”
ฉากต่างๆ และเหตุการณ์เกือบทั้งหมดในเรื่อง “300: Rise of an Empire” ดูมีความสมจริงไม่ต่างจากภาพยนตร์ภาคแรก ซึ่งมีความสำคัญต่อทุกคนในฉากตั้งแต่นักแสดงไปจนถึงทีมงานที่ต้องนึกภาพขึ้นมาว่าผู้ชมจะต้องเห็นภาพอะไรบ้าง อีกทั้งยังเพิ่มความท้าทายให้การต่อสู้ด้วยการรบกันบนดาดฟ้าเรือที่โคลงเคลง แทนที่จะเป็นบนพื้นดินที่มีความแข็งแรง
นันนารีเล่าว่า “ปกติการจัดการเรื่องน้ำก็เป็นงานยากอยู่แล้ว แต่การทำให้ภาพของน้ำดูยิ่งใหญ่อลังการบนจอภาพยนตร์และมีฉากการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ทำให้การสร้างหนังภาคนี้ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย”
“เราอยากให้จินตนาการเป็นรูปร่างขึ้นมาจึงยึดภาพจากเรื่อง ‘300’ แต่ไม่ได้เหมือนเดิมทุกประการ” แซ็ค สไนเดอร์เล่าว่า “เราเริ่มมีคำถามว่าจะทำให้มันดูเป็นเรื่องที่อยู่ในดินแดนเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่แยกตัวออกจากกันได้ยังไง ผมคิดว่าทางออกที่ได้ก็ไม่เลวเลยทีเดียว”
เมอร์โรเล่าว่า “ตั้งแต่ช่วงแรกแซ็คบอกเอาไว้ว่าภาพยนตร์ต้องมีความงดงามเหมือนต่อยอดมาจากภาคแรก แต่ต้องมีความยิ่งใหญ่อลังการมากกว่า เขาบอกว่า ‘จงเปิดใจให้กว้างเพื่อหาแนวทางใหม่’ และเขาจะคอยให้กำลังใจทุกคนที่พยายามสร้างผลงานตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ”
การคัดเลือกตัวนักแสดง
“เราจึงสู้สุดกำลังในวันนี้ สู้เพื่อพี่น้องของเรา
สู้เพื่อครอบครัวของเรา และที่สำคัญคือสู้เพื่อกรีก”
สงครามได้เดินทางมาถึงกรีก มีเพียงคำถามเดียวที่เกิดขึ้นคือรัฐต่างๆ จะยอมรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อปกป้องอาณาเขตพวกเขาจากการปะทะกับเทพกษัตริย์เซอร์เซสและกองกำลังจำนวนมากของเขาหรือไม่ ลีโอไนดาสกษัตริย์แห่งสปาร์ต้าได้จัดกองทัพ 300 มาเผชิญหน้ากับศัตรูเพื่อสิ่งที่เรียกว่าภารกิจทำลายล้างตัวเอง
แต่กรุงเอเธนส์ไม่ใช่สปาร์ต้า
“ธีมิสโทคลีสไม่ใช่กษัตริย์ เขาปกครองภายใต้ระบอบที่แตกต่างออกไป” เมอร์โรเล่าว่า “ชาวเอเธนส์มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะร่วมสงครามหรือพยายามต่อรองเพื่อความสันติ ธีมิสโทคลีสต้องชนะใจประชาชนให้ได้ก่อน ฉะนั้นเขาต้องจัดการกับหลายด้านทั้งเชิงจิตวิทยา ปรัชญา และการเมืองเพื่อให้ได้การสนับสนุนจากพวกเขา และนั่นคืองานถนัดของเขาเลย”
ซัลลิแวน สเตเพิลตันเล่าถึงตัวละครของเขาว่า “เป็นทหารกองกำลังที่มีความภาคภูมิใจในชาติและรักชาติยิ่งชีพ การที่ชาวเปอร์เซียจะมาครองอาณาจักรและตกเป็นทาสของพวกเขา_ ก็ผลักดันให้เขายอมสู้จนตัวตายเพื่อปกป้องกรีกแล้ว แต่ก่อนที่เขาจะเป็นนายทหารได้ เขาต้องเป็นนักการเมืองก่อน เขาจึงแสดงฝีมือให้เห็นด้วยการทำหน้าที่เป็นรัฐบุรุษและนักวางยุทธวิธี”
แซ็ค สไนเดอร์แสดงความเห็ฯว่า “ซัลลี่สร้างเสน่ห์และความมั่นใจลงไปในบทบาทที่ธีมิสโทคลีสต้องแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน เพื่อโน้มน้าวทุกคนว่าสิ่งที่เขาพูดคือความจริง และแนวทางของเขาคือทางออกเดียวที่มี ซึ่งนั่นเป็นบุคลิกที่สำคัญมากเวลาเราจะโน้มน้าวใจคนให้มาร่วมสงคราม และพยายามจูงใจให้พวกเขายอมเสียเลือดเพื่อเหตุผลอะไรสักอย่าง”
กองเรือรบของชาวเปอร์เซียอยู่ภายใต้การบังคับของอาร์ทีมีเซีย สตรีผู้ไม่คุ้นเคยกับวิถีทางการฑูต เธอเป็นคนที่ฉลาดเจ้าเล่ห์และกระหายความรุนแรง เธอไม่รับฟังคำแก้ตัวใดๆ และรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ ความล้มเหลวใดก็ตามที่เกิดขึ้นจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างคาดไม่ถึง
จากจุดเริ่มต้นผู้สร้างภาพยนตร์นึกถึงนักแสดงหญิงเพียงคนเดียวสำหรับบทบาทที่สำคัญ แคนตันยืนยันว่า “เอวา กรีนคือคนเดียวที่เราพูดถึงกัน และเธอมีคุณสมบัติทุกอย่างที่เราพอจะนึกภาพได้ ตัวละครอาร์ทีมีเซียของเอวาเป็นผู้หญิงแท้พันเปอร์เซ็นต์ และเป็นนักรบทางเรือที่น่ากลัวอีกพันเปอร์เซ็นต์ด้วย เธอสร้างความอัศจรรย์ได้ทั้งสองบทบาท”
