สถาบันอาหารแนะโอกาสทองของธุรกิจอาหารและร้านอาหารไทยในจีน

ผอ.เพ็ชรสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยธุรกิจบริการร้านอาหารในจีนมีโอกาสเติบโตมากหลัง ความเชื่อมั่นในธุรกิจการให้บริการที่มีต่อร้านอาหารที่มีมูลค่าเกินกว่า 333,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แนวโน้มขยายตัวด้วยอัตราร้อยละ 8.2 จนถึงปี 2558 ตอบรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังคงรักษา GDP เฉลี่ยไว้ที่ร้อยละ 10 ต่อปี  รวมทั้งคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางที่มีรายได้ปานกลาง-สูง นิยมทานอาหารนอกบ้าน คาดปี 2563  ชนชั้นกลางในจีนเพิ่มเป็น 600 ล้านคน จากจำนวนประชากร 1,450 ล้านคน แนะการเร่งประชาสัมพันธ์อาหารไทยในจีนอย่างจริงจัง ทั้งขจัดปัญหาขาดแคลนการนำเข้าวัตถุดิบและการปรุงอาหารไทยอย่างถูกขั้นตอน มั่นใจร้านอาหารไทยมีอนาคตไกลในจีนแน่นอน

นายพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยรายงานการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารไทยในประเทศจีน เพื่อวางกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทย ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก(Thailand Food Quality to the World) ซึ่งจัดทำโดยศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรมอาหาร สถาบันอาหาร  ภายใต้การมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม  พบว่า ในปัจจุบันจีนมีจำนวนชนชั้นกลางประมาณ 250 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 18.50 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จำนวนชนชั้นกลางในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน จากจำนวนประชากร 1,450 ล้านคน ขณะที่รายได้ของคนจีนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ผู้บริโภคชาวจีนในเขตเมืองมีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ12.6 ในปี 2555 หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 24,565 หยวนต่อปี และในเขตชนบทมีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 13.5 หรือเท่ากับ 7,917 หยวนต่อปี

และจากการศึกษา พบว่าชาวจีนที่มีรายได้สูงในเขตเมืองใหญ่ อาทิ เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งโดยมากจะต้องการซื้ออาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มั่นใจในคุณภาพนอกจากนี้ ชาวจีนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น เนื่องจากมีระยะเวลาในการทำงานที่นานขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำให้ชาวจีนนิยมรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น รวมไปถึงอาหารจานด่วน (Fast Food Service) และบริการส่งตรงถึงบ้าน (Home Delivery Service) ขณะเดียวกันก็มีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้น โดยต้องการสินค้าและอาหารที่แปลกใหม่ หลากหลาย และมีคุณภาพสูงขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ก็จะต้องมีความทันสมัย และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านความสะอาดและปลอดภัยของส่วนผสมหรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ได้อีกด้วย

นอกจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำนวนประชากรทั้งภายใน ประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2554 จีนมีประชากรทั้งสิ้น 1,347.3 ล้านคน อัตราการเติบโตของประชากรจีนร้อยละ 0.5 ต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศจีนนั้นในปี 2554 มีจำนวน 135.4 ล้านคน เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยจีนสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตของ GDP เอาไว้ได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น

นายเพ็ชร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจบริการอาหาร” ในจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเติบโตสูงมาก ธุรกิจบริการอาหารในจีน สามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่1) ร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full-Service Restaurant) 2) ร้านอาหารจานด่วน (Fast Food) 3) ร้านคาเฟ่/บาร์ (Café/Bars) 4) ร้านบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (100% Home Delivery/Takeaway)  และ 5) ร้านอาหารริมทาง (Street stalls/Kiosk) โดยในช่วงระหว่างปี 2548-2553 ในภาพรวมกลุ่มธุรกิจบริการอาหารมีอัตราการเติบโตต่อปีร้อยละ 9.2 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอีก ด้วยอัตราร้อยละ 8.2 จนถึงปี 2558 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแบบเดลิเวอรี่ (100% Home Delivery/Takeaway) มีอัตราขยายตัวเร็วที่สุด

นายเพ็ชร กล่าวว่าเนื่องจากคนจีนในปัจจุบันนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทั้งหนุ่มสาวที่เป็นคนทำงานและคนที่อยู่เป็นครอบครัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจร้านอาหารไทยในการช่วงชิงตลาดนี้เช่นเดียวกับร้านอาหารประเภทอื่นๆ โดยปัจจุบันพบว่าลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยโดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีระดับรายได้ปานกลาง-สูง และเป็นลูกค้าประจำ แต่ปัญหาคือผู้บริโภคชาวจีนยังไม่สามารถแยกได้ถึงคุณลักษณะเฉพาะของอาหารไทย ซึ่งต้องเร่งสร้างอัตลักษณ์ให้โดดเด่นเฉพาะให้มากขึ้น ในอนาคตร้านอาหารไทยในจีนมีโอกาสเติบโตสูงหากผู้ประกอบการสามารถที่จะรักษาคุณภาพมาตรฐานรสชาติอาหารไทยไว้ได้ จะทำให้คนจีนรู้จักและต้องการทดลองรับประทานอาหารไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการไปท่องเที่ยวที่เมืองไทยทำให้ได้รู้จักและรับประทานอาหารไทย เมื่อกลับมาเมืองจีนก็ยังคงชื่นชอบอาหารไทย อย่างไรก็ตามพบว่าในการประกอบธุรกิจร้านอาหารในจีนยังมีอุปสรรคที่สำคัญ ดังนี้ 1) ขั้นตอนการนำพ่อครัวมาทำงานที่จีนมีความยุ่งยาก เนื่องจากทางการจีนตรวจสอบเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องวุฒิการศึกษา Work permit ใบรับรองความรู้พื้นฐานในการปรุงอาหารหรือผสมอาหาร   2) การตรวจสอบทางด้านสุขอนามัยครัวมีความเข้มงวดมากขึ้น ประมาณปีละ 2 ครั้ง ทางการจีนจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และมีค่าปรับสูง 3) ขาดแคลนบุคลากร ได้แก่ พ่อครัวคนไทย และพนักงานเสิร์ฟ 4) ขาดการรวมกลุ่มกันระหว่างร้านอาหารไทยในจีน  และ5)ปัญหาวัตถุดิบปลอม เช่น ข้าว กะทิ  และเครื่องปรุงรส ซึ่งต้องมีการบูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเชื่อว่าธุรกิจร้านอาหารไทยจะสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้ในระยะยาวแน่นอน”