เรื่องย่อ
Boyhood ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในช่วงระยะเวลาสั้นระหว่างปี 2002 – 2013 เป็นประสบการณ์ภาพยนตร์แปลกใหม่ ที่บันทึกช่วงเวลา 12 ปีในชีวิตครอบครัวหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องคือเมสัน ผู้ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางอารมณ์ผ่านช่วงเวลาหลายปี จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่
เกี่ยวกับภาพยนตร์
“เวลาคือธารน้ำที่พัดพาผมไปด้วย แต่ผมคือธารน้ำ” – จอร์จ หลุยส์ บอร์เจส
BOYHOOD โดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เป็นดรามาสมมติ ที่ใช้นักแสดงกลุ่มเดิมตลอดช่วงระยะเวลา 12 ปี ได้นำผู้ชมร่วมการเดินทางที่ไม่มีใครเหมือน ที่ทั้งยิ่งใหญ่แต่ก็ลึกซึ้ง ผ่านความมีชีวิตชีวาของวัยเด็ก การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวสมัยใหม่และการไหลเวียนของกาลเวลา
ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตาม เมสัน (เอลลาร์ โคลเทรน) เด็กชายวัย 6 ขวบ ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่มีความพลิกผันอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงชีวิตของเรา ผ่านทางวังวนที่เราคุ้นเคยกันดีของการย้ายบ้านของครอบครัว เรื่องทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ชีวิตคู่ที่พังพินาศ การแต่งงานใหม่ โรงเรียนใหม่ รักแรก อกหัก ช่วงเวลาดีๆ ช่วงเวลาน่ากลัวและเรื่องราวที่ผสมผสานระหว่างหัวใจสลายและความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คาดเดาไม่ได้ ในตอนที่ช่วงเวลาหนึ่งร้อยเรียงต่อเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง ผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเหตุการณ์ที่ขัดเกลาเราในตอนที่เราโตขึ้น และธรรมชาติชีวิตเราที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในตอนที่เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมสัน เด็กชายช่างฝัน ที่เผชิญหน้ากับความวุ่นวาย โอลิเวีย(แพทริเซีย อาร์เควทท์) แม่ผู้เลี้ยงเขามาคนเดียวอย่างเหนื่อยยาก ตัดสินใจพาเขาและซาแมนธา (ลอเรไล ลิงค์เลเตอร์) พี่สาวของเขาย้ายไปฮูสตัน ในตอนที่เมสัน ซีเนียร์ (อีธาน ฮอว์ค) พ่อผู้ห่างหายไปนานของพวกเขากลับจากอลาสก้ามาสู่ชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง นั่นเองคือจุดเริ่มต้นกระแสการดำเนินของชีวิตที่ไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ดี ท่ามกลางคลื่นถาโถมของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เด็กผู้หญิง ครู หัวโจก อันตราย ความปรารถนา แรงสร้างสรรค์ เมสันก็เริ่มจะเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง
ไอเอฟซี ฟิล์มส์ ภูมิใจเสนอ BOYHOOD ผลงานสร้างโดยเดอทัวร์ ฟิล์ม เขียนบทและกำกับโดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (BEFORE MIDNIGHT, BERNIE) และนำแสดงโดยแพทริเซีย อาร์เควทท์, อีธาน ฮอว์ค, เอลลาร์ โคลเทรนและลอเรไล ลิงค์เลเตอร์ โดยมีริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์, แคธลีน ซุทเธอร์แลนด์, โจนาธาน เซห์ริงและจอห์น สลอส อำนวยการสร้าง ผู้กำกับภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้คือลี แดเนียลและเชน เคลลี ผู้ออกแบบงานสร้างคือร็อดนีย์ เบ็คเกอร์และลำดับภาพโดยแซนดรา อาแดร์
การเล่นกับเวลา
ภาพยนตร์เป็นเรื่องของการเล่นกับเวลาเสมอมา ทั้งความพยายามที่จะฉกฉวยช่วงเวลาที่ไหลผ่านชีวิตประจำวันของเราอย่างไม่หยุดยั้ง และกลั่นกรองมันจนเหลือแต่ช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นมุมมองอะไรบางอย่าง หรือการดำดิ่งเข้าสู่มิติที่ลึกลับราวห้วงฝัน ที่ซึ่งเวลาถูกจับใส่เครื่องปั่น ถึงกระนั้น ด้วยความจำเป็น ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องสมมติเกือบทั้งหมด จะถูกสร้างขึ้นภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์
แต่ดรามาร่วมสมัยจะถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่านั้นได้หรือเปล่า อาจจะเป็นภายในช่วงเวลาที่เด็กผู้ชายตัวน้อยคนหนึ่งจะเติบโต ปีแล้วปีเล่า การเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่า ไปสู่การเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งก็ได้
นั่นเป็นคำถามที่ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ตัดสินใจจะตอบในตอนที่เขาเริ่มต้นสร้าง BOYHOOD เมื่อ 12 ปีก่อน มันเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ผู้กำกับผู้นี้ต้องการจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับอารมณ์ส่วนตัวหนึ่งเดียวและประสบการณ์ที่ยากจะอธิบายของวัยเด็ก แต่วัยเด็กก็เป็นประเด็นที่กว้างขวางเหลือเกินจนเขาไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี และเขาก็เกิดปิ๊งไอเดียหนึ่งขึ้นมา
“ทำไมไม่นำเสนอมันทั้งหมดล่ะ” เขาจำได้ว่าถามตัวเองแบบนั้น
ลิงค์เลเตอร์รู้ว่ามันมีเหตุผลมากมายว่าทำไมเรื่องแบบนั้นถึงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์มากๆ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยทางการเงิน ไม่มีนักแสดง และทีมงาน หรือแม้แต่ค่ายหนังไหน จะสามารถทุ่มเทให้กับงานๆ เดียวเป็นระยะเวลานานๆ แบบไม่แน่นอนได้ และมันก็ค้านกับลักษณะการทำงานทุกอย่างของแวดวงภาพยนตร์สมัยใหม่
“มันเหมือนการเชื่อในอนาคตน่ะครับ” ลิงค์เลเตอร์รำพึง “ความพยายามสร้างงานศิลป์ส่วนใหญ่พยายามจะยึดเหนี่ยวอำนาจควบคุมบางอย่างเอาไว้ แต่มีองค์ประกอบหลายอย่างของหนังเรื่องนี้ที่จะอยู่นอกเหนืออำนาจควบคุมของทุกคน จะมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์เกิดขึ้น และเราก็ต้องยอมรับมัน ผมพร้อมที่จะยอมรับการผสมผสานระหว่างไอเดียเริ่มแรกที่ผมมีสำหรับหนังเรื่องนี้และความจริงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักแสดงในระหว่างนั้น ในแง่หนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นการร่วมมือกับเวลาเอง และเวลาก็สามารถเป็นผู้ร่วมมือที่ดีได้ แต่ก็ไม่ใช่ผู้ร่วมมือที่คาดเดาได้เสมอหรอกนะครับ”
แทนที่จะใช้บทภาพยนตร์ตามแบบฉบับ ลิงค์เลเตอร์เริ่มต้นด้วยสิ่งที่คล้ายคลึงกับแบบพิมพ์เขียวโครงสร้าง และสิ่งนี้ก็สามารถทำให้เขาได้รับการสนับสนุนระยะยาวจากไอเอฟซี ฟิล์มส์ ผู้ที่ยึดมั่นกับโปรเจ็กต์ตลอดการถ่ายทำที่ยาวนานหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้นได้ หลังจากนั้น เขาก็เริ่มต้นทาบทามทีมงานและทีมนักแสดงที่เป็นไปได้ และอธิบายให้พวกเขาฟังว่าตารางการถ่ายทำที่ไม่ปกติจะเป็นไปอย่างไร ในทุกปี พวกเขาจะรวมตัวกันทุกเมื่อที่พวกเขาสามารถจัดแจงตารางการทำงานที่วุ่นวายของพวกเขาให้ลงตัวสำหรับการถ่ายทำ 3-4 วัน หลังจากนั้น ลิงค์เลเตอร์ก็จะเขียนบทและลำดับภาพ (ร่วมกับเพื่อนผู้ร่วมงานมานานอย่างแซนดรา อาแดร์) ไประหว่างนั้นด้วย ไม่มีใครนอกเหนือจากผู้เกี่ยวข้องจะรับรู้ถึงสิ่งที่พวกเขาได้สร้างขึ้นตลอด 144 เดือน และหลังจากการถ่ายทำครั้งสุดท้ายเท่านั้นที่มุมมองที่เปิดกว้างของภาพยนตร์เรื่องนี้จะถูกนำเสนอสู่สายตาผู้ชมได้
ลิงค์เลเตอร์ซาบซึ้งที่ได้พบว่าผู้คนจำนวนมากพร้อมจะเสี่ยงไปกับเขา “มันเป็นเรื่องบ้ามากๆ ที่ไอเอฟซีจะมาทุ่มเทให้กับเรื่องนี้และผมก็รู้ว่าโจนาธาน เซห์นริง [ประธานไอเอฟซี ฟิล์มส์] สู้เพื่อมันจริงๆ” เขากล่าว “เขาต้องอธิบายในแต่ละปีว่าค่าใช้จ่ายนี้เป็นค่าอะไร และทำไมถึงจะไม่มีอะไรโชว์ไปอีกหลายปี ผมโชคดีจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้น หนังเรื่องนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ”
