เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ความรับผิดชอบและระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตก็จะมากขึ้นเป็นปรกติ ไม่ว่าเนื้องานจะยุ่งยากหรือสบายขนาดไหน อาจเป็นด้วยเรื่องความคิดความอ่านหรือวัยวุฒิที่มากขึ้น และเมื่อต้องทำมากขึ้น ระวังมากขึ้น “ความเครียด” หรือ “ความกระวนกระวายใจ” ก็จะตามมาเหมือนกับจรวดยังไงยังงั้น และแม้ว่าคุณจะมีสุขภาพจิตดีแค่ไหน แต่หากมีความเครียดเก็บไว้ในใจมาก สักวันหนึ่งมันจะลามไปยังร่างกายของคุณ
อาการเครียดลงกระเพาะเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถส่งผลกระทบระยะยาวกับทั้งร่างกายและจิตใจได้ แม้ว่าหลายๆคนอาจไม่เชื่อว่าความเครียดคือปัจจัยที่ทำให้ป่วยหนักได้ แต่วิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ให้การยืนยันแล้วว่าความเครียดสะสมหรือจิตใจที่ขุ่นมัวมากๆจะทำให้ร่างกายของคุณป่วยได้จริงๆ
จิตใจเกี่ยวอะไรกับกระเพาะ?
แม้ว่าจิตใจของคนจะไม่ได้ถูกกำหนดจากปัจจัยของร่างกายมากมายนัก แต่จิตใจและสมองของคุณเป็นหน่วยขับเคลื่อนร่างกายอย่างแท้จริง (Mind over body) และนอกจากเรื่องทางจิตวิญญาณแล้ว อาการเครียดสะสมหรือความกระวนกระวายใจจะทำให้การทำงานของอวัยวะภายในผิดปกติ รูจมูกหดตัว การหดและขยายตัวกระเพาะและลำไส้ และเมื่อร่างกายต้องทนรับอาการเหล่านี้มากๆ อวัยวะอย่างกระเพาะก็จะทำงานน้อยลง เพื่อการรักษาพลังงานของร่างกาย เป็นกลไกทางชีวภาพที่เกิดขึ้นตามปรกติอยู่แล้ว
จึงไม่แปลกเลยที่อาการมวนท้อง กระเพาะทำงานผิดปรกติ จะสามารถเกิดจากความเครียดได้ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีปัจจัยมากมายหลายที่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสภาพจิตใจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ควรมองข้าม
อาการเครียดสะสม จนลงกระเพาะ เป็นอย่างไร?
เมื่อความเครียดเรื้อรังเข้าทำร้ายกระเพาะ ปริมาณน้ำย่อยจะออกมามากกว่าปรกติ ทำให้รู้สึกปวดท้อง ระคายเคืองไม่สบายช่วงลำตัว และไม่อยากอาหาร สามารถถึงขั้นทานอะไรไม่ลงหรือต้องคายทิ้งเลยก็ได้ ท้องอืด และมีลมในกระเพาะเยอะ (จากน้ำย่อยที่เป็นกรด)
สำหรับอาการที่แรงขึ้น จะเกิดขึ้นกับระบบขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย ท้องผูก รู้สึกถ่ายอย่างไรก็ไม่หมดเสียที หรือแม้แต่เกิดบาดแผลในกระเพาะจนทำให้อุจจาระออกมาเป็นเลือด หรืออักเสบจนมีเมือกอยู่ในอุจจาระของตน
นอกจากโรคกระเพาะแล้วความเครียดทำอะไรเราได้อีกบ้าง?
กระเพาะและลำไส้ ไม่ใช่อวัยวะภายในเดียวที่สามารถบอบช้ำจากความเครียดได้ ปัญหาจากโรคเครียดเป็นภัยที่ต่อเนื่องและทำร้ายร่างกายมากกว่าแค่โรคเครียดลงกระเพาะ ยกตัวอย่างเช่น
- โรคซึมเศร้า
- โรคไมเกรน
- โรคหัวใจ
- โรคหอบหืด
- โรคเบาหวานหรือโรคอ้วน
นอกจากโรคภัยที่ชัดเจนยังมีผลกระทบข้างเคียงที่ส่งผลช้าๆแต่เกี่ยวพันอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่นหน้าแก่ไว โรคอ้วน (พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลง) ที่ต่อยอดไปเป็นโรคเบาหวาน หรือแม้แต่อัลไซเมอร์ที่เกิดจากเซลล์สมอง
โรคเครียดเรื้อรัง แก้อย่างไร?
แน่นอนว่าอาการความเครียดเป็นเรื่องที่ห้ามกันได้ยาก และอาจเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับบางคนที่จะแก้ไข แต่เรามีวิธีง่ายๆมาแนะนำ ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นขั้นตอนสากลที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้ลำบากจนเกินไป
- เลิกรับของแย่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ แอลกอฮอล์หรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์และเป็นพิษต่อร่างกายเช่นของทอดของมันหรืออาหารสังเคราะห์
- ออกเหงื่อ ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกายเบาๆ หรือออกกำลังกายหนักๆ การเสียเหงื่อเสียพลังงานจะเบี่ยงเบนความสนใจของเราออกไปทางอื่นได้ดี ยกตัวอย่างเช่น โยคะ, วิ่ง, ชกมวย เป็นต้น
- ฝึกฝนจิตใจ วิธีที่ยากที่สุด แต่ส่งผลระยะยาวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสายกลางหรือหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม การฝึกฝนจิตใจหรือสมาธิจะเป็นทางออกของปัญหาการคิดมาก ความเครียดให้ตัวเองได้มากที่สุด เมื่อใจสงบ สมองก็จะไม่ทำงานหนัก ความเครียดก็จะเบาลงไปเอง
อาการเครียดลงกระเพาะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในหมู่คนวัยทำงาน จนทำให้คนคิดกันไปว่าเป็นเรื่องปรกติในชีวิตวัยทำงาน คนส่วนมากมักเลือกที่จะแก้ต้นตอของปัญหาความเครียดเพียงอย่างเดียว โดยไม่คิดที่จะแก้ปัญหาร่างกายของตัวเอง ซึ่งแม้จะดีต่อการปรับปรุงระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาว จะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน ก่อนที่ร่างกายของคุณจะบอบช้ำไปมากกว่านี้ เริ่มแก้ปัญหาตรงตัวเองก่อน แล้วทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ง่ายขึ้นเอง
ข้อมูลจาก rabbit finance