มิสเตอร์รัสเซล จอห์น แคมป์เบลล์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดภาพลักษณ์องค์กรประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับภาพยนตร์สั้นชุด “Girl Rising” ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิเด็กจากหลายองค์กรและผลงานสร้างสรรค์จากผู้กำกับชื่อดังที่เคยได้รับการเสนอชื่ออคาเดมี่อวอร์ด จากภาพยนตร์เรื่อง “สลัม บอมเบย์” และสื่อมวลชนที่ได้รับรางวัลในงานข่าวเชิงสารคดี รวม 10 คน นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กสาว 9 คนจาก 9 ประเทศ ที่มีความแตกต่างทั้งทางภาษาและวัฒธรรม แต่มีความฝันเดียวกัน คือการได้เรียนหนังสือ แต่ปัญหาและอุปสรรคจากทั้งน้ำมือมนุษย์ ความยากจน หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ เป็นต้นตอให้เด็กสาวกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
“ปัจจุบันปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดจากการที่เยาวชนไม่เข้าถึงด้านการศึกษามีมากมาย อาทิ การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ ในส่วนของประเทศไทยแม้ปัญหาเรื่องการเข้าถึงด้านการศึกษาอาจจะดูน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังมีเด็กสาวอีกเป็นจำนวนมากที่ยังขาดสิทธิในการเรียนหนังสือในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปจนถึงอุดมศึกษา โดยเฉพาะเด็กไร้สัญชาติเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน องค์การ แพลน อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทยจึงร่วมกับบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรม “Community Theater” ด้วยการจัดฉายภาพยนต์สั้นชุด “Girl Rising” เพื่อรณรงค์ให้เด็กหญิงทั่วโลกเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มเยาวชนในชุมชนแออัด ที่มีสภาพแวดล้อมและปัญหาความยากจนที่ส่งผลให้เยาวชนส่วนใหญ่ขาดโอกาสด้านการศึกษาและการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ซึ่งนอกจากเด็กจะได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อเกิดความตระหนักในเรื่องการศึกษามากขึ้นแล้ว เรายังเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมโดยแสดงความคิดเห็นหรือมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนำไปแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต่อไปอย่างจริงจัง เราคาดว่าในครั้งหน้าจะได้ขยายโอกาสไปยังกลุ่มเด็กชาวเขาในพื้นที่เป้าหมายต่อไป” นางมหา คูบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทยกล่าว
นอกจากภาพยนตร์สั้นชุด “Girl Rising” จะนำมาจากชีวประวัติของเด็กสาว 9 คนจาก 9 ประเทศกับโอกาสทางการศึกษาที่ยังไม่สามารถเข้าถึง ยังนำเสนอเรื่อราวน่าสนใจของปัญหาของเด็กสาวจากประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบังคับการแต่งงานในวัยเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และมีอัตราการตายของเด็กทารกและแม่ค่อนข้างสูงเกือบ 60% อีกทั้งประเด็นปัญหาด้านแรงงานเด็กที่ไปเป็นทาสทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ หรือเรื่อราวในประเทศเฮติ ที่ถูกผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างวัลเลย์ เด็กหญิงชาวเฮติ วัยสิบขวบที่ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ และต้องถูกอพยพไปอยู่ค่ายพักพิงชั่วคราว เมื่อโรงเรียนที่อาศัยเพิงไม้ชั่วคราวได้ให้นักเรียนกับไปเรียนหนังสือ แต่แม่ของเธอไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมและครูไม่อนุญาติให้เธอได้เรียนร่วมกับเพื่อนจนกว่าจะได้รับเงินค่าเล่าเรียน วัลเลย์ก็ไม่ย่อท้อในการไปโรงเรียนทุกวันจนกระทั่งเธอได้รับการยินยอมจากครูให้เรียนหนังสือได้
โดยภาพยนตร์ชุดนี้ได้เริ่มฉายกว่าร้อยแห่งในรัฐนิวยอร์กและลอสแองเจลลิสให้กับประชาชนทั่วไป และผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชน และได้ถูกนำฉายต่อในแถบเอเชีย คือประเทศมาเลเซียให้กับพนักงานบริษัทอินเทลฯ กว่าหนึ่งหมื่นคนได้ชมสารคดีชุดนี้ และประเทศไทยเป็นประเทศที่สามในการนำเสนอฉายที่โรงภาพยนตร์ สยามพารากอน ผู้สนใจสามารถชมตัวอย่างภาพยนต์สั้นชุด “Girl Rising” ได้ทางเว็บไซต์ http://10x10act.org/10×10-the-film/
ทั้งนี้ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทยยังมีผลวิจัยที่น่าสนใจในเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาในกลุ่มเด็กหญิงชายในพื้นที่ทุรกันดารในจังหวัดเชียงราย โดยทำการวิจัยใน 4 โรงเรียนจากเด็กนักเรียนกว่า 500 คน พบว่า ปัญหาหลักใหญ่คือแนวโน้มของเด็กไร้สัญชาติมีสูงมากขึ้น และทำให้มีปัญหาในการออกนอกพื้นที่เพื่อหางานทำ หรือขอทุนเรียนหนังสือต่อในระดับอุดมศึกษา อีกทั้งครอบครัวยากจน ทำให้ต้องหันไปหางานทำที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชนได้ เช่น ร้านคาราโอเกะ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อในการตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือไปทำงานในไร่สวน แต่ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงมาตราฐาน คือรายได้ต่อวันตกอยู่ที่ประมาณ 100-120 บาท ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เกิดปัญหาสังคมในภายหลังได้ โดยจำนวนของคนไร้สัญชาติในประเทศไทยโดยประมาณนั้นมีสูงกว่าห้าแสนคน สองในสามจำนวนเป็นเด็กหญิงชาย ทำให้ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติยังคงต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐอยู่