The World’s End (เดอะ เวิลด์ เอนด์) ภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น-ไซไฟ คอมมิดี้ ฮาไปกับภาระกิจช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจาก…

เรื่องย่อ

The World’s End ส่วนผสมที่ลงตัวของความเป็นพี่น้องพ้องเพื่อน อารมณ์ขันรสเด็ด การดื่มไม่ยั้ง ทางเลือกในชีวิตที่น่าสงสัย การต่อสู้ประชิดตัวและเซอร์ไพรส์น่าอัศจรรย์ เป็นการร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์และสองนักแสดง ไซมอน เพ็กก์และนิค ฟรอสท์ หลังจากภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Shaun of the Dead (2004) และ Hot Fuzz (2007)

เรื่องราวของ The World’s End เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1990 ในเมืองนิวตัน ฮาเวน ที่อยู่ย่านชานเมืองของอังกฤษ เด็กหนุ่มห้าคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ได้เฉลิมฉลองวันเรียนจบด้วยการพยายามจะสรรค์สร้างตำนานการบุกตะลุยผับด้วยกัน แม้ว่าพวกเขาจะกระตือรือร้นและกระดกเบียร์ไปมากแค่ไหน พวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จดังความตั้งใจเพราะพวกเขาไม่สามารถไปถึง เดอะ เวิลด์ส เอนด์ ซึ่งเป็นผับสุดท้ายในลิสต์ของพวกเขาได้

ประมาณกว่ายี่สิบปีให้หลัง “ห้าทหารเสือ” ต่างคนต่างก็จากบ้านเกิดไปคนละทิศละทาง และตอนนี้ พวกเขาก็เป็นสามี เป็นพ่อ เป็นชายผู้เจริญในหน้าที่การงาน ทุกคนประสบความสำเร็จด้วยดีเว้นแต่แกรี่ คิง (ไซมอน เพ็กก์) อดีตหัวโจกผู้พูดจาคล่องแคล่วของพวกเขา ตอนนี้ เขาเป็นชายวัย 40 ปีที่ยังคงมีความหลังฝังใจกับวัยรุ่นของตัวเอง แกรี่ ผู้เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น รับรู้ถึงความห่างเหินระหว่างเขาและแอนดี้ (นิค ฟรอสท์) ผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทหมายเลขหนึ่งของเขา เขาก็เลยดึงดันที่จะกลับไปสู่การดื่มมาราธอน “เดอะ โกลเดน ไมล์” อีกครั้ง เขาเกลี้ยกล่อมแอนดี้, สตีเวน (แพ็ดดี้ คอนซิไดน์), โอลิเวอร์ (มาร์ติน ฟรีแมน) และปีเตอร์ (เอ็ดดี้ มาร์สัน) ให้ปฏิบัติภารกิจนี้อีกครั้ง และบ่ายวันศุกร์วันหนึ่ง พวกเขาก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง แกรี่รู้สึกเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ กฎที่ถูกตั้งเอาไว้ก็คือ เวลาหนึ่งคืน ชายห้าคน ผับสิบสองแห่ง และพวกเขาก็ต้องดื่มเบียร์อย่างน้อยหนึ่งไพน์ต่อหนึ่งผับ เมื่อไปถึงนิวตัน ฮาเวน พวกเขาได้พบกับแซม (โรซามุนด์ ไพค์) น้องสาวของโอลิเวอร์ ที่ทั้งแกรี่และสตีเวนต่างก็ยังแอบมีใจให้อยู่

ขณะที่พวกเขาพยายามที่จะประสานเรื่องในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน การได้พบกับสถานที่เก่าๆ และคนที่พวกเขาเคยรู้จัก ที่ทั้งอันตรายและเพี้ยนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า การที่พวกเขาฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่ออนาคต แต่ไม่ใช่อนาคตของพวกเขาเท่านั้น มันยังเป็นอนาคตของมนุษยชาติด้วย และการไปให้ถึงเดอะ เวิลด์ส เอนด์อาจเป็นสิ่งที่น่ากังวลน้อยที่สุดก็เป็นได้…

ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกับรีเลทีฟวิตี้ มีเดีย ภูมิใจเสนอ ผลงานสร้างโดยเวิร์คกิ้ง ไตเติล ร่วมกับบิ๊ก ทอล์ค พิคเจอร์ส The World’s End นำแสดงโดยไซมอน เพ็กก์, นิค ฟรอสท์, แพ็ดดี้ คอนซิไดน์, มาร์ติน ฟรีแมน, เอ็ดดี้ มาร์สัน, โรซามุนด์ ไพค์ คัดเลือกนักแสดงโดยนีนา โกลด์, โรเบิร์ต สเติร์น ควบคุมดนตรีโดยนิค แองเจิล ดนตรีโดยสตีเวน ไพรซ์ ออกแบบเมคอัพและทรงผมโดยเจน วอล์คเกอร์ ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยกาย สเปแรนซา ลำดับภาพโดยพอล มาชลิส, เอซีอี ออกแบบงานสร้างโดยมาร์คัส โรว์แลนด์ กำกับภาพโดยบิล โป๊ป, เอเอสซี ร่วมอำนวยการสร้างโดยไมริ เบ็ทท์ ควบคุมงานสร้างโดยเจมส์ บิดเดิล, เอ็ดการ์ ไรท์, ไซมอน เพ็กก์, นิค ฟรอสท์, ลิซา ชาซิน เขียนบทโดยไซมอน เพ็กก์และเอ็ดการ์ ไรท์ อำนวยการสร้างโดยนีรา ปาร์ค, ทิม บีแวน, อีริค เฟลเนอร์ กำกับโดยเอ็ดการ์ ไรท์ จัดจำหน่ายโดยยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส อินเตอร์เนชันแนล

 

THE WORLD’S END

 

เกี่ยวกับงานสร้าง

คนเราจะไปได้ถึงขนาดไหนเพื่อหาเบียร์ดื่มซักไพน์หนึ่ง บางที เขาอาจจะยอมไปถึงสุดขอบโลกก็ได้?

คำถามชวนฉงนนี้ถูกสำรวจโดยผู้กำกับ/มือเขียนบท เอ็ดการ์ ไรท์, นักแสดง/มือเขียนบท ไซมอน เพ็กก์และนักแสดง นิค ฟรอสท์ หลังจากความสำเร็จระดับโลกของพวกเขาจาก Shaun of the Dead และ Hot Fuzz ไรท์มองว่า The World’s End ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ตามมาของคำถามนั้น “อยู่ภายในธรรมเนียมของชาวอังกฤษของการทำตัวไม่รู้เหนือรู้ใต้หรือการสงวนท่าทีเฉยชาต่อหน้าภัยพิบัติ มันเล่าเรื่องราวคืนเที่ยวของพวกหนุ่มๆ ที่เกิดผิดพลาดอย่างร้ายกาจ”

“ธีมของหนังเรื่องนี้จะเชื่อมโยงกับหนังสองเรื่องก่อนของเรา มันเป็นคนละเรื่องราวที่มีตัวละครแตกต่างออกไปก็จริง แต่ความหมกมุ่นของผมกับไซมอนก็อยู่ในบทหนังทั้งสามเรื่องนี้ครับ”

เพ็กก์ตั้งข้อสังเกตว่า “สำหรับเราแล้ว หนังเรื่องนี้เป็นหนังฟอร์มใหญ่กว่าเรื่องก่อนๆ”

“The World’s End เป็นงานที่ทะเยอทะยานจริงๆ ครับ” ไรท์เห็นพ้องด้วย “มันเห็นได้ชัดเจนจากระดับการถ่ายทำของเรา แล้วในเรื่องนี้ เราก็ได้พูดถึงเรื่องที่ว่าการนึกถึงความหลังเป็นเรื่องที่ดีแค่ไหน การมองย้อนกลับไปหรือการพยายามจะกลับไปน่ะครับ ทุกคนใฝ่ฝันถึงการได้ทำในสิ่งที่ต่างออกไป เราต่างก็หวนนึกถึงสมัยวัยรุ่นของตัวเอง หนังแต่ละเรื่องที่ผมสร้างกับไซมอนและนิคมีองค์ประกอบจากชีวิตพวกเราทั้งนั้นแหละครับ”

เพ็กก์เล่า “มันเป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุดจากบรรดาหนังทั้งสามเรื่องของเรา เราได้เรียนรู้จาก Shaun of the Dead ว่ามันเป็นไปได้ที่จะผสมผสานสถานการณ์ซีเรียสเข้ากับคอเมดีและเรื่องอบอุ่นหัวใจ ธีมของ The World’s End จะเชื่อมโยงกับหนังอีกสองเรื่องผ่านทางการที่คนๆ หนึ่งเผชิญหน้ากับกลุ่มคน คนๆ หนึ่งที่เผชิญหน้ากับกองกำลังน่ะครับ”

ไรท์กล่าวว่า “หนังทั้งสามเรื่องเล่นกับมุมมองตามแบบฉบับที่คนมีต่ออังกฤษครับ เราทั้งชื่นชมพวกเขาและเสียดสีพวกเขาไปพร้อมๆ กัน”

เพ็กก์กล่าวเสริมว่า การตระเวนเที่ยวผับ “ส่วนหนึ่งมาจากบทที่เอ็ดการ์เคยเขียนทิ้งไว้ในสมัยก่อน ที่มีชื่อว่า Crawl น่ะครับ”

ไรท์กล่าวยอมรับว่า “ตอนผมเป็นวัยรุ่น ผมเคยตั้งใจไปตระเวนผับสิบห้าแห่งในบ้านเกิดผม ผมไปได้แค่หกหรือเจ็ดแห่งเท่านั้นเอง ผมไม่ค่อยภูมิใจกับมันเท่าไหร่หรอกครับ และสองสามปีให้หลัง ผมก็ได้เขียนบทหนังเกี่ยวกับวัยรุ่นที่ไปตระเวนผับ ความรู้สึกของมันที่เหมือนกับการทำภารกิจ เป็นภารผจญภัยอย่างหนึ่งติดอยู่ในความคิดของผมครับ”

คอนเซ็ปต์นี้เริ่มเพาะตัวขึ้น ฟรอสท์เล่าว่า “ประมาณ 10 กว่าปีก่อน เอ็ดการ์กับผมคุยกันถึงหนังเกี่ยวกับการตระเวนผับ เราไปเช่ารถและบ้านพักหลังหนึ่ง ด้วยความตั้งใจที่จะลงมือเขียนอะไรซักอย่างขึ้นมา”

“เราก็แค่ขับรถวนไปมา ฟังดนตรี และไม่ได้เขียนงานเลยซักนิด ซึ่งตอนนี้ ผมก็มานึกเสียใจทีหลัง”

หลังจาก Hot Fuzz ไอเดียก็กลับมาหาไรท์อีกครั้ง เขากล่าวว่า “ผมนึกถึง Superbad ในตอนที่หนังเรื่องนั้นจะเข้าฉายและผมก็นึกถึงบทเกี่ยวกับการดื่มสมัยวัยรุ่นของผมและการที่ผมไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย แล้วจู่ๆ ผมก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าภารกิจการดื่มของวัยรุ่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นล่ะ…

“ผมจำได้ว่าไซมอนกับผมยืนอยู่ใกล้ๆ กับสายพานลำเลียงกระเป๋าในซิดนีย์ ระหว่างการเดินทางเพื่อประชาสัมพันธ์ Hot Fuzz ผมบอกกับเขาว่า ‘ผมมีไอเดียอย่างหนึ่งสำหรับหนัง ถ้าในห้านาทีแรก คุณโชว์ภาพหนุ่มๆ ห้าคนนี้ในปี 1990 แล้วก็เร่งเวลาไปข้างหน้า ไปสู่ตอนที่พวกเขาพยายามจะทำภารกิจนี้อีกครั้งตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วก็ดันมีหายนะจากนอกโลกเกิดขึ้นล่ะ’ เราเริ่มคุยถึงเรื่องนี้ และเริ่มนึกกันว่าหายนะที่ว่านั่นจะเป็นอะไรได้บ้าง”

เพ็กก์กล่าวว่า “ความคิดของการได้กลับไปสู่ที่ที่คุณจากมา และการที่มันแตกต่างออกไปอย่างมากเป็นสิ่งที่เราคิดเอาไว้อยู่แล้วเพราะเรากำลังอยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ Hot Fuzz สิ่งที่เราชอบคือไอเดียที่ว่า พอคุณกลับบ้าน ทุกอย่างดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปและมันก็ไม่ใช่คุณที่เปลี่ยน แต่จริงๆ แล้ว มีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้นน่ะครับ”

ไรท์กล่าวเสริมว่า “นอกจากนั้น คอนเซ็ปต์ยังรวมถึงเรื่องที่ว่าแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะจงใจพาพล็อตหักเลี้ยวไปทางซ้าย และแม้ว่าเรื่องราวดั้งเดิมจะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ เป้าหมายของตัวละคร ภารกิจของพวกเขา ในตอนเริ่มต้นเรื่องก็เหมือนกับในตอนจบเรื่อง แต่อุปสรรคต่างหากล่ะครับที่เปลี่ยนแปลงไป”

รายละเอียดของทีมงานเองก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกันในขณะที่โปรเจ็กต์อื่นๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตรงหน้าพวกเขา หลังจากที่ Hot Fuzz เปิดตัวในปี 2007 ฟรอสท์และเพ็กก์ก็ได้คิดไอเดียสำหรับบทภาพยนตร์ดั้งเดิมชื่อ Paul ซึ่งพวกเขาเขียนบทและนำแสดง ขึ้นมา ในเวลาเดียวกัน ไรท์เองก็กำลังดัดแปลงบทภาพยนตร์และกำกับภาพยนตร์เรื่อง Scott Pilgrim vs. the World นีรา ปาร์ค ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ทุกเรื่องที่กล่าวมา เล่าว่า “ต้องใช้เวลาซักพักกว่าไซมอนและเอ็ดการ์จะกลับมารวมตัวกันได้ คุณจะสงสัยด้วยซ้ำไปว่า ‘เราจะทำให้พวกเขากลับมารวมตัวกันอีกครั้งได้รึเปล่า’ น่ะค่ะ”

พอโปรเจ็กต์ต่างๆ เหล่านั้นเสร็จสมบูรณ์ ทุกคนก็กลับมาเจอกันและกันอีกครั้ง “เราตั้งใจที่จะรวมทีมกันให้ติดครับ” เพ็กก์กล่าว “มันหมายถึงการใช้ผู้อำนวยการสร้างทีมเดิมด้วย นีรากับบิ๊ก ทอล์ค พิคเจอร์สเป็นเหมือนครอบครัว เรามีความหลังกันยาวนาน และเราก็ซาบซึ้งกับการสนับสนุนของทิม บีแวนและอีริคที่เวิร์คกิ้ง ไตเติล ซึ่งเริ่มต้นจาก Shaun of the Dead ครับ”

ไรท์กล่าวว่า “พวกเขาเป็นอัศวินขี่ม้าขาวในหนังเรื่องนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพหนังของเรา ตอนนี้ ผ่านมา 10 ปีแล้ว และเราก็เดินหน้าไปด้วยกันครับ”

เฟลเนอร์เล่า “ผมจำได้ถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างผมกับเอ็ดการ์และนีราเมื่อกว่าสิบปีก่อน ในตอนที่คุณได้พบกับกลุ่มคนพรสวรรค์ คุณก็สามารถบอกได้ว่าคุณอยู่ตรงหน้าคนที่น่าตื่นเต้นน่ะครับ”

“ด้วยสโคปที่กว้างกว่า การสร้าง The World’s End ให้เป็นรูปเป็นร่างก็เลยต้องใช้เวลาพักใหญ่ๆ แต่ผมรู้ว่าไอเดียจะพรั่งพรูออกจากความคิดของไซมอนและเอ็ดการ์ พวกเขาเป็นทีมที่ชาญฉลาดจริงๆ ครับ”

ปาร์คเผยว่า “ตอนที่เราเริ่มต้น มันเป็นการเจอหน้ากันทุกคืน แล้วก็พบกันในวันรุ่งขึ้น ตอนนั้น เรายังไม่มีครอบครัว ในการผลักดัน The World’s End เข้าสู่กระบวนการเขียนบท ฉันก็ได้จัดตารางเวลาให้กับเอ็ดการ์และไซมอนเพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราจะจัดให้พวกเขาอยู่ในห้องเดียวกันนานสองสามสัปดาห์ได้ที่ไหนและอย่างไรน่ะค่ะ”

“สิ่งที่พวกเขาทำคือกาวางแผนทุกอย่างไว้บนฟลิปชาร์ท พอคุณเดินเข้าไป พวกเขาก็จะสามารถเล่าให้คุณฟังได้ทุกฉากเลยล่ะค่ะ”

เพ็กก์กล่าวยืนยันว่า “ผมกับเอ็ดการ์มักจะเขียนงานในห้องเดียวกันครับ” ในกลางปี 2011 พวกเขาได้ทำงานเขียนบท The World’s End อย่างจริงๆ จังๆ ที่ออฟฟิศในอเมริกาของเวิร์คกิ้ง ไตเติล “ถึงตอนนั้น เราก็คิดถึงหนังเรื่องนี้มาได้ซักพักใหญ่ๆ แล้ว” ไรท์บอก “มันก็เลยหลั่งไหลออกมาเองครับ”

“มันเป็นกระบวนการเขียนบทที่ค่อนข้างเร็วทีเดียวครับ” เพ็กก์กล่าวเห็นพ้องด้วย “ถึงตอนนี้ เราก็มีจังหวะของเราแล้ว เราเข้าใจวิธีการทำงานของกันและกัน เราคิดอ่านแบบเดียวกัน อาจจะมากกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำ และเราก็นำประสบการณ์ชีวิตของเราเองมาใส่ใน The World’s End ด้วยครับ”

“ในแง่ของแนวหนัง เราได้ใช้คำอุปมาอุปมัยและไอเดียเกี่ยวกับสังคมไซไฟอังกฤษ เราไม่ได้ล้อเลียนพวกเขา แต่เรามองคอนเซ็ปต์นี้ในแง่มุมขบขันครับ จอห์น วินด์แฮมเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลสำคัญต่อเรา”

ไรท์กล่าวเสริมว่า “เช่นเดียวกับซีรีส์ Quatermass และหนังอย่าง as Invasion of the Body Snatchers และผลงานของจอห์น คริสโตเฟอร์ ผมคิดว่าเหตุผลที่เราเลือกหนังสังคมไซไฟจากยุค 50s, 60s และ 70s ก็เพราะความสนุกสนานทางธีมที่เรามีได้กับคำถามเรื่องตัวตน มันมีธีมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างตัวคุณที่อายุมากกว่าและตัวคุณที่อายุน้อยกว่า รวมถึงความรู้สึกแปลกแยกที่เกิดขึ้นในตอนที่คุณกลับไปบ้านเกิดแล้วพบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย แต่ทุกอย่างกลับต่างออกไปครับ”

เฟลเนอร์กล่าวเสริมว่า “ไซมอนและเอ็ดการ์รู้จักแนวหนังนั้นดีแต่สำหรับผม สิ่งที่สำคัญคือเรื่องราวนี้ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง”

ไรท์สรุปว่า “ดังนั้น สิ่งที่เรามีใน The World’s End คือหนังไซไฟหวาดระแวง ที่ผสมผสานกับการรวมตัวกันเพื่อตระเวนผับ ซึ่งในที่นี้เหมือนกับภารกิจในยุคกลาง ที่มีกษัตริย์อาร์เธอร์ที่ไร้ความรับผิดชอบเป็นหัวหน้าครับ!”

ระหว่างที่เขียนบทกับไรท์ เพ็กก์ในฐานะนักแสดงก็กำลังเตรียมพร้อมเพื่อรับบทแกรี่ คิง ตัวละครหลักของเรื่อง เขาเล่าว่า “ผมกับเอ็ดการ์คุยเล่นกันว่าในหนังที่มีการคืนสู่เหย้าอย่างใน The Big Chill มันมีศพเพราะมีคนตาย ใน The World’s End แกรี่เป็นศพครับ! ตอนที่เขาได้ไปพบเพื่อนเก่าทีละคนเพื่อเกลี้ยกล่อมให้พวกเขาร่วมตระเวนผับใน ‘เดอะ โกลเดน ไมล์’ มันเหมือนว่าพวกเขาได้เห็นวิญญาณจากอดีตของพวกเขาน่ะครับ”

ไรท์กล่าวรำพึงว่า “เราอยากให้แกรี่ดูเป็นแบบนั้นในตอนเริ่มต้น ผมเชื่อว่าหลายคนจะเคยมีประสบการณ์ของการตัดขาดเพื่อนสมัยเรียนที่พวกเขาเคยสนิทด้วย ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บางทีเพื่อนคนนี้อาจมีปัญหาและคุณก็ไม่อยากจะไปยุ่งกับปัญหาพวกนั้นก็ได้”

“เราทุกคนต่างก็มีตัวละครแบบแกรี่ คิงในชีวิตของเราและในหลายๆ แง่มุม ก็มีส่วนหนึ่งของเขาอยู่ในตัวผมและไซมอน มากกว่าที่เราอยากจะยอมรับอีกนะครับ”

เพ็กก์ตั้งข้อสังเกตว่า “พวกเราสองคนคิดกันว่าเหตุผลที่เขาแต่งตัวแบบนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขาแต่งตัวแบบนั้นมาตั้งแต่ปี 1990 แต่เป็นเพราะว่านี่คือคืนพิเศษ มันเหมือนเจ้าหน้าที่ทหารที่แต่งตัวเต็มยศ ติดเหรียญตราและสวมถุงมือสีขาวน่ะครับ”

ไรท์สารภาพว่า “ถ้าคุณอ่านชีวประวัติของไซมอน คุณก็จะรู้ว่าเขาเคยมี ‘ช่วงกอธ’ ของเขา มีภาพเขาตอนไว้ทรงผมประหลาด ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากได้เขามารับบทแกรี่ มันทำให้ไซมอนดูแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ของเรา อารมณ์ของตัวละครตัวนี้แตกต่างจากบทอื่นๆ ของเขา [ในหนังเรื่องก่อนๆ ของทีม] น่ะครับ”

เพ็กก์กล่าวว่า “ผมไม่เคยย้อมผมเป็นสีดำ ดังนั้น การได้ย้อมผมสำหรับหนังเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนการทำให้ความฝันอย่างหนึ่งเป็นจริง และชุดในเรื่องก็เป็นชุดแบบที่ผมน่าจะเคยใส่ตอนผมอายุ 18 ปีด้วยครับ”

ไรท์กล่าวว่า “แกรี่อาจให้ความรู้สึกเศร้านิดๆ แต่ผมคิดว่าไซมอนสามารถถ่ายทอดลุคนั้นออกมาได้ สำหรับผม เขาดูเจ๋งอย่างน่าประหลาดครับ”

เพ็กก์กล่าวรำพึง “จริงๆ แล้ว ผมรู้สึกว่าแกรี่เป็นโศกนาฏกรรมเดินได้ เขาย้อมผมเป็นสีดำทุกๆ สองสัปดาห์ และเขาก็ยึดติดกับค่ำคืนนั้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในความสำเร็จของเขา สิ่งที่ทำให้ตัวละครตัวนี้สนุกที่จะเขียนและแสดงคือการที่เขาไม่ค่อยคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองซักเท่าไหร่ และเขาก็ยังคงกล่อมทุกคนได้อยู่หมัด สำหรับการผจญภัยที่เป็นยิ่งกว่าที่เขาคาดหวังเอาไว้เสียอีก”

เพ็กก์กล่าวว่า ขั้นตอนการเกลี้ยกล่อมให้คนอื่นๆ ร่วมปฏิบัติภารกิจ “เดอะ โกลเดน ไมล์” กับแกรี่นั้น “เป็นอะไรที่เขียนสนุกครับ ฉากชักจูงใจพวกนั้น ในฐานะนักแสดง ผมพบว่ามันเป็นเรื่องน่าพึงพอใจทีเดียวที่ได้แสดงแบบมีไดอะล็อค แกรี่คุกคามปีเตอร์ ป้อยอโอลิเวอร์ ท้าทายสตีเวนและแบล็คเมลแอนดี้ครับ”

“ผมมักจะปล่อยให้เอ็ดการ์เขียนเรื่องแอ็กชัน ยกตัวอย่างเช่น การสู้ที่เดอะ บีไฮฟ์ เป็นอะไรที่พิเศษสุด ด้วยความที่เขาได้ร่วมงานกับ [ผู้ออกแบบการต่อสู้] แบรด อัลลันมาก่อน เอ็ดการ์ก็เลยสามารถคิดภาพออกถึงสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ที่แบรดจะคิดขึ้นมาได้น่ะครับ”

เอ็ดดี้ มาร์สัน ผู้รับบทปีเตอร์ กล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า “ฉากบีไฮฟ์ ฝีมือ [ผู้ออกแบบงานสร้าง] มาร์คัส โรว์แลนด์และทีมงานของพวกเขา เป็นอะไรที่วิเศษสุด เราจะพังมันทุกวัน แล้วพวกเขาก็จะสร้างฉากนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อที่เราจะได้ถ่ายทำอีกมุมมองหนึ่ง แล้วก็พังมันอีกรอบครับ”

การฝึกฝนอย่างหนักจนถึงนาทีของการถ่ายทำซีเควนซ์ต่อสู้ช่วยให้นักแสดงสวมบทตัวละครของพวกเขาและทำการเตรียมพร้อมอย่างปลอดภัย มาร์สันชื่นชมทีมงานของอัลลันในการสอดส่องบทให้ “รวมตัวละครเข้าไปในการต่อสู้เพื่อที่คุณจะได้ไม่ทิ้งตัวละครของคุณไว้เบื้องหลัง มันมีตรรกะบางอย่างในวิธีการต่อสู้ของตัวละครพวกนี้ แทนที่พวกเขาจะมีความสามารถในการต่อสู้อยู่แล้ว ซึ่งมันก็จะช่วยเพิ่มความชื่นชมให้กับผู้ชมมากขึ้นไปอีก”

โรซามุนด์ ไพค์ ผู้รับบท แซม ตั้งข้อสังเกตว่า “ฉากหนึ่งที่ฉันชอบคือฉากที่แกรี่ลงไม้ลงมือจริงๆ แต่เป้าหมายหลักของเขากลับเป็นการพยายามไม่ทำให้เบียร์หกน่ะค่ะ”

ไรท์กล่าวขยายความว่า “คุณต้องให้เวลากับการถ่ายทำฉากแอ็กชันและให้สตันท์ออกมาถูกที่ถูกทาง แต่คุณก็ต้องพยายามสร้างฉากคอเมดีและไดอะล็อคให้เร็วขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องดีสำหรับการแสดง ไกด์ไลน์สำหรับแอ็กชันคือคนพวกนี้ไม่ได้มีพลังพิเศษ มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวครับ เราคำนึงถึงหนังไอ้หนุ่มหมัดเมาของเฉินหลง ที่ยิ่งเขาดื่มหนักเท่าไหร่ พลังในการต่อสู้ของเขาก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น มันมีความกล้าบ้าบิ่นที่เกิดขึ้นในตอนที่คนเราเมา และเราก็อยากให้พระเอกของเราไม่กลัวอะไรมากขึ้นและทำตัวบ้าระห่ำมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ”

“แบรด อัลลันได้ทำงานและฝึกฝนกับเฉินหลงมาเป็นปีๆ เขาก็เลยนำความดุดันและความคิดสร้างสรรค์มาสู่การจัดฉากนั้นๆ ได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ผมอยากให้สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นที่ผับในท้องถิ่นของคุณ เป็นการทะเลาะกันในผับน่ะครับ”

ถึงกระนั้น มาร์ติน ฟรีแมน ผู้รับบทโอลิเวอร์ ก็กล่าวว่า “ทีมสตันท์ใน The World’s End ดูเหมือนจะมาจากอีกโลกหนึ่งเลยครับ แน่นอนว่าพวกเขาเป็นแบบนั้นเพราะนี่เป็นหนังจากเอ็ดการ์และไซมอนนี่ครับ…”

“ผมอาสาที่จะแสดงสตันท์เองบ้าง และผมก็สามารถวาดลวดลายในการต่อสู้ที่ถูกออกแบบมาได้ แต่การถูกเหวี่ยงลงบนโต๊ะงั้นรึ? ผมขอส่งต่อหน้าที่นี้ให้สตันท์ดับเบิลของผมดีกว่า”

ไรท์ตั้งข้อสังเกตว่า “ระหว่างหนังเรื่องนี้ นักแสดงหลายคนของเราไม่ใช่สตันท์ดับเบิล คุณจะได้เห็นใบหน้าของพวกเขาอย่างชัดเจนในหลายๆ ฉากครับ”

ฟรอสท์ตั้งข้อสังเกตว่า “พอผมเลิกคิดมากเรื่องที่ว่ายิ่งคุณต่อยพวกเขาแรงมากเท่าไหร่ ทีมที่วิเศษสุดของแบรดดูเหมือนจะสนุกมากขึ้นเท่านั้น ผมชอบการแสดงฉากต่อสู้นะ ฉากโปรดของผมคือฉากที่บีไฮฟ์ ที่ซึ่งผมใช้ม้านั่งสูงเป็นอาวุธ ผมกับไซมอนอยากให้พวกสตันท์ทึ่งกับเราครับ”

“พวกเขาน่าประทับใจมาก” ไพค์กล่าวชื่นชม “นิคมีฝีเท้าที่ไวมาก และไซมอนก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ทางใบหน้าได้อย่างดีเยี่ยม”

สิ่งที่จำเป็นต่อฉากแอ็กชันทำให้เพ็กก์ต้อง “เริ่มฝึกล่วงหน้าอย่างน้อยก็เจ็ดเดือน ในตอนที่ผมยังถ่ายทำ Star Trek Into Darkness อยู่ ผมอยากให้แกรี่เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ควรจะมีชีวิตรอดแต่เขากลับดูเพรียวบางและฟิตมาก เหมือนร็อคสตาร์บางคนที่เราทุกคนรู้จัก คุณจะคิดว่า ‘ระบบการเผาผลาญของผู้ชายคนนี้ทำจากอะไรกันแน่’ น่ะครับ”

ไรท์กล่าวเสริม “แกรี่เป็นคนมุทะลุครับ แต่เขาเป็นคนเดียวที่มีแผนการ คนอื่นๆ ไม่มีแผนอะไรเลย พวกเขาก็เลยต้องคอยตามอย่างเดียว แกรี่แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญอย่างคาดไม่ถึงในตอนที่เรื่องพิลึกๆ เกิดขึ้น และเขาก็เดินหน้าพุ่งชนอุปสรรคชิ้นโตที่ขวางหน้าเขา เขาเป็นคนดื้อรั้น และคนอื่นๆ ก็ถูกกวาดต้อนตามเขามาด้วยน่ะครับ”

ในตอนเขียนบท The World’s End ด้วยกัน ทั้งคู่มักคำนึงถึงการดึงให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมเสมอ เพ็กก์ให้ความเห็นว่า “ผมกับเอ็ดการ์ชื่นชอบการบอกใบ้ให้ผู้ชมรู้ว่าพล็อตอาจจะเดินหน้าไปทางไหน รวมถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ให้พวกเขาสังเกตเห็นน่ะครับ เราได้ใส่เอาเงื่อนงำต่างๆ เข้าไป และเราก็จะจัดฉากสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลในช่วงหลังๆ ของเรื่อง มันทำให้หนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกสนุกสนานและมีการสื่อสารระหว่างกัน เราเคารพในตัวผู้ชมและสติปัญญาของพวกเขาครับ”

เฟลเนอร์ยืนยันว่า The World’s End มี “บทที่สนุกและกระชับมากๆ และผมคงต้องบอกว่า มันซับซ้อนกว่าบทเรื่องแรกๆ ของพวกเขาเสียอีก”

“ผู้ชมจะสนุกสนานกับหนังเรื่องนี้ได้แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยดูหนังเรื่องก่อนๆ ของพวกเขา หรือเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจของหนังแนวนี้ แต่คนที่เก็ทมุขพวกนั้นก็จะรู้สึกสนุกสนาน ซึ่งผมรู้ว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ชมภักดีต่อทีมนี้น่ะครับ”

แฟนผลงานของทีมชุดนี้คงจะจัดให้ภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้เป็นภาคที่สามของสิ่งที่เพ็กก์เรียกว่าเป็น “ไตรภาค Blood and Ice Cream” และที่ไรท์พูดถึงว่าเป็นไตรภาค “Three Flavours: Cornetto” เอ็ดการ์ที่เป็นคนชื่นชอบหนัง อยากเรียกมันแบบนั้น” เพ็กก์กล่าว “เพื่อแสดงความเคารพต่อคริสตอฟ คีสโลว์สกี้และไตรภาค ‘Three Colors’ ของเขาน่ะครับ”

“เอ็ดการ์ได้ใส่คอร์เน็ตโต้ [แบรนด์ไอศกรีมยอดนิยมของอังกฤษ] เข้าไปใน Shaun of the Dead และเราก็อ้างถึงมันอย่างโจ่งแจ้งมากขึ้นใน Hot Fuzz”

ไรท์สารภาพว่า “การปรากฏของไอศกรีมคอร์เน็ตโต้ใน Shaun of the Dead เกิดขึ้นเพราะมันเป็นยารักษาอาการเมาค้างสำหรับผมและเพราะมันดูเหมือนเป็นสิ่งตลกที่ตัวละครของนิค ฟรอสท์จะอยากกินในเช้าวันอาทิตย์น่ะครับ”

“มันโผล่มาอีกครั้งเพราะเราได้คอร์เน็ตโต้ฟรีในงานรอบปฐมทัศน์ของเรื่อง Shaun of the Dead เราก็เลยคิดว่าถ้าเราใส่คอร์เน็ตโต้เข้าไปใน Hot Fuzz เราก็น่าจะได้คอร์เน็ตโต้ในงานรอบปฐมทัศน์หนังเรื่องนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้ เรากลับไม่ได้มันมา ผมรู้สึกผิดหวังกับการไม่ได้ไอศกรีมฟรี แต่ถึงตอนนั้น มันก็สายไปแล้ว”

เพ็กก์กล่าวต่อว่า “จู่ๆ เราก็มีสิ่งที่เชื่อมโยงกันในหนังทั้งสองเรื่อง เราก็เลยรู้สึกว่ามันควรจะมีการพูดถึงไอศกรีมคอร์เน็ตโต้ใน The World’s End ด้วย ถึงแม้เราจะพูดถึงมันเพียงน้อยนิด แต่เราก็หวังว่าแฟนๆ จะชื่นชมเรื่องนี้นะครับ”

นิค ฟรอสท์เล่าว่า “ไซมอน, เอ็ดการ์, นีราและผมคำนึงถึงแฟนๆ เสมอ พวกเขามีความคิดอ่านเรื่องคอเมดี มีความรักในหนังแนวนี้และการต่อสู้ของลูกผู้ชายเหมือนๆ กับพวกเรา เพราะเมื่อคุณเข้าไปในผับเหมือนที่เราทำในหนังสามเรื่องนี้ คุณก็จะต้องประเมินภัยคุกคามของความรุนแรงใหม่อยู่เสมอครับ”

“แล้วทางออกอยู่ไหนล่ะ? ถ้าไฟไหม้ล่ะ? มีทางเลือกอะไรให้เราบ้างล่ะ?”

นอกเหนือจากคำถามสำคัญเหล่านั้นแล้ว ผู้ชมที่เป็นสาวกโปรเจ็กต์ของทีมงานชุดนี้จะชื่นชมเป็นพิเศษที่ภาพยนตร์เรืองใหม่นี้ทำให้ฟรอสท์ “พบความท้าทายของการรับบทตัวละครที่ซับซ้อนกว่า” ในขณะที่เพ็กก์รับบทแอนดี้ “เราได้เขียนบทการโต้คารมที่แตกต่างออกไประหว่างผมกับนิคในหนังเรื่องนี้ แอนดี้ไม่ใช่คนติดสอยห้อยตามที่จงรักภักดีซักเท่าไหร่ และจริงๆ แล้ว เขาเป็นคนที่วิจารณ์แกรี่หนักที่สุดด้วยความชิงชังด้วย แอนดี้ไปจากนิวตัน ฮาเวนเพราะมันเป็นตัวแทนของความผิดหวังและอดีตน่ะครับ”

ไรท์กล่าวว่า “นิคเล่นบทที่ค้านกับตัวเองในหนังเรื่องนี้ ซึ่งออกมาได้เยี่ยมมาก เขาดุดันเป็นพิเศษในฐานะเพื่อนผู้จริงจังของไซมอนใน The World’s End เราชื่นชอบการสลับพวกเขาให้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องก่อนๆ ของเราครับ”

ฟรอสท์เผยว่า “ผมได้ดูดราฟท์แรกตอนที่ทุกคนได้ดูมัน และผมก็กระโจนเข้าไปพร้อมด้วยความคิดเห็นเล็กๆ จากจุดนั้น ผมเพิ่มฟรอสท์ติ้งนิดๆ หน่อยๆ เข้าไปในตัวละครของผมน่ะครับ”

“แอนดี้เป็นแฟมิลีแมน ที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว เขาเป็นหุ้นส่วนบริษัทกฎหมายที่ประสบความสำเร็จ เขาไม่แฮปปี้เลยที่แกรี่วาดฝันว่าจะสานต่อเรื่องราวครั้งก่อนเก่า แต่การผิดหวังกับแกรี่เมื่อหลายปีก่อนเป็นสิ่งที่หล่อหลอมชีวิตผู้ใหญ่ของแอนดี้ และตอนนี้ เขาก็จะต้องกลับไปนิวตัน ฮาเวน เพื่อแก้ไขมันครับ”

เฟลเนอร์รำพึงว่า “ครั้งนี้ ตัวละครอยู่กันคนละทิศละทาง แทนที่จะอยู่รวมกัน เสน่ห์ของนิคและไซมอนในฐานะคู่หูบนหน้าจอคือคุณอยากจะคลุกคลีอยู่กับพวกเขา คุณอยากจะเข้าผับกับพวกเขา บางคนอาจจะอยากนอนกับพวกเขาด้วยซ้ำไป แม้ว่านั่นจะไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากจะทำก็ตามแต่พวกเขาก็มีเสน่ห์มากครับ”

“เมื่ออยู่นอกจอ การอยู่ใกล้พวกเขาเป็นเรื่องน่ายินดีมากและพวกเขาก็เป็นมืออาชีพอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งสำหรับคนเป็นผู้อำนวยการสร้างแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง”

ปาร์คเล่าว่า “มันมีความรู้สึกแบบพี่น้องเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน Spaced [ซีรีส์ก่อนหน้าภาพยนตร์ทั้งสามเรื่อง] ซะอีกค่ะ ไซมอนกับนิคดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวกันและกันออกมา ฉันจำได้ว่าตอนที่เราอ่านบท         Shaun of the Dead ฉันเห็นทิมและอีริคมองกันทำนองว่า ‘ช่าย มันจะต้องเวิร์คแน่ๆ’ น่ะค่ะ”

ไรท์ตั้งข้อสังเกตว่า “ใน Spaced ไซมอนกับนิคมาหาผมโดยที่พวกเขาสนิทกันอยู่แล้ว พวกเขาสามารถต่อประโยคกันจนจบได้ พวกเขามีสัญชาตญาณตามธรรมชาติอยู่แล้วครับ”

“ในชีวิตของเรา” ฟรอสท์ให้ความเห็น “มิตรภาพระหว่างผมกับไซมอนอาจจะแข็งแกร่งที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างเราพัฒนาขึ้น แต่ของตัวละครใน The World’s End ไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ”

บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในบทเพื่อนของเพ็กก์และฟรอสท์ทำให้กระบวนการของมือเขียนบทและผู้กำกับมีสีสันมากขึ้นไปอีก ฟรอสท์กล่าวว่า “ผมต้องพัฒนาตัวเองครับ ผมไม่อยากจะถูกบดบังจากนักแสดงคนอื่นหรอก”

ปาร์คกล่าวเสริมว่า “สำหรับนักแสดงคนอื่นๆ ไซมอนและเอ็ดการ์รู้ว่าพวกเขาต้องการใคร พวกเขาเขียนตัวละครพวกนั้นขึ้นมาตามเสียงของนักแสดงเหล่านั้นค่ะ”

เพ็กก์กล่าวยืนยันว่า “เรามีนักแสดงเหล่านี้อยู่ในใจ จนถึงขั้นที่ว่าเรามักจะเขียน ‘เอ็ดดี้ มาร์สัน’ แทนที่จะเป็น ‘พีท’ เราอยากได้นักแสดงพวกนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นน่ะครับ”

“และสิ่งที่เราได้ก็คือชายวัย 40 ปีที่ทำตัวเป็นเด็กได้อย่างเหลือเชื่อด้วยครับ”

มาร์สันกล่าวชื่นชมว่า “มาร์ติน ฟรีแมนเป็นคนรอบรู้มากๆ ครับโดยเฉพาะเรื่องดนตรี เขาก็เลยมักจะตั้งคำถามให้พวกเราแข่งกันตอบ”

“เราคุยเล่นกัน เราได้รับค่าจ้างให้ไปทำงานในผับ ส่วนนิค ฟรอสท์ก็เป็นตัวโจ๊กประจำกลุ่มครับ”

ไรท์เล่าว่า “บางครั้ง พวกเขาก็ทำตัวปัญญาอ่อนมากๆ จนจะต้องมีการจัดระเบียบอยู่เรื่อยๆ ครับ!”

แม้ว่าชีวิตจะไม่เลียนแบบศิลปะซะทีเดียว ความสมัครสมานสามัคคีในกองถ่ายก็เป็นส่วนต่อขยายตามธรรมชาติของปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามบท แพ็ดดี้ คอนซิไดน์ ผู้รับบท สตีเวน เล่าว่า “ตัวละครพวกนี้เป็นคนที่ไม่ได้โตขึ้นมากเท่าที่พวกเขาคิด ผู้ชมคนไหนๆ ก็ตามก็จะสามารถเข้าถึงความรู้สึกนั้นได้ สิ่งที่ตลกและน่าเชื่อก็คือความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเข้ามามีบทบาทและพวกเขาก็กลับไปใช้สัญชาตญาณแบบวัยรุ่นอีกครั้งครับ”

“สตีเวน ตัวละครของผม ต้องการจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่ไม่เคยทำได้เพราะแกรี่ ‘ร็อคสตาร์ฝึกหัด’ มักจะอยู่เหนือเขาเสมอ แม้ว่าสตีเวนจะพยายามทิ้งระยะห่างระหว่างตัวเขาตอนนี้กับตัวเขาเมื่อ 18 ปีก่อน ความรู้สึกเก่าๆ ก็กลับคืนมา และความขุ่นข้องหมองใจของเขาก็ปรากฏขึ้นด้วยครับ”

ไรท์กล่าวชื่นชมคอนซิไดน์ว่าสามารถ “รับบทลูกสุนัขที่อ่อนไหว แต่ก็ปล่อยหมัดได้ แพ็ดดี้ยอดเยี่ยมมากๆ ในฉากแอ็กชันครับ”

คอนซิไดน์และฟรีแมนเคยร่วมงานกับทีมงานกลุ่มนี้มาก่อน ในขณะที่มาร์สันเป็นที่จับตามองของทุกคนเพราะผลงานของเขาในภาพยนตร์หลากหลาย เพ็กก์เล่าว่า “หลังจากได้เห็นฝีมือดรามาของเขา เราก็คิดว่าเอ็ดดี้น่าจะสามารถแสดงคอเมดีแบบนี้ได้ เขาได้นำความอ่อนหวานที่พิเศษสุดมาสู่ตัวปีเตอร์ครับ”

ไรท์กล่าวเสริมว่า “ผมเคยพบกับเอ็ดดี้หลายครั้ง ผมก็เลยรู้ว่าเขาสามารถแสดงตลกได้ ระหว่างที่ผมเขียนบทนั้นสำหรับเขา ผมก็นึกถึงตัวละครของเขาใน Vera Drake ที่เขารับบทชายคนดีผู้ซื่อสัตย์ด้วยครับ”

มาร์สันมองว่า The World’s End เป็น “หนังเกี่ยวกับวิกฤติการณ์วัยกลางคน ที่พยายามจะค้นหาตัวเองอีกครั้ง คนพวกนี้กำลังเผชิญกับภาวะนั้น เหมือนอย่างเราทุกคน และการที่พวกเขาเจอกับสถานการณ์สุดโต่งที่ไม่ธรรมดาคือที่มาของคอเมดีครับ ปีเตอร์เป็นเหมือนไม้ประดับของกลุ่ม ตลอดทั้งเรื่อง ปีเตอร์จะต้องหาความกล้าหาญและความมั่นใจของตัวเอง เพราะเขายังคงรู้สึกไม่มั่นใจเหมือนสมัยเป็นวัยรุ่นไม่เปลี่ยนครับ”

“นักแสดงต้องอาศัยศิลปะและความคล่องแคล่วในตอนที่คุณทำอะไรที่เฉียบคมและตลกขบขันแบบนี้ และยังต้องอาศัยการออกแบบการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กับจังหวะเวลาด้วย ผมอยากจะร่วมงานกับคนที่ชำนาญในทักษะเหล่านั้นและเรียนรู้จากพวกเขา นิคและไซมอนกับเอ็ดการ์ทำงานร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยมครับ”

เขากล่าวเสริมว่า “ถ้าเราอายุน้อยกว่านี้ มันคงจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนักแสดงเพราะพวกเราทุกคนต่างก็อยากจะเป็นดาราดัง แต่ตอนนี้ เราแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และเราก็หาเลี้ยงชีพตัวเองได้แล้ว เราก็เลยสามารถสนับสนุนกันและกันได้ เรามีความสุขกับการได้อยู่ด้วยกันและรู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เราทำครับ”

คอนซิไดน์ ผู้กำกับมาร์สันจนโด่งดังใน Tyrannosaur สารภาพว่า “ผมหมดรักการแสดงไปซักพัก แต่การทำงานใน The Word’s End ทำให้ไฟในตัวผมกลับมาลุกโชนอีกครั้ง เอ็ดการ์เป็นผู้กำกับที่มั่นใจมากๆ และเมื่อคุณทำงานกับคนที่เอื้อเฟื้อ คุณก็จะได้เรียนรู้เรื่อยๆ มันมีพลังงานที่แตกต่างกันมากมายรอบตัวผมในหนังเรื่องนี้ เหมือนไซมอนถูกปลดปล่อยจากพันธนาการเลยครับ”

“แกรี่เป็นตัวละครที่ยอดเยี่ยมสำหรับไซมอน เขาเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและการปฏิเสธตัวเองครับ” ฟรีแมนกล่าว “ตอนที่เขาและเอ็ดการ์บอกผมว่ามีใครอีกที่อยู่ในลิสต์คนที่พวกเขาต้องการให้มารับบทเพื่อนๆ ผมก็อยากจะร่วมงานกับพวกเขาอีกครั้งเพื่อรับบทโอลิเวอร์ครับ”

ไรท์เล่าว่า “บทนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อมาร์ติน แต่มันก็เป็นบทที่เกิดจากการรวมเพื่อนหลายๆ คนของผมเข้าด้วยกัน และพวกเขาก็ยังเป็นเพื่อนผมอยู่นะครับ”

ฟรีแมนเล่าว่า “ผมชื่นชอบสิ่งที่บทหนังเรื่องนี้พูดถึงมิตรภาพ การสูญเสียมันและพยายามกอบกู้มันกลับคืนมาน่ะครับ”

“ในบรรดาเพื่อนๆ ทั้งห้าคน โอลิเวอร์เป็นคนที่ปล่อยวางมากที่สุด เขาเป็นแบบนั้นเสมอ และเขาก็เป็นคนที่เสแสร้งและมีความทะเยอทะยานถึงวอลล์สตรีทตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เขามีมือถือก่อนคนอื่นๆ และตอนนี้ เขาก็สวมหูฟังบลูทูธตลอดเวลา มันไม่ใช่ผมเลย ผมก็เลยต้องอาศัยการแสดงเข้าช่วยครับ”

โรซามุนด์ ไพค์ ตั้งข้อสังเกตว่า การแสดงเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ซะด้วยสำหรับฉากการดื่มไม่ยั้ง เธอเล่าว่า “สิ่งที่หนุ่มๆ ของเราดื่มตลอดทั้งเรื่องไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ แต่มันเป็นเครื่องดื่มผสมที่น่าสนใจ ซึ่งฉันคิดว่าน่าจะมีเบสเป็นครีมโซดา และผสมน้ำมะนาวลงไปหน่อยน่ะค่ะ”

เวิร์คกิ้ง ไตเติลได้เชื้อเชิญไพค์ให้เข้ามาร่วมทดลองอ่านบทเรื่องนี้และแสดงบทแซม น้องสาวของโอลิเวอร์ ผู้ซึ่งตัวตนของเธอในสมัยเรียนก็เพียงพอแล้วที่จะรักษาตำแหน่งของโอลิเวอร์ในกลุ่มนี้เอาไว้ได้ ในทางกลับกัน การแสดงของไพค์ตอนอ่านบทก็เพียงพอที่จะทำให้เธอมีตำแหน่งในทีมนักแสดงด้วยเช่นกัน เพ็กก์เล่าว่า “หลังจากนั้น มันก็เหมือนว่า ‘เรารู้นะว่าเธอเก่ง แต่เธอเก่งจริงๆ’ เธอไปมีลูกเพราะเราไม่เริ่มต้นถ่ายทำกันจริงๆ จังๆ จนกระทั่งแปดเดือนให้หลัง ซึ่งถึงตอนนั้น เธอก็ทำให้เราทุกคนประหลาดใจด้วยฝีมือการต่อสู้ของเธอครับ”

ไพค์ตั้งข้อสังเกตว่า “ฉันรู้ว่าฉันจะต้องพร้อมสำหรับการกระชากหน้า ดึงทึ้งผม และการฉุดกระชาก การต่อสู้และสตันท์ของเรื่องนี้จะต้องก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเจ๋งมาก มันสนุกกว่าตอนที่ฉันได้ฟันดาบในหนังเรื่องอื่นๆ เสียอีก เพราะส่วนผสมพวกนี้มันทั้งรุนแรงและสนุกมากๆ ค่ะ”

“ด้วยความที่ฉันเคยดูหนังเรื่องอื่นๆ ของพวกเขา ฉันก็เลยมองเห็นได้ว่าเอ็ดการ์จะทำอะไรฐานะผู้กำกับ พร้อมด้วยคู่หูที่เพอร์เฟ็กต์อย่าง [ผู้กำกับภาพ] บิล โป๊ป และบทหนังเรื่องใหม่นี้ที่ทำให้ฉันหัวเราะตั้งแต่หน้าแรก เราต่างก็จินตนาการได้ถึงการกลับมาเจอกับเพื่อนที่เราไม่ได้เจอตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งรวมถึงคนที่ไม่ได้ไปไหนด้วย ถ้าคุณนึกถึงคนๆ นั้นไม่ได้ มันอาจเป็นคุณก็ได้ บางที นั่นอาจเป็นสิ่งที่คนพูดถึงฉัน…”

ไรท์เผยว่า “รอสถามผมว่า ‘ตัวละครของฉันมีที่มาจากไหน’ แล้วผมก็เล่าให้รอสฟังว่าจริงๆ แล้ว แซมมีที่มาจากแฟนเก่าผม รอสถามว่าเรายังติดต่อกันอยู่ไหม แม้ว่าเราจะเคยเดทกันเมื่อ 21 ปีที่แล้ว เธอก็ยังเป็นเพื่อนผมอยู่ ดังนั้น รอสก็เลยไปพบกับเธอเพื่อรับประทานอาหารร่วมกับเธอในบ้านเกิดของเธอ และดูเหมือนว่าพวกเธอจะสนุกกันมาก ผมไม่รู้ว่าพวกเธอคุยเรื่องอะไรกันและผมก็ไม่แน่ใจว่าผมจะอยากรู้ด้วย แต่รอสกลับมาบอกผมว่า ‘ฉันเข้าใจแล้วค่ะ’ ตัวละครของรอสออกมาได้ดีเยี่ยมมาก ผมก็หวังว่าแฟนเก่าผมจะแฮปปี้นะครับ”

“รอสเป็นนักแสดงแบบ ‘เมธ็อด’ สุดๆ เธอดื่มเบียร์ประกอบฉากหมดไพน์เลย เธอทุ่มเทให้กับฉากแอ็กชันสุดตัว และตั้งคำถามว่า ‘ทำไมฉันถึงแสดงช็อตนั้นไม่ได้’ แทนที่จะให้สตันท์วูแมนเข้ามาน่ะครับ”

ไพค์ตั้งข้อสังเกตว่า “ฉันไม่เคยแสดงหนังกับคนในกลุ่มนี้มาก่อน แต่ทุกคนเคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว พวกเขาไม่ได้หายตัวเข้าไปในเทรลเลอร์หรือห้องแต่งตัวน่ะค่ะ”

ฟรอสท์เล่าว่า “เรามักจะนั่งมองผิวสีขาวอมชมพูของโรซามุนด์ ที่ไร้ตำหนิ แล้วเราก็จะร้องเพลงให้เธอฟัง”

เพ็กก์กล่าวเสริมว่า “เธอเดินเข้ามาในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นผู้ชายสูงมาก แต่กลับรู้สึกไม่เคอะเขินอะไร สำหรับนักแสดงที่เอ็ดการ์ไม่เคยรู้จักมาก่อนจากหนังเรื่องก่อนๆ เขาก็จะใช้เวลามากขึ้นในการทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจขึ้นน่ะครับ”

เพ็กก์กล่าวว่า ความรู้สึกในกองถ่ายของเอ็ดการ์ ไรท์ “คือคุณกำลังทำงานกับเพอร์เฟ็กชันนิสต์ ผมชื่นชมพรสวรรค์ของเอ็ดการ์และความรอบรู้เรื่องหนังของเขามาตลอด เขาเติบโตขึ้นในฐานะผู้กำกับและมีความรู้เชิงเทคนิคมหาศาลเลยครับ”

อีริค เฟลเนอร์ให้ความเห็นว่า “นี่คือผู้กำกับที่รู้ว่าเขาต้องการอะไร มุมไหนและช็อตไหนน่ะครับ”

นีรา ปาร์คกล่าวยืนยันว่า “ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่องแรกที่ฉันได้ร่วมงานกับเอ็ดการ์ เราเข้ากันได้ทันทีเพราะเราต่างก็มีอารมณ์ขันที่คล้ายกันมากๆ และเพราะพวกเราไม่มีใครอยากประนีประนอมเว้นแต่เราต้องทำจริงๆ ในวันที่สี่ มันดึกมากแล้ว และฉันก็บอกเขาแบบนั้น แต่เขาก็บอกว่า ‘ผมจะต้องถ่ายช็อตนี้ให้ได้’ ซึ่งเขาก็ทำได้และเขาก็พูดถูก เพราะมันทำให้ฉากนั้นดีขึ้นมากจริงๆ เขารู้ดีว่าเขาต้องการอะไรเพื่อให้ฉากนั้นๆ เวิร์คน่ะค่ะ”

ผู้กำกับรู้ดีว่าเขาต้องการร่วมงานกับผู้กำกับภาพบิล โป๊ปอีกครั้งหลังจากการได้ร่วมงานกันมาแล้วใน Scott Pilgrim vs. the World ไรท์กล่าวว่า “คุณจะไม่เจอคนที่เก่งในเรื่องการถ่ายทำแอ็กชัน การแสดงและเข้ากับนักแสดงได้มากนักหรอกครับ บิลมีประสบการณ์กว้างขวาง ไม่มีช็อตไหนที่เขาไม่เคยถ่ายทำ แต่เขาไม่เคยมีทัศนคติที่ว่า ‘เคยทำมาแล้ว’ เขาจะตื่นเต้นกับทุกๆ ฉากและมีไอเดียมากมาย เราได้พัฒนาการสื่อสารทางลัดระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและเขาก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีของผมครับ”

“ผมรู้ว่าเขาจะเพิ่มความรู้สึกแบบหนังเข้าไปในโลเกชันต่างๆ ของอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่เขาเป็นผู้กำกับภาพชาวอเมริกันที่ถ่ายทำผับอังกฤษน่ะครับ”

เมื่อรู้ว่าเขาจะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้กับโป๊ป ไรท์ก็ “สู้เพื่อให้ได้ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ด้วยฟิล์ม ผมไม่ได้ดูถูกการถ่ายทำแบบดิจิตอลนะครับ แต่เราถ่ายทำ Shaun of the Dead และ Hot Fuzz ด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. และผมก็อยากให้ The World’s End เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ส่วนโปรล็อก ที่เป็นปี 1990 จะถูกถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม.ครับ”

ในฐานะผู้กำกับ คอนซิไดน์ตั้งข้อสังเกตว่า “สิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับเอ็ดการ์คือเขาคิดถึงหนังเรื่องนี้อย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว เขามีทักษะเชิงเทคนิคเช่นกับการตั้งกล้อง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเขาชื่นชอบการแสดงและอยากให้นักแสดงทำให้เขาหัวเราะน่ะครับ”

เมื่อบทเขียนเสร็จเรียบร้อยก่อนหน้าการถ่ายทำ ไรท์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า กฎของเขาระหว่างช่วงการซ้อมและพรีโปรดักชันคือ “ซ้อมให้มันเหมือนละครเวทีนิดๆ เราไม่ค่อยได้อิมโพรไวส์กันในกองถ่ายหรอกครับ”

ผู้กำกับสนับสนุนให้ทีมนักแสดงหลักใช้เวลากับนักแสดงรุ่นเยาว์ที่รับบทตัวละครของพวกเขาในวัยรุ่น แคล แม็คคริสตัล โค้ชสอนการเคลื่อนไหวได้ร่วมงานกับนักแสดงทั้ง 10 คน และให้พวกเขาออกกำลังกายเลียนแบบท่าทางและจัดการให้พวกเขามีลักษณะการเคลื่อนไหวบางอย่างที่จะเชื่อมช่วงเวลาทั้งสองเข้าด้วยกัน ไรท์กล่าวว่า “เราได้จัดการออกกำลังกาย ‘เลียนแบบ’ ที่เราจะให้นักแสดงรุ่นเยาว์เลียนแบบนักแสดงที่อายุมกกว่า มันสนุกดีที่ได้เห็นพวกเขาเลียนแบบกันน่ะครับ”

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบท่าเคลื่อนไหวด้วยเช่นกันคือลิทซา บิกซ์เลอร์ ผู้ออกแบบท่าเคลื่อนไหว ผู้ซึ่งร่วมกับทีมของเธอ ดูแลตัวประกอบท้องถิ่นและตัวประกอบจากเอเจนซี แดนเซอร์ และนักแสดงสตันท์ บิกซ์เลอร์เคยทำหน้าที่คล้ายๆ กันนี้ใน Shaun of the Dead มาก่อนและไรท์ก็อยากให้การเคลื่อนไหวบนหน้าจอของเขาตรงกับในภาพที่เขาวาดเอาไว้

นักแสดงบางคนจะสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม แต่หลายคนจะปรากฏตัวใน The World’s End ด้วยความภาคภูมิใจหลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยแสดงใน Shaun of the Dead และ/หรือ Hot Fuzz มาก่อน ในจำนวนนี้ คนที่แสดงภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องติดต่อกันกับทีมงานคือเรฟ สปอล ผู้ทำตัวให้ว่างสำหรับการทำงานในหนึ่งวัน, การ์ธ เจนนิงส์ เพื่อนผู้กำกับของไรท์และนักแสดงคนดังที่เราจะได้ยินเสียงและไม่เห็นตัวด้วย ปาร์คเล่าว่า “นักแสดงสมทบชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราค่ะ”

ยิ่งกว่านักแสดง ทีมงานเองก็ประกอบไปด้วยทีมงานจากภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ที่มารวมตัวกัน ผู้ออกแบบงานสร้างมาร์คัส โรว์แลนด์ ผู้ได้ทำงานในภาพยนตร์ทุกเรื่องของไรท์ ได้ถูกนำตัวมาตั้งแต่เริ่มแรก เขาตระหนักดีตั้งแต่ขั้นตอนเขียนบทแล้วว่า “ในการประหยัดงบ เราจะต้องสร้างฉากผับที่จำเป็นที่สุดขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งมันจะเป็นฉากที่มีคุณค่าในการถ่ายทำสูงสุด ที่เราจะสามารถทำในสิ่งทีเราไม่สามารถทำในโลเกชันจริงได้ เช่นการย้ายผนังสำหรับตั้งกล้อง การตั้งของเอาไว้ทำพัง การส่งรถพุ่งชนเข้าไป…ตามโลเกชันจริง พวกเขามักจะแบนเรื่องพวกนี้ครับ!”

“สำหรับฉากผับที่เน้นไดอะล็อคมากกว่าหรือบางผับที่ตัวละครเข้าไปอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ เราก็ไม่ได้สร้างผับขึ้นมาแต่จะไปผับจริงๆ มีตอนหนึ่งในบทที่พวกผับจะประดับตกแต่งแบบคล้ยๆ กัน และเสน่ห์และเอกลักษณ์เก่าของพวกมันค่อยๆ เลือนหายไป เราก็เลยใช้การประดับตกแต่งแบบเดียวกันในแต่ละครั้งครับ”

ไรท์เล่าว่า “สิ่งที่เราได้เห็นว่าเกิดขึ้นกับผับในอังกฤษคือสถานที่เหล่านี้จากช่วงปลายศตวรรษกำลังถูกปรับเปลี่ยนด้วยป้ายเจ็บๆ และเมนูแฟนซีทั้งหลาย หลายครั้ง องค์ประกอบพวกนี้มันเหมือนกันในทุกผับ นี่จะเป็นการทำให้วัฒนธรรมเหมือนกันอย่างนั้นหรือครับ? หรือคนกำลังอาลัยอาวรณ์การสูญเสียของสิ่งที่ไม่ได้ยอดเยี่ยมขนาดนั้น? ผมกับไซมอนอยากจะคุยกันถึงความเห็นทั้งสองแง่มุมผ่านทางความรู้สึกอบอุ่นของแกรี่ที่มีต่อบ้านเกิดเขาและความทรงจำที่ไม่ค่อยโรแมนติกนักของคนอื่นๆ น่ะครับ”

ภาพกราฟิกส์ ป้าย และโลโก้ทั้งในและรอบๆ นิวตัน ฮาเวน ได้รับการออกแบบและระบายสีอย่างรอบคอบเนื่องด้วยมีการระบุถึงสิ่งเหล่านี้ในบทด้วย “คุณจะได้เห็นภาพบางอย่างบนหลอดเบียร์และที่รองเบียร์ครับ” โรว์แลนด์บอก

สำหรับสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ภายใต้เฟรเซอร์ เชอร์ชิล ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ ไรท์ได้ยึดติดกับคติที่ว่า “เอฟเฟ็กต์ที่ดีที่สุดคือการผสมผสานระหว่างฟิสิคัลกับดิจิตัล แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน The World’s End จะกลายเป็นเรื่องสุดเพี้ยนและเกินจริง แต่เฟรเซอร์และทีมงานของเราก็ยังสร้างเอฟเฟ็กต์จากพื้นฐานความเป็นจริง สิ่งต่างๆ จะถูกสร้างขึ้นในกองถ่าย แล้วเราก็ค่อยเสริมดิจิตอลเข้าไป ในการทำแบบนี้ นักแสดงจะสามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับบางสิ่งได้ แม้ว่าพวกเขาจะต้องไม่มองไป ‘ที่นั่น’ หรือไม่แตะ ‘ตรงนี้’ ก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ดิจิตอล เอฟเฟ็กต์พัฒนาถึงขนาดที่คนไม่มีความอดทนที่จะสร้างเอฟเฟ็กต์จริงๆ ขึ้นอีกต่อไปแล้ว เราสามารถใช้จินตนาการของเราได้จริงๆ แต่ก็ต้องวางแผนทุกอย่างให้เรียบร้อยครับ”

“ผู้ร้ายของหนังเรื่องนี้เป็นการรวมตัวกันของแอ็กชันฟิกเกอร์พังๆ ที่ผมเคยเล่นสมัยเด็ก รวมถึงภาพโปสเตอร์ของหนังไซไฟอย่าง The Thing [ปี 1982] ของจอห์น คาร์เพนเตอร์และ The Stepford Wives เวอร์ชันดั้งเดิม [ปี 1975 ที่กำกับโดยไบรอัน ฟอร์บส์] ผมได้สร้างฟิล์มที่รวมอิทธิพลต่างๆ เหล่านี้สำหรับทีมงาน ซึ่งรวมถึงงานโครงกระดูกของเรย์ แฮร์รีเฮาเซนใน Jason and the Argonauts ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอย่างแท้จริงครับ”

ในกองถ่าย ไรท์มักจะปรึกษากับหัวหน้าแผนกทุกคน ซึ่งรวมถึงมือลำดับภาพ พอล มาชลิสด้วย โดยพอล มาชลิสใช้เวลาส่วนใหญ่ในกองถ่ายหมดไปกับตอนที่มีการถ่ายทำซีเควนซ์ต่อสู้ ไรท์ตั้งข้อสังเกตว่า “การลำดับภาพในกองถ่ายเป็นสิ่งสำคัญเป็นพิเศษสำหรับฉากใหญ่ๆ ในตอนที่คุณไม่สามารถถ่ายทำตามบทได้หลายหน้าในวันนั้นน่ะครับ”

นอกจากนี้ การลำดับภาพยังจะต้องสอดประสานไปกับการทำงานของนิค แองเจิล ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายดนตรี ซึ่งเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งที่ร่วมงานกับทีมงานมานาน ชื่อของเขาถูกใช้เป็นชื่อตัวละครของเพ็กก์ใน Hot Fuzz ด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ “ซาวน์แทร็คของแกรี่มาจากเพลงป็อประหว่างปี 1989-1993 น่ะครับ” เพ็กก์กล่าว “มันเป็นเทปที่อัดเพลงมารวมกัน และมันก็ผสมเข้ากับดนตรีประกอบของ [คอมโพสเซอร์] สตีเวน ไพรซ์”

ไรท์ขยายความว่า “ไอเดียเบื้องหลังซาวน์แทร็คพีเรียดของหนังเรื่องนี้คือเทปที่แกรี่อัดเพลงรวมกันไม่เคยหายไปไหน มันยังอยู่ในรถของเขา แต่มันก็ครอบคลุมหนังทั้งเรื่องด้วย ตอนที่ผมกับไซมอนกำลังเขียนบทกัน เรามีเพลย์ลิสต์เพลงประมาณ 300 เพลงระหว่างปี 1989-1993 ที่เราเปิดแบบ ‘สุ่ม’ มันจะทำให้เราอยู่ในช่วงเวลาที่ใช่น่ะครับ มันมีเพลงดีเยี่ยมมากมายจากสมัยที่เราเป็นวัยรุ่น และเพลงที่ใช้ในหนังฉบับสมบูรณ์ก็สะท้อนถึงเรื่องนั้น”

ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีดนตรีประกอบ แต่ฉากแอ็กชันก็จะถูกลำดับภาพในกองถ่ายและมาชลิสก็จะรวมฉากต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างรวดเร็ว มันทำให้เอ็ดการ์ ไรท์สามารถควบคุมนักแสดง ขัดเกลาซีเควนซ์แอ็กชันและรักษาตารางเวลาของการถ่ายทำเอาไว้ได้

ไซมอน เพ็กก์กล่าวชื่นชมว่า “พอคุณแสดงหนึ่งเทค คุณเดินออกไปนอกฉาก แล้วคุณก็จะได้เห็นเทคนั้นๆ ถูกลำดับภาพกลายเป็นหนังภายในเวลาไม่กี่วินาที ระหว่างการถ่ายทำกลางคืนของเราเกือบสี่สัปดาห์ มันจะเป็นตัวกระตุ้น ที่ทำให้พวกเรามีพลังงานในการทำงานต่อไปน่ะครับ”

การถ่ายทำกลางคืนในโลเกชันจริงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ในเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์ ด้วยความร่วมมือจากท้องถิ่น ทีมงานจึงได้ถ่ายทำทั้งภายในและภายนอกอาคารต่างๆ ในเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ทำให้มันเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องแรกที่ได้ทำเช่นนี้ ด้วยความซาบซึ้งใจกับชาวเมือง ไซมอน เพ็กก์และนิค ฟรอสท์ก็เลยพักจากการถ่ายทำ เพื่อเป็นประธานในพิธีแสดงแสงสีประจำปีของเลทช์เวิร์ธด้วย เวลวิน การ์เดน ซิตี้ ซึ่งอยู่ภายในเมืองเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์ ก็เป็นสถานที่ถ่ายทำด้วยเช่นเดียวกัน

โลเกชันอื่นๆ รวมถึงกันเนอร์สเบรี ปาร์คในเวสต์ ลอนดอน, อาคารบลู ฟินในเซาธ์อาร์ค, ลอนดอนและสถานีรถไฟไฮ ไวคอมบ์ ที่ปรากฏในฉากที่แกรี่รวมกลุ่มเพื่อนของพวกเขาเพื่อขับรถไปนิวตัน ฮาเวน

ในบรรดาโลเกชันถ่ายทำอื่นๆ ในเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์ ทีมงานได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปกับการถ่ายทำฉากภายในที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษที่เอลส์ทรี สตูดิโอส์ สตูดิโอชื่อดัง ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำของตำนานภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่นไตรภาค Star Wars ชุดแรก เพ็กก์เล่าว่า “ในฐานะคนรักหนัง การได้ยืน และได้ทำงานอยู่ที่นี่ นับว่าเป็นเกียรติอย่างพิเศษสุดครับ ผมรู้สึกโชคดีและประทับใจมากๆ”

นิค ฟรอสท์กล่าวว่า “ในบรรดาหนังทุกเรื่องที่ผมได้ร่วมงานกับไซมอนและเอ็ดการ์ นี่เป็นเรื่องที่ดีที่สุดในแง่ของการได้หัวเราะครับ”

เอ็ดดี้ มาร์สันให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่าเหตุผลที่ผู้ชมจะสนุกสนานกับการได้ดู The World’s End ก็เพราะพวกเขาจะได้เห็นตัวเองในปีเตอร์ หรือแกรี่ หรือแอนดี้ หรือโอลิเวอร์ หรือสตีเวนน่ะครับ ผู้ชมที่อายุน้อยกว่าก็จะเห็นตัวเองในตัวละครเหล่านั้นเช่นกันเพราะตอนนี้ พวกเขาอยู่ในวัยที่ตัวละครพยายามจะรือฟื้นความรู้สึกกลับมาใหม่ครับ”

“แถมตัวละครพวกนี้ก็ได้นักแสดงสุดฮ็อตมาเป็นคนแสดงซะด้วยสิ”

 

เกี่ยวกับผับ

ผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์สารภาพว่า “ผมจำได้ว่าใน Hot Fuzz ตอนถ่ายทำฉากในผับ ผมได้พูดกับ [ผู้อำนวยการสร้าง] นีรา ปาร์คว่า ‘ผมไม่อยากจะถ่ายทำในผับอีกเลย ผมเบื่อมันแล้ว’ น่ะครับ”

“ดังนั้น พวกผับต่างๆ ที่เราไปใน The World’s End น่ะเหรอครับ? ผมทำตัวเองทั้งนั้นแหละ!”

ผับ 12 แห่งใน The World’s End ที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางของห้าหนุ่ม ทั้งตอนเป็นวัยรุ่น และอีกครั้งในปัจจุบัน มีลำดับดังต่อไปนี้: เดอะ เฟิร์สท์ โพสต์, ดิ โอลด์ แฟมิเลียร์, เดอะ เฟมัส ค็อก, เดอะ ครอส แฮนด์, เดอะ กู๊ด คอมพาเนียนส์, เดอะ ทรัสตี้ เซอร์เวินท์, เดอะ ทู เฮดเดด ด็อก, เดอะ เมอร์เมด, เดอะ บีไฮฟ์, เดอะ คิงส์ เฮด, เดอะ โฮล อิน เดอะ อวลล์และสุดท้าย เดอะ เวิลด์ส เอนด์

แผนกศิลป์ของผู้ออกแบบงานสร้าง มาร์คัส โรว์แลนด์ ได้สร้างป้ายที่แลดูโบราณให้กับผับแต่ละแห่ง และป้ายที่แขวนอยู่ก็จะมีการผสมผสานโลโก้และ/หรือภาพที่ออกแบบมาแล้ว

ไซมอน เพ็กก์เล่าว่า “ในตอนเขียนบท ผมกับเอ็ดการ์เลือกชื่อผับอย่างรอบคอบ ชื่อผับแต่ละแห่งจะมีความเชื่อมโยงพิเศษบางอย่างกับการพัฒนาของเหตุการณ์ในเรื่อง และสิ่งที่เกิดขึ้นในผับแห่งนั้น ยกตัวอย่างเช่น ที่ครอส แฮนด์ มีการต่อสู้กันเกิดขึ้น และส่วนใหญ่ก็เป็นการต่อสู้แบบมือเปล่า และคิงส์ เฮดก็เป็นที่ที่แกรี่ คิง ตัวละครของผม รู้สึกครุ่นคิดเป็นพิเศษ เราใช้ผับ 12 แห่ง อ้างอิงจากการบำบัดซึ่งเป็นโปรแกรม 12 ขั้นตอนน่ะครับ”

โรว์แลนด์และทีมงานของเขาได้ตระเวนไปตามเมืองและผับต่างๆ ในอังกฤษ ซึ่งผลที่ได้ก็คือการมิกซ์แอนด์แมทช์ภายในและภายนอกของผับต่างๆ และระหว่างฉากที่สร้างขึ้นและสถานที่จริงๆ สำหรับการตระเวนผับของห้าหนุ่ม “เราอยากถ่ายทอดความรู้สึกของการเดินทาง ทำให้มันสมเหตุสมผลและทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรื่องราวนี้กำลังเดินหน้าไปในแบบเดียวกับที่เมืองแห่งนี้ทำกับภูมิประเทศของมัน หวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะแลดูแนบเนียนในหน้าจอนะครับ”

รายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง เรื่องแต่ง และเรื่องในจินตนาการของแต่ละผับ ที่เรียงตามลำดับการมาถึงของพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของ “เดอะ โกลเดน ไมล์” มีดังต่อไปนี้

ผับ 1: เดอะ เฟิร์สท์ โพสต์ เป็นที่ที่ “เดอะ โกลเดน ไมล์” เริ่มต้นขึ้นทั้งในปี 1990 และปัจจุบัน ภายนอกของผับถูกถ่ายทำที่เดอะ แพร์ทรี ผับบนถนฮอลลีบุช เลนในเวลวิน การ์เดน ซิตี้ ส่วนภายในก็ถ่ายทำที่แพร์ทรีเช่นกัน ซึ่งมันถูกใช้อีกครั้งเพื่อถ่ายทำภายในของผับ 2 ดิ โอลด์ แฟมิเลียร์

ผับ 2: ดิ โอลด์ แฟมิเลียร์ มีลักษณะเหมือนเดอะ เฟิร์สท์ โพสต์ ซึ่งทั้งห้าคนในยุคปัจจุบันก็สังเกตเห็น ดังนั้น ภายในของผับก็เลยถ่ายทำที่เดอะ แพร์ทรี ผับบนถนฮอลลีบุช เลนในเวลวิน การ์เดน ซิตี้ ซึ่งถูกใช้ถ่ายทำผับ 1 เดอะ เฟิร์สท์ โพสต์ด้วย ส่วนภายนอกถ่ายทำที่เดอะ ด็อคเตอร์ส โทนิค ผับนถนนเชิร์ช โร้ด ที่อยู่ในเวลวิน การ์เดน ซิตี้ด้วยเช่นกัน

ผับ 3: เดอะ เฟมัส ค็อก เป็นผับที่แกรี่ ในปี 1990 ถูกแบนตลอดชีวิต และเป็นที่ขลุกตัวของบาซิลวัยชรา ในตอนที่พวกเขามาเยือนผับแห่งนี้อีกครั้งในหลายสิบปีให้หลัง พวกเขาก็เห็นบาซิลอีกครั้ง แต่การแบนยังคงมีผลอยู่ โดยที่ภาพของแกรี่ยังถูกติดไว้บนผนังเพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือน และพวกเขาทุกคนก็ถูกไล่ออกจากที่นั่น ภายนอกและภายในของผับถูกถ่ายทำที่เดอะ คอร์ค ผับโฮเวิร์ดส์เกทในเวลวิน การ์เดน ซิตี้

ผับ 4: เดอะ ครอส แฮนด์ เป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในปี 1990 แกรี่ต่อยผนังเป็นรู แอนดี้ต่อยนาฬิกา และสามสาวเจ้าเสน่ห์ “มาร์มาเลด แซนด์วิช” ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ในปัจจุบัน แกรี่กับแอนดี้ได้ลงมือลงไม้อีกครั้งในผับแห่งนี้ และสามสาว “มาร์มาเลด แซนด์วิช” วัยผู้ใหญ่ก็อยู่ที่นั่นด้วย แต่กลับไม่มีคนสังเกตเห็นเพราะเพื่อนๆ ทั้งห้าคนไขว้เขวไปกับการเถียงกันเอง หลังจากที่แกรี่ขอตัว ห้องน้ำชายก็กลายเป็นฉากของการต่อสู้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เขาและเพื่อนในกลุ่มได้รู้ว่า มีบางอย่างไม่ชอบมาพากลในนิวตัน ฮาเวน ห้องน้ำชายถูกสร้างเป็นฉาก พร้อมด้วยแมลงวันและผนังที่พังได้ ขึ้นที่เอลส์ทรี สตูดิโอส์ และการถ่ายทำซีเควนซ์ต่อสู้ที่นั่นก็ใช้เวลาทั้งอาทิตย์และทำให้ต้องมีการถ่ายทำเพิ่มเติมของยูนิทที่สอง ภายในทั้งหมดรวมทั้งภายนอกถูกถ่ายทำที่ปาร์คเวย์ ทาเวิร์น ผับบนบริดจ์ โร้ดในเวลวิน การ์เดน ซิตี้

ผับ 5: เดอะ กู๊ด คอมพาเนียนส์ เป็นที่ที่สายสัมพันธ์ของห้าหนุ่มกลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง ทั้งสมัยก่อนและปัจจุบัน ในปี 1990 พวกเขาร่วมกันดื่มฉลองความก้าวหน้าในภารกิจตระเวนผับของพวกเขา ส่วนในปัจจุบัน พวกเขาดื่มเพื่อสาบานว่าจะลุยต่อไปเพื่อคลี่คลายเหตุการณ์ปริศนาที่เกิดขึ้นให้ได้ ภายนอกผับถูกถ่ายทำที่เวนดี้ส์ ร้านขายไหมพรมที่เลย์ส อะเวนิวในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ส่วนภายในถ่ายทำที่เดอะ เวนล็อค อาร์มส์ ผับบนถนนเวนล็อค โร้ดในกรุงลอนดอน ซึ่งมีอายุเก่าแก่ 200 ปี หลังจากที่มันรอดจากการถูกทิ้งระเบิดในสงครามโลกมาได้ ตอนนี้ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อนุรักษ์ไปแล้ว

ผับ 6: เดอะ ทรัสตี้ เซอร์เวินท์ เป็นที่ที่โอลิเวอร์ ในปี 1990 ไม่สามารถเดินหน้าแผน “เดอะ โกลเดน ไมล์” ต่อไปได้ สองทศวรรษให้หลังที่ผับเดียวกันนี้ โอลิเวอร์กลายเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง พวกเขายังพบด้วยว่า อาชีพของบาทหลวงกรีนได้เปลี่ยนแปลงไปจากพ่อค้ายาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภายนอกผับถ่ายทำที่เดอะ ธรี แม็กเน็ทส์ ผับ บนเลย์ส อะเวนิวในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ส่วนภายในถ่ายทำที่เดอะ ไดเร็คเตอร์ส อาร์มส์ในบอร์แฮมวู้ด ในเฮิร์ทฟอร์ดเชียร์เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการทำงานของเอ็ดการ์ ไรท์อย่างยิ่ง

ผับ 7: เดอะ ทู เฮดเดด ด็อก โด่งดังจากเบียร์ การ์เดนด้านหลัง ที่แซมทะเลาะกับคู่พิลึก ภายนอกและภายในของผับแห่งนี้ถ่ายทำที่ผับเดอะ โคลอนเนดบนสเตชัน โร้ดในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้

ผับ 8:  เดอะ เมอร์เมด เป็นสถานที่ปรากฏตัวของสามสาว “มาร์มาเลด แซนด์วิช” ในปัจจุบัน แต่เป็นการปรากฏตัวในลักษณะเดียวกับในปี 1990 ของพวกเธอ สิ่งที่ทำให้แกรี่และเพื่อนๆ งุนงงคือการที่สถานที่แห่งนี้กลายเป็นเหมือนคลับมากกว่าผับ ด้วยการที่ “สคูล ดิสโก้” เพลงดิสโก้ยุค 80s/90s กำลังเปิดให้แดนซ์กระจาย และโปสเตอร์สำหรับดิสโก้ยังบ่งบอกรายละเอียดเกี่ยวกับแดนเซอร์ข้างในด้วย ภายนอกของผับถ่ายทำที่บรอดเวย์ ซีเนมา โรงภาพยนตร์สไตล์อาร์ต เดโคในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ซึ่งเปิดทำการเมื่อกว่า 70 ปีก่อน ส่วนภายใน เพื่อให้สอดคล้องกับโมทิฟ “สคูล ดิสโก้” ที่กลับไปสู่อดีต ถ่ายทำที่ชาลฟอนท์ แคมปัส อดีตมหาวิทยาลัยในชาลฟอนท์ เซนต์ ไจลส์ ในบัคกิ้งแฮมป์เชียร์

ผับ 9: เดอะ บีไฮฟ์ เป็น “ศูนย์รวมกิจกรรม” ทั้งในปี 1990 และในปัจจุบัน ในผับแห่งนี้ พวกเขาได้พบคนที่ค่อนข้างจะสำคัญกับพวกเขาในสมัยเรียนอีกครั้งหนึ่ง ที่ผับแห่งนี้ในปี 1990 เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นโดยมีแอนดี้เป็นศูนย์กลางและการตระเวนผับก็เลยต้องหยุดลงตรงนี้ อีกเหตุทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันโดยมีแอนดี้เป็นศูนย์กลางเช่นเคย และครั้งนี้ การต่อสู้ก็เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่มหัศจรรย์พันลึกกว่าแต่ก่อนเสียอีก ภายในของผับจะต้องถ่ายทำในฉากที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในเอลส์ทรี สตูดิโอส์ โดยซีเควนซ์การต่อสู้ในยุคปัจจุบันใช้เวลาถ่ายทำกว่าหนึ่งสัปดาห์ และต้องมีการถ่ายทำเพิ่มเติมจากยูนิททีสอง ภายนอกชั้นหนึ่งของผับถ่ายทำที่ร้านอาหารไทยบนถนนเกอร์นอน โร้ดในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ส่วนภายนอกตรงส่วนหลังคาถ่ายทำในบริเวณการ์เดน ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เหนือร้านเอดินเบิร์กห์ วูล ที่อยู่ในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ด้วยเช่นกัน

ผับ 10: เดอะ คิงส์ เฮด เป็นที่ที่มีการกล่าวถึงสภาพจิตใจและภาพลักษณ์ที่แกรี่มองตัวเองว่าเหมือน “ราชันย์” และมันยังถูกอ้างถึงในชื่อและป้ายสัญลักษณ์ของผับแห่งนี้ด้วย แกรี่จะต้องยอมรับสภาพชีวิตตัวเองและสถานะของการตระเวนผับ ด้วยการตระหนักดีว่าทุกอย่างไปไกลเกินกว่าในปี 1990 แล้ว ภายนอกและภายในของผับแห่งนี้ถ่ายทำที่อารีนา ผับในอารีนา พาเหรดในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้

ผับ 11: เดอะ โฮล อิน เดอะ วอล ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแกรี่และคนอื่นๆ ทำให้ภายในทั้งหมดของผับต้องถูกสร้างและถ่ายทำที่เอลส์ทรี สตูดิโอส์ ส่วนภายนอกถ่ายทำที่สถานีรถไฟเลทช์เวิร์ธ ที่สเตชัน เพลซ ในเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้

ผับ 12: เดอะ เวิลด์ส เอนด์ เป็นจุดหมายปลายทางของภารกิจการตระเวนผับในปัจจุบัน ภายนอกถ่ายทำที่ผับเดอะ การ์เดนเนอร์ส อาร์มส์บนวิลเบรี ฮิลส์ โร้ดเลทช์เวิร์ธ การ์เดน ซิตี้ ส่วนภายในของผับถูกสร้างและถ่ายทำขึ้นที่เอลส์ทรี สตูดิโอส์

 

ประวัตินักแสดง

ไซมอน เพ็กก์ (Simon Pegg) รับบท แกรี่

ความสำเร็จครั้งแรกของ นักแสดง/มือเขียนบท ไซมอน เพ็กก์คือซิทคอมทางแชนแนล โฟร์เรื่อง Spaced เขาร่วมกับเจสสิก้า ไฮน์ส เขียนบทและนำแสดงซีรีส์เรื่องนั้น ซึ่งกำกับโดยเอ็ดการ์ ไรท์ เขาได้รับการทาบทามให้สร้างซีรีส์เรื่องที่สองก่อนหน้าเรื่องแรกจะแพร่ภาพด้วยซ้ำไป ซีรีส์นี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลซิทคอมยอดเยี่ยมและทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลนักแสดงจอแก้วหน้าใหม่จากเวทีบริติช คอเมดี อวอร์ด นอกจากนั้น ซีรีส์นี้ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟต้า, มอนโทรซ์และอินเตอร์เนชันแนล เอ็มมี อวอร์ดอีกด้วย

เขาและผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์ ได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Shaun of the Dead ที่เขาได้ร่วมงานกับนิค ฟรอสท์จาก Spaced อีกครั้ง ภาพยนตร์ซอมบี้เรื่องนี้เปิดตัวที่อันดับสองในบ็อกซ์ออฟฟิศอังกฤษและประสบความสำเร็จในอเมริกา เพ็กก์ได้รับรางวัลปีเตอร์ เซลเลอร์ส อวอร์ด ฟอร์ คอเมดีจากเวทีอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลบาฟต้า อวอร์ด ซึ่งรวมถึงสาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปีและได้รับรางวัลบีฟาสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย

หลังจากเอาชนะซอมบี้ พิธีมอบรางวัลและอเมริกาได้แล้ว หลังจากนั้น เพ็กก์ก็ได้ร่วมกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์เขียนบทภาพยนตร์แอ็กชันคอเมดีสุดยอดตำรวจเรื่อง Hot Fuzz ที่เขาได้แสดงประกบนิค ฟรอสท์อีกครั้งหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศอังกฤษและได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกา เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลคอเมดียอดเยี่ยมและได้รับการโหวตให้เป็นภาพยนตร์คอเมดียอดเยี่ยมจากเวทีเนชันแนล มูฟวี อวอร์ดของอังกฤษอีกด้วย

เขาร่วมกับนิค ฟรอสท์ ร่วมเขียนบทภาพยนตร์ไซไฟผจญภัยเรื่อง Paul ที่ทั้งคู่นำแสดงภายใต้การกำกับของเกร็ก มอตโตลา และได้รับการโหวตให้เป็นภาพยนตร์คอเมดียอดเยี่ยมจากเวทีเนชันแนล มูฟวี อวอร์ดของอังกฤษอีกด้วย ผลงานอื่นๆ ของเขาได้แก่การเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Run, Fatboy, Run ซึ่งเขาแสดงให้กับผู้กำกับเดวิด ชวิมเมอร์

ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นเขาแสดงประกบทอม ครูซใน Mission: Impossible III และ Mission: Impossible – Ghost Protocol ที่กำกับโดยเจ.เจ.อับรามส์และแบรด เบิร์ด ตามลำดับ และภาพยนตร์โดยอับรามส์เรื่อง Star Trek และ Star Trek Into Darkness

บทบาทการแสดงอื่นๆ ของเขาภาพยนตร์โดยจอห์น แลนดิสเรื่อง Burke and Hare, ภาพยนตร์โดยคริสเพียน มิลส์และคริส โฮปเวลเรื่อง A Fantastic Fear of Everything, ภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต บี. วี้ดเรื่อง How to Lose Friends & Alienate People และภาพยนตร์เรื่องใหม่ของปีเตอร์ เชลซอมเรื่อง Hector and the Search for Happiness ซึ่งเขารับบทนำและได้นำแสดงกับโรซามุนด์ ไพค์ใน The World’s End

ผลงานพากย์เสียงและ/หรือโมชัน แคปเจอร์ในฐานะนักแสดงของเขาได้แก่แฟรนไชส์ Ice Age และเขาก็ได้ร่วมงานกับนิค ฟรอสท์ในภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง The Adventures of Tintin, The Boxtrolls สำหรับโฟกัส ฟีเจอร์สและไลก้า ที่กำกับโดยแอนโธนี สตาชชี่และเกรแฮม แอนนาเบิล

นอกเหนือจาก Spaced เพ็กก์ยังได้เป็นขาประจำซีรีส์ซิทคอมต่างๆ เช่น Faith in the Future และ Asylum ที่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างเขากับเอ็ดการ์ ไรท์และเจสสิก้า ไฮน์ส เขาได้รับบทดารารับเชิญในซีรีส์ Doctor Who, I’m Alan Partridge และ ฯลฯ และได้แสดงในซีรีส์สเก็ตช์เรื่อง Big Train ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลรอยัล เทเลวิชัน โซไซตี้ อวอร์ดสาขาการแสดงบันเทิงยอดเยี่ยม ผลงานจอแก้วเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจของเขาคือมินิซีรีส์คลาสสิกเรื่อง Band of Brothers

 

นิค ฟรอสท์ (Nick Frost) รับบท แอนดี้

นิค ฟรอสท์ เป็นที่รู้จักครั้งแรกในซิทคอมรางวัลทางแชนแนล โฟร์เรื่อง Spaced ในบทไมค์ วัตต์ ตัวละครที่เขาสร้างขึ้นเพื่อเย้าแหย่ ไซมอน เพ็กก์ เพื่อนสนิทในชีวิตจริงของเขา นอกเหนือจากการร่วมมือของเพื่อนสองคนนี้แล้ว ซีรีส์นี้ยังเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่างฟรอสท์และผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์อีกด้วย และหลังจากนั้น ทั้งสามคนก็ได้ร่วมกันสร้างภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Shaun of the Dead ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบริติช อินดีเพนเดนท์ ฟิล์ม อวอร์ดและได้รับรางวัลแฟนโกเรีย เชนซอว์ อวอร์ด และภาพยนตร์เรื่อง Hot Fuzz ด้วย

นับตั้งแต่นั้นมา ฟรอสท์ก็กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงที่เป็นที่ต้องการตัวสูงสุดของอังกฤษ เขาได้เป็นพิธีกรซีรีส์ต่างๆ ของตัวเองสำหรับแชนแนล ไฟว์เรื่อง Danger! 50,000 Volts! และ Danger! Incoming Attack! และได้แสดงในซิทคอมโดยแชนแนล โฟร์เรื่อง Black Books ได้แสดงในซีรีส์สเก็ตช์ คอเมดีทางบีบีซีเรื่อง Man Stroke Woman และรับบทนำในซีรีส์คอเมดีไซไฟทางบีบีซีทูเรื่อง Hyperdrive

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์โดยรูเพิร์ต แซนเดอร์สเรื่อง Snow White and the Huntsman, ภาพยนตร์โดยริชาร์ด เคอร์ติสเรื่อง Pirate Radio, a.k.a. The Boat That Rocked สำหรับเวิร์คกิ้ง ไตเติลและโฟกัส ฟีเจอร์ส, ภาพยนตร์โดยจูเลียน จาร์โรลด์เรื่อง Kinky Boots, ภาพยนตร์โดยมาร์ค พาแลนสกี้เรื่อง Penelope, ภาพยนตร์โดยนิค มัวร์เรื่อง Wild Child’ และภาพยนตร์รางวัลโดยโจ คอร์นิชเรื่อง Attack the Block หลังจากนี้ เขาจะได้แสดงและเต้นประกบราชิดา โจนส์ในภาพยนตร์โดยเจมส์ กริฟฟิธส์เรื่อง Cuban Fury ซึ่งเขารับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างและเป็นคนคิดไอเดียสำหรับเรื่องราวดั้งเดิมนี้

ฟรอสท์ร่วมกับไซมอน เพ็กก์ เขียนบทภาพยนตร์ดั้งเดิมเรื่อง Paul ที่พวกเขาแสดงนำให้กับเวิร์คกิ้ง ไตเติล ภายใต้การกำกับของเกร็ก มอตโตลา และทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเนชันแนล มูฟวี อวอร์ดในอังกฤษ หลังจากนั้น เขาและเพ็กก์ก็ได้แสดงบทธอมสันและธอมป์สัน นักสืบที่เป็นที่รักจากฝีมือแอร์เจ สำหรับอีพิคโดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง The Adventures of Tintin และพากย์เสียงให้กับภาพยนตร์อนิเมชันโดยโฟกัส ฟีเจอร์สและไลก้าเรื่อง The Boxtrolls ที่กำกับโดยแอนโธนี สตาชชี่และเกรแฮม แอนนาเบิล

การแสดงนำของเขาในซีรีส์บีบีซีที่ดัดแปลงจาก Money โดยมาร์ติน เอมิส และกำกับโดยเจเรมี โลเวอร์ริง ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และตัวผู้เขียนเช่นกัน หลังจากนั้น ฟรอสท์ได้แสดงบทนำในซีรีส์สกาย แอตแลนติกที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นในยุค 60s เรื่อง Mr. Sloane จากมือเขียนบท/ผู้กำกับโรเบิร์ต บี. วี้ด ประกบโอลิเวีย โคลแมนและโอฟีเลีย โลวิบอนด์

 

แพ็ดดี้ คอนซิไดน์ (Paddy Considine) รับบท สตีเวน

ในฐานะนักแสดง ก่อนหน้านี้ แพ็ดดี้ คอนซิไดน์เคยร่วมมือกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์และนักแสดงไซมอน เพ็กก์และนิค ฟรอสท์จาก The World’s End มาแล้วในภาพยนตร์แอ็กชันคอเมดีเรื่อง Hot Fuzz

ในฐานะมือเขียนบท/ผู้กำกับ เขาได้รับรางวัลบาฟต้า อวอร์ดจาก Dog Altogether ที่นำแสดงโดยปีเตอร์ มุลแลน และได้รับรางวัลภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยม เขาได้รับรางวัลบาฟต้า อวอร์ดอีกครั้งจากผลงานกำกับ/เขียนบทเรื่องแรกของเขา Tyrannosaur ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานเปิดตัวยอดเยี่ยมโดยมือเขียนบท ผู้กำกับหรือผู้อำนวยการสร้างชาวอังกฤษ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลบีฟาสาขาภาพยนตร์อินดีอังกฤษยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (โอลิเวีย โคลแมน) และรางวัลดักกลาส ฮิคค็อกซ์ อวอร์ด (สำหรับคอนซิไดน์) และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบีฟาสาขางานสร้างยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (มุลแลน) และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เอ็ดดี้ มาร์สัน) รางวัลอื่นๆ ที่ Tyrannosaur ได้รับคือการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสปิริต อวอร์ดและรางวัลสมาพันธ์มือเขียนบทอังกฤษสำหรับคอนซิไดน์, รางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมสำหรับโคลแมนและรางวัลสเปเชียล จูรี ไพรซ์จากงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์สำหรับโคลแมนและมุลแลน รวมทั้งรางวัลกำกับยอดเยี่ยม (ในประเภทเวิลด์ ซีเนมาส์ ดรามาติค) สำหรับคอนซิไดน์

เขาได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Dead Man’s Shoes กับผู้กำกับเชน มีโดว์ส ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเคยแสดงภายใต้การกำกับของเขาใน A Room for Romeo Brass ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบีฟาสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอนสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและรางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟต้า อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปีอีกด้วย เขาได้แสดงให้กับมีโดว์สอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Le Donk & Scor-zay-zee

ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของคอนซิไดน์ได้แก่ภาพยนตร์โดยจิม เชอริแดนเรื่อง In America ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดร่วมกับเพื่อนนักแสดงในเรื่องของเขา, ภาพยนตร์โดยรอน โฮเวิร์ดเรื่อง Cinderella Man, ภาพยนตร์โดยสตีเฟน วูลลีย์เรื่อง Stoned, ภาพยนตร์โดยไมเคิล วินเทอร์บอททอมเรื่อง 24 Hour Party People, ภาพยนตร์โดยริชาร์ด อโยเอดเรื่อง Submarine, ภาพยนตร์โดยโอล ปาร์คเกอร์เรื่อง Now is Good ประกบดาโกต้า แฟนนิงและโอลิเวีย วิลเลียมส์, รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง The Half Life of Timofey Berezin, a.k.a. Pu-239 ที่ดัดแปลงและกำกับโดยสก็อต ซี. เบิร์นส์, ภาพยนตร์โดยพอล กรีนกราสเรื่อง The Bourne Ultimatum ประกบแมทท์ เดมอนและภาพยนตร์โดยเจมส์ มาร์ชเรื่อง  “1980” ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรภาค Red Riding

ผลงานของผู้กำกับ/มือเขียนบท พาเวล พาว์ลิโคว์สกี้เรื่อง  My Summer of Love ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบีฟาสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ เขาเคยแสดงให้กับผู้กำกับผู้นี้มาแล้วใน Last Resort ซึ่งทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็นนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์เธซซาโลนิกิ My Summer of Love โดยโฟกัส ฟีเจอร์ส ได้รับสองรางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ด รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเอดินเบิร์กห์และรางวัลบาฟต้า อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปี

นอกจากนั้น ชาวเบอร์ตัน-อัพพอน-เทรนท์ผู้นี้ยังได้แสดงในภาพยนตร์ขนาดสั้นรางวัลบาฟต้าโดยคริสโตเฟอร์ มอร์ริสเรื่อง My Wrongs 8245-8249 and 117 อีกด้วย

 

มาร์ติน ฟรีแมน (Martin Freeman) รับบท โอลิเวอร์

มาร์ติน ฟรีแมน ยังคงดึงดูดความสนใจจากผู้ชมและนักวิจารณ์ด้วยฝีมือการแสดงที่หลากหลายของเขาในคอเมดี ดรามาและอีพิคแฟนตาซีผจญภัย

ล่าสุด ผู้ชมได้เห็นเขาแสดงบทบิลโบ้ แบ็กกินส์ ผู้กล้าหาญของเจ.อาร์.อาร์. โทลคีน ในภาพยนตร์โดยปีเตอร์ แจ็คสันเรื่อง The Hobbit: An Unexpected Journey ซึ่งกวาดรายได้ไปกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญทั่วโลก การแสดงของเขาทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เขายังคงสานต่อเรื่องราวของบิลโบ้ในภาพยนตร์โดยแจ็คสันเรื่อง The Hobbit: The Desolation of Smaug ที่จะเข้าฉายในเดือนธันวาคม ปี 2013 และ The Hobbit: There and Back Again ที่จะเข้าฉายในเดือนธันวาคม ปี 2014

เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งได้รับรางวัลบาฟต้า อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี อวอร์ด จากบทจอห์น วัตสันในซีรีส์อังกฤษเรื่อง Sherlock ที่เขาได้แสดงประกบเบเนดิคท์ คัมเบอร์แบทช์ จนถึงตอนนี้ ซีรีส์นี้แพร่ภาพไปสองซีซันและกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำซีซันที่สาม

ผลงานจอแก้วที่โดดเด่นเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่การแสดงบท จิม ในซีรีส์อังกฤษเวอร์ชันออริจินอลของ The Office ประกบริคกี้ เกอร์เวส ที่ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟต้าและบริติช คอเมดี อวอร์ด เขาได้นำแสดงในซีรีส์เรื่อง Hardware ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโกลเดน โรส อวอร์ดสาขาการแสดงตลกโดยนักแสดงชายยอดเยี่ยมและมินิซีรีส์รางวัลบาฟต้าของโจ ไรท์เรื่อง The Last King ที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับเอ็ดดี้ มาร์สัน เพื่อนนักแสดงจาก The World’s End

ฟรีแมนได้ศึกษาที่เซ็นทรัล สคูล ออฟ สปีช แอนด์ ดรามาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ผลงานละครเวทีมากมายของเขาได้แก่ Volpone โปรดักชันของรอยัล เนชันแนล เธียเตอร์ ที่กำกับแมทธิว วอร์ชัสและ Mother Courage and Her Children ที่กำกับโดยโจนาธาน เคนท์, The Comedians ที่กำกับโดยฌอน โฮล์มส์ กับอ็อกซ์ฟอร์ด สเตจ คัมปะนี, The Exonerated ที่กำกับโดยบ็อบ บาลาบานที่ริเวอร์ไซด์ สตูดิโอส์, Clybourne Park รางวัลพูลิทเซอร์ ที่กำกับโดยโดมินิค คุ้ก ที่รอยัล คอร์ท เธียเตอร์และ Jump to Cow Heaven ที่กำกับโดยวิลเลียม เคอร์ลีย์ และได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เอดินเบิร์กห์ปี 1997

เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักแสดงในภาพยนตร์โดยริชาร์ด เคอร์ติสเรื่อง Love Actually ที่กลายเป็นภาพยนตร์ขวัญใจผู้ชมทั่วโลก นอกจากนี้ ผู้ชมยังได้เห็นเขารับบทนำในภาพยนตร์โดยการ์ธ เจนนิงส์เรื่อง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy และภาพยนตร์โดยเจค พัลโทรว์เรื่อง The Good Night โดยเรื่องหลัง เขาได้ร่วมงานกับไซมอน เพ็กก์ เพื่อนร่วมแสดงใ The World’s End, คอเมดีอิมโพรไวส์โดยเด็บบี้ อิสซิทท์เรื่อง Confetti และ Nativity!, ภาพยนตร์โดยจัสติน เธอโรซ์เรื่อง Dedication, ภาพยนตร์โดยปีเตอร์ กรีนอเวย์เรื่อง Nightwatching ในบทจิตรกรเรมแบรนด์และภาพยนตร์โดยแอนโธนี มิงเกลลาเรื่อง Breaking and Entering

ก่อนหน้านี้ เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์จาก The World’s End มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Shaun of the Dead และ Hot Fuzz

 

เอ็ดดี้ มาร์สัน (Eddie Marsan) รับบท ปีเตอร์

การแสดงประกบแซลลี ฮอว์กินส์ที่น่าจดจำของเอ็ดดี้ มาร์สันในภาพยนตร์โดยไมค์ ลีห์เรื่อง Happy-Go-Lucky ทำให้เขาได้รับรางวัลบีฟตาและรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติ (ในอเมริกา) สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ เขาเคยได้รับรางวัลบีฟามาแล้วจากการแสดงประกบอิเมลดา สตอนตัน, ฟิล เดวิสและอเล็กซ์ เคลลีในภาพยนตร์โดยลีห์เรื่อง Vera Drake

เขาได้รับการเสนอชื่อชิงบีฟาอีกครั้งจากการแสดงใน Tyrannosaur ที่เขียนบทและกำกับโดยแพ็ดดี้ คอนซิไดน์ เพื่อนร่วมแสดง The World’s End ของเขา และร่วมแสดงโดยโอลิเวีย โคลแมน

ผลงานภาพยนตร์มากมายของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง War Horse, ภาพยนตร์โดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง Gangs of New York, ภาพยนตร์โดยอเลฮันโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตูเรื่อง 21 Grams ให้กับโฟกัส ฟีเจอร์ส ซึ่งเขาได้แสดงประกบเบนิซิโอ เดล โทโร, ภาพยนตร์โดยเทอร์เรนซ์ มาลิคเรื่อง The New World, ภาพยนตร์โดยเจ.เจ. อับรามส์เรื่อง Mission: Impossible III ประกบไซมอน เพ็กก์ เพื่อนร่วมแสดงจาก The World’s End, ภาพยนตร์โดยอิซาเบล คัวเซ็ทเรื่อง  The Secret Life of Words, ภาพยนตร์โดยนีล เบอร์เกอร์เรื่อง The Illusionist, ภาพยนตร์โดยเจมส์ แม็คที้คเรื่อง V for Vendetta, ภาพยนตร์โดยปีเตอร์ เบิร์กเรื่อง Hancock ประกบวิล สมิธ, ภาพยนตร์โดยริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์เรื่อง Me and Orson Welles ในบทจอห์น เฮาส์แมน, ภาพยนตร์โดยจูเลียน จาร์โรลด์เรื่อง “1974” ในไตรภาค Red Riding, ภาพยนตร์โดยเจ เบลคสันเรื่อง The Disappearance of Alice Creed ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ดสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์โดยรูเพิร์ต แซนเดอร์สเรื่อง  Snow White and the Huntsman, ภาพยนตร์โดยไบรอัน ซิงเกอร์เรื่อง Jack the Giant Slayer และบทผู้ตรวจการเลอสเตรดในภาพยนตร์ Sherlock Holmes ทั้งสองภาคโดยกาย ริทชี ประกบโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์และจู๊ด ลอว์

นักแสดงชาวอังกฤษผู้นี้เคยทำงานเป็นผู้พิมพ์หนังสือมาก่อนที่จะหันไปจับงานแสดง เขาเข้าศึกษาที่เมาท์วิว อคาเดมี ออฟ เธียเตอร์ อาร์ต์ ตามด้วยอคาเดมี ออฟ ไซเอนซ์ ออฟ แอ็กติ้ง แอนด์ ไดเร็คติ้ง (เอเอสเอดี) ภายใต้แซม โคแกน ผู้ก่อตั้ง ผลงานละครเวทีของเขารวมถึงการแสดงที่เนชันแนล เธียเตอร์ ในละครเรื่อง The Homecoming โปรดักชันของโรเจอร์ มิเชลและละครเรื่อง Chips with Everything โดยโฮเวิร์ด เดวีส์ รวมถึงการแสดงบทริชาร์ดที่สาม ภายใต้การกำกับของกาย เรทอลแล็คอีกด้วย

ผลงานจอแก้วอังกฤษของเขารวมถึงภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์โดยโจ ไรท์เรื่อง Bodily Harm และมินิซีรีส์ The Last King ที่เขาได้ร่วมงานกับมาร์ติน ฟรีแมน เพื่อนร่วมแสดงจาก The World’s End นอกจากนั้น เขายังได้รับบทรับเชิญในซีรีส์ Criminal Justice และ The Bill และได้นำแสดงในซีรีส์ Get Well Soon อีกด้วย ในซัมเมอร์ปี 2013 เขาจะได้แสดงประกบลีฟ ชไรเบอร์และจอน วอยท์ในซีรีส์ดรามาเรื่อง Ray Donovan ที่จะแพร่ภาพทางโชว์ไทม์ในอเมริกา

 

โรซามุนด์ ไพค์ (Rosamund Pike) รับบท แซม

โรซามุนด์ ไพค์ ผู้ได้รับเลือกให้แสดงภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องแรก ในบทสาวบอนด์ตอนอายุ 21 ปี ที่เธอเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้แสดงประกบเพียร์ซ บรอสแนนและฮัลลี เบอร์รีในภาพยนตร์โดยลี ทามาโฮริเรื่อง Die Another Day การแสดงในเรื่องนั้นทำให้เธอได้รับรางวัลเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม หลังจากนั้น เธอก็แสดงในภาพยนตร์โดยโจ ไรท์เรื่อง Pride & Prejudice สำหรับโฟกัส ฟีเจอร์สและเวิร์คกิ้ง ไตเติล ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอน นอกเหนือจากนั้น เธอยังได้แสดงประกบจอห์นนี เด็ปป์ในภาพยนตร์โดยลอว์เรนซ์ ดันมอร์ The Libertine ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลบีฟา เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบีฟาและสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอนอีกครั้งจากการแสดงของเธอในภาพยนตร์โดยไนเจล โคลเรื่อง Made in Dagenham และภาพยนตร์โดยโลน เชอร์ฟิกเรื่อง An Education นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องหลังยังทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดร่วมกับเพื่อนนักแสดงจากเรื่องเดียวกันอีกด้วย

การแสดงประกบพอล จิอาแมตติของเธอในภาพยนตร์โดยริชาร์ด เจ. ลูอิสเรื่อง Barney’s Version ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอน, รางวัลจินนีและรางวัลแซทเทิลไลท์ อวอร์ด ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ภาพยนตร์โดยเจเรมี โพเดสวาเรื่อง นFugitive Pieces ซึ่งทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลจินนี อวอร์ดด้วยเช่นกัน, ภาพยนตร์โดยเกรกอรี ฮ็อบลิทเรื่อง Fracture ประกบไรอัน กอสลิง, ภาพยนตร์โดยโจนาธาน มอสโทว์เรื่อง  Surrogates ประกบบรูซ วิลลิส, ภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ แลนดอนเรื่อง Burning Palms, ภาพยนตร์โดยโอลิเวอร์ ปาร์คเกอร์เรื่อง Johnny English Reborn ประกบโรแวน แอทคินสัน, ภาพยนตร์โดยเดวิด แฟรงค์เคลเรื่อง The Big Year ประกบโอเวน วิลสัน, ภาพยนตร์โดยโจนาธาน ลีเบสแมนเรื่อง Wrath of the Titans ประกบแซม เวิร์ธธิงตัน, ภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ แม็คควอร์รีย์เรื่อง Jack Reacher ประกบทอม ครูซและภาพยนตร์โดยปาสคัล เชาเมลเรื่อง A Long Way Down ที่สร้างจากนิยายโดยนิค ฮอร์นบี้ ปัจจุบัน เธอกำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์โดยปีเตอร์ เชลซอล์มเรื่อง Hector and the Search for Happiness ที่เธอแสดงประกบไซมอน เพ็กก์จาก The World’s End

หลังจากที่เข้าร่วมกับคณะเนชันแนล ยูธ เธียเตอร์ตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น เธอก็หวนคืนสู่ละครเวทีเป็นประจำ โดยล่าสุด เธอได้แสดงใน Hedda Gabler ที่เปิดการแสดงในอังกฤษ เธอได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากการแสดงใน Hitchcock Blonde ที่เขียนบทและกำกับโดยเทอร์รี่ จอห์นสัน เธอได้นำแสดงในละครเรื่อง Gaslight ที่โอลด์ วิค เธียเตอร์ และได้แสดงประกบจูดี้ เดนช์ในละครเรื่อง Madame de Sade โปรดักชันของวินด์แฮม เธียเตอร์ หนึ่งในผลงานจอแก้วของเธอได้แก่เวอร์ชันมินิซีรีส์เรื่อง Women in Love โดยมิแรนดา โบเวน

 

 

 

 

ประวัติทีมผู้สร้าง

เอ็ดการ์ ไรท์ (Edgar Wright)—ผู้กำกับ

เอ็ดการ์ ไรท์ ได้พัฒนาจากคนหนุ่มที่ชื่นชอบภาพยนตร์ไปสู่ผู้ที่พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นหนึ่งในกี๊คที่เป็นที่ต้องการตัวสูงสุดในแวดวงภาพยนตร์ปัจจุบัน

เขาเติบโตมาในโซเมอร์เซ็ท ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้นสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นด้วยกล้อง Super 8 ของเขาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และเขาก็เดินหน้าสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นมากขึ้นหลังจากที่เขาได้กล้อง Video 8 มาในการแข่งขันคอมิก รีลิฟ จากผลงานภาพยนตร์เรื่อง I Want to Get Into the Movies ซึ่งเป็นอนิเมชันเปรียบเปรยเกี่ยวกับการเข้าถึงของรถวีลแชร์

พออายุได้ 20 ปี เขาก็ได้กำกับ A Fistful of Fingers ภาพยนตร์ที่ไม่ใช้ทุนสร้าง และนำแสดงโดยวัยรุ่นในท้องถิ่น และถ่ายทำด้วยกล้อง 16 ม.ม. ภาพยนตร์เวสเทิร์นอังกฤษที่เหลือเชื่อเรื่องนี้ได้เข้าฉายแบบจำกัดโรงและเบิกทางไปสู่การทำงานจอแก้วของเขากับพาราเมาท์ คอเมดี แชนแนล ระหว่างที่อยู่ที่นั่น เขาได้กำกับซีรีส์สเก็ตช์เรื่อง Mash and Peas กับแมทท์ ลูคัสและเดวิด ไวเลียมส์ อนาคตนักแสดงนำใน Little Britain และซิทคอมเรื่อง Asylum ซึ่งทำให้เขาได้ร่วมงานกับไซมอน เพ็กก์และเจสสิก้า ไฮน์ส ผู้จะได้ร่วมงานกับเขาในอนาคต

ระหว่างที่ยังอยู่ในวัย 20 กว่าๆ เขาได้กำกับซีรีส์คอเมดีหลายเรื่องให้กับบีบีซี รวมถึง Merry-Go-Round, Is It Bill Bailey?, Murder Most Horrid, Sir Bernard’s Stately Homes และ French and Saunders

เขาได้รับความสนใจในอังกฤษเมื่อเขากำกับสองซีซันของซีรีส์ Spaced ให้กับแชนแนล โฟร์ ซีรีส์เรื่องนี้ ที่นำแสดงและเขียนบทโดยไซมอน เพ็กก์และเจสสิก้า ไฮน์ส ได้รับสองรางวัลบริติช คอเมดี อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟต้า อวอร์ดและอินเตอร์เนชันแนล เอ็มมี อวอร์ด ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่องนี้มีแฟนติดตามทั่วโลกและในปี 2008 ทั้งสามคนก็ได้ทัวร์อเมริกาเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดี

ซีรีส์นี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง Shaun of the Dead ซึ่งไรท์กำกับและร่วมเขียนบทกับไซมอน เพ็กก์ ผู้แสดงประกบนิค ฟรอสท์ เพื่อนร่วมแสดงของเขาจาก Spaced ภาพยนตร์ “รอม ซอม คอม” โดยเวิร์คกิ้ง ไตเติลเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศชนิดพลิกความคาดหมาย โดยได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลบาฟต้า อวอร์ด ซึ่งรวมถึงสาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปี และได้รับรางวัลบีฟา อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ว่าเป็นหนึ่งใน 25 ภาพยนตร์สยองขวัญยอดเยี่ยมตลอดกาล ยังได้รับรางวัลเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยมแห่งปีและรางวัลแซทเทิร์น อวอร์ดสาขาภาพยนตร์สยองขวัญยอดเยี่ยมอีกด้วย จอร์จ โรเมโร ปรมาจารย์ภาพยนตร์ซอมบี้ถึงกับประกาศว่ามันเป็น “ภาพยนตร์ซอมบี้เรื่องโปรด” ของเขาด้วย

หลังจากนั้น เขาก็มีผลงานเป็นแอ็กชันคอเมดีเรื่อง Hot Fuzz ที่ไรท์กำกับและร่วมเขียนบทกับไซมอน เพ็กก์ ผู้กลับมาร่วมแสดงกับนิค ฟรอสท์อีกครั้ง ภาพยนตร์โดยเวิร์คกิ้ง ไตเติลเรื่องนี้ติดอันดับท็อปในบ็อกซ์ออฟฟิศอังกฤษนานสามสัปดาห์และทำรายได้ไปกว่า 90 ล้านเหรียญ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลเนชันแนล มูฟวี อวอร์ดและเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขาคอเมดียอดเยี่ยม

ไรท์ได้กำกับเทรลเลอร์ปลอม  “Don’t” ให้กับอีพิคโดยเควนติน ทารันติโนและโรเบิร์ต โรดริเกซเรื่อง Grindhouse และเขาก็ได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์โดยปีเตอร์ แจ็คสันและผู้กำกับสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง The Adventures of Tintin กับสตีเวน มอฟแฟทและโจ คอร์นิช

ผลงานเรื่องถัดไปของเขาในฐานะผู้กำกับคือ Scott Pilgrim vs. the World ที่ผสมผสานความรัก คอเมดี แอ็กชันและแฟนตาซีเข้าด้วยกันอย่างมีเอกลักษณ์ ที่เขาได้อำนวยการสร้างและร่วมเขียนบทกับไมเคิล บาคัลล์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สร้างจากนิยายภาพโดยไบรอัน ลี โอมัลลีย์ นำแสดงโดยไมเคิล เซราและร่วมแสดงโดยนักแสดงดาวรุ่งอย่างบรี ลาร์สัน, เอลเลน หว่องและออเบรย์ พลาซา บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแบรดเบอรี อวอร์ดจากสมาคมนักเขียนไซไฟและแฟนตาซีแห่งอเมริกาและภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลเอ็มไพร์ อวอร์ดสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม รางวัลคอเมดี เซ็นทรัล คอเมดี อวอร์ดสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สองรางวัลสครีม อวอร์ด ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกลด มีเดีย อวอร์ดสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เข้าฉายทั่วประเทศและสองรางวัลแซทเทิลไลท์ อวอร์ด ซึ่งรวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – คอเมดีหรือมิวสิคัลด้วย

เขาได้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ผลงานกำกับเรื่องแรกของโจ คอร์นิชเรื่อง Attack the Blockและภาพยนตร์ดังโดยเบน วีทลีย์เรื่อง Sightseers ที่นำแสดงโดยอลิซ โลว์และสตีฟ โอแรม ซึ่งร่วมแสดงใน The World’s End ด้วยทั้งคู่

โปรเจ็กต์หลังจากนี้ของเขาได้แก่ภาพยนตร์ที่สร้างจาก Ant-Man โดยมาร์เวล คอมิกส์ สำหรับมาร์เวล สตูดิโอส์ ซึ่งเขารับหน้าที่ผู้กำกับ มือเขียนบทและผู้อำนวการสร้างและ Baby Driver สำหรับเวิร์คกิ้ง ไตเติล ฟิล์มส์

ในปี 2011 เขาได้รับรางวัลอินสไปเรชัน อวอร์ดจากเวทีเอ็มไพร์ อวอร์ด

 

นีรา ปาร์ค (Nira Park)ผู้อำนวยการสร้าง

นีรา ปาร์ค ได้ก่อตั้งบริษัทบิ๊ก ทอล์ค พิคเจอร์สขึ้นในปี 1995 ซึ่งเธอได้อำนวยการสร้างซีรีส์คอเมดีรางวัลโดยไซมอน เพ็กก์และเจสสิก้า ไฮน์สเรื่อง Spaced ที่กำกับโดยเอ็ดการ์ ไรท์, สามซีซันของซิทคอมรางวัลบาฟต้าเรื่อง Black Books และซีรีส์คอเมดี/ดรามาเรื่อง Free Agents

หลังจากความสำเร็จของ Spaced เธอก็ได้พัฒนาและอำนวยการสร้างภาพยนตร์ฮิตปี 2004 เรื่อง Shaun of the Dead ที่ทำให้เธอได้ร่วมงานกับเพ็กก์และไรท์อีกครั้งและทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลคาร์ล โฟร์แมน อวอร์ดจากเวทีบาฟต้า นอกจากนี้ เธอยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน “10 ผู้อำนวยการสร้างน่าจับตามอง” ของนิตยสารวาไรตี้อีกด้วย ในปี 2006 เธอได้อำนวยการสร้างผลงานการกำกับเรื่องแรกของรินแกน เลดวิดจ์เรื่อง Gone สำหรับเวิร์คกิ้ง ไตเติล ฟิล์มส์และยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส

ในฐานะหุ้นส่วนการอำนวยการสร้างของเอ็ดการ์ ไรท์ เธอได้ร่วมมือกับเขาและไซมอน เพ็กก์อีกครั้งในภาพยนตร์ปี 2007 เรื่อง Hot Fuzz และได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของเขาเรื่อง Scott Pilgrim vs. the World ที่นำแสดงโดยไมเคิล เซรา และเข้าฉายทั่วโลกในเดือนสิงหาคม ปี 2010 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ชื่นชม

นอกจากนี้ เธอยังได้ควบคุมงานสร้างซีรีส์ซิทคอมยอดนิยมทางบีบีซี ธรีเรื่อง Him & Her และ Friday Night Dinner ทางแชนแนล โฟร์ ที่เขียนบทและอำนวยการสร้างโดยโรเบิร์ต ป็อปเปอร์ ในเดือนธันวาคม ปี 2010 เธอได้รับรางวัลผู้อำนวยการสร้างแห่งปีจากเวทียูเค วีเมน อิน ฟิล์ม แอนด์ ทีวี อวอร์ด

เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์หลากหลายแนว ในปี 2011 เธอมีผลงานเรื่อง Paul ที่เขียนบทและนำแสดงโดยไซมอน เพ็กก์และนิค ฟรอสท์และกำกับโดยเกร็ก มอตโตลาสำหรับเวิร์คกิ้ง ไตเติล/ยูนิเวอร์แซล หลังจากนั้น เธอก็มีผลงานเรื่อง Attack the Block ซึ่งเป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของโจ คอร์นิช ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งรวมถึงออเดียนซ์ อวอร์ดจากซิทเกส, เซาธ์บายเซาธ์เวสต์, ลาฟฟ์และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแฟนตาเซีย Sightseers โดยเบน วีทลีย์ ได้เปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2012 และได้เข้าฉายพิเศษในสายไดเร็คเตอร์ส์ ฟอร์ทไนท์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงเดินหน้ากวาดรางวัลในต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ

ภาพยนตร์สยองขวัญจิตวิทยาเรื่อง In Fear ที่กำกับและเขียนเรื่องราวโดยเจเรมี โลเวอร์ริง สำหรับสตูดิโอแคแนล/ฟิล์มโฟร์ มีกำหนดเข้าฉายในเดือนสิงหาคม ปี 2013 ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2013

หลังจากปิดกล้อง The World’s End เธอก็จะทำงานโพสต์โปรดักชันภาพยนตร์เรื่อง Cuban Fury แดนซ์คอเมดีที่นำแสดงโดยนิค ฟรอสท์และกำกับโดยเจมส์ กริฟฟิธส์ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดเข้าฉายในอังกฤษในเดือนมกราคม ปี 2014

 

ทิม บีแวน และอีริค เฟลเนอร์ (Tim Bevan and Eric Fellner)—ผู้อำนวยการสร้าง

เวิร์คกิ้ง ไตเติล ฟิล์มส์ ซึ่งร่วมบริหารงานโดยทิม บีแวนและอีริค เฟลเนอร์ ตั้งแต่ปี 1992 เป็นหนึ่งในบริษัทสร้างภาพยนตร์ระดับแนวหน้าของโลก

เวิร์คกิ้ง ไตเติล ที่ก่อตั้งในปี 1983 ได้สร้างภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง ซึ่งทำรายได้กว่า 6 พันล้านเหรียญทั่วโลก ภาพยนตร์ของพวกเขาได้รับสิบรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (จากภาพยนตร์โดยทอม ฮูเปอร์เรื่อง Les Misérables, ภาพยนตร์โดยทิม ร็อบบินส์เรื่อง Dead Man Walking, ภาพยนตร์โดยโจเอลและอีธาน โคเอนเรื่อง Fargo, ภาพยนตร์โดยเชคาร์ คาปูร์เรื่อง Elizabeth และ Elizabeth: The Golden Age และภาพยนตร์โดยโจ ไรท์เรื่อง Atonement และ Anna Karenina) และ 35 รางวัลบาฟต้า รวมทั้งรางวัลต่างๆ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์และเบอร์ลินด้วย

บีแวนและเฟลเนอร์ได้รับสองรางวัลสูงสุดที่มอบให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษ ได้แก่รางวัลไมเคิล บัลคอน อวอร์ดสาขาคุณูปการดีเด่นต่อภาพยนตร์ จากเวทีออเรนจ์ บริติช อคาเดมี ฟิล์ม อวอร์ดส์ [บาฟต้า] และรางวัลอเล็กซานเดอร์ วอล์คเกอร์ ฟิล์ม อวอร์ดจากเวทีอีฟนิง สแตนดาร์ด บริติช ฟิล์ม อวอร์ด นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังได้รับการติดยศคอมมานเดอร์ ออฟ เดอะ ออร์เดอร์ ออฟ เดอะ บริติช เอ็มไพร์อีกด้วย

เวิร์คกิ้ง ไตเติลได้ประสบความสำเร็จจากการร่วมงานกับผู้กำกับหลายคนอย่างต่อเนื่อง เช่นพี่น้องโคเอน, ริชาร์ด เคอร์ติส, สตีเฟน ดัลดรี้, พอล กรีนกราส, รอน โฮเวิร์ด, เอ็ดการ์ ไรท์และโจ ไรท์ และนักแสดงหลายคน เช่นโรแวน แอทคินสัน, เคท บลังเช็ตต์, โคลิน เฟิร์ธ, นิค ฟรอสท์, ฮิวจ์ แกรนท์, เคียรา ไนท์ลีย์, ไซมอน เพ็กก์และเอ็มมา ธอมป์สัน

ผลงานสร้างที่มากมายและหลากหลายของพวกเขา นอกจากที่เอ่ยถึงมาแล้ว ยังรวมถึงภาพยนตร์โดยไมค์ นีเวลเรื่อง

Four Weddings and a Funeral, ภาพยนตร์โดยริชาร์ด เคอร์ติสเรื่อง Love Actually, ภาพยนตร์โดยโรเจอร์ มิเชลเรื่อง Notting Hill, ภาพยนตร์บีนทั้งสองภาค ที่กำกับเมล สมิธและสตีฟ เบนเดแล็ค ตามลำดับ, ภาพยนตร์โดยเอ็ดการ์ ไรท์เรื่อง  Shaun of the Dead และ Hot Fuzz, ภาพยนตร์โดยพอลและคริส ไวซ์เรื่อง About a Boy, ภาพยนตร์โดยซิดนีย์ พอลแล็คเรื่อง The Interpreter, Bridget Jones ทั้งสองภาคที่กำกับโดยชารอน แม็กไกวร์และบีแบน คิดรอน ตามลำดับ, ภาพยนตร์โดยโจ ไรท์เรื่อง  Pride & Prejudice, ภาพยนตร์โดยบัลทาซาร์ คอร์มาคูร์เรื่อง Contraband ที่นำแสดงโดยมาร์ค วอห์ลเบิร์กและเคท เบคคินเซล,  Nanny McPhee สองภาคที่กำกับโดยเคิร์ค โจนส์และซูซานนา ไวท์ ตามลำดับ,  Johnny English ทั้งสองภาค ที่กำกับโดยปีเตอร์ โฮวิทท์และโอลิเวอร์ ปาร์คเกอร์ตามลำดับ, ภาพยนตร์โดยโทมัส อัลเฟรดสันเรื่อง Tinker, Tailor, Soldier, Spy ที่นำแสดงโดยแกรี่ โอลด์แมน, ภาพยนตร์โดยอาซิฟ คาพาเดียเรื่อง Senna สารคดีเรื่องแรกของบริษัทเกี่ยวกับนักแข่งรถในตำนาน แอร์ตัน เซนนา, ภาพยนตร์โดยพอล กรีนกราสเรื่อง United 93 และภาพยนตร์โดยรอน โฮเวิร์ดเรื่อง Frost/Nixon

ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Billy Elliot ที่กำกับโดยสตีเฟน ดัลดรี้ สานต่อไปยังละครเวทีด้วย Billy Elliot The Musical ที่กำกับโดยสตีเฟน ดัลดรี้ จากหนังสือและเนื้อร้องโดยลี ฮอลและดนตรีโดยเอลตัน จอห์น ปัจจุบัน ละครเวทีเรื่องดังกล่าว ที่คว้า 76 รางวัลเวทีละครทั่วโลกมาครอง ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการเปิดแสดงที่ลอนดอน โตรอนโตและทัวร์ทั่วอเมริกา ละครเรื่องนี้เปิดการแสดงสามปีที่บรอดเวย์ ได้รับ 10 รางวัลโทนี อวอร์ดในปี 2009 ซึ่งรวมถึงในสาขามิวสิคัลยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม ก่อนหน้านี้ ละครเรื่องนี้เคยเปิดแสดงที่ซิดนีย์ เมลเบิร์น ชิคาโก้และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้มาแล้ว ละครเรื่องนี้มีผู้ชมกว่าเจ็ดล้านคนทั่วโลก

ผลงานภาพยนตร์ปัจจุบันของเวิร์คกิ้ง ไตเติลได้แก่ภาพยนตร์โดยจอห์น โครว์ลีย์เรื่อง Closed Circuit ที่นำแสดงโดยอีริค บานาและรีเบ็กก้า ฮอล, ภาพยนตร์โดยฮอสเซน อามินีเรื่อง The Two Faces of January ที่นำแสดงโดยวิกโก้ มอร์เตนเซน, เคิร์สเตน ดันส์และออสการ์ ไอแซ็ค, ภาพยนตร์โดยริชาร์ด เคอร์ติสเรื่อง  About Time ที่นำแสดงโดยราเชล แม็คอดัมส์, ดอมฮ์นอล กลีสันและบิล ไนฮีย์และภาพยนตร์โดยรอน โฮเวิร์ดเรื่อง Rush ที่นำแสดงโดยคริส เฮมส์เวิร์ธและแดเนียล บรูห์ล

 

ไซมอน เพ็กก์ (Simon Pegg)—บทภาพยนตร์

เอ็ดการ์ ไรท์ (Edgar Wright)—บทภาพยนตร์

บิล โป๊ป, เอเอสซี (Bill Pope, ASC)—ผู้กำกับภาพ

บิล โป๊ป ก้าวเข้าสู่โลกภาพยนตร์และได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมจากการทำหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์โดยพี่น้องวาโชว์สกี้เรื่อง Bound และ The Matrix โดยผลงานของเขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริตและบาฟต้า อวอร์ด ตามลำดับ

เขาได้ร่วมงานกับพี่น้องวาโชว์สกี้อีกครั้งในซีเควล Matrix สองภาคติดต่อกัน นอกจากนี้ เขายังเป็นที่รู้จักดีจากการร่วมมือกับแซม ไรมี ในฐานะผู้กำกับภาพภาพยนตร์เรื่อง Darkman, Army of Darkness, Spider-Man 2 และ Spider-Man 3  และจากการร่วมมือกับแบร์รี ซอนเนนเฟลด์ในภาพยนตร์เรื่อง Men in Black 3 และโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ที่ทั้งคู่เรียนด้วยกันในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาในฐานะผู้กำกับภาพได้แก่ ภาพยนตร์โดยเอมี เฮคเคอร์ลิงเรื่อง Clueless และภาพยนตร์โดยเทรย์ ปาร์คเกอร์และแมทท์ สโตนเรื่อง Team America: World Police

นอกเหนือจากการเป็นผู้กำกับภาพมิวสิค วิดีโอให้กับศิลปินมากมายเช่นสติงและปีเตอร์ กาเบรียล เขายังได้กำกับมิวสิค วิดีโอให้กับศิลปินชื่อดังอย่างคริส ไอแซ็คและเมทัลลิก้าอีกด้วย

ผลงานก่อนหน้านี้ที่เขาร่วมมือกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์จาก The World’s End คือ Scott Pilgrim vs. the World

 

มาร์คัส โรว์แลนด์ (Marcus Rowland)—ผู้ออกแบบงานสร้าง

ก่อนหน้านี้ เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์และทีมผู้สร้าง The World’s End มาแล้วในฐานะผู้ออกแบบงานสร้างซีรีส์ Space และภาพยนตร์เรื่อง Shaun of the Dead, Hot Fuzz และ Scott Pilgrim vs. the World เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซทเทิลไลท์ อวอร์ดจากผลงานของเขาในภาพยนตร์เรื่องหลังสุด

ผลงานการออกแบบงานสร้างของเขาในภาพยนตร์โดยโจ คอร์นิชเรื่อง Attack the Block ทำให้เขาได้รับรางวัลสเปเชียล เมนชัน ไพรซ์จากงานเทศกาลภาพยนตร์เยาวชนนานาชาติโตริโนปี 2011

นอกจากนี้ เขายังได้ทำงานในโฆษณาหลายชิ้นสำหรับลูกค้าที่หลากหลายทั้งในอังกฤษและทั่วโลก

 

พอล มาชลิส, เอซีอี (Paul Machliss, ACE)—มือลำดับภาพ

พอล มาชลิส ได้ร่วมมือกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์ครั้งแรกในสองซีซันของซีรีส์ Spaced และหลังจากนั้น เขาก็ได้ร่วมงานกับผู้กับไรท์อีกครั้งใน Scott Pilgrim vs. the Worldด้วยการลำดับภาพร่วมกับโจนาธาน เอมอส ผลงานของพวกเขาในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำให้เขาและเอมอสได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็ดดี้ อวอร์ดจากสมาคมมือลำดับภาพภาพยนตร์อเมริกัน รวมถึงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ออนไลน์ และได้รับรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ซานดิเอโก้สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมอีกด้วย

เขาเป็นชาวออสเตรเลีย เขาใช้ชีวิตและทำงานในอังกฤษมาหลายปีแล้ว เขาได้ลำดับภาพให้กับซิทคอมที่ได้รับความนิยมสูงสุดของอังกฤษหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงซีรีส์รางวัลบาฟต้าเรื่อง Black Books, Peep Show และ The IT Crowd โดยเรื่องหลังสุด นำแสดงโดยคริส โอ’ ดาวด์, แคทเธอรีน พาร์กินสันและริชาร์ด อโยเอดและหลายเอพิโซดของดรามาชื่อดังอย่าง The Hour

มาชลิสได้ร่วมงานกับผู้กำกับ มือเขียนบทและนักแสดงคอเมดีชื่อดังหลายคนของอังกฤษ เช่นดีแลน โมแรน, ปีเตอร์ เซราฟิโนวิคซ์, พอล คิง, ริคกี้ ทอมลินสัน, พอล เคย์และไซมอน เพ็กก์จาก The World’s End

ผลงานสารคดีมากมายของเขารวมถึงการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลดนตรีและการแสดงไลฟ์คอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังต่างๆ เช่นเล็ด เซปเปลิน, ไดอานา ครอลและเพ็ท ช็อพ บอยส์

 

กาย สเปแรนซา (Guy Speranza)—ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

ปัจจุบัน เขากำลังอยู่ระหว่างออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์โดยปีเตอร์ เชลซอมเรื่อง Hector and the Search for Happiness ซึ่งเป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งกับไซมอน เพ็กก์และโรซามุนด์ ไพค์จาก The World’s End

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาในฐานะผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายได้แก่ภาพยนตร์โดยจอน เบียร์ดเรื่อง Filth ที่นำแสดงโดยเจมส์ แม็คอะวอยและเจมี เบลในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายโดยเออร์วิน เวลช์และ Cass และภาพยนตร์โดยเนอร์พัล โบกัลเรื่อง Sket และ Sugarhouse โดยแกรี่ เลิฟ ซึ่งทั้งสองเรื่องนำแสดงโดยแอชลีย์ วอลเตอร์ส นอกจากนี้ เขายังได้ทำหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับภาพยนตร์ขนาดสั้นหลายเรื่องโดยผู้กำกับโทนี กริโซนีและปีเตอร์ คัททานีโออีกด้วย

เขาเริ่มทำงานเมื่อ 13 ปีก่อนในตำแหน่งผู้ช่วยออกแบบเครื่องแต่งกาย และเขาก็ได้ทำหน้าที่นั้นในภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง เช่นภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยเจมส์ บอนด์สองคน ได้แก่ภาพยนตร์โดยลี ทามาโฮริเรื่อง Die Another Day และภาพยนตร์โดยมาร์ค ฟอร์สเตอร์เรื่อง Quantum of Solace, ภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ โนแลนเรื่อง Batman Begins และ The Dark Knight ที่เขาได้ร่วมมือกับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ลินดี้ เฮมมิง, ภาพยนตร์โดยพอลและคริส ไวซ์เรื่อง About a Boy, ภาพยนตร์โดยไมค์ ลีห์เรื่อง Vera Drake, ภาพยนตร์โดยหลุยส์ เล็ทเทอร์เรียร์เรื่อง Clash of the Titans และ Harry Potter สองภาคที่กำกับโดยอัลฟอนโซ คัวรอนและเดวิด เยทส์ ตามลำดับ และทั้งสองเรื่อง เขาได้ร่วมงานกับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เจนี เทอไมม์

 

เจน วอล์คเกอร์ (Jane Walker)—ผู้ออกแบบเมคอัพและทรงผม

เจน วอล์คเกอร์ได้ร่วมงานกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์และดาราและทีมผู้สร้างจาก The World’s End มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงการทำหน้าที่ออกแบบเมคอัพและทรงผมให้กับภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ของพวกเขาเรื่อง Shaun of the Dead และ Hot Fuzz และซีรีส์ Spaced ด้วย

นอกจากนี้ เธอยังได้ออกแบบเมคอัพและทรงผมให้กับภาพยนตร์โดยผู้อำนวยการสร้างนีรา ปาร์คเรื่อง Attack the Block ที่กำกับโดยโจ คอร์นิชและ Cuban Fury ที่กำกับโดยเจมส์ กริฟฟิธส์และซีรีส์เรื่อง Black Books และ Free Agents นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมงานกับปาร์คใน Paul ที่กำกับโดยเกร็ก มอตโตลา ฐานะผู้ออกแบบเมคอัพและทรงผมส่วนตัวสำหรับนิค ฟรอสท์และไซมอน เพ็กก์ และเธอก็ได้ทำหน้าที่เดียวกันนี้สำหรับเพ็กก์ในภาพยนตร์โดยโรเบิร์ต บี. วี้ดเรื่อง How to Lose Friends & Alienate People อีกด้วย

นอกจากนี้ สำหรับเวิร์คกิ้ง ไตเติล เธอยังได้ออกแบบเมคอัพและทรงผมให้กับซาแมนธา บาร์คส์และซาชา บารอน โคเฮนในภาพยนตร์ฮิตโดยทอม ฮูเปอร์เรื่อง Les Misérables อีกด้วย ผลงานอื่นๆ ที่เธอได้แสดงฝีมือของเธอได้แก่ภาพยนตร์ The Mummy สองภาคโดยสตีเฟน ซอมเมอร์ส ที่นำแสดงโดยเบรนแดน เฟรเซอร์, ราเชล ไวซ์และจอห์น ฮันนาห์

เธอสำเร็จการศึกษาจากดันแคน ออฟ จอร์แดนสโตน คอลเลจ ออฟ อาร์ต ด้วยอนุปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาประติมากรรม ผลงานจอแก้วในอังกฤษของเธอในฐานะผู้ออกแบบเมคอัพและทรงผมได้แก่การทำงานนานกว่าหนึ่งทศวรรษกับบีบีซี, ซีรีส์ Vera ที่นำแสดงโดยเบรนดา เบลธินและในฐานะผู้ออกแบบเมคอัพและทรงผมส่วนตัวให้กับแอนนา แมสซีย์ ในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์โดยริชาร์ด เคอร์สัน สมิธเรื่อง Pinochet’s Last Stand ที่แมสซีย์รับบทมาร์กาเร็ต แธทเชอร์

 

สตีเวน ไพรซ์ (Steven Price)—ดนตรี

สตีเวน ไพรซ์เป็นคอมโพสเซอร์และนักดนตรี

ความรักในดนตรีของเขาเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ เขาฝึกฝนกีตาร์ตั้งแต่อายุห้าขวบ และเขาก็จบการศึกษาด้านดนตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  หลังสำเร็จการศึกษา เขาได้ทำงานให้กับแอนดี้ กิล มือกีตาร์/ผู้อำนวยการสร้างจากแก๊ง ออฟ ร์ในลอนดอน โดยเขาได้ทำงานเรียบเรียงเสียงเครื่องสายและเล่นร่วมกับศิลปินมากมายเช่นไมเคิล ฮัชเชนซ์และโบโนในอัลบัมต่างๆ ด้วย

เขาได้ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ผู้เรียบเรียงและนักดนตรีร่วมกับเทรเวอร์ โจนส์ ผู้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ เขาได้ให้เสียงดนตรีเพิ่มเติมสำหรับโปรเจ็กต์ต่างๆ เช่น ภาพยนตร์โดยโรเจอร์ โดนัลด์สันเรื่อง Thirteen Days, ภาพยนตร์โดยสตีเฟน นอร์ริงตันเรื่อง The League of Extraordinary Gentlemen, ภาพยนตร์โดยแฟรงค์ โคราซีเรื่อง Coraci’s Around the World in 80 Days, ซีรีส์เรื่อง Dinotopia และ Crossroads โดยแทมรา เดวิส ที่เขาได้เป็นมือกีตาร์เดี่ยวกับคณะลอนดอน ซิมโฟนี ออร์เคสตรา

คำแนะนำจากแอ็บบี้ โร้ด สตูดิโอส์ ทำให้เขาได้รับความสนใจจากโฮเวิร์ด ชอร์ นำไปสู่การได้ร่วมงานกับคอมโพสเซอร์รางวัลออสการ์ในฐานะมือลำดับดนตรีในไตรภาคโดยปีเตอร์ แจ็คสันเรื่อง The Lord of the Rings ผลงานภาพยนตร์หลังจากนั้นของเขาในตำแหน่งด้วยกันได้แก่ภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ โนแลนเรื่อง Batman Begins ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโกลเดน รีล อวอร์ดร่วมกับเพื่อนร่วมลำดับดนตรีของเขาและใน Scott Pilgrim vs. the World โปรเจ็กต์แรกที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์จาก The World’s End ซึ่งเขาได้ร่วมง่านกับคอมโพสเซอร์ของเรื่อง ไนเจล ก็อดริช คอมโพสเซอร์คนอื่นๆ ที่เขาได้ร่วมงานด้วยได้แก่ ฮันส์ ซิมเมอร์, เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด, แฮร์รีและรูเพิร์ต เกร็กสัน-วิลเลียมส์, แพทริค ดอยล์, จอร์จ เฟนตัน, ดาริโอ มาเรียเนลลีและแอนน์ ดัดลีย์

เขาได้แต่งดนตรีให้กับแคมเปญโฆษณามากมายทั้งในอังกฤษและอเมริกา หลังจากที่ได้แต่งดนตรีเพิ่มเติมให้กับภาพยนตร์โดยริชาร์ด เคอร์ติสเรื่อง Pirate Radio เขาก็ได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมให้กับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จพลิกความคาดหมายของโจ คอร์นิชเรื่อง Attack the Block และได้รับรางวัลมากมายจากทั้งสมาพันธ์นักวิจารณ์ภาพยนตร์ออสตินและเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซิทเกส-คาตาโลเนียน

เมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งเสร็จจากการแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่เป็นที่จับตามองที่สุดเรื่องหนึ่งในปี 2013 ได้แก่ภาพยนตร์โดยอัลฟอนโซ คัวรอนเรื่อง Gravity ที่นำแสดงโดยแซนดรา บุลล็อคและจอร์จ คลูนีย์

 

28 พฤศจิกายน 2556

เฉพาะ PARAGON CINEPLEX, SF WORLD CINEMA, APEX SIAM SQUARE