นอกจากความแอคชั่นของ “เลียม นีสัน” ที่การันตีด้วยผลงานสุดเข้มข้นแทบจะตลอดอาชีพนักแสดงของเขา อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ The Commuter ถูกยกเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สุดระทึกขวัญและบีบคั้นหัวใจ นั่นคือ เงื่อนไขของสถานที่ ภายใต้อาณาเขตและเวลาที่ถูกจำกัด เราจึงอดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยตามตัวละครอย่าง “ไมเคิล” (รับบทโดย เลียม นีสัน) ที่ต้องปฏิบัติภารกิจอย่างลับๆ ที่ไม่ได้เพียงเพื่อแลกกับค่าตอบแทนก้อนโต แต่ยังเป็นการช่วยชีวิตผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตบนรถไฟขบวนนรกนั้น รวมไปถึงครอบครัวที่เขารักอีกด้วย
และด้วยเงื่อนไข ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรค แต่ “โจเม่ คอลเลต-เซอร์ร่า” ผู้กำกับที่ร่วมงานกับ “เลียม” มาแล้วเป็นเรื่องเรื่องที่ 4 กลับมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายในการทำงานอย่างมาก ในการเล่าเรื่องออกมาให้เป็นภาพได้น่าสนใจด้วยฉากที่เกิดบนรถไฟแทบทั้งเรื่อง และเป็นเสน่ห์ที่จะช่วยขับอารมณ์ให้ “The Commuter” มันส์ระทึกมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
นักออกแบบงานสร้าง ริชาร์ด บริดจ์แลนด์ กล่าวถึงงานของเขาในเรื่องนี้ว่า “หนึ่งในสิ่งที่โปรดิวเซอร์บอกกับผมคือ ‘ง่ายๆ เลยนะ มันก็แค่รถไฟ’ แต่ผมรู้ว่างานนี้ต้องซับซ้อนไม่เบา เรื่องแรกๆ ที่ผมคุยกับโจเม่คือเราจะทำยังไงให้มันออกมาสมจริง เราพยายามเติมแต่งให้น้อยที่สุด รถไฟต้องดูดิบเหมือนรถไฟนิวยอร์กของจริง ผมไปสุสานรถไฟในโอไอโฮ นอกตัวเมืองคลีฟแลนด์ ที่มีซากรถไฟใต้ดินเต็มไปหมด เราเอาเบาะที่นั่ง ราวจับอื่นๆ มาปรับใช้กับงานสร้างของผม” บริดจ์แลนด์ ย้ำในเรื่องของการทำให้ทุกอย่างดูสมจริงที่สุด
งานแรกที่บริดจ์แลนด์ได้รับมอบหมายคือออกแบบฉากเสมือนจริงขึ้นในสตูดิโอไพน์วู้ด รถไฟโดยสารนิวยอร์กมักจะประกอบไปด้วยโบกี้ที่นั่ง 6-7 โบกี้ ความยาวโดยรวม 70-80 ฟุต แน่นอนว่าการจำลองของจริงขึ้นมาทั้งหมดในสตูดิโอย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉากรถไฟถูกออกแบบมาให้แยกส่วนได้เพื่อให้ง่ายต่อการถ่ายทำ ซึ่งนั่นแปลว่าแต่ละวันที่ถ่ายทำทีมงานสามารถเลือกจะถ่ายตรงส่วนไหนของรถไฟก็ได้ ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนกล้องสามารถทำได้อย่างอิสระ จากภายในผ่านหน้าต่างสู่ภายนอกโดยไม่ต้องพึ่งซีจี