ความทุ่มเทที่นักแสดงใน BOYHOOD จำเป็นต้องมีเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์โทรทัศน์ตามปกติโดยสิ้นเชิง ในด้านโลจิสติกแล้ว พวกเขาจะต้องจัดการกับตารางการทำงานของพวกเขาเพื่อหาเวลาถ่ายทำในอีก 12 ปีข้างหน้า แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น พวกเขาจะต้องเตรียมพร้อมที่จะสำรวจตัวละครของพวกเขา ไม่ใช่แค่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เข้มข้นเท่านั้น แต่มันยังต้องครอบคลุมระยะเวลาที่ยาวนานมากๆ เกินกว่าชีวิตของตัวละครในละครเวที ภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ส่วนใหญ่ โดยพวกเขาจะต้องล้วงลึกเข้าไปในตัวละครมากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนที่พวกเขากลับไปรับบทเดิมอีกครั้งในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในแต่ละปี
“มันเป็นกระบวนการที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริงๆ ค่ะ” แพทริเซีย อาร์เควทท์ ผู้รับบท โอลิเวีย คุณแม่ผู้เป็นกาวประสานครอบครัวนี้ไว้ด้วยกัน ซึ่งบางครั้งก็ด้วยความเข้มงวดเกินพอดี กล่าว
“ไม่มีทีมงานหรือนักแสดงคนไหนเคยทำงานแบบนี้เลยครับ” ลิงค์เลเตอร์ยอมรับ “ในวงการนี้ ไม่มีสัญญา 12 ปีหรอก มันก็เลยเป็นการขอให้คนยอมเสี่ยงด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจและความมุ่งมั่นน่ะครับ”
มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเชื่อใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความอดทน การมองระยะยาว ซึ่งไม่ใช่หลักการทำงานตามปกติของฮอลลีวูดเลย มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะอธิบายว่าเขากำลังทำอะไร เพราะลิงค์เลเตอร์ก็ค่อนข้างปิดปากเงียบเรื่องนี้ แม้กระทั่งในตอนที่เขาสร้างภาพยนตร์เรื่องอื่นก็ตาม
ในตอนที่การถ่ายทำเริ่มต้นในปี 2002 ลิงค์เลเตอร์กลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่โดดเด่นที่สุดในแวดวงภาพยนตร์อเมริกันไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยผลงานภาพยนตร์อินดียอดนิยมอย่าง SLACKER และ DAZED AND CONFUSED รวมถึงภาพยนตร์อนิเมชันยอดนิยมอย่าง WAKING LIFE และภาพยนตร์รางวัล BEFORE SUNRISE ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เล่นกับรูปแบบอย่างงดงามและกลายเป็นเรื่องราวส่วนตัวสำหรับผู้ชม แต่ผลงานของเขาก็ยิ่งเพิ่มเติมความหลากหลายมากขึ้นตลอด 12 ปีหลังจากนั้น ด้วยผลงานภาพยนตร์ที่มีทั้งคอเมดีกระแสหลักอย่าง SCHOOL OF ROCK และคอเมดีตลกร้ายที่ได้รับรางวัล BERNIE นอกจากนี้ เขายังมีผลงานเป็นไตรภาพดังที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างสูง BEFORE SUNSET, BEFORE MIDNIGHT และ BEFORE SUNRISE ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของแฟรนไชส์ BEFORE
นอกจากนี้ แฟรนไชส์ BEFORE ยังได้สำรวจผลกระทบที่เวลามีต่อชีวิตประจำวัน ด้วยการไปเยือนคู่รักคู่หนึ่งในสามช่วงเวลาในความสัมพันธ์ที่ดำเนินต่อเนื่องของพวกเขา แต่มันก็เป็นอะไรที่แตกต่างจาก BOYHOOD มากๆ “เห็นได้ชัดว่าเวลาเป็นองค์ประกอบสำคัญในแฟรนไชส์ BEFORE ครับ” ลิงค์เลเตอร์ตั้งข้อสังเกต “แต่พวกมันเป็นช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่นี่เป็นการดึงเอาช่วงเวลาจากระยะเวลาที่ยาวนาน และนำเสนอโดยตรงเลยว่าเวลาส่งผลต่อเราอย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยยังไง” แน่นอนว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเวลาคือมันมาพร้อมกับโอกาสและความไม่แน่นอน ดังนั้น มันก็เลยมีความเสี่ยงมหาศาล “มันมีความกลัวตามปกติ หรือเรื่องทำนองว่า ‘แล้วถ้าเอลลาร์ย้ายไปออสเตรเลีย หรืออะไรทำนองนั้น’ น่ะครับ” ลิงค์เลเตอร์รำพึง “จนถึงตอนสุดท้าย ผมยังคิดด้วยว่า ‘อีธาน ถ้าผมตาย คุณก็ต้องทำหนังเรื่องนี้ต่อไปให้จบ’ น่ะครับ”
แต่เวลายังเอื้อให้ลิงค์เลเตอร์เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย นั่นคือความสามารถที่จะครุ่นคำนึงถึงทุกองค์ประกอบในภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ยาวนานในชีวิตของเขาเอง “มันเหลือเชื่อมากที่มีเวลาเหลือเฟือแบบนี้น่ะครับ” เขาให้ความเห็น “มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับผมมาก่อน และผมก็รู้ว่ามันเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง”
เด็กชาย
หนึ่งในสิ่งสำคัญช่วงเริ่มแรกของงานสร้าง BOYHOOD คือการหาเด็กชายตัวเอกของเรื่อง “เรามองหาคนที่จะมาร่วมงานกับเรา 12 ปี ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เด็กสามารถทำความเข้าใจได้ตอนอายุ 6-7 ขวบ” ลิงค์เลเตอร์ตั้งข้อสังเกต “มันก็เลยเป็นงานที่บ้ามากๆ ผมจะมองไปที่พวกเด็กๆ แล้วสงสัยว่า ‘เธอจะเป็นใครตอนที่เธอโตขึ้น แล้วชีวิตของเธอจะเป็นยังไงนะ’ น่ะครับ”
เขาพบคำตอบโดยสัญชาตญาณในตอนที่เขาได้ออดิชัน เอลลาร์ โคลเทรน หนูน้อยชาวออสติน “ผมรู้สึกว่าเอลลาร์จะต้องเป็นศิลปินแขนงไหนซักอย่างแม้ตอนที่เขายังอายุเท่านั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพ่อแม่ของเขาก็เป็นศิลปินทั้งคู่ แต่มันยังมีคุณสมบัติบางอย่างของเขาที่โดดเด่นออกมา” ลิงค์เลเตอร์เล่า “และผมก็รู้สึกว่าโลกที่เขาเติบโตขึ้นจะช่วยในสิ่งที่เราทำอยู่ด้วย มันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเอลลาร์ฉลาดและน่าสนใจขนาดไหน และผมก็รู้สึกยินดีกับการได้เห็นชีวิตของเขาดำเนินไป เขากลายเป็นผู้ร่วมงานที่มีส่วนร่วมมากขึ้นทุกปีๆ ครับ”
สำหรับโคลเทรน การเป็นส่วนหนึ่งของ BOYHOOD หมายถึงการมีวัยเด็กที่แตกต่างจากคนอื่น ที่ท้ายที่สุดแล้วก็จะเปิดเผยบนจอเงินอย่างหมดเปลือก แต่ในตอนเริ่มต้น เขาไม่รู้เลยว่าเขามาแสดงเพื่ออะไรหรือมันมีความหมายอย่างไร “ผมไม่สามารถนึกถึงมันได้เลยครับ” เขาอธิบาย “12 ปีเป็นช่วงเวลาที่มากกว่าช่วงชีวิตผมในตอนที่เราเริ่มต้นกันเป็น 2 เท่าแล้ว ตอนนี้ การนึกถึงเรื่องอีก 12 ปีข้างหน้ายังเป็นเรื่องยากเลยสำหรับผม หรือตอนไหนๆ ก็ตาม แต่ในตอนนั้น มันเป็นไปไม่ได้เลย มันต้องผ่านไปหลายปีผมถึงจะเริ่มตระหนักว่า หนังเรื่องนี้เป็นแบบไหนหรือทำไมมันถึงแตกต่างขนาดนี้”
ในขณะเดียวกัน โคลเทรนได้มองย้อนกลับไปในตอนนี้ และรู้สึกยินดีที่เขาสามารถทำงานในช่วงเวลาหลายปีนั้นภายในพื้นที่ส่วนตัวที่คนภายนอกไม่เห็น “ผมซาบซึ้งมากๆ ที่สามารถถ่วงเวลาการได้เห็นตัวเองบนหน้าจอและการมีคนอื่นเห็นผมออกไปได้” เขาให้ความเห็น “มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าตอนนี้ ผมพร้อมกับมันมากกว่าตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานนี้น่ะครับ”
แม้กระทั่งความทรงจำที่เขามีต่อการถ่ายทำช่วงเริ่มแรกก็ยังมีความคลุมเครือแบบวัยเด็กอยู่ ทำให้เขามีความทรงจำที่ชัดเจนเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น เขาเล่าว่าในตอนแรก เขาได้รับคำแนะนำจากลิงค์เลเตอร์แบบตรงๆ และต้องทำการท่องจำหลายเรื่อง แต่พอเขาโตขึ้นพร้อมๆ กับเมสัน กระบวนการก็ค่อยๆ เปิดกว้าง เขาเริ่มใช้สัญชาตญาณเชิงสร้างสรรค์ของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจมากขึ้นเรื่อยๆ”
“ปกติแล้ว ผมกับริคจะเริ่มต้นปีใหม่กันด้วยการคุยกันว่าชีวิตผมตอนนี้เป็นยังไงบ้าง แล้วก็ใส่เรื่องราวพวกนั้นเข้าไปในตัวละครครับ” เขาเล่า “พอเวลาผ่านไป ชีวิตของผมและชีวิตของตัวละครก็เริ่มประสานเข้าด้วยกัน ผมกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเมสันขึ้นมา แน่นอนว่าตอนเป็นเด็ก ทุกอย่างให้ความรู้สึกที่เรียบง่ายกว่านี้ แต่ตอนนี้ มันมีอะไรมากมายที่ผมเห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวนี้มันซับซ้อนและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากแค่ไหน ผมคิดว่าในหลายแง่มุมแล้ว การเป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ทำให้ผมเกิดมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผมกับแม่ของผม ซึ่งก็ซับซ้อนเหมือนกับของเมสันนั่นแหละครับ”
