LUCY – ลูซี่ สวยพิฆาต 28 สิงหาคม ในโรงภาพยนตร์

388x548cmดูจากผลงานยอดเยี่ยมในอดีต ตั้งแต่ La Femme Nikita และ The Professional  จนถึง The Fifth Element มือเขียนบท/ ผู้กำกับ ลุค เบสซอง ได้บรรจงสร้างตัวละครแอ็กชั่นฮีโร่เพศหญิงที่อึดที่สุด และอยู่ในความทรงจำของคนดูมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน บัดนี้ เบสซอง ปล่อยของสุดพลังด้วยการกำกับดาราสาวคนสวย สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน (Captain America: The Winter Soldier, The Avengers) และดาราชายรุ่นเก๋าเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง มอร์แกน ฟรีแมน (The Dark Knight Rises, Oblivion) ใน Lucy ภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ ที่นำเสนอเรื่องราวบททดสอบความเป็นไปได้ที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้ถ้าเธอสามารถใช้ความสามารถของสมองได้ถึง 100 เปอร์เซนต์เต็ม และเข้าถึงจิตตัวเองได้ไกลมากที่สุด

เป็นเวลานานมากแล้วที่มีการตั้งสมมติฐานว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราใช้สมองในระดับเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก และเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วเช่นกันที่มีการศึกษาเพื่อคาดคะเนถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้ามนุษย์สามารถพัฒนาจนก้าวล้ำไปจากขีดจำกัดนั้นได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับจิตสำนึกของเราและความสามารถที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ถ้าทุกพื้นที่ของสมองเกิดทำงานขึ้นมาพร้อมๆ กัน ถ้าเซลล์ประสาทที่อัดอยู่แน่นถึง 86 พันล้านเซลล์ในสมองมนุษย์เกิดทำงานขึ้นมาพร้อมกัน คนๆ นั้นจะกลายเป็นซูเปอร์มนุษย์หรือไม่?

ในเรื่องราวที่เบสซองสร้างขึ้นมาเรื่องนี้ เราจะได้พบกับ ลูซี่ (โจแฮนส์สัน) นักศึกษาสาวไร้ภาระผู้ใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน แต่แล้วเธอกลับโดนแฟนหนุ่มหลอกให้เป็นคนถือกระเป๋าไปส่งให้กับคู่ค้าธุรกิจ แต่ก่อนที่ลูซี่จะทันมองเกมออกว่าเธอโดนหลอกให้เข้าไปยุ่งกับเรื่องอะไร ลูซี่โดนมิสเตอร์จาง (ชอยมินซิก จาก Oldboy, Lady Vengeance) ผู้เหี้ยมโหดจับตัวไปเป็นตัวประกัน และเมื่อลูกน้องสุดชั่วของมิสเตอร์จาง ใส่สารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์รุนแรงเข้าไปในตัวของ ลูซี่ ซึ่งเป็นสารที่สามารถฆ่าเธอได้ถ้าหากมันรั่วไหลจากสิ่งที่บรรจุมันเอาไว้ ความหวาดกลัวของลูซี่กลับกลายเป็นความสิ้นหวัง ลูซี่พร้อมเหยื่ออีกหลายราย ถูกส่งตัวไปที่สนามบินเพื่อให้พวกเธอบินข้ามโลกไปพร้อมกับสินค้าที่มีมูลค่าสูงในตัว

แต่เมื่อสารเคมีดังกล่าวเกิดรั่วไหลโดยไม่ตั้งใจ และร่างกายของลูซี่ดูดซึมสารเข้าไป ร่างกายของเธอเริ่มแสดงปฏิกิริยาในแบบที่คาดไม่ถึง ความสามารถในการทำงานของสมองถูกปลดล็อคเข้าสู่ระดับที่น่าตื่นตะหนก ขณะที่ ลูซี่ พยายามทำความเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นทั้งกับสภาพจิตใจและร่างกายของเธอ ลูซี่เริ่มสัมผัสได้ถึงทุกสิ่งทุกอย่างรอบกาย ไม่ว่าจะเป็นอากาศ แรงสั่นสะเทือน ผู้คน หรือแม้แต่แรงดึงดูด ร่างกายเธอถูกพัฒนาไปจนเกิดพลังเหนือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพลังจิต โทรจิต ความรู้มหาศาล และการควบคุมวัตถุสสารต่างๆ ได้จนน่าตกใจ

ขณะที่สารดังกล่าวยังคงปลุกและปลดล็อคทุกพื้นที่ทุกมุมในสมองของลูซี่ เธอต้องเดินทางข้ามโลกเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากโปรเฟสเซอร์ซามวล นอร์แมน (ฟรีแมน) ผู้ใช้เวลาหลายสิบปีในการศึกษาความสามารถของสมอง ซึ่งทำให้เขาเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จนยากจะหาใครทัดเทียม และเขาเป็นเพียงบุคคลเดียวบนโลกนี้ที่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะนำไปยังที่ใด

คนที่เข้ามาช่วย ลูซี่ ตามหาตัวดร.นอร์แมน ก็คือ ตำรวจฝรั่งเศส สารวัตรปิแอร์ เดล ริโอ (อามีร์ เว็คเค็ด จาก Syriana, ผลงานทางทีวีเรื่อง  House of Saddam) ถึงแม้จะรู้สึกไม่สบายใจกับพลังเหนือมนุษย์ของลูซี่ ที่ดูจะเพิ่มขึ้นในทุกนาที แต่ เดล ริโอ ก็ยินดีจะสละชีวิตของเขาเพื่อปกป้องหญิงสาวที่มองว่าเขาเป็นเสมือนความเป็นมนุษย์ธรรมดาส่วนสุดท้ายของเธอ

ลูซี่ถูกตามล่าตัวโดยแก๊งโจรที่เคยจับตัวเธอไป โดยคนเลวเหล่านี้จะฆ่าทุกคนที่คิดจะนำสินค้าของพวกเขาออกจากตัวผู้หญิงคนนี้ซึ่งบัดนี้ได้กลายเป็นคู่ปรับที่ร้ายกาจที่สุดของพวกเขา นั่นทำให้ลูซี่เริ่มพลิกเกมและกลายร่างเป็นนักรบที่พัฒนาฝีมือในการต่อสู้ไปไกลเกินกว่ามนุษย์ธรรมดา

ที่เข้ามาช่วยสร้างชีวิตให้กับเรื่องราวของ เบสซอง เรื่องนี้ จากบทภาพยนตร์ให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ ก็คือ ทีมงานหลังกล้องที่ร่วมงานกับเบสซองมานาน นำทีมมาโดย ผู้อำนวยการสร้าง เวอร์จินี่ เบสซอง-ซิลล่า  (The Family, The Lady), ผู้กำกับภาพ เธียร์รี่ อาร์โบแกสต์ (The Professional, The Fifth Element), โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ฮิวส์ ทิสแซนเดียร์ (The Transporter, Taken), ผู้ลำดับภาพ จูเลี่ยน รีย์ (The Family, The Lady), ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย โอลิวิเย่ร์ เบอริอ็อท (Arthur and the Great Adventure, The Family) และผู้แต่งดนตรีประกอบ เอริค เซอร์ร่า (The Fifth Element, The Messenger: The Story of Joan of Arc)

ผู้อำนวยการสร้างบริหารของภาพยนตร์เรื่อง Lucy คือ มาร์ค ชมูเกอร์ (The Spectacular Now, We Steal Secrets: The Story of WikiLeaks)

เบื้องหลังงานสร้าง

5703_D039_05787_RV2_resize

ความลับของจักรวาล :

วิทยาศาสตร์และนิยายรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในLucy

 

สมองของมนุษย์และความสามารถของสมองเป็นเรื่องฉงนสนเท่ห์และทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดจำนวนมากเกิดความหลงใหล ขณะเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่าเราใช้ความสามารถของสมองน้อยกว่าความสามารถจริงของมัน แต่จำนวนเปอร์เซนต์ที่แน่นอนยังคงไม่มีใครรู้…และอาจเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนตลอดไป  ด้วยแนวคิดเช่นนี้ มือเขียนบท/ ผู้กำกับ ลุค เบสซอง จึงได้นำแนวคิดนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นให้กับโครงเรื่องภาพยนตร์ใหม่ของเขา เขาได้จินตนาการว่ามันจะเป็นเช่นไรถ้าเราสามารถใช้สมองได้มากที่สุด โดยเขาถามตัวเองว่ามันจะส่งผลต่อความเข้าใจชีวิตของเราอย่างไร และบทบาทของเราในชีวิตนั้นด้วย เขาตั้งคำถามว่า “เราจะควบคุมตัวเราเองและคนอื่นๆ ได้มากขึ้นหรือไม่?”

เบสซองสนใจในความคิดที่มี “หญิงสาวธรรมดาๆ” คนหนึ่ง เธอได้พัฒนาความสามารถทั้งทางสมองและร่างกายในระดับยอดมนุษย์ เมื่อมันสมองของเธอถูกปลดล็อค เขาคาดคะเนว่า “ลูซี่มีปัญหามากมายเหมือนกับคนอื่นๆ เธอไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับชีวิตของเธอดี แต่เธอก็ได้ก้าวไปจนถึงความรู้สูงที่สุดในจักรวาลนี้”

ผู้อำนวยการสร้าง เวอร์จินี่ เบสซอง-ซิลล่า ซึ่งเคยร่วมงานกับเบสซองมาแล้วในภาพยนตร์ถึง 3 เรื่อง ได้แก่ The Family, The Lady และ The Extraordinary Adventures of Adèle Blanc-Sec เปิดเผยว่าเบสซองเริ่มเขียนโครงร่างแนวคิดนี้เมื่อสิบปีก่อน “เรื่องราวพื้นฐานของเรื่องนี้มีอยู่แล้ว แต่ฉันว่าตอนนั้นลุคยังไม่พร้อม ฉันเชื่อว่าเขาอยากปล่อยให้มันเติบโตเสียก่อน” เธอหยุดพูดไปชั่วขณะ “ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาต่อมาอีกหลายปีเพื่อที่ในที่สุดเขาจะได้กลับไปหามันอีก”

ถึงแม้เบสซองจะเชื่อว่าแนวคิดเรื่องการขยายความสามารถทางสมองของคนเรา ช่างเหมาะกับการนำมาสร้างเป็นเรื่องราวแอ็กชั่นทริลเลอร์ แต่เขาก็ตั้งใจที่จะวางเรื่องราวนี้เอาไว้บนความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ เบสซองกล่าวว่า “หลังจากผมได้พบนักวิทยาศาสตร์สองสามคน ผมรู้สึกทึ่งกับเรื่องที่พวกเขาบอกผมมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมะเร็ง เรื่องเกี่ยวกับเซล เรื่องเกี่ยวกับความจริงที่ว่าคนเรามีเซลเป็นแสนล้านเซลที่สื่อสารถึงกัน และแต่ละเซลได้ส่งสัญญาณออกไปประมาณ 1,000 สัญญาณต่อวินาที ผมใช้เวลาอยู่นานหลายปีทีเดียวในการหาสมดุลที่ลงตัวระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและเรื่องในส่วนที่เป็นแฟนตาซี”

ขณะที่เขาขุดคุ้ยลึกลงไปในแนวคิดนี้ เบสซองได้พบนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่ง รวมถึงนักประสาทวิทยาชื่อดังระดับโลก อีฟส์ แอ็กจิด ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันสมองและกระดูกสันหลัง (ICM) ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพยาบาล Pitié-Salpêtrière ในปารีส ซึ่งเบสซองคือสมาชิกผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ด้วย แอ็กจิดยังจำได้ดีถึงบทสนทนาระหว่างเขากับเบสซองเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นการผสมผสานระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง เขาเล่าว่า “ตอนที่ลุคบอกผมเกี่ยวกับบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมพบว่ามันพิเศษมากๆ อย่างไรก็ดี ผมต้องรั้งจินตนาการของเขาเอาไว้ด้วยความจริง ซึ่งสุดท้ายมันกลับง่ายมาก เพราะเขาเข้าใจทุกอย่างได้รวดเร็วมาก”

เมื่อแอ็ดจิดเข้ามาช่วยเบสซองให้เดินไปบนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริงตามทฤษฎีและจินตนาการได้แล้ว เขาเริ่มเล็งเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างภาพยนตร์นั้นที่จริงก็ไม่ได้ต่างไปจากทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานในฐานะนักวิทยาศาสตร์เลย แอ็กจิดกล่าวว่า “นั่นคือสิ่งที่ผมพบว่าเป็นความน่าชื่นชมในภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นก็คือมีความเป็นจริงอยู่ ตัวอย่างเช่น Lucy พูดถึงจำนวนเซลในสมองของคนเรา จำนวนของสัญญาณที่เซลๆ หนึ่งผลิตออกมาต่อหนึ่งวินาที และอื่นๆ ด้วยการใช้ประโยชน์ของเรื่องราวเหล่านี้ทั้งหมด ลุคสามารถดำเนินเรื่องได้อย่างน่าทึ่งทั้งเรื่อง แน่นอน ยิ่งลูซี่ผจญภัยมากขึ้นเท่าไหร่ เรื่องนี้ก็จะยิ่งกลายเป็นเรื่องแต่งมากขึ้น ซึ่งผมพบว่ามันมั่นคงมาก เมื่อคุณได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะเชื่อสนิทใจเลย มันจับใจคุณ เพราะมันยืนอยู่ในความเป็นจริง”

เบสซองเล่าให้เราฟังถึงการค้นคว้า ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นตัวเล่าเรื่องราวนี้ “มีการผสมผสานของหลายปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนเลวและเจ้าพ่อยาเสพติดคนใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ยาเสพติดหรอก ที่จริง มันเป็นสารตามธรรมชาติที่ผู้หญิงท้องสร้างขึ้นมาในตัวในช่วงที่ท้องอาทิตย์ที่ 6 ซึ่งเรียกกันว่า CPH4 ตามที่ผมได้พูดคุยกับหมอหลายคน ผมได้คิดไอเดียนี้ขึ้นมา ซึ่งมันก็ไม่ได้ไร้เหตุผลไปเสียทั้งหมด ในหลายจุด เมื่อคุณเปิดความสามารถของสมองให้มีมากขึ้นแล้ว ถ้าคุณสามารถใช้มันได้มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ คุณก็สามารถเปิดไปสู่การใช้สมองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคุณเขยิบไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ คุณก็สามารถเปิดไปสู่เส้นทาง 40 เปอร์เซ็นต์ และต่อๆ ไป มันเป็นเหมือนโดมิโน เอฟเฟ็กต์ ดังนั้นลูซี่กำลังสร้างสมองของเธอเอง และเธอไม่สามารถหยุดมันได้ เธอไม่ต้องการมัน เธอไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับมันดี”

 

ผู้หญิงคนแรกคนใหม่ของโลก:

ลูซี่ถือกำเนิดใหม่อีกครั้ง

 5703_D020_03253_RV3_resize

จากที่เคยสร้างตัวละครหญิงที่มีความโดดเด่นและแข็งแกร่งอย่าง นิกิต้า ในภาพยนตร์เรื่อง La Femme Nikita, มาธิลด้า ใน The Professional และลีลู ใน The Fifth Element ถือว่าเบสซองได้สรรค์สร้างแอ็กชั่นฮีโร่หญิงที่อึดและโหดที่สุดในภาพยนตร์ยุคใหม่ และเพื่อจะหาคนมาแสดงเป็นตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของเขาเรื่องนี้ เบสซองต้องการนักแสดงหญิงที่ดูน่าเชื่อทั้งในช่วงที่อ่อนแอมากที่สุด และในช่วงที่ทรงพลังเหนือมนุษย์ เมื่อการเปิดรับสารผิดกฎหมายทำให้เธอได้ทักษะเหนือมนุษย์มากมาย

เบสซอง-ซิลล่า พูดถึงตัวฮีโร่หญิงในเรื่องนี้ว่า “ลูซี่เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่กำลังสนุกกับเพื่อนๆ ของเธออยู่ในเอเชีย และเธอได้ไปงานปาร์ตี้มากมาย เธอกำลังเผชิญชีวิต แต่เธอต้องพบชีวิตในแบบที่ยากลำบาก และมันเดินหน้าไปไกลเกินกว่าที่เธอเคยคาดหวังเอาไว้”

สำหรับบท ลูซี่ เบสซองและผู้อำนวยการสร้าง ได้ติดต่อ สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ผู้เคยแสดงนำในภาพยนตร์อย่าง Lost in Translation และ Her รวมไปถึงภาพยนตร์แอ็กชั่นบล็อกบัสเตอร์ อย่าง Iron Man 2, The Avengers  และเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ Captain America: The Winter Soldier เบสซองรู้สึกประทับใจในความมีวินัยของนักแสดงสาวผู้นี้มาก เขาอธิบายว่าเธอเป็นคนพิถีพิถันและเป็นมืออาชีพนับแต่เริ่มต้นทำงาน “เมื่อเราได้พบกันครั้งแรก สการ์เล็ตต์ได้อ่านบทมาแล้ว ผมสนุกกับวิธีการที่เธอพูดถึงเรื่องนี้มาก เธอตื่นเต้นด้วยเหตุผลที่ใช่ ซึ่งก็คือตัวเนื้อเรื่อง ในวินาทีนั้น สำหรับผมแล้วทุกอย่างลงตัวแล้ว เธอคือคนที่ใช่จริงๆ”

โจแฮนส์สันอธิบายว่า ความสนใจข้อหนึ่งที่เธอมีต่อการมาแสดงเป็น ลูซี่ อิงอยู่กับความจริงที่ว่าตัวละครตัวนี้ “กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงในชีวิตตอนที่เราได้พบเธอ เธอกำลังค้นหาว่าตัวเองเป็นใคร และเธอรู้สึกว่าเธอควรจะทำอะไรสักอย่างกับชีวิตตัวเอง” โจแฮนส์สันไม่เพียงแต่สนใจในตัวเนื้อหาของเรื่องเท่านั้น แต่เธอยังสนใจจินตนาการของเบสซองอีกด้วย เธอกล่าวว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งคำถามเรื่องตัวตนที่มีความซับซ้อนอย่างมาก มันยากที่จะจินตนาการได้ว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้จะพัฒนาไปอย่างไร เพราะมันคือวิสัยทัศน์ของลุค ทุกอย่างที่ฉันจินตนาการเอาไว้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเช่นไร ตั้งแต่อ่านคำบรรยายในบทภาพยนตร์ มันน้อยมากเมื่อเทียบกับชีวิตจริงที่ลุคใส่ลงไปในโปรเจ็กต์นี้”

โจแฮนส์สันยอมรับว่าแม้ในตอนแรกเธอจะไม่ค่อยเข้าใจกับโครงสร้างของเรื่องที่ไม่เรียงเหตุการณ์ตามลำดับ แต่เธอรู้ดีว่าเธอสามารถไว้ใจเบสซองได้ โจแฮนส์สันคุ้นเคยดีกับงานของเบสซอง เธอจึงตัดสินใจเซ็นสัญญาณแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ “นี่คือสิ่งที่ดึงดูดฉันมาสู่โปรเจ็กต์นี้” เธอยืนยัน “ฉันต้องเชื่อใจในวิสัยทัศน์ของลุค ฉันจำได้ตอนที่พบเขาและเขาพูดว่า ‘คุณต้องไว้ใจว่าผมรู้ดีเลยว่านี่คือเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะในบางครั้ง มันอาจดูคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ถ้าคุณได้เห็นสิ่งที่ผมเห็น คุณจะเชื่อในเรื่องนี้เลย’ ดังนั้น ฉันจึงเกิดความศรัทธา เขาคือชายผู้น่าเกรงขามผู้รู้ดีในสิ่งที่เขามองเห็นในหัวของเขา และต้องการให้ภาพนั้นถูกสร้างออกมาอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด”

ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่างยอมรับว่าบท ลูซี่ คือบทที่เรียกร้องสูงมาก อย่างไรก็ดี โจแฮนส์สันทำงานได้เกินความคาดหวังของทุกคน เบสซอง-ซิลล่าให้ความเห็นไว้ว่า “มันเป็นบทที่ยากมาก เพราะลูกซี่เริ่มต้นจากการเป็นผู้หญิงธรรมดา และเปลี่ยนไปเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เธอต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก สการ์เล็ตต์สามารถนำเสนอการผจญภัยนั้นได้อย่างง่ายดายจริงๆ”

เพราะมีภาพของตัวละครชัดเจนอยู่แล้ว เบสซองจึงได้คิดหาวิธีที่จะช่วยให้ดารานำหญิงของเขาเข้าถึงตัวละครตัวนี้ได้ เขาอธิบายว่า “เราได้สร้างบางสิ่งขึ้นมาซึ่งตลกมาก เพื่อให้เธอเข้าใจว่าผมต้องการปฏิกิริยาอย่างไรจากเธอ เมื่อผมบอกให้เธอเล่นด้วยการพูดว่าผมต้องการพลังสมอง 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 70 เปอร์เซ็นต์”

“สำหรับทุกๆ 10 เปอร์เซ็นต์ เราจะทำชาร์ตบอกเอาไว้ว่าคุณทำอะไรได้ในระดับเปอร์เซนต์นั้น ในเรื่องของระดับความรู้และความเป็นไปได้” เบสซองเล่าต่อไปว่า “มันเป็นการชี้นำที่ดีมาก ทุกๆ เช้า เธอจะมาดูที่ชาร์ตเพื่อดูว่าเธอต้องเล่นเป็นผู้หญิงระดับไหน ถ้าคุณดูลูซี่ตอนต้นเรื่องกับลูซี่ในตอนจบ พวกเธอจะมีอะไรที่คล้ายกันน้อยมาก เมื่อเรามาถึงกองถ่าย สการ์เล็ตต์ก็พร้อมแล้ว คุณสามารถเรียกร้องได้เลยว่าคุณต้องการอะไร เธอจะพูดว่า ‘โอเค’ เธอยินดีทดลองเสมอ”

โจแฮนส์สันยอมรับว่าส่วนที่ท้าทายที่สุด ก็คือการแสดงเป็น ลูซี่ ให้เป็นตัวละครที่ทุกคนสามารถผูกพันได้ ถึงแม้ว่าเธอจะผ่านการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจและร่างกายก็ตาม “เมื่อตัวยาออกฤทธิ์ ลูซี่เริ่มสูญเสียความสามารถที่จะมีอารมณ์ร่วมและความรู้สึกเจ็บปวด ถึงแม้เธอจะสามารถเจาะลึกเข้าไปในความทรงจำของคน และสุดท้ายสามารถควบคุมร่างกายของเขาได้ แต่เธอไม่มีความคิดเห็นใดๆ เธอสูญเสียไอเดียหรือการตัดสินเกี่ยวกับคนๆ นั้น มันยากที่จะไม่ทำให้การแสดงออกมาดูแบนราบและเป็นอารมณ์เดียว คุณต้องมองเห็นถึงความเป็นมนุษย์เบื้องหลังสภาพแวดล้อมของเธอ”

 

พัฒนาการไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง:

ทีมนักแสดงสมทบ

 5703_D034_03726_RV2_CROP_resize

เมื่อความสามารถต่างๆ ของเธอพัฒนาไป ลูซี่ได้ติดต่อไปหาโปรเฟสเซอร์ ซามวล นอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมันสมองของมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเธอ ในไม่ช้าหลังจากเธอมีพลังเหนือมนุษย์ เธอพบว่าเธอสามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่เรียนภาษาจีนภายในหนึ่งชั่วโมง และเริ่มที่จะสามารถควบคุมพื้นที่และเวลาได้ ทางทีมผู้สร้างโชคดีมากที่ได้ตัวนักแสดงชายระดับรางวัลออสการ์อย่าง มอร์แกน ฟรีแมน มาร่วมทีมในบท นักประสาทวิทยาชื่อดังระดับโลก ผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาว่าเราจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเก็บเอาไว้ในสมองของเราได้อย่างไร

เพราะฟรีแมนมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว และมีความสนใจมากเป็นพิเศษในเรื่องความสามารถทางสมอง ทำให้เขากลายเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับบทนี้อย่างมาก “มอร์แกน ฟรีแมนคือโปรเฟสเซอร์ผู้นี้ด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน ประการแรก เขาสนใจในทฤษฎีที่เราพัฒนาขึ้นมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเขาคุ้นเคยกับมันดีอยู่แล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนที่เราจะได้มาเจอกันเพื่อทำงานร่วมกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับเขา มันกลายเป็นความเพลิดเพลินที่ได้พูดถึงมัน และประการที่สอง เขาเป็นนักแสดงที่เก่งมากจนคุณเชื่อในทุกอย่างที่เขาพูด”

เบสซอง-ซิลล่ารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นฟรีแมนเข้ามาร่วมงานด้วย “มอร์แกนคือหนึ่งในคนไม่กี่คนที่เล่นเป็นพระเจ้าได้” เธอกล่าวอย่าวกระตือรือร้น “ฉะนั้น การเล่นเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนภูมิปัญญาในภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าเขาเป็นนักแสดงที่สมบูรณ์แบบลงตัวมาก”

ฟรีแมนเองก็ตื่นเต้นไม่แพ้กันที่ได้มาร่วมทีมนักแสดงของภาพยนตร์เรื่องนี้ เขายอมรับว่าเขาแสดงเป็นตัวละครด้วยความภาคภูมิอย่างสูง “โปรเฟสเซอร์นอร์แมนได้เขียนบทความเกี่ยวกับสมองมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว” เขาบอก “เขายังเดินทางไปบรรยายทั่วโลก และเขาไปอยู่ที่ซอร์บอนน์ ในปารีส เป็นเวลาหลายปี เพราะเขาเก่งเหนือใครในเรื่องนี้ ลูซี่จึงตามล่าหาตัวเขา เพราะเธอกำลังคิดอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมองของเธอ”

นักแสดงเจ้าบทบาทผู้นี้บอกว่าโปรเฟสเซอร์นอร์แมนรู้สึกภูมิใจมากที่ได้รับการติดต่อจากลูซี่ “ตอนที่เธอโทรศัพท์มาหาเขาแล้วพูดว่า ‘ฉันอ่านบทความทุกชิ้นที่คุณเขียนแล้ว’ เขาตอบไปว่า ‘คุณไม่มีทางอ่านได้หมดหรอก’ และเมื่อเธอเริ่มยกสิ่งที่เขาเคยเขียนเอาไว้ขึ้นมาพูด เขาก็พูดว่า ‘เราต้องเจอกันแล้ว’”

เมื่อจู่ๆ ความสามารถทั้งทางสมองและร่างกายของลูซี่เพิ่มสูงขึ้น เธอกลายเป็นเหยื่ออันล้ำค่าของพวกแก๊งมาเฟียที่เป็นผู้ส่งให้เธอเดินมาบนเส้นทางนี้ โดยเฉพาะสำหรับหัวหน้าแก๊ง มิสเตอร์จาง ซึ่งรับบทโดยนักแสดงเกาหลี ชอยมินซิก “มิสเตอร์จางคือผู้ร้ายที่เยี่ยมที่สุดที่ผมคิดขึ้นมานับแต่ตัวละครของ แกรี่ โอลด์แมน ใน The Professional” เบสซองบอก “ขณะที่ลูซี่ฉลาดเป็นกรด มิสเตอร์จางก็ชั่วร้ายที่สุด”

อันที่จริง เบสซองอยากผลักดันขอบเขตออกไปเมื่อถึงเวลาต้องสร้างศัตรูของลูซี่ “ในวงการภาพยนตร์ เรามักจะทำอะไรเบาเกินไปเกี่ยวกับตัวผู้ร้าย” เบสซองกล่าว “เมื่อคุณเห็นความจริงตามข่าว ผู้คนโหดร้ายกว่าที่เราจินตนาการไว้เยอะ ดังนั้นเราจึงมีอิสระมากมายเมื่อเราทำงานกับตัวผู้ร้าย มิสเตอร์จางเป็นนักธุรกิจที่ชั่วร้ายจริงๆ เขารู้ดีว่ามีโอกาสถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่เขาจะตายในคืนนี้ เขาจึงไม่สนอะไรมากนัก”

ผู้อำนวยการสร้างเห็นด้วยว่ามิสเตอร์จางคือสุดยอดของความชั่วร้าย “เขาไม่มีขีดจำกัดจริงๆ” เบสซอง-ซิลล่าบอก “เขาคือมนุษย์ที่เลวร้ายที่สุด เขาไม่มีค่านิยม ไม่มีความรัก ไม่มีความเมตตา เขาทำทุกอย่างเพื่อธุรกิจ ฉันว่าเขาไม่มีอารมณ์ใดๆ ทุกอย่างรอบตัวเขาเป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้น”

ถึงแม้นักแสดงชาวเกาหลีใต้ผู้นี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีจากบทบาทในภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมเรื่อง Oldboy ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสสักคำ เบสซองเชื่อว่าเขาเหมาะกับบทนี้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด ผู้กำกับเบสซองพูดว่า “มันตลกเพราะภาษาร่างกายของเราคือระบบการสื่อสารของพวกเรา ผมจะแสดงบทนี้ แล้วเขาก็จะแสดงให้ผมเห็นว่าเขาจะทำอะไรกับฉากนั้น เราสื่อสารกันจนแทบจะเหมือนพวกลิงเลยก็ว่าได้” อย่างไรก็ดี เบสซองชื่นชมนักแสดงชายผู้นี้อย่างที่สุด “ผมทึ่งกับชอยจริงๆ นะ เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่เก่งที่สุดที่ผมเคยเจอมาเลย เขาทั้งน่าชื่นชมและน่ารักมาก”

เบสซอง-ซิลล่ายังจำได้ดีเลยว่าพวกเขาต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะกล่อมให้ชอยมินซิกมาร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ อันที่จริง Lucy คือภาพยนตร์ระดับโลกเรื่องแรกที่ชอยมินซิกรับเล่น “ในตอนแรก เราก็ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะแสดงหนังเรื่องนี้ไหม” เบสซอง-ซิลล่าเล่า “เราต้องเดินทางไปพบเขาที่เกาหลี คุยกับเขา และพูดถึงเรื่องนี้ให้ฟัง และสุดท้ายเขาก็พูดว่า ‘โอเค ผมสนใจ ผมอยากแสดงหนังเรื่องนี้’”

อันที่จริง มินชิกรู้สึกงงมากที่ได้ยินในตอนแรกว่าเบสซองอยากพบเขา คงไม่ต้องบอกเลยว่านี่คือข้อเสนอที่เขาไม่อาจปฏิเสธได้ “ตอนที่ผมยังอายุน้อยกว่านี้ ผมเคยดูหนังของลุคหลายเรื่อง” ชอยมินซิกเล่า “หนังพวกนั้นมักจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับผมเสมอ ดังนั้นผมคิดว่า ‘หลังจากเป็นนักแสดงมานานหลายปี ในที่สุดผมก็ได้พบผู้กำกับคนเก่งคนนี้เสียที’ ผมว่ามันเกิดมาจากความอยากรู้อยากเห็นของผม ผมสงสัยว่าเขาทำงานในกองถ่ายยังไง จิตวิญญาณของคนเหล่านี้จะเป็นเช่นไร และโลเกชั่นจะเป็นยังไง”

