การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ”

(31)ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงรับสั่งให้มีการจัดการแสดงโขนขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ “โขน” วิจิตรนาฏศิลป์ไทยให้คงอยู่สืบไป ดังนั้นในปี ๒๕๕๗ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทเรื่อง รามเกียรติ์ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” มาจัดแสดง ในระหว่าง วันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ    ในปีนี้ โดยได้มีการจัดแถลงข่าวพร้อมชมตัวอย่างการแสดง โรงพิธีอินทรชิต และวิรุญมุขรบพระลักษณ์ ณ ห้องเทเวศร์ อาคารหอประชุม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อวันอังคารที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ     ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” กล่าวว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ “โขน” ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ      ที่ผ่านมามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขน รามเกียรติ์ มาเป็นปีที่ แล้ว รวม  ชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” (ปี พ.ศ.๒๕๕o และปี พ.ศ.๒๕๕๒), ชุด “นางลอย” (ปี พ.ศ.๒๕๕๓), ชุด “ศึกมัยราพณ์” (ปี พ.ศ.๒๕๕๔), ชุด “จองถนน” (ปี พ.ศ.๒๕๕๕) และ ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” (ปี พ.ศ.๒๕๕๖) จนประสบความสำเร็จและได้รับการเรียกร้องให้เพิ่มรอบสำหรับผู้ที่พลาดชมการแสดง  ซึ่งทุกครั้งที่มีการแสดงโขนจะมีแบบสอบถามให้ผู้ชมติชมว่าชื่นชอบเรื่องใด ตอนไหน และจะมีการประมวลเพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นจะทรงเลือกตอนจากข้อมูลแบบสอบถามด้วยความสนพระราชหฤทัย เนื่องจากพระองค์ทรงทราบตอนของรามเกียรติ์ตลอดทั้งเรื่อง ในปี ๒๕๕๗  ทรงเลือกโขน ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑”

(15)โดย ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานคณะกรรมการอำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า “ในปีนี้ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่มาร่วมแสดงโขนครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในการอนุรักษ์ เผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยการคัดเลือกนักแสดงเอก จำนวน ตัวละคร คือ พระ(โขน)  มีผู้สมัคร ๘๔ คน  พระ(ละคร) มีผู้สมัคร ๑๙๙ คน นาง มีผู้สมัคร ๒๕๖ คน ยักษ์ มีผู้สมัคร ๑๒๖ คน และ ลิง  มีผู้สมัคร ๑๓๐ คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัคร ๗๙๕ คน จนในที่สุดก็ได้เยาวชนไทยผู้ผ่านการคัดเลือกเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนประจำปี ๒๕๕๗ ตัวละครละ     ๕ คน รวม ๒๕ คน เป็นปรากฎการณ์ที่น่าปลื้มใจมาก โดยคณะกรรมการทุกท่านพอใจมากที่เยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาร่วมคัดเลือกเป็นนักแสดง  ในฐานะที่ดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์อยากเชิญชวนให้รีบจองบัตรเพราะจัดแสดงเป็นระยะเวลา ๑ เดือน ซึ่งจัดให้ตามคำเรียกร้องสำหรับผู้ที่พลาดชมครั้งก่อนๆ”

ด้าน อาจารย์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย  ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า “การแสดงปีนี้ เป็นตอนที่มีชั้นเชิงนาฏศิลป์ที่งดงามหลายตอน  เช่น รำเบิกโรงการแสดง ชุด ระบำนารายณ์เจ็ดปาง ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ โดยปกติแล้วจะหาชมได้ยาก เพราะไว้ใช้แสดงในโอกาสสำคัญเท่านั้น รวมถึง ฉากตรวจพลของวิรุญมุข  การรบบนหลังม้า  การแปลงกายหายตัวเข้าแทงพลลิง  ล้วนเป็นกระบวนท่ารำชั้นครูที่สืบทอดมาจากกรมมหรสพของพระบาทสมเด็จพระมุงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังได้เห็นลีลาที่ปรมาจารย์ทางด้านโขนได้นำท่วงทีกริยาของหมีมาใช้ในการแสดงตอนทำลายพิธีชุบศรนาคบาศของอินทรชิต ฉากโพรงไม้โรทัน ซึ่งมีความอลังการ  ประกอบบรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัว และฉากสนามรบ ซึ่งได้คิดเทคนิคการเปลี่ยนฉากขึ้นใหม่  ภาพพญาครุฑตัวใหญ่ที่โฉบเฉี่ยวลงมาเพื่อทำลายนาค

(54)คณะกรรมการที่จัดการแสดงครั้งนี้ ทุ่มเทกำลังกายและกำลังความคิดในการสรรค์สร้างเพื่อถวาย       พระเกียรติองค์อัคราภิรักษ์ศิลปินที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ถวายพระราชสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  อันเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย โดยประกอบไปด้วย ฉากอันวิจิตรตระการตาทั้งหมด ๕ ฉากใหญ่สำคัญที่ใช้เทคนิคการแสดงสมัยใหม่เข้าผสมผสานเพื่อให้การแสดงตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้น ได้แก่           ฉากที่ ๑ ท้องพระโรงกรุงลงกา,  ฉากที่ ๒ พลับพลาพระรามเชิงเขามรกต,  ฉากที่ ๓ โพรงไม้โรทัน,    ฉากที่ ๔ สงคราม (๑) และ  ฉากที่ ๕ สงคราม (๒)  ผมอยากให้คนที่สนใจได้มาชมการแสดงในครั้งนี้ เพราะเราตั้งใจเอาความงดงามในอดีต รวมทั้งจารีตตามแบบฉบับโขนหลวง มาถ่ายทอดให้อย่างสมบูรณ์ที่สุดผ่านความตั้งใจของนักแสดง นักดนตรี รวมถึงทีมงานเบื้องหลังกว่า ๘๐๐ ชีวิต เพราะโขนนั้นเปรียบเสมือนกับสมบัติของชาติที่เราควรอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป”

นายชาตรี ทองแฉล้ม เยาวชนผู้เข้าร่วมออดิชั่นมาเป็นครั้งที่ 2 และได้รับเลือก เป็นผู้รับบทตัวแสดง   หนุมานในการแสดงโขน ในครั้งนี้ กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ภูมิใจทุกครั้งที่ได้แสดงในการแสดงครั้งนี้ ทุกครั้งที่มาออดิชั่น ผมรู้สึกว่าได้สู้กับตัวเอง เอาชนะตัวเอง และรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโขนพระราชทานในครั้งนี้ครับ”

(43)โดยภายในงานได้รับเกียรติจากผู้มีเกียรติและผู้เชี่ยวชายด้านศิลปวัฒนธรรมมาร่วมงานคับคั่ง อาทิ พิมพ์รวี วัฒนวรางกูร ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม, ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, นฤมล ล้อมทอง, ทัศนีย์ ขุนทอง ศิลปินแห่งชาติ, พิศมัย วิไลศักดิ์, เกิดศิริ นกน้อย, มนตรี วัดละเอียด, พรชิตา ณ สงขลา, สุดสาคร ชายเสม, วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ฯลฯ

สำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ได้กำหนดจัดการแสดง รอบประชาชน จำนวน ๓๔ รอบ รอบนักเรียน จำนวน ๑๖ รอบ รวม ๕๐ รอบ ในระหว่างวันที่ ๗ พฤศจิกายน – ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ  www.thaiticketmajor.com บัตรราคา  ๔๒๐, ๖๒o, ๘๒o, ๑,๐๒๐ และ ๑,๕๒๐ บาท รอบนักเรียน  นักศึกษา บัตรราคา ๑๒o บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.๐๒-๒๖๒-๓๔๕๖ หรือ www.khonperformance.com