ลิงค์เลเตอร์กล่าวว่า ในหลายๆ แง่มุมแล้ว โคลเทรนพัฒนามาไกลเกินกว่าที่ผมคิดว่าเมสันจะเป็น แต่โคลเทรนก็ให้ความเห็นว่า “มีหลายครั้ง ที่ผมจะแสดงเป็นตัวเองออกไปบ้างนิดๆ แต่ผมคิดว่าในแง่หนึ่งแล้ว ความคิดอ่านของผมจะนิ่งสงบกว่า ส่วนของเมสันจะเปิดกว้างกว่าครับ”
การได้อยู่กับทีมงานและนักแสดงชุดเดิมทุกปีในช่วงเวลาเกือบตลอดชีวิตเขาทำให้โคลเทรนเหมือนมีครอบครัวที่สอง “แม้กระทั่งตอนนี้ ผมก็ยังมองว่าริค ลอเรไลและคนอื่นๆ จากกองถ่ายเป็นส่วนหนึ่งในเพื่อนสนิทที่สุดของผม” เขากล่าว “ผมคิดว่าความสัมพันธ์มากมายในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติมากๆ เพราะพวกเราก็เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกันครับ”
การหานักแสดงสำหรับบท แซม พี่สาวของเมสัน เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเพราะลิงค์เลเตอร์รู้จักคนใกล้ตัวที่อยากจะรับบทนี้อยู่แล้ว เธอคือลอเรไล ลูกสาวของเขาที่ตอนนั้นอายุ 9 ขวบนั่นเอง “เธอถึงช่วงอายุที่เธอจะร้องเพลง เต้นรำ กล้าแสดงออก และตอนนั้น เธอก็อยากจะแสดงจริงๆ” เขาเล่า “มันเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลด้วยเพราะอย่างน้อย ผมก็สามารถควบคุมคิวของเธอได้”
อย่างไรก็ดี ลิงค์เลเตอร์ก็คาดเดาไม่ได้ว่าลูกสาวของเขาจะเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเธอที่มีต่อโปรเจ็กต์นี้ ในช่วงเวลาหลังจากนั้น “พอถ่ายทำไปได้สองสามปี เธอก็เริ่มสนใจศิลปะวิชวลมากขึ้น ซึ่งเธอก็มีพรสวรรค์มาก และสนใจเรื่องการแสดงน้อยลง ถึงจุดหนึ่ง ในตอนที่เธอไม่อยากจะแต่งตัวในแบบหนึ่ง เธอก็ถามผมว่า ‘ให้ตัวละครของหนูตายได้มั้ย’ น่ะครับ” เขากล่าวกลั้วหัวเราะ “ในหลายๆ แง่มุม ลอเรไลไม่เหมือนแซมเลย แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็มีความหมายที่แตกต่างออกไปสำหรับเธอในช่วงเวลาต่างๆ ผมคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นศิลปินในตัวเธอก็ชื่นชมสโคปของหนังเรื่องนี้ที่เธอได้แสดง แม้ว่ามันจะน่าอึดอัดในบางครั้งก็ตาม”
สายสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างลอเรไลและเอลลาร์ก็เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งก็สะท้อนถึงพัฒนาการละเอียดอ่อนที่มักเกิดขึ้นกับผู้เป็นพี่น้อง “พี่สาวและน้องชายจะมีความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัดในตอนเป็นเด็ก และตอนเริ่มต้น เราก็เป็นแบบนั้น เพราะตอนแรก เราก็จะรู้สึกแปลกแยกต่อกัน แล้วมันก็มีความรู้สึกของการเป็นปรปักษ์กันด้วย แต่พอเราโตขึ้น มันก็เปลี่ยนแปลงไปมาก” โคลเทรนอธิบาย “ทุกวันนี้ ผมเห็นคุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลอเรไลเพราะเธอเป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์แปลกประหลาดในการโตมากับหนังเรื่องนี้เหมือนผม และเข้าใจว่ามันเป็นยังไง ในการก้าวผ่านเรื่องนี้และออกมาที่ปลายอีกด้านหนึ่ง การมีเธอไว้คุยด้วยเป็นเรื่องวิเศษสุดครับ”
สำหรับแพทริเซีย อาร์เควทท์ การร่วมงานกับทั้งเอลลาร์และลอเรไลทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ “ฉันพูดได้ไม่จบเลยว่าพวกเขายอดเยี่ยมแค่ไหน” เธอบอก “มันเจ๋งมากที่ได้เห็นพวกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและงดงามตรงหน้าพวกเราน่ะค่ะ”
BOYHOOD ถ่ายทอดมุมมองของผู้เป็นแม่ด้วยเช่นกัน ในตอนที่มีการนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกขณะที่เมสันเริ่มต้นจะแสดงความปีกกล้าขาแข็งของตัวเอง สำหรับบท โอลิเวีย ที่เริ่มต้นจากการเป็นคุณแม่ลูกติด ผู้ต้องดิ้นรนกับชีวิต แต่ก็บังคับตัวเองให้กลายเป็นครูที่ประสบความสำเร็จและแม่ของเด็กๆ ที่น่าทึ่งสองคน ลิงค์เลเตอร์เลือกแพทริเซีย อาร์เควทท์ อาร์เควทท์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลลูกโลกทองคำจากการแสดงในซีรีส์ “Medium” และเพิ่งได้แสดงบทแซลลี วี้ทในซีรีส์ดังทางเอชบีโอเรื่อง “Boardwalk Empire” เป็นที่รู้จักจากการแสดงที่น่าจดจำในภาพยนตร์อีกหลายเรื่องเช่น ED WOOD โดยทิม เบอร์ตันและ TRUE ROMANCE โดยโทนี สก็อตด้วยเช่นกัน (หมายเหตุ: เราเชื่อว่าแพทริเซียได้รับรางวัลเอ็มมีจากบทใน “Medium”ด้วย)
“ตอนที่ริคโทรหา ฉันตื่นเต้นมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ฉันจำได้ว่าเขาบอกฉันว่า ‘คุณจะทำอะไรในอีก 12 ปี’ ซึ่งเป็นคำเชิญชวนที่วิเศษที่สุด” อาร์เควทท์กล่าวกลั้วหัวเราะ “มันไม่มีบท ไม่ใช่หนังที่คุณจะสามารถจัดประเภทได้ง่ายๆ แต่ไอเดียของเขาก็มหัศจรรย์มากๆ ไม่เคยมีใครทำอะไรแบบนี้มาก่อน ฉันก็เลยคิดว่าฉันน่าจะหาวิธีทำให้มันเวิร์คกับตารางการทำงานของฉันในอีก 12 ปีข้างหน้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การตอบตกลงเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดสำหรับฉันค่ะ”
ลิงค์เลเตอร์ไม่เคยร่วมงานกับอาร์เควทท์มาก่อนและเคยพบเธอแค่ครั้งเดียว แต่เขาก็กล่าวว่านับตั้งแต่การได้คุยกันครั้งแรก เขาก็รู้ว่าเธอจะเหมาะกับบทนี้ “ผมชอบการที่เธอเองก็เป็นแม่คนตั้งแต่ยังสาวเพราะมันสำคัญต่อตัวละครตัวนี้มาก” เขากล่าว “เราได้ร่วมงานกันทางโทรศัพท์ คุยกันถึงแม่ของเราเอง ว่าพวกเธอเป็นยังไง ตอนที่เราโตขึ้น และเธอก็มีเรื่องพูดถึงการเป็นแม่คนเยอะเหลือเกินครับ”
“แพทริเซียเป็นศิลปินจริงๆ และเธอก็สวมบทนี้ได้อย่างไม่เกรงกลัวอะไรจริงๆ” เขากล่าวต่อ “เธอไม่รังเกียจที่จะดำดิ่งเข้าไปในความคลุมเครือของโอลิเวีย เธอไหลลื่นไปกับมัน โอลิเวียมีข้อบกพร้อง และบางครั้ง เธอก็ถูกมองได้ว่าทำตัวเฉยๆ แต่ผมก็มองว่าเธอเป็นแม่ที่กล้าหาญ เป็นผู้หญิงที่พยายามจะรักษาสมดุลระหว่างสิ่งที่เธอรัก แต่ก็ทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลูกๆ ของเธอด้วยครับ”
อาร์เควทท์กล่าวว่า เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกไม่กลัวกับการร่วมงานเรื่องนี้คือความไว้วางใจที่เธอมีต่อลิงค์เลเตอร์ แม้ว่านี่จะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ร่วมงานกัน แต่เธอก็รู้สึกได้ในทันทีว่ามันจะเป็นการร่วมงานกันเชิงสร้างสรรค์ที่ผลักดันคนๆ หนึ่งให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่งได้ “วิธีของริคคือการทำตัวนิ่งสงบ ให้การสนับสนุน และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน” เธอตั้งข้อสังเกต “ฉันรู้สึกเหลือเชื่อมากที่เขาไม่เคยมาพร้อมกับความคิดในใจว่าจะสร้างหนังแบบหนึ่งๆ หรือยอมให้สิ่งที่เราทำอยู่ถูกลดค่าลง เขาทำตามสัญชาตญาณของตัวเองจริงๆ และเปิดกว้างต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตอนที่เรากำลังสร้างหนังเรื่องนี้ค่ะ”
สำหรับอาร์เควทท์แล้ว การได้รู้จักโอลิเวียยังเป็นเรื่องที่แตกต่างจากตัวละครอื่นๆ ที่เธอเคยรับมาอีกด้วย “การสวมบทตัวละครที่มีการวางแผนพัฒนาการไว้ชัดเจนอยู่แล้วก็เรื่องหนึ่ง แต่ในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะในตอนเริ่มต้น มันมีอะไรมากมายที่ฉันไม่รู้ ที่ฉันรู้ไม่ได้ ดังนั้น มันก็หมายความว่าคุณจะแสดงแตกต่างออกไป ซึ่งฉันคิดว่าเป็นเรื่องดีต่อเรื่องราวนี้ค่ะ” เธอให้ความเห็น
อาร์เควทท์กล่าวต่อว่า “ตัวละครตัวนี้เผยตัวเธอเองให้กับฉัน ฉันไม่เคยมีความคิดอะไรเกี่ยวกับเธอมาก่อน ในตอนแรก ริคบอกให้ฉันคลุกคลีอยู่กับเอลลาร์และลอเรไล เราก็เลยนอนค้างด้วยกัน เราใช้เวลาหลายวันทำงานศิลปะด้วกัน มันเป็นกระบวนการของการค้นพบความสัมพันธ์พวกนี้ในแบบที่สมจริง ฉันก็ไม่มั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนั้น แต่ฉันก็เชื่อใจมัน แล้วมันก็มีกระแสความรู้สึกที่ทรงพลังและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ที่ตรงกับความเป็นมนุษย์ ในแบบที่ฉันไม่เคยรู้สึกในหนังเรื่องอื่นเลยค่ะ”
