Okmd จัดมหกรรมความรู้ครั้งที่ 3 จุดประกายแนวคิดไท(ย)ม์ แมชชีน : เมื่อเทรนด์โลกย้อนสู่ ภูมิปัญญาไทย

okmd-2 (99 of 498) okmd-2 (17 of 498)

เปิดความรู้แบบสุขภาพองค์รวมของการแพทย์แผนไทย ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพโลกที่หันมาพึ่งพาธรรมชาติ ท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะที่กำลังมาแรงในขณะนี้

ภายในงาน ไท(ย)ม์ แมชชีน :  เมื่อเทรนด์โลกย้อนสู่ภูมิปัญญาไทย ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) okmd ร่วมกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(NDMI) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้(TK Park) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถือเป็นการจัดงานมหกรรมความรู้ (Knowledge Festival) ครั้งที่ 3 มีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยในงาน (18 มกราคม 2558) มีการเปิดประสบการณ์สัมมนาในรูปของ Therapy symposium ในประเด็นสุขภาพองค์รวม พร้อมการมีส่วนร่วมของผู้ฟังที่ได้รับการตรวจสุขภาพ มีการจัดผังที่นั่งแบ่งผู้เข้าร่วมงานตามกลุ่มเดือนเกิด (ธาตุเจ้าเรือน) ที่ช่วยกำหนดแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้สอดคล้องกับธาตุเจ้าเรือน พร้อมผ่อนคลายด้วยการนวดจากนักเรียนนวดแผนไทย ทั้งไทยและต่างชาติจากโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ (วัดโพธิ์)

นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทยและผู้อำนวยการชีวาศรม อคาดิมี มองว่า ขณะนี้เรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดคือเรื่องการรักษาสุขภาพ โดยเทรนด์โลกกำลังหันมาสนใจภูมิปัญญาของเอเชียซึ่งรวมทั้งไทยมากขึ้น การอยู่อย่างสุขภาพดี ถือเป็นเทรนด์โลกที่ผู้คนกำลังแสวงหา ทำให้เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนเหล่านี้ยินดีเสียเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง ล่าสุดมีการคาดการณ์เทรนด์ในอนาคต ในรายงานการประชุมใหญ่ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะโลก ปี 2013 มีสถิติที่แสดงว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาวะกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 21.7 แสนล้านบาทหรือ 678.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ********เช็คตัวเลขใหม่เพราะconvert ค่าเงินแล้วไม่เท่ากัน ในปี 2017 จะมีการจ้างงานในธุรกิจนี้สูงถึง 11.7 ล้านตำแหน่งทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 41.6 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในประเทศแถบเอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลางจะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 50%

นอกจากนี้นายกรดยังได้กล่าวถึงภูมิปัญญาไทย ด้านการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะศาสตร์การนวดฤาษีดัดตน ที่มีการบัทึกไว้ประมาณปี 2325 จากหลักฐานที่ปรากฎอยู่ที่วัดโพธิ์ จะเป็นอาวุธสำคัญที่จะสามารถดึงอัตลักษณ์เหล่านี้มาเป็นจุดขายได้ เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว มักสนใจเมนูการทำสปาหรือการนวดแบบไทย จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าการแพทย์แผนไทย จะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจจำนวนมหาศาลจากองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่อดีต ถือเป็นโอกาสของการนวดไทยและธุรกิจสปาไทย ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี

อย่างไรก็ตามถึงแม้แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศแถบนี้ และประเทศไทยมีจำนวนทริปของนักท่องเที่ยวสูงถึง 5.8 ล้านทริป โดยไทยได้รับการจัดอันดับที่ 14 และมีแนวโน้มจะขึ้นเป็นอันดับที่ 11 ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่เมื่อมีการรวมตัวเป็นตลาดเออีซี จะมีบุคลาการกลุ่มนี้ไหลเข้ามาจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่กำหนดไว้ว่า Think well-Being Hub, Think Thailand หรือ คิดถึงเรื่องสุขภาพ คิดถึงประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการเดินมาอย่างถูกทางแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังคงมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ก็คือ ปัจจุบันยังมีร้านนวดสปาจำนวนมาก โดยเฉพาะ Day spa ที่มีมากที่สุด ยังขาดบุคลากรที่มีคุณภาพและขาดมาตรฐานการบริการ  เราอาจเห็นภาพสถานบริการสปาจำนวนมาก แต่ตัวเลขสถานประกอบการสปาที่มีการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานมีเพียง   1,600 แห่งเท่านั้น ที่สำคัญส่วนตัวอยากเห็น therapist หรือ ผู้นวดบำบัด/รักษาของไทย ที่มีศักยภาพสามารถมีอาชีพที่ดีในประเทศไทยมากกว่าการต้องออกไปทำงานในต่างประเทศเช่นทุกวันนี้

ด้านนายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล แพทย์แผนปัจจุบันผู้นำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้ เพราะค้นพบว่า แพทย์แผนไทยคือเรื่องเดียวกับการแพทย์แบบองค์รวมที่โลกกำลังตื่นตัว และเป็นเจ้าของร้านอาหารรูปแบบคลินิก(Clinic Restaurant) ได้กล่าวว่า ความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมนั้น ไม่ได้เน้นเฉพาะการรักษาร่างกาย แต่ยังรวมถึงการดูแลจิตใจตลอดจนจิตวิญญานประกอบด้วย ในสมัยโบราณ จากการสังเกตทำให้ค้นพบว่า มนุษย์เรามีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจักรวาล (จักรราศี) ในทฤษฎีการแพทย์แผนไทย มีแนวคิดแบบองค์รวม โดยก่อนที่จะวินิจฉัยหรือรักษาโรคจะต้องวิเคราะห์ธาตุเจ้าเรือน ซึ่งมีการแบ่งธาตุเจ้าเรือนออกเป็น 4 ประเภท คือ ธาตุดิน น้ำ ลม และไฟ และมี 2 ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด (ตามวันเดือนปีที่ปฏิสนธิ) กับธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของบุคคลหรือสภาพแวดล้อมรอบตัว

ในงานสัมมนาครั้งนี้ นายแพทย์ทีปทัศน์ยังได้นำเครื่องมือที่ช่วยตรวจสุขภาพให้กับผู้ฟังที่เกิดในธาตุเจ้าเรือนที่แตกต่างกันด้วย จากแนวทางการประยุกต์โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการตรวจสุขภาพร่างกายตามศาสตร์แพทย์แผนไทย ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถขยายองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยไปสู่การวิเคราะห์สุขภาพในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่สามารถจับต้องและพิสูจน์ได้จริง เพื่อตอบโจทย์ความสามารถของประเทศ หากจะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพองค์รวมนานาชาติ(Holistic Medical Hub) ที่ใช้ศาสตร์ดั้งเดิมของไทยมาเป็นจุดสำคัญ ในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในอนาคต

ฟิโอนา ธาริณี เกรแฮม อดีตนางแบบสาว ที่กำลังทำโครงการ Free Birth เพื่อส่งเสริมการคลอดแบบธรรมชาติมานานกว่า 15  ปี ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผู้ซึ่งเคยคลอดลูกโดยมีหมอตำแยมุสลิมในจังหวัดตรังเป็นผู้ทำคลอดให้นั้น กล่าวถึงประสบการณ์ในการนำภูมิปัญญาไทยด้านการดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์มาใช้ พบว่า ขณะนี้ในกลุ่มคุณแม่ในยุโรปต่างสนใจและเลือกการคลอดแบบธรรมชาติมากขึ้นโดยเฉพาะการคลอดแบบหมอตำแย ที่เธอได้รับการถ่ายทอดมาจากครูสว่าง หมอตำแยสายราชสำนักอยุธยา ซึ่งต่างจากที่ปรากฎในละครหรือภาพยนตร์ที่คุณแม่จะต้องทนเจ็บปวดและอาจเสียชีวิตในการคลอดลูก แต่การศึกษาอย่างจริงจังของเธอทำให้ค้นพบว่าการคลอดแบบหมอตำแย เป็นการคลายคลอด ไม่ใช่การเบ่งคลอดที่สร้างความเจ็บปวดจนคุณแม่จำนวนมากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวกับการคลอดลูก

ในแต่ละปีเธอสามารถดูแลคุณแม่ที่ต้องการคลอดด้วยวิธีนี้ประมาณ 3 คนเท่านั้น เนื่องจากการคลอดแบบของไทย หมอตำแยจะเปรียบเสมือนผู้ดูแลประตูชีวิต ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะจัดการช่วยเหลือการคลอดอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการบำรุงสุขภาพ ด้วยการเลือกอาหารและสอนการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนก่อนคลอด ระหว่างนั้นยังมีการนวดร่วมด้วยในทุกๆ เช้า มีการสอนคุณแม่ในการกำหนดลมหายใจ มีการเตรียมความพร้อมไม่เพียงคุณแม่ แต่ยังแนะนำคุณพ่อและคนในครอบครัวที่จะช่วยกันดูแลคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ หมอตำแยจึงกลายเป็นการเติมช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคุณแม่และกับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

Ms. Maria Laso Fernandel นักเรียนนวดไทย ชาวสเปน จากโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ(วัดโพธิ์) ซึ่งมาให้บริการนวดผู้เข้าร่วมสัมมนา เล่าว่า เธอเป็น Massage therapy ประจำโรงแรม Agvas de Ibiza Hotel ประเทศในยุโรป ได้มาเรียนนวดแผนไทย คอร์ส 135 ชั่วโมง การเรียนทำให้รู้ว่า การนวดไทยนับเป็นการนวดที่ช่วยเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนของเหลวในร่างกาย ทั้งระบบเลือดและน้ำเหลืองให้ไหลเวียนดี ซึ่งถือเป็นการปรับสมดุลร่างกายที่สมบูรณ์แบบที่สุดเมื่อเทียบกับการนวดแบบอื่นๆ ซึ่งเธอจะกลับมาเรียนอีกครั้งในขั้นของการนวดรักษา เพื่อแก้อาการต่างๆ ในช่วงปลายปีนี้แน่นอน

สำหรับในจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะมีการสัมมนาเพื่อค้นหาองค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทย ที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้สอดรับกับ เทรนด์โลกแล้ว ยังมีการจัดแสดงองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบัน เช่น การนวดแผนออฟฟิศ เพื่อแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม นวดแผนสมาร์ทโฟน การประยุกต์การนวดเพื่อรักษาอาการจากพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน การนำเสนอผลงานการนำภูมิปัญญาไทยมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มนวัตกรรม เพื่อให้ผู้เข้าชมงานสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาสร้างสรรค์ต่อไป อนาคตอันใกล้นี้ สถานะของเราอาจเปลี่ยนไป ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรามีและสิ่งที่โลกกำลังต้องการ สมกับจุดประสงค์ของงานที่ต้องการสร้าง ไท(ย)ม์ แมชชีน เพื่อค้นหาภูมิปัญญาไทยที่จะกลายเป็นเทรนด์ของโลกต่อไปได้อย่างยั่งยืน