“เธอโหด สวย เซ็กซี่ เจ้าเล่ห์ เธอมีดาบและรู้วิธีใช้มันเป็นอย่างดี มีกฏง่ายๆ ข้อเดียวคืออย่าไปยุ่งวุ่นวายกับเธอ” เมอร์โรหัวเราะ “สำหรับเอวาแล้วนี่เป็นการสร้างตัวละครหญิงที่ห้ามปฏิเสธจุดมุ่งหมายของเธอหรือการไปถึงจุดหมายของเธอด้วยความโหดเหี้ยมเด็ดขาด”
ในความเป็นจริงแล้วกรีนมีการนำด้านมืดของตัวละครเธอมาใช้ด้วย เธอเล่าว่า “ฉันชอบการรับบทที่โหดร้าย โดยเฉพาะตัวละครที่มีความซับซ้อนและมีเหตุผลบางอย่างแอบแฝง มันยิ่งสร้างความสนใจมากขึ้น”
แม้ว่าจะเกิดที่กรีกแต่อาร์ทีมีเซียก็ถูกประชาชนของเธอเองหักหลังตั้งแต่เธอยังเด็ก ความโหดเหี้ยมของคนเหล่านั้นเป็นการปลูกฝังความโหดร้ายกลับสู่แผ่นดินแม่ “มันอธิบายได้เลยว่าทำไมเธอจึงเกลียดชังกรีกอยู่ลึกๆ” กรีนเล่าว่า “สิ่งที่ฉันชอบในตัวอาร์ทีมีเซียคือเธอมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวมาก ข้อเสียของเธอคือความหมกมุ่นอยู่กับการอยากล้างแค้น”
แม้ว่าจะเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมา แต่ธีมิสโทคลีสและอาร์ทีมีเซียก็เริ่มมีความศรัทธากันและกัน สเตเพิลตันยืนยันว่า “สองนักรบต่างนับถือในกลยุทธ์ของแต่ละฝ่าย หากพวกเขาได้พบกันในสถานการณ์ที่ต่างออกไปก็คงไม่พยายามฆ่ากันเอง แต่เป็นได้แค่ศัตรูคนละข้าง จนในที่สุดก็ต้องเป็นเช่นนี้”
กรีนกล่าวว่า “ธีมิสโทคลีสกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวและมีความฉลาดมาก จนอาร์ทีมีเซียเกิดความศรัทธาในตัวเขาและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้เขามาเป็นพวกเดียวกับเธอ เธออยากได้เขามาครอบครอง แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เธอจึงหวนกลับมาโจมตีด้วยตัวเธอเอง และมุ่งมั่นอยากเอาชนะเขามากขึ้นกว่าเดิม”
อาร์ทีมีเซียมีความตั้งใจจะทำลายล้างกรีก แต่ลำพังเพียงตัวเธอคงไม่มีพลังพอที่จะทำศึกกับพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการตายของดารีอุสกษัตริย์แห่งเปอร์เซียด้วยน้ำมือของธีมิสโทคลีส เธอจึงเล็งเห็นโอกาส…และฉวยมันไว้ซะ การตายของดารีอุสกลายเป็นการเตือนเธอในท้ายที่สุดว่า “มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่จะกำราบชาวกรีกได้” เธอคอยโน้มน้าวเซอร์เซสลูกชายและเป็นรัชทายาทว่าต้องกลายเป็นเทพกษัตริย์ได้แล้ว
ผู้กำกับฯ เล่าว่า “ผมมีความรู้สึกมาโดยตลอดว่าความสัมพันธ์ระหว่างอาร์ทีมีเซียกับเซอร์เซสเป็นเรื่องที่มีลับลมคมในมากที่สุดในหนัง เธอแค่ต้องการปรับเปลี่ยนเขาหรือปรับเปลี่ยนทั้งสองด้านเลย? เธอจะใช้เขาเป็นเครื่องแก้แค้นชาวกรีกหรือเขาจะใช้เธอเพื่อตัวเองมีอำนาจอย่างที่ต้องการ เพราะเธอเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจและสามารถทำให้เขาสมความปรารถนาได้? มันสำคัญมากที่เราต้องไม่ทำให้เขาดูเหมือนไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ถึงเขาจะแปลงสภาพไปแล้วและโหดเหี้ยมแต่เขาไม่โง่นะ”
โรดริโก ซานโตโร ผู้รับบทกษัติรย์เทพเซอร์เซสในเรื่อง “300” ในความงดงามของเขาเขาเล่าว่า “ความยิ่งใหญ่ของ ‘Rise of an Empire’ คือเราจะได้เห็นเซอร์เซสตอนยังเป็นหนุ่ม และเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างน่าประหลาดแบบนี้ ผมมองว่ามันเป็นการแสดงความกล้าหาญของเซอร์เซส เพราะเขาต้องยอมตายก่อนที่จะได้เกิดใหม่ในสภาพนี้”
โกลด์แมนเล่าว่า “จากท่าทางของโรดริโกคุณจะรู้สึกได้ถึงพลังของเซอร์เซสในร่างพระเจ้า แต่ก็มีช่วงแรกที่คุณจะนึกถึงเขาคนเดิม ผมว่ามันเป็นการเพิ่มมิติให้ตัวละคร และโรดริโกก็แสดงทั้งสองบทบาทออกมาได้อย่างชัดเจน”
“ที่มาของเรื่องราวเซอร์เซสเป็นความคิดหนึ่งของแฟรงค์ มิลเลอร์” แซ็ค สไนเดอร์ เล่าว่า “ผมว่าความสนุกในการถ่ายทอดเรื่องราวคือการสร้างให้ตำนานนั้นมีความสมจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกองไฟก่อนอรุณรุ่ง”