ในฐานะแม่คน อาร์เควทท์เองก็ได้ใส่ความรู้สึกนั้นลงไปในผลงานของเธอ แต่เธอก็กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว โอลิเวียได้กลายเป็นตัวละครที่รวมเอาอิทธิพลและผู้เป็นแม่ที่หลากหลาย “มีหลายๆ อย่างในตัวโอลิเวียที่คล้ายกับตัวฉัน และก็มีหลายๆ อย่างที่เราไม่เหมือนกันค่ะ” เธอกล่าวพลางตั้งข้อสังเกตว่า เช่นเดียวกับโอลิเวีย แม่ของเธอก็ไปเรียนเพื่อมาเป็นครู ตอนที่เธอยังเล็กๆ อยู่เหมือนกัน “ยกตัวอย่างเช่น ในฉากช่วงปลายๆ เรื่องที่โอลิเวียดูเมสันไปโรงเรียนค่อนข้างจะแตกต่างจากฉากเดียวกันในชีวิตฉัน ตอนที่ลูกชายฉันไปโรงเรียนเลย แต่ฉันก็จำได้ว่ามันทั้งหนักอึ้งและตึงเครียดมากๆ และฉันก็รู้สึกว่าโอลิเวียก็เป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเหมือนกันและมีปฏิกิริยาที่สมเหตุสมผลค่ะ”
ปฏิสัมพันธ์ที่โอลิเวียมีต่อพวกผู้ชาย เช่นกับเมสัน ซีเนียร์ พ่อของลูกๆ รวมถึงคนรักระหว่างนั้นที่ท้าทายและบางครั้งก็ทำร้ายร่างกายเธอ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้อาร์เควทท์ทึ่ง เผยให้เห็นถึงลักษณะที่เราทุกคนดิ้นรนเพื่อจะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของคนอื่นๆ
“ฉันคิดว่าสำหรับเมสัน ซีเนียร์ เธอจับเขาอยู่ในกล่องที่ติดป้ายไว้ว่า ไร้ความรับผิดชอบ และเธอก็มองว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่ทำงานหนักในการเลี้ยงดูลูกๆ แต่แน่นอนว่าเธอไม่เคยเห็นสามีเก่าเธอตอนที่เขาอยู่กับลูกๆ หรือเห็นว่าเขาเป็นพ่อแบบไหน” เธอตั้งข้อสังเกต “แล้วระหว่างนั้น เธอก็เริ่มทำการตัดสินใจอะไรบางอย่างที่น่าเศร้า แต่เธอก็เชื่อจริงๆ ว่าเธอตัดสินใจถูกแล้ว เธอคิดว่าเธอกำลังทำในสิ่งที่เธอควรจะทำเพื่อลูกๆ เธอ นั่นคือการสร้างสถานภาพที่มั่นคงสำหรับพวกเขา แต่เธอมองไม่เห็น อย่างที่เราสามารถมองย้อนกลับไปได้ว่า บางครั้ง เธอก็เมินเฉยต่อความจริงเหมือนกันค่ะ”
แม้ว่าเธอจะมองข้ามความจริงบางอย่าง แม้ว่าเธอจะทำพลาดหรือเผชิญอันตรายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หลายครั้ง โอลิเวียก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากเด็กน้อยสองคนที่เข้มแข็ง อ่อนไหว และดูเหมือนจะพร้อมรับมือกับโลกสมัยใหม่ๆ พอๆ กับพวกเราทุกคน
“สิ่งที่ฉันชื่นชอบคือการได้เห็นเมสัน ที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กเล็กๆ ช่างฝัน พัฒนากลายเป็นศิลปินและเด็กหนุ่มที่น่าตื่นเต้นค่ะ” อาร์เควทท์กล่าวต่อ “แม้ว่าเขาจะรู้สึกผิดหวังกับความสัมพันธ์ของพ่อแม่เขา แต่เขาก็เหมือนกับจะได้รับส่วนที่ดีของทั้งคู่มา เขามีความรักอิสระเหมือนกับพ่อของเขา และมีความรู้สึกรับผิดชอบและห่วงใยผู้อื่นเหมือนแม่เขา มันทำให้เขาเป็นคนที่น่าทึ่งค่ะ”
พ่อ
วัยเด็กของเมสันเต็มไปด้วยเรื่องการหย่าร้าง เช่นเดียวกับวัยเด็กของชาวอเมริกัน 50% ซึ่งวัยเด็กของเขาเป็นช่วงเวลาที่พ่อของเขาดูเหมือนจะเป็นปริศนาจนกระทั่งจู่ๆ เขาก็กลับเข้ามาในชีวิตครรอบครัวในตอนที่เรื่องราวเริ่มต้นขึ้น ผู้ที่รับบทเมสัน ซีเนียร์ คือผู้ที่ร่วมงานกับริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์มาหลายครั้งอย่างอีธาน ฮอว์ค ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ซึ่งรวมถึงการได้ร่วมรับเกียรตินี้ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมกับลิงค์เลเตอร์สำหรับภาพยนตร์เรื่อง BEFORE SUNSET และ BEFORE MIDNIGHT ฮอว์คเอง ผู้เป็นทั้งมือเขียนบทและผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จเองด้วย เป็นที่รู้จักจากบทบาทที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงชายผู้ถูกดัดแปลงพันธุกรรมใน GATTACA บทเจ้าหน้าที่ยาเสพติดน้องใหม่ใน TRAINING DAY บทแฮมเล็ทยุคใหม่ บทพี่ชายผู้ไม่เต็มใจใน ONLY THE DEVIL KNOWS YOUR DEAD และบทคนรักที่กลายเป็นคู่ชีวิตอย่างไม่คาดฝันในแฟรนไชส์ BEFORE
ในตอนที่ BOYHOOD เริ่มต้นถ่ายทำในปี 2002 ลิงค์เลเตอร์ก็เคยร่วมงานกับฮอว์คมาแล้วหลายครั้ง และพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เขาฟัง ซึ่งก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกตื่นเต้นในทันที
“การสร้างหนังเรื่องหนึ่งในช่วงเวลา 12 ปี เป็นไอเดียที่แปลกใหม่อย่างเหลือเชื่อ” ฮอว์คเล่า “ผมไม่เคยเกี่ยวข้องกับอะไรแบบนี้มาก่อน และผมก็คิดว่าไม่เคยมีการทำอะไรแบบนี้มาก่อนด้วย บางครั้ง คนจะได้ยินไอเดียนี้แล้วคิดว่า ‘อ๋อ มันก็เหมือนสารคดี’ หรือมันก็คล้ายกับ 7-UP ของไมเคิล แอ็พเท็ด แต่นี่ไม่ใช่สารคดี แต่เป็นหนังที่ถ่ายทำในช่วงเวลา 12 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง มันเป็นเรื่องหาได้ยากที่ได้เห็นคนที่พยายามจะใช้สื่อประเภทนี้ในรูปแบบใหม่ เพื่อสำรวจเวลาในรูปแบบใหม่ อย่างที่ริคอยากจะทำน่ะครับ”
ฮอว์คเองไม่ได้รู้สึกหวาดหวั่นกับการผูกมัดตัวเองกับภาพยนตร์เรื่องนี้ซักเท่าไหร่ “ผมจำได้ว่าริคกังวลว่าผมจะยุ่งเกินไปและไม่สามารถหาคิวว่างในตารางการทำงานของผมได้ แต่ผมก็บอกเขาว่าผมเชื่อในหนังเรื่องนี้จริงๆ และเราก็หาทางฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน มันกลายเป็นการเล่นกายกรรมกับตารางการทำงานตลอด 12 ปีหลังจากนั้น แต่ถ้าคุณเชื่อในบางสิ่งจริงๆ คุณก็จะหาทางทำให้ได้เองล่ะครับ”
พอเขาตกปากรับคำ ฮอว์คก็นำพาเมสัน ซีเนียร์ผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่น่าสับสนพอๆ กับความเปลี่ยนแปลงที่ลูกชายตัวน้อยของเขาต้องเผชิญ เพราะเขาเองก็ผ่านการเติบโตในช่วงวัยผู้ใหญ่เหมือนกัน และเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นนักดนตรีหาเช้ากินค่ำที่ผจญภัยในอลาสก้า ขี่ GTO ไปเป็นพนักงานขายประกันในรถมินิแวน กับครอบครัวที่สอง แม้ว่านิสัยขี้เล่นของเขาจะไม่เคยเปลี่ยนไปเลยก็ตาม
“ในตอนที่เราได้พบกับตัวละครของอีธาน เขาทำการตัดสินใจครั้งสำคัญไปแล้วว่าเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกๆ ว่าเขาจะพยายามทำตัวเป็นพ่อที่ดีครับ” ลิงค์เลเตอร์กล่าว “ผมคิดว่าเขาเป็นคนที่ความเป็นพ่อแม่มาหาเขาก่อนที่เขาจะโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น ในตอนที่เราได้พบเขา เขาก็ยังคงเรียนรู้การทำตัวเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวอยู่เลยน่ะครับ”
ฮอว์คกล่าวเสริมว่า “เขาเป็นคนที่เติบโตขึ้น แต่การเติบโตสำหรับเขาก็มีค่าตอบแทนเหมือนกัน เขาต้องละทิ้งความฝันเพื่อกลายเป็นพ่อที่ดีขึ้น แล้วเขาก็เหมือนผู้ชายจำนวนมากที่ต้องสวมหน้ากาก กลายมาเป็นพนักงานขายประกัน แต่ส่วนหนึ่งของเขาก็ยังคงอยู่ในโลกดนตรีครับ”
ประเด็นที่ซับซ้อนของการทำหน้าที่พ่อเป็นครั้งคราวเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับฮอว์ค ผู้ที่พ่อแม่เขาก็หย่าร้าง และตัวเขาเองก็ผ่านการหย่าร้างครั้งหนึ่งด้วยระหว่างการถ่ายทำ BOYHOOD “ผมคิดว่าผลกระทบของการหย่าร้างทั้งสมัยที่เป็นเด็ก และตอนที่เป็นพ่อคนแล้วเป็นสิ่งที่ผมกับริคมีร่วมกัน และมันก็เป็นสิ่งที่เราสำรวจนิดๆ ใน BEFORE MIDNIGHT แต่ในบริบทที่ต่างกันครับ” เขาตั้งข้อสังเกต
ลิงค์เลเตอร์จงใจกันฮอว์คออกจากการถ่ายทำในปีแรกเพื่อเน้นย้ำถึงความรู้สึกของพ่อผู้ได้เจอลูกเป็นครั้งคราว และจะต้องทลายกำแพงของความเขินอายและความไม่เชื่อใจ เพราะเขาเป็นคนที่อยู่นอกวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกัน ฮอว์คก็กล่าวว่า ในกองถ่ายเต็มไปด้วยความสนิทสนมกัน
“สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับริคคือเขามีสไตล์การกำกับที่ผ่อนคลายอย่างไม่น่าเชื่อ ที่เอื้อต่อการร่วมงานกับนักแสดงรุ่นเยาว์อย่างลอเรไลและเอลลาร์มากๆ เขามีทั้งความอดทนและความเมตตาที่ทำให้เข้าถึงความรู้สึกจริงๆ ได้ จริงๆ แล้ว ผมรู้จักลอเรไลตั้งแต่เธอยังเป็นทารกอยู่เลย มันก็เลยเป็นเรื่องวิเศษสุดที่เราจะแบ่งปันร่วมกัน ส่วนสำหรับเอลลาร์ เหมือนเขาถูกจับเข้ามาอยู่ในโปรแกรมฝึกนักแสดงสิบสองปีของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์น่ะครับ ผมคิดว่าสิ่งที่เขาพบเจอเป็นอะไรที่เข้มข้นมากๆ เขาเจอกับสิ่งที่เขาไม่คุ้นชิน มากกว่าพวกเราทุกคนอีกครับ”
ในตอนที่การถ่ายทำดำเนินไป ความเป็นธรรมชาติของการแสดงทำให้ฮอว์คประหลาดใจ “สตานิสลาฟสกี้คงจะต้องตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้” เขากล่าวอ้างถึงครูสอนการแสดงในตำนาน ที่ชื่นชอบอุดมคติของความจริงที่ไม่ถูกปรุงแต่ง
“มันไม่ได้มีความเป็นสารคดีเลยครับ แต่หนังเรื่องนี้จะล่อลวงให้คุณเชื่อว่าตัวละครพวกนี้เป็นคนจริงๆ ครับ” ฮอว์คตั้งข้อสังเกต “นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แม้กระทั่งช่วงเวลาที่เล็กน้อยที่สุดในชีวิตพวกเขาถึงได้ติดตามขนาดนี้”
ในการรักษาความสมจริง ฮอว์คก็ได้เขียนเพลงขึ้นหลายเพลงสำหรับตัวละครของเขาที่เป็นนักดนตรีและได้ร้องเพลงพวกนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เขากล่าวว่าความเปิดกว้างของลิงค์เลเตอร์ต่อการปล่อยให้ชีวิตจริงและเรื่องแต่งมาผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวคือสิ่งที่ทำให้เรื่องราวดำเนินต่อเนื่องได้ 12 ปี “ความจริงก็คือริคเปิดกว้างต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ” เขาสรุป “ดังนั้น เมื่อมองดูผิวเผินแล้ว มันอาจดูเหมือนโชคดี แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น เขาทำงานอย่างอดทนกับสิ่งที่ความจริงมอบให้กับเขาครับ”
การเปลี่ยนแปลง
ความรู้สึกของการเคลื่อนไหวที่ดำเนินสอดคล้องไปกับโครงสร้างของ BOYHOOD ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงการเคลื่อนผ่านของเวลาและแรงดึงของเวลาได้อย่างชัดเน แม้ว่าในตอนที่พวกเขาติดตามเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กของเมสันก็ตาม
สำหรับลิงค์เลเตอร์ ส่วนสำคัญของคอนเซ็ปต์นั้นคือการทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ความรู้สึกราวกับเป็นเรื่องราวเดียวที่ไหลลื่นต่อเนื่อง ราวกับชีวิต แทนที่จะสะท้อนถึงการหยุดพักและเริ่มต้นใหม่ของโปรเจ็กต์นี้ ทางด้านเทคนิคแล้ว มันหมายถึงการยึดติดกับการตัดสินใจดั้งเดิมของเขา “ผมอยากให้ลุคของหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งเดียว และรู้ว่าวัฒนธรรมและตัวละครจะเปลี่ยนแปลงไปภายในลุคนั้น” เขาอธิบาย “มันหมายถึงการรักษาองค์ประกอบหลักๆ ของเรื่องไว้ให้เป็นเหมือนเดิมตลอดน่ะครับ”
แม้กระทั่งการตัดสินใจที่จะถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ทั้งหมดก็เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะฟิล์มเองกลายเป็นฟอร์แมทที่คนนิยมน้อยลงเรื่อยๆ “ในช่วงท้ายการถ่ายทำ การถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ” เขาเล่า “แต่มันก็ช่วยสร้างความรู้สึกที่ไหลลื่นต่อเนื่องให้กับเราครับ”
แทบไม่จำเป็นต้องมีการบอกผู้ชมเป็นนัยๆ เลยว่าเวลาได้ไหลผ่านจากฉากหนึ่งไปสู่อีกฉากหนึ่ง เพราะมันปรากฏชัดบนใบหน้าของนักแสดงนำรุ่นเยาว์ทั้งสองคน “ทุกครั้งที่เราเริ่มถ่ายทำ คุณจะได้เห็นสิ่งบ่งบอกหลายอย่างในตัวเอลลาร์และลอเรไลว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วน่ะครับ” ลิงค์เลเตอร์ให้ความเห็น
นอกจากนี้ เขายังได้สำรวจถึงความเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบที่เกิดขึ้นกับแวดวงวัฒนธรรมในช่วง 12 ปีนี้ ด้วยการใช้เสื้อผ้า เทรนด์แฟชัน เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดนตรี เพื่อแสดงให้เห็นแม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่ละเอียดอ่อนที่สุดในยุคนั้นๆ
ลิงค์เลเตอร์พูดถึงเรื่องของดนตรีว่า “ปกติแล้ว ผมจะเลือกเพลงที่มีความหมายต่อผมมาใช้ในหนังของผม แต่ในหนังเรื่องนี้ ผมนึกถึงเพลงที่จะมีความหมายต่อเมสัน ผมอยากให้ดนตรีสะท้อนวัฒนธรรมในชั่วขณะนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกันครับ”
เอลลาร์ โคลเทรนไม่สามารถช่วยลิงค์เลเตอร์ได้เพราะเขาเองมีรสนิยมชื่นชอบเพลงเรโทร และเพลงที่ค่อนข้างหลากหลาย เขาก็เลยต้องอาศัยที่ปรึกษารุ่นเยาว์หลายคนมาให้ความเห็นและนำเสนอคอลเล็กชันส่วนตัวของเพลงในช่วงต้นยุค 2000s และก่อนหน้านั้นด้วย ตั้งแต่วีซเซอร์และโคลด์เพลย์ในวัยเด็กของเมสัน มาจนถึงอาร์เคด ไฟร์และดาฟท์ พังค์ในช่วงปลายเรื่อง เพลงเหล่านั้นจะช่วยกำหนดยุคสมัยให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้และช่วยบ่งบอกถึงอารมณ์ที่หลากหลายของมันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
“สิ่งทื่สำคัญจริงๆ สำหรับคือการที่คนจะมีความรู้สึกไปกับเพลงพวกนั้นจริงๆ” ลิงค์เลเตอร์อธิบาย “ผมก็เลยรับฟังฟีดแบ็คจากหลายๆ คน แล้วพอเมสันโตขึ้น ดนตรีก็เริ่มสอดประสานกับพัฒนาการและรสนิยมของเขามากขึ้นเรื่อยๆ” ในการรักษาความต่อเนื่องในการถ่ายทำเล็กๆ หลายครั้ง ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเตรียมงานสร้างให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นการเลือกโลเกชัน การเลือกนักแสดงอย่างดีเพื่อที่จะไม่มีเรื่องเซอร์ไพรส์เกิดขึ้น มีเรื่องฉุกเฉินเกิดขึ้นบางครั้ง แต่ลิงค์เลเตอร์บอกว่าส่วนใหญ่ไปได้สวยจนน่าประหลาดใจ
“มันกลายเป็นเหมือนการได้มารวมตัวกันที่แคมป์ทุกปีน่ะครับ” เขากล่าวกลั้วหัวเราะ “เรามีกลุ่มคนที่มารวมตัวกันทุกปีเป็นเวลา 12 ปี และเราก็กลายเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน แต่มันก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ท้ายที่สุด เราก็มีนักแสดง 143 คนและทีมงานกว่า 400 คน การรวมตัวทุกคนดูเหมือนจะยากขึ้นๆ ทุกปี แต่เราก็รู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรากำลังสนุกกับงานสร้างสรรค์นี้ด้วยกันครับ”
ในตอนที่การถ่ายทำสิ้นสุดลง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เกือบจะสมบูรณ์ด้วยเช่นกันเนื่องจากลิงค์เลเตอร์และแซนดราอาแดร์ได้ทำงานลำดับภาพพร้อมกันไปด้วย ทำให้การลำดับภาพขั้นสุดท้ายเหลืองานเพียงน้อยนิด “มันมีการทำงานทุกรูปแบบเลยครับ” ผู้กำกับเล่า “มันนานกว่าที่ผมคิดเอาไปตอนแรก ตอนแรกผมนึกว่าจะใช้ 10 นาทีต่อหนึ่งปี รวมแล้วเป็น 120 นาที แต่หลังจากปีแรก ผมก็ตระหนักว่ามันคงไม่เวิร์คแน่ ผมตัดสินใจปล่อยให้หนังเรื่องนี้เป็นอย่างที่มันอยากจะเป็นโดยไม่มีข้อจำกัดแบบนั้น ท้ายที่สุดแล้ว มันก็เป็นเรื่องราวอีพิค แต่ก็เรียบง่ายและมีความเป็นส่วนตัวด้วยครับ”
การได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจ และกระทั่งชำระล้างจิตใจ สำหรับทีมนักแสดง ลิงค์เลเตอร์เสนอให้เอลลาร์และลอเรไลดูมันตามลำพังหลายครั้ง โคลเทรนกล่าวว่าเขาซาบซึ้งกับข้อเสนอแนะนั้น “มันเข้มข้นมากๆ เพราะผมกำลังดูแง่มุมของตัวเองที่ผมไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก” เขาอธิบาย “และในขณะเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวอย่างมาก และมันก็กว้างขวางและมหัศจรรย์มากสำหรับผม มันเป็นหน้าต่างที่มองเข้าไปสู่การมีตัวตนของมนุษย์ และในหลายๆ แง่มุมแล้ว ตัวละครหลักของเรื่องก็คือเวลา อย่างที่ริคพูดเอาไว้ ผมไม่เคยดูหนังเรื่องไหนเหมือนอย่างนี้เลย มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผม แต่ผมคิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่มีความเป็นสากลด้วยเพราะมันพูดถึงบางสิ่งที่เราหลายคนมองข้ามไป นั่นคือการเห็นคุณค่าของช่วงเวลาอย่างที่มันเป็นน่ะครับ”