ถึงแม้ว่าตัวละครของเธอจะถูกมิสเตอร์จางและลูกน้องทรมาน แต่ถึงกระนั้น โจแฮนส์สันก็ยังรู้สึกชื่นชมในตัวนักแสดงร่วมจอของเธอผู้นี้ “การได้ทำงานกับชอยมันเยี่ยมมาก” โจแฮนส์สันบอก “เราไม่ได้พูดภาษาเดียวกันก็จริงอยู่ แต่เราสามารถสื่อสารกันได้ดีมากด้วยอารมณ์ของพวกเรา ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะกำลังแสดงฉากที่มีความรุนแรง เย็นชา และโหดร้าย แต่การปรากฎตัวของเขานั้นมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างมากจนเราสามารถสื่อสารกันด้วยจิตวิญญาณ แต่เขาทั้งน่ารักและอบอุ่น และมีความสุขเสมอที่อยู่ในกองถ่าย เขาเป็นภาพที่น่าดู เพราะเขาแสดงออกได้อย่างเหลือเชื่อ ถึงแม้มิสเตอร์จางจะถูกมองว่าเป็นคนชั่วร้ายเลวทราม แต่ชอยก็ทำให้ตัวละครตัวนี้ออกมาดูมีหลากมิติมาก”

ขณะที่ลูซี่หลบหนีจากพวกแก๊งโจร เธอได้ติดต่อหา ปิแอร์ เดล ริโอ ตำรวจฝรั่งเศสที่เธอให้เงื่อนงำถึงพวกลักลอบขนของผิดกฎหมายที่พยายามจะเล็ดรอดผ่านด่านการตรวจรักษาความปลอดภัยของสนามบิน เดล ริโอ ซึ่งรับบทโดยนักแสดงชาวอียิปต์ อามีร์ เว็คเค็ด รู้สึกฉงนเมื่อหญิงสาวผู้นี้ติดต่อมาหาเขา ในตอนแรกเขาไม่ค่อยเชื่อเรื่องที่เธอเล่ามากนัก “เขาคิดว่ามันเป็นโทรศัพท์แกล้ง หรือเป็นคนที่พยายามจะยั่วประสาทเขา” เว็คเค็ด ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีจากบทบาทในภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมของ สตีเฟ่น กาแกน เรื่อง Syriana กล่าว “ในที่สุดแล้ว เขาก็ร่วมเดินทางไปกับเธอ และพบว่าเธอมีพลังพิเศษในตัว ถึงแม้เขาจะไม่รู้ว่ามันมาจากไหนก็ได้ เขารู้สึกอึ้งไปกับความสามารถของเธอ และความสัมพันธ์ของพวกเขาก็สนิทสนมกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

เบสซองอธิบายว่า เดล ริโอมีความใสซื่อ ซึ่งสำหรับผู้ชายอย่างเขา ผู้ใช้ชีวิตปกติธรรมดาอย่างมาก ลูซี่ดูเหมือนมนุษย์ต่างดาวไปเลย “เขารู้ตัวดีว่าพลังของลูซี่นั้นยิ่งใหญ่เสียจนเขาคงไม่มีทางทำอะไรได้” เบสซองบอก “เดล ริโอคือตัวแทนของคนดู โดยหลักๆ แล้วเขาก็คือคุณกับผมนี่แหละ”

ผู้อำนวยการสร้างตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้นี้มีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับมิสเตอร์จาง “ตามที่ลูซี่บอก เดล ริโอคือบุคคลที่เตือนเธอให้นึกถึงความเป็นมนุษย์ของเธอ เพราะเขาเป็นตัวแทนของความใจดี” เบสซอง-ซิลล่ากล่าว “เขาคือคนที่จะอยู่เคียงข้างเธอไปจนถึงตอนสุดท้าย และคอยปกป้องเธอ เธอสูญเสียอารมณ์ไปทั้งหมดเพราะการได้รับตัวยาตัวนี้ แต่เมื่อเธออยู่กับเดล ริโอ มันช่วยจุดประกายความรู้สึกเล็กๆ ที่ยังคงแอบซ่อนอยู่”

เมื่อทางตัวแทนของเขาโทรศัพท์มาแจ้งให้รู้ว่า เบสซองอยากพบและกำลังพิจารณาที่จะมอบบทบาทให้เขาแสดงในผลงานใหม่ เว็คเค็ดตื่นเต้นมาก “ลุค เบสซองอยากพบผมเหรอ ผมก็อยากพบเขาเหมือนกัน” เว็คเค็ดกล่าวติดตลก “เอาจริงๆ นะ สำหรับผม มันเพียงพอแล้วที่ลุคเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่จะทำให้ผมอยากแสดงหนังเรื่องนี้ เมื่อคุณได้อ่านบทภาพยนตร์แล้ว คุณจะรู้เลยว่าทำไมลุคถึงได้กลายมาเป็นผู้กำกับ มือเขียนบท และผู้อำนวยการสร้างคนสำคัญเช่นนี้”

เบสซอง-ซิลล่า เพลิดเพลินกับความจริงที่ว่าคนดูชาติตะวันตกไม่คุ้นเคยกับนักแสดงหนุ่มชาวอียิปต์คนนี้นัก “สิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับตัวเขาก็คือเขาเป็นนักแสดงที่เก่งมาก และเราไม่ค่อยได้เห็นเขาในหนังมากเรื่องนัก” เบสซอง-ซิลล่าบอก “ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีหน้าใหม่ๆ บนจอบ้าง”

ผู้อำนวยการสร้างหญิงพูดถึงความสนใจของเบสซองในการสร้างภาพยนตร์ที่พูดถึงวิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และทางสังคมด้วย “ลุคอยากแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายบนโลกใบนี้ และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงมี สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ที่เป็นคนคอเคเชี่ยน มี มอร์แกน ฟรีแมน ที่เป็นอัฟริกัน-อเมริกัน มีชอยมินซิกที่มาจากเกาหลี และอามีร์ เว็คเค็ด จากอียิปต์”

 

เวลาคือหนึ่งเดียวกัน:

การถ่ายทำ ณ โลเกชั่น

 5703_D011_00077_R_CROP_resize

การถ่ายทำในไต้หวัน

เมื่อเบสซองเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Lucy ในเวอร์ชั่นแรกเมื่อสิบปีก่อน เขาตั้งใจให้ส่วนงานแอ็กชั่นเกิดขึ้นในไทเป ประเทศไต้หวัน เขาเคยเดินทางไปยังเมืองแห่งนี้ในปี 1994 เพื่อโปรโมทภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Element และเขารักผู้คนและความรู้สึกของเมืองแห่งนี้มาก เมื่อถึงเวลาต้องตระเวณหาโลเกชั่นสำหรับถ่ายทำภาพยนตร์แอ็กชั่นทริลเลอร์เรื่องนี้ ทางทีมผู้สร้างได้พิจารณาหลายต่อหลายเมืองในเอเชียเพื่อใช้ถ่ายทำ  โดยพิจารณาในเรื่องของทุนสร้างและการขนส่ง เบสซองกล่าวว่า “เรื่องสนุกก็คือสุดท้ายแล้ว เราก็ถ่ายทำกันในไทเปและเราก็เลือกโรงแรมที่ผมเคยพักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมไม่สามารถคิดทางเลือกอื่นที่ดีไปกว่าที่ผมเคยคิดเอาไว้เมื่อสมัยนั้น”

เบสซอง-ซิลล่ายืนยันว่าไม่มีทางที่พวกเขาจะสร้างไทเปในที่อื่นได้ “นับแต่เริ่มต้น เขานึกภาพของหนังเรื่องนี้เอาไว้ในไทเปอยู่แล้ว เพราะลุคอยากให้มันเกิดขึ้นในเมืองในเอเชียที่ซึ่งทุกอย่างเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไทเปตรงสเป็คที่เขาต้องการทุกอย่าง อีกอย่าง ไม่ค่อยมีหนังยุโรปหรือหนังอเมริกันไปถ่ายทำกันที่นั่นมากนัก”

ผู้กำกับเบสซองสนุกกับการถ่ายทำในไต้หวันอย่างมาก เขายังสนับสนุนให้ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มาถ่ายทำกันที่นั่น “ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในไทเปเป็นคนที่อ่อนโยนที่สุดที่ผมเคยเจอมา” เบสซองกล่าวอย่างกระตือรือร้น “ทางการก็ให้ความช่วยเหลือทีมงานดีอย่างมาก แล้วคุณก็จะได้ถ่ายทำที่โลเกชั่นจริงซึ่งมีทุกรูปแบบ ทั้งอาคารในเมือง วิวริมทะเล ชายหาด ป่า ภูเขา ทั้งหมดนี้อยู่ภายใน 100 ไมล์” เขาหยุดพูดไปชั่วครู่ “เหนือสิ่งอื่นใด ที่แห่งนี้มีขนมจีบซาลาเปาที่อร่อยที่สุดในโลก”

Lucy ถือเป็นครั้งแรกที่โจแฮนส์สันได้มาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทเป “ฉันชอบมากที่สามารถออกท่องเที่ยวสำรวจในเมืองแห่งนั้นได้” โจแฮนส์สันเล่า “เมืองนั้นให้การต้อนรับดีมาก เพียงแต่พวกเราเหนื่อยกันมาก มีอาการเจ็ทแล็ก บวกกับความรู้สึกสับสนของตัวละครของฉัน และสถานที่ที่เดินออกมา เมื่อเธอเริ่มต้นได้รับผลกระทบจากยาตัวนี้”

ในไต้หวัน มีประเพณีที่จะต้องมีการสวดมนต์และบวงสรวงของเซ่นไหว้ให้กับเหล่าวิญญาณเมื่อเริ่มต้นงานถ่ายทำ ผู้อำนวยการสร้าง เบสซอง-ซิลล่าเล่าถึงประสบการณ์ในวันนั้นว่า “ในวันแรก เราต้องตั้งโต๊ะที่เต็มไปด้วยอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อฉันไปที่กองถ่าย ฉันคิดว่า ‘โต๊ะตัวนี้มาตั้งทำอะไรกลางกองถ่ายแบบนี้’ แล้วก็มีคนพูดว่า ‘เอาไว้ไหว้เซ่นดวงวิญญาณ’ มันเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก และฉันก็ชอบมากที่ได้เดินทางไปยังประเทศแห่งหนึ่งและได้สัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ฉันเชื่อว่ามันได้นำหลายสิ่งหลายอย่างมาให้กับทีมงานและให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย”

