กระทรวงอุตสาหกรรม พัฒนามาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับโรงสีข้าวไทย บูรณาการโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก ยกระดับข้าวไทยให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร สร้างการยอมรับในระดับสากล หวังเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในอาเซียน เริ่มใช้มาตรฐาน มอก.2581-2556 กับโรงสีที่มีความพร้อม โดย สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ผสานระบบ ISO 9000 กับ GMP เข้าด้วยกัน มอบสถาบันอาหารดำเนินการ คาดระยะแรกหนุนโรงสีต้นแบบนำร่องเข้าร่วม 20 โรง ทั้งยังคงเดินหน้าพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยรายงานเรื่อง “ยกระดับข้าวไทยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค” ที่จัดทำโดย ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ถึงบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรรมในเรื่องข้าวในปี 2557 ว่ามีแนวทางการยกระดับมาตรฐานข้าวสารไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ทั้งนี้เป็นการบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่มาตรฐานอาเซียน โดยที่ประเทศไทยมีความต้องการจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน ด้วยมีความพร้อมในด้านการผลิต เทคโนโลยี การขนส่ง และการบริการทางการเงินที่มีความทันสมัย และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวในอาเซียน เพื่อออกไปสู่ตลาดค้าข้าวโลกด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในการพัฒนาการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยได้มีการพิจารณาทบทวนกฎระเบียบมาตรฐานด้านคุณภาพความปลอดภัยของสินค้าข้าว ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก โรงสี สถานที่บรรจุ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จึงจัดทำมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับโรงสีข้าว หรือ มอก.2581-2556 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผสมผสานระหว่างมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9000 และหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ Good Manufacturing Practice (GMP) โดยได้ประกาศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ได้แก่ กรมการข้าว สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) และสถาบันอาหาร โดยได้เริ่มดำเนินการนำร่องตั้งแต่ต้นปี 2557 มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้โรงสีข้าวโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีความพร้อมที่จะพัฒนามาตรฐานระบบบริหารงานและการผลิตให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นในปี 2557 โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงสีข้าวทั่วประเทศรวม 38,437 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงสีขนาดกลางและขนาดเล็ก
“สถาบันอาหาร ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้นำ มอก. 2581-2556 โรงสีข้าวมาดำเนินการ สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการโรงสีกลุ่มเป้าหมาย โดยรับสมัครโรงสีข้าวเพื่อนำร่องดำเนินการ ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในการคัดเลือกโรงสีที่มีความพร้อมเป็นกลุ่มนำร่องเข้าโครงการระยะแรกเพื่อสร้างโรงสีต้นแบบขึ้นมาในแต่ละจังหวัด จากนั้นจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโรงสีอื่นๆให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานในลำดับต่อไป ขณะเดียวกันก็ใช้โอกาสนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับโรงสีข้าวชุมชน และโรงสีข้าวขนาดเล็กในด้านการบริหารจัดการ และการผลิต
ซึ่งแนวทางการสร้างมาตรฐานระบบบริหารจัดการและการผลิตให้แก่โรงสี และการยกระดับการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวนั้น นับเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่การเป็นครัวคุณภาพของโลก ขณะเดียวกันยังช่วยเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) และขยายตลาดค้าข้าวของไทยออกไปสู่ตลาดค้าข้าวโลกด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2556 ไทยส่งออกข้าว 6.6 ล้านตัน ด้วยมูลค่าราว 133,000 ล้านบาท และในป 2557 นี้ ข้อมูลจากสมาคมผูสงออกขาวไทยคาดหมายปริมาณสงออกขาวอยู่ที่ 9.0 ลานตัน คิดเปนมูลคา 4,750 ลานเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 150,000 ลานบาท” นายเพ็ชร กล่าว
สำหรับการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สถาบันอาหารก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555-2557 ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวคุณภาพของโลก(Thailand Food Quality to the World) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการและจะมีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้