ภูมิใจเสนอ
ความยาวภาพยนตร์ 2 ชั่วโมง 37 นาที
ชื่อภาพยนตร์: TÁR
ชื่อไทย: ทาร์
วันที่เข้าฉาย: 9 กุมภาพันธ์ 2565
จัดจำหน่าย: บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์อีสต์) จำกัด
TÁR: ข้อมูลงานสร้าง
เรื่องย่อ
จากผู้เขียนบท-ผู้อำนวยการสร้าง-ผู้กำกับ ท็อดด์ ฟิลด์ ก่อกำเนิดผลงานอย่าง TÁR ซึ่งนำแสดงโดย เคท บลันเชตต์ ในบท ลิเดีย ทาร์ คอนดัคเตอร์สุดแหวกแนวแห่งวงออร์เคสตร้าวงดังของเยอรมัน เราได้พบกับ ทาร์ ในช่วงรุ่งเรืองที่สุดในอาชีพของเธอ เมื่อเธอกำลังเตรียมการเปิดตัวหนังสือ และเปิดการแสดงสดซิมโฟนี่ หมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ ที่ทุกคนต่างเฝ้ารอด้วยความคาดหวัง ตลอดช่วงเวลาหลายอาทิตย์ต่อมา ชีวิตของเธอเริ่มดำเนินไปด้วยรูปแบบที่ทันสมัย ผลลัพธ์ก็คือบททดสอบอันร้อนแรงในเรื่องพลังอำนาจ และผลกระทบ และความคงทนของมันในสังคมปัจจุบัน
เปิดใจผู้กำกับ
“บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนขึ้นให้กับศิลปินคนหนึ่ง นั่นก็คือ เคท บลันเชตต์ ถ้าเธอตอบปฏิเสธ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงไม่ได้เห็นแสงเดือนแสงตะวัน บรรดาผู้ชม มือสมัครเล่น และอื่นๆ จะไม่ประหลาดใจกับเรื่องนี้เลย เหนือสิ่งอื่นใด เธอคือสุดยอดปรมาจารย์ แต่ถึงกระนั้น ในขณะที่เรากำลังดำเนินงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ทักษะเหนือมนุษย์และความเป็นไปได้ของเคท ก็ยังเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์เมื่อได้เห็น เธอเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย การมีโอกาสได้ทำงานกับศิลปินที่มีความสามารถระดับนี้เป็นสิ่งที่แทบจะอธิบายออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้ ในทุกๆ หนทาง นี่คือภาพยนตร์ของ เคท จริงๆ ครับ”
แท่นโพเดี้ยม
TÁR เปิดเรื่องด้วยการสัมภาษณ์ระหว่าง อดัม ก็อปนิก และลิเดีย ทาร์ ที่ The New Yorker Festival ซึ่งเป็นที่ซึ่งอาชีพการงานของ ทาร์ เริ่มเป็นที่สนใจ หลังสำเร็จการศึกษาระดับพี เบตา แคปป้า จากฮาร์วาร์ด ทาร์ที่เป็นผู้ชำนาญการชาวอเมริกัน ได้กลายมาเป็นบัณฑิตด้านการแสดงเปียโนจากสถาบันเคอร์ติส ก่อนจะได้รับปริญญาเอกทางด้านดนตรีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเวียนนา โดยเชี่ยวชาญทางด้านดนตรีจากอูกายาลิวัลเล่ย์ ในเปรูตะวันออก ที่ซึ่งเธอใช้เวลานานห้าปีอยู่ท่ามกลางชาว Shipibo-Konibo ในตำแหน่งคอนดัคเตอร์ เธอไต่เต้าขึ้นสู่ทำเนียบ “บิ๊กไฟว์” ออร์เคสตร้าอเมริกัน และในระหว่างนั้น เธอได้รับรางวัลจากสี่เวทีใหญ่อย่าง เอ็มมี่, แกรมมี่, ออสการ์ และโทนี่ ทำให้เธอมีชื่อติดอยู่ในรายชื่อของบุคคลเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในกลุ่ม EGOT
ด้วยแรงสนับสนุนจากนายธนาคารด้านการลงทุนและคอนดัคเตอร์มือสมัครเล่นอย่าง เอเลียต แคปแลน (มาร์ก สตรอง) ทาร์ ได้พบ Accordion Conducting Fellowship เจ้าของหลักการที่มุ่งเน้นที่จะเป็นผู้ประกอบการและหยิบยื่นโอกาสในการแสดงให้กับคอนดัคเตอร์หญิงรุ่นใหม่ หลังจากไปทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ในเบอร์ลิน ทาร์ กลายเป็นหัวหน้าคอนดัคเตอร์ให้กับวงออร์เคสตร้านี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เธอถือครองมานานถึงเจ็ดปี
“เป็นเวลานานที่สุดแล้วที่ผมคิดเกี่ยวกับตัวละครที่ปฏิญาณตนตั้งแต่วัยเด็กที่จะศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองเพื่อจะไล่ล่าความฝัน และเมื่อเธอทำสำเร็จ ความฝันนั้นกลับแปรเปลี่ยนไปเป็นฝันร้ายครับ” ฟิลด์กล่าว “แต่ทว่าเมื่อ ทาร์ ใช้ชีวิตโดยอุทิศมันให้กับศิลปะ บัดนี้ เธอพบว่าเธอเป็นผู้ดำเนินงานสถาบันที่เปิดเผยความอ่อนแอและความปรารถนาของเธอ, เปลี่ยนแปลงกฎของเธอต่อคนอื่นๆ เพียงเพื่อจะต้องมาฝืนกฎเหล่านั้นเสียเองโดยไม่รู้ตัว แต่ก็เหมือนที่ เจเน็ต มัลคอล์ม ได้บอกเอาไว้ ‘การตระหนักถึงความเลวของตัวเองไม่ใช่ข้อแก้ตัว’”
“เช่นเดียวกับคนมากมายที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ ผู้ต้องหายใจเอาอากาศที่มีน้อยมากของวงออร์เคสตร้าในเยอรมัน ทาร์ คือคนที่น่าพิศวงค่ะ” บลันเชตต์กล่าว “นั่นคือความท้าทายสำหรับฉันในแง่ของการนำตัวละครตัวนี้ให้ลุกขึ้นมามีชีวิต และค้นพบช่วงเวลาที่จะทำให้คนดูได้เชื่อมโยงถึงประสบการณ์ของเธอ เพราะนี่คือผู้หญิงที่ไม่รู้จักตัวเธอเองจริงๆ ค่ะ”
เมื่อไม่ได้ยืนอยู่บนโพเดี้ยม ชีวิตของ ทาร์ ประกอบไปด้วยความสัมพันธ์ระยะยาวกับ ชารอน กู้ดนาว (นีน่า ฮอสส์) หัวหน้าวงดนตรีของเบอร์ลิน กับ เพทรา (มิล่า โบโกเจวิค) ลูกสาวชาวซีเรียที่พวกเธออุปการะและเลี้ยงดูมา ในบ้านสไตล์โมเดิร์นที่เบอร์ลิน ทาร์ สนิทกับ แอนดริส เดวิส (จูเลี่ยน โกลเวอร์) ที่ปรึกษาและเป็นคนที่เคยทำงานในตำแหน่งที่เธอทำอยู่ เขาคอยช่วยเธอรับมือกับความซับซ้อนของตำแหน่ง และตัวเธอเองก็เป็นที่ปรึกษาให้กับ ฟรานเชสกา เลนตินี (โนเอมี่ แมร์ล็อง) ผู้ช่วยสาวของเธอที่หวังว่าสักวันเธอจะได้เป็นคอนดัคเตอร์บ้าง
“มันคือหนึ่งในบทภาพยนตร์ที่น่าตื่นตะลึงและฉลาดที่สุดที่ฉันเคยอ่านมาเลยค่ะ” ฮอลล์ ผู้เคยปรากฎตัวในผลงานที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมของผู้กำกับชาวเยอรมัน คริสเตียน เพ็ทซอลด์ กล่าว “ความตึงเครียดยังคงสูงมากจนถึงตอนจบ คุณดำดิ่งเข้าสู่การเป็นตัวละครตัวนี้ และไม่มีผ่อนคลายเลย คุณยังรู้สึกตื่นเต้นกับประสบการณ์การได้สัมผัสกับดนตรีที่ส่งผลต่อคุณทั้งในระดับของอารมณ์และจิตใจ มันไม่ได้พูดถึงธุรกิจเบื้องหลังโลกของดนตรีคลาสสิก และความโหดร้ายในโลกนั้น บทภาพยนตร์ของท็อดด์สร้างสภาพแวดล้อมในแนวดราม่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราว แต่ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ก็มีจิตวิญญาณที่ดื่มด่ำอยู่ด้วยค่ะ”
แมร์ล็องกล่าวเสริมว่า “TÁR ทำให้เราได้รู้จักสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ นั่นก็คือโลกของวงออร์เคสตร้าและคอนดัคเตอร์ แต่เรื่องนี้ได้วางผู้หญิงเอาไว้ในบทหลัก และใช้ผู้หญิงคนอื่นๆ เป็นคนพูดเกี่ยวกับโลกนี้ และสำรวจความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในโลกใบนี้ เรื่องนี้มีความทันสมัยในแบบที่มันทดสอบการเคลื่อนไหวและถามคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติที่ซับซ้อนของมัน”
ขณะที่วงออร์เคสตร้าเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อแสดงในวันบันทึกการแสดงสดให้กับค่ายเพลง Deutsche Grammophon เป็นการบรรเลงเพลงซิมโฟนี่หมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ ซึ่งถือเป็นลายน้ำในหน้าที่การงานของทาร์ สัญญาณถึงปัญหาก็เริ่มปรากฎให้เห็น
“บ่อยครั้งที่คอนดัคเตอร์หญิงมักได้รับงานเชมเบอร์ แต่ไม่ใช่งานใหญ่ ซึ่งมันทำให้เธอรู้สึกอ่อนล้าค่ะ” บลันเชตต์กล่าว “เธอพบว่าเธอกำลังตัดสินใจหลายอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ฉลาดเลย ซึ่งเป็นผลจากความเหนื่อยล้าจากการต้องทำงานตามขั้นตอนของระบบ คุณยืนอยู่บนโพเดี้ยมในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง และเปอร์เซนต์ของความสนใจของคุณต้องผลักดันความจริงที่ว่าคุณกำลังยืนอยู่ตรงนั้นในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งค่ะ”
ในครึ่งหลังของภาพยนตร์ TÁR กลายเป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของอำนาจ เมื่อวงออร์เคสตร้าของเธอ ซึ่งเป็นวงแบบประชาธิปไตยที่นักดนตรีเป็นผู้เลือกคอนดัคเตอร์ เริ่มมองเธอแตกต่างไป “แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับอัตตาธิปไตย เป็นสิ่งที่มีชีวิตชีวาอย่างมากในเรื่องราวของท็อดด์ค่ะ” บลันเชตต์กล่าว มีอยู่ฉากหนึ่งที่ ลิเดียและลูกสาวของเธอเล่นเพลงออร์เคสตร้ากับบรรดาสัตว์สตัฟฟ์ หลังจากพลังของคอนดัคเตอร์ที่โพเดี้ยมถูกคุกคาม “มันไม่ใช่ประชาธิปไตยค่ะ” ทาร์กำลังสอนลูกของเธอ ซึ่งเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เป็นหัวใจของบทภาพยนตร์ของฟิลด์
สร้างความรู้สึกจากเสียง
เช่นเดียวกับคนมากมาย ฟิลด์ได้รู้จักคอนเสิร์ตดนตรีเป็นครั้งแรกผ่าน เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ (ฟิลด์มีแบ็คกราวน์ทางด้านดนตรีแจ๊ส) “ถ้าคุณลองดูการบรรยายที่เบิร์นสไตน์เคยไปบรรยายให้กับฮาร์วาร์ดในช่วงทศวรรษ 1970 เขาได้ถอดมารยาการเสแสร้งทั้งหมดทิ้งไป และแทนที่มันด้วยความรักครับ” ฟิลด์กล่าว “เขาทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าดนตรีคลาสสิคคือเสียงดัง คุณสามารถเล่นมัน และทำให้มันฟังหมือน Dragnet หรือเปลี่ยนสัมผัส และทำให้มันเหมือนกับชาร์ลส์ ไอเวส ได้ มันเหมือนกันทุกอย่าง ดนตรีนี้ควรจะถูกแก้ไข ทำให้ง่ายขึ้น และถูกสอนกันในโรงเรียน มาห์เลอร์ 5 ซึ่งเป็นเพลงที่ ลิเดีย จะต้องคอนดัค คือผลงานที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งไปอย่างแท้จริง ถ้าคุณฟังงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ในทุกวันนี้ หรืองานที่ทำให้กับ บั๊กส์ บันนี่ คุณกำลังได้ยินดนตรีที่เกิดมาจากผลงานที่ใช้มาตรฐานนี้ละครับ”
กระบวนการ
TÁR คือภาพยนตร์ฝึกซ้อม เป็นภาพยนตร์ที่ต้องมีกระบวนการ และฟิลด์ก็อยากจะทดลองและถ่ายทอดกลไกทั้งบนเวทีและนอกเวทีของเรื่องเหล่านั้น “ความกังวลหนึ่งเกี่ยวกับการวางตัวละครตัวหนึ่งลงไปในสิ่งแวดล้อมนั้น ก็คือ คนที่ใช้ชีวิตของพวกเขาอยู่ตรงนั้นจริงๆ อาจจะเชิดใส่ภาพยนตร์เรื่องนี้ และบอกว่าเรานำเสนอผิดๆ ว่าเรานำเสนอด้านที่เป็นเรื่องไร้สาระ ดังนั้น จึงสำคัญมากที่งานวาทยากรจะต้องมีพลังในการเล่าเรื่องนี้ ไม่ใช่อยู่ตรงนั้นแค่เป็นเรื่องแบ็คกราวน์ให้กับสิ่งอื่น การอ่านหนังสือของ จอห์น เมาเซรี ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคอนดัค (การอำนวยเพลง) ทำให้ผมเริ่มเข้าใจเส้นทาง ผมโทรไปหาจอห์น และพบว่าตัวผมเองตกอยู่ใต้มนต์ของปรมาจารย์ตัวจริงครับ”
เมาเซรีจัดคอร์สอบรมให้กับ ฟิลด์ และทั้งสองคนได้ใช้เวลานานหลายชั่วโมงพูดคุยกันทางโทรศัพท์ “จอห์นมีน้ำใจอย่างมากโดยเขาให้ทั้งความรู้และให้เวลากับผมครับ ความกระตือรือร้นของเขา ซึ่งก็คล้ายอย่างมากกับ เลนนาร์ด เบิร์นสไตน์ ผู้เป็นที่ปรึกษาของเขา เหมือนแพร่เชื้อให้กับคนอื่นจริงๆ ครับ”
เป็นเวลานานหลายปีทีเดียวที่ เมาเซรี ได้ทำหน้าที่อำนวยเพลงให้กับ “Movie Nights” ที่ฮอลลีวู้ด โบวล์ การดึงดูดคนดูช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับดนตรีประกอบของภาพยนตร์ในความคิดของผู้ชมดนตรีคลาสสิค “จอห์นมีแบ็คกราวน์ที่ไม่ธรรมดาเลยสำหรับคอนดัคเตอร์ครับ” ฟิลด์กล่าว “ในแง่ที่ว่าเขาเข้าใจถึงกลไกของภาพยนตร์ ดังนั้น เราจึงเหมือนมีรหัสย่อระหว่างกัน ในแง่ของการปฏิบัติ ผมสามารถเอาไอเดียพลอตเรื่องที่เขาเสนอ มาลองทดสอบความเป็นไปได้ดู ช่วงเวลาที่ผมได้ใช้กับเขา ยังเป็นการเตรียมผมให้พร้อมที่จะถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับเหล่ามืออาชีพด้านดนตรีคลาสสิคในเยอรมัน ซึ่งอาจเป็นพวกที่ยึดมั่นตามตำรา และคอยปกป้องสิ่งที่พวกเขากำลังขายอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามันคือความงดงามและความเคารพครับ”
“ที่นั่น มันแตกต่างออกไป”
เพื่อสร้างความรู้สึกสมจริง ฟิลดได้สัมภาษณ์ผู้เล่นในวงออร์เคสตร้าเยอรมันหลายคนด้วยกัน ซึ่งรวมถึงนักไวโอลินหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของ มิวนิค ฟิลฮาร์โมนิค “เธอได้เล่าให้ฟังถึงความท้าทายที่เธอต้องเผชิญครับ มีหลายเรื่องที่ในรอบล้านปี นักไวโอลินชายไม่เคยต้องเจอเลยด้วยซ้ำ โลกของดนตรีคลาสสิค (การรวมตัวกันระหว่างออสเตรีย ฮังการี และเยอรมัน) ยังคงเหมือนถูกแช่แข็งอยู่ในกาลเวลา ลองดูวงออร์เคสตร้าระดับท็อปๆ สิครับ จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีวงไหนที่แต่งตั้งหัวหน้าคอนดัคเตอร์ที่เป็นผู้หญิงเลย จนทำให้ภาพยนตร์ของเรากลายเป็นเหมือนเรื่องเทพนิยายไปเลยครับ”
มาห์เลอร์ และเอลการ์
“มาห์เลอร์ 5 คือเหตุการณ์สำคัญมากครับ ไม่ใช่แค่ในโลกของดนตรีคลาสสิคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในดนตรีรูปแบบอื่นๆ ด้วย เป็นเรื่องง่ายมากที่จะตกหลุมรักท่อนที่ 3 (ของซิมโฟนี)” ฟิลด์กล่าว “เป็นเวลาหลายปีทีเดียวที่ผมหมกมุ่นกับความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของการบันทึกเสียงที่อิงกับวงออร์เคสตร้า, ฮอลล์ และคอนดัคเตอร์ เป็นอย่างนั้นจนกระทั่งผมรู้ว่ามีคนมากมายที่ได้รู้จักผลงานชิ้นนี้จากการดูภาพยนตร์เรื่อง Death in Venice ของวิสกอนตี ดังนั้น เมื่อ จอห์นถามผมว่าดนตรีคลาสสิคเพลงโปรดของผมคือเพลงอะไร ผมปิดตาและรู้สึกผิดที่จะตอบว่าเป็นท่อนที่ 4 อะดาจิเอตโต เขาดุผมว่า ‘ไม่มีใครที่จริงจังกับงานดนตรีคลาสสิค แล้วจะรู้สึกดูแคลนกับอะดาจิเอตโตหรอกนะ ลืมวิสกอนตีไปซะ สร้างเรื่องราวของตัวเองรอบๆ ซิมโฟนีหมายเลข 5’ ผมก็เลยทำแบบนั้นครับ เรื่องนี้ก็เลยวางเรื่องหลักเอาไว้ที่คอนดัคเตอร์คนหนึ่ง เป็นคอนดัคเตอร์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของวงออร์เคสตร้าเยอรมันวงนี้ และวางกรอบเรื่องเอาไว้ในช่วงเวลาสามอาทิตย์ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวของเธอสำหรับการเปิดตัวหนังสือในนิวยอร์ก นอกเหนือไปจากการแสดงลดในเบอร์ลิน เพื่อบันทึกการแสดงสดเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ ให้กับค่ายเพลง Deutsche Grammophon”
“หลังจากนี้ ผมไม่กลัวข้ออ้างเรื่องการขัดกับประชานิยมอีกแล้ว และรู้สึกเป็นอิสระที่จะไล่ตามดนตรีที่ผมรักจริงๆ” หนึ่งในงานดนตรีเหล่านั้นก็คือ เชลโล คอนแชร์โต ของเอลการ์ ตอนที่ เอลการ์ เขียนคอนแชร์โตนี้ ยังไม่เคยมีวงออสเคสตร้าไหนที่มีนักดนตรีหญิงมาก่อน อย่างไรก็ดี นักดนตรีเชลโล เบียทริซ แฮร์ริสัน คือนักดนตรีเชลโลหญิงคนแรกที่บันทึกบทเพลงนี้ต่อหน้าวง London Symphony Orchestra ซึ่งในเวลานั้นมีนักดนตรีเป็นชายทั้งหมด ที่ Stage One ของอีเอ็มไอ (ปัจจุบันคือแอ็บบี้ โร้ด สตูดิโอส์) และมี เอลการ์ ทำหน้าที่อำนวยเพลงด้วยตัวเอง
ผลงานชิ้นนี้ถูกลืมเลือนไปจนกระทั่งในปี 1965 เมื่อ ฌาคเคอลีน ดู เปร ได้บันทึกเสียงเอาไว้กับวงออสเคสตร้าวงเดียวกัน ในสตูดิโอ เดียวกันกับแฮร์ริสัน เพียงแต่ในครั้งนี้มี เซอร์จอห์น บาร์บิโรลลี่ เป็นคอนดัคเตอร์ ผลงานชิ้นนี้มีความเกี่ยวพันกับดู เปรอย่างใกล้ชิด เพราะเธอได้เก็บมันเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของบทเพลงสร้างชื่อให้กับเธอ อันที่จริง มันคืองานชิ้นสุดท้ายที่เธอได้บันทึกเสียงเอาไว้ก่อนเธอจะเสียชีวิต เมื่อเธอได้กลับไปที่ สตูดิโอวัน อีกครั้ง โดยในครั้งนี้มี แดเนียล เบเรนบอย สามีของเธอเป็นคอนดัคเตอร์ให้ มันคือการบันทึกเสียงครั้งนี้ที่ โอลก้า เม็ตคิน่า นักดนตรีเชลโลในบทภาพยนตร์เรื่องนี้ บอก ทาร์ ว่ามันคือเหตุผลที่ทำให้เธอกลายมาเป็นนักเชลโลจนได้”
การสร้างตัวละคร
“เคทกับผมเริ่มต้นทำงานด้วยกันในเดือนกันยายน ปี 2020 ครับ” ฟิลด์กล่าว “เธอแสดงภาพยนตร์อีกสองเรื่องระหว่างที่เธอเตรียมตัวเพื่อมาแสดงเรื่อง TÁR เธอปิดกล้องในตอนกลางวัน และโทรหาผมในตอนกลางคืน จากนั้น เธอก็จะทำงานเพิ่มอีกหลายชั่วโมง เธอหัดพูดเยอรมัน เล่นเปียโน ใช่ครับ เคทเป็นคนที่เล่นทุกตัวโน้ต และเธอทำการค้นคว้าเยอะมากที่สุด เธอเป็นคนที่ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในปีเดียว เธอทำหลายอย่างประสบความสำเร็จมาก ก็อีกนั่นแหละครับอยู่ในช่วงระหว่างที่เธอแสดงภาพยนตร์อีกสองเรื่อง เรียกว่าเยอะกว่าที่ ลิเดีย ทาร์ ทำเอาไว้ในตอนอายุ 25 เสียอีก ระหว่างถ่ายทำ เธอก็แทบไม่ได้นอนเลย หลังจากหนึ่งวันในการถ่ายทำ เธอจะตรงไปเล่นเปียโน เรียนพูดภาษาเยอรมัน สำเนียงอเมริกัน หรือเรียนรูปแบบจังหวะหรือเทคนิคการใช้ไม้ของวาทยากร เธอใช้เวลาในวันหยุดที่สนามแข่งเพื่อหาขอบเขตที่ถูกต้อง ขณะวนอยู่ที่อเล็กซันเดอร์พลัทซ์ เพื่อซ้อมฉากหนึ่งกับ นีน่า ฮอลล์ ขณะที่หักเลี้ยวและเบรกรถด้วยความเร็ว 60 ไมล์ต่อชั่วโมงระหว่างรถแปดคันที่ขับโดยทีมสตั๊นต์แมน ไม่มีอะไรเลยที่เราจะจับโยนใส่เธอ แล้วเธอจะไม่สามารถจัดการได้ เธอตั้งมาตรฐานให้กับทุกคน และเราก็ต้องทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อจะพยายามวิ่งไปให้ทันเธอครับ”
บลันเชตต์ เพลิดเพลินไปกับการปะทะกันในเชิงปัญญาในบทภาพยนตร์ของฟิลด์ แต่เธอรู้สึกอินไปกับเรื่องนี้ในระดับที่เป็นเรื่องราวของมนุษย์ “ฉันมองเห็นได้ว่ามันมีเนื้อเรื่องที่มีหลากหลายระดับให้ฉันค่อยแกะออกทีละชั้น ขณะที่ฉัน พร้อมกับคนดู ได้ค้นพบว่า ลิเดีย ทาร์ ที่น่าทึ่งคนนี้เป็นใคร ท็อดด์ ได้สร้างสิ่งมีชีวิตที่มีความโดดเด่นที่สุดขึ้นมาค่ะ” บลันเชตต์ยังรู้สึกทึ่งกับคุณลักษณะของบทภาพยนตร์ที่เป็นเสมือนดนตรีที่มีจังหวะ และวิธีการในการบรรยายตัวละครตัวนี้ของท็อดด์ได้อย่างโดดเด่น
“ฉันจะค่อนข้างโฟกัสไปที่ภาษาอย่างมาก และตอนที่ฉันได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มีจุดอ้างอิงมากมายที่ฉันไม่คุ้นเคย ฉันรู้ว่าฉันจำเป็นต้องเข้าใจมันจากภายใน เพื่อให้คนดูไว้วางใจว่าตัวละครตัวนี้รู้ในสิ่งที่เธอกำลังพูดจริงๆ ตลอดเวลา น่าแปลกที่คนดูไม่จำเป็นต้องรู้จักข้ออ้างอิงเหล่านี้ทั้งหมดก็ได้ พวกเขาแค่จำเป็นต้องรู้ว่า ลิเดีย คืออัจฉริยะเท่านั้นก็พอ”
“ฉันรู้สึกติดตรึงกับภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังคลี่คลายออกมา แต่ฉันก็ตอบสนองต่อบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในระดับที่เป็นจังหวะผ่านทางดนตรี สำหรับตัวฉัน บ่อยครั้งมากที่ดนตรีเป็นกุญแจสำคัญในฐานะที่ฉันเป็นนักแสดง ในการจะปลดล็อคตัวละครหรือบรรยากาศ เพื่อจะหาความเชื่อมต่อกับเรื่องนี้ ภาพยนตร์ของท็อดด์คือเทอร์โบชาร์จให้กับฉันค่ะ”
สำหรับฟิลด์และบลันเชตต์ การได้ทำงานร่วมกันก่อนจะถึงเวลาถ่ายทำ ได้กลายมาเป็นแบบฝึกหัดในการสร้างบรรยากาศ เท่าๆ กับการสร้างโลกและการพัฒนาตัวละคร “เรากำลังตามหาหลายอย่างด้วยกันซึ่งต้องผ่านเนื้อหานี้และมากไปกว่านั้นค่ะ” บลันเชตต์กล่าว “ท็อดด์คือผู้ร่วมงานที่มีจิตใจเปิดกว้างที่สุดและไม่กลัวเกรงอะไรมากที่สุดที่คุณหวังจะได้ทำงานด้วย ฉันจะมีไอเดียบ้าๆ และเขาก็จะเพลิดเพลินไปกับมัน และส่งข้อความมาหาฉันตอนตีสอง และบอกว่า ‘ผมคิดว่าผมรู้วิธีที่จะทำให้ไอเดียนี้เวิร์กแล้ว’ เขาเป็นคนคิดสร้างสรรค์จนน่าขนลุก เราพาตัวละครเหล่านี้เดินไปไกล เมื่อเราเริ่มต้นถามคำถามใหญ่ๆ อย่าง ‘กระบวนการคืออะไร’, ‘ความสัมพันธ์ในบทภาพยนตร์เรื่องนี้มันเกี่ยวกับการดำเนินการแค่ไหน’, ‘ตัวละครทุกตัวมีความเกี่ยวข้องในการรักษาให้โครงสร้างอำนาจนี้ทำหน้าที่อยู่ได้หรือไม่’, ‘จะมีความสบายได้หรือไม่ในเวลาที่พยายามจะเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งไปสู่ที่แห่งใหม่’ ‘เราอยากชื่นชมความยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ แต่เราอยากจะเห็นมันล่มสลายพอๆ กันหรือไม่’ การพูดคุยเหล่านี้ช่วยประกอบร่างให้กับ ลิเดีย ด้วยค่ะ การบรรยายมากมายของพวกเราล่มสลายลง และฉันก็รู้สึกทึ่งกับผู้คนเหล่านี้ที่ความกังวลของพวกเขาล้วนยิ่งใหญ่และเกินเอื้อม แต่ก็ไม่มีทางเข้าถึงความยิ่งใหญ่นั้นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ยิ่งใหญ่ที่อยากจะย้อนกลับไปและเข้าถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตในรายละเอียดปลีกย่อยของปัจจุบัน”
“เคทย่อยบทภาพยนตร์เรื่องนี้ จดจำมันได้ตั้งแต่ต้นจนจบ จากนั้นก็ขุดเจาะมันครับ” ฟิลด์กล่าว “เธออยากรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในวงโคจรของทาร์มาจากไหน ดังนั้นในตอนที่เราเริ่มต้นถ่ายทำ เธอรู้ทุกอย่างที่ผมทำ อันที่จริง เธอไปไกลเกินกว่าที่ผมรู้อีกครับ เธอคอยแก้ไขผมในระหว่างการซ้อม และบอกว่ามันคือ เอ็มทีวี ไม่ใช่ ไมเคิล ทิลสัน โธมัส”
“การเป็นวาทยากรไม่ใช่งานง่ายเลยนะคะ ฉันเองก็รู้สึกอึ้งไปเลยว่าเคทต้องทุ่มเทความพยายามมากแค่ไหนใส่ในการแสดงของเธอผ่านทุกอิทธิพลที่เธอนำมาใช้ และวิธีที่เธอจัดการเพื่อสร้างใครบางคนขึ้นมาใหม่เอี่ยม และไม่เหมือนใคร เป็นคนที่ให้ความรู้สึกเหมือนคนจริงๆ และมีชีวิตจริงๆ” โซฟี คาวเออร์ นักแสดงหน้าใหม่ป้ายแดง ซึ่งในชีวิตจริงก็เป็นนักดนตรีเชลโล และเธอได้มารับบทเป็นนักเชลโลชาวรัสเซียที่ชื่อ โอลก้า เม็ตคิน่า กล่าว
“จุดเริ่มต้นของฉันคือหลักสูตรนักดนตรีอาชีพของ อิลยา มูซิน และสารคดีที่เผาไหม้จิตวิญญาณที่ว่าด้วยเรื่องราวของ แอนโตเนีย บริโกค่ะ” บลันเชตต์บอก “ฉันได้ดู เกลาดิโอ อับบาโด, คาร์ลอส ไคลเบอร์, เอมมานูเอล ไฮม์ และเบอร์นาร์ด ไฮติงก์ เพื่อหาว่า ทาร์ ไม่ได้เป็นคนแบบไหน แต่ยังหาด้วยว่าเธอทะเยอทะยานอยากเป็นใคร การวาทยากรก็คือภาษา เป็นการกระทำที่ใหญ่โตในด้านการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ มันแปลกประหลาดและมีความเป็นส่วนตัวอย่างมาก ภาษาท่าทางคือประตูสำหรับฉันที่จะเจาะเข้าไปในจิตใจของนักดนตรีระดับปรมาจารย์ แต่เพื่อแสดงให้ฉันเห็นด้วยว่าเธอเคลื่อนไหวผ่านโลกนี้ไปอย่างไรค่ะ” บลันเชตต์เฝ้าฝึกฝนกับโค้ชในการวาทยากร นาตาลี เมอร์เรย์ บีล แต่เธอก็รีบอธิบายอย่างรวดเร็วว่า “การฝึกสำหรับบทบาทนี้จำเป็นต้องมีการเรียนเปียโน เรียนภาษาถิ่น และเรียนทางด้านภาษา เรียกว่าเรียนทุกอย่างที่เป็นกลไกในทางปฏิบัติภายในทักษะความสามารถของตัวละครตัวนี้ อย่างไรก็ดี พวกมันก็ยังไม่ใช่ตัวละคร นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์เกี่ยวกับงานวาทยากร นั่นคือสิ่งสำคัญที่ตัวละครตัวนี้ทำค่ะ เหมือนกับการหายใจ ความท้าทายที่แท้จริงสำหรับฉันในฐานะนักแสดงก็คือการเข้าไปอยู่ในหัวของใครคนหนึ่งที่ห่างเหินจากตัวเธอเอง เธอลืมไปแล้ว เธอก้าวห่างจากคำว่า ‘ทำไม’ และด้วยการค้นหาวิธีที่จะสร้างตำนาน เธอได้ทำลายความเชื่อมโยงต่อดนตรี ทาร์คือคนที่มีบทวิเคราะห์อยู่ภายในที่ทรงพลังอย่างมาก ซึ่งยึดถือความคิดอย่างไม่รู้ตัวว่า ถ้าคุณสมบูรณ์แบบแล้ว ใครก็ทำร้ายคุณไม่ได้ แต่แน่นอน ความสมบูรณ์แบบคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในแง่ของงานศิลปะ ศิลปะเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ และพื้นที่สีเทา และนั่นแหละคือปัญหาใหญ่ค่ะ”
“ฉันเข้าใจด้วยวิธีเล็ก ๆ ของฉันว่าการบริหารสถาบันวัฒนธรรมขนาดใหญ่นั้นเป็นอย่างไร” บลันเชตต์ ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการร่วมด้านศิลปะ และซีอีโอร่วมของซิดนีย์ เธียเตอร์ คัมปานี ร่วมกับ แอนดรูว์ อัพตัน สามีของเธอ มานานเกือบหนึ่งทศวรรษ กล่าว “การต้องมีความรับผิดชอบทางด้านวัฒนธรรมและทางกายภาพระดับนั้น มันอาจทำให้โดดเดี่ยวอย่างมาก และบางครั้งก็รู้สึกไม่น่าชื่นชมสักเท่าไหร่ พอๆ กับที่มันอาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าที่การงานของใครบางคน 70% ของยุคสมัยของพวกเราในฐานะที่เป็นศิลปิน ถูกใช้ไปกับการดูแลบริหารองค์กรจริงๆ ทั้งอาคาร ตารางงาน สปอนเซอร์, ตัวประสานกับคนดู และแน่นอน การรับมือกับการเมืองในบริษัท เรื่องของบุคลากร และเงินทุนรัฐบาล” ประสบการณ์ของเธอมีส่วนช่วยให้นักแสดงหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์ผู้นี้มีความเข้าใจถึงการทำงานภายในของทีมศิลปิน และตัวละครที่มีการเรียกร้องสูง ที่ต้องสวมหมวกสองใบในวงออร์เคสตร้าของเยอรมัน “การเดิมพันทั้งในเชิงสร้างสรรค์และทางกายภาพหยุดอยู่กับเรา แต่เมื่อเรารับงานนี้ เราเอาโต๊ะออกจากสำนักงานของเรา และเราก็ปรึกษากับทีมของเราเกี่ยวกับการตัดสินใจในเชิงศิลปะ ฉันแน่ใจว่าในตอนแรกคงมีคนมากมายที่อาจคุ้นเคยกับวิธีการที่เป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า คงจะคิดว่า ‘พวกนี้ไม่รู้ตัวหรอกว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่’ พวกเขาไม่คุ้นเคยกับการทำงานในแบบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว โลกของดนตรีคลาสสิค ก็เหมือนกับสถาบันมากมาย จะไม่มีข้อตกลงแบบนี้ ตัวอย่างเช่น ทาร์ ถูกคาดหวังว่าจะเป็นพลัง ในฐานะวาทยากร ดนตรีไหลอยู่ในตัวเธอ แต่ไม่มีตัวอย่างของคนที่อยู่ในสถานะแบบเธอ ตัวอย่างที่มีก็ล้วนแต่เป็นตัวพ่อของวงการดนตรีคลาสสิคอย่างเช่น วิลเฮล์ม ฟวร์ทเว็งเลอร์ และแฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน
ผู้เล่นคนอื่นๆ
โลกของดนตรีคอนเสิร์ตในเชิงประวัติศาสตร์มักมีผู้ชายเป็นผู้นำ อย่างไรก็ดี TÁR นำเสนอภาพของผู้หญิงในชีวิตของลิเดียทั้งในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงาน ซึ่งรวมถึง ชารอน ที่เป็นคู่รักของเธอ ทั้งคู่ได้ร่วมกันทำหน้าที่แม่ให้กับเด็กที่พวกเธอรับอุปการะเอาไว้ และยังเป็นนักไวโอลินนำของวงออร์เคสตร้า, ฟรานเชสก้า ผู้ช่วยของทาร์ ผู้อยากเดินตามรอยเท้าเจ้านายของเธอ และโอลก้า เม็ตคิน่า นักเชลโลสาวชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งความวัยเยาว์และความเชื่อมั่นในตัวเองของเธอ ช่วยเติมเชื้อไฟให้กับพลังในการสร้างสรรค์ของทาร์ และทำให้ความสัมพันธ์ของเธอกับออร์เคสตร้าและชารอนยุ่งยากขึ้นด้วย
“เรื่องนี้มีเรื่องชีวิตคู่เป็นหัวใจของเรื่องครับ” ฟิลด์บอก “มันคุ้มค่าที่จะรู้ว่านับแต่ แฮร์แบร์ท ฟ็อน คารายัน ถูกขับไล่ออกจากเบอร์ลิน ก็ไม่มีคอนดัคเตอร์หลักที่ได้รับการแต่งตั้งตลอดชีวิตเหลือในเยอรมันอีกเลย วงออร์เคสตร้าเยอรมันทุกวงมีความเป็นประชาธิปไตย นั่นหมายความว่านักดนตรีจะโหวตเลือกคอนดัคเตอร์หลักเข้ามา และ “คำเชื้อเชิญ” นั้นสามารถเพิกถอนได้ทุกเมื่อ นักไวโอลินนำของวงอาจเป็นมือที่มองไม่เห็นที่ชักนำผู้ชมคอนเสิร์ต แต่สำหรับวงออร์เคสตร้า นักไวโอลินนำคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง ด้วยวิถีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างทาร์กับชารอน จึงมีความซับซ้อนอย่างมาก และกลายเป็นกระแสโต้แย้งเมื่อพวกเธอเปิดเผยความสัมพันธ์ให้ทุกคนรับรู้”
เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ฟิลด์รู้จักผลงานของ นีน่า ฮอสส์ จากภาพยนตร์ที่เธอได้ร่วมงานกับ คริสเตียน เพ็ทซอลด์ และจากผลงานของเธอในบทนักไวโอลินอาชีพที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท ในภาพยนตร์ของ อิน่า ไวเซอ เรื่อง The Audition
“จากการสนทนาครั้งแรกระหว่างผมกับนีน่า มันกลายเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าทำไม เพ็ทซอลด์ ถึงได้เขียนบทภาพยนตร์มากมายให้กับเธอ เธอพูดถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนั้น และบอกว่า ‘ฉันคิดว่าคุณอาจทำสิ่งนี้แตกต่างออกไป ฉันคิดว่าสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์นี้ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครเป็นคนสวมกางเกง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าไปเกี่ยวข้องกัน’ การสนทนานั้นได้เติมเต็มบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบที่สำคัญมาก ไม่งั้นมันอาจจะหลงทางไปแล้วก็ได้”
เพื่อหาทางที่จะสวมวิญญาณเป็นตัวละครของเธอ ฮอลล์ได้ศึกษาผลงานของ เอลการ์ และมาห์เลอร์ กับมารี ค็อกก์ โค้ชไวโอลินของเธอ โดยได้พูดคุยกันว่าผลงานเหล่านี้อาจมีความหมายกับชารอนอย่างไรบ้าง และเธอกุมอำนาจแบบไหนเอาไว้ในฐานะที่เป็นนักไวโอลินหลักในวงออร์เคสตร้า “อำนาจของเธอแตกต่างไปจากอำนาจของลิเดีย คุณต้องพิสูจน์ตัวเองในทุกวันในฐานะนักไวโอลินมือหนึ่ง เพราะทุกคนในวงต่างต้องการตำแหน่งของคุณ คุณไม่เคยรู้สึกปลอดภัยเลยค่ะ” ฮอสส์บอก “ชารอนเป็นคนรวมทุกอย่างเอาไว้ด้วยกันในวงออร์เคสตร้านี้ เธอช่วยค้นหาโทนอารมณ์ และช่วยแปลงสิ่งที่ ทาร์ ต้องการจะดึงออกมาจากวง และความสัมพันธ์ของเธอกับ ทาร์ ก็อยู่ทั้งภายในและนอกวงออร์เคสตร้าค่ะ”
ฮอสส์กล่าวเสริมว่า “ชารอนไม่เคยเป็นคนไร้เดียงสาเลยค่ะในสายตาฉัน ก็เหมือนกับทาร์ เธอมีหลักการเช่นกัน เธออยากให้ ทาร์ เป็นดาวดัง เพื่อที่พวกเธอจะได้รักษาสถานะในฐานะคู่รักที่ทรงอำนาจได้ เธอมองข้ามพฤติกรรมของคู่ชีวิตด้วยการหุบปากเงียบไว้ เรื่องราวนี้ดำเนินไปรอบๆ ความมีอำนาจ กระแสอำนาจ และวิธีที่กระแสนั้นถูกใช้จากทั้งสองฝ่าย มักจะมีสองฝ่ายเสมอเมื่อเป็นเรื่องของอำนาจ ทุกความสัมพันธ์ต่างมีความตึงเครียด มีการรุกและรับ ความสัมพันธ์ต่างมีกฎเกณฑ์ ทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนในการสร้างและทำลายกฎ ก็หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นการพูดคุยอย่างมีคุณภาพกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของเรื่องเหล่านี้ค่ะ”
ที่มีความซับซ้อนพอๆ กันก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง ทาร์ กับฟรานเชสก้า เลนตินี่ ผู้ช่วยของเธอ “ภาพยนตร์ของ เซลีน เซียมมา เรื่อง Portrait of a Lady on Fire คือภาพยนตร์ที่ผมชอบมากครับ” ฟิลด์บอก “มันเป็นผลงานที่ชักนำผมให้ไปดูภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเซียมมา อย่าง Bande de filles และ Ma vie de Courgette แต่ที่สำคัญที่สุด อย่างน้อยก็สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือกับผู้ที่มีความสามารถพิเศษมากๆ อย่างโนเอมี่ แมร์ล็อง”
ฟรานเชสก้าคือตัวละครที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง เธอต่างจาก ทาร์ ฟรานเชสก้ามาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ได้รับการอบรมสั่งสอน เธอเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดนตรี Conservatoire de Paris, ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตจากเยล จากนั้น เธอได้เข้ามูลนิธี Accordion Foundation ที่ซึ่งเธอได้พบกับ ทาร์ ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเธอมีความใกล้ชิด และเป็นเรื่องของงานล้วนๆ เมื่อหลายปีก่อน ทาร์ เคยชวน ฟรานเชสก้า ไปเป็นผู้ช่วยเธอในเบอร์ลิน มันชัดเจนระหว่างทั้งสองคนว่านี่คือก้าวสำคัญที่ในที่สุดแล้ว เธอจะกลายเป็นผู้ช่วยคอนดัคเตอร์ ฟรานเชสก้ารู้ทันเล่ห์เหลี่ยมและการเคลื่อนไหวของเจ้านายเธอ เพราะแบบนี้ เธอจึงมีเหตุผลทุกอย่างที่จะไม่เชื่อใจ ทาร์ และกำลังสร้างสถานการณ์อย่างเงียบๆ
แมร์ล็องกล่าวเสริมว่า “ที่ไม่เหมือนกับตัวละครตัวอื่น เราไม่เคยเห็น ฟรานเชสก้า เล่นดนตรีในภาพยนตร์เรื่องนี้เลย ทักษะของเธออยู่ที่หู เธอเป็นนักฟัง นักดู ดังนั้น ความท้าทายสำหรับฉันก็คือ การรวบรวมความรักที่เธอมีต่อดนตรีและความปรารถนาของเธอที่จะได้ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ ผ่านทางภาษาร่างกายและสายตาของเธอ เธอชื่นชม ทาร์ และอยากจะเรียนรู้จาก ทาร์ แต่ขณะเดียวกัน เธอก็กลัวทาร์ด้วย”
โอลกา เม็ตคิน่า นักเชลโล่ชาวรัสเซีย คือเลนส์ที่แตกต่างไปในการมองดูการเคลื่อนไหวในเรื่องอำนาจในวงออร์เคสตร้านี้ นี่คือตัวละครที่มีความเชื่อมั่นในตัวตนและความสามารถของตัวเอง คนเหล่านี้ไม่ได้เรียกขอสิ่งใด พวกเขามาเติมเต็มความว่างเปล่าให้กับทาร์ เป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่สำหรับเธอแล้ว ความเกรี้ยวกราดของศิลปะได้ถูกบดบังโดยพลังงานที่ถูกใช้ไปในการบริหารดูแลสถาบันทางวัฒนธรรมใหญ่แห่งนี้ ทาร์ มองเห็นตัวเธอเองสมัยสาวๆ ในตัวโอลกา เพราะฉะนั้น ทาร์ จึงตัดสินใจก้าวผิดทางการเมือง ที่ในที่สุดแล้ว มันจะช่วยปลดเปลื้องให้เธอ
“แคสติ้ง ไดเร็คเตอร์ อาวี คัฟแมน และผมต่างก็รู้ดีว่าการตามหา โอลกา เม็ตคิน่า จะต้องเป็นความท้าทายในการหาตัวนักแสดงมากที่สุด เพราะเป็นบทที่ต้องการตัวนักเชลโลรัสเซียวัยรุ่นที่สามารถแสดงได้ด้วยครับ” ฟิลด์กล่าว “เป็นคนในอุดมคติที่เป็นลูกผสมระหว่างล็อตเต เลนย่า และฌาคเคอลีน ดู เปร ในทางทฤษฎี นี่คือภารกิจที่สมเหตุผลทีเดียว และอาวีก็เลือกนักแสดงจากวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บรรทัดฐานในเรื่องประเทศเกิดของ โอลกา ก็มีความจำเพาะมาก ดังนั้น เราจึงเปิดรับคนทุกชนชาติครับ”
คลิปภาพที่บันทึกด้วยตัวเองจำนวนมาก ถูกส่งมาถึงสำนักงานแคสติ้ง บริจิตต์ วิทไมร์ ผู้ช่วยของคัฟแมน ได้รับมอบหมายให้นั่งดูเทปออดิชั่นของนักดนตรีรุ่นใหม่จำนวนหลายร้อยที่พูดสำเนียงแบบรัสเซียกระท่อนกระแท่น แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าตา “เรารู้ดีว่าเราต้องเปิดรับนักแสดงที่สามารถเล่นเชลโลได้นิดหน่อย หรืออย่างน้อยก็จับเชลโลได้อย่างถูกต้อง ขณะที่มันน่าตื่นเต้นที่ได้เห็นความลึกของนักแสดงรุ่นใหม่ แต่ความสามารถทางด้านดนตรีก็ยังมีไม่พอครับ” ฟิลด์เล่า “ไม่ต้องสนใจว่าเวลาของเราเหลือน้อยลงทุกที หรือไม่มีใครในกลุ่มพวกเราที่อยากจะใช้วิธีปลอม หรือให้ใครมาแสดงแทนเพื่อทำให้นักแสดงดูเหมือนเป็นนักเชลโลระดับโลกจริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกคนที่จะต้องแสดงดนตรีในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะต้องเล่นดนตรีได้จริงๆ ครับ”
ในที่สุด ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของการแคสติ้งตัวนักแสดง อีกเทปหนึ่งก็ถูกส่งมา มันเป็นเทปออดิชั่นของนักเชลโลวัย 19 ปีที่มีผมสีทองยาวถึงเข่า เธอแต่งตัวดี มาจากครอบครัวชนชั้นกลางนอกลอนดอน เพียงไม่นาน ฟิลด์กล่าวว่า “โซฟีไม่เหมือนกับตัวละครตัวนี้เลยครับ แต่เมื่อเธอเริ่มแสดง โอลกาก็ปรากฎตัวขึ้นตรงนั้น เมื่อผมถามเธอว่าเธอเรียนสำเนียงรัสเซียมาจากไหน เธอตอบว่า ‘ยูทูป’ โห และอีกอย่างหนึ่ง เธอสามารถเล่นเชลโลได้ เธอเล่นได้จริงๆ ครับ โซฟีเป็นนักเชลโล่ที่พิเศษมาก เรายังไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะเธอเป็นนักเชลโลเพียงคนเดียวที่เราได้ดู และไม่เล่นโซเชียลมีเดีย เมื่อเราถามเธอเรื่องนี้ เธอบอกว่ามันถูกออกแบบเอาไว้ เธอไม่อยากให้คนอื่นได้ยินเธอจนกว่าเธอจะพร้อม นั่นคือการแนะนำตัวโซฟีที่สมบูรณ์แบบมาก และมันสอดคล้องกับประสบการณ์ที่ผมมีกับเธอในฐานะนักแสดง และในฐานะนักดนตรี ตลอดการถ่ายทำ โซฟี คาวเออร์คือพลังจริงๆ ครับ”
คาวเออร์เริ่มต้นเล่นเชลโล ตอนเธออายุ 8 ปี “พวกเขาเสนอให้ฉันเล่นไวโอลิน แต่ฉันไม่เอาค่ะ เพราะคุณต้องยืนเล่น” คาวเออร์กล่าว “ฉันเลือกเชลโล เพราะว่าฉันอยากจะนั่งนิ่งๆ” เธอเริ่มมีความมั่นใจในฝีมือตอนอายุ 14 ปี และได้เข้าเรียนที่สถาบันดนตรีในสวิตเซอร์แลนด์ กับนักดนตรีเยาวชนคนอื่นๆ จากยุโรป “ฉันรู้ในตอนนั้นแล้วว่านี่คือสิ่งที่ฉันอยากใช้ชีวิตที่เหลือทำสิ่งนี้ค่ะ คุณต้องเสียสละมากมายเพื่อจะดำรงชีวิตแบบนี้ ขณะที่ทุกคนออกไปปาร์ตี้กัน แต่คุณต้องอยู่บ้านเพื่อฝึกซ้อมเพลงของเอลการ์”
ฟิลด์ส่งบทภาพยนตร์ไปให้คาวเออร์ ผู้ตอบรับในทันที “ฉันตื่นเต้นมากค่ะที่มีคนอยากจะสำรวจโลกของดนตรีคลาสสิคในแบบนี้ และนำเสนอปัญหาหลายอย่างที่สอดคล้องกับปัจจุบันค่ะ” คาวเออร์กล่าว “การเขียนของท็อดด์งดงามมาก แม้กระทั่งส่วนที่ไม่ได้ปรากฎบนจอภาพยนตร์ อย่างเช่นฉากที่ทั้งวงออร์เคสตร้า เห็นพ้องที่จะเล่นเพลงของ เอลการ์ และเขาอธิบายว่าฉากนั้นเหมือนกับ ‘ป่าที่เติบโตหนาแน่นขึ้น จนกระทั่งมันเติบใหญ่อย่างเต็มที่’”
ด้วยความช่วยเหลือของโค้ชฝึกสำเนียง เฮเลน ซิมมอนส์ และอินน่า เรสเนอร์ คาวเออร์สามารถพูดสำเนียงรัสเซียได้อย่างสมบูรณ์แบบ “พวกเขาช่วยให้ฉันเข้าสู่พื้นที่ในการแสดงในหัวของฉัน และผลักดันให้ฉันได้ลองอะไรใหม่ๆ ขณะที่ฉันพยายามที่จะสร้างชีวิตให้กับ โอลกา” คาวเออร์เล่า “งานสำเนียงพูดก็ช่วยให้ฉันพัฒนาเธอขึ้นมาในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง มันคืองานดนตรี และเป็นสิ่งที่หูของฉันคุ้นเคยได้อย่างรวดเร็วค่ะ”
เพื่อให้เข้าใจการแสดงได้ดีขึ้น คาวเออร์ หันไปหายูทูปอีกครั้ง โดยเธอได้ดูคลิปการสอนของ ไมเคิล เคน เพราะเธอไม่เคยแสดงมาก่อน คาวเออร์จึงขออยู่ที่กองถ่ายในระหว่างการถ่ายทำ แม้ว่าเธอจะไม่ต้องเข้าฉากก็ตาม โดยเธอจะคอยนั่งดู นีน่า ฮอสส์ และเคท บลันเชตต์ บริหารฝีมือของพวกเธอ “ฉันมักจะอยู่ที่กองถ่ายเสมอ เพื่อพยายามเรียนรู้จากคนที่เก่งที่สุดค่ะ” คาวเออร์เล่า “คุณมีนักแสดงระดับโลกอยู่รอบๆ ตัวคุณ ทำไมจะไม่ไปอยู่ในกองถ่ายล่ะ”
คาวเออร์ยังไม่เคยเล่นโซโล่กับวงออร์เคสตร้าอาชีพมาก่อน “บทนี้มีความน่ากลัวอยู่ค่ะ เด็กอายุ 19 ส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในวงออร์เคสตร้ามาก่อน ดังนั้น การมาถึงกองถ่ายและต้องแสดงเลย จากนั้นก็ต้องบันทึกภาพในภาพยนตร์ ถือเป็นเรื่องกดดันมากเลยค่ะ” คาวเออร์กล่าว “ฉันไม่รังเกียจอะไรที่จะต้องเล่นเชลโลเป็นคนอื่น ไม่ได้เล่นในแบบที่ฉันเล่นตามปกติ ท็อดด์มีไอเดียพิเศษมากว่าเขาอยากให้สิ่งต่างๆ ถูกถอดความออกมายังไงในทางดนตรี เคทกำลังคอนดัคอยู่ ดังนั้น ฉันต้องเข้ากับเธอ และผู้เล่นที่เก่งๆ ของวง Dresden Philharmonie ซึ่งล้วนแต่เป็นนักดนตรีระดับโลกที่มีประสบการณ์ในการเล่นดนตรีด้วยกันในฐานะวงออร์เคสตร้ามานานหลายปี ซึ่งไม่เหมือนกันเลยค่ะ”
มาร์ก สตรอง รับบท เอเลียต แคปแลน หนึ่งในนายธนาคารด้านการลงทุนระดับท็อปของโลก ผู้ซึ่งมีความหลงใหลในดนตรีคลาสสิค แคปแลน ซึ่งเป็นคอนดัคเตอร์มือสมัครเล่น ได้ซื้อเส้นทางที่นำเขาไปยืนบนโพเดี้ยมผ่านเส้นสาย และผ่านสายสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างเขากับ ลิเดีย ทาร์ ความสัมพันธ์ของเขากับเธอเป็นความสัมพันธ์ทางด้านการงาน เมื่อหนึ่งทศวรรษที่แล้ว กองทุนแคปแลนฟันด์ของเขามอบเงินให้กับโปรเจ็กต์หนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับ ทาร์ นั่นก็คือมูลนิธิ Accordion Foundation ซึ่งเป็นสถาบันที่ต้องการเปิดโอกาสทางการแสดงให้กับคอนดัคเตอร์หญิงรุ่นใหม่ “มาร์กคือหนึ่งในนักแสดงคนโปรดของผมครับ” ฟิลด์กล่าว “ผมรู้จักเขาจากงานละครเวทีของเขา ตัวละคร เอ๊ดดี้ คาร์โบน ในผลงานละครของ อิโว ฟาน โฮฟ เรื่อง A View From The Bridge ผลงานของอาร์เธอร์ มิลเลอร์ คือหนึ่งในการแสดงละครเวทีที่ยอดเยี่ยมที่ผมเคยดูมาเลยครับ”
สตรองกล่าวว่า เขารู้สึกกระตือรือร้นที่จะแสดงบทนี้ เพราะว่ามัน “เปิดโอกาสให้ผมได้แสดงทั้งลักษณะและตัวละครที่ห่างไกลจากตัวผมเองมาก ซึ่งเป็นบทที่ผมคอยมองหาอยู่เสมอครับ”
จูเลี่ยน โกลเวอร์ รับบท แอนดริส เดวิส คอนดัคเตอร์ที่เคยดำรงตำแหน่งที่เบอร์ลิน มาก่อน ทาร์ เขาคือคนที่เธอพูดคุยด้วยเกี่ยวกับเรื่องพื้นฐาน เพราะเขาคือหนึ่งในไม่กี่คนในโลกนี้ที่เธอสามารถเข้าใจได้ สำหรับ ทาร์ นี่เป็นทั้งคำอวยพรและคำสาป เธอรักผู้ชายคนนี้ แต่เธอก็รู้ตัวว่าเธอไม่อยากพบตัวเองอยู่ในตำแหน่งของเขาในช่วงสุดท้ายของชีวิตของเธอ “จูเลี่ยนคือคนที่ผลงานของเขาบ่งบอกถึงทุกอย่างค่ะ” บลันเชตต์ กล่าว “เขาคือนักแสดงที่สมบูรณ์แบบ และเตรียมตัวที่จะค้นหาถึงก้นบึ้งของตัวละคร ตอนที่เราถ่ายทำฉากของเราด้วยกัน จูเลี่ยนเพิ่งจะอายุครบ 86 ปี และเขาก็สมบูรณ์แบบมาก และยังนำความรู้ในด้านการแสดงติดตัวมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับตัวละครตัวนี้มากเลยค่ะ”
“ผมถูกล่อลวงโดยการรู้ว่า ท็อดด์ จะเป็นคนกำกับในทันทีเลยครับ และผมก็รู้สึกทึ่งด้วยที่ผมจะได้ทำงานกับ เคท ที่เป็นคนเก่งมาก จากนั้น ผมก็อึ้งไปเลยตอนที่ผมได้อ่านบทภาพยนตร์เพลงที่แสนพิเศษ สุดยอด และไม่เหมือนใครเรื่องนี้” โกลเวอร์กล่าว “การตัดสินใจยอมรับบทนี้ในภาพยนตร์ เป็นเรื่องที่ผมแทบไม่ต้องคิดเลยครับ และมันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่าจริงๆ”
อัลลัน คอร์ดูเนอร์ นักแสดงผู้เป็นแกนนำในแวดวงละครเวทีของอังกฤษและบรอดเวย์ และยังเป็นนักแสดงภาพยนตร์ผู้มากประสบการณ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมายจากการรับบทเป็น เซอร์อาร์เธอร์ ซัลลิแวน ในภาพยนตร์ของ ไมก์ ลีห์ เรื่อง Topsy-Turvy ซึ่งนำแสดงโดย จิม บรอดเบนต์ ผู้รับบทเป็น ดับเบิลยู เอส กิลเบิร์ต คือคนที่มารับบทเป็น เซบาสเตียน บริกซ์ ผู้ช่วยคอนดัคเตอร์แห่งเบอร์ลิน เซบาสเตียนมาถึงเบอร์ลินในปี 1990 พร้อมกับ แอนดริส เดวิส และก็เหมือนที่ เอเลียต แคปแลน พูดกับ ทาร์ มันคือการตัดสินใจที่เธอ “รับสืบทอดมา” ฟิลด์และคอร์ดูเนอร์ ได้พบกันครั้งแรกนานมากกว่า 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ทั้งสองคนทำงานด้วยกันในฐานะนักแสดง “อัลลันเป็นนักแสดงที่น่าทึ่งมากครับ” ฟิลด์กล่าว “และเป็นมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมมาก เขารู้ดีเลยว่าเซบาสเตียนเป็นใคร และแสดงเป็นเซบาสเตียนราวกับว่าเขาเป็นตัวละครในละครดราม่ายุคเอลิซาเบธ มันวิเศษมากที่ได้ร่วมงานกับเขาอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปหลายปีครับ”
“การทำงานกับภาพยนตร์เรื่อง TÁR คือหนึ่งในความสุขอย่างมาก และเป็นสิทธิพิเศษที่ผมได้รับในระหว่างที่ทำงานมายาวนานครับ” คอร์ดูเนอร์กล่าว “ผมรู้จักท็อดด์มานานหลายปี และผมก็ชื่นชมความสามารถ ความเป็นมนุษย์ และความเข้มงวดของเขาเสมอมา เขารักและเคารพนักแสดง เขาจะซักซ้อมกับเหล่านักแสดงในพื้นที่เงียบๆ ก่อนจะถ่ายทำ ซึ่งหาได้ยากมากในทุกวันนี้ เราจะรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จริงๆ ครับ”
หลังเวที
ศิลปินจากทั่วโลกต่างช่วยมอบชีวิตให้กับโลกของ TÁR ผ่านงานโปรดักชั่นดีไซน์, งานออกแบบเครื่องแต่งกาย, งานลำดับภาพ และงานดนตรีประกอบ ตามโลเกชั่นต่างๆ ตั้งแต่เบอร์ลิน, นิวยอร์กซิตี้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฉากภายในอาคารนั้น ก็รวมถึงบรรดาคอนเสิร์ตฮอลล์, โรงแรม, ร้านอาหาร, บ้านในวัยเด็กของ ทาร์, อพาร์ตเม้นต์เก่าของเธอที่เบอร์ลิน และบ้านแนวบรูทัลลิสต์ที่เธออาศัยอยู่กับคู่ชีวิตและลูกสาว ฟิลด์และทีมงานของเขาได้สร้างโลกที่มีความเฉพาะสำหรับตัวละครตัวนี้ โลกที่ผ่านการปรับแต่ง และมีความพิเศษ ซึ่งตลอดเรื่องราวนี้มีความใกล้ชิดกับทาร์ เมื่อเธอต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในโลกที่เป็นระเบียบและพิถีพิถันนี้
เป็นเวลานานก่อนจะเริ่มลงมือตระเตรียมงาน ฟิลด์ได้จับคู่ร่วมงานกับ โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ มาร์โค บิตต์เนอร์ รอสเซอร์ “มาร์โครับความท้าทายในการออกแบบอย่างไม่เกรงกลัวเลยครับ การเป็นคนแรก เพื่อตามหาวงออร์เคสตร้าที่มาพร้อมกับคอนเสิร์ตฮอลล์สไตล์ไวน์ยาร์ด (ที่นั่งล้อมรอบเวที) ซึ่งทำให้ทีมงานไม่เพียงแต่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของฮอลล์และทุกคนที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้ในแบบที่มีความหมาย มาร์โคและผู้อำนวยการสร้างร่วม เซบาสเตียน ฟาห์ร-บริกซ์ ได้รับหน้าที่นี้ และสามารถเกลี้ยกล่อมให้วง Dresden Philharmonie พิจารณาถึงความเป็นไปได้ มันเป็นการทำงานที่ยาวนาน และผมยอมรับการเจรจานี้ แต่ถ้าไม่มีมาร์โค, เซบาสเตียน และอูเวอ ชอตต์ จาก X-Filme งานนี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ครับ”
“เดรสเดส ฮอลล์ เคยถูกใช้แค่ครั้งเดียวในรอบ 18 เดือน เมื่อเราไปถึง เช่นเดียวกับฮอลล์สไตล์ไวน์ยาร์ดทั้งหลาย เดรสเดน ถือกำเนิดจากผู้สร้างรูปแบบสไตล์นี้ขึ้นมา นั่นก็คือ ฮันส์ ชารูน เราถูกจำกัดพื้นที่อยู่แค่คอนเสิร์ตฮอลล์เท่านั้น พื้นที่หลังเวทีทั้งหมด และสำนักงานออร์เคสตร้า ไม่สามารถเข้าใช้ได้ เพราะฉะนั้น มาร์โคจึงได้ออกแบบสำนักงานหลังเวที, ทางเดิน พื้นที่สาธารณะอื่นๆ โดยใส่จิตวิญญาณและความงดงามแบบชารูนเข้าไป ความสามารถของมาร์โคในฐานะดีไซเนอร์น่าประทับใจมาก เช่นเดียวกับทักษะในด้านการขนส่งของเขา เช่เนดียวกับทีมงานหลักในทีมสร้างสรรค์คนอื่นๆ เขาต้องดูแลจัดการทีมงานที่แตกต่างกันถึงสามทีมในสามประเทศครับ”
สำหรับการถ่ายทำที่ต้องการความคล่องแคล่วว่องไวแบบนี้ ฟิลด์หันไปหาผู้กำกับภาพ ฟลอเรียน ฮอฟฟ์มีสเตอร์ ให้มาช่วยจัดแสงให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ “ผมเคยได้เห็นงานของ ฟลอเรียน ในผลงานของ แดน ซิมมอนส์ ที่ ริดลีย์ สก็อตต์ อำนวยการสร้าง เรื่อง The Terror ซึ่งกำกับโดย เอ๊ดเวิร์ด เบอร์เกอร์ คุณลักษณะการจัดแสงของฟลอเรียนในโปรเจ็ต์นี้ โดยเฉพาะในส่วนของใบหน้า ทำให้แทบลืมหายใจเลยครับ สำหรับ TÁR เราใช้การจัดแสง, เลน และการทดสอบกล้องแบบที่ครอบคลุมมาก ทุกอย่างนี้ดำเนินไปแบบทำๆ หยุดๆ นานสองเดือน เรากำลังมองหาสิ่งที่ดูเป็นกลาง และไม่สวยเกินไป สุดท้าย เราได้ร่วมงานกับ อาร์ริเฟล็กซ์ ผู้สร้างเลนส์แบบสั่งทำพิเศษให้กับเรา และระบบพิมพ์แบบลูกผสมที่ตอนนี้ถูกรวมเข้ากับกล้องทุกตัวของพวกเขา ฟลอเรียนรู้ดีว่าเรามีความท้าทายและข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะในคอนเสิร์ตฮอลล์ และเขาก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ต้องรออะไรเลย และเคทก็ได้รับการช่วยเหลือในทุกหนทางที่เป็นไปได้ครับ”
บิน่า ไดเกอแลร์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว (All About My Mother, Volver) ได้เข้ามาร่วมงานตั้งแต่แรกๆ เพื่อช่วย บลันเชตต์ ค้นหาความเป็น ลิเดีย ทาร์ “ความสัมพันธ์กับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และกระบวนการลองชุดเป็นส่วนสำคัญของประเด็น คุณจะได้เห็นว่าคนดูจะได้เห็นอะไรในแง่ของตัวละคร และวิธีที่เธอเคลื่อนตัวไปในโลกนี้”
ไดเกอแลร์ ยังช่วยประสานงานระหว่างเสื้อผ้าและอุปกรณ์ประกอบฉากให้กับการถ่ายทำที่นิวยอร์กซิตี้ นานสามเดือนก่อนการถ่ายทำหลักจะเริ่มต้นขึ้น “นอกเหนือจากทักษะชั้นเยี่ยมของเธอในฐานะผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายแล้ว บิน่ายังเป็นอัจฉริยะในเรื่องของโลเกชั่น ฉาก และบอกตรงๆ นะครับ เรื่องผู้คนด้วย” ฟิลด์กล่าว “เธอมีพรสวรรค์เป็นพิเศษในการสร้างบรรยากาศที่ทำให้ผู้คนยอมทิ้งพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และแสวงหาสิ่งที่เกินไปกว่านั้น ทุกแผนกต่างได้รับประโยชน์จากความสามารถและคำปรึกษาที่มีน้ำใจของเธอครับ”
ก่อนหน้านี้ ฟิลด์ได้พบกับผู้ลำดับภาพ มอนิก้า วิลลี่ ในระหว่างการทำงานช่วงแรกๆ ของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่สุดท้ายแล้ว เขาก็ถอนตัวออกมา เธอมีชื่อเสียงจากการร่วมงานกับ บาร์บาร่า อัลเบิร์ต, ไมเคิล ฮาเนเก้ และอุลริช ซีดึย ชื่อเสียงของ วิลลี่ เป็นที่รู้จักกันดีทั่ววงการภาพยนตร์ยุโรป
“เมื่อเราเริ่มต้นลำดับภาพของภาพยนตร์เรื่อง TÁR ลอนดอนเริ่มมีการล็อคดาวน์อีกรอบครับ ดังนั้น เราจึงถูกบีบให้ต้องจำกัดพื้นที่ทำงานอยู่ในอารามของแม่ชีศตวรรษที่ 15 ที่อยู่นอกเอดินเบอระ” ฟิลด์เล่า “โมนาเป็นคนมีวินัยอย่างมาก และเธอก็มีความเข้มงวดอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการ เราไม่ค่อยมีอะไรทำมากนักที่นั่น นอกจากลำดับภาพ และเดินไปตามตรอกซอกซอยและพุ่มไม้ต่างๆ ดังนั้นตลอดอาทิตย์ละเจ็ดวัน เราก็ทำแบบนั้นครับ เราอยู่ห่างจากครอบครัว และงานนี้ก็มีความท้าทาย มันทำให้เราเกิดความผูกพันกับเรื่องนี้ ซึ่งคงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราทำงานกันในลอนดอน โมนายอมเสียสละอย่างมาก เธอต้องอยู่ห่างจากครอบครัวนานถึง 6 เดือน จนกระทั่งถึงงานด่านสุดท้าย ผมโชคดีมากจริงๆ ที่ได้ตัวศิลปินที่มีความสามารถและอุทิศตนขนาดนี้มาร่วมงานกับภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ”
คนทำดนตรี
ผู้แต่งดนตรีประกอบเจ้าของรางวัลออสการ์ ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ (Joker) ได้รับภารกิจด้วยหน้าที่ที่สุดท้าทายในการแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ที่ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับดนตรีและการสร้างสรรค์ดนตรีเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการแสดงดนตรีคลาสสิคหลายเพลงแบบสดๆ อีกด้วย วิธีในการแต่งดนตรีประกอบของ กืดนาดอตเตียร์ ที่ทำให้กับ TÁR ก็คือการไม่เน้นย้ำ “นี่คือภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คนที่ทำดนตรี เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับฮิลดูร์ที่เราจะต้องไม่ทำอะไรซ้ำๆ โดยไม่จำเป็นครับ” ฟิลด์กล่าว “วิธีการของเธอในการทำดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของเราก็คือ การสำรวจความสนใจของเธอที่มีต่อความถี่ เสียงดัง และไม่ยึดติดกับการจะบ่งชี้ไปที่สิ่งใดในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลงานของเธอดูบอบบางและไม่สร้างความรำคาญเพราะมีเหตุผลครับ”
กืดนาดอตเตียร์ บอกว่าการทำงานกับโปรเจ็กต์นี้ คือกระบวนการความร่วมมือที่น่าตื่นเต้นตั้งแต่เริ่มแรก “ท็อดด์เปิดรับไอเดียต่างๆ จากเพื่อนร่วมงานอย่างมากค่ะ ดังนั้นเราก็เลยมีการสนทนาที่น่ารักมากจริงๆ” กืดนาดอตเตียร์บอก “ขณะที่เขากำลังตระเวณหาโลเกชั่นอยู่ เราจะนัดพบกัน และนั่งวิเคราะห์บทภาพยนตร์ โลเกชั่น และกระบวนการแต่งเพลงด้วยกัน รวมถึงสิ่งที่เราจินตนาการว่า ทาร์ กำลังแต่งอยู่ อิทธิพลที่มีต่อตัวเธอ และจังหวะของเธอ และอื่นๆ ฉันได้แต่งเพลงแบบเครื่องดนตรีสี่ชิ้นโดยอิงจากบทสนทนาเหล่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะถ่ายทำกันค่ะ”
ทางทีมผู้สร้างต้องการวงดนตรีบนจอภาพยนตร์ทั้งหมดสี่วงในสี่ประเทศ แรกเริ่มเลยก็คือ วงออร์เคสตร้าเบอร์ลินของ ทาร์ “มีกฎข้อหนึ่งเมื่อถึงเวลาของนักดนตรีครับ” ฟิลด์กล่าว “นั่นก็คือพวกเขาจะต้องไม่รู้สึกว่าเป็นวงที่ถูกจ้างมา หรือเป็นตัวประกอบ เรามีเวลาสองวันในขั้นตอนการเลือกตัวคนกับวงออร์เคสตร้า เพื่อดูว่าเราจะสามารถเลือกนักแสดงในบทโกเซียและนัท เราคาดหวังไว้ว่าจะมีนักดนตรีห้าหรือสิบคนที่อาจสนใจ เราเจอกับคนถึง 40 คน ส่วนใหญ่ดีเลยแหละครับ โดโรเธีย แพลนส์ คาซัล (โกเซีย) และ ฟาเบียน เดอร์ (นัท) โดดเด่นมากเลยครับ”
“มันอาจไม่ค่อยสบายใจนักสำหรับทั้งคู่ที่คว้าสองบทนี้มาครองโดยชนะนักดนตรีคนอื่นๆ แต่นักดนตรี ก็เหมือนกับนักแสดง พวกเขาคุ้นเคยกับการออดิชั่นอยู่แล้ว และนักดนตรีในระดับนี้ ก็มีวิธีรับมือกับการโดนปฏิเสธได้เป็นอย่างดีครับ ด้วยจิตวิญญาณนั้น พวกเขาอาสาที่จะทำงานในแบบอื่นๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จนกระทั่งเราปิดกล้อง นี่หมายถึงการขับรถจากเดรสเดน ไปถึงเบอร์ลิน เพื่อจะเดินไปตามทางเดิน เทน้ำหนึ่งแก้ว หรืออาจปรากฎตัวให้เห็นแค่ในฉากแบ็คกราวน์ในห้องซ้อมเท่านั้น ความทุ่มเทของนักดนตรีเหล่านี้ได้ช่วยสร้างบรรยากาศให้ทั้งทีมนักแสดงและทีมงาน ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือที่มีความหมายอย่างมาก ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้จากกันและกันครับ”
วูล์ฟกัง เฮนทริช ผู้เล่นไวโอลินหลักของวง ได้ตอบรับคำชวนของทีมผู้สร้าง และทำตัวให้ว่างสำหรับ นีน่า ฮอสส์ โดยเขาคอยให้คำแนะนำเธอในเรื่องของการเป็นนักไวโอลินหลักของวง และยังแสดงเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะของเธอตลอดการถ่ายทำ เขาทุ่มเททุกอย่างให้กับทีมผู้สร้าง “เราโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับศิลปินอย่าง วูล์ฟกัง ค่ะ” ฮอสส์กล่าว “สถานะของเขาในวงออร์เคสตร้าไม่เหมาะกับคนใจเสาะ ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองและในด้านการปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนที่มีงานอย่างเขา จะเป็นคนที่ดูห่างเหินและทำตัวไม่รู้จักใคร อย่างไรก็ดี วูล์ฟกังเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นสูงจริงๆ และเขาก็รักในการสอน ท่ามกลางสิ่งต่างๆ เขาได้คอนดัควงออร์เคสตร้าเยาวชนแถวหน้าในเยอรมัน ซึ่งแสดงเป็นวงออร์เคสตร้าเยาวชนมอสโคว์ของ โอลกา และเขาก็ทำตัวเองให้ว่างสำหรับทุกคนในกองถ่ายของเราด้วยค่ะ”
“ฉันจะไม่มีวันลืมวินาทีที่ เคท เริ่มคอนดัค และฉันก็เล่นไวโอลินอยู่ข้างๆ วูล์ฟกัง แล้วจู่ๆ เราก็อยู่กลางวงออร์เคสตร้า มันเป็นวินาทีที่ทรงพลังอย่างมากถ้าคุณไม่ใช่นักดนตรีที่ทำงานอยู่ค่ะ” ฮอสส์กล่าว “นักดนตรีของวงเดรสเดน ฟิลฮาร์โมนี่ รู้ดีอยู่แล้วว่าพวกเขาทำอะไรอยู่ และมันงดงามแค่ไหนในการสร้างเสียงดนตรีบนเวทีคืนแล้วคืนเล่า บางทีในบางจุด คุณอาจลืมพลังของดนตรี เพราะคุณมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ อย่างเช่นการพาลูกๆ ไปโรงเรียน แต่ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่ช่วยกันสร้างภาพยนตร์เรื่อง TÁR ที่จะลืมความงดงามของความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมืออาชีพงานนี้ แม้จะแค่ชั่วคราวก็ตามค่ะ”
การร่วมมือกันต่อไป
ความร่วมมือส่วนใหญ่เกิดจากงานดนตรีชาติพันธุ์วิทยาหลังจบการศึกษาของ ลิเดีย ทาร์ ในอเมซอนตะวันออก ท่ามกลางผู้คนชาว Shipibo-Konibo ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำของอูกายาลิ ทางทีมผู้สร้างอยากได้ความร่วมมือที่มีความหมายกับวัฒนธรรมแบบหมอผีและศิลปินของพวกเขา เพลงแรกที่ได้ยินในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ อิกาโร ซึ่งแสดงโดยแม่หมอ เอลิซ่า วาร์กัส เฟอร์นันเดซ ผู้ออกแบบเสียงของ TÁR สตีเฟ่น กริฟฟิธ ได้ส่งหลานชายของเขา แซ็คคีล ลูอิส-กริฟฟินธส์ (สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนการศึกษาแอฟริกาและเอเชีย แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และตัวเขาเองยังเป็นนักชาติพันธุ์วิทยารุ่นใหม่ด้วย) ไปที่อูกายาลิ เพื่อบันทึกการร้องเพลงของมาม่า เอลิซ่า ขณะร้องเพลงอิกาโรที่เธอร้องให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้
ทางทีมผู้สร้างยังได้ติดต่อให้ช่างภาพชาว Shipibo-Konibo เดวิด ดิแอซ กอนซาเลส ให้เป็นคนถ่ายภาพพิธีกรรมกับครอบครัวกอนซาเลส ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ต่อมาได้รวม Tár เอาไว้ด้วย
การสร้างงานดนตรีอื่นๆ
นอกจากดนตรีคลาสสิคที่แสดงกันบนจอภาพยนตร์ และดนตรีประกอบของ ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ แล้ว ยังมีการบันทึกเพลงแจ๊สมาตรฐานอีกสองเพลงที่ ฟิลด์ ใส่เอาไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย “บ่อยครั้งที่คนทำเพลง จะฟังเพลงแนวอื่นๆ ที่บ้านเพื่อให้รู้สึกเหมือนได้พักจากการทำงานค่ะ”
เพลงแรก Lil’ Darlin’ เป็นเพลงที่ ฟิลด์ เคยเล่นกับวงของเขาสมัยเรียนมหาวิทยาลัย การบันทึกเสียงเป็นการแต่งและออร์เรนจ์โดย นีล เฮฟติ ให้กับวง Count Basie Orchestra เพลงนี้ถูกเล่นในระหว่างฉากแรกของ ทาร์กับชารอน ในตอนที่หัวใจของฝ่ายหลังเต้นระรัว และ ทาร์ ใช้ซาวน์นี้เป็นดนตรีในฉากฟีดแบ็ค เพื่อทำให้ทุกอย่างช้าลงจนถึงระดับ “60 ครั้งต่อนาที”
เพลงที่ 2 Here’s That Rainy Day โดย จิมมี่ ฟาน ฮอยเซน และคำร้องโดย จอห์นนี่ เบิร์ก คืองานที่เราได้ยินในฉากที่สองระหว่างชารอนและทาร์ที่บ้าน การบันทึกเสียงเพลงนี้ในแบบที่ฟิลด์ต้องการ ซึ่งอยู่ในอัลบัมชื่อ 21 Trombones featuring Urbie Green คือเพลงที่เป็นตำนานจากนักดนตรีทรอมโบน สุดท้ายแล้ว เรื่องของลิขสิทธิ์ก็ยังไม่มีความชัดเจน “เรื่องนี้ทำให้รู้สึกปั่นป่วนในสองด้านด้วยกัน อย่างแรกเพราะนี่คืออัลบัมที่สำคัญมาก ซึ่งประชาชนน่าจะเข้าถึงได้ และอย่างที่สอง ผมรู้ว่านี่คือเพลงเดียวที่เหมาะกับฉากนี้ครับ” ฟิลด์กล่าว “มันถูกบันทึกเสียงในนิวยอร์กซิตี้ ในปี 1967 กับนักดนตรีทรอมโบนที่เก่งที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 และไม่ใช่สิ่งที่คนปกติทั่วไป จะสามารถเลียนแบบได้”
ลูซี่ ไบรต์ มิวสิค ซูเปอร์ไวเซอร์ของ TÁR ได้พบคนบ้าๆ แบบนั้นในวงชาวดัทช์ที่รู้จักกันในชื่อ The New Trombone Collective
ไบรต์, ฟิลด์ และมอนิกา วิลลี่ ขึ้นเครื่องบินเดินทางไปฮอลแลนด์ เพื่อบันทึกเสียงพวกเขา ขณะที่นักดนตรีทรอมโบน 20 คนเล่นหนุนให้กับศิลปินเดี่ยว “แต่ศิลปินเดี่ยวจะต้องเล่นแบบเออร์บี กรีนครับ” ฟิลด์กล่าว “มันเหมือนการขอให้ใครสักคนแสดงให้เหมือนกับแบรนโด ไม่ว่าพวกเขาจะมีทักษะฝีมือระดับไหน แต่ก็มีเพียงแบรนโดหนึ่งเดียวเท่านั้นครับ”
ฟิลด์ได้โทรศัพท์หาเพื่อนร่วมวงเก่า เบน วูล์ฟ ซึ่งเคยตระเวณทัวร์กับ แฮร์รี่ คอนนิค จูเนียร์ และวินตัน มาร์ซาลิส อยู่นานหลายปี เพื่อดูว่า วูล์ฟ จะมีไอเดียอะไรไหม “เบนบอกผมว่านักดนตรีที่ผมต้องการ ก็คือ ครูเก่าของผม เจฟฟ์ อูซิติลโล ผมรู้ว่าเขาพูดถูก แต่ผมไม่ได้คุยกับเจฟฟ์มานานกว่า 40 ปีแล้ว ผมโทรหาเขา แต่เขาวางมือแล้วในระหว่างช่วงโควิด-19 ระบาด และเขาก็หันมาวาดภาพแนวแอ๊พสแตร็ค เจฟฟ์บอกว่าคนที่ผมต้องการอยู่ในแคนาดา เขาก็คือ อัล เคย์ ผู้ยิ่งใหญ่ครับ”
เคย์ดีใจมากที่จะได้มาเล่นให้ฟิลด์ ไบรต์ส่งเพลงจากฮอลแลนด์ไปให้เขา เคย์เล่นโซโล่ได้อย่างงดงามเหมือนที่ กรีน เล่น “และในเทกเดียวด้วย!” ฟิลด์ยิ้มกริ่ม “ผมกล้าท้าทุกคน แม้กระทั่งตัวผมเอง ให้ลองหาความแตกต่างระหว่างเพลงที่บันทึกเสียงในปี 1967 กับเพลงที่เราบันทึกเสียงเอาไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เองครับ”
ในเดือนกรกฎาคม ปี 2022 บลันเชตต์, กืดนาดอตเตียร์, คาวเออร์ และฟิลด์ ได้พบกันในช่วงเวลาสองสุดสัปดาห์ที่ แอ๊บบี้ โร้ด สตูดิโอส์ เพื่อบันทึกเสียงดนตรีให้กับอัลบั้มคอนเซ็ปต์ที่เกิดจากการสนทนาระหว่าง กืดนาดอตเตียร์, นาตาลี เฮย์เด้น และไมก์ น็อบลอช ที่ยูนิเวอร์แซล มิวสิค และทีมครีเอทีฟที่ Deutsche Grammophon
แนวคิดมีอยู่สองชั้นด้วยกัน ชั้นแรกเกี่ยวพันกับเป้าหมายของ ลิเดีย ทาร์ เมื่อดูภาพปกแค่เพียงแว่บเดียว จะต้องเพียงพอที่จะเข้าใจว่าในจักรวาลคู่ขนานนั้น ในที่สุดแล้ว ลิเดีย ทาร์ ก็สามารถกล่อมให้คนดีๆ ที่ DG สร้างภาพไวนิลที่ตกแต่งด้วยภาพของเกลาดิโอ อับบาโดได้
ส่วนที่สองของแนวคิดก็คือ เพลงเหล่านี้ ก็เหมือนกับตัวภาพยนตร์ มันคือความตั้งใจที่จะเชิญชวนให้ผู้ฟังได้สัมผัสกับความวุ่นวายของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเพลงขึ้นมา ในกรณีนี้ ซึ่งรวมถึงวงดนตรีที่แตกต่างกันสามวง และผู้นำของพวกเขา นั่นก็คือ บลันเชตต์ (ในบท ลิเดีย ทาร์) ที่กำลังซักซ้อมเพลง มาห์เลอร์ หมายเลข 5 ซึ่งเธอกำลังทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง Dresdner Philharmonie กืดนาดอตเตียร์ ได้ให้คำแนะนำกับ โรเบิร์ต อาเมส ที่ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง London Contemporary Orchestra และสุดท้ายก็คือ นาตาลี เมอร์เร่ย์ บีล ที่ทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ให้กับวง London Symphony Orchestra เพราะไม่เคยมีใครเคยทำอัลบั้มแบบนี้มาก่อน มันจึงต้องอาศัยความกล้าเพราะเต็มไปด้วยการเป็น “ครั้งแรก” เยอะมาก” กืดนาดอตเตียร์กล่าว
หนึ่งในครั้งแรกเหล่านั้นก็คือ โซฟี คาวเออร์ ได้แสดงผลงานอาชีพชิ้นแรกด้วยการเล่นเพลง Elgar Cello Concerto ไปพร้อมกับวง London Symphony Orchestra คอนแชร์โตดังกล่าวได้รับการบันทึกเสียงครั้งแรกโดย เบียทริซ แฮร์ริสัน ให้กับวง London Symphony Orchestra (ซึ่งในเวลานั้นมีสมาชิกเป็นชายล้วน) โดยมี เอลการ์ ทำหน้าที่คอนดัคด้วยตัวเอง ตัวละคร โอลกา เม็ตคิน่า ของ คาวเออร์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการบันทึกเพลงของ ฌาคเกอลีน ดู เปร ณ ที่แห่งนี้ “สำหรับโซฟี นี่คือฝันที่เป็นจริงค่ะ” บลันเชตต์กล่าว “ที่นี่ เธอกำลังเล่นในสตูดิโอเดียวกัน และกับวงออร์เคสตร้าวงเดียวกับที่ ดู เปร ได้เล่นเอาไว้ในปี 1965 ค่ะ”
อัลบั้มนี้เริ่มต้นด้วย ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ ร้องเพลงธีมซึ่ง ลิเดีย ทาร์ ได้แต่งเอาไว้ในภาพยนตร์ และปิดท้ายด้วย เอลิซ่า วาร์กัส เฟอร์นันเดซ ร้องเพลง อิกาโร ซึ่งจะต้องบันทึกเสียงกันในอเมซอน โดย ทาร์ ในปี 1990
ฟิลด์กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ด้วยตอนบันทึกเสียงเหล่านี้ แต่การได้มาฟังเพลงพวกนี้ในตอนนี้มันเหมือนเป็นคนละโลกเลยครับ ก็อย่างที่พวกเขาบอกกัน คุณไม่สามารถเหยียบย่ำลงไปในสายน้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้มาเห็นเบื้องหลังม่าน และได้เห็นถึงพลังงานและพลังสร้างสรรค์ที่ศิลปินเหล่านี้ทำขึ้น มันคือสิ่งที่หาได้ยาก และใช่ มันคือ “ครั้งแรก” และผมก็มีความสุขมากที่อัลบั้มชุดนี้มีตัวตนอยู่ในโลกคู่ขนานกับภาพยนตร์ของเรา แต่มันก็ปรากฎอยู่ในโลกใบนี้เช่นกัน มันคือการกลับมาร่วมงานกันอย่างมีความสุขหลังจากไม่ได้เจอกันมานานถึงหกเดือน ภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และทุกคนก็สามารถที่จะมีความสุขกับการสร้างเสียงขึ้นมาได้ครับ”
ประวัติทีมผู้สร้าง
ท็อดด์ ฟิลด์ (TODD FIELD) – ผู้อำนวยการสร้าง/ ผู้เขียนบท/ ผู้กำกับ
ท็อดด์ ฟิลด์ ได้เปิดตัวผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ด้วยผลงานเรื่อง IN THE BEDROOM ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก ได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีโดย The New York Times, The Wall Street Journal, New York Magazine, The New Yorker และ the Los Angeles Film Critics Association และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อไปของฟิลด์ เรื่อง LITTLE CHILDREN เปิดตัวฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์กครั้งที่ 44 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 รางวัล ซึ่งรวมถึงหนึ่งรางวัลที่ ฟิลด์ ร่วมมือกับ ทอม เพอร์ร็อตต้า ในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสามรางวัลลูกโลกทองคำ ซึ่งรวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสองรางวัล SAG และรางวัล WGA สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม ผลงานภาพยนตร์สั้นขนองฟิลด์ เรื่อง NONNIE & ALEX ฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Special Jury Prize ภาพยนตร์สั้นอีกเรื่อง WHEN I WAS A BOYฉายรอบปฐมทัศน์ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ และได้รับเลือกให้ฉายที่ Film Society of Lincoln Center’s New Directors/New Films Series at the Museum of Modern Art ในฐานะนักแสดง ฟิลด์เคยปรากฎตัวในภาพยนตร์อย่าง ผลงานของ วิคเตอร์ นูเนซ เรื่อง RUBY IN PARADISE และภาพยนตร์ของ สแตนลี่ย์ คูบริค เรื่อง EYES WIDE SHUT
อเล็กซานดรา มิลแชน (ALEXANDRA MILCHAN) – ผู้อำนวยการสร้าง
ผลงานของ อเล็กซานดรา มิลแชน ได้แก่ ซีรีส์ของ Apple TV+ เรื่อง “Black Bird” ซึ่งนำแสดงโดย แทรอน เอเจอร์ตัน, ผลงานของ AMC เรื่อง “The Terror: Infamy” และ “The Terror,” THE WOLF OF WALL STREET, INTRUSION, THE 24TH, STREET KINGS และ MIRRORS ผลงานใหม่ของเธอ ได้แก่ ผลงานของเน็ทฟลิกซ์ เรื่อง THE KILLER ซึ่งกำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ และนำแสดงโดย ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ และซีรีส์ของ Apple TV+ เรื่อง “The Crowded Room” ซึ่งนำแสดงโดย ทอม ฮอลแลนด์, อาแมนด้า ไซเฟร็ด และเอ็มมี่ รอสซั่ม เมื่อเร็วๆ นี้ เธอทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับซีรีส์สารคดีของ Starz เรื่อง “Seduced: Inside the NXIVM Cult” ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้น อันดับ 1 ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา
สก็อตต์ แลมเบิร์ต (SCOTT LAMBERT) – ผู้อำนวยการสร้าง
สก็อตต์ แลมเบิร์ต คือหุ้นส่วนของ Emjag Productions โดยร่วมหุ้นกับ อเล็กซานดรา มิลแชน พวกเขาได้เปิดตัวซีรีส์ของ Apple TV+ เรื่อง “Black Bird” ซึ่งนำแสดงโดย แทรอน เอเจอร์ตัน ผลงานใหม่ของเขา แลมเบิร์ตอำนวยการสร้างซีซั่นที่ 3 ของซีรีส์ของ AMC เรื่อง “The Terror” ผลงานอื่นๆ ของเขา ได้แก่ MARY ซึ่งนำแสดงโดย แกรี่ โอลด์แมน และ THE SILENCE ซึ่งนำแสดงโดย สแตนลีย์ ทุคชี่ ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกับ Emjag สก็อตต์ก็คือส่วนหนึ่งของ Film 360 ซึ่งเป็นแผนกสร้างภาพยนตร์ของ Management 360, เขายังเป็นประธานของ Business Group และรองประธานบริหารของ Relativity Media และรองประธานบริหารของ William Morris Agency ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับนักแสดงทั้งจอเงินและจอแก้ว ขณะทำงานอยู่ที่ William Morris เขาได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุนให้กับภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง
ฟลอเรียน ฮอฟฟ์มีสเตอร์ (FLORIAN HOFFMEISTER) – ผู้กำกับภาพ
ฟลอเรียน ฮอฟฟ์มีสเตอร์, BSC คือผู้กำกับภาพชาวเยอรมัน เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ทำงานกับซีรีส์ของ Apple TV+ เรื่อง “Pachinko” ซึ่งเขาถ่ายทำไปสี่ตอน, ภาพยนตร์เรื่อง ANTLERS จากฝีมือของผู้กำกับ สก็อตต์ คูเปอร์ และ OFFICIAL SECRETS ภาพยนตร์ทริลเลอร์การเมืองของ กาวิน ฮู้ด ซึ่งนำแสดงโดย คีร่า ไนต์ลี่ย์, เรล์ฟ ไฟนส์ และแม็ตต์ สมิธ
ในวงการภาพยนตร์ ฮอฟฟ์มีสเตอร์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการร่วมงานกับ เทอเรน เดวีส ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ถ่ายภาพให้กับภาพยนตร์เรื่อง THE DEEP BLUE SEA และ A QUIET PASSION ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ชาร์ลี สแตร็ทตัน เรื่อง IN SECRET ซึ่งนำแสดงโดย เอลิซาเบธ โอลเซน รวมถึงภาพยนตร์ของ เดวิด โคปป์ เรื่อง MORTEDECAI ผลงานทางทีวีของเขา ได้แก่ “House of Saddam”; ผลงานของ ไบรอัน เคิร์ก เรื่อง “Great Expectations” และ “The Terror” สำหรับเรื่อง “Great Expectations” เขาได้รับหลายรางวัล รวมถึงรางวัล Primetime Emmy for Outstanding Cinematography, รางวัลบัฟต้า สาขากำกับภาพและจัดแสงยอดเยี่ยมสำหรับผลงานทางทีวี และรางวัล ASC สาขา Outstanding Achievement in Cinematography เขาได้สร้างสถานะความเป็นผู้กำกับมือหนึ่งให้กับตัวเองด้วยการคว้ารางวัลเอ็มมี่ รางวัลบัฟต้า และรางวัล ASC
ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ (HILDUR GUÐNADÓTTIR) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ
ฮิลดูร์ กืดนาดอตเตียร์ คือศิลปินชาวไอซ์แลนด์ที่เคยได้รับรางวัลออสการ์, รางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัลเอ็มมี่ สองรางวัลแกรมมี่ และรางวัลบัฟต้า ผลงานของเธอที่ทำให้กับแวดวงโทรทัศน์และภาพยนตร์ ได้แก่ SICARIO: DAY OF THE SOLDADO, MARY MAGDALENE และซีรีส์ที่ได้รับคำชมของ HBO เรื่อง “Chernobyl” ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัล Primetime Emmy Award รวมถึงรางวัลแกรมมี่ด้วย กืดนาดอตเตียร์ ยังได้รับคำชมมากมายจากการทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง JOKER ซึ่งกำกับโดย ท็อดด์ ฟิลลิปส์ และนำแสดงโดย วาคิน ฟีนิกซ์ เธอยังได้รับรางวัลออสการ์ รางวัลลูกโลกทองคำ รางวัลบัฟต้า และรางวัลแกรมมี่ นอกจากนี้ ผลงานแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ของเธอ ยังได้แก่ TOM OF FINLAND, JOURNEY’S END และซีรีส์ไอซ์แลนด์ 20 ตอนเรื่อง “Trapped” ซึ่งสตรีมมิ่งทาง Amazon Prime เธอยังร่วมแต่งดนตรีประกอบให้กับวิดีโอเกม “Battlefield 2042” ซึ่งคว้ารางวัล Society of Composers & Lyricists Award
บิน่า ไดเกอแลร์ (BINA DAIGELER) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย
เมื่อเร็วๆ นี้ บิน่า ไดเกอแลร์ ได้ทำหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์ของ ดิสนีย์ เรื่อง MULAN ซึ่งกำกับโดย นิกกี้ คาโร ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง THE ZOOKEEPER’S WIFE ผลงานเรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ ภาพยนตร์ของ แอนน์ เฟล็ทเชอร์ เรื่อง DUMPLIN ซึ่งนำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน; ภาพยนตร์ดราม่าของ โจเซ่ ปาจีเล เรื่อง 7 DAYS IN ENTEBBE ซึ่งนำแสดงโดย โรซามันด์ ไปก์; ภาพยนตร์ของ วิม เวนเดอร์ส เรื่อง SUBMERGENCE ซึ่งนำแสดงโดย อลิเซีย วิกันเดอร์ และภาพยนตร์ของ โอลิเวอร์ สโตน เรื่อง SNOWDEN ซึ่งนำแสดงโดย โจเซฟ กอร์ดอน-ลิววิตต์
ไดเกอแลร์ เคยทำงานกับซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น ผลงานที่ได้รับคำชมของ เน็ทฟลิกซ์ เรื่อง “Narcos” และ “El Tiempo Entre Costuras” และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือผลงานของดาห์วี วอลเลอร์ เรื่อง “Mrs. America” ซึ่งนำแสดงโดย เคท บลันเชตต์ และเอลิซาเบธ แบงส์ ก่อนหน้านี้ ไดเกอแลร์ เคยร่วมงานกับ เคท บลันเชตต์ ในเรื่อง MANIFESTO ซึ่งกำกับโดยศิลปินชาวเยอรมัน จูเลี่ยน โรเซนเฟลด์ ซึ่งประสบความสำเร็จในโลกศิลปิน และยังทำให้ ไดเกอแลร์ ได้รับรางวัล German Film Award สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
มอนิกา วิลลี่ (MONIKA WILLI) – ผู้ลำดับภาพ
มอนิกา วิลลี่ เกิดในปี 1968 ในอินน์สบรุค, ออสเตรีย เขาเป็นผู้ลำดับภาพชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการทำงานร่วมกับ ไมเคิล ฮาเนเก้ มานานหลายปี (The Piano Teacher, Time of the Wolf, Funny Games U.S., The White Ribbon, Amour, Happy End), ได้ร่วมงานกับ อุลริช ซีดึล (Rimini, Sparta), บาร์บาร่า อัลเบิร์ต (Northern Skirts, Free Radicals, The Dead and the Living), ไมเคิล กลาว็อกเกอร์ (Workingman’s Death, Contact High, Whores’ Glory, Untitled) และอีกหลายคน
เธอเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย และเธอยังเป็นสมาชิกของ HYPERLINK “https://de.wikipedia.org/wiki/Academy_of_Motion_Picture_Arts_and_Sciences” \o “https://de.wikipedia.org/wiki/Academy_of_Motion_Picture_Arts_and_Sciences” Academy of Motion Picture Arts and Sciences
มาร์โค บิตต์เนอร์ รอสเซอร์ (MARCO BITTNER ROSSER) – โปรดักชั่นดีไซเนอร์
มาร์โค บิตต์เนอร์ รอสเซอร์ คือโปรดักชั่นดีไซเนอร์และสถาปนิคที่ประสบความสำเร็จ เขาศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่ Technical University ในดาร์มสตัดต์ และที่ University of East London และสำเร็จการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่ University of Art (UDK) ในเบอร์ลิน
ในการออกแบบงานสร้างให้กับภาพยนตร์ เขาได้ผสมผสานความรักที่มีต่อภาพยนตร์, สถาปัตยกรรม และการออกแบบเข้าด้วยกัน เขาเคยทำงานกับภาพยนตร์เรื่องแรกในปี 1999 โดยเป็นผลงานของ ฌอง-ชาร์ค อองโนด์ เรื่อง ENEMY AT THE GATES โดยเขาทำงานในตำแหน่งดีไซเนอร์ผู้ออกแบบฉาก เขายังทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ และโปรดักชั่นดีไซเนอร์ ให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยได้ร่วมงานกับผู้กำกับ เควนติน ทาแรนติโน่ (INGLOURIOUS BASTERDS), พี่น้องวาชอว์สกี้ (V FOR VENDETTA, SPEEDRACER), กีเยร์โม่ เดล โตโร (HELLBOY), จิม จาร์มุสช์ (ONLY LOVERS LEFT ALIVE), สตีเว่น สปีลเบิร์ก (BRIDGE OF SPIES)
ประวัตินักแสดง
เคท บลันเชตต์ (CATE BLANCHETT) รับบท ลิเดีย ทาร์
เคท บลันเชตต์ คือนักแสดง, ผู้อำนวยการสร้างที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ และได้รับคำชมไปทั่วโลก และยังเป็นสมาชิกของชุมชนศิลปะด้วย
บลันเชตต์รับบทนำ และทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ของ ท็อดด์ ฟิลด์ ที่ทุกคนต่างคาดหวังเรื่อง “TÁR” ซึ่งถือเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของฟิลด์ในรอบ 15 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่งานเทศกาลภาพยนตร์ เทลลูไรด์ และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ที่ซึ่ง บลันเชตต์ ได้รับรางวัล Coppa Volpi สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 นับจากเรื่อง I’m Not There
ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เธอจะร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ กีเยร์โม่ เดล โตโร เรื่อง “PINOCCHIO” และซีรีส์เรื่องฮิตอย่าง “Documentary Now!” เธอจะเริ่มต้นถ่ายทำภาพยนตร์ของ วอร์วิค ธอร์นตัน เรื่อง “The New Boy” ในออสเตรเลีย โดยเธอรับบทนำและอำนวยการสร้างผ่านบริษัท Dirty Films เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้ปิดกล้องภาพยนตร์เรื่อง “Disclaimer” ซึ่งกำกับโดย อัลฟองโซ คัวรอน ซึ่งเธอแสดงนำและทำหน้าที่อำนวยการสร้างบริหารด้วย ในปี 2021 บลันเชตต์ร่วมแสดงในภาพยนตร์ฮิตของ อดัม แม็คเคย์ เรื่อง Don’t Look Up รวมถึงภาพยนตร์ของ กีเยร์โม่ เดล โตโร เรื่อง Nightmare Alley
บลันเชตต์ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Dirty Films ร่วมกับหุ้นส่วนอย่าง แอนดรูว์ อัพตัน และโคโค่ ฟรานซี่นี่ เมื่อเร็วๆ นี้ Dirty Films ได้สร้างผลงานที่ได้รับคำชมอย่าง Mrs. America ให้กับ FX และ Hulu รวมถึงซีรีส์ของเน็ทฟลิกซ์ เรื่อง “Stateless” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Australian Academy of Cinema and Television Arts (AACTA) ถึง 18 รางวัล และคว้ากลับไปได้ 13 รางวัล ผลงานเรื่องอื่นๆ ของบริษัทนี้ ได้แก่ Truth, Carol, Little Fish, The Turning ส่วนผลงานใหม่ๆ ได้แก่ Fingernails ซึ่งกำกับดดย คริสตอส นิคู; Queen Bitch and the High Horse; The Champions ซึ่งกำกับโดย เบน สติลเลอร์ และภาพยนตร์ของ ลูเซีย เบอร์ลิน เรื่อง A Manual for Cleaning Women
ในปี 2015 เธอรับบทนำในผลงานเรื่อง Carol ซึ่งกำกับโดย ท็อดด์ เฮย์นส์ เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์, รางวัลบัฟต้า, รางวัลลูกโลกทองคำ, รางวัล Independent Spirit และรางวัล SAG ในปีเดียวกันนั้น เธอยังรับบทเป็น แมรี่ เมเพส ในภาพยนตร์เรื่อง Truth ซึ่งเธอประกบบทกับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด บลันเชตต์ ยังได้รับรางวัลออสการ์ สาขาดารานำหญฺงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Blue Jasmine และรางวัลดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง The Aviator ในปี 2008 บลันเชตต์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสองรางวัลออสการ์ ในสาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมจาก Elizabeth: The Golden Age และสาขาดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม จาก I’m Not There เธอคือนักแสดงคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของอะคาเดมี่ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลทางด้านการแสดงจากสองสาขาในปีเดียวกัน
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของ บลันเชตต์ ได้แก่ ภาพยนตร์ของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู เรื่อง Babel; ภาพยนตร์ของ เวส แอนเดอร์สัน เรื่อง The Life Aquatic with Steve Zissou, ภาพยนตร์ของ แซม ไรมิ เรื่อง The Gift; ภาพยนตร์ของ จิม จาร์มุสช์ เรื่อง Coffee and Cigarettes, ภาพยนตร์ของ แบร์รี่ เลอวินสัน เรื่อง Bandits; ภาพยนตร์ของ แซลลี่ พ็อตเตอร์ เรื่อง The Man Who Cried; ภาพยนตร์ของ เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button; ภาพยนตร์ของ แอนโธนี่ มิงเกลล่า เรื่อง The Talented Mr. Ripley; ภาพยนตร์ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่อง Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull; ภาพยนตร์ของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก เรื่อง The Good German; ภาพยนตร์ไตรภาคของ ปีเตอร์ แจ็คสัน เรื่อง The Lord of the Rings และ The Hobbit: The Battle of the Five Armies; ภาพยนตร์ของ จิลเลี่ยน อาร์มสตรอง เรื่อง Charlotte Gray และ Oscar and Lucinda; ภาพยนตร์ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่อง Robin Hood และภาพยนตร์ของ ไทกา ไวตีติ เรื่อง Thor: Ragnarok (2017)
โนเอมี่ แมร์ล็อง (NOÉMIE MERLANT) รับบท ฟรานเชสก้า เลนตินี่
โนเอมี่ แมร์ล็อง กลายมาเป็นหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ได้รับคำชมมากที่สุดในรุ่นของเธอ เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากบทแจ้งเกิดในภาพยนตร์ปี 2019 เรื่อง PORTRAIT OF A LADY ON FIRE ซึ่งกำกับโดย เซลีน เซียมมา ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัล Lumières Award สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล César Award สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม
แมร์ล็อง เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นนางแบบอาชีพ ก่อนที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนการแสดง Cours Florent ในปารีส เธอได้บทแจ้งเกิดในภาพยนตร์ปี 2016 เรื่อง HEAVEN WILL WAIT ซึ่งเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล César Award สาขานักแสดงหญิงดาวรุ่ง ในปี 2020 เธอแสดงนำในผลงานของ โซอี้ วิตต็อค เรื่อง JUMBO โดยเป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกหลุมรักเครื่องเล่นในสวนสนุก เมื่อเร็วๆ นี้ แมร์ล็อง แสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง LES INNOCENTS และยังแสดงนำในผลงานใหม่เรื่อง BABY RUBY โดยร่วมแสดงกับ คิท แฮร์ริงตัน
นีน่า ฮอสส์ (NINA HOSS) รับบท ชารอน กู้ดนาว
นีน่าคือหนึ่งในนักแสดงหญิงที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับนับถือที่สุดของเยอรมันในทุกวันนี้ เธอเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมาแล้ว 23 รางวัล เธอเป็นสมาชิกของ European Film Academy และเคยทำหน้าที่เป็นกรรมการอยู่หลายครั้ง เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแสดงภาพยนตร์เยอรมันที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมหลายเรื่อง อาทิเช่น PHOENIX, A MOST WANTED MAN และ BARBARA ซึ่งคว้ารางวัลหมีเงินที่งานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ในปี 2012 ส่วนในปี 2019 เธอได้รับรางวัลดารานำหญิงยอดเยี่ยมที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซานเซบาสเตียน ในปีนั้น เธอยังแสดงนำในภาพยนตร์ดราม่าของ แคทริน เก็บเบอ เรื่อง PELICAN BLOOD เธอคว้ารางวัล Toronto Film Critics Association Award สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมในปี 2016 จากภาพยนตร์เรื่อง PHOENIX ซึ่งกำกับโดย คริสเตียน เพ็ทซอลด์
โซฟี คาวเออร์ (SOPHIE KAUER) รับบท โอลกา เม็ตคิน่า
โซฟี คาวเออร์ คือนักเชลโลและนักแสดงหญิงชาวบริติส-เยอรมัน ปัจจุบัน เธอเรียนการแสดงเชลโล่คลาสสิคอยู่ที่ Norwegian Academy of Music ในออสโล เธอเริ่มเรียนเชลโล ตอนอายุ 8 ปี และ 18 เดือนต่อมา เธอได้รับเข้าศึกษาที่ Junior Department of the Royal Academy of Music ในลอนดอน ที่ซึ่งเธอเรียนอยู่นาน 7 ปี จนได้รับทุนการศึกษา จากอายุ 13 ถึง 18 ปี เธอคือนักเรียนส่วนตัวของโปรเฟสเซอร์ด้านเชลโล เมลิสซ่า เฟลป์ส เธอประสบความสำเร็จกับการเข้าแข่งขันมากมายในสหราชอาณาจักร เธอเริ่มเป็นศิลปินเดี่ยว โดยเริ่มแสดงกับวงออร์เคสตร้าตอนอายุ 13 ปี
เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้เข้าบันทึกเสียงการเล่นดนตรีกับวง London Symphony Orchestra โดยมี นาตาลี เมอร์เร่ย์ บีล เป็นคอนดัคเตอร์ โดยเป็นการบันทึกเสียงลงอัลบั้มของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในสังกัดค่าย Deutsche Grammophon
จูเลียน โกลเวอร์ (JULIAN GLOVER) รับบท แอนดริส เดวิส
จูเลียน มีประวัติการทำงานในวงการภาพยนตร์ที่สุดพิเศษมาก โดยเขาเคยได้รับบท นายพลแห่งจักรวรรดิ แม็กซิมิเลียน เวียร์ส ในภาพยนตร์เรื่อง THE EMPIRE STRIKES BACK, รับบทเป็น อริสโตเทิล คริสทาซอส ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ตอน FOR YOUR EYES ONLY และรับบทเป็นนาซี วอลเตอร์ โดโนแวน ในภาพยนตร์เรื่อง INDIANA JONES AND THE LAST CRUSADE
เมื่อเร็วๆ นี้ เขามีบทประจำอยู่ในซีซั่นที่ 1 – 6 ของ “Game of Thrones” และให้เสียงเป็นแมงมุมยักษ์ใน HARRY POTTER AND THE CHAMBER OF SECRETS
อัลลัน คอร์ดูเนอร์ (ALLAN CORDUNER) รับบท เซบาสเตียน บริกซ์
ผลงานในแวดวงละครเวทีของ อัลลัน คอร์ดูเนอร์ ได้แก่ “My Fair Lady” (Lincoln Centre, NYC); “Murder on The Orient Express” (McCarter, Princeton); “Showboat” (The Sheffield Crucible); “Taken At Midnight” (Chichester & Theatre Royal Haymarket); “Passion” (Donmar Warehouse); “Hello Dolly!” (Regent’s Park); “A View from the Bridge” (Duke of York’s); “The Birthday Party” (Princeton); “Two Thousand Years” (National Theatre); “Comedians” (Acorn Theater); “Fucking Games, Three Birds Alighting on a Field, Icecream and No End of Blame” (Royal Court); “Serious Money” (Royal Court, London’s West End, and Broadway); “Titanic” (Broadway); “Rosmersholm” (Young Vic); “The Boys Next Door” (Hampstead & Comedy Theatre); “Arsenic and Old Lace, Insignificance” (Chichester); “Marya” (Old Vic); “A Midsummer Night’s Dream;” “Play It Again Sam;” “Once a Catholic;” “The Amazons;” “The Entertainer.”
ผลงานทางด้านโทรทัศน์ ได้แก่ “Ridley Road;” “FBI;” “The Blacklist;” “Fearless;” “Homeland;” “Call the Midwife;” “Utopia;” “Da Vinci’s Demons;” “Spies of Warsaw;” “Dancing on the Edge;” “Midsomer Murders;” “Zen;” “Lennon Naked;” “Schama’s Power of Art;” “Heartbeat;” “Friends and Crocodiles;” “Daniel Deronda;” “Foyle’s War;” “The Way We Live Now;” “Fat Friends;” “Drop The Dead Donkey;” “Mad About You;” “Nostromo;” “Inspector Morse;” “Mandela;” “Freud.”
ผลงานภาพยนตร์ของเขา ได้แก่ ABYZOU; OPERATION FINALE; DISOBEDIENCE; FLORENCE FOSTER JENKINS; WOMAN IN GOLD; DEFIANCE; FRED CLAUS; THE WHITE COUNTESS; THE MERCHANT OF VENICE; VERA DRAKE; DE-LOVELY; FOOD OF LOVE; MOONLIGHT MILE; THE GREY ZONE; JOE GOULD’S SECRET; TOPSY-TURVY; THE IMPOSTORS; HEART OF DARKNESS; EDWARD II; TALK RADIO; SHADOWMAKERS; YENTL.
มาร์ก สตรอง (MARK STRONG) – รับบท เอเลียต แคปแลน
มาร์ก สตรอง ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงมากความสามารถที่น่าดูที่สุดในปัจจุบัน เขาจะมีบทบาทให้เห็นในผลงานภาพยนตร์ใหม่อย่าง SQUADRON 42, NOCEBO และ MURDER MYSTERY 2 ผลงานของ เน็ทฟลิกซ์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาร่วมแสดงในภาพยนตร์คว้ารางวัลของ แซม เมนเดส เรื่อง 1917 และภาพยนตร์ของ ดิสนีย์ เรื่อง CRUELLA และผลงานทางทีวี เรื่อง “Temple for Sky” ซึ่งเขาทำหน้าที่อำนวยการสร้างด้วย
ผู้ชมยังได้เห็นเขาในผลงานความร่วมมือกับผู้กำกับหลายคนด้วยกัน อาทิเช่น กาย ริทชี่ ในภาพยนตร์เรื่อง SHERLOCK HOLMES, ROCKNROLLA และ REVOLVER; ริดลี่ย์ สก็อตต์ ในภาพยนตร์เรื่อง ROBIN HOOD และ BODY OF LIES และแมทธิว วอห์น ในภาพยนตร์เรื่อง KINGSMAN: THE SECRET SERVICE, KINGSMAN: THE GOLDEN CIRCLE, KICK-ASS และ STARDUST
ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของสตรอง ได้แก่ ภาพยนตร์ของ DC เรื่อง SHAZAM!, ภาพยนตร์ของ โรเบิร์ต เบิร์ดโร เรื่อง STOCKHOLM, ภาพยนตร์ของ โทอา เฟรเซอร์ เรื่อง 6 DAYS, ภาพยนตร์ของ มาร์ก เอไลจาห์ โรเซนเบิร์ก เรื่อง APPROACHING THE UNKNOWN, ภาพยนตร์ของ ริชี่ สมิธ เรื่อง JADOTVILLE, ภาพยนตร์ของ จอห์น แม็ดเด้น เรื่อง MISS SLOANE ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ เจสสิก้า แชสเทน, ภาพยนตร์ของ มอร์เทม ทิลดัม เรื่อง THE IMITATION GAME, ภาพยนตร์ของ จอร์จ โดราโด เรื่อง ANNA, ภาพยนตร์ของ เน คารันฟิล เรื่อง CLOSER TO THE MOON, ภาพยนตร์ของ เอแรน ครีวี่ เรื่อง WELCOME TO THE PUNCH, ภาพยนตร์ของ นิค เมอร์ฟี่ เรื่อง BLOOD, ภาพยนตร์ของ ฌอง-ชาร์ค อองโนด์ เรื่อง BLACK GOLD, ภาพยนตร์ของ แอนดรูว์ สแตนตัน เรื่อง JOHN CARTER, ภาพยนตร์ของ โทมัส อัลเฟร็ดสัน เรื่อง TINKER TAILOR SOLDIER SPY, ภาพยนตร์ของ ปีเตอร์ เวียร์ เรื่อง THE WAY BACK; ภาพยนตร์ของ จอห์น ไมเคิล แม็คโดนัฟ เรื่อง THE GUARD, ภาพยนตร์ของ มาร์ติน แคมป์เบลล์ เรื่อง GREEN LANTERN; ภาพยนตร์ของ ฌอง-มาร์ค วัลลี เรื่อง THE YOUNG VICTORIA; ภาพยนตร์ของ พีท แทรวิส เรื่อง ENDGAME; ภาพยนตร์ของ แดนนี่ บอยล์ เรื่อง SUNSHINE; ภาพยนตร์ของ สตีเฟ่น กาแกน เรื่อง SYRIANA; ภาพยนตร์ของ โรมัน โปลันสกี้ เรื่อง OLIVER TWIST; ภาพยนตร์ของ เควิน เรย์โนลด์ส เรื่อง TRISTAN + ISOLDE; ภาพยนตร์ของ โธมัส วินเทอร์เบิร์ก เรื่อง IT’S ALL ABOUT LOVE; ภาพยนตร์ของ ไมก์ ฟิกกิส เรื่อง HOTEL; ภาพยนตร์ของ เดวิด อีแวนส์ เรื่อง FEVER PITCH และภาพยนตร์ของ เควิน แม็คโดนัลด์ เรื่อง THE EAGLE