เบสซองเองก็ตกอยู่ใต้มนต์เสน่ห์ของประเพณีของประเทศแห่งนี้เช่นกัน เขาเล่าให้ฟังถึงวันแรกของการถ่ายทำว่า “ทุกคนพากันถือธูป และสวดมนต์เป็นภาษาจีน จากนั้นเราก็โค้งคำนับ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ตะวันตก ใต้ และตะวันออก เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากกองถ่าย และมันก็ได้ผลเสียด้วย เพราะเราไม่เคยเจอเรื่องร้ายๆ เลยตลอดการถ่ายทำ มันทั้งอ่อนหวานและน่าประทับใจที่ได้มาเห็นภาพแบบนั้น ไม่ว่าคุณจะมาจากภูมิภาคไหน แต่การทำพิธีแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทุกคนจริงๆ”

 

ปารีส

หลังจากลูซี่หนีมาจากไต้หวัน เธอลงเอยที่ปารีส ที่ซึ่งทีมผู้สร้างใช้ถ่ายทำฉากแอ็กชั่นมันส์ที่สุดหลายฉาก โลเกชั่นสำคัญๆ ได้แก่ รู เดอ ริโอลี่  ที่อยู่ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และสวนตุยเลอรี มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ที่โด่งดังไปทั่วโลก โรงพยาบาลทหาร Val-de-Grâce ซึ่งเป็นที่ที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสเข้ารับการรักษาตัวอยู่ และตลาดนัด

ตามที่เบสซอง-ซิลล่าบอก เมื่อถึงเวลาต้องถ่ายทำฉากขับรถไล่ล่ากันในแบบที่จริงจังที่สุด ทีมงานตัดสินใจถ่ายทำกันในช่วงกลางฤดูร้อน ซึ่งในปารีสจะมีผู้คนน้อยลง ผู้อำนวยการสร้างหญิงกล่าวว่า “ลุคมีความคิดเพี้ยนๆ ที่จะให้ลูซี่ขับรถของเธอผ่านการจราจรในรู เดอ ริโวลี ซึ่งเป็นถนนสี่เลนที่เดินรถทางเดียวและมีการจราจรหนาแน่นมาก ระหว่างลูฟวร์และจัตุรัสคอนคอร์ด และ ณ ที่แห่งนั้นเธอต้องขับด้วยความเร็วสูงสุด กลางวันแสกๆ! มันสุดยอดมาก”

เบสซองตั้งใจถ่ายทำฉากแอ็กชั่นที่ท้าทายมากที่สุดฉากหนึ่งในตลาดนัดของปารีส “เราอยู่ในตลาดนัดที่เต็มไปด้วยผู้คน ในเวลาบ่ายสองโมง และรถจะต้องขับผ่าเข้ามาที่นี่และลงเอยบนกองผลไม้และผัก” เบสซองหัวเราะ “มีการรักษาความปลอดภัยเยอะมาก และหลังจากถ่ายทำนานสามวัน เราก็ได้ฉากสตั๊นต์ที่เยี่ยมมาก”

มินซิกรู้สึกสนุกกับการทำงานในปารีสมาก “ปารีสมีอาหารอร่อย จนผมรู้สึกว่ามันยากที่จะห้ามใจจากอาหารฝรั่งเศสสุดแสนอร่อย” ชอยมินซิกกล่าว “ผมคิดว่าน้ำหนักผมเพิ่มขึ้นด้วย มันจึงไม่ช่วยอะไรผมเลย” เขาหัวเราะ

 

ไซต์ ดู ซินีมา

นอกจากถ่ายทำกันตามโลเกชั่นในปารีสแล้ว ทางทีมงานยังไปถ่ายทำหลายส่วนที่โรงถ่ายซึ่งเป็นของไซต์ ดู ซีนีมา ศูนย์คอมเพล็กซ์โรงถ่าย 9 โรงของเบสซองที่ตั้งอยู่นอกปารีส สตูดิโอขนาด 102,500 ตารางฟุต มีภาพยนตร์หลายเรื่องมาถ่ายทำที่นี่ รวมถึงภาพยนตร์อย่าง 3 Days to Kill, The Family, Taken 2  และ The Hundred-Foot Journey

ฉากในอาคารส่วนใหญ่ อย่างเช่นห้องสูทโรงแรม และหลายส่วนของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ก็ถูกสร้างขึ้นที่โรงถ่ายแห่งนี้ เบสซอง-ซิลล่าเล่าว่า”มันสะดวกกว่ามากที่ได้ทำงานในโรงถ่าย เพราะมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ เรามีงานวิชวลเอฟเฟ็กต์มากมาย ซึ่งการถ่ายทำในฉากน่าจะทำให้จัดการได้ง่ายกว่า”

ผู้กำกับเบสซองยังจำได้ดีถึงฉากซอร์บอนน์ “นี่คือหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เราต้องยิงกระสุนมากกว่า 2,000 นัดใส่กำแพง ดังนั้นในวันแรกทุกอย่างจึงยังสะอาดเอี่ยม จากนั้น วันแล้ววันเล่า เราก็ถ่ายทำในที่แห่งนั้นกัน จนสุดท้ายคุณก็มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะมันกลายเป็นหมอกไปหมด ผมจะจดจำภาพของวันแรกเอาไว้ในหัว ในช่วงที่ทุกอย่างยังสะอาดเอี่ยม และวันสุดท้ายเมื่อคุณไม่สามารถจำซอร์บอนน์ได้ด้วยซ้ำ” เบสซองเล่าอย่างสนุกสนาน “เรื่องสนุกก็คือ ซอร์บอนน์เป็นสถานที่แห่งวิชาความรู้ แต่ผมลาออกจากการเรียนเพื่อมาสร้างหนัง ตอนนี้ ผมมาอยู่ที่นี่ กำลังทำหนังเกี่ยวกับความรู้ สติปัญญา และผมก็ทำลายแหล่งรวมความรู้แห่งนี้ไปแล้ว”

โจแฮนส์สันเอ่ยชมฉากต่างๆ ที่สร้างขึ้นที่ไซต์ ดู ซีนีมา “ฉากพวกนั้นทั้งใหญ่และเต็มไปด้วยรายละเอียด” เธอให้ความเห็นไว้ “เราสามารถเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ หรือห้องสูทโรงแรมหรูในไทเป หรือที่อื่นๆ เพื่อเรื่องนี้ ฉันได้เดินทางผ่านโลกที่แตกต่างกันหลายโลก ภายในสตูดิโอแห่งนั้นที่เดียว”

 

วิชวลเอฟเฟ็กต์ และงานเสียงจากเพรซิดิโอ ณ ซานฟรานซิสโก

ถึงแม้งานสร้างภาพยนตร์ของเบสซองแต่ละเรื่องนั้นจะยังไม่เคยใช้งานวิชวลเอฟเฟ็กต์และสเปเชียล เอฟเฟ็กต์เยอะเท่านี้มาก่อน แต่ตัวเบสซองเองยอมรับว่าเขาทำงานกับงานเอฟเฟ็กต์มาตลอดนับแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Fifth Element เมื่อ 17 ปีก่อน ตามที่เขาบอก เขาไม่ใช่ “มือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจับงานทางนี้และอาจหลงทางได้ เพราะมีจอกรีนสกรีนอยู่ทุกที่” บัดนี้ เพราะ Lucy ต้องมีชอตสเปเชียลเอฟเฟ็กต์มากกว่า 1,000 ชอต ทางทีมผู้สร้างจึงตัดสินใจที่จะใช้บริการของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจาก Industrial Light & Magic (ILM) ในเพรสซิดิโอ ออฟ ซานฟรานซิสโก นิโคลัส บรูกส์ ซีเนียร์ วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ ซึ่งเคยคว้ารางวัลออสการ์ได้จากการทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง What Dreams May Come และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาทำหน้าที่เดียวกันนี้ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Now You See Me เป็นคนเข้ามาดูแลการทำงานในส่วนนี้

ผู้กำกับเบสซองกล่าวว่า “นั่นคือนครเมกกะแห่งงานวิชวลเอฟเฟ็กต์เลยนะ คุณลูคัสคือปรมาจารย์ เราจึงไปหาพวกเขา พวกเขาอ่านบทภาพยนตร์ และรู้สึกสนใจ มันคือการทำงานที่ดีมาก เพราะพวกเขาทั้งใจดีและทั้งเก่ง แต่กับภาพยนตร์แบบเรื่องนี้ ผมชอบที่จะแบ่งปันไอเดียกัน มีคนหนุ่มรุ่นใหม่มากมายที่ทำงานอยู่ที่นั่น ซึ่งพวกเขามีไอเดียเยอะ และยินดีที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ บ่อยครั้งที่ผู้สร้างภาพยนตร์พูดว่า ‘เราทำกันแบบนี้ ไม่ใช่แบบนั้น’ แต่ผมพูดว่า ‘นี่คือไอเดียของผม แต่ถ้าคุณมีไอเดียที่ดีกว่า ผมอาจเปลี่ยนใจก็ได้’  มันกลายเป็นความพยายามที่เป็นการร่วมมือกันจริงๆ และทำให้เกิดทีมเวิร์กที่ดีมากๆ”

เว็คเค็ดพูดแทนทีมนักแสดงคนอื่นๆ เกี่ยวกับการได้เรียนรู้เรื่องงานสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ และวิชวลเอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ “มันเป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำงานหน้าจอกรีนสกรีนในภาพยนตร์ และต้องถ่ายทำในสตูดิโอเยอะมาก” เว็คเค็ดตั้งข้อสังเกต “ผมได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ที่ผมเคยสงสัยมาตลอด การมาจากอียิปต์ เราแทบไม่ได้ทำงานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์มากนักในหนังเรื่องหนึ่ง ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนการได้เรียนรู้สำหรับผม” แน่นอน เว็คเค็ดกล่าวเสริมต่อไปอีกว่า “งานนี้ต้องการการใส่ใจมากขึ้น ต้องการสมาธิมากกว่าเมื่อคุณอยู่ในโลเกชั่น เพราะคุณต้องแทนที่ทุกอย่างด้วยจินตนาการของคุณ ดังนั้นแทนที่จะแค่มุ่งเน้นไปที่ต้วละคร และในวินาทีที่คุณแสดง คุณยังต้องมุ่งเน้นไปที่สถานที่ที่คุณต้องเข้าไปยืนอยู่ในนั้นด้วย”

ที่เข้ามาช่วยเสริมงานวิชวลเอฟเฟ็กต์อันน่าตื่นตาใน Lucy ด้วยซาวน์ที่เป็นเอกลักษณ์ ก็คือ แชนน่อน เจ มิลล์ส แห่งสกายวอล์กเกอร์ ซาวน์ ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดต่อเสียงและผู้ออกแบบเสียงให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ มิลล์สที่เคยคว้ารางวัล MPSE Golden Reel Awards สาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยมถึง 4 รางวัลจากภาพยนตร์เรื่อง Avatar, Cars, Atlantis: The Lost Empire และ Titanic ได้ช่วยเบสซองในการสร้างเสียงที่มีเอกลักษณ์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Lucy ซึ่งเสริมความสมบูรณ์โดย ซูเปอร์ไวฃิ่ง ซาวน์ เอดิเตอร์ กีลเลอโม่ บูชาตูว์ และงานมิกซ์เสียงของ เดวิด ปาร์กเกอร์ ผู้เคยได้รับรางวัลออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง (The Bourne Ultimatum, The English Patient)

สุดท้าย เอริค เซอร์ร่า ผู้แต่งดนตรีประกอบที่เคยคว้ารางวัลซีซาร์ ได้เข้ามาสร้างดนตรีประกอบที่กระแทกหัวใจให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่นักดนตรีและนักแต่งดนตรีประกอบชาวอังกฤษ เดม่อน อัลบาร์น แห่ง เบลอร์ แอนด์ กอริลลาซ เป็นคนแต่งเพลงใหม่ให้ เป็นเพลงที่มีชื่อว่า “Sister Rust” งานบัลลาดที่แสนไพเราะเพลงนี้เป็นตัวปิดฉากภาพยนตร์ อัลบาร์นได้พูดถึงการทำงานกับเบสซองว่า “ลุคเป็นคนที่มีสไตล์จำเพาะ และมีวิธีการทำหนังที่พิเศษสุด จนทำให้ผมอยากจะสร้างงานเพลงที่โดดเด่นและเข้ากับภาพยนตร์ของเขา”

การทำงานใกล้ชิดกับผู้มีพรสวรรค์:

สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเบสซอง

5703_FPF_00088AR_resize 

ผลงานภาพยนตร์ของเบสซองนั้นไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน ซึ่งเป็นเพราะความจริงที่ว่าเขาได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกส่วนของงานถ่ายทำ เบสซอง-ซิลล่ากล่าวว่า เบสซองทำงานในทุกแผนกมาก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นผู้กำกับเต็มตัว จึงไม่น่าประหลาดใจที่ทั้งทีมงานและทีมนักแสดงมักจะเห็นเบสซองเติมเลือดปลอมเพิ่มเข้าไปบนตัวนักแสดงตัวประกอบ หรือปัดเครื่องสำอางเพิ่มให้โจแฮนส์สัน ขณะที่เขาทำงานกล้องไปด้วย

ผู้อำนวยการสร้าง อธิบายถึงกระบวนการทำงานของผู้กำกับว่า “ลุคเป็นคนที่ชอบลงมือทำเอง สำหรับเขาแล้ว ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างเรื่องเทคนิคกับการถ่ายทำฉากหนึ่งๆ เมื่อเขาต้องการให้งานเสร็จ เขาจะเดินไปและลงมือทำเอง นั่นคือวิธีการที่เขาสร้างความจริงจังจากฉากและนักแสดง เมื่อคุณอยู่ในกองถ่าย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการให้นักแสดงได้มีเวทีกลาง และไม่ใช่แค่ใส่ใจแต่ส่วนเทคนิคเท่านั้น นักแสดงต่างก็พอใจกับความจริงที่ว่าเขาใกล้ชิดกับนักแสดง เขาถือกล้องเอาไว้และก็คุยกับพวกเขาไปด้วยขณะที่เขาถ่ายทำหนัง”

เบสซองกล่าวเสริมว่า เขามีภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เขาอยากจะทำให้สำเร็จอยู่ชัดเจนแล้ว เขาจึงชอบให้มีกล้องอยู่กับเขาแทบจะตลอดเวลา “ผมจะอยู่ตรงกล้อง หรือผมอาจมีกล้องแบกอยู่บนบ่า ผมชอบที่ได้ใกล้ชิดกับนักแสดง ผมรู้ตัวดี เมื่อคุณพูดว่า ‘แอ็กชั่น’ มันเหมือนกับการปักเข็มไปบนแขนของนักแสดง มันเหมือนกับหมดความรู้สึกไป ในระหว่างช่วงเวลาที่คุณพูดว่า ‘แอ็กชั่น’ และ ‘คัต’ เขาเหมือนหมดความรู้สึกไป เขาเหมือนเป็นคนอื่นไป ผมจึงไม่อยากทำลายตรงนั้น บางครั้งตรงกลางระหว่างประโยค ผมอาจพูดว่า  ‘โอเค หายใจ ทำอีกครั้ง พูดอีกครั้ง ย้อนกลับไปตอนเริ่มต้น’ ผมไม่สั่งคัต เพราะผมอยากจะได้มากที่สุดเท่าที่ผมจะได้ จากอารมณ์ที่นักแสดงเป็นอยู่ในเวลานั้น พวกเขาชอบเพราะว่าสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขาก็คือการสร้างความกดดันจากคำว่า ‘แอ็กชั่น!’”

ทีมนักแสดงพบว่าวิธีการทำงานของผู้กำกับเบสซองนั้นเป็นทั้งรางวัลและเป็นสิ่งที่เรียกร้องจากพวกเขา โจแฮนส์สันพอใจกับสไตล์การกำกับของเบสซองมากเป็นพิเศษ “ลุคมีวิสัยทัศน์จำเพาะว่าเขาต้องการให้แต่ละฉากออกมาเป็นอย่างไร นั่นอาจเป็นเรื่องยาก แต่ฉันชอบลักษณะเช่นนั้นในตัวผู้กำกับ ฉันชื่นชอบความใส่ใจในรายละเอียด และการที่เขาไม่ยอมปล่อยงานแบบง่ายๆ มันอาจทำให้เหนื่อย แต่สุดท้ายแล้ว ฉันก็จะไม่ต้องเดินออกจากฉากด้วยความรู้สึกว่า ‘ฉันไม่รู้ว่าเราได้งานอย่างที่ต้องการแล้วหรือยัง’  เขาเน้นหนักกับความจริงที่ว่าเขาจะไม่ยอมรับงานที่ไม่สมบูรณ์แบบ และนั่นมันสุดยอดมาก!”

เว็คเค็ดเห็นด้วยกับดารานำหญิงของเขา “สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการทำงานกับลุคก็คือ เขาเป็นตากล้องด้วย เวลาผู้กำกับพูดว่า ‘หยุด’ หรือ  ‘คัต’ ผมจะหันไปมองหน้าตากล้องทันที นั่นคือคนดูคนแรกของผม ยืนอยู่ตรงนั้น และดูจากสีหน้าของเขา ผมคิดกับตัวเองว่า ‘โอเค นั่นผ่านไปได้ด้วยดี’ หรือ ‘แบบนี้ท่าทางไม่ดี’ ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่คุณเห็นสีหน้าแบบนั้นของลุค คุณรู้ได้เลยว่าคุณทำได้ถูกต้องแล้ว ขณะเดียวกัน เขาไม่ยอมเสียเวลาเพราะเขาเป็นคนวางกรอบภาพ เขาเป็นคนเคลื่อนกล้อง ไม่มีเวลาให้เสียมากนักระหว่างสิ่งที่คุณทำผิดและสิ่งที่คุณทำถูก เขาเป็นผู้กำกับที่รู้ดีถึงทุกอะตอมเล็กๆ ในเฟรมภาพ เขาอยากให้มันอยู่ตรงไหน และเขาอยากให้มันเป็นอย่างไร สำหรับผมมันคือการได้ความรู้จากการทำงานกับเขา และหวังว่าผมคงจะเป็นนักแสดงที่ดีขึ้นอีกเพราะมัน!”

มินซิกเองก็ชื่นชมบรรยากาศที่แสนอบอุ่นในกองถ่าย โดยเขาบอกว่าทั้งทีมนักแสดงและทีมงานเป็นหนึ่งเดียวกันแม้ว่าเขาจะไม่พูดทั้งภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาอังกฤษก็ตาม “ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมและภาษาจะแตกต่างกัน แต่เราทุกคนต่างก็ทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คนเหล่านี้เป็นมืออาชีพ และพวกเขาทุกคนก็ใจดีกับผมมาก ผมประทับใจกับพวกเขามาก เราหัวเราะและล้อกันเล่นเป็นประจำ ผมจึงมีแต่ความทรงจำที่ดีตลอดการถ่ายทำ”

โปรเฟสเซอร์แอ็กจิด ผู้มีส่วนช่วยเบสซองในการพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ รู้สึกตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่องนี้และประสบการณ์ที่มันมีให้ “Lucy คืองานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสมอง ถ้าคุณได้พูดคุยกับคนที่ยืนอยู่ตรงถนน พวกเขารู้ว่าลำไส้คืออะไร พวกเขารู้ว่าหัวใจคืออะไร ถึงแม้บางครั้งพวกเขาจะคิดว่าอารมณ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวใจก็เถอะ” แอ็กจิดหัวเราะ “แต่อันที่จริงแล้วพวกเขาไม่รู้ว่าสมองคืออะไร มันเหลือเชื่อมาก ผมหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ที่น่าทึ่งมาก จะยิ่งทำให้คนสนใจเรื่องของสมองมากขึ้น  สิ่งที่คุณอ่านเกี่ยวกับสมองมีความซับซ้อนมาก ทั้งน่าเบื่อและยากจะเข้าใจ ฉะนั้นคนที่มาดูภาพยนตร์เรื่องนี้คงจะสนใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสมองมากขึ้น”

นานมากกว่าหนึ่งทศวรรษแล้วหลังจากที่เขาได้เขียนบทภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่อง Lucy เอาไว้ ในที่สุด เบสซองก็พร้อมแล้วที่จะให้โลกได้เห็นผลงานภารกิจแห่งรักที่เขาเฝ้าทะนุถนอมมานาน เขาสรุปว่า “ผมอยากให้คนดูเดินออกมาจากโรงหนังและพูดว่า ‘โอ้พระเจ้า! ฉันอยากรู้เรื่องสมองและสติปัญญาให้มากขึ้น’ จากนั้นพวกเขาก็เล่นอินเตอร์เน็ตเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น”

****

ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอผลงานการสร้างของ ยูโรปาคอร์ป ผลงานความร่วมมือกับ ทีเอฟวัน ฟิล์มส์ พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของ Canal+, Cine+ และ TF1: Lucy นำแสดงโดยสการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน, มอร์แกน ฟรีแมน, ชอยมินซิก, อามีร์ เว็คเค็ด ดนตรีประกอบเป็นฝีมือของ เอริค เซอร์ร่า ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้แก่ โอลิวิเย่ เบริอ็อต ผู้ลำดับภาพ ได้แก่ จูเลี่ยน รีย์ และโปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ได้แก่ ฮิวจ์ส ทิสแซนเดียร์ ผู้กำกับภาพ ได้แก่ เธียร์รี่ อาร์โบแกสต์, เอเอฟซี และผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่  มาร์ค ชมูเกอร์ Lucy อำนวยการสร้างโดย เวอร์จินี เบสซอง-ซิลล่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนบทและกำกับโดย ลุค เบสซอง © 2014 Universal Studios.   www.lucymovie.com

5703_D030_01916_RV2_resize

ประวัตินักแสดง

 

สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน (SCARLETT JOHANSSON) รับบท ลูซี่

สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเธอคือหนึ่งในนักแสดงหญิงรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมากที่สุดของฮอลลีวู้ด เมื่อเร็วๆ นี้ ดาราสาวผู้เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำผู้นี้ แสดงนำในภาพยนตร์ของมาร์เวล เรื่อง Captain America: The Winter Soldier โดยเธอได้ประกบบทกับ คริส อีแวนส์; เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ โจนาธาน เกลเซอร์เรื่อง Under the Skin และภาพยนตร์ตลกรวมดาราของ จอน แฟฟโรว์เรื่อง Chef ซึ่งเธอประกบบทกับ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์ และดัสติน ฮอฟฟ์แมน นอกจากนี้ เธอยังให้เสียงกับภาพยนตร์รักไซไฟของ สไปก์ จอนซ์ เรื่อง Her เธอยังแสดงนำในผลงานกำกับเรื่องแรกของ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ เรื่อง Don Jon โจแฮนส์สันจะกลับไปรับบท นาตาชา โรมานอฟฟ์/ แบล็ค วิโดว์อีกครั้งในภาพยนตร์ใหม่เรื่อง Avengers: Age of Ultron

ในปี 2003 โจแฮนส์สันได้รับคำวิจารณ์ชื่นชม และได้รับรางวัล Upstream Prize สาขาดาราหญิงยอดเยี่ยมที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส จากการประกบบทกับ บิลล์ เมอร์เร่ย์ในภาพยนตร์เรื่อง Lost in Translation ผลงานภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของผู้กำกับ โซเฟีย คอปโปล่า

ตอนอายุ 14 ปี โจแฮนส์สันกลายเป็นที่รู้จักของคนดูทั่วโลกจากการรับบทเป็น เกรซ แม็คลีน วัยรุ่นหญิงที่ได้รับอุบัติเหตุจากการขี่ม้า ในภาพยนตร์ของ โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด เรื่อง The Horse Whisperer จากนั้นเธอได้แสดงนำในภาพยนตร์ของ เทอร์รี่ ซไวคอฟฟ์ เรื่อง Ghost World โจแฮนส์สันยังร่วมแสดงในภาพยนตร์ดราม่าของ โจลและอีธาน โคเอนเรื่อง The Man Who Wasn’t There โดยเธอได้ร่วมแสดงกับ บิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตัน และฟรานซิส แม็คดอร์แมนด์

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอ ได้แก่ The Avengers; Hitchcock ซึ่งเธอประกบบทกับ แอนโธนี่ ฮอปกิ้นส์; ภาพยนตร์ของ คาเมรอน โครว์ เรื่อง We Bought a Zoo; ภาพยนตร์ฮิตโกยรายได้เรื่อง Iron Man 2; ภาพยนตร์ของ พอล ไวตซ์ เรื่อง In Good Company; ภาพยนตร์เรื่อง A Love Song for Bobby Long ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ จอห์น ทราโวลต้า; ภาพยนตร์ของ วูดี้ อัลเลน เรื่อง Match Point ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 4 (ภายในเวลา 3 ปี); He’s Just Not That Into You; Vicky Cristina Barcelona; The Other Boleyn Girl; The Spirit; Girl With a Pearl Earring ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ โคลิน เฟิร์ธ; The Island ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ ยวน แม็คเกรเกอร์; ภาพยนตร์ของ ไบรอัน เดอ พัลม่า เรื่อง The Black Dahlia; ภาพยนตร์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน เรื่อง The Prestige และภาพยนตร์เรื่อง The Nanny Diaries

 

มอร์แกน ฟรีแมน (MORGAN FREEMAN) รับบท โปรเฟสเซอร์นอร์แมน

มอร์แกน ฟรีแมน นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ คือหนึ่งในนักแสดงที่มีคนรู้จักมากที่สุดในวงภาพยนตร์อเมริกัน ผลงานของเขามีทั้งที่ประสบความสำเร็จทางด้านคำวิจารณ์และทางด้านรายได้ และตัวฟรีแมนเองก็ติดอันดับที่ 10 นักแสดงชายที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลของโลก โดยภาพยนตร์ที่เขาเคยแสดงเอาไว้นั้นทำรายได้ไปมากกว่า $3 พันล้าน

ฟรีแมนได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2005 สาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Million Dollar Baby ในปี 1990 เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ตลกหรือภาพยนตร์เพลง จากภาพยนตร์เรื่อง Driving Miss Daisy ฟรีแมนยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดาราสมทบชายยอดเยี่ยมในปี 1988 จากภาพยนตร์เรื่อง Street Smart ในปี 1995 เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption และในปี 2010 ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงจากภาพยนตร์เรื่อง Invictus

ในปี 1996 ฟรีแมนได้ร่วมมือกับ ลอรี่ แม็คเครียรี่ ก่อตั้งบริษัท เรเวเลชั่นส์ เอนเตอร์เทนเม้นต์ บริษัทที่ผลิตภาพยนตร์อย่างเรื่อง The Code, The Magic of Belle Isle, Levity, Under Suspicion, Mutiny, Bopha!, Along Came a Spider, Feast of Love, 10 Items or Less, The Maiden Heist และ The 16th Man

ฟรีแมนยังจะมีผลงานให้เห็นในภาพยนตร์ใหม่หลายเรื่อง ได้แก่ The Last Knights, ภาพยนตร์ของ อีเกิ้ล ฟิล์มส์ และเรเวเลชั่นส์ เอนเตอร์เทนเม้นต์ เรื่อง Love Like That และภาพยนตร์ของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง Dolphin Tale 2

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟรีแมนแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง Transcendence, The Lego Movie, Last Vegas, Now You See Me, Oblivion, Olympus Has Fallen และ The Dark Knight Rises

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของฟรีแมน ได้แก่ Dolphin Tale, Born to be Wild 3D, The Dark Knight, The Bucket List, Glory, Clean and Sober, Lean on Me, Robin Hood: Prince of Thieves, Unforgiven, Se7en, Kiss the Girls, Amistad, Deep Impact, Nurse Betty, The Sum of All Fears, Bruce Almighty, Coriolanus, Attica, Brubaker, Eyewitness, Death of a Prophet และ Along Came a Spider

 

อามีร์ เว็คเค็ด (AMR WAKED) รับบท ปิแอร์ เดล ริโอ

อามีร์ เว็คเค็ด เกิดในไคโร ประเทศอียิปต์ในปี 1972 เขาเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์และการละครที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน ในไคโร เมื่อเริ่มรับงานแสดง เว็คเค็ดได้เข้าร่วมคณะละคร Temple Theatre ในปี 1994 และคณะ Yaaru Theatre ในปี 1999 ซึ่งเขาได้รับการฝึกและพัฒนาฝีมือในฐานะนักแสดงละครเวที หลังจากนั้น เขาได้รับบทบาทแรกในภาพยนตร์ของ โอซาม่า ฟอว์ซี่ เรื่อง Gannet el Shayateen ในปี 1998 ซึ่งถือเป็นผลงานที่ช่วยกรุยทางให้เขากลายเป็นนักแสดงที่ได้รับความนิยม

ในปี 2005 เว็คเค็ดร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น กาแกน เรื่อง Syriana ซึ่งถือเป็นบทบาทแรกในภาพยนตร์ระดับโลก บทบาทการแสดงของเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และทำให้เขาได้รับโอกาสในการร่วมแสดงในภาพยนตร์ระดับโลกมากขึ้น ซึ่งรวมถึง House of Saddam และ Lasse Hallström’s Salmon Fishing in the Yemen

 

ชอยมินซิก (CHOI MIN SIK) รับบท มิสเตอร์จาง

ชอยมินซิกเกิดในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน1962 มินซิกประเดิมงานแสดงเรื่องแรกในภาพยนตร์เรื่อง Kuro Arirang ในปี 1989 และได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง ได้แก่ All that Falls Has Wings, Our Twisted Hero, No. 3, The Quiet Family, Swiri, Happy End, Failan และ Painted Fire

ในภาพยนตร์เรื่อง Oldboy เขารับบทเป็น โอเดซู ชายที่ถูกจับตัวไปขังเอาไว้ในคุกส่วนตัวเป็นเวลา 15 ปี โดยฝีมือคนที่เขาไม่รู้จัก Oldboy ได้รับรางวัล Grand Prix ที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 57 และทำให้มินซิกเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากนั้น เขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Springtime, Crying Fist และ Sympathy for Lady Vengeance

เมื่อเร็วๆ นี้ มินซิกร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Nameless Gangster: Rules of the Time และ New World

 

 

ประวัติทีมผู้สร้าง

 

ลุค เบสซอง (LUC BESSON) – ผู้เขียนบทและผู้กำกับ

ลุค เบสซอง เริ่มต้นทำงานในวงการภาพยนตร์ในปี 1977 โดยเขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับทั้งในฝรั่งเศสและอเมริกา

ในปี 1983 เบสซองประเดิมงานกำกับชิ้นแรก ด้วยภาพยนตร์เรื่อง The Last Battle ซึ่งทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงในเทศกาลภาพยนตร์อาโวเรียซ แฟนแทสติค

สองปีต่อมา เขากำกับภาพยนตร์เรื่อง Subway ซึ่งนำแสดงโดย อิซาเบลล์ แอ็ดจานี และคริสโตเฟอร์ แลมเบิร์ต ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลซีซาร์

เบสซองยังได้เขียนบทและกำกับภาพยนตร์เรื่อง The Big Blue ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับการต้อนรับที่ไม่ดีนักในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ แต่มันกลับกลายเป็นปรากฎการณ์ทางสังคม

ถึงแม้เสียงวิจารณ์อาจไม่ค่อยดีนัก แต่ภาพยนตร์เรื่อง La Femme Nikita (1990) และ Léon: The Professional (1994) กลับได้รับการต้อนรับในหมู่คนดู จนทำให้เขามีชื่อเสียงในฝรั่งเศส รวมถึงเป็นที่รู้จักในระดับโลก

ในระหว่างภาพยนตร์สองเรื่องนี้ เบสซองได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Atlantis (1991) ภาพยนตร์สารคดีที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับความงดงามของธรรมชาติและความจำเป็นที่จะต้องปกป้องธรรมชาติเอาไว้

ในปี 1995 เขากำกับภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง The Fifth Element ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ฝรั่งเศสสุดฮิตที่ทำรายได้สูงสุดในอเมริกา และในปี 1998 เบสซองคว้ารางวัลซีซาร์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

ในปี 1999 เขากำกับภาพยนตร์เรื่อง Joan of Arc, The Messenger: The Story of Joan of Arc ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีซาร์ ผู้กำกับยอดเยี่ยมอีกครั้ง

ในปี 2000 เขาได้รับตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 53ทำให้เขากลายเป็นประธานที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของงานเทศกาลนี้

ในปี 2005 เขากลับมาทำงานกำกับอีกครั้งด้วยภาพยนตร์เรื่อง Angel-A ในปี 2006 เขากำกับและร่วมเขียนบทให้กับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องแรกของเขา เรื่อง Arthur and the Invisibles ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือที่เขาเป็นคนเขียนขึ้นมาเองภาพยนตร์เรื่อง Arthur and the Invisibles ยังมีภาคต่ออีกสองภาค ได้แก่ Arthur 2: The Revenge of Maltazard (2009) และ Arthur 3: The War of the Two Worlds (2010)

ในปี 2010 เบสซองดัดแปลงนิยายภาพของ ฌ๊าคส์ ทาร์ดี เรื่อง “The Extraordinary Adventures of Adèle Blanc-Sec” มาสร้างเป็นภาพยนตร์

ในปี 2011 เขากำกับ มิเชลล์ โหย่ว ในภาพยนตร์เรื่อง The Lady ที่ว่าด้วยเรื่องราวของนางอองซาน ซูจี

ในปี 2013 เบสซองได้นำนิยายของ โทนิโน่ เบแน็คควิสต้า เรื่อง “Malavita” มาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Family ซึ่งนำแสดงโดย โรเบิร์ต เดอนีโร, ทอมมี่ ลี โจนส์ และมิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์

นอกจากภาพยนตร์ที่เขากำกับแล้ว เบสซองยังเขียนบทให้กับภาพยนตร์มากกว่า 20 เรื่อง อาทิเช่น ภาพยนตร์ชุด Taxi และ Taken 2 ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศสที่ทำรายได้สูงสุดในอเมริกา

 

 

เวอร์จินี เบสซอง-ซิลล่า (VIRGINIE BESSON-SILLA) – ผู้อำนวยการสร้าง

เวอร์จินี เบสซอง-วิลล่า เกิดในอ็อตโตว่า ประเทศแคนาดา หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย The American University of Paris ทางด้านบริหารธุรกิจ เธอได้งานแรกในแขนงงานที่เธอรักมากที่สุดอย่างวงการภาพยนตร์

ในปี 1994 เบสซอง-ซิลล่าเริ่มต้นทำงานให้กับ แพทริซ เลอโดซ์ จากบริษัท Gaumont Film Company ซึ่งทำให้เธอได้ดูแลงานสร้างภาพยนตร์ของ เบสซอง เรื่อง The Fifth Element ติดตามมาด้วยภาพยนตร์ของ เบสซอง เรื่อง The Messenger: The Story of Joan of Arc

ในปี 1999 เบสซองก่อตั้งบริษัทยูโรปาคอร์ป และเขาได้เสนอตำแหน่งงานให้กับเบสซอง-ซิลล่า เธอรับตำแหน่งและอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ได้แก่เรื่อง Yamakasi—Les samouraïs des temps moderns ในหนึ่งปีต่อมา ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวอย่างประสบความสำเร็จ โดยทำรายได้ไปได้มากกว่า $27 ล้าน

 

มาร์ค ชมูเกอร์ (MARC SHMUGER) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มาร์ค ชมูเกอร์ได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในแวดวงภาพยนตร์ เขาเป็นซีอีโอของบริษัทโกลบอล โพดิวซ์ ซึ่งได้ทำสัญญากับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ผลงานการสร้างสองเรื่องแรกของบริษัทแห่งนี้ ได้แก่ We Steal Secrets: The Story of WikiLeaks และ The Spectacular Now ซึ่งได้จัดฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 2013 และได้รับคำชมอย่างมาก

ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกับโกลบอล โพดิวซ์ ชมูเกอร์ทำงานอยู่ที่ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส เป็นเวลานาน 12 ปี ขณะดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท ชมูเกอร์ได้ให้ไฟเขียวในการสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น The Bourne Ultimatum, American Gangster, Inglourious Basterds, Wanted, Knocked Up และ Mamma Mia!

ก่อนจะมาทำงานกับยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส ชมูเกอร์เคยทำงานอยู่ในแผนกการตลาดอยู่ที่โซนี่ พิคเจอร์ส เอนเตอร์เทนเมนต์ นาน 7 ปี โดยเขาได้ดูแลงานสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จหลายเรื่อง ได้แก่ Men in Black, Air Force One, Bram Stoker’s Dracula, In the Line of Fire และ Groundhog Day

 

เธียร์รี่ อาร์โบแกสต์ (THIERRY ARBOGAST, AFC) – ผู้กำกับภาพ

เธียร์รี่ อาร์โบแกสต์ เคยร่วมงานกับ ลุค เบสซอง มานานมากกว่า 20 ปี หลังจากได้พบกันในภาพยนตร์เรื่อง La Femme Nikita ในปี 1989

ด้วยความรักในงานถ่ายภาพ อาร์โบแกสต์ลาออกจากโรงเรียนตอนอายุ 17 ปี และรับงานเล็กๆ ในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส

อาร์โบแกสต์ทำงานอยู่ในวงการมานานมากกว่า 40 ปี และมีผลงานภาพยนตร์มากกว่า 60 เรื่อง อาทิเช่น ภาพยนตร์ของ อีฟส์ อมัวโรซ์ เรื่อง Le beauf, ภาพยนตร์ของเบสซอง เรื่อง Léon: The Professional, ภาพยนตร์ของ จิลส์ มิมูนี่ เรื่อง The Apartment, ภาพยนตร์ของ พิทอฟ เรื่อง Catwoman และภาพยนตร์ของ อาทิก ราฮิมี เรื่อง The Patience Stone

 

ฮิวจ์ส ทิสแซนเดียร์ (HUGUES TISSANDIER) – โปรดักชั่นดีไซเนอร์

ฮิวจ์ส ทิสแซนเดียร์ ได้ทำหน้าที่เป็นโปรดักชั่นดีไซเนอร์ให้กับหนึ่งในผลงานการสร้างที่หาญกล้าที่สุดของยุโรป นั่นคือภาพยนตร์แอนิเมชั่นไตรภาคเรื่อง Arthur and the Invisibles ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย ลุค เบสซอง

ทิสแซนเดียร์เริ่มต้นทำงานกับเบสซองในปี 1998 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง The Messenger: The Story of Joan of Arc และในปี 2011 เขาได้รับรางวัลซีซาร์ สาขาออกแบบฉากยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง The Extraordinary Adventures of Adèle Blanc-Sec ซึ่งกำกับโดยเบสซอง

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของทิสแซนเดียร์ ได้แก่ The Transporter, Taken, The Lady และ The Family

 

จูเลี่ยน รีย์ (JULIEN REY) – ผู้ลำดับภาพ

จูเลี่ยน รีย์ เริ่มต้นเข้าวงการด้วยทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์สั้นเรื่อง L’ancien ในปี 2002 นับแต่นั้นเป็นต้นมา รีย์ได้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิเช่น Arthur and the Great Adventure, The Extraordinary Adventures of Adèle Blanc-Sec, The Lady และ The Family ภาพยนตร์เรื่อง Lucy คือผลงานเรื่องที่ 5 ที่เขาทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับมือเขียนบท/ ผู้กำกับ ลุค เบสซอง

 

 

 

 

โอลิวิเย่ เบอไรอ็อต (OLIVIER BERIOT) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

โอลิวิเย่ เบอไรอ็อต ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้ภาพยนตร์มาแล้วมากกว่า 50 เรื่อง เขาได้กลับมาร่วมงานกับลุค เบสซอง มาแล้วหลายครั้ง เช่นในภาพยนตร์เรื่อง The Lady, The Family, The Extraordinary Adventures of Adèle Blanc-Sec และ Arthur and the Invisibles

เมื่อเร็วๆ นี้ เบอริอ็อตได้ดูแลแผนกเสื้อผ้าให้กับภาพยนตร์ของ แม็คจี เรื่อง 3 Days to Kill ผลงานเรื่องต่อไปของเบอริอ็อต คือ Taken 3 ซึ่งเบสซองร่วมเขียนบทด้วย

 

เอริค เซอร์ร่า (ERIC SERRA) – ผู้แต่งดนตรีประกบอ

เอริค เซอร์ร่า ผู้แต่งดนตรีประกอบชาวฝรั่งเศส เริ่มแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของลุค เบสซอง เรื่อง Le dernier combat (The Last Battle) นับแต่นั้น เขาได้ทำงานกับเบสซองถึง 13 ครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือภาพยนตร์ดราม่าชีวประวัติ เรื่อง The Lady ซึ่งนำแสดงโดย มิเชลล์ โหย่ว และเดวิด ธิวลิส เซอร์ร่ายังแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง GoldenEye และภาพยนตร์ทริลเลอร์ไซไฟเรื่อง The Fifth Element นอกจากนี้ เขายังแต่งดนตรีให้กับภาพยนตร์แอ็กชั่นของ จอห์น แม็คเทียร์แนน เรื่อง Rollerball, ภาพยนตร์ตลกโรแมนติค เรื่อง Jet Lag และภาพยนตร์เรื่อง Bulletproof Monk

 

—lucy—