ที่มาของ ‘คลินิกบาทเดียว’ ความสุขของการเป็นผู้ให้ ของ “สุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์” ใน “เจาะใจ”

IMG_8956ถนนข้าวสาร เป็นจุดใจกลางเมืองเรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นแหล่งรวมของสถานที่ท่องเที่ยว ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นได้มีคลินิกรักษาโรค เป็นที่รู้จักกันในนาม “คลินิกบาทเดียว” ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาจากกระทรวงสาธารณสุข กว่า 7 ปีที่คลินิกแห่งนี้เปิดให้บริการด้วยค่ารักษาเพียง 1 บาท อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งยอมสูญเสียเงินจำนวนมากมายไปกับคลินิกที่ไม่เคยทำกำไร เจาะใจ ขอต้อนรับ “คุณสุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์”  ผู้ก่อตั้งคลินิก

“ความคิดตรงนี้เกิดจากตอนที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจ ต้องเข้าห้องไอซียู แล้วหมอบอกว่าโอกาสรอดมีแค่ 50% ด้วยความที่เป็นห่วงท่าน เราก็เลยบนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าถ้าท่าน ออกจากห้องไอซียู เราจะเปิดคลินิกรักษาคน ใครก็ได้ ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก ฟรีหมด ตลอดชีวิต ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะเปิดคลินิกช่วยเหลือผู้ป่วย เพราะผมไม่ได้เป็นหมอ เริ่มจากต้องหาข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เขาช่วย แต่มันไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด ซึ่งเรื่องที่ถ้าไม่ได้เป็นหมอเขาก็ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อ แต่สามารถตั้งเป็นมูลนิธิได้ เราก็ทำด้วยเงินในกระเป๋าเราเอง ทำเท่าที่ทำได้ ตายเมื่อไหร่ค่อยหยุด จากนั้นกระทรวงฯ ก็ส่งคนมาดูแล้วก็ยอมอนุมัติให้เปิดใช้ชื่อว่าคลินิกเวชกรรมสุรัตน์ จากนั้นก็หาหมอมาทำงาน ซึ่งทางกระทรวงฯแนะนำให้ไปโพสต์ในเว็บไทยคลินิก ก็มีหมอติดต่อมาถามค่าแรงเป็นชั่วโมง แรกๆ รู้สึกว่าแพง แต่คิดอีกทีถ้าจะเอาถูกก็ต้องจ้างหมอฝึกหัดซึ่งอาจไม่มีประโยชน์เพราะในเมื่ออยากช่วยเหลือคนให้หายป่วยก็ควรให้เขาได้รักษากับหมอดีๆ ได้ยาดีๆ ไปเลย       

ผมถามตัวเองเสมอว่า ‘อะไรคือคำว่า…พอ…พอเพียง’ ที่ในหลวงได้พูดคำว่า ‘พอ’ คือเราพอหรือยัง ถ้าเมื่อไหร่ที่เรา ‘พอ’ เราจะมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่น ในประเทศนี้มีคนที่รวยกว่าผมเยอะ ที่เขาสามารถทำอะไรได้มากกว่าผม แต่ความสุขคนเราไม่เหมือนกัน ผมมีความสุขกับการให้ ได้เจอคำขอบคุณ มันเหมือนได้มาต่อกำลังใจของเรา  เราอยากแบ่งปันให้คนอื่น ช่วยให้เขามีความสุขทางกายและทางใจ”

ติดตามชมเรื่องราวชีวิตของเขาคนนี้ คุณสุรัตน์ วงศ์ชาญศิลป์ ผู้ก่อตั้งคลินิกบาทเดียวได้ใน วันพฤหัสบดี ที่ 24 เมษายนนี้  เวลา 22.30 น. ทางททบ.5 ติดตามความเคลื่อนไหวรายการได้ที่ www.facebook.com/Johjai