ในภาพยนตร์เรื่อง “300: Rise of an Empire” จะเป็นเรื่องราวที่กอร์โกราชินีสปาร์ต้า พระมเหสีของกษัตริย์ลีโอไนดาสเล่าเรื่องราวอีกรอบ เธอจะเล่าตั้งแต่เรื่องของเดวิด เวนแฮม ซึ่งปรากฏตัวอีกครั้งในบทดีลีออส เราได้ทำความรู้จักกับกอร์โกอีกครั้งในหนังเรื่องนี้ตอนที่ธีมิสโทคลีสมาวิงวอนชาวสปาร์ตันรวมตัวเข้ากับชาวเอเธนส์และหัวเมืองอื่นๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ชาวสปาร์ตันเกิดมาและเติบโตเพื่อทำศึกสงคราม แต่ถึงอย่างไรกอร์ก็ไม่ได้ให้คำตอบตามที่ธีมิสโทคลีสหวังไว้
ลีน่า ฮีเดย์ กลับมารับบทกอร์โกอีกครั้ง เธออธิบายให้ฟังว่า “ชาวสปาร์ตันเติบโตขึ้นมาเพื่อทำการต่อสู้ แต่ไม่ได้สู้เพื่อสปาร์ต้าเท่านั้น เธอจึงบอกเขาว่าสปาร์ต้าไม่ต้องการร่วมทัพไปกับพวกเขา พวกเขาไม่ยอมสละชีพเพื่อจุดประสงค์อื่น และไม่ยอมร่วมฝันของธีมิสโทคลีสที่อยากรวมกรีกเข้าเป็นหนึ่ง”
“ถือเป็นความอัศจรรย์มากที่ได้ลีน่ากลับมารับบทราชินีกอรโก เธอเป็นนักแสดงคนหนึ่งที่มีความสำคัญ” เดโบราห์ สไนเดอร์ เล่าว่า “บทบาทของเธอในภาคนี้ค่อนข้างตื่นเต้น เพราะครั้งแรกที่เราเห็นเธอ เราต่างก็รู้ชะตากรรมของลีโอไนดาสอยู่แล้ว และเมื่อเราย้อนกลับไปที่สปาร์ต้า เธอต้องอดทนต่อความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ของกองกำลัง 300 ที่รวมถึงสามีของเธอผู้เป็นกษัตริย์ของพวกเขาด้วย ตอนนี้เธอต้องรับหน้าที่สำคัญในการปกครองสปาร์ต้าและต้องเป็นห่วงตัวเองยิ่งกว่าสิ่งใด แต่สิ่งที่ธีมิสโทคลีสบอกเธอและความต้องการของเธอที่อยากล้างแค้นให้กับการตายของลีโอไนดาส น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกความสนใจได้มากขึ้น”
เหล่าผู้กล้าชาวเอเธนส์ของธีมิสโทคลีสไม่ใช่ทหารที่มีความชำนาญเหมือนชาวสปาร์ตัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เอสชีลัส เพื่อนสนิทและที่ปรึกษาของเขาผู้เป็นทั้งนักกวีและนักปราชญ์ ฮานส์ มาธีสัน ผู้รับบทนี้เล่าให้ฟังว่า “มันทำให้ผมเกิดคำถามว่าอะไรดลใจให้เขาออกไปต่อสู้ได้ สำหรับผมคงเป็นเรื่องมุมมองเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยในช่วงนั้น ที่มีแต้มต่อด้านวัฒนธรรมและช่องทางอันยิ่งใหญ่เพื่อมนุษยชาติในการค้นหาเรื่องวิทยาศาสตร์ ละคร ศาสนา … ฉะนั้นเขาต้องปกป้องประเทศชาติและโอกาสนั้นก็เปิดรอเขาอยู่ และเขาอยากยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนที่แสนดีของเขาทุกเมื่อที่เขาพอจะทำได้”
“ฮานส์มีความรู้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เขาทำ นั่นคือบทบาทของเขาในภาพยนตร์” เมอร์โรกล่าว “เอสชีลัสไม่ได้เกิดมาเพื่อต่อสู้ แต่เขารู้ว่าต้องทำ เขาคือเพื่อนแท้และผู้ที่คอยให้การสนับสนุนธีมิสโทคลีส”
ผลลัพธ์จากสงครามสำหรับบิดาและบุตรผ่านนักรบมากกว่า 2 คนที่ต่อสู้ฝ่ายธีมิสโทคลีสคือไซลีอัสและคาลิสโตลูกชายของเขาที่รับบทโดยคอลแลน มัลเวย์ และ แจ็ค โอ’คอนเนลตามลำดับ ขณะที่ไซลีอัสพร้อมยอมเสี่ยงชีวิต แม้แต่ยอมเป็นสายลับอยู่เบื้องหลังกองทัพศัตรู เขาไม่เชื่อว่าลูกชายตัวเองมีความพร้อมที่จะเป็นทหาร ส่วนคาลิสโตก็ใจร้อนอยากพิสูจน์ตัวเองในสมรภูมิรบ
มัลเวย์เล่าว่า “ไซลีอัสพร้อมสละทุกสิ่งเพื่อปกป้องสิ่งที่เขารักมากที่สุด เขารักลูกชายมากและพยายามต่อสู้การพิสูจน์ความเป็นชายชาตรีของลูก เขาไม่อยากให้คาลิสโตกลายเป็นผู้ใหญ่ เพราะเขาอาจจะต้องพบกับการสูญเสียลูกชายไปก็ได้”
แต่น่าแปลกที่ประสบการณ์จากไซลีอัสคือแรงบันดาลใจให้ลูกชายของเขาอยากต่อสู้ โอ’คอนเนลยืนยันว่า “ตัวละครของผมเห็นพ่อเป็นแบบอย่างในฐานะของฮีโร่แห่งสงคราม ทำให้คาลิสโตเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาก เขาอยากคว้าโอกาสไว้เพื่อให้ได้รับการนับหน้าถือตาแบบนั้น เขาเปิดตัวในภาพยนตร์ในร่างของเด็กผู้ชาย แต่เมื่อผ่านสงครามที่โหดร้ายเขาได้กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว”
เมอร์โรเชื่อมั่นว่านักแสดงทั้งคู่เหมาะจะมารับบทครอบครัวเดียวกัน “ในตัวคอลแลนมีความเป็นผู้ใหญ่ ส่วนแจ็คก็มีพลังแห่งความเป็นหนุ่มที่สดใสอยู่ในตัว พวกเขาดูเหมือนพ่อกับลูกมากในฉาก ระหว่างพวกเขามีความสนิทเกิดขึ้นจริงจนสะท้อนออกมาในภาพยนตร์”
ในภาพยนตร์ยังมีเหลานักแสดงที่หวนกลับมาร่วมงานด้วยอีกครั้งอยางแอนดรูว์ เทียร์แนน ผู้รับบทกบฏอีเฟียเทสที่ยากจะลืมเลือนและแอนดรูว์ เพลียวิน ผู้รับบทดาซอสทหารสปาร์ตัน
การฝึกซ้อม
“อาร์ทีมีเซียถูกเลี้ยงดู มีเสื้อผ้าสวมใส่ และได้รับการฝึกฝนจากเหล่านักรบยอดฝีมือแห่งอาณาจักรเปอร์เซีย
จนถึงขั้นที่ไม่มีผู้ใดต่อกรกับเธอได้”
ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยที่ลักษณะรูปปั้นของชาวสปาร์ตันจะเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในด้านองค์ประกอบของเรื่อง “300” ผู้สร้างภาพยนตร์รู้ดีว่ามันมีส่วนสำคัญต่อนักแสดงที่จะแสดงให้สมจริงในภาพยนตร์เรื่องใหม่ แต่มีความแตกต่างข้อหนึ่งที่แซ็ค สไนเดอร์อธิบายให้ฟังว่า “ชาวกรีกผู้รักเสรีภาพต่างจากชาวสปาร์ตันตรงที่พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อย ครั้งนี้ผู้ฝึกสอนจึงต้องให้นักแสดงแต่ละคนมีลักษณะท่าทางที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นกว่าเดิม”
มาร์ค ทไวท์ ผู้ฝึกสอนและทีมงานของเขากลับมารับหน้าที่ออกแบบท่าทางการต่อสู้ให้นักแสดงอีกครั้ง โดยนักแสดงทุกคนจะถูกควบคุมด้านอาหารการกินและการออกกำลังกายอย่างเคร่งครัด “มีการออกแบบการฝึกซ้อมขึ้นมา แต่แนวทางปฏิบัติของทุกคนจะคล้ายกัน” ทไวท์เล่าว่า “เราจะมีเป้าหมายให้นักแสดงแต่ละคนและบอกว่า ‘โอเค นี่คือเป้าหมายของเรา เราต้องทำยังไงกันบ้างเพื่อให้คุณไปถึงเป้าหมายนั้นได้?’ เรามีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขการฝึกซ้อมตามรายบุคคล โดยรักษาเป้าหมายสูงสุดของเราเอาไว้ตลอด”
“เมื่อคุณเป็นนักแสดงในเรื่อง ‘300’ คุณต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์พื้นฐานบางอย่าง” เมอร์โรกล่าว “และหนึ่งในนั้นคือคุณต้องออกกำลังกายเพื่อให้รูปร่างกระชับ และมาร์คเข้าใจเรื่องนั้นดี ฉะนั้นคุณต้องเตรียมรับผิดชอบเรื่องนั้นเอาไว้เลย เขาจะคอยผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ ฉะนั้นคุณมั่นใจได้เลยว่าเขาทำให้คุณบรรลุเป้าหมายอย่างที่ต้องการได้แน่นอน”
ทไวท์เล่าว่าอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่สุดที่ต้องเอาชนะให้ได้คือ นักแสดงไม่ร่วมเข้าค่ายการฝึกซ้อมในช่วงหลายอาทิตย์ก่อนเปิดกล้องถ่ายทำเหมือนอย่างที่เคยเข้าร่วมในภาคแรก “นี่เป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก เพราะพวกเขาอยู่กันต่างที่เราจึงไม่มีความสามารถที่จะรวมพวกเขาเข้ากลุ่มได้ ตัวอย่างเช่น ซัลลิแวน สเตเพิลตัน อยู่ในโลกอีกฝั่งหนึ่งด้วยเหตุผลนานับประการ เมื่อเขามาถึงกองถ่ายเราจึงมีเวลาให้คุ้นเคยกับบรรยากาศเพียงน้อยนิดมาก_”
ภารกิจที่โหดร้ายสุดน่าจะตกเป็นของนักแสดงที่ห่างหายจากการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “300” ไปเกือบ 7 ปีแล้วต้องกลับมาปรากฏบนหน้าจออีกครั้งด้วยสภาพเดิม โดยเฉพาะโรดริโก ซานโตโรที่ต้องฟิตตัวเองให้ตรงตามมาตรฐานของการเป็นพระเจ้าเพื่อแสดงบทเซอร์เซส นักแสดงยอมรับว่า “การทำงานมีความจริงจังเหมือนภาคแรกเลย เราต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในโรงยิม งดไอศครีมหรือช็อคโกแลตนานหลายสัปดาห์ แต่ก็ต้องทำเพื่อแลกกับการรับบทเป็นเทพกษัตริย์” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม
แอนดรูว์ เพลียวินก็เคยผ่านสิ่งที่ทไวท์เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาเพียงพริบตา เขาต้องทำการทดสอบ ซึ่งสร้างแรงกดดันให้เขาอย่างมหาศาลเป็นเวลา 4 สัปดาห์เพื่อทำให้เขากลับมามีรูปร่างเหมือนเมื่อก่อน”