ริชาร์ด บริดจ์แลนด์ เล่าถึงการทำงานกับผู้กำกับ โจเม่ อีกว่า “ผมได้รู้ตั้งแต่ทำงานกับเขาใน Unknown ว่าเขาชอบเคลื่อนกล้องมาก เขาเป็นนักเล่าเรื่องด้วยภาพตัวจริง เขาคิดเสมอว่าจะเล่าทั้งซีนด้วยกล้องเพียงช็อตเดียวได้ยังไง เขาชอบใช้เครนกวาดกล้องไปทั่วฉาก ผมจึงออกแบบฉากให้กว้างกว่า 850 ตารางฟุต และสูงถึง 11 ฟุต มันจะได้มีพื้นที่ให้เขาเล่นกับกล้องได้อย่างเหลือเฟือ แถมเขายังเคลื่อนกล้องจากภายในขบวนสู่ภายนอกได้อย่างแบบไร้รอยต่อด้วย”
ส่วนสำคัญที่จะมาเพิ่มความตื่นเต้นให้กับหนังเป็นอย่างดี นั่นคือฉากต่อสู้ ซึ่งได้นักออกแบบคิวบู๊และสตั๊นท์ มาร์ค แวนสโลว์ มาช่วยดูแลในส่วนนี้ และด้วยความที่ แวนสโลว์ เคยร่วมงานกับ เลียม นีสัน มาแล้วถึง 16 ครั้ง ทำให้ทั้งคู่ทำงานเข้าขากันอย่างสมบูรณ์แบบ ตามที่ แอนดรูว์ โรน่า โปรดิวเซอร์มือทองได้กล่าวไว้ว่า “พวกเขาไว้ใจกันและกัน ทั้งคู่พร้อมทุ่มเทเพื่อยกระดับงานสตั๊นท์ในเรื่อง เลียมเชื่อในฝีมือทีมงานทุกคนของเขามาก”
แวนสโลว์ กล่าวถึงความแตกต่างของการต่อสู้ในสถานที่แคบๆอย่างรถไฟ กับสถานที่โล่งแจ้งทั่วไป ว่า “ฉากต่อสู้แต่ละฉาก เกิดขึ้นหลายจุดในรถไฟ ทั้งตอนที่รถไฟเคลื่อนที่และจอด ทำให้จังหวะมันต่างกัน และเราเน้นในความสมจริง เขาไม่ใช่ยอดมนุษย์ ตอนนี้เขาเป็นแค่ชายคนหนึ่งที่รับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าแบบที่คนทั่วไป” มาร์ค แวนสโลว์ กล่าวอย่างภาคภูมิใจกับงานที่เขาทำในเรื่อง The Commuter
เลียม นีสัน กล่าวเสริมถึงฉากบู๊ของเขาในเรื่องนี้ว่า “ผมชอบการต่อสู้นะ ผมซ้อมกับมาร์คและทีมสตั๊นท์ การซ้อมเป็นสิ่งสำคัญนะ ไม่งั้นคุณอาจจะเจ็บตัวได้ มันสนุกจริงๆ แต่มันต้องอาศัยความฟิตพอสมควรเลยทีเดียว” เลียม เล่าถึงการเตรียมตัวในส่วนของเขา ซึ่งเขาเข้ายิมเพื่อออกกำลังกาย 45 นาทีทุกเช้าก่อนมากองถ่าย
ปิดท้ายด้วยผู้กำกับ โจเม่ คอลเลต-เซอร์ร่า ที่ฝากภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า “การเล่าออกมาให้น่าสนใจเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ ถ้าหนังของผมทุกเรื่องมีอะไรเหมือนกัน ก็คงจะเป็นความน่าติดตามที่จะทำให้ผู้ชมไม่สามารถละสายตาได้ ผมหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ผมอยากพิสูจน์ตัวเองว่าผมสามารถเอาเอกลักษณ์ในผลงานของผม มาเล่าใหม่ในแบบที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงได้” โจเม่ กล่าวทิ้งท้าย
ระเบิดความมันส์ เดิมพันอันตราย ฝ่าเส้นตายขบวนนรก “The Commuter” : 11 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ระบบปกติ , IMAX และ 4DX
The Commuter นรกใช้มาเกิด – 6 เบื้องหลังแอคชั่นมันส์ระดับพรีเมี่ยม!
The Commuter นรกใช้มาเกิด – ตัวอย่าง ซับไทย