วันนี้ (12 พ.ย. 58) ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนานำเสนอผลงานวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2558 มีผลงานวิจัยในช่วงปี 2554-2557 รวม 65 โครงการ โดยมี 6 โครงการได้รับรางวัลผลงานดีเด่น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า งานวิจัยเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะทำให้ทราบข้อเท็จจริงที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งพลังงานเป็นเรื่องสำคัญมีผลต่อ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การกำหนดนโยบาย การวางแผนงาน จำเป็นต้องมีผลการศึกษาวิจัยที่พิสูจน์แล้ว เป็นเครื่องมือสนับสนุน จะช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็ว คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด ผลงานวิจัยในวันนี้ หลายโครงการ มีประโยชน์และสามารถนำไปขยายผลหรือต่อยอดได้ แต่ด้วยกระทรวงพลังงานได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว และแผนพลังงานของประเทศ ระยะยาว ในช่วงปี 2558 – 2579 เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นคำสัญญาที่ต้องดำเนินการทั้ง 5 แผนหลักนั้น ให้เห็นผลที่จับต้องได้ จึงได้ปรับวิธีวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเบื้องต้นจะให้มีหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลาง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลา เป็นศูนย์วิจัยพลังงานภาคใต้ มีคณะทำงาน ได้แก่ พลังงานจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันคิด วางแผน และรวบรวมงานวิจัยที่เชื่อมโยงตอบโจทย์ปัญหา ด้านพลังงานของ 15 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เสนอไปที่กระทรวงพลังงาน เป็นต้น โดยจะมีศูนย์วิจัยทั้ง 5 ภูมิภาค เป้าหมายคือ แผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 – 2579 โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะเป็นแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ หวังว่าจะช่วยวางรากฐาน สร้างระบบวิจัยของประเทศไทยให้แข็งแรง สร้างกำลังคนคุณภาพ ทั้งนักวิจัยชั้นยอด และนักวิจัยท้องถิ่น ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศให้มีความเจริญอย่างต่อเนื่อง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า วิธีการที่กองทุนฯ ให้การสนับสนุนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เป็นการประกาศเปิดรับข้อเสนอจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนที่ไม่มุ่งค้าหากำไร โดยมีการกำหนดกรอบไว้กว้างๆ งานวิจัยแม้จะมีคุณภาพและเกิดประโยชน์ อย่างเช่น ผลงานที่มานำเสนอในวันนี้การบริการจัดการขยะ ที่มีผลงานวิจัยทั้งการแก้ปัญหาด้วยการนำมาเป็นพลังงาน ทั้งในรูปแบบเป็นเชื้อเพลิงเพื่อนำไปให้ความร้อน และผลิตไฟฟ้า และการคัดแยกพลาสติกมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเห็นประโยชน์จึงนำงานวิจัยนี้ไปขอใช้งบประมาณปกติขยายผลแล้ว แต่วิธีการนี้มีจุดอ่อนในเรื่องการบูรณาการและการเกิดผลในวงกว้าง หากมีศูนย์เครือข่ายที่จะคิด วางแผน และรวบรวมงานวิจัยที่เชื่อมโยงตอบโจทย์ปัญหาด้านพลังงานของแต่ละพื้นที่ มาตั้งแต่ต้นทาง ก็จะทำให้ผลงานวิจัยเกิดประโยชน์มากขึ้น ทั้งการแก้ปัญหาตรงจุด และพัฒนาคุณภาพนักวิจัย ในพื้นที่อีกด้วย
ผศ.ดร.อนุชา พรหมวังขวา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยที่ได้รับทุนจากกองทุนฯ และ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น 2 รางวัล คือ โครงการศึกษาแนวทางการลดแรงต้านอากาศของรถบรรทุกหนึ่งตันดัดแปลง โดยออกแบบอุปกรณ์ลดแรงต้านอากาศให้กับรถสาธารณะที่มีใช้ใน จ.เชียงใหม่ คือ รถบรรทุกเล็กแบบปิด รถกรงสูงที่บรรทุกสินค้า รถสองแถวเล็ก เมื่อสร้างและนำไปทดสอบวิ่งจริงบนถนนในช่วงความเร็ว 100-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปรากฏว่าลดแรงต้านลงลงได้ 50% มีผลให้ประหยัดน้ำมัน 0.25 บาทต่อกิโลเมตร และโครงการการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรมเผาอุณหภูมิสูง (เซรามิก) ที่สร้างต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิงแก๊สสังเคราะห์จากชีวมวลที่ให้มีค่าความร้อนปานกลางสำหรับใช้กับเตาเผาเซรามิกได้สำเร็จ โดยสร้างระบบแก๊สซิไฟเออร์ขนาด 0.60 MWth (เมกกะวัตต์ความร้อน) ประยุกต์ใช้กับเตาเซรามิก เพื่อทดแทนแก๊สหุงต้มจริงได้ 100% ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงแก๊สหุงต้มได้ปีละ 36 ตัน/เตา คิดเป็นเงิน 1 ล้านบาทต่อเตาต่อปี เป็นผลงานที่ผู้ประกอบการเซรามิกให้ความสนใจจะลงทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากนโยบายการปรับราคา LPG
ผศ.ดร.อนุชา ได้ให้ความเห็นต่อวิธีคิดงานวิจัยตามแนวทางใหม่ของกระทรวงพลังงาน ควรเป็นงานวิจัย ที่แก้โจทย์ปัญหาพลังงานในแต่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างแท้จริง นักวิจัยควรวิเคราะห์และแยกแยะโจทย์ปัญหา ให้ชัดเจนโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทั่งทางด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ควบคู่กัน แนวทางการวิจัยทาง ด้านพลังงานนั้นควรใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วทั้งในและต่างประเทศมาต่อยอด โดยทำการวิจัยเพิ่มเติมให้เกิดผลที่นำไปใช้จริง และขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ สามารถที่จะประเมินการเพิ่มการพึ่งพาพลังงานที่หาได้ในแต่ละพื้นที่มากขึ้น สำหรับการวิจัยเชิงลึกนั้นสามารถทำได้แต่ควรเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับการวิจัยขยายผล และนักวิจัยจะต้องอธิบายได้ว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่จะนำมาต่อยอดต่อไป สำหรับโจทย์ปัญหาทางด้านพลังงานนั้นยังมีอีกมากที่รอการวิจัยโดยเฉพาะเศษชีวมวลที่เหลือจากการเกษตรกรรม ไม้และพืชโตเร็ว และพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในทุกๆ ภาคส่วนก็ยังรอมีให้มีการวิจัย ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร บ้านเรือน และภาคขนส่ง
ทั้งนี้ ผู้สนใจรายละเอียดของผลงานวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สามารถเข้าไปดาวโหลดเอกสารได้ที่ www.eppo.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ หาร 2 โทร 02 612 1555 ต่อ 203-205 ในวันและเวลาราชการ