เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยด้านการเกษตรในจังหวัดภูเก็ตและพังงา จำนวน 5 โครงการวิจัย ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรชาวใต้นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ อย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในระยะเวลาอันใกล้
นอกจากนี้ สวก. ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ หัวหน้าโครงการวิจัย และสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปลากะพงขาวคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อร่วมรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ นักวิจัย และสื่อมวลชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า พันธกิจหลักของ สวก. มุ่งสนับสนุนกระบวนการสร้างความรู้ สร้างนักวิจัย และสร้างระบบวิจัย เพื่อตอบคำถามและเสนอทางเลือกให้สังคม ซึ่งครอบคลุมทั้งในระบบเศรษฐกิจภาคดั้งเดิมและสมัยใหม่ โดยใช้การบริหารงานวิจัยที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนสร้างกลไกการเชื่อมโยงระหว่างผลงานวิจัยและนักวิจัยกับผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วน คือ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และชุมชน รวมถึงการสร้าง “นักวิจัยอาชีพ” ที่มีความสามารถสูงและสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“โครงการวิจัยโดดเด่นที่เป็นไฮไลท์ในครั้งนี้คือ โครงการต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้นักวิจัยไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลากะรัง ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจแถบภาคใต้ ที่มีมูลค่าสูงได้สำเร็จ คือ ปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือและปลาหมอทะเล โดยสร้างฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงปลา โดยจะส่งเสริมให้เป็นอาหารอันลือชื่อที่เป็นจุดขายของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจของภาคใต้ได้อย่างดี และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องที่กำลังจะมีขึ้นราวปลายเดือนมิถุนายนนี้ของจังหวัดภูเก็ต คือ “งานเทศกาลอาหาร” งานเฟสติวัลใหญ่ประจำปี ด้วยการประกวดแข่งขันการทำเมนูอาหารจากปลาจุดฟ้าอันดามันในระดับจังหวัด เพื่อชิงถ้วยพระราชทานฯ เพื่อให้ประชาชนได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยจากปลาชนิดนี้ คาดว่าผลงานวิจัยนี้จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรชาวใต้ได้สร้างงาน สร้างเงินเป็นกอบเป็นกำและรู้จักปลากะรังจุดฟ้ามากยิ่งขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช กล่าว
สำหรับ 5 โครงการวิจัยครั้งนี้ทาง สวก. ได้ให้ทุนสนับสนุนและพัฒนางานวิจัยแก่ กรมประมง สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 2 มหาวิทยาลัยชื่อดัง คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยพะเยา โดยมีโครงการวิจัยดังนี้
1.“ปลากะรัง” แสนอร่อยและหากินยาก “อนาคตลู่ทางตลาดสดใสแน่”!! อาจพบง่ายในเมนูร้านอาหารและท้องตลาดทั่วไป นักวิจัยไทยสร้าง “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังจุดฟ้า ปลาเก๋าเสือและปลาหมอทะเล” เตรียมเผยแพร่ให้เกษตรกรชาวใต้นำไปสร้างอาชีพและรายได้ เน้นตลาดท่องเที่ยวและส่งออก พร้อมผลักดันเป็นจุดขายในแถบอันดามัน ที่ใครไปก็ต้องแวะชิม
ปลากะรัง มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า ปลาเก๋า หรือ ปลาตุ๊กแก เป็นปลาเศรษฐกิจหายากมาก มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 800-1,200 บาท มีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่นิยมบริโภคปลาที่มีคุณภาพสูง รสชาติดีและหายาก โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกปลากะรังไปยังจีนและฮ่องกงมากที่สุด แต่ปัญหาสำคัญคือเกษตรกรนิยมนำลูกปลากะรังจากธรรมชาติมาเลี้ยงในกระชัง ซึ่งมีปริมาณการเลี้ยงหรือปริมาณที่จับได้มีความไม่แน่นอน จึงไม่เพียงพอกับความต้องการ ทีมนักวิจัยไทยจึงหาทางเพาะเลี้ยงปลาชนิดนี้ โดยพัฒนาต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ 3 ชนิด ได้แก่ 1.ปลากะรังจุดฟ้า 2.ปลาเก๋าเสือ และ3.ปลาหมอทะเล โดยมุ่งปรับปรุงและพัฒนาเทคนิควิธีเดิม เพื่อให้ได้ลูกปลากะรังที่มีอัตรารอดตายสูงขึ้น เพื่อให้เป็น 4 ต้นแบบ คือ 1.ต้นแบบในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์เพศพร้อมเพาะพันธุ์ 2.ต้นแบบในการเพาะพันธุ์ปลาแต่ละชนิด 3.ต้นแบบในการอนุบาลลูกปลาเพิ่งฟัก 4.ต้นแบบในการอนุบาลลูกปลา ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายลูกปลาตามระยะเวลาของโครงการ 5 ปี คือสิงหาคม 2553 ถึงสิงหาคม 2558 คิดเป็นมูลค่า 21,840,000 บาท และสามารถขยายการเพาะเลี้ยงสำเร็จจนผลิตให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อได้แทนการจับจากธรรมชาติได้แล้ว ปัจจุบันเริ่มขยายผลนำร่องที่จังหวัดภูเก็ตและเตรียมขยายสู่พื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เป็นที่เป็นสินค้าประจำถิ่นที่มีศักยภาพสูง ทั้งในภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลักและตลาดส่งออก ช่วยสร้างอาชีพใหม่และรายได้สูงให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2. เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว เตรียมรับข่าวดี !! ครั้งแรกของทีมนักวิจัยไทยพิชิตความท้าทายใหม่สำเร็จ สามารถสร้าง “ต้นแบบฟาร์มเลี้ยงปลากะพงขาวความหนาแน่นสูงในระบบน้ำหมุนเวียน” หมดปัญหาเรื่องธรรมชาติและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ให้ผลผลิตต่ำ ช่วยสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน
ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศในขณะนี้ ในปี 2553 ทั่วประเทศสามารถผลิตปลาน้ำกร่อยได้ทั้งสิ้น 20,205 ตัน เป็นปลากะพงขาวถึง 17,145 ตันหรือประมาณ 85% ของผลผลิตปลาน้ำกร่อยทั้งหมด มีมูลค่าถึง 2,022 ล้านบาท เกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงในกระชังประมาณ 65% นอกจากนั้นคือเลี้ยงในบ่อ พื้นที่ที่นิยมเลี้ยงกันมากคือฉะเชิงเทรา ปัตตานีและสงขลา สาเหตุที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้เนื่องจากมีราคาดี เลี้ยงง่าย โตเร็ว จึงสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ภัยธรรมชาติ ต้นทุนการผลิต โรคสัตว์น้ำและอื่น ๆ อีกมากมาย ทีมนักวิจัยไทยจึงศึกษาหารูปแบบวิธีการเลี้ยงใหม่ ๆ ที่สามารถลดปัญหาเหล่านี้ ด้วยการ “สร้างต้นแบบฟาร์มเลี้ยงปลากะพงขาวความหนาแน่นสูงในระบบน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์” โจทย์ใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งกำลังจะกลายเป็นรูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำใหม่ล่าสุดรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถเลี้ยงปลาให้มีการเติบโตดี มีอัตราการรอดตายสูง เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตปลาได้ตามความต้องการของตลาด หากจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ต้นทุนต่ำลง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นระบบอัตโนมัติต่างๆ อาทิ ระบบการให้อาหาร ระบบควบคุมคุณภาพน้ำ ฯลฯ ช่วยลดแรงงานคนและทำให้การจัดการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดต้นทุนด้านพลังงานได้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงปลาน้ำจืดหรือปลาทะเลชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูงได้ อาทิ ปลาเก๋า ปลากะรังจุดฟ้าได้ โดยต้นแบบฟาร์มระบบนี้ กำลังอยู่ในช่วงการการพัฒนาเทคโนโลยี รอการเข้าสู่ในเชิงการค้าอีกไม่นานนี้
3.ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ยิ้มออก!! ไม่ต้องซื้อที่นอนนำเข้าแพงลิ่วอีกต่อไป ทีมนักวิจัยไทยสามารถผลิต “ที่นอนยางพาราป้องกันแผลกดทับ” สำเร็จ ปรับระดับความยืดหยุ่นได้ ถูกกว่าถึง 4 เท่า ช่วยคนผู้ป่วยรายได้น้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดี
แผลกดทับมักพบในผู้ป่วยที่นอนนิ่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต เจ็บป่วยรุนแรง กระดูกหัก ฯลฯ เมื่อเกิดแผลกดทับ ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา ดังนั้นหากป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ย่อมดีกว่า ทีมนักวิจัยไทยซึ่งเคยประสบความสำเร็จจากการพัฒนาวัสดุพอลิเมอร์เจลห่อหุ้มด้วยยางธรรมชาติเพื่อใช้เป็นวัสดุรองรับอวัยวะผู้ป่วยขณะผ่าตัด ที่มีราคาถูกกว่าต่างประเทศ มีการห่อหุ้มด้วยยางธรรมชาติ มีความทนทานสูง สามารถซ่อมแซมได้ง่ายตลอดอายุการใช้งาน ปัจจุบันได้จดสิทธิบัตรแล้วและเตรียมแผนการวางจำหน่าย คณะนักวิจัยได้ทำการต่อยอดงานวิจัยชิ้นดังกล่าวมาสู่ “การผลิตที่นอนพอลิเมอร์เจลห่อหุ้มด้วยยางพาราป้องกันแผลกดทับ” พร้อมศึกษาทั้งความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้งาน โดยที่นอนยางพารานี้ จะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มูลค่าสูง มีตลาดขนาดใหญ่ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่มีรายได้น้อยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยสามารถทำได้โดยใช้วัสดุรองรับบริเวณที่จะเกิดแรงกดสูง โดยวัสดุนั้นควรช่วยกระจายแรงกดหรือลดแรงกดที่อวัยวะบริเวณนั้นๆได้ดี หนึ่งในวัสดุที่มีคุณสมบัติ นี้คือ Viscoelastic elastomer และยางพารา ที่สามารถทำเป็นวัสดุที่มีความนิ่มและหนืดคล้าย Viscoelastic elastomer โดยใช้แทนกันได้ ในการผลิตที่นอน “พอลิเมอร์เจล” ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกึ่งของไหล สามารถปรับระดับความยืดหยุ่นหรือความนิ่มได้ โดยนำมาขึ้นรูปและห่อหุ้มด้วยยางพาราที่มีคุณสมบัติเป็น “อีลาสโตเมอร์” ที่ยืดได้และคืนสู่สภาพเดิมเมื่อมีการปล่อยแรง สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสะดวก และปลอดภัย และยังมีราคาถูกกว่าที่นอนที่นำเข้าจากต่างประเทศถึง 4 เท่า เป็นการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตยางพาราได้เป็นอย่างมาก
4. “กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ป้องกันได้ ทีมนักวิจัยไทยคิดค้นต้นแบบการป้องกันรักษาภาวะกระดูกพรุน ด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากกระดูกปลานิลป่นดัดแปลง ช่วยกันโรคกระดูกพรุนแบบประหยัดและอร่อยให้คนกลุ่มเสี่ยง
“กระดูกพรุน” คือภาวะที่ความหนาแน่นเนื้อกระดูกลดลง จากโครงสร้างของกระดูกที่เคยหนาแน่น ประสานกันเป็นโยงใยในการรับน้ำหนักได้ดีขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการโปร่งบางของโครงสร้างกระดูก ไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดีเท่าเดิมได้อีก และยังมีโอกาสเปราะหัก เกิดการบาดเจ็บได้ง่ายอีกด้วย สำหรับผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า เนื่องจากมีความหนาแน่นน้อยกว่า 30% และมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เพราะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนกะทันหัน พบมากในผู้ที่มีอายุเกินกว่า 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่มีหนทางในการรักษากระดูกพรุน มีเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูกไม่ให้เพิ่มขึ้น เช่น การใช้ฮอร์โมนทดแทน หรือการออกกำลังกายที่เกิดแรงกระแทกเพื่อสร้างกล้ามเนื้อข้อต่อ การทรงตัวและคงปริมาณมวลกระดูก ตลอดจน การกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ปลาทอดกรอบที่กินได้ทั้งตัว กระดูกอ่อน กุ้งแห้ง ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียว โดยเฉพาะผักตระกูลคะน้า ฯลฯ เป็นต้น
แคลเซียมเป็นมีความสำคัญต่อภาวะกระดูกพรุน เพราะช่วยเสริมสร้างกระดูกและโครงสร้างของร่างกาย ทีมนักวิจัยไทย ได้คิดค้นโครงการต้นแบบการป้องกันรักษาภาวะกระดูกพรุนด้วยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับประชาชนและผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการการศึกษาถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระดูกปลาป่น เปรียบเทียบกับแคลเซียมชนิดรับประทานขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ในการรักษาภาวะกระดูกพรุน เพื่อสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกระดูกปลานิลดัดแปลง ซึ่งจะให้ปลานิลป่นเป็นแหล่งของแคลเซียม ที่มีค่าแคลเซียมที่ปริมาณสูง ทานง่าย ราคาไม่แพง เพื่อไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์แคลเซียมสำเร็จรูปราคาแพงมาบริโภค และสามารถเลือกบริโภคได้ทันทีโดยไม่ต้องเติมแหล่งอาหารแคลเซียมลงไปอีก เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากแหล่งอาหารแคลเซียมอื่น ๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา พร้อมกับกับสร้างต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพด้วยการผลิตและกระจายบูรณาการสื่อสุขภาพ และการสื่อสารระยะไกลในพื้นที่พิเศษร่วมด้วยเพื่อคนไทยห่างไกลโรคกระดูกพรุน
5. “ระยะทางไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป” ทีมวิจัยไทยก้าวไปอีกขั้นด้วยระบบ “แพทย์ทางไกล” เทคโนโลยีด้านการแพทย์ในยุคศตวรรษที่ 21 แก้ปัญหาหมอมีจำกัด บริการไม่ทั่วถึง สามารถวินิจฉัยและวางแผนรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผู้ป่วยในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วถึง