แพทริเซีย อาร์เควทท์รอที่จะชมภาพยนตร์เรื่องนี้กับผู้ชมในรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ “ตอนแรก ฉันรู้สึกหวงแหนประสบการณ์นี้มาก จนฉันเกือบไม่อยากให้ใครๆ ได้ดูมันเลย” เธอกล่าว “แต่มันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นคนรู้สึกติดตามมันในแบบของพวกเขาเอง มันงดงามจริงๆ ค่ะ”
ลิงค์เลเตอร์กล่าวว่า หนึ่งในช่วงเวลาที่น่าประทับใจที่สุดในการถ่ายทำเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ในตอนที่กำลังถ่ายทำฉากสุดท้าย ที่เมสัน ที่ไม่ได้เป็นเด็กชายตัวน้อยอีกแล้ว มุ่งหน้าเข้าไปในหุบเขา ไปสู่เส้นทางกว้างใหญ่ที่เขาไม่รู้จัก ในวันแรกของการเรียนมหาวิทยาลัยมีความรู้สึกว่าจากจุดนี้ไป ชีวิตของเมสันอาจจะพลิกแพลงไปทางใดก็ได้ไม่รู้จบ แต่สิ่งที่เรารู้อย่างแน่นอนคือเขามีที่มาอย่างไร
“ผมจำได้ว่ายืนอยู่ตรงนั้น ขณะพระอาทิตย์กำลังตกดิน มันมีความรู้สึกมีชีวิตชีวาอย่างเหลือเชื่อ” ลิงค์เลเตอร์เล่า “มันเป็นช็อตสุดท้ายของประสบการณ์ 12 ปี และมันก็ไม่มีทางอธิบายความรู้สึกนั้นออกมาได้เลย มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำซ้ำขึ้นมาได้หรอกนะครับ”
# # # # #
ประวัติทีมนักแสดง
อีธาน ฮอว์ค (Ethan Hawke)
“จงรวบรวมสิ่งที่มีคุณค่าต่อคุณในตอนที่คุณทำได้” เป็นประโยคที่อีธาน ฮอว์ค ในวัยหนุ่มเชื่อสนิทใจระหว่างถ่ายทำ “Dead Poets Society” ดรามารางวัลอคาเดมี อวอร์ด ซึ่งแจ้งเกิดให้กับเขา เมื่อยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ผ่านการได้รับการเสนอชื่อชิงหลายรางวัลโทนี และออสการ์ เขาได้รับการยกย่องในฐานะนักแสดงมากความสามารถ ที่ท้าทายตัวเองในฐานะนักเขียนนิยาย มือเขียนบทและผู้กำกับ และโด่งดังไปทั่วโลกจากบทบาทที่ท้าทายและรุ่มรวยของเขา
ฮอว์คได้ร่วมมือกับผู้กำกับริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น “Fast Food Nation;” “Waking Life;” “The Newton Boys” และ “Tape” ภาพยนตร์เรื่อง “Boyhood” ซึ่งเป็นผลงานการร่วมมือเรื่องล่าสุดของพวกเขา จะเปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์และจะเข้าประกวดในงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินปี 2014 ในผลงานการร่วมมือระหว่างเขากับลิงค์เลเตอร์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด ฮอว์คได้แสดงประกบจูลี เดลพาย ในภาพยนตร์ดังเรื่อง ”Before Sunrise” และซีเควลเรื่อง “Before Sunset” และ “Before Midnight” ทั้งสามคนได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “Before Sunset” และในปี 2004 พวกเขาก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์มือเขียนบทสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
หลังจากที่เปิดตัวภายใต้เสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลามในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 2013 “Before Midnight” ก็ถูกจัดจำหน่ายโดยโซนี พิคเจอร์ส คลาสสิก นอกเหนือจากการนำแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ ฮอว์คยังได้ร่วมมือกับลิงค์เลเตอร์และเดลพายอีกครั้งในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ปีเตอร์ ทราเวอร์สจาก “โรลลิง สโตน” กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า “ไม่ว่าเรื่องรักยุคใหม่จะเป็นอย่างไร ‘Before Midnight’ ก็ได้พามันไปอีกระดับ มันเกือบจะเพอร์เฟ็กต์เลยล่ะ” ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม รางวัลบีเอฟซีเอ คริติกส์ ชอยส์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม รางวัลสมาพันธ์มือเขียนบทสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลไอเอฟพี สปิริต อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม พวกเขาได้รับรางวัลหลุยอี้ เทรซ จีเนียส อวอร์ดสาขาความสำเร็จในภาพยนตร์จากแฟรนไชส์ “Before” จากเวทีบีเอฟซีเอ คริติกส์ ชอยส์ อวอร์ด
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ เขายังได้แสดงภาพยนตร์โดยเจมส์ เดอโมนาโกเรื่อง “The Purge” ประกบลีนา เฮดลีย์อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สร้างด้วยทุนสร้างเพียง 3 ล้านเหรียญ กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในช่วงสุดสัปดาห์ของอีธาน ด้วยรายได้ 34.5 ล้านเหรียญ
หลังจากที่เขาได้ร่วมดื่มด่ำกับวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ร่วมสมัยในคอเมดีปี 1994 เรื่อง “Reality Bites” โดยเบน สติลเลอร์ ฮอว์คก็ได้แสดงในภาพยนตร์กว่า 40 เรื่อง ซึ่งรวมถึง “Explorers;” “Dad;” “White Fang;” “Waterland;” “Alive;” “Rich In Love”; “Gattaca;” “Great Expectations;” “Hamlet;” “Assault on Precinct 13;” “Taking Lives;” “Before The Devil Knows You’re Dead,” “What Doesn’t Kill You,” “Brooklyn’s Finest,” “Woman in the Fifth” และ “Sinister” ในปี 2002 ฮอว์คได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและแซ็ก อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์โดยอังตวน ฟูกัวเรื่อง “Training Day” ประกบเดนเซล วอชิงตัน
“The Purge” เป็นผลงานเรื่องที่สามที่เขาได้ร่วมมือกับมือเขียนบท/ผู้กำกับเจมส์ เดอโมนาโก หลังจากที่เขาได้นำแสดงในภาพยนตร์การกำกับเรื่องแรกของเดอโมนาโกเรื่อง “Staten Island, New York” และ “Assault on Precinct 13” ซึ่งเดอโมนาโกเป็นผู้เขียนบท
เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ร่วมมือกับมือเขียนบท/ผู้กำกับไมเคิล อัลเมเรย์ดาในภาพยนตร์ที่สร้างจากละครวิลเลียม เชคสเปียร์เรื่อง “Cymbeline” เขาได้แสดงในภาพยนตร์รักร่วมสมัยเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างตำรวจกังฉินและสิงห์มอเตอร์ไซค์ค้ายา ในภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงว่าเป็น “Sons of Anarchy” ผสม Romeo and Juliet นอกเหนือจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ เขายังเพิ่งปิดกล้องภาพยนตร์โซนีเรื่อง “Predestination” ซึ่งกำกับโดยไมเคิล และปีเตอร์ สเปียริก โปรเจ็กต์อื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยแอนดรูว์ นิคโคลเรื่อง “Drones” และภาพยนตร์โดยชารี สปริง เบอร์แมน และโรเบิร์ต ปุลชินีเรื่อง “Ten Thousand Saints”
ในปี 2001 ฮอว์คได้ไปชิมลางงานเบื้องหลัง และเปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกด้วยดรามาเรื่อง “Chelsea Walls” ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวห้าเรื่องที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันที่โรงแรมเชลซี โฮเตลในนิวยอร์ก ซิตี้ และนำแสดงโดยอูมา เธอร์แมน, คริส คริสทอฟเฟอร์สัน, โรซาริโอ ดอว์สัน, นาตาชา ริชาร์ดสันและสตีฟ ซาห์น นอกเหนือจากนั้น เขายังได้กำกับจอช แฮมิลตันในภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง “Straight to One” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่รักที่อาศัยอยู่ในโรงแรมเชลซีย์ และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาก็ได้กำกับสารคดีเกี่ยวกับเซย์มัวร์ เบิร์นสไตน์ นักแต่งเพลงเปียโนที่โด่งดัง โดยสารคดีเรื่องนี้จะเข้าฉายในปี 2014
