ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับเลยว่ากระแสผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ได้จากธรรมชาติกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่สาวๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นครีมบำรุงผิวที่มีสารสกัดของเมือกหอยทากเป็นส่วนประกอบ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าเมือกหอยทากนี้มีดีอย่างไร ทำไมจึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เสริมความงามหลากหลายยี่ห้อ
เรามาลองไขความลับของเมือกหอยทากนี้ ไปกับ ดร.ธีรศักดิ์ เอโกบล อาจารย์ประจําภาควิชาพันธุศาสตร์ และ ดร.ปราโมทย์ ชำนาญปืน อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีมนักวิจัย และที่ปรึกษาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสเนลไวท์กันดีกว่า
ดร.ธีรศักดิ์ เอโกบล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวของเมือกหอยทากว่า หอยทากชนิดที่นิยมนำมาสกัดเป็นส่วนผสมในทางเวชสำอาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Helix aspersa หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า หอยทากเอสคาโก (Escargot) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากทวีปยุโรป แต่ในปัจจุบัน ฟาร์มเลี้ยงหอยทากได้ถูกขยายไปยังประเทศต่างๆ เช่น ประเทศชิลี เกาหลี และ ญี่ปุ่น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสภาพอากาศที่เหมาะสม ไม่หนาวจัดหรือร้อนจัดจนเกินไป ซึ่งแนวคิดการบำรุงรักษาผิวพรรณด้วยเมือกหอยทากนั้นมีมานานแล้ว เริ่มต้นมาจากการค้นพบโดยบังเอิญของคนงานในฟาร์มเลี้ยงหอยทากเพื่อส่งให้ร้านอาหารฝรั่งเศส เนื่องจากพวกเขาต้องสัมผัสกับหอยทากและเมือกของพวกมันอยู่เป็นประจำ จึงสังเกตพบว่า รอยแผลบริเวณมือของพวกเขาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน สามารถหายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีผิวที่ดูกระชับและเนียนนุ่มขึ้นด้วย เป็นเหตุนำไปสู่ข้อสงสัยและเกิดเป็นงานวิจัยสรรพคุณของสารในเมือกหอยทากขึ้นในเวลาต่อมา และจากรายงานผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมาย ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเมือกของหอยทากนั้น อุดมไปด้วยสารชีวโมเลกุลที่มีประโยชน์นานาชนิด เช่น โปรตีนที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ รวมทั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และยังมีสารโอลิโกไฮยาลู-รอนิค แอซิด (oligo-hyaluronic acid หรือที่เรียกกันว่า oligo-HA) ซึ่งเป็นสารที่คล้ายกับ HA ทั่ว ๆ ไปในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ที่ช่วยลบเลือนริ้วรอยและเพิ่มความเต่งตึงของผิวหนัง แต่มีขนาดโมเลกุลที่เล็กกว่ามาก จึงทำให้สามารถซึมซับเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดีกว่าหลายเท่า ทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผิวผลิตคอลลาเจนมากขึ้นอีกด้วย
ด้าน ดร.ปราโมทย์ ชำนาญปืน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตเมือกของหอยทากบกว่า มีการผลิตมาจากต่อมเมือก ที่พบมากใน 2 บริเวณหลักๆ คือ
1) บริเวณใต้เท้าที่ใช้ในการเคลื่อนที่ โดยเมือกชนิดนี้จะถูกหลั่งออกมาเพื่อช่วยลดการเสียดสีและอันตรายจากการสัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์และสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตราย แมลง และสัตว์ผู้ล่า
2) บริเวณโดยรอบของลำตัว เนื่องจากสัตว์กลุ่มนี้มีลำตัวที่บอบบางและไม่มีชั้นผิวหนังที่กักเก็บน้ำไว้ได้ดีเหมือนสัตว์ประเภทอื่นๆ จึงต้องขับเมือกออกมาปกคลุมร่างกายเอาไว้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้น
นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยมากมายที่ระบุถึงคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม ทั้งในการรักษาความชุ่มชื้นของผิว ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิว กระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมบาดแผล อีกทั้งยังสามารถลดการอักเสบและอาการแพ้ได้ดีอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมจากเมือกหอยทากจะกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม หอยทากที่จะนำมาใช้ในกระบวนผลิต ควรจะมาจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาดของฟาร์ม ให้ปราศจากเชื้อก่อโรคและหนอนพยาธิ มีการให้อาหารจำพวกพืชผักที่ปลอดสารพิษตกค้างและยาฆ่าแมลง รวมไปถึงการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมต่อการเติบโตและการผลิตเมือกอีกด้วย และแม้จะยังไม่มีรายงานว่าพบอาการแพ้ในกลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากเมือกหอยทาก อาจเพราะคุณสมบัติของเมือกหอยทากเองที่ช่วยลดอาการแพ้ และการอักเสบของผิวได้ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะหากมีการนำหอยทากมาใช้แบบผิดวิธี อย่างการทำสปาผิวหน้า โดยนำหอยทากที่จับจากแหล่งธรรมชาติ มาเดินบนใบหน้าตนเอง หรือ โดยสถานเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การแพ้ และการอักเสบของผิวหน้า จากหอยทากเหล่านั้นได้
นอกจากนี้ นักวิจัยด้านเมือกหอยทากยังฝากถึงวิธีทดสอบอาการแพ้ของผิวที่เกิดจากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ด้วยว่า ควรทดสอบผลิตภัณฑ์กับผิวหนังบริเวณหลังใบหูเสียก่อนที่จะนำไปใช้จริงกับผิวหน้า เพราะผิวหนังบริเวณหลังใบหูนั้นมีความอ่อนโยนใกล้เคียงกับผิวหน้า หากเกิดอาการแพ้ ก็จะไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในบริเวณผิวหน้าซึ่งจะสังเกตเห็นได้ง่าย
ประโยชน์ที่ได้จากเมือกหอยทากยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากสาวๆ คนไหนอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้มาฟังได้ที่งานเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่จากสเนลไวท์ (Snail White) ผลิตภัณฑ์บํารุงผิวที่มีส่วนผสมของเมือกหอยทากจากประเทศเกาหลี ในวันจันทร์ที่ 29 กันยายน 2557 เวลา 18.30 น. ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น1 สยามพารากอน