สำหรับพื้นที่ห่างไกลในชนบท โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บริการสาธารณสุขเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก แต่มักให้บริการได้อย่างไม่ทั่วถึง จึงมีระบบการสนับสนุนทางการแพทย์ระยะไกล เกิดขึ้น ซึ่งเป็นระบบบริหารข้อมูลทางการแพทย์ที่จะทำให้ผู้รับการรักษามีโอกาสเข้าถึงแพทย์และระดับการรักษาที่ดีและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น บางกรณีสามารถเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น เป็นการ พัฒนาระบบสื่อสารแบบ WiFi ชนิดเคลื่อนย้ายบนเครือข่าย 3G สำหรับติดตั้งในรถพยาบาล พัฒนาระบบบริหารข้อมูลทางการแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพัฒนาระบบต้นแบบการปรึกษาทางไกล ระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ แพทย์กับแพทย์ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้สูงอายุ นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการสื่อสาร video conference แบบเวลาจริง โดยเชื่อมโยงเข้ากับการพัฒนาระบบ remote stethoscope แบบเวลาจริง การพัฒนาระบบบริหารข้อมูลทางการแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบ Web based application แสดงผลผ่าน Google Map การใช้งานบนเครื่อง Tablet และความสามารถการใช้งานแบบ off-line ได้ โดยจะทำการ Synchronize ข้อมูลโดยอัตโนมัติเมื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ท ชุดอุปกรณ์สื่อสาร WiFi-3G เคลื่อนที่สำหรับติดตั้งในรถพยาบาล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในรถเข้ากับอินเตอร์เน็ท ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทีมวิจัย ได้นำต้นแบบแพทย์ทางไกลทดสอบการใช้งานจริง และสาธิตการตรวจรักษาทางไกล ระหว่างโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์-นราธิวาสและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า-กรุงเทพ พร้อมกับทำการออกแบบ ประเมินและเลือกอุปกรณ์ WiFi-3G และทำการทดสอบ ติดตั้งใช้งานจริงในรถพยาบาลเคลื่อนที่ ปรากฏว่า สามารถใช้งานได้ดีกว่า สะดวกกว่าการใช้งานระบบเดิม พร้อมกับทำการออกแบบ พัฒนาระบบบริหารข้อมูลทางการแพทย์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อใช้ในการวางแผนและจัดการ ประสานงานระหว่างทีมแพทย์แบบ Web based application และทดสอบการใช้งานอีกด้วย
สำหรับ 5 โครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้น นับเป็นโครงการวิจัยที่สามารถผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับประเทศต่อไป ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้นของโครงการต่างๆ ดังนี้
1.“ปลากะรัง” แสนอร่อยและหากินยาก “อนาคตลู่ทางตลาดสดใสแน่”!! อีกไม่นานอาจพบในเมนูร้านอาหารและท้องตลาดทั่วไป เป็นโครงการวิจัยเรื่อง “ต้นแบบการผลิตพันธุ์ปลากะรังที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ โดยกรมประมง” โดย ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง กรมประมง
2.เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวเตรียมรับข่าวดี !! ครั้งแรกของทีมนักวิจัยไทยพิชิตความท้าทายใหม่สำเร็จ เป็นโครงการ “การพัฒนาฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงปลากะพงขาวความหนาแน่นสูงในระบบน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์” โดยนายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
3.ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ยิ้มออก!! ไม่ต้องลงทุนซื้อที่นอนนำเข้าแพงลิบลิ่วอีกต่อไป เป็นโครงการ “การเตรียม การทดสอบ และการประยุกต์ใช้งานของที่นอนพอลิเมอร์เจลห่อหุ้มด้วยยางพาราป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับตัวได้” โดย ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
4.“กระดูกพรุน” ภัยเงียบที่ป้องกันได้ เป็นโครงการ“การศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระดูกปลาป่นเปรียบเทียบกับแคลเซียมชนิดรับประทานในการรักษาภาวะกระดูกพรุนสำหรับประชาชนและผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย พลตรี นพ.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี เสนาธิการ ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก
5.“ระยะทางไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป” ทีมวิจัยไทยก้าวไปอีกขั้นด้วยระบบ “แพทย์ทางไกล” เป็น “โครงการวิจัยระบบสนับสนุนการดูแลสุขภาพผ่านการสื่อสารระยะไกล” โดย รศ. ดร.สินชัย กมลภิวงศ์, รศ. ทศพร กมลภิวงศ์, นายธัชชัย เอ้งฉ้วน, นายสุธน แซ่ว่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.อ., น.พ. โชคชัย ขวัญพิชิต หัวหน้าศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศ.น.พ. วีระพล จันทร์ดียิ่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
สำหรับผู้สนใจโครงการวิจัยต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – สวก. ที่หมายเลข 02-579-7435 แฟกซ์ 0-2579-8413 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.arda.or.th