อบก. เชิดชูผู้ประกอบการไทย มอบประกาศนียบัตรองค์กรและบุคคลที่มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เผยตัวเลขก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในปีงบประมาณ 2557 ด้วยนวัตกรรมของ อบก. จำนวน 73,667 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ IOS ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อํานวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้กล่าวว่า ผลจากการดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ในปี 2557 มีผู้ผ่านการรับรองประเภทองค์กรจำนวน 9 องค์กร ประเภทผลิตภัณฑ์ จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ จาก 3 บริษัท ประเภทการจัดประชุม หรือ งานอีเว้นท์ จำนวน 3 งาน และประเภทกิจกรรมส่วนบุคคล จำนวน 112 คน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,269 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมตั้งแต่เริ่มดำเนินการสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนทั้งสิ้น 9,058 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และผลการดำเนินงานของฉลากคาร์บอนได้แก่ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint Reduction) หรือฉลากลดโลกร้อน และฉลากคูลโหมด (CoolMode) โดยในปีงบประมาณ 2557 ส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 67,398 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ดังนั้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ และเป็นให้กำลังใจแก่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลดีกับประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพราะช่วยให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ อบก. จึงได้จัดพิธีขอบคุณและมอบประกาศนียบัตรในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ขึ้น ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยการมอบประกาศนียบัตรโดย พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบให้แก่บุคคล องค์กร และผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน ที่อบก. ให้การรับรองใช้เครื่องหมาย และมีการแสดงนิทรรศการจากผู้ประกอบการที่มีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน
นอกจากนี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ อบก. พัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการนำเสนอแอพพลิเคชั่นบนมือถือ จำนวน 2 แอพพลิเคชั่น คือ โปรแกรมคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกิจกรรมส่วนบุคคล โปรแกรมนี้ใช้งานง่าย โดยจะเป็นการสอบถามข้อมูลเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย การเดินทางทั้งเพื่อมาทำงานและเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องการรับประทานอาหารของท่าน จากนั้นโปรแกรมจะคำนวณออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งจะทำให้ทราบว่าการใช้ชีวิตประจำวันในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ และท่านสามารถทำการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้ เรียกได้ว่าเป็น “คนไทย หัวใจไร้คาร์บอน” หรือหากท่านต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถดำเนินการได้โดยใช้คำแนะนำที่ได้จากโปรแกรม โปรแกรมแกรมที่สองคือโปรแกรม “สแกนคาร์บอนฟุตพริ้นท์” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่แสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ บริการ และองค์กรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์กับอบก. ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่ในร้านค้าผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือไม่ จากการสแกนบาร์โค๊ตหรือ QR Code ถือได้ว่าโปรแกรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค สำหรับแอพพลิเคชั่นทั้ง 2 โปรแกรมนี้สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ IOS ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของ อบก. เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และบรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ภายใต้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสีเขียว (Green Growth) คือการบูรณาการการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการและลดก๊าซเรือนกระจกให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยเน้นส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Production and Consumption) เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต เพราะองค์กรใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย (Low-Carbon Organization) หรือ ผลิตสินค้าและบริการที่มีค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำๆ ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าถึงตลาดและสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในตลาดโลก