ในคืนแต่งงาน จุดเริ่มต้นชีวิตคู่ของ กานต์ (พิชญะ นิธิไพศาลกุล) กับ อ้อม (สุชาร์ มานะยิ่ง) ที่หวังจะสร้างครอบครัวเล็กๆ ในแบบของตนเอง กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสยองขวัญ เมื่ออ้อมพบศพ สิตา (มาลินี โคทส์) พี่สะใภ้ของกานต์ผูกคอตายในบ้าน หลังจากวันนั้นอ้อมเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ ร่างกายที่เคยเป็นของตนถูกผีสิตาพยายามเข้าครอบครอง อ้อมเปลี่ยนไปเป็นคนละคนท่ามกลางความงุนงงของกานต์ รวมทั้ง กุล (วรัลชญาน์ จินดารักษ์วงศ์) พี่สาวคนโต และ กรณ์ (เศรษฐพงศ์ เพียงพอ) พี่ชายคนรองและสามีของสิตา กับ มุก ผู้เป็นเสมือนพี่เลี้ยงของหนุ่มสาวทั้งสามมาตั้งแต่เด็ก ผีสิตานำพาอ้อมและกานต์ไปสู่โศกนาฏกรรมและความสยองขวัญ ยิ่งทั้งสองต่อสู้เพื่อจะหลุดพ้นจากผีสิตา กลับยิ่งเข้าใกล้ปริศนาการตายของเธอ และยิ่งพบกับด้านมืดของคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งระหว่างตัวกานต์กับอ้อมเอง
“รัก ลวง หลอน สยองขวัญ และสะเทือนความรัก”
THE COUPLE หรือ รัก ลวง หลอน คือหนังเรื่องที่สองของ ทาเลนต์ วัน มูฟวี สตูดิโอ หลังจากหนังเรื่องแรก ‘Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย’ ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในแง่ของรายได้และคุณภาพของหนัง เราขาย Last Summer ในตลาดต่างประเทศกว่าสิบประเทศ และได้รับเชิญไปฉายทั้งเทศกาลเอเชียกับยุโรป เรียกได้ว่าคนรู้จักหนังของ ทาเลนต์ วัน พอสมควร กับหนังผีเรื่องที่สองนี้ เราก็ยังพยายามพัฒนางานของสตูดิโอให้มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น โดยยังอยู่บนพื้นฐานการรวมตัวของคนหลากหลาย หรือ Collaboration ด้วยวิธีวางคอนเซปต์ให้ชัดเจนตั้งแต่แรก แล้วพยายามพัฒนาองค์ประกอบทุกส่วนตามคอนเซปต์หลัก ดังนั้นทั้งบท งานด้านภาพ หรืองานเสียง จึงถูกตีความและพัฒนาไปพร้อมกัน
สำหรับ รัก ลวง หลอน เราหวังจะสร้างมาตรฐานการทำหนังผีให้มีส่วนผสมของความเป็น Horror drama และ Suspense ที่ไดนามิก ระทึกและสะเทือนใจในเวลาเดียวกัน โดยยังคงโฟกัสไปที่ธีมว่า มนุษย์นี่แหละน่ากลัวยิ่งกว่าผี เราตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากคนรักคนใกล้ชิด ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์จะมีความสบายใจ ผ่อนคลายกับสิ่งคุ้นเคย สิ่งที่เราเห็นมานาน ได้กลายเป็นคนไม่น่าไว้ใจอีกต่อไป คนที่นอนด้วยกันทุกวันแต่วันหนึ่งกลายเป็นผี คนที่โตมาด้วยกันแต่กลับไม่เป็นเหมือนเดิม ความสัมพันธ์แบบนี้ เมื่อนำมาอยู่ในหนังผี ความหลอนก็ยิ่งมากขึ้นทวีคูณ เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่าคนใกล้ตัวที่น่ากลัวเหล่านี้จะเผยธาตุแท้หรือจะปรากฏตัวให้เห็นตอนไหน
“สยองขวัญเพื่อสะเทือนใจ แรงรักผลักความสะพรึง”
ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย Executive Producer ซึ่งเป็นผู้ดูแลทีมบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าถึงการทำบทภาพยนตร์ เรื่อง รัก ลวง หลอน ว่าเกิดจากการรวมหัวของหลายคนอันเป็นวิธีการทำงานของ ทาเลนต์ วัน คือ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Last Summer พิมพกา โตวิระ ซึ่ง เป็นโปรดิวเซอร์ของหนัง กานต์ ศิวโรจณ์ คงสกุล นักทำหนังรุ่นใหม่ที่กวาดรางวัลจากเวทีในต่างประเทศ ก้อง พาหุรักษ์ ซึ่งกำลังเรียนด้านภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น
“หนัง Horror มักเป็นตัวแทนของการแสดงความไม่พอใจของมนุษย์ต่อสิ่งรอบตัว บ้างก็สะท้อนการต่อต้านเทคโนโลยี วัตถุนิยม บ้างก็การเอาเปรียบกันระหว่างเพศ THE COUPLE หรือ รัก ลวง หลอน ก็เช่นกัน หลัก ๆ คือการต่อสู้ของหนุ่มสาวยุคสมัยนี้ที่ Independent ต้องการอิสระและเลือกวิถีชีวิตของตนเอง จึงไม่พอใจการแทรกแซงของสังคมหรือคนอื่น แม้จะทำในนามของความรัก หรือแม้ว่าตนเองก็ยังพึ่งพากลุ่มอยู่ดี ผีในเรื่องนี้เป็นทั้งตัวแทนของ ความไม่พอใจของ Independent ที่มีต่อสังคมระบบพรรคพวก และเป็นตัวกระตุ้นให้ความขัดแย้งดังกล่าวปะทุขึ้น เรื่อย ๆ จนระเบิด
“ความสยองขวัญจึงเกิดขึ้นโดยผีนำไปสู่ความสะพรึงของมนุษย์ และความรักผลักให้เกิดความสะเทือนใจ เราพยายามทำให้ความรัก ความสยองขวัญ กับความซ่อนเงื่อน เป็นพลังไดนามิกให้แก่กันและกัน ให้เรื่องเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็ว คนดูมีอารมณ์ร่วมไม่ใช่แค่กลัว ทีมบทจึงมาจากคนที่ถนัดเรื่องรักและชอบความสยองขวัญมารวมกัน
“ตัวละครจึงดิ้นรนและเกิดความแยกแย้งในใจ (Dilemma) ว่าเราจะเลือกทางไหนดี ระหว่างคนที่เรารัก 2 ฝ่าย ระหว่างการเป็นคนนอกผู้แปลกแยกแต่มีอิสระ กับการเป็นคนในที่ปลอดภัยแต่ต้องอยู่ภายใต้กติกากลุ่ม ระหว่างความถูกต้องกับสิ่งที่ต้องทำเพื่อคนของเรา ในขณะเดียวกันพล็อตเงื่อนงำการตายของสิตากับความสยองอันเกิดจากคนใกล้ตัวก็ผลักเรื่องให้สนุกชวนติดตาม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องสร้างมิติให้กับตัวละคร เพราะหนังแนวนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็น Plot driven
“นอกจากนั้นสิ่งที่เราพยายามทำให้ดีกว่าเรื่อง Last Summer คือการออกแบบซีนในบท (Scene design) ให้ความสยองขวัญและสะเทือนอารมณ์อยู่ร่วมกันให้ได้ คือเราไม่อยากให้ฉากสยองขวัญกับทริลเลอร์ทำงานแค่ความกลัวไม่ใช่ฉากเทคนิค หรือให้ความสยองนั้นมีชั้นเชิงมากขึ้น ทั้งการเล่นกับเสียง พื้นที่ขนาดใหญ่ แต่กลับให้ความน่ากลัวได้เป็นต้น”
“Production design เล็กไร้ระเบียบ VS ใหญ่โครงสร้างแข็งแรง”
วิกรม เจนพนัส ผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ เล่าถึงแนวความคิดของงานสร้างทั้งหมดว่าอยู่บนพื้นฐานการสร้างโลกสองโลกที่อยู่ร่วมกันแต่ขัดแย้งกัน นั่นคือ โลกของคู่รักกานต์กับอ้อมที่นิยมการแยกตัวเป็นอิสระ อยู่ในพื้นที่เล็กๆ เช่นคอนโด สามารถมีโลกส่วนตัวด้วยมุมเล็ก ๆ ของตนเองซึ่งไม่สนใจความเป็นระเบียบ อย่างอ้อมที่เป็นนักตัดเดรสก็ใช้เพียงมุมหนึ่งเป็นออฟฟิศได้ โดยเน้นสีโทนอุ่น มีแสงธรรมชาติอยู่ด้วย แม้จะเล็กและไร้ระเบียบ แต่เราก็เห็นความมีชีวิตชีวาอยู่ในนั้น
ส่วนโลกของครอบครัวกานต์ พื้นที่อยู่ในโรงงานหลอมเหล็กเป็นหลัก เราจะใช้ความเป็นโครงสร้างที่ใหญ่โต แข็งแกร่ง เป็นระเบียบ แสดงถึงอำนาจของความใหญ่ที่ครอบคนทั้งหมดไว้ให้เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันก็เห็นร่องรอยของความเสื่อมโทรมแทรกตัวอยู่ เราโชคดีได้โลเกชันเป็นโรงงานหลอมเหล็กอายุเก่าแก่เกือบ 30 ปี จึงตอบโจทย์ทั้งเรื่องความยิ่งใหญ่ โครงสร้างแข็ง แต่วังเวงน่ากลัว
จุดเด่นอีกอย่างของเรื่องนี้คือ การสร้างมิติที่ตัดกันด้วยสีต่างระดับ โดยรวมของหนังจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หนึ่งคือระดับแบ็กกราวนด์จะเป็นโทนอุ่นเมื่ออ้อมกับกานต์ อยู่ในภาวะปกติ แต่เมื่ออยู่ในโรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับซีนผี หลัก ๆ จะเป็นโทนเย็น ระดับสองคือ การหยอดโทนสีแตกต่าง กับแบ็กกราวนด์ไว้ใกล้กับจุดที่ตัวละครอยู่เพื่อขับตัวละครให้เด่นขึ้น เช่น หากแบ็กกราวนด์เป็นสีโทนเย็น ก็จะหยอดสีโทนร้อนไว้ในจุดที่ใกล้กับตัวละครให้เป็นเสมือนแหล่งดึงสายตาคนดู สุดท้ายคือระดับสาม คือตัวละคร ซึ่งเราใช้สีของเสื้อผ้า ตัวละครเป็นสีสด ไม่มีลวดลาย สำหรับการแต้มสีให้ภาพรวมของหนัง
เรื่องนี้มีความกล้าในการใช้สีพอสมควร ไม่ใช่โมโนโทนอย่างเดียวเหมือนขนบของหนังผี เช่น สีเขียวเป็นผนังกำแพงในซีนสยองขวัญ การใช้สีส้มแต้มกับดำตุ่น ไม่ใช่แดงดำ เป็นต้น ทุกอย่างที่อยู่ในหนังถูกคำนวณเรื่องของการเล่นสีไว้แล้ว
พบกันวันฮัลโลวีนนี้ 30 ตุลาคม 2557 ณ โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