ในปี 1996 ฮอว์คได้เขียนนิยายเรื่องแรก The Hottest State ซึ่งตีพิมพ์โดยลิตเติล, บราวน์ แอนด์ คัมปะนี และตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 19 แล้ว ในผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องที่สอง เขาได้ดัดแปลงบทภาพยนตร์และกำกับเรื่อง “The Hottest State” นอกจากนี้ เขายังกำกับมิวสิค วิดีโอสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย นิยายเรื่องที่สองของเขา Ash Wednesday ตีพิมพ์โดยนอพฟ์ และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในชุดวรรณกรรมคลาสสิกร่วมสมัยของบลูมส์เบรี นอกเหนือจากงานนิยายแล้ว เขายังได้เขียนโปรไฟล์อย่างละเอียดของคริส คริสทอฟเฟอร์สันให้กับนิตยสารโรลลิง สโตนในเดือนเมษายน ปี 2009 อีกด้วย
พออายุได้ 21 ปี เขาก็ได้ก่อตั้งมาลาพาร์ท เธียเตอร์ คัมปะนี ที่ซึ่งเปิดดำเนินการต่ออีกห้าปี และเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้นักแสดงหนุ่มสาวได้ฝึกปรือฝีมือของพวกเขา ในปี 1982 ฮอว์คได้เปิดตัวบนเวทีบรอดเวย์ด้วยเรื่อง The Seagull นอกเหนือจากนั้น เขายังได้แสดงประกบริชาร์ด อีสตันใน Henry IV, Buried Child (สเตปเปนวูลฟ์), Hurlyburly ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูซิลล์ ลอร์เทล อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลการแสดงดีเด่นจากเวทีดรามา ลีก อวอร์ด (เดอะ นิว กรุ๊ป), ละครโดยทอม สต็อพเพิร์ดเรื่อง The Coast of Utopia ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนี อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในละครเวทีและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลดรามา ลีก อวอร์ดสาขาการแสดงดีเด่น (ลินคอล์น เซ็นเตอร์), การแสดงควบของเดอะ บริดจ์ โปรเจ็กต์เรื่อง The Cherry Orchard และ The Winter’s Tale ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลดรามา เดสก์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในละครเวที (บรู๊คลิน อคาเดมี ออฟ มิวสิค และเดอะ โอลด์ วิค) และละครโดยสก็อต เอลเลียตเรื่อง Blood From A Stone (เดอะ นิว กรุ๊ป) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลการแสดงดีเด่นจากเวทีโอบี้ อวอร์ด ปี 2011 นอกจากนั้น ในปี 2007 เขาได้เปิดตัวผลงานการกำกับละครออฟบรอดเวย์เรื่องแรกด้วยรอบปฐมทัศน์โลกของคอเมดีตลกร้ายโดยโจนาธาน มาร์ค เชอร์แมนเรื่อง Things We Want ในปี 2010 ฮอว์คได้กำกับละครโดยแซม เชพเพิร์ดเรื่อง A Lie of the Mind ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลผู้กำกับละครเวทียอดเยี่ยมจากเวทีดรามา เดสก์และติดอันดับท็อปเท็นในลิสต์ละครเวทียอดเยี่ยมของนิวยอร์ก ไทม์และนิวยอร์กเกอร์ ในปี 2012 เขาได้แสดงในละครโดยแอนตัน เชคอฟเรื่อง Ivanov สำหรับคลาสสิก สเตจ คัมปะนี ในปี 2013 เขาได้กำกับและนำแสดงใน Clive ละครที่เบอร์โทลท์ เบรทช์ดัดแปลงจากเรื่อง Baal โดยมาร์ค เชอร์แมน ที่เชอร์แมนเขียนให้กับเดอะ นิว กรุ๊ป เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากการแสดงนำในละครเรื่อง Macbeth โปรดักชันของลินคอล์น เซ็นเตอร์ เธียเตอร์
ด้านจอแก้ว เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้แสดงในละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงจาก “Moby Dick” ทางอังกอร์ โดยเขารับบทต้นหนมากประสบการณ์และจงรักภักดี สตาร์บัค ลูกเรือคนเดียวที่กล้าคัดค้านกัปตันอาฮับ (วิลเลียม เฮิร์ท)
ฮอว์คใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก เขาแต่งงานแล้วและมีลูกสี่คน
แพทริเซีย อาร์เควทท์ (Patricia Arquette)
เมื่อเร็วๆ นี้ แพทริเซียเพิ่งเสร็จสิ้นการถ่ายทำภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง The Wannabe ประกบวินเซนต์ เปียซซา และซีซันที่ห้าของซีรีส์เอชบีโอเรื่อง Boardwalk Empire ประกบสตีฟ บุสเชมี
เธอเสร็จสิ้นจากการแสดงซีซันที่เจ็ดของซีรีส์ดังเรื่อง Medium ในบทอัลลิสัน ดูบัวส์ ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งรวมถึงรางวัลเอ็มมี สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดรามา และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี ลูกโลกทองคำและแซ็ก อวอร์ด ผลงานภาพยนตร์ของเธอได้แก่ภาพยนตร์โดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์เรื่อง 12 Year Movie หรือBoyhood ซึ่งถ่ายทำชีวิตของเด็กชายคนหนึ่งตั้งแต่เกรดหนึ่งจนจบไฮสคูล, ภาพยนตร์โดยแอนดรูว์ เดวิสเรื่อง Holes ที่นำแสดงโดยซิเกอร์นีย์ วีฟเวอร์และจอน วอยท์, ภาพยนตร์โดยมิเชล กอนดรี้เรื่อง Human Nature, The Badge ที่เธอแสดงประกบบิลลี บ็อบ ธอร์นตันและ Little Nicky ประกบอดัม แซนด์เลอร์
อาร์เควทท์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับชั้นนำหลายคนในภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่นภาพยนตร์โดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง Bringing Out the Dead (ประกบนิโคลัส เคจ), ภาพยนตร์โดยรูเพิร์ต เวนไรท์เรื่อง Stigmata (ประกบกาเบรียล ไบรน์), ภาพยนตร์โดยฌอน เพนน์เรื่อง The Indian Runner, ภาพยนตร์โดยจอห์น แมดเดนเรื่อง Ethan Frome, ภาพยนตร์โดยโทนี สก็อตเรื่อง True Romance, ภาพยนตร์โดยทิม เบอร์ตันเรื่อง Ed Wood, ภาพยนตร์โดยเดวิด โอ. รัสเซลเรื่อง Flirting With Disaster, ภาพยนตร์โดยจอห์น บูร์แมนเรื่อง Beyond Rangoon, Lost Highway (ในสองบทสำหรับเดวิด ลินช์), ภาพยนตร์โดยสตีเฟน เฟรียส์เรื่อง Hi Lo Country และภาพยนตร์โดยโรแลนด์ เจฟฟ์เรื่อง Goodbye Lover ผลงานจอแก้วของเธอได้แก่ Wildflower ที่กำกับโดยไดแอน คีย์ตัน และทำให้เธอได้รับรางวัลเคเบิลเอซ อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
อาร์เควทท์ เป็นหลานสาวของนักแสดงตลก คลิฟฟ์ อาร์เควทท์ (ผู้เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบท “ชาร์ลีย์ วีฟเวอร์” ทางจอแก้ว) มาจากครอบครัวที่คลุกคลีกับแวดวงบันเทิง พ่อของเธอคือนักแสดง ลูอิส อาร์เควทท์ และพี่น้องของเธอ โรซานนา,อเล็กซิส, ริชมอนด์และเดวิด อาร์เควทท์ ต่างก็เป็นนักแสดง
หลังจากไปเยือนเฮติและได้เห็นซากปรักหักพังที่เกิดจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงนั้น อาร์เควทท์ก็ได้ก่อตั้งองค์กรการกุศล กี๊ฟเลิฟ เพื่อหาที่พักอาศัยที่ยั่งยืนให้กับเหยื่อแผ่นดินไหวชาวเฮติ และช่วยเหลือการบูรณะชุมชนหลังหายนะครั้งนั้น สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกี๊ฟเลิฟได้ที่เว็บไซต์ www.givelove.org
อาร์เควทท์เกิดในชิคาโก ปัจจุบัน เธออาศัยอยู่ในลอสแองเจลิส ที่ซึ่งเธอเติบโตมา เธอเกิดวันที่ 8 เมษายน
เอลลาร์ โคลเทรน (Ellar Coltrane)
เอลลาร์เกิดและเติบโตในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เขาเป็นนักอ่านตัวยง ชื่นชอบการสวมรองเท้าเทนนิสและขีดเขียนเล่น เขาบังเอิญเจอกับการแสดงในตอนยังเด็กและหลังจากได้รับบทเล็กๆ ในภาพยนตร์อินดีและโฆษณาจำนวนหนึ่ง เขาก็ได้รับเลือกให้แสดงในภาพยนตร์โดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์เรื่อง Boyhood เขาได้รับการอบรมบ่มเพาะอย่างแหวกแนวเกือบตลอดวัยเด็กของเขา ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์และเกิดความสนใจศิลปะทุกแขนงอย่างลึกซึ้ง
ลอเรไล ลิงค์เลเตอร์ (Lorelei Linklater)
ลอเรไล ลิงค์เลเตอร์เริ่มต้นแสดงตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ เธอได้แสดงใน Waking Life (2001) และ Boyhood (2014) ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาด้านการวาดเขียนที่แคลิฟอร์เนีย คอลเลจ ออฟ ดิ อาร์ตส์
ประวัติทีมผู้สร้าง
ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (Richard Linklater –ผู้กำกับ)
ก่อนหน้า Slacker ภาพยนตร์ทดลองเกี่ยวกับ 24 ชั่วโมงในชีวิตของตัวละคร 100 ตัว จะโด่งดังในปี 1991 ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ก็ได้สร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นหลายเรื่อง และได้ถ่ายทำภาพยนตร์ซูเปอร์ 8 เรื่อง It’s Impossible to Learn to Plow By Reading Books (1988)
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของลิงค์เลเตอร์ได้แก่ภาพยนตร์คัลท์ยอดนิยมยุค 70s เรื่อง DAZED AND CONFUSED (1993), BEFORE SUNRISE (1995) ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลหมีเงินสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน, SUBURBIA (1997), THE NEWTON BOYS (1998) ภาพยนตร์เวสเทิร์น/แก๊งสเตอร์ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในยุค 20s, ภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง WAKING LIFE (2001), ดรามาเรียลไทม์เรื่อง TAPE (2001), คอเมดียอดนิยมเรื่อง SCHOOL OF ROCK (2003), $5:15 AN HOUR (โทรทัศน์), BEFORE SUNSET (2004) ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด, BAD NEWS BEARS (2005), A SCANNER DARKLY (2006), FAST FOOD NATION (2006), INNING BY INNING: A PORTRAIT OF A COACH (2008), ME AND ORSON WELLES (2009), BERNIE (2012), UP TO SPEED (2012, HULU), BEFORE MIDNIGHT (2013) และ BOYHOOD (2014)
นอกจากนี้ ลิงค์เลเตอร์ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศิลป์ให้กับสมาคมภาพยนตร์ออสติน ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1985 เพื่อนำเสนอภาพยนตร์จากทั่วโลก ที่ไม่ค่อยได้เข้าฉายในออสตินอีกด้วย บัดนี้ สมาคมภาพยนตร์ออสติน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรเกี่ยวกับภาพยนตร์ระดับประเทศ ได้นำเสนอภาพยนตร์ปีละกว่า 200 เรื่อง มีโปรแกรมการศึกษาและได้มอบทุนกว่า 1,500,000 เหรียญให้กับผู้กำกับชาวเท็กซัสนับตั้งแต่ปี 1996
แคธลีน ซุทเธอร์แลนด์ (ผู้อำนวยการสร้าง)
ผู้อำนวยการสร้างแคธลีน ซุทเธอร์แลนด์ เป็นชาวออสตินโดยกำเนิด เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส หลังจากได้คลุกคลีกับงานสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่อายุน้อย ระหว่างการไปเยี่ยมชมกองถ่ายเรื่อง The Whole Shootin’ Match ของป้าเธอ และได้แสดงบทเด็กในค่ายที่ถูกปลาขย้ำใน Piranha สองสัปดาห์ รวมทั้งได้รับงานผู้ช่วยงานสร้างครั้งแรกเมื่ออายุ 16 ปีในเรื่อง Mongrel เธอก็ได้ลงหลักปักฐานในวงการภาพยนตร์อินดีในเท็กซัสอย่างมั่นคง
โจนาธาน เซห์ริง (ผู้อำนวยการสร้าง)
โจนาธาน เซห์ริง ดำรงตำแหน่งประธานไอเอฟซี ฟิล์มส์ และซันแดนซ์ ซีเล็คส์ที่เอเอ็มซี เน็ตเวิร์ค อิงค์. เขาได้ดูแลแบรนด์ต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอภาพยนตร์เฉพาะทางที่ดีที่สุดให้กับผู้ชมกลุ่มใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งได้แก่ไอเอฟซี เซ็นเตอร์, ไอเอฟซี ฟิล์มส์, ซันแดนซ์ ซีเล็คส์และไอเอฟซี โปรดักชันส์ เซห์ริง หนึ่งในผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องสูงสุดในแวดวงภาพยนตร์เฉพาะทาง ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าในการพัฒนาฐานผู้ชมให้กับภาพยนตร์อินดี เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ริเริ่มดิ อินดีเพนเดนท์ ฟิล์ม แชนแนลในปี 1994 ตามด้วยไอเอฟซี เอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ยังคงดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ในปี 2000 เซห์ริงได้ก่อตั้งไอเอฟซี ฟิล์มส์ ซึ่งภายใต้การบริหารงานของเขา ได้เติบโตกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์อินดีระดับแนวหน้าของอเมริกา เขายังคงบุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ด้วยการก่อตั้งโมเดลวันจัดจำหน่ายและการนำภาพยนตร์เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แบบแรกขึ้นมาในปี 2006 โมเดลที่โดดเด่นของไอเอฟซี เอนเตอร์เทนเมนต์ทำให้ภาพยนตร์อินดีเป็นที่เข้าถึงได้สำหรับผู้ชมทั่วประเทศด้วยการนำภาพยนตร์เหล่านั้นเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ผ่านทางไอเอฟซี ฟิล์มส์ และทางแพลทฟอร์ม ออน ดีมานด์ทางเคเบิล ผ่านทางไอเอฟซี อิน เธียเตอร์ ในปี 2010 ไอเอฟซี เอนเตอร์เทนเมนต์ได้ก่อตั้งแบรนด์ที่สองขึ้นภายใต้ไอเอฟซี ฟิล์มส์ ในชื่อว่าไอเอฟซี มิดไนท์ ซึ่งนำเสนอภาพยนตร์นานาชาติชั้นเชิศ ซึ่งรวมถึงแนวสยองขวัญ ไซไฟ ทริลเลอร์ อีโรติคอาร์ตเฮาส์ แอ็กชัน และ ฯลฯ นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้บุกเบิกการก่อตั้งซันแดนซ์ ซีเล็คส์ในปี 2009 อีกด้วย ซันแดนซ์ ซีเล็คส์ ซึ่งบริหางานโดยไอเอฟซี เอนเตอร์เทนเมนต์ และเป็นแบรนด์ที่ต่อยอดมาจากซันแดนซ์ แชนแนล บริษัทที่มีเรนโบว์ มีเดียเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน ให้บริการภาพยนตร์และสารคดีแบบออน ดีมานด์
ก่อนหน้าที่จะทำงานให้กับบราโว เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโปรแกรมให้กับเจนัส ฟิล์มส์, อิงค์. ที่ซึ่งเขาได้ทำงานในหลากหลายตำแหน่งในสายจัดจำหน่ายและงานสร้าง เขาเป็นสมาชิกผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาศิลปะนานาชาติแห่งเว็กซ์เนอร์ เซ็นเตอร์ในโคลัมบัส, โอไฮโอและเป็นหนึ่งในบอร์ดผู้อำนวยการฟิล์ม อินดีเพนเดนท์
จอห์น สลอส (John Sloss—ผู้อำนวยการสร้าง)
จอห์น สลอส เป็นผู้ก่อตั้งซิเนติค มีเดีย ผู้ร่วมก่อตั้งฟิล์มบัฟฟ์ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง อินดิจเอ็นท์ บริษัทดิจิตัล โปรดักชัน ร่วมกับผู้กำกับแกรี วินิค เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหุ้นส่วนของสลอส เอ็คเฮาส์ ลอว์โค แอลแอลพี บริษัทกฎหมายด้านความบันเทิง และเขาก็ได้ร่วมก่อตั้งโปรดิวเซอร์ส ดิสทริบิวชัน เอเจนซี ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่อง Exit Thorough the Gift Shop, Senna, The Way, Brooklyn Castle และ Escape From Tomorrow
ผ่านทางซิเนติค มีเดีย เขาได้มีส่วนร่วมในการขายและ/หรือให้ทุนสร้างภาพยนตร์กว่า 400 เรื่อง ซึ่งรวมถึง Before Midnight, Life Itself, The Square, Short Term 12, Safety Not Guaranteed,Friends With Kids, The Kids Are All Right, Precious, We Own the Night, I’m Not There, Napoleon Dynamite, Little Miss Sunshine และ Super Size Me เขาได้ร่วมงานกับริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์นับตั้งแต่การจำหน่าย Slacker ในปี 1991 และได้อำนวยการสร้างผลงานชิ้นโบแดงทางภาพยนตร์ของเขา Boyhood เขาได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์กว่า 60 เรื่อง ซึ่งรวมถึง Before Midnight, Bernie, Far From Heaven และภาพยนตร์รางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง The Fog of War และ Boys Don’t Cry ลูกค้าของเขารวมถึงคิลเลอร์ ฟิล์มส์, เควิน สมิธ, บ็อบ ดีแลน, ชาร์ลส์ เฟอร์กูสัน, อเล็กซ์ กิบนีย์, ท็อดด์ เฮย์นส์, เอ็ดเวิร์ด เบิร์นส์, จอห์น แฮมเบิร์ก, จัสติน ลิน, เจค คัสแดนและบิ๊ก บีช ฟิล์มส์
ก่อนหน้าการก่อตั้งสลอส ลอว์ ออฟฟิศขึ้นในปี 1993 เขาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายระหว่างประเทศ มอร์ริสัน แอนด์ ฟอร์สเตอร์ เขาได้รับปริญญาตรีและวุฒิด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วุฒิคุณในหลักสูตรร่วมกันระหว่างเอ็นวายยู สเติร์น-ทิสช์ เอ็มบีเอ/เอ็มเอฟเอ และบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับความบันเทิงอย่างสม่ำเสมอ เขาใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กกับบรอนวิน คอสเกรฟ, ลูลู ลูกสาวของเขา และเฮนรี ลูกชายของเขา