เพลียวินเล่าถึงตอนนั้นว่า “ตอนผมทำกรทดสอบผมหุ่นดีกว่าคนอื่นเลยนะ แต่จากมาตรฐานของมาร์ค ทไวท์แล้วเรียกว่าผมมีรูปร่างที่ไม่ได้เรื่องเลย ผมดีใจมากที่เราทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าโชคดีมากที่ได้รับคำแนะนำจากมาร์ค และผมขอบคุณจริงๆ ที่ผมได้มีโอกาสแบบนี้ถึง 2 ครั้งในเส้นทางอาชีพของผม”
โปรแกรมการฝึกซ้อมที่ต้องใช้พลกำลังอย่างมหาศาลไม่ได้มีสำหรับผู้ชายเท่านั้น ทไวท์ยังกล่าวชมทั้งเอวา กรีนและลีนา ฮีเดย์ด้วยว่า “ลีน่ามีบุคลิกท่าทางที่ดูอ่อนโยนและงามสง่าในเวลาเดียวกัน” เขากล่าว “เธอหัวไวและตั้งใจทำทุกอย่างสุดกำลัง”
“เอวามีความพร้อม ความตั้งใจ ความสามารถ และเป็นคนที่น่าร่วมงานด้วย” ทไวท์เล่าต่อว่า “ผมชอบดูเวลาเธอแสดงท่าการต่อสู้และเห็นเธอควงดาบ 2 มือด้วยท่ายากๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว เธอดูมีพลังหลังจากการซ้อมจนผมคิดว่า ‘โอเค นั่นคือผลลัพธ์ที่เราได้ในที่สุด’ เธอทำให้ผมรู้สึกภูมิใจมาก”
กรีนเล่าให้ฟังว่า “ฉันไม่ใช่คนที่มีระเบียบมากนัก ตอนแรกฉันเลยรู้สึกกลัวนิดหน่อย มาร์คคอยบอกฉันว่า ‘ไม่ต้องคิดอะไร แสดงไปเลย’ การต่อสู้โดยใช้ดาบ 2 มือเป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสมาก แต่ส่วนใหญ่ฉันจะได้รับความช่วยเหลือหลายอย่าง และนักแสดงผาดโผนก็เก่งมากด้วย ฉันรู้สึกกลัวพวกเขาไปเลย มันเป็นอะไรที่สนุกมาก รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในความฝัน”
ดามอน คาโรเป็นอีกคนที่เคยร่วมงานในภาพยนตร์เรื่อง “300” โดยรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการแสดงผาดโผนและผู้กำกับกองย่อยในภาพยนตร์เรื่อง “300: Rise of an Empire” จิอานนี นันนารี เล่าให้ฟังว่า “ดามอนเป็นผู้ควบคุมการแสดงผาดโผนและออกแบบท่าทางให้ภาพยนตร์ภาคแรก ฉะนั้นใครจะมารับหน้าเรื่องนี้ต่อได้ดีกว่านี้ล่ะ? เรามีทีมงานที่มีฝีมืออย่างไม่น่าเชื่อทั้งผู้ที่มีความพร้อมแสดงผาดโผน และผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงผาดโผนได้”
สำหรับการออกแบบท่าทางในฉากต่อสู้ต่างๆ คาโรได้ให้ความใส่ใจความแตกต่างระหว่างแนวการรบที่มีความชำนาญของพวกสปาร์ตันกับชาวเอเธนส์ “เราต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบท่าทาง ฉะนั้นมันจึงไม่ดูแคล่วคล่องว่องไวนักแต่ยังมีความเท่อยู่” เขาอธิบายรายละเอียดว่า “นอกจากตัวละครหลักของเราทั้งหลายแล้ว เราจะต้องแสดงให้เห็นถึงการเป็นปุถุชน กลุ่มชนชั้นแรงงานที่จากบ้านและทิ้งงานมาเพื่อออกไปสู้รบ เว้นแต่บุคคลสำคัญอย่างธีมิสโทคลีส ในฐานะที่เขาเป็นแม่ทัพและผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชน เขาต้องมีความคล่องตัวกว่าคนอื่น ส่วนชาวเปอร์เซียเราก็ใช้เทคนิคที่คล้ายของเดิม เพราะยังเป็นกองทัพของเซอร์เซสเหมือนเดิม แม้ว่าเราจะถูกตัดออกนอกทะเลแล้วก็ตาม”
คุณค่าแห่งท้องทะเล
“เรือลำสุดท้ายของกรีกจะถูกทำลายในวันนี้ อย่าได้ปราณีพวกมัน…
วันนี้เราจะย่ำผ่านแผ่นหลังของกรีกผู้ล้มตาย วันนี้เราจะขอมอบความปราชัย
วันนี้ข้าอยากเห็นคอของธีมิสโทคลีสอยู่ใต้เท้าข้า”
แม้ว่าสนามรบแห่งแรกจะย้ายจากเธอร์โมพิเลสู่ Aegean Sea ผู้สร้างฯ ก็ยังอยากให้หนังเรื่องนี้สะท้อนถึงสไตล์วิชวลจากภาพยนตร์เรื่อง “300” ที่ได้รับการยอมรับ เมอร์โรและไซมอน ดักแกน ตากล้องของภาพยนตร์ได้ใช้เทมเพลตของหนังภาคก่อนเป็นตัวอ้างอิงการจัดเฟรมฉากต่างๆ เพื่อให้สะท้อนถึงนิยายภาพต้นฉบับด้วย
และพวกเขายังสามารถวางแผนฉากต่างๆ ได้โดยการใช้การจำลองภาพตัวอย่างขึ้นมา โดยที่ฉากทั้งหมดถูกนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่นพื้นฐาน ทำให้การถ่ายทำมีเอ็ฟเฟ็กต์ที่หนักแน่นอย่างเป็นธรรมชาติ ช่วงทำการจำลองภาพตัวอย่างขึ้นมาล่วงหน้ามีความสำคัญมากสำหรับทุกแผนก ผู้ควบคุมวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์ริชาร์ด ฮอลแลนเดอร์ เล่าว่า “เราสร้างโลกทั้งใบขึ้นมา โดยการจำลองภาพตัวอย่างขึ้นมาทำให้เรากำหนดมุมต่างๆ ได้ว่าเราจะถ่ายฉากแอ็คชั่นยังไง เราสามารถตรวจสอบฉากและปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม สามารถย้อนกลับไปแก้ไขกี่ครั้งก็ได้ตามที่ต้องการ”
เมอร์โรกล่าวว่า “เราออกแบฉากการต่อสู้ให้มีความแตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับไอเดียที่กำหนดว่าชาวกรีกจะคุ้นเคยกับแผ่นดินของพวกเขา…หรืออย่างในภาคนี้คือน้ำ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ธีมิสโทคลีสกลายเป็นผู้ชำนาญด้านยุทธศาสตร์ เพราะเขารู้ว่าหากจะพูดถึงเรื่องจำนวนแล้วพวกเขาก็เสมอกัน ฉะนั้นเขาต้องมีลูกเล่นอย่างอื่นมาแสดงด้วย การเผชิญหน้ากันแต่ละครั้งจะทำให้คุณเห็นความแตกต่างว่าเขามีกลยุทธ์และความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้กับกองกำลังขนาดมหึมาได้อย่างไร”
ฮอลแลนเดอร์ได้ร่วมงานกับทีมวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์แห่ง Scanline อย่างใกล้ชิด โดยบริษัทรับผิดชอบด้านการเร็นเดอร์ภาพน้ำที่ดูมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคลื่นน้ำที่ไหลเป็นระลอก กระแสน้ำวนใต้เรือ หรือน้ำที่ชนตัวเรือและก้อนหิน ไบรอัน ฮิโรตะ ผู้ควบคุมวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์แห่ง Scanline เปิดเผยว่าจุดมุ่งหมายคือต้องทำให้ลักษณะน้ำดูน่าเชื่อถือแต่ไม่เหมือนกับธรรมชาติซะทีเดียว “เป้าหมายของเราคือการสร้างบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์ภาคนี้ เราจึงไม่อยากให้น้ำดูสมจริงจนเกินไป เราอยากแน่ใจว่าสภาพแวดล้อมพวกนี้จะมีความน่าอัศจรรย์ และหลังจากที่เราได้นำเสนอรูปแบบก็ตามมาด้วยการจำลองภาพและคำนวณเพื่อการถ่ายทำ. นี่เป็นความท้าทายด้านเทคนิคที่ใหญ่เอาเรื่องเลย”
ขณะที่ Scanline สร้างลักษณะน้ำโดยส่วนใหญ่ขึ้นมาก็มีบางฉากที่นักแสดงต้องลงไปแสดงในแทงก์น้ำที่ Warner Bros. Studios ใน Leavesden
ของเหลวอีกอย่างที่มีความสำคัญและถูกปรับแต่งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อภาพยนตร์คือกองเลือดจำนวนมากในสนามรบ ฮอลแลนเดอร์เล่าว่า “คล้ายกับภาคแรกที่เราอยากให้มันดุเดือด เราจึงมีการเติมเลือดลงไปในช่วงโพสต์-โพรดักชั่น เราต้องใส่เลือดลงไปในฉากที่มีการระเบิด แทง และฟันกันท่ามกลางความโกลาหล ฉะนั้นการเพิ่มละอองเลือดลงไปจึงต้องใช้ความพิถีพิถันมากกว่าที่คุณคิดไว้”
สำหรับภาพที่มีความอลังการมากขึ้น วิชวลเอ็ฟเฟ็กต์มีส่วนช่วยเหลือในทุกฉากของภาพยนตร์ ฉากส่วนใหญ่และพื้นหลังจะถูกสร้างหรือขยายขึ้นโดยระบบดิจิตอล ทีมวิชวลเอ็ฟเฟ็กต์ยังควบคุมเรื่องของสภาพอากาศ ทำให้ได้เอ็ฟเฟ็กต์บรรยากาศทีช่วยสร้างโทนในแต่ละฉากขึ้นมา
ฉากที่เกี่ยวกับบรรยากาศธรรมชาติ เช่น ชิ้นส่วนเรือรบไม้ของชาวกรีกและเรือรบที่เป็นโลหะสีดำของชาวเปอร์เซียถูกสร้างขึ้นมาในโรงถ่ายของ Nu Boyana Studio ด้านนอกโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย แต่อย่างไรก็ต้องมีการสร้างภาพขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้โครงสร้างของเรือรบดู “แข็งแรงพอจะออกทะเลได้” ในเชิงระบบดิจิตอล
ฉากทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกต่างรายล้อมไปด้วยบลูสกรีนหรือไม่ก็กรีนสกรีน ซึ่งจะกลายเป็นบรรยากาศของกรีกและเปอร์เซียสมัยโบราณ ตั้งแต่เอเธนส์ไปจนถึงสปาร์ต้า และตั้งแต่ Aegean Sea ไปจนถึงพระราชวังแห่งเทพกษัตริย์เซอร์เซส
การออกแบบสงคราม
“จงแสดงให้โลกรู้ เราเลือกที่จะตายอย่างทระนง
ดีกว่าอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี”
สิ่งสำคัญสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์คือ การบรรยายถึงความขัดแย้งระหว่างโลกของชาวกรีกกับชาวเปอร์เซียผ่านทางฉากและการออกแบบเครื่องแต่งกาย เมอร์โรยืนยันว่า “มีการสร้างความแตกต่างระหว่างชาวเปอร์เซียกับชาวกรีกขึ้นมาอย่างตั้งใจ ชาวเปอร์เซียจะมีสีสันที่เด่นชัด ตรงกันข้ามกับสิ่งแวดล้อมของชาวกรีกที่ดูเรียบง่ายและขาดความอุดมสมบูรณ์”
