แม้ว่า เทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014 จะปิดฉากไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังมีเรื่องราวดีๆ จากการที่ตัวแทนคณะหุ่นนานาชาติจากหลากหลายทวีป ทั้งบังคลาเทศ อียิปต์ จอร์เจีย และสวิตเซอร์แลนด์ ได้พบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนเป็นพิเศษพร้อมทั้งโชว์ตัวอย่างการแสดงให้ชมเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์สื่อมวลชน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยได้แสดงออกถึงความประทับใจในการจัดงานในครั้งนี้ ในแง่มุมต่างๆ อย่างน่าสนใจ โดยทุกคณะต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภูมิใจที่ได้มาสร้างความสุขให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาชม ตลอดจนปลื้มใจที่คนไทยทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจและกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมกับการแสดง ซึ่ง คณะหุ่นเงาจากจอร์เจีย (Budrugana Gagra – Georgian Hand Shadow Puppet) ที่ใช้มือสร้างเงาเป็นภาพต่างๆ อย่างงดงามได้ย้ำว่า “พวกเราไม่สามารถมองเห็นผู้ชมได้ แต่เรารู้สึกได้อย่างจริงๆ ถึงปฏิกริยาตอบสนองที่ดีมากๆ”
ด้านตัวแทนของอียิปต์อีกคณะหนึ่ง Mai Mohab Puppet Designer ที่มาร่วมจัดฝึกอบรมการทำหุ่นจากวัสดุเหลือใช้ กล่าวว่า “รู้สึกโชคดีที่ได้มาร่วมงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมากที่ได้เห็นคนไทยและผู้รับการอบรมสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการทำหุ่น และตั้งใจเรียนรู้เพื่อสร้างผลงานกันอย่างจริงจัง จนมีอยู่ครั้งหนึ่งเลยเวลา 1 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ไปถึง 40 นาที สำหรับการแสดงของคณะต่างๆ ก็น่าสนใจมากและเป็นโอกาสดีในการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน เราเองก็ได้เห็นหุ่นรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้เรามีแนวคิดใหม่ๆ ในการทำหุ่นต่อไป”
เมื่อขอให้กล่าวถึงการแสดงหุ่นประเภทต่างๆ ของไทย ก็ได้รับความชื่นชมจากทุกคณะ ว่ามีความละเอียดประณีตผสมผสานกับความหลากหลายของศิลปะการชักและเชิดหุ่นแบบต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นศูนย์รวมของหุ่นนานาชนิด พร้อมทั้งชื่นชมที่ไทยมีการสร้างเครือข่ายหุ่นเยาวชนที่เข้มแข็ง ซึ่งจะมีบทบทในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมหุ่นอย่างยั่งยืนในอนาคต
สิ่งสำคัญที่สุดในการมาร่วมเทศกาลหุ่นโลกกรุงเทพฯ 2014 คือได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้วัฒนธรรมการแสดงหุ่นของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีความแตกต่างกัน เพราะครั้งนี้มีจำนวนคณะและจำนวนประเทศมาร่วมงานมากที่สุด และการจัดช่วงเวลาการแสดงก็เอื้อประโยชน์ให้สามารถไปชมคณะอื่นๆ จากหลายประเทศภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน
ตัวแทนคณะหุ่นจาก อียิปต์ – El Hanager Arts Center และ บังคลาเทศ – Shilpakala Academy Puppet Theatre เปิดเผยว่าความตั้งใจในตอนแรกคือมุ่งเผยแพร่วัฒนธรรมของตน แต่ในที่สุดกลายเป็นว่าสิ่งที่ได้รับกลับไปคือการได้เรียนรู้จากคณะหุ่นอีกหลายคณะที่จุดประกายให้เกิด แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการแสดงต่อไปในอนาคตนั้นมีคุณค่ามหาศาล ในขณะที่ตัวแทนจากสวิตเซอร์แลนด์ – Figurentheater Michael Huber ก็ยอมรับว่า “งานในครั้งนี้ได้เปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดของผมจากความ
แตกต่างทางวัฒนธรรมที่ได้มีโอกาสได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ และเทคนิคที่เหนือความคาดหมายมากมาย ซึ่งไม่เหมือนกับที่เคยพบเห็นมาก่อน การมาเมืองไทยครั้งแรกและเป็นการแสดงนอกสวิสครั้งแรกนี้จึงเต็มไปด้วยความประทับใจที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้ การแสดงของแต่ละคณะได้สอดแทรกประเด็นหรือเนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชมในแบบฉบับของตน เช่น สวิตเซอร์แลนด์มุ่งเน้นให้เราตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่หยุดนิ่งด้วยความพึงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่หรือเป็นอยู่, คณะของจอร์เจียตอกย้ำความชื่นชมกับชีวิตที่งดงาม และการมอบความรัก, ความเอื้ออาทรต่อกัน ในขณะที่การแสดงของคณะจากอียิปต์ต้องการให้ผู้ชมตระหนักว่าประเทศนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายด้าน นอกเหนือจากปิรามิดและฟาโรห์ ส่วนบังคลาเทศต้องการสื่อถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ผ่านการแสดงของตน
ละครหุ่นปิดฉาก.. แต่ฝากความประทับใจกับความทรงจำที่งดงามให้กับเจ้าภาพและผู้มาเยือน และหวังว่าเมืองไทยจะได้เป็นเจ้าภาพงานที่เต็มไปด้วยความสุขเช่นนี้อีก