ผู้ออกแบบฉากฯ แพทริค ทาโทเพาลอส กล่าวว่า “คำสั่งข้อแรกๆ ที่โนมบอกผมคือเขาอยากให้ชาวเปอร์เซียดูเหมือนมีพลังลึกลับ ฉะนั้นเปอร์เซียจึงเน้นที่สีดำมากกว่า ตัวพระราชวังก็ใช้หินอ่อนสีดำกับสีเขียวอ่อนและตกแต่งด้วยสีทองเข้ม ไม่มีการใช้สีเข้มฉูดฉาดเลย ทุกอย่างจะมีพื้นผิวที่ราบเรียบและมีขนาดใหญ่มาก”
ในทางตรงกันข้ามที่อยู่อาศัยของธีมิสโทคลีสจะดูเรียบง่ายและไม่สมบูรณ์แบบ มีหินและไม้เป็นส่วนประกอบพร้อมด้วยสีเอิร์ธโทนเรียบๆ
การออกแบบเรือรบได้สะท้อนถึงการแบ่งแยกอย่างชัดเจน หลังทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยุคสมัยแล้วทาโทเพาลอสได้สร้างแบบจำลองเรือรบกรีกให้ถูกต้องตรงตามประวัติศาสตร์มากที่สุด “ผมไม่พยายามสร้างเรือขึ้นมาใหม่หรือทำให้มันดูสวยจนเกินจริง” เขากล่าว “เพราะเรือเหล่านั้นเป็นเรือของชาวเปอร์เซียที่แล่นได้จริงและออกทะเลได้อย่างสมบูรณ์ มีแนวคิดว่าต้องมองผ่านมุมมองของชาวกรีกช่วงที่เรือกำลังแล่นมาถึง เราจึงอยากให้เรือของชาวเปอร์เซียมีขนาดใหญ่และดูแล้วสื่อถึงลางร้าย โครงสร้างหลักของเรือเป็นไม้ แต่ตัวเรือเป็นโลหะสีดำทำให้เรือดูแข็งแกร่งมากขึ้น”
คลังแสงของทหารฝ่ายตรงข้ามก็ถูกออกแบบขึ้นมาให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดาบและโล่ของชาวเปอร์เซียจะมีการแกะสลักตกแต่ง มีสีดำและเงิน สร้างความสนใจให้ทีมนักแสดงผาดโผนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตอาวุธต่างๆ ได้ทดสอบน้ำหนักและความสมดุลของอาวุธจำลองต่างๆ ก่อนที่จะนำมาผลิตจริงให้มีความปลอดภัยและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการคำนึงถึงด้านความปลอดภัย ในฉากการต่อสู้จะมีการควงดาบเพียงครึ่งเดียวและจะมีการขยายในภายหลังโดยใช้เอ็ฟเฟ็กต์ดิจิตอล
ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย อเล็กซานดร้า เบิร์น ได้จัดประเภทเสื้อผ้าสำหรับภาพยนตร์เป็น “ยุคโบราณที่ดูทันสมัย มีการเปรียบเทียบโลกทั้งสองใบผ่านทางเนื้อผ้า แฟชั่น เทคนิคการผลิตที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ฉันชอบการทำงานในภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะมันทำให้ฉันมีโอกาสได้คิดนอกกรอบ”
เบิร์นได้ออกแบบสร้างสรรค์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้อาร์ทีมีเซีย พร้อมทั้งมีการผสมผสานเนื้อผ้า ขนสัตว์ และโลหะเพื่อสะท้อนถึงบุคลิกตัวละครควบคู่ไปด้วย “เราจับเธอแต่งตัวให้ดูเหมือนนักรบและเป็นผู้หญิงด้วย” เบิร์นกล่าว “โนมอยากให้เครื่องแต่งกายมีการแสดงออกถึงความเข้มแข็ง ดูคดเคี้ยว ต้องสื่อถึงความเป็นผู้หญิงและต้องใช้สีสันที่โดดเด่นเช่นสีดำตัดกับสีทอง”
บุคลิกทั้งสองด้านของอาร์ทีมีเซียสะท้อนออกมาทางเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่เมื่อเธอเผชิญหน้ากับธีมิสโทคลีส ครั้งแรกพวกเขาพบกันตอนที่เธอเรียกเขามาที่เรือ โดยเธอสวมชุดที่ยั่วยวนในรูปแบบของชุดโลหะที่พริ้วไหวสีทองและม่วง ประดับตกแต่งด้วยสายโซ่ทอง ตอนที่พวกเขาได้พบกันอีกครั้งเธออยู่ในมาดนักรบเต็มตัว เธอควงดาบ 2 เล่มพร้อมด้วยสนับโลหะที่คลุมถึงด้านหลังเพื่อการป้องกันตัวที่ดี
สำหรับธีมิสโทคลีส เบิร์นใช้การออกแบบที่ง่ายกว่า “เขาเป็นทหารที่มีความช่ำชอง เขาไม่อยากติดยศและแสดงพลังอะไร จึงไม่ค่อยวุ่นวายเท่าไหร่” เธอกล่าว
เป็นเรื่องน่าประหลาดที่เบิร์นเล่าว่าเสื้อผ้าน้อยชิ้นที่เหล่าทหารสวมใส่กลับสร้างความท้าทายให้ทีมงานของเธอซะมากกว่า “ยิ่งสวมใส่น้อยชิ้นก็ยิ่งต้องทำให้เหมาะสมและเรียกความสนใจมากขึ้น” เธออธิบาย “เวลานักแสดงสวมชุดเต็มยศ เราสามารถควบคุมรูปลักษณ์ของพวกเขาได้ แต่พอพวกเขาสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นมันยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้น เพราะแต่ละตารางนิ้วของชุดที่ตัดและสวมติดกับร่างกายจะต้องดูดีมาก”
สำหรับการหวนกลับมาหาตัวละครต่างๆ เบิร์นเล่าให้ฟังว่า “เครื่องแต่งกายจะอิงมาจาก ‘300’ ฉะนั้นเราจึงมีความเข้าใจอย่างชัดเจน แต่เราก็ได้รับอิสระในการเสริมแต่งอะไรเพิ่มได้ด้วย”
เซอร์เซสถูกแต่งองค์ทรงเครื่องดูอลังการในเรื่อง “300” ให้สมกับฐานะเทพกษัตริย์ แต่โรดริโก ซานโตโรและผู้สร้างคนอื่นๆ ต่างเห็นตรงกันว่าอยากให้ยกระดับโดยไม่ต้องเกรงใจภาพลักษณ์จากภาคแรกที่ได้รับการยอมรับ จัสติน ราเลห์ หัวหน้าแผนกแต่งหน้าสเปเชียลเอ็ฟเฟ็กต์เล่าว่า “โรดริโกเกิดไอเดียตัวละครของเขาขึ้นมา ซึ่งโนม แซ็ค และคนอื่นๆ ก็เสนอความเห็นของพวกเขาร่วมด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าเราสร้างบางสิ่งให้ตัวละครจนทำให้เขาดูแข็งแกร่งมีพลังเหมือนในภาคแรก”
ทีมงานของราเลห์ได้ทำการทดสอบด้วยการตกแต่งร่างกาย ทำให้เซอร์เซสมีสีผิวที่ดูระยิบระยับ ทำให้ไม่เห็นรอยตำหนิใดๆ ตลอดการถ่ายทำ จากนั้นมีการประดับตั้งแต่หัวจรดเท้าของเขาด้วยสายโซ่และการเจาะหูที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพในนิยายต้นฉบับของแฟรงค์ มิลเลอร์ แปลงโฉมเซอร์เซสจากมนุษย์กลายเป็นพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซานโตโรต้องใส่คอนแท็คเลนส์ชนิดพิเศษเพื่อเปลี่ยนสีดวงตาจากน้ำตาลอ่อนให้ดูร้อนแรงแต่แฝงความเย็นชาเอาไว้ “มันทำให้ตัวละครของเขามีลุคที่ดูคลั่งได้มากเลย” ราเลห์กล่าว
แผนกของราเลห์ยังมีการออกแบบชุดที่แอนดรูว์ เทียร์แนน ผู้รับบท อีเฟียเทส ต้องสวมใส่ขึ้นมาใหม่โดยเขาเล่าถึงรายละเอียดให้ฟังว่า “โครงสร้างโดยรวมของตัวละครนี้ยังคงเดิม แต่เราย้อนกลับไปหาความบึกบึนเขาจึงมีการเคลื่อนไหวที่ดูมีอิสระมากขึ้น เราได้เพิ่มมือเทียมเข้าไป และสร้างชุดที่ทำให้เขาสวมใส่และถอดออกง่ายอีกด้วยจะได้ไม่ต้องสวมชุดนั้นไว้ตลอดทั้งวัน แต่ถึงยังไงก็ต้องใช้เวลานั่งอยู่บนเก้าอี้นานหลายชั่วโมงอยู่ดี แอนดรูว์สวมใส่แล้วก็รู้สึกไม่สบายตัวเหมือนเดิม แต่ก็น่าประทับใจเวลาที่เห็นเขามองตัวเองในกระจกแล้วสวมบทบาทตัวละครนั้นได้”
องค์ประกอบสุดท้ายที่สร้างอารมณ์ให้ภาพยนตร์เรื่อง “300: Rise of an Empire” คือเรื่องของดนตรีที่ได้รับการประพันธ์โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง Junkie XL เมอร์โรเล่าให้ฟังว่า “ผมเริ่มฟังเพลงของนักประพันธ์ต่างๆ ที่ได้รับการแนะนำให้มาประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ผมเปิดซีดีนี้ขึ้นมาและดนตรีของเขาก็สร้างความประทับใจให้ผม ตอนที่เราคุยกันทางโทรศัพท์และผ่านทางสไกป์ ผมรู้เลยว่าเขาคือคนที่ผมอยากร่วมงานด้วย ผมคิดว่าดนตรีของเขามีการมิกซ์ได้อย่างน่าสนใจ มันมีความทันสมัย มีพลัง มีความน่าสงสาร และมีความเร้าใจ ผมคิดว่ามันช่วยสื่อความหมายให้หนังเรื่องนี้ มีทั้งทำให้มองย้อนกลับไปและมองไปข้างหน้า”
ผู้กำกับฯ กล่าวเสริมว่า “ผมจำได้ก่อนที่จะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับ ‘300’ ผมนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์และตัวอย่างหนังเรื่องนี้ก็โผล่ขึ้นมา ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน จากนั้นผมก็มองไปรอบๆ คนอื่นก็มีปฏิกิริยาเดียวกับผม ตอนนี้หวังว่าพวกเขาจะเกิดความรู้สึกแบบเดียวกันนั้นขึ้นอีกครั้ง”
แซ็ค สไนเดอร์ กล่าวว่า “หวังว่าผู้ชมจะสนุกกับการผจญภัยครั้งใหม่นี้ แต่มีความเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องมากขึ้นด้วย มันจะช่วยให้คุณเข้าใจชาวสปาร์ตันเวลาที่คุณเห็นพวกเขาคิดต่างจากชาวกรีกผู้รักอิสระ ฉะนั้นคุณจึงมีภาพยนตร์ที่เดินควบคู่กันไปและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทำให้ประสบการณ์ครั้งนี้มีความเข้มข้นมากขึ้น และผมคิดว่ามีความสนุกสนานมากขึ